bloggang.com mainmenu search

สามพันโบก ยิ่งใหญ่อลังการกลางลำน้ำโขงมานับพัน นับหมื่นปี สร้างแรงดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนอย่างทุกวันนี้ ความงดงามที่อยู่ตรงหน้าจะทำให้ความเหนื่อยจากการเดินทางหายลงในพริบตา

 

สามพันโบกคือแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งเกิดจากแรงน้ำวนกัดเซาะ กลายเป็นแอ่งมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือ 3,000 โบก โบก หรือแอ่ง หมายถึง บ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง  หินบางก้อนถูกกัดกร่อนคล้ายงานแกะสลักเป็นรูปต่างๆ จนสถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า  สามพันโบก และจะปรากฏให้เห็นในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด แก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำกลายเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติสุดอลังการกลางลำน้ำโขง ที่สวยงามแปลกตาจนชาวบ้านเรียกว่า แกรนด์แคนยอนน้ำโขง ซึ่งจะสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ได้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม-มิถุนายนของทุกปี

จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปมากที่สุดคือ หินที่ถูกกัดเซาะเป็นรูปหัวใจคู่ที่อยู่ติดกัน 

 และรูปมิกกี้เมาส์ ซึ่งเหมือนมิกกี้เม้าส์มากๆ จนแทบไม่น่าเชื่อ รวมถึงสระมรกต เวิ้งน้ำสีเขียวกลางสามพันโบก

 

 

 

             ผาแต้ม สุดยอดจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตกก่อนใครในสยาม เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย และตกก่อนใครในประเทศไทย โดยเฉพาะในวันสุดท้ายแห่งปี 31 ธันวาคมและวันแรกแห่งปี 1 มกราคม จะมีผู้มารอชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตกก่อนใครมากมาย

 

             อุทยานแห่งชาติผาแต้ม  เป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ภาพเขียนจะอยู่บนผนังหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 180 เมตร ซึ่งเป็นมุมต่ำกว่า 90 องศา มีภาพทั้งหมดประมาณ 300 ภาพ แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ สัตว์ ลายเรขาคณิต คนทำนา ภาพมือ และภาพตุ้ม (เครื่องมือจับปลาของชาวประมงริมโขง)

 

             เสาเฉลียง  อยู่ก่อนถึงผาแต้มประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเสาหินธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมนับล้านปี มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย ซึ่งหินดังกล่าวจะปรากฏเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในเนื้อหิน  ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน

          

 

 

 

การเดินทาง  ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๒๔ (โชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี

 

 

Create Date :16 กรกฎาคม 2558 Last Update :16 กรกฎาคม 2558 19:46:16 น. Counter : 1506 Pageviews. Comments :0