bloggang.com mainmenu search
2 พฤศจิกยน 2557 : ต้นฉบับท่าฟ้อนสาวไหม-แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

ฟ้อนสาวไหมต้นฉบับของแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์-ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 7 ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย


มีโอกาสอันดีที่ได้บันทึกการถ่ายภาพการฟ้อนสาวไหมต้นแบบของแม่ครูบัวเรียว ในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 15 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 (ที่ผ่านมา)






ถือว่าเป็นโอกาสอันดีมากๆ ครับ ที่ได้ถ่ายภาพชุดการแสดงฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียว มารวบรวมเก็บไว้ใน blog ให้ชมกันครับ
เคยพอทราบประวัติการเล่าเรื่องฟ้อนสาวไหมที่บอกเล่าเรื่องถึงแม่ครูบัวเรียวกันอยู่หลายๆ ครั้ง รวมถึงสามารถค้นหาอ่านได้จากทางอินเตอร์เนต

ถึงแม้จะเคยได้เจอะเจอพบเห็นแม่ครูบัวเรียวในงานอื่นๆ ที่ผ่านมากันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยได้เห็นการแสดงฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียว

ก่อนหน้านี้ได้ถ่ายภาพสาวช่างฟ้อนที่ฟ้อนสาวไหมกันได้อย่างสวยงาม และก็มีอยู่ในกับสองสาวสวยที่ชื่นชอบกับการแสดงฟ้อนสาวไหมที่สวยงามและน่าชมกันมากๆ

ครั้งนี้พอได้มาชมท่าฟ้อนต้นฉบับของแม่ครูบัวเรียว ที่จัดว่าเป็นต้นฉบับท่าฟ้อนสาวไหม
ใจหนึ่งก็อยากบันทึกเป็นวิดีโอเก็บไว้ด้วย
สองจิตสองใจกันเลย แต่สุดท้ายก็เลือกเป็นการถ่ายภาพมาให้ชมกันครับ













































มีภาพฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 7 ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย มาให้ชมกันใน blog นี้ ครับ

ขอบคุณทีมงาน คณะทำงานของมหาวิทยาลัยพายัพ ที่เอื้อเฟื้อเข้าร่วมบันทึกภาพภายในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 15 ไว้ด้วยครับ

ขอบคุณเพื่อนๆ ที่แวะมาชมภาพถ่ายที่ blog กันด้วยครับ


คัดลอกประวัติการฟ้อนสาวไหมที่มีรวบรวมไว้ที่ //th.wikipedia.org/wiki/ฟ้อนสาวไหม
มาให้อ่านกันท้าย blog นี้ด้วยครับ
ประวัติฟ้อนสาวไหม
เป็นการฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ชาวบ้านตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียนเชิงมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ได้เป็นครูเชิง หรือผู้สอนฟ้อนเชิง คือการฟ้อนด้วยมือเปล่าของผู้ชายในลีลาท่ารำในเชิงต่อสู้ ต่อมา "พ่อครูกุย"ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศรีทรายมูล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และพ่อครูกุย ได้ถ่ายทอดการฟ้อนให้แก่บุตรสาว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ คือ แม่ครูบัวเรียว(สุภาวสิทธิ์)รัตนมณีภรณ์ เมื่อแม่ครูอายุราว ๗ ขวบ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พ่อครูโม ใจสม ชาวมอญพระประแดงซึ่งเป็นนักดนตรีนาฏศิลป์ไทยจากเชียงใหม่ ได้อพยพไปอยู่ในละแวกเดียวกันด้วย ซึ่งพ่อครูโมก็ได้ช่วยฟื้นฟู "วงกลองเต่งถิ้ง" ของวัด สอนนาฏศิลป์ และดนตรีไทยจนมีนักดนตรีไทยฝีมือดีหลายคน ในช่วงเวลานั้นแม่ครูบัวเรียวได้ฝึกนาฏศิลป์กับพ่อครูโมด้วย เมื่อมีงานฉลองในวัดที่เกี่ยวข้องกับวัดศรีทรายมูลแล้ว เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาก็มักจะนำดนตรีและช่างฟ้อนมาร่วมในงาน ซึ่งแม่ครูบัวเรียวก็ได้ไปร่วมฟ้อนด้วย โดยเฉพาะแม่ครูมักจะฟ้อนสาวไหมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม่ครูได้ดัดแปลงลีลาการฟ้อนสาวไหมเชิงต่อสู้แบบชายให้เข้ากับบุคลิกของสตรี คือให้อ่อนช้อยงดงามและให้ลงจังหวะดนตรี แบบนาฏศิลป์ไทย ขณะเดียวกันดนตรีประกอบการฟ้อนแต่เดิมใช้ดนตรีพื้นเมืองประเภทใดก็ได้นั้น ก็เริ่มใช้วงกลองเต่งถิ้ง บรรเลงเพลงพื้นเมือง เช่น ปราสาทไหว และฤๅษีหลงถ้ำ ซึ่งต่อมาเห็นว่าไม่กระชับ จึงเลือกใช้เพลง"สาวไหม" แทนซึ่งเพลงนี้ ท่านผู้รู้บางท่าน ก็ว่าเป็นเพลงที่พ่อครูโมดัดแปลงจากเพลง"ลาวสมเด็จ"เพื่อใชhประกอบการฟ้อนสาวไหม

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะศรัทธาจากวัดศรีทรายมูลได้ไปช่วยการฟ้อนที่วัดถ้ำปุ่มถ้ำปลา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครั้งนั้น นายอินทร์หล่อ สรรพศรี ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยชั้นครูของเชียงรายได้ไปเห็นการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวด้วย ต่อมานายอินทร์หล่อ ได้ชมการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวที่งานวัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้เชิญให้พบกับภรรยาของตนคือ แม่ครูพลอยศรี สรรพศรี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมีด้วย "แม่ครูพลอยศรี" ได้ปรับปรุงแก้ไขท่าฟ้อนของแม่บัวเรียว จากเดิม มี ๑๓ ท่าฟ้อนให้เป็น ๒๑ ท่าฟ้อน

แต่ถึงกระนั้นการฟ้อนแบบต้นฉบับของแม่ครูบัวเรียวยังเป็นที่นิยมถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการพัฒนา และกระบวนการสอน ของแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ที่มีการปรับตัวตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่มีพลวัฒอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแม่ครูบัวเรียว ยังถ่ายทอดการฟ้อนพื้นเมืองล้านนาอีกหลายรูปแบบ ณ บ้านสาวไหม ชุมชนศรีทรายมูล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ๐๘๙-๔๓๐๓๒๙๘

ต้นฉบับท่าฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียวที่เป็นมาตรฐาน มี ๑๖ ท่าฟ้อน ดังนี้

1. ไหว้ (เทพนม)
2. บิดบัวบาน
3. พญาครุฑบิน
4. สาวไหมช่วงยาว
5. ม้วนไหมซ้าย
6. ม้วนไหมขวา
7. ตากฝ้าย (เป็นท่าใหม่ที่แม่ครูบัวเรียว ได้เพิ่มเติม ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔)
8. ม้วนไหมใต้เข่า
9. ม้วนไหมใต้ศอก
10. พุ่งหลอดไหม
11. สาวไหมรอบตัว
12. คลี่ปมไหม
13. ปูเป็นผืนผ้า
14. พับผ้า
15. พญาครุฑบิน
16. ไหว้ ตอนจบ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การฟ้อนสาวไหมนี้ เป็นท่าหนึ่งของเชิงสาวไหมที่มักเรียกกันในภายหลังว่า "สาวไหมลายเจิง" แม่ครูบัวเรียวได้เล่าว่าเมื่อครั้งเล็ก พ่อครูกุยได้สอนเชิงสาวไหมให้กับหนุ่มๆ ในละแวกบ้าน และได้ปรับเอาท่าสาวไหมในเชิงนั้นมาคิดประดิษฐ์เป็นฟ้อนสำหรับผู้หญิง โดยนำไปผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้า จึงได้นำวิถีชีวิต กระบวนการทอผ้ามาผสมผสานกับเชิงสาวไหมจนกลายเป็น "ฟ้อนสาวไหม" ให้กับลูกสาวคือแม่ครูบัวเรียวนั่นเอง

แต่ปัจจุบันนี้ มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการฟ้อนสาวไหมนั้น 'ประดิษฐ์มาจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหม' อยู่มากมายรวมไปถึงวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ที่ได้นำการฟ้อนสาวไหมมาปรับปรุงด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง จึงตีความว่าเป็นการฟ้อนที่เลียนแบบการทอผ้าไหม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ไหม" ในภาษาล้านนา หมายถึงเส้นด้าย รวมถึงสิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กบาง เช่น ฝ้ายไหมมือ ก็คือเส้นด้ายที่ใช้ผูกข้อมือให้ศีลให้พร เป็นต้น

หลักฐานที่สนับสนุนว่าการฟ้อนสาวไหม หมายถึงการฟ้อนที่ประดิษฐ์มาจากกระบวนการทอผ้าฝ้ายไม่ใช่ผ้าไหม ก็คือ สภาพความเป็นอยู่ การปลูกต้นฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าฝ้ายของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตนั่นเอง ในล้านนามีการเลี้ยงไหมอยู่น้อยมากจนไม่อาจจะเรียกได้ว่าการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นวัฒนธรรมของล้านนา

อีกทั้งได้สอบถามยังครูเชิงหลายท่าน ทุกท่านต่างยืนยันว่าท่าสาวไหมในเชิงของล้านนา ไม่ได้หมายถึงการสาวเส้นไหมอย่างแน่นอน

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในชื่อของฟ้อนสาวไหมว่า พ่ออุ้ยกุย สุภาวสิทธิ์ เห็นว่าคำว่าฟ้อนสาวไหม มีรูปภาษาที่สวยงามกว่าคำว่า ฟ้อนสาวฝ้าย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรใช้ สาวไหม จะมีความงามทางด้านภาษามากกว่า

ฟ้อนสาวไหม เป็น ฟ้องที่แฝงด้วยปรัชญาชีวิต ว่า ชีวิตทุกชีวิตต้องมีอุปสรรค ดั่งการสาวไหมต้องเจอปม เมื่อคลี่ปมไหมให้ดี และถักทอเป็นผืนผ้าได้สวยงามก็ เปรียบดังชีวิตที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความเพียรและอดทนผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาได้ เป็นต้น


ครูภูมิปัญญาไทย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 57 ในเรื่องการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการการศึกษาได้ดำเนินการคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งกำหนดไว้ในนโยบายให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอด และสนับสนุมให้มีบทบาทในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม
ภูมิปัญญาหรือความรู้ในชีวิตจริงที่มีอยู่เดิมในชุมชนตามที่ชนชาวไทยได้สั่งสมด้วยประสบการณ์ มีกระบวนการเลือกสรร เรียนรู้ ปรุงแต่ง และพัฒนาจนเกิดหลอมรวมเป็นแนวคิดเพื่อใช้แก้ปัญหาของการดำรงชีวิต และพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ช่วยให้สังคมไทยนับแต่อดีตดำรงอยู่ได้อย่างสุขสงบสืบมา เหล่านี้ถือได้ว่าภูมิปัญญามีสารัตถะที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งภูมิปัญญาไทยช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีแก่สังคมไทย ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิให้แก่คนไทย
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการยกย่อง และเชิดชูเกียรติผู้ทรงภูมิปัญญาเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย”

สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริม ภูมิปัญญาไทย โดยสรรหาบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาใน ๙ ด้าน ได้แก่ ด้าน เกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดการจัดการ ศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2544 ได้ครูภูมิปัญญารุ่นที่ 1 เป็นต้นมา และได้ดำเนินการทุกๆ ปี งบประมาณจนถึงปีปัจจุบัน

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 7 ในด้านศิลปกรรม (ฟ้อนสาวไหมต้นแบบ) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2554
Create Date :02 พฤศจิกายน 2557 Last Update :8 พฤศจิกายน 2557 6:05:26 น. Counter : 23149 Pageviews. Comments :8