bloggang.com mainmenu search
กินข้าวกินเบียร์ที่ร้านลัคเทียน เมืองเว้
ไปอ่านตอนแรก / อ่านตอนก่อนหน้า / อ่านตอนต่อไป


พี่หมาป่าบอกให้ปรัชไปหยิบมันออกมา
มันทำด้วยไม้ กว้างสักหนึ่งนิ้ว ยาวสักแปดนิ้ว หนาสักสองหุน...
มีน็อตบรรจงขันติดไว้...และจงใจให้หัวน็อตตัวผู้ยื่นออกมาสักสองหุน
"รู้หรือป่าวว่ามันคืออะไร" พี่หมาป่าถาม
"ที่เปิดขวด" ใครบางคนตอบ
"เอ้า...ลองเปิดดู" พี่หมาป่าบอกเชิญชวน ใครบางคนเปิดท่าทางเก้ๆ กังๆ
"เอ้าปรัช สาธิตให้ทุกคนดูซิ" พี่หมาป่าวาน...
โพล๊ะ!...ฝาขวดหลุดกระเด็นออก ปรัชเปิดให้ทุกคนดูอย่างง่ายดาย ผมทึ่งกับสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ที่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกในชีวิต เข้าใจทำมากๆ
"ของฝากจากร้านลัคเทียน" พี่หมาป่าบอก
"ถ้าไปเว้อย่าลืมแวะที่ร้านนี้นะ... ร้านเขาดังลงหนังสือ Lonely Planet ..."

ที่เล่ามานี่เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายเดือนแล้วที่บ้านพี่หมาป่าที่ กทม.



วันแรกที่เราไปถึงเว้ อาหารมื้อแรกที่เรากินเป็นอาหารที่ร้านลัคเทียน... คุณเอกบอกว่ามันเป็นร้านดัง เราควรหาโอกาสไปกิน

และตอนมื้อเย็นของวันแรกเราก็ขี่จักรยานไปกินที่ร้านนี้อีกและกลายเป็นร้านอาหารที่เราแวะเข้ากินกันบ่อยสุดในเว้เลยกระมัง


จักรยานขี่ไปจอดหน้าร้านเจ้าของร้านบอกไม่ต้องล็อครับรองไม่หาย


สภาพของร้านเป็นตึกแถว อยู่ตรงหัวมุมถนน ต้องขอโทษที่จำชื่อถนนไม่ได้ อยู่ใกล้กับสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำหอม(จำชื่อสะพานไม่ได้)... แต่ตรงหัวมุมถนนตรงนั้นมีร้านชื่อคล้ายๆ กันอีกสองร้าน แต่เรามุ่งตรงไปที่ลัคเทียนเท่านั้น เข้าไปในร้านตรงขึ้นไปที่ชั้นบน... ชั้นสอง ฝาผนังที่ร้านเลอะเทอะไปด้วยร่องรอยการจารึกของเส้นหมึกสีแดงจากผู้มาเยือน


เรามองหาจารึกภาษาไทยที่น่าจะมีอยู่บ้าง อ้อ เจอแล้วนี่ไง



เจ้าของร้าน ส่งภาษามือพร้อมเมนูให้เรา เราพูดกับเขา แต่เขายังคงส่งภาษามือ คุณเอกบอกว่าเขาเป็นใบ้ สักพักก็มีเด็กมารับออร์เดอร์

รูปเจ้าของร้านลัคเทียน และจารึกนา นา ภาษาบนผนัง


มองผนังร้านแล้วก็คันไม้คันมือต้องจารึกอะไรลงไว้บ้าง มีปากกาเคมีสีแดงวางทิ้งไว้ ให้ใช้ขีดเขียนเล่นได้


มาถึงเวียตนาม ก็ต้องกินอาหารเวียตนาม ว่าแล้วก็สั่งแหนมเนืองมากิน แต่แป้งแหนมเนืองเขาไม่ได้แช่น้ำจนนิ่มแบบบ้านเรา เป็นแผ่นแป้งสุกที่แห้งและบาง ห่อกินกับผักต่างๆ และราดน้ำจิ้มถั่ว คล้ายๆ บ้านเราแต่ไม่มีพริกตำ แต่รสชาติจืดๆไม่จัดจ้าน อีกรายการหนึ่งที่อร่อยดีคือ เว้แพนเค้ก เป๊าะเปี้ยะทอดก็อร่อยดี


ผักเคียงที่กินกับแหนมเนือง น้ำจิ้มแหนมเนือง และเว้แพนเค้ก



จานนี้จำชื่อไม่ได้ มองคล้ายกับขนมถ้วย แต่กินแล้วเป็นแป้งข้าวเจ้านึ่ง โรยหน้าด้วยกุ้งแห้งทอดกรอบ ถั่วป่น ไม่ถูกปากผมนัก จานข้างๆ คล้ายๆก๋วยเตี๋ยวลุยสวน อร่อยดีเหมือนกัน


ว่าแล้วก็สั่งเบียร์ท้องถิ่น นาๆ ชนิดมากิน สนุกดี มีให้เลือกกินหลายยี่ห้อ รสชาติไม่หนักเท่าบ้านเรา ผมว่าไม่ค่อยอร่อยนัก แต่สนุกดีครับ กินพร่องไปหลายขวด ชายใบ้เจ้าของร้านก็นำของฝากจารึกชื่อร้านมาให้ ที่เปิดขวดเบียร์ของร้านลัคเทียน


ใครบางคนในพวกเราชำเลืองมองใครบางคนที่เดินไปมาคอยรับรายการและเสริฟอาหาร ผมหันมองตาม อืม สวยงามแปลกตา...ทว่ารื่นเริง น่ารัก น่าจะเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน

สาวร้านลัคเทียน


พวกเราเปิดเบียร์ท่าทางเก้ๆ กังๆ สาวน้อยน่ารักตรงเข้ามาเปิดให้พร้อมพูดคุยเล่นกับผม แต่แล้วลงเอยด้วยการส่งสายตาไปมองชายอื่นในกลุ่ม และถามคนอื่นคนนั้นว่า"What's your name?" ผมนึกในใจว่า...คงจะให้ผมเป็นสะพานละสิ ว่าแล้วเธอก็ส่งเบียร์ให้ผมลองเปิด ท่าทางผมคงเก้ๆ กังๆ ชายใบ้คุณพ่อของเธอก็เดินตรงมาส่งภาษามือว่าจะโชว์การเปิดพร้อมกันสามขวดให้ดู

กำลังจัดที่เปิดขวด สาวน้อยหน้าแปลกทว่าน่ารักยืนเป็นกำลังใจ พวกเราจ้องเก็บภาพ

เปิดที่ละขวดธรรมดาไป ต้องคาราเต้เปิดทีเดียวสามขวด

เจ้าของร้านสับมือแบบคาราเต้ ...หนักแน่นรวดเร็ว


โป๊ะ!...ฝาขวดทั้งสามกระเด็น ตามด้วยเสียงที่เปิดขวดร่วงกราวลงพื้น เสียงหัวเราะและปรบมือเยี่ยมไปเลย


อิ่มท้อง กรึ่มเบียร์ เช็คบิล อืมราคาไม่แพงแฮะ...เราชวนกันกลับ สาวน้อยเดินตามมาส่งพวกเรา

"Can I have your name?" ผมถามสาวน้อย
"Yes,Wiang" เธอชื่อเวียง เธอตอบยิ้มสดใสซุกซน
"See you again---next time." ผมบอก
"See you." เวียงตอบ
"Bye..." พวกเรากล่าวลา

ก่อนจากร้านผมบอกกับเพื่อนๆ ว่า เวลาผมเมาแล้วขี่จักรยานเป๋ ทุกคนขี่รถช้าๆ รอผม สายลมพัดโชยเอื่อยๆ ที่สะพานข้ามแม่น้ำหอม ผมนึกในใจ นี่แหละเมืองเว้ นี่แหละเวียดนาม




ไปเที่ยวเว้ อย่าลืมไปลองดื่มกิน และรับของที่ระลึกเป็นที่เปิดขวดที่ร้านลัคเทียนนะครับ



ขอโทษที่หายไปนานนะครับ วุ่นวายนิดหน่อย(ไม่นิดเท่าไร) มีความสุขทุกท่านเน้อ

หมายเหตุ ทุกวันนี้ใช้ที่เปิดขวดของร้านลัคเทียนคล่องแล้วครับ กำลังนึกอยู่ว่าจะหัดคาราเต้เปิดทีเดียวสี่ขวดให้ได้

ไปอ่านตอนแรก / อ่านตอนก่อนหน้า / อ่านตอนต่อไป
Create Date :25 กันยายน 2550 Last Update :2 พฤษภาคม 2557 16:35:45 น. Counter : Pageviews. Comments :11