bloggang.com mainmenu search

            ได้ยินชื่อบ้านไร่กองขิงมานานแล้ว เพราะเป็นชุมชนที่คว้ารางวัลมากมาย แต่เพิ่งได้ไปสัมผัส เมื่อได้ติดตามองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ไปในทริปสร้างเศรษฐกิจฐานราก จับชีวิตวิถีชุมชนนำเสนอผ่านอาหารท้องถิ่น เชื่อการท่องเที่ยวเชิงศิลปะอาหาร (Gastronomic tourism)

ชื่ออาจยังไม่คุ้นหู แต่นี่คือการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยเชื่อมการเกษตรไปกับการสืบทอดวัฒนธรรมและเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวไทย

            ชุมชนบ้านไร่กองขิง เป็นชุมชนแห่งสุขภาพ 1 ใน 13 ชุมชนต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ระดับรางวัลกินรีทองคำและรางวัล PATA inspired ปี 2015 นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ทำการศึกษางานวิจัยของสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ในการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อาหาร ทำให้เป็นสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ

            ที่นี่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ไขว่คว้ามองหาประสบการณ์ที่แตกต่าง และเห็นคุณค่าความเป็นชุมชนจากการลิ้มรสอาหาร พูดคุยเรียนรู้ถึงที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ตามวิถีชีวิตและธรรมชาติ

            พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า “อาหารท้องถิ่นเป็นมากกว่าอาหาร ในกรณีตัวอย่างที่บ้านไร่กองขิง การทำการท่องเที่ยวเชิงศิลปะอาหารทำให้เกิดการส่งเสริมสวนสมุนไพร และนำมาเป็นจุดเด่นในการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพและการนำไปผลิตสินค้าของที่ระลึกในนาม “สุขสยาม”

การส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ที่อยู่ภายในชุมชนนี้ ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งที่ไกลกว่าที่มักมาทดแทนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังช่วยเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่นได้อีกด้วย ก่อให้เกิดการป้องกันการรั่วไหลของเงิน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน ตามแนวคิด ‘โลว์คาร์บอนเมนู’ 

 

 

             “บ้านไร่กองขิงมีกลุ่มเกษตรยามว่างอาหารปลอดภัย จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน โดยผู้นำชุมชนใช้ความรู้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่งเสริมให้คนในชุมชนทำเกษตรปลอดสารพิษเพื่อใช้รับประทานเองและแบ่งปันในชุมชนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนในชุมชน (ปลูกที่กิน กินที่ปลูก) กลุ่มแปรรูปสมุนไพร โดยผู้นำชุมชนได้สร้างศูนย์บริการเพื่อสุขภาพเพื่อเป็นสถานที่ในการออกกำลังกายของคนในชุมชน และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้จากการนำสมุนไพรมาแปรรูป และการให้บริการนวด อบ ประคบสมุนไพร”

            จากบ้านไร่กองขิง เราได้นำวัตถุดิบจากที่นี่มาร้อยเรียงเป็นอาหาร เล่าเรื่องราว สามารถเพิ่มมูลค่า รังสรรค์ให้เกิดคุณค่าไม่เพียงอยู่ในชุมชน แต่มีการเชื่อมต่อออกไปภายนอกชุมชนผ่าน “เชฟแบล็ค”

เชฟแบล็คคือเชฟศิลปิน (Artisan Chef) ชื่อดังแห่งจังหวัดเชียงใหม่ จากร้านแบล็คคิทช์ (Blackitch) ใจกลางย่านนิมมานเหมินทร์ แหล่งฮิปสเตอร์เชียงใหม่ ได้นำวัตถุดิบจากชุมชนบ้านไร่กองขิงมาประดิษฐ์เป็นอาหารจานศิลปะ ในรูปแบบใหม่ เล่าเรื่องชุมชนจากวัตถุดิบที่ใช้กลายเป็น “สันถวไมตรีแห่งอาหารไทย”

คง

ไม่มีวิธีการใดที่จะสามารถบอกเล่ามรดกความเป็นไทยได้ดีและมีประสิทธิภาพมากไปกว่าการบอกเล่าผ่านศิลปะของอาหารไทย มีอาหารไทยอีกมากมายที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการท่องเที่ยว ในครั้งนี้เราจะสามารถบอกให้กับชาวโลกได้รับรู้ว่า “อาหารไทยไม่ได้มีแต่ต้มยำกุ้ง” ทุกคำคือ เรื่องราววัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย อาหารไทยกับการท่องเที่ยวจะสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ในเชิงยุทธศาสตร์ในอนาคต

 

Create Date :30 มีนาคม 2559 Last Update :30 มีนาคม 2559 15:10:48 น. Counter : 3247 Pageviews. Comments :0