bloggang.com mainmenu search


         

          อาจนับได้ว่าตัวเลข 7 เป็นเลขดีของกลุ่มลุฟท์ฮันซ่าในการดำเนินธุรกิจในไทย เพราะเมื่อ 77 ปีที่แล้ว เมื่อพ.ศ. 2482 สายการบินลุฟท์ฮันซ่า เปิดให้บริการเที่ยวบินแรกจากกรุงเบอร์ลินสู่กรุงเทพฯ โดยเครื่องบินจุงค์เกอร์ 52 ใช้เวลาสี่วันครึ่ง ด้วยระยะการบิน 10,000 กิโลเมตร

 

        และต่อมาพ.ศ. 2502 ในเดือนพฤศจิกายน สายการบินลุฟท์ฮันซ่าเริ่มเที่ยวบินประจำครั้งแรกสู่ทวีปเอเชีย ด้วยเครื่องบินซูเปอร์ คอนสตาเลชั่น ด้วยเส้นทาง แฮมเบิร์ก-ดุสเซลดอร์ฟ-แฟรงค์เฟิร์ต-โรม-ไคโร-การาจี-กัลกัตตา-กรุงเทพฯ โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 36 ชั่วโมง

        มาบัดนี้ลุฟท์ฮันซ่าเติบโตมาก กลายเป็นเครือข่ายของสายการบินในกลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่าในประเทศไทย มีถึง 4 สายได้แก่ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า, สวิสอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์, ออสเตรียนแอร์ไลน์และสายการบินยูโรวิงส์ ได้ให้บริการเที่ยวบิน ไป-กลับ จำนวน 25 เที่ยวบิน จากไทยไปยังประเทศศูนย์กลางการบินในทวีปยุโรป

            ล่าสุดสายการบินสวิสเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินแบบใหม่ โบอิ้ง 777-300ER   โดยกรุงเทพฯเป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเครือข่ายเส้นทางการบินของสายการบินสวิสที่ได้รับมอบเครื่องบินรุ่นนี้ เริ่มบินมาตั้งแต่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เครื่องบินลำใหม่รุ่นโบอิ้ง 777-300ER  สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตรากว่าหนึ่งในสามของสายการบินสวิสในเส้นทางกรุงเทพฯ ” นายปีเตอร์ พูลเลม รองประธานฝ่ายการขายและการตลาดระหว่างประเทศของสายการบินสวิสกล่าว

“ด้วยเครื่องบินรุ่นอันโดดเด่นลำล่าสุดที่จะเพิ่มเข้ามาประจำการในฝูงบินของเรา ทำให้เราสามารถมอบความเป็นส่วนตัว ความสบาย พื้นที่กว้างขวาง และความบันเทิงให้แก่ผู้โดยสารของเราได้มากขึ้น ในฐานะสายการบินประจำชาติของสวิตเซอร์แลนด์ สายการบินสวิสนั้นได้ผสมผสานค่านิยมดั้งเดิมของประเทศเอาไว้ และยังมีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ในระดับสูงสุด”

เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ลำใหม่ของสายการบินสวิสให้บริการที่นั่งผู้โดยสารจำนวน 340 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็น 8 ที่นั่งในห้องโดยสารชั้นหนึ่ง 62 ที่นั่งในห้องโดยสารชั้นธุรกิจ และอีก 270 ที่นั่งในห้องโดยสารชั้นประหยัด

ในส่วนของที่นั่งผู้โดยสารชั้นหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องสวีทส่วนตัว มีจอภาพขนาดถึง 32 นิ้ว ซึ่งถือเป็นจอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน ณ ขณะนี้

            นอกจากนั้น ม่านหน้าต่างยังสามารถปรับแสงได้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์และมีตู้เสื้อผ้าส่วนตัว ส่วนห้องโดยสารชั้นธุรกิจนำเสนอความเป็นส่วนตัวและอิสระในการเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสมและลงตัว เบาะที่นั่งสามารถปรับความนุ่มของเบาะได้ตามความต้องการส่วนบุคคล

            นอกจากนี้ ในส่วนของผู้โดยสารชั้นประหยัด สายการบินสวิสยังได้นำเสนอเคาน์เตอร์แบบบริการตัวเอง โดยจัดเครื่องดื่ม และของทานเล่นอีกหลากหลายไว้ให้ผู้โดยสารเลือกหยิบทานได้ในช่วงเวลาที่นอกเหนือจากช่วงบริการอาหารและเครื่องดื่มตามปกติตลอดทั้งเที่ยวบิน

สายการบินสวิสมุ่งมั่นเป็น“สายการบินยุคใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์” (Next-Generation Airline of Switzerland) คือความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่น่าดึงดูดและเป็นที่ชื่นชอบ (employer value proposition) ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่จะเพิ่มความน่าสนใจให้แก่บุคลากรใหม่เท่านั้น บริษัทยังตั้งเป้าที่จะทำให้สายการบินสวิสเป็นองค์กรที่เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆในบรรดาอุตสาหกรรมสายการบินในยุโรป รวมถึงยกระดับความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรให้เหนือกว่าภาคธุรกิจการขนส่งทางอากาศอีกด้วย

และเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นนี้ ทางบริษัทยังได้เปิดตัว “Faces of SWISS” ซึ่งได้ตกแต่งภายนอกลำตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ลำแรกโดยมีภาพใบหน้าของพนักงานของสายการบินสวิสกว่า 2,500 คนปรากฏอยู่ โดยจะคงไว้ตลอดหนึ่งปีแรกในการปฏิบัติการบิน รูปภาพที่นำมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายพิเศษในครั้งนี้ เป็นภาพของบรรดาพนักงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งมาให้ด้วยตนเอง และทุกภาพที่ถูกส่งเข้ามาได้ปรากฏอยู่ทั่วลำตัวเครื่องบิน และหนึ่งในตัวแทนของลูกเรือของสายการบินสวิสที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 12 ภาพที่ใหญ่ที่สุดในโครงการ “Faces of SWISS” เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวไทยที่มีชื่อว่า นางสาวจันทิพร บุญเกียรติ

            ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวได้ที่ Facebook Travelista นักเดินทาง นักข่าวสาวที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวกว่า 30 ปี

Create Date :26 กรกฎาคม 2559 Last Update :26 กรกฎาคม 2559 17:59:59 น. Counter : 2743 Pageviews. Comments :1