bloggang.com mainmenu search
7 มิถุนายน 2556 : ประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล 5-12 มิถุนายน 2556


ประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล คือการ..ถวายดอกไม้..เพื่อบูชาเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ตามความเชื่อของชาวลั้วะโบราณ เป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติกันมาจวบจนปัจจุบัน ทำให้ ททท.บรรจุลงในปฎิทินการท่องเที่ยว เพราะได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม โดยดูได้จากลานวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ

ทุกปีชาวเชียงใหม่จะประกอบพิธีสักการะบูชา เสาอินทขิล ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 โดยจะเรียกว่า วันเข้าอินทขิล ไปจนถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเรียกว่า วันออกอินทขิล หรือเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก โดยนับเดือนตามปีปฏิทินแบบล้านนา รวมระยะเวลา 7 วัน ในปี 2556 นี้ ตรงกับวันที่ 5 - 12 มิถุนายน 2556

เดิมนั้น เสาอินทขิล ประดิษฐานอยู่ที่วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิลกลางเวียง (เมือง) เชียงใหม่ เล่ากันว่า หล่อด้วยโลหะ แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรก ทรงมีพระดำริย้ายเสาอินทขิลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ทำการบูรณะขึ้นใหม่เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง..สวยงาม

คติความเชื่อ การบูชาเสาอินทขิล จะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่ง ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านและเกษตรกร ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและทำการเกษตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนั่นเอง

ดังนั้น ประเพณีบูชาเสาอินทขิล จึงต้องอัญเชิญ พระเจ้าฝนแสนห่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงบันดาลให้เกิดฝนตก แห่ไปรอบเมืองเชียงใหม่ก่อนนำไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ

วันเข้าอินทขิลในวันแรก (5 มิย. 2556) ตั้งแต่เวลา 13.30 น.ตามกำหนดการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ จะกล่าวอัญเชิญพระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่า ขึ้นสู่รถบุษบกออกจากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระปกเกล้า ผ่านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เลี้ยวขวาสู่ถนนราชวิถี เข้าสู่ถนนช้างม่อย ถนนช้างม่อยตัดใหม่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน ถึงสี่แยกกลางเวียง ก่อนเลี้ยวเข้าสู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

การบูชารอบเสาอินทขิล 8 แห่ง บูชาพระฤาษี 1 แห่ง บูชาตาปะขาวลั้วะ 1 แห่ง บูชาต้นไม้ยาง 1 แห่ง กุมภัณฑ์ 2 ตน ตนละแห่ง บูชาพระสังกัจจาย 2 แห่ง บูชาพระธาตุเจดีย์หลวง 1 แห่ง เสร็จจากใส่บาตรดอกไม้และบูชาแล้ว จะต้องสรงน้ำพระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่า อธิษฐานขอพรดลบันดาลให้ฝนตก ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกที่มาถึง



ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พอจดจำได้ว่า ในวันแรกนี้ จะมีนักศึกษาจากคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมงานกันทุกๆ ปี และนักศึกษาชายหญิงจะแต่งชุดพื้นเมืองที่สวยงามเข้าร่วมพิธีและประเพณีอินทขิลทุกๆ ปี เลยตั้งใจว่าอย่างน้อยช่วงวันจัดงานวันแรก ถึงแม้จะไม่สามารถมาเก็บภาพถ่ายในพิธีการตั้งแต่บ่ายๆ ได้ ก็ตั้งใจจะมาเจอะเจอนักศึกษาชายหญิงของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมเก็บภาพถ่าย บันทึกภาพถ่ายสวยๆ เหล่านี้ไว้


ปีนี้ไปช้า หรือ พิธีการเสร็จเร็วไม่แน่ใจ พอไปถึงสถานที่จัดงานที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ก็เกือบจะไม่ทันการแล้ว รีบๆ ถ่ายภาพมาให้ชมกันครับ













สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ การที่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่างให้ความร่วมมืออนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม และกับชุดเสื้อผ้าที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมือง นุ่งซิ่น ถือ สลุง หรือขันเงินบรรจุน้ำขมิ้นส้มป่อยและสรวย (กรวย) ดอกไม้เล็กๆ พร้อมธูปเทียน เพื่อสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า และใส่บาตรดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชา สิ่งที่ได้พบเห็นเหล่านี้กับตัวเองเป็นที่ประทับใจสุดๆ แล้ว

ขอขอบคุณนักศึกษาแพทย์ มช. ทั้งชายและหญิง ที่เป็นแบบถ่ายภาพในชุดนี้ไว้ด้วยครับ



ขอบคุณเพื่อนๆ ที่แวะมาชมภาพถ่ายที่ blog และเพื่อนๆ ที่แวะมาพูดคุยทักทายกันที่ blog ด้วยนะครับ
....และก็ขออภัยที่ยังไม่ได้กลับไปเยี่ยมชมทักทายเพื่อนๆ blog กันเลย ไว้จะรีบกลับไปอยู่สถานะเดิมให้เร็วที่สุดครับ


ท้าย blog นี้มาเชิญชวนชาวเชียงใหม่และผู้สนใจร่วมงานประเพณีอินทขิล ในช่วงเย็นๆ เป็นต้นไป
และร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา ซอพื้นเมือง ช่างฟ้อนประเภท ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ร่วมชมศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวเชียงใหม่ในทุกๆ ค่ำคืน ครับ
(ไว้ว่างๆ ช่วงค่ำคืน จะไปเก็บภาพมาให้ชมกันครับ)
Create Date :07 มิถุนายน 2556 Last Update :7 มิถุนายน 2556 14:00:43 น. Counter : 9104 Pageviews. Comments :7