bloggang.com mainmenu search


by Witoon Wattananit

เช้าวันก่อน เดินออกจากที่ทำงานผ่านทางเชื่อมตึกเห็นขนนกพิราบเกลื่อนพื้น 

เจ้าของขนนกคงตายไปแล้ว มันคงเป็นนกปีกหักหรือนกป่วยบินไม่ได้ที่เดินและหลับพักตามพื้น นกพวกนี้มักตกเป็นอาหารของหมาโซ แมวโหย หรือเหี้ยหิว 

พวกหมาแมว กินนกจะไม่กินขน ส่วนพวกเหี้ยนั้นผมไม่เคยเห็นตอนมันกินนก เคยเห็นแต่ตอนที่มันกินปลากับเต่า มันใช้วิธีค่อย ๆ กลืนเข้าไปทั้งตัว แต่ถ้าเหี้ยมันงับนกมันก็คงกลืนเข้าไปทั้งตัวเหมือนกัน แต่ก่อนที่นกจะถูกกลืนกิน ก็เป็นได้ที่นกจะดิ้นรนจนขนหลุดเกลื่อน

บางคนบอกว่าเหี้ยเป็นสัตว์กินซาก ใช่ครับ เหี้ยกินซากสัตว์แต่มันก็ล่าด้วย พวกปลากับเต่านานี่เป็นอาหารที่มันล่ากินประจำ บางครั้งมันก็ออกล่าออกขโมยเป็ดไก่ชาวบ้าน

จำได้ว่าสมัยเรียนพักอยู่หอ พี่ยามทำเล้าเป็ดเล็กๆไว้ข้างโรงจอดรถหลังหอพัก เลี้ยงได้ไม่กี่วัน ปรากฏว่าถูกเหี้ยบุกเล้าขโมยกินเป็ด

ยังมีแมวน่ารักอาศัยในหอพักตัวหนึ่ง วันหนึ่งผมพบในสภาพเป็นแผลถูกเย็บที่ขาหลังและลำตัว สอบถามเพื่อนดู เพื่อนเล่าว่าช่วยมันมาจากปากเหี้ยโดนกัดเป็นแผลเหวอะต้องพาไปให้หมอทำแผล เท่าที่ฟังความดูคงหมายถึงเหี้ยจริงๆ ไม่ใช่แค่เปรียบเปรยว่าช่วยมาจากคนที่ทำร้ายแมว

กลับมาเรื่องขนนกที่เกลื่อนพื้น อย่างไรก็ตามไม่ว่ามันจะเป็นเหยื่อของตัวอะไร ผมหยิบขนนกขึ้นดู เป็นแผ่นบางเบามีแกนแข็ง ดูทั้งบอบบาง ทั้งยืดหยุ่น แต่ก็แข็งแรง พลิกหน้าพลิกหลัง ดูไปดูมาขนนกนี่ช่างน่าสนใจ ลองเอามาถ่ายภาพในScanning Electron Microscope ดูเป็นดี

ขนนกพิราบ ภาพขยายใกล้ส่วนปลายขนนก จะเห็นว่าในหนึ่งขนนกมีแขนงย่อยๆ แตกออกไปอย่างกับใบมะพร้าว


 ซูมเข้าไปจะเห็นขนย่อยที่คล้ายใบมะพร้าวเรียงตัวกันแน่น


ปลายของส่วนที่คล้ายใบย่อยของมะพร้าวมีปลายเรียวเป็นเส้นเล็ก บ้างมีลักษณะหงิกงอ


ขอบนอกของขนนก


ภาพขยายในส่วนช่วงกลางๆ ของขนนกจะเห็นว่าแขนงย่อยแต่ละอันนั้นเบียดกัน โดยมีปลายของขนย่อยพันเหนี่ยวยึดติดกันไว้

เมื่อเราดูภาพขยายของแผ่นขนนก จะพบว่าในหนึ่งขนนก ประกอบด้วยแขนงเล็กๆ ย่อยลง ซึ่งในหนึ่งก้านดูคล้ายใบมะพร้าวที่มีใบย่อยมากมายเรียงติดกันแน่น และปลายของใบย่อยที่มีมากนี้เรียวเล็กและไปเกาะเกี่ยวกับปลายใบของใบย่อยที่ชิดติดกันดูคล้ายกับซิปที่รูดปิดจนฟันซิปมาขบซ้อนเชื่อมต่อกัน 

และนี่คงเป็นเหตุให้ขนนกที่บางเบา นั้นมีความยืดหยุ่น และแข็งแรง

ในการเตรียมตัวอย่างนั้น ทำโดยนำขนนกมาตัดเฉพาะบริเวณที่สนใจจะถ่ายภาพ และนำไปติดบนStub ที่เป็นฐานอลูมิเนียมด้วยเทปกาวสองหน้า จากนั้นนำเข้าเครื่องเพื่อถ่ายภาพด้วยระบบสุญญากาศต่ำ(Low Vacuum) โดยใช้ตัวรับสัญญาณแบบBack Scattered Electron

ทั้งนี้ไม่มีการเคลือบทองตัวอย่าง เมื่อใช้ระบบสุญญากาศต่ำ จะยอมให้มีอากาศเหลืออยู่ในห้องตัวอย่างเล็กน้อยมากๆ โดยอากาศบางเบาที่เหลืออยู่ในห้องตัวอย่างนี้จะเป็นตัวช่วยนำประจุสะสมบนผิวตัวอย่างออกไปซึ่งในการถ่ายภาพขนนกนี้ผมใช้ความดันอากาศที่ 5-15 Pa

ทุกภาพ ถ่ายด้วยกล้อง TESCAN MIRA3 - Field Emission Scanning Electron Microscope จากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขอศานติและความสุขสถิตย์ในดวงใจ
Create Date :30 มกราคม 2561 Last Update :31 มกราคม 2561 16:26:17 น. Counter : 5973 Pageviews. Comments :9