bloggang.com mainmenu search


เมื่อมีตัณหาความอยาก - ไม่อยาก อันเป็นความรู้สึกในสิ่งใดๆเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่เฉยๆได้อย่างไร จะอยากอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆเชียวหรือ? จิตจึงย่อมต้องพยายามสนองตอบต่อความรู้สึกภายในคืออยากหรือไม่อยากที่เกิดขึ้นนั้นอันคือตัณหา ดังนั้นเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเกิดขึ้น เป็นตัวเป็นตน เป็นผลลัพธ์ขึ้นมา ให้เป็นไปตามตัณหาหรือความอยากนั้นๆ ด้วยอวิชชาเป็นเครื่องหนุน อันเป็นกลไกธรรมชาติของจิตหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง จึงเกิดอุปาทานอันคือยึดมั่นด้วยกิเลสในความเชื่อ,ความคิดของตัวของตน ก็ล้วนเพื่อมุ่งตอบสนองต่อตัณหาที่เกิดขึ้นนั้นนั่นเอง จิตจึงเป็นไปภายใต้อิทธิพลของอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นที่ย่อมแฝงกิเลสนั้นๆ, หรือก็คือกระบวนการที่จิตใต้สํานึกที่ยึดมั่นในความพึงพอใจหรือความต้องการของตัวของตน(กิเลส)เป็นสำคัญอย่างเป็นที่สุด และเป็นไปโดยอาการธรรมชาติอย่างไม่รู้ตัวเสียด้วย, หรือก็คือยึดมั่นในความเชื่อหรือความคิดที่เกิดขึ้นก็เพื่อตอบสนองต่อตัณหานั้น เพราะหลงเข้าใจหรือยึดโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาว่า ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของตัวของตน หรือเป็นของตัวของตนจริงๆ, มองในแง่จิตวิทยา ก็คือ เพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกภายในตนเองที่เกิดขึ้นว่า"ตัวตนมีความคงอยู่หรือมีคุณค่า"นั่นเอง การที่จะให้จิตรู้สึกมีคุณค่าหรือมีความมั่นคง, จิตจึงต้องมีปฏิกริยาตอบสนองเพื่อให้ได้ตามความต้องการหรือตัณหาที่เกิดนั้น ที่นักจิตวิทยาสมัยนี้เขาเรียกกันว่าอีโก้(Ego), หรือพอจะกล่าวสั้นๆตามความเข้าใจในธรรมของผู้เขียนที่ได้จากการโยนิโสมนสิการ อันได้ใจความดังนี้ ที่สามารถอธิบายอุปาทานในปฏิจจสมุปบาทได้เป็นอย่างดี


"อุปาทาน คือ ปฏิกริยาของจิตที่สนองตอบต่อตัณหาที่เกิดขึ้นนั้น โดยยึดมั่นถือมั่น หรือยึดติดยึดถือในกิเลส ก็เพื่อความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตน เป็นที่สุด


นั่นก็คือ อาการธรรมชาติของจิตที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อมีตัณหา กล่าวคือ เมื่อเกิดความรู้สึกอยากแล้ว ย่อมเกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งขึ้นคืออยากให้เป็นของตัวของตนหรืออยากให้เป็นไปตามความต้องการของตัวของตนขึ้นอีกทีหนึ่งอันคืออุปาทานนั่นเอง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ชนิดทุกข์อุปาทานที่แสนเร่าร้อนขึ้นจริงๆ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตัณหาหรือปรารถนาไว้ อันคือ เกิดปฏิกริยาของจิตที่กระตุ้นเร่งเร้าเพื่อตอบสนองต่อตัณหาหรือความปรารถณาของตัวตนที่เกิดขึ้น ดังเช่นมีความมุ่งหมาย มุ่งมั่นเพื่อที่จะตอบสนองต่อความอยากที่เกิดขึ้นของตัวตน เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์เป็นผลออกมา ดังตัณหาความอยากที่เกิดนั้นๆ หรือมุ่งหมายที่จะตอบสนองเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลต่อความไม่อยากใดๆที่เกิดขึ้นของตัวตนก็เช่นกัน(วิภวตัณหา) ดังตัวอย่างเช่น เกิดตัณหาความอยากเจอคนรัก จิตก็เกิดการยึดมั่นด้วยกิเลส เพื่อให้ความอยากนั้นสัมฤทธิ์ผล จึงไปยังให้เกิดการกระทำเป็นสังขารขันธ์ต่างๆนาๆ เช่น คิดถึงอยากไปหา หรือขับรถออกไปหาเลย ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งการได้เจอคนที่รักตามที่อยากนั้น จึงสนองตอบให้เป็นไปตามตัณหานั้น


หรือกล่าวโดยนัยอื่นๆ


"อุปาทาน คือ ความยึดมั่น ความถือมั่นด้วยอำนาจของกิเลส อันคือตัณหาที่เกิดขึ้นนั้นๆ จึงเกิดความพยายามหรือยึดเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล เป็นตัวเป็นตน เป็นผลลัพธ์เ กิดขึ้นตามกิเลสอันคือตัณหานั้นๆ

"อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าความเป็นตัวตน,ของตน หรือตัวกู ของกู จึงยึดมั่นแต่สิ่งที่จะสร้างความพึงพอใจมาสนองตามความต้องการของตัณหา เพื่อตัวตนของตนเองเป็นที่สุด"

"อุปาทาน คือ ปฏิกริยาตอบสนองของจิต ที่มุ่งมั่นยึดถือที่จะให้เป็นไปตามตัณหาหรือความปรารถนาของตัวของตนที่เกิดขึ้นนั้นนั่นเอง"

"อุปาทาน คือ ความรู้สึกอย่างยึดมั่นถือมั่นในตัณหาความทะยานอยากหรือไม่อยากที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นของตัว ของตนอย่างแท้จริง"

"อุปาทาน คือ การไปหลงยึดหลงคิดว่าเป็นตัวตน หรือของตัวของตนอย่างแท้จริง" เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงในพระไตรลักษณ์

หรือที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้บัญญัติไว้สั้นๆและได้ใจความว่า ความเป็น ตัวกู-ของกู

ลองพิจารณาดูว่าความหมายใดที่ถูกจริตแห่งท่าน

อันก่อให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่าง สว่าง ที่ถูกต้อง

ซึ่งตามปกตินั้น อุปาทานนี้ก็มีอยู่ในจิต ตามธรรมชาติของปุถุชน แต่อยู่ในสภาวะที่นอนเนื่องของอาสวะกิเลส หรือยังไม่ทํางาน หรือเปรียบเสมือนงูพิษที่ยังหลับไหลอยู่ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยอันคือตัณหามากระตุ้นเร้าจึงเกิด การทํางานขึ้นได้ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้อุปาทานเกิดการตื่นตัวทํางานขึ้นอย่างสมบูรณ์เต็มตัว ดังนั้นท่านจึงตรัสว่า ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวของตน ซึ่งเป็นความสุขความทุกข์ชนิดละเอียดแยบคายเป็นที่สุด จนอธิบายแยกแยะออกมาไม่ได้ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการโดยแยบคายในธรรมของพระพุทธองค์ทรงชี้แนวทางไว้ ด้วยเหตุนี้แหละจึงสามารถครอบงำทุกสรรพสัตว์มาตลอดทุกกาลสมัย เว้นแต่องค์พระอริยเจ้า

พึงเข้าใจและระลึกอยู่เสมอว่า อุปาทานนี้กล้าแข็งอย่างที่สุด ชนิดที่มวลมนุษย์หรือปุถุชนไม่สามารถต้านทานอํานาจอันยิ่งใหญ่นั้นตรงๆได้ นอกจากกล้าแข็งที่สุดแล้ว ยังมีความละเอียดอ่อนเป็นที่สุดอีกด้วย อันไม่สามารถสังเกตุเห็นได้ นอกจากใช้ตาแห่งปัญญาหรือวิชชาเท่านั้น เพราะอุปมาดั่งล่องหนหายตัวได้ หรือประหนึ่งเป็นขนตาของเรานั่นเอง อันมีนั้นมีอยู่ แต่ละเอียดอ่อนนอนเนื่องจนแลไม่เห็นตัวมันเช่นกัน

ขอให้โยนิโสมนสิการดูความละเอียดอ่อนแยบยลและชั่วร้าย แต่กล้าแข็งเป็นที่สุดของอุปาทานเพื่อความเข้าใจ แล้วจักเข้าใจว่าเหตุใดมันจึงครอบสรรพสัตว์ไว้ได้ถ้วนหน้าทุกกาลสมัย, อุปาทานการสนองตอบต่อตัณหาของตัวของตนภายใต้กิเลสหรือการยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจหรือสุขของตนเองเป็นที่สุด เป็นความพึงพอใจที่อยู่ลึกๆแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นการเสพสุขที่ละเอียดอ่อนเป็นที่สุด สิ่งใดที่ยิ่งใกล้ชิดกับตัวตนหรือของตน ก็ยิ่งมีการตอบสนองรุนแรงขึ้นเป็นลําดับ เช่น(จากใกล้ตัวตนไปหาไกลตัวตน) ตนเอง บุตร ภรรยา ญาติ สิ่งของๆตน สิ่งของๆคนอื่น คนรู้จัก คนอื่นๆ, พูดมาดังนี้ส่วนใหญ่จะแย้งว่า ไม่จริง รักบุตรมากกว่าบ้าง รักพ่อรักแม่มากกว่าบ้าง รักแฟนรักภรรยามากกว่าบ้าง ฯลฯ. เหล่านี้ต้องมาก่อน เพราะฉันยอมตายแทนลูก แทนพ่อ แทนแม่ แทนคนรักยังได้เลย! ซึ่งก็อาจเป็นจริงหรือเป็นไปตามนั้นจริงๆ, แต่ถ้าโยนิโสมนสิการด้วยความละเอียดและแยบคายแล้ว จะพบสัจจธรรมเป็นอย่างยิ่งว่า การณ์กลับตาลปัตรกลับกลายเป็นเพราะปุถุชนนั้นมีความยึดมั่นในความพึงพอใจหรือเวทนาของตัวตนเองอย่างรุนแรงด้วยอํานาจของอุปาทานมากกว่า! หรือรักตัวรักตนเป็นที่สุดนั่นเอง! หาใช่เป็นอย่างที่ตนเองคิดเข้าใจไม่

ในกรณีเช่นนี้ เช่นในเรื่องของบุตร(หรือพ่อแม่) เรามาโยนิโสมนสิการกันดู พ่อแม่ทุกท่านอยากให้บุตรประสบความสําเร็จ เรียนดี พ่อแม่(เกือบ)ทุกคนจะคิดหรือพูดแทบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องการอะไรจากลูกแค่อยากให้ลูกมีความสุขความเจริญก็พอใจหรือยินดี ลองพิจารณาโยนิโสมนสิการโดยละเอียดในจิตหรือความคิด(เห็นจิตในจิตตามความเป็นจริง) ท่านอาจจะพบเห็นความจริงว่า จริงๆแท้ๆแล้ว ปุถุชนนั้นต้องการเสพความพึงพอใจหรือสุขอันละเอียดอ่อนให้ตัวตนเองเป็นหลักสําคัญสูงสุด เพราะตัวตนเรานั่นเองจะรู้สึกเป็นสุขหรือพึงพอใจอยู่อย่างแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ลึกๆในใจ หรืออยู่ในทีว่าลูกประสบความสําเร็จ ทั้งๆที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หวังจะรับอะไรตอบแทนจากลูกๆของตนโดยตรง และกลับประเคนหาและสั่งสมสิ่งต่างๆให้ด้วยความรู้สึกพึงพอใจ จึงได้รับหรือเสพเพียงความพึงพอใจของตัวของตน อันเป็นความสุขอย่างละเอียดอ่อนไหวเป็นที่สุดโดยไม่รู้ตัวเท่านั้น จะเห็นว่าเป็นการสนองตอบที่ละเอียดอ่อนซ่อนเงื่อนอย่างที่สุด ซึ่งจะมองไม่เห็น ถ้าไม่โยนิโสมนสิการ, จะรู้สึกเห็นหรือเข้าใจกันโดยทั่วๆไปว่า เป็น แค่ความรักความหวังดีที่มอบให้แก่ลูกๆอย่างธรรมดาทั่วๆไป อุปาทานจึงไม่เหมือนกับตัณหาหรือองค์ธรรมอื่นๆที่บางครั้งสังเกตุเห็นหรือรู้สึกได้ง่ายๆ

เมื่อครู่เราคุยกันแบบโลกสมมุติว่า บางคนนั้นกล่าวเลยว่ายอมตายแทนลูก หรือยอมตายแทนพ่อแม่ได้ และก็ทําจริงๆได้เสียด้วย เช่นเราจําต้องเลือกว่าให้ใครตายระหว่างเรากับลูก(หรือพ่อแม่,คนรัก) ส่วนใหญ่จักยอมตายแทนลูกกันทั้งนั้น ทั้งๆที่กลัวความตายกันเป็นที่สุด ทําไมหรือ? ก็เพราะเรามีความพึงพอใจของตัวของตนเป็นที่สุด ที่จะให้ลูกมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งครอบงําด้วยอิทธิพลที่รุนแรงเหนือยิ่งกว่าความตายเสียอีก!!! ดังนั้นอํานาจของอุปาทานจึงมีอานุภาพที่ครอบคลุมสรรพสัตว์ทั่วฟ้าดินตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันและยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในกาลข้างหน้า ความละเอียดอ่อนและซ่อนเงื่อนอย่างเป็นที่สุด ทําให้แม้คนที่ยอมตายแทนนั้น ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่าตายเพราะอุปาทานหรือความรัก? เพราะถ้าถามว่า เพราะอะไรจึงยอมตายแทน? ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเพราะความรัก ลองโยนิโสมนสิการสังเกตุโดยละเอียดและแยบคายลึกๆในจิตของเราเองดูว่า

เพราะความรักลูก?

หรือเพราะ

ความพึงพอใจ หรือ ความสุขที่ตนได้รับ จากการที่ลูกมีชีวิตอยู่?

แล้วเราจะเห็นความยิ่งใหญ่อันชั่วร้ายของอุปาทาน แล้วยังไม่รู้จักตัว,ไม่รู้จักตนของมันเลย, แม้แต่บุคคลที่เลือกให้ลูกตาย แต่เราอยู่ ความพึงพอใจของใคร? ทุกสิ่งล้วนลงมาที่อุปาทานการตอบสนองความพึงพอใจในตัวของตน หรือของเราทั้งสิ้น

อุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตน จึงเป็นไปดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ

ความรัก เสมอด้วยรักตนเองไม่มี


นี้คือสภาวธรรมอันเป็นจริงยิ่งอย่างปรมัตถ์ในปุถุชนทุกผู้คน เพียงแต่ไม่แลเห็นแลเข้าใจเท่านั้นเอง ดังได้แสดงธรรมไว้ดังนี้


พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่เทวดาตนหนึ่ง ซึ่งได้มาเข้าเฝ้าและกราบทูลแสดงความคิดเห็นว่า "ความรักเสมอด้วยบุตรไม่มี" เนื่องจากเทวดาเล็งเห็นว่า บิดามารดานั้น รักบุตร รักธิดามาก แม้แต่จะพิกลพิการอย่างไรก็ตาม ก็เห็นว่าลูกเป็นประดุจทองคําอันลํ้าค่า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมแก้ว่า

"แท้ที่จริง สัตว์ทั้งหลาย รักตน รักสุข รักชีวิตตนเป็นที่สุด สามารถละทิ้งคนที่ตนรักได้ เพียงเพื่อให้ตนอยู่รอด หรือรักบุตรก็เพราะบุตรนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความสุข(หรือความพึงพอใจ)แห่งตนนั่นเอง"
(สารตฺถ. ๑/๑/๘๑-๘๒) หรือ (๓๐๐พุทธภาษิต หน้า๓)


ด้วยเหตุเหล่านี้นี่เอง ในแนวทางอริยสัจ ๔ ท่านจึงจัดว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดหรือเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ เพราะยังให้เกิดอุปาทาน ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวลโดยตรงนั่นเอง และลองโยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคายก็จักพบความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งที่ปุถุชนกระทำล้วนสิ้นนั้น ล้วนแอบแฝงความพึงพอใจของตัวของตนหรืออุปาทาน อยู่ในความรู้สึกนึกคิดอยู่ทุกขณะจิต แต่โดยไม่รู้ตัวหรือไม่รู้เท่าทันเท่านั้นเองด้วยยังไม่มีวิชชา

ขอกล่าวสรุปถึงเวทนา ตัณหา อุปาทาน ต่างก็เป็นความรู้สึกหรือธรรมารมณ์อย่างหนึ่งทั้งสิ้น แต่ก็มีความแตกต่างและหน้าที่อยู่ในที แต่มีความเนื่องสัมพันธ์หรือเป็นเหตุปัจจัยกัน

เวทนา เป็นความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะของทวารทั้ง ๖ เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งในการดำรงชีวิตในการสื่อสารกับอายตนะภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ตัณหา เป็นความรู้สึกเช่นกัน แต่เป็นความรู้สึกจากภายในอันเนื่องมาจากอาสวะอันย่อมประกอบด้วยกิเลสอยู่ในที จึงกำหนัดหรือไปอยากหรือไม่อยากในความรู้สึกหรือเวทนาที่เกิดขึ้นมานั้น, ตัณหาไม่มีเสียก็ได้ ไม่เป็นทุกข์โทษภัยใดๆต่อขันธ์ ๕ หรือชีวิต กลับทำให้อยู่อย่างเป็นสุข สะอาด สงบ บริสุทธ์ยิ่ง

อุปาทาน เป็นความรู้สึกเช่นกัน แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องสัมพันธ์มาจากตัณหา กล่าวคือ เป็นความรู้สึกอยากที่จะให้เป็นไปหรือสัมฤทธิ์ผลเป็นตัวเป็นตน หรือของตัวของตนขึ้น หรือความรู้สึกอยากให้เป็นตัวเป็นตนหรือของตัวของตนตามตัณหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นทุกข์


ดังนั้นท่านจึงตรัสไว้ว่า ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน


Create Date :22 กุมภาพันธ์ 2554 Last Update :22 กุมภาพันธ์ 2554 7:49:50 น. Counter : Pageviews. Comments :2