bloggang.com mainmenu search
10 กรกฎาคม 2555 : การแสดงหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง [จากงาน "มหัศจรรย์ประเพณีท่องเที่ยวไทย" เชียงใหม่ 5 - 8 กค. 55]


งาน "มหัศจรรย์ประเพณีท่องเที่ยวไทย" ที่ได้จัดผ่านพ้นกันไปแล้วที่ เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม 2555 (ที่ผ่านมา) ที่เวทีการแสดงภายในเชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ต เชียงใหม่ มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่สลับสับเปลี่ยนการแสดงมาให้ชมกัน วันแรกของการแสดงเป็นการแสดงของภาคเหนือ ไม่ได้ภาพถ่ายมาเลย ไม่ได้ว่างไปถ่ายภาพในช่วงวันทำงาน รวมถึงวันถัดมาที่เป็นการแสดงของภาคกลาง ก็ไม่ได้ภาพถ่ายมาเหมือนกัน ยังเป็นวันศุกร์ที่ยังมีภาระกิจอื่นๆ มาแทรกอยู่ พลาดไป 2 ภูมิภาค พอวันหยุดเสาร์อาทิตย์เลยเกือบจะปักหลักรอชม รอถ่ายภาพการแสดงมาให้ชมกันสำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคอีสาน กับภาคใต้ที่ยังจะมีการแสดงใน 2 วันที่เหลือของงาน

ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายการแสดงของวันสุดท้าย ที่มีการแสดงหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง จากคณะคำนาย มาให้ชมกัน
พอรู้กำหนดการแสดง และตัวเองยังไม่เคยได้ชม ยังไม่เคยถ่ายภาพ เลยมารอถ่ายภาพการแสดงชุดนี้เพื่อนำมาให้ชมกันที่ blog นี้ด้วย ว่าแล้วมาชมกันเลยดีกว่า

เปิดตัวกับพิธีกร 2 สาว ที่มากล่าวเปิดการแสดง






พิธีกรจากคณะคำนาย มากล่าวเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง ให้ฟังกันนิดหนึ่ง ไม่ได้ถอดคำพูดมา แต่ขออนุญาตไป copy ข้อความที่ website ของหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวงมาให้อ่านกันเลยดีกว่า


หุ่นละครเล็ก

ศิลปวัฒนธรรมไทยนับวันจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย และกลายเป็นเรื่องไกลตัวทั้ง ๆ ที่ศิลปวัฒนธรรมเป็นรากเหง้า ของคนไทยมาแต่ช้านาน และถึงแม้ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลทำให้เยาวชนหันไปนิยมจนลืมศิลปวัฒนธรรมไทยกันไปบ้าง แต่ยังมีกลุ่มศิลปินที่ยังคงรักศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย เล็งเห็นว่าถึงแม้สังคมไทยจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หากมีผู้ร่วมสืบสาน และอนุรักษ์มากขึ้นศิลปวัฒนธรรมไทยไม่ว่าแขนงใดก็ตามจะไม่มีวันเลือนหายไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน
การแสดงหุ่นละครเล็ก ศิลปะการแสดงหุ่นของไทยประเภทหนึ่ง ที่มีอายุยาวนานมากว่า 100 ปี ถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อปี 2444 โดยครูแกร ศัพทวานิช และได้รับการสืบทอดโดยครูสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก พ.ศ. 2539 ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจร่วมอนุรักษ์ และสืบสานศิลปะแขนงนี้เพิ่มมากขึ้น
การแสดงหุ่นละครเล็กเป็นการแสดงที่ผู้เชิดต้องมีความสามารถเฉพาะทาง และมิใช่เรื่องง่ายที่ใครจะสามารถเชิดหุ่น ละครเล็กได้ เนื่องจากผู้เชิดต้องมีพื้นฐานโขน ละคร เป็นอย่างดี หลังจากนั้นถึงจะสามารถเริ่มฝึกการเชิดหุ่นละครเล็กได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี ถึงจะสามารถถ่ายถอดจิตวิญญาณสู่หุ่นละครเล็กให้มีท่วงท่าที่อ่อนช้อย และงดงามได้ อีกทั้งในการเชิดหุ่นละครเล็ก ต้องใช้ผู้เชิดถึง 3 คน จึงต้องรวมใจของทั้ง 3 ให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อถ่ายทอดไปยังตัวหุ่นละครเล็ก ให้หุ่นละครเล็กเคลื่อนไหวประดุจมีชีวิต ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้สั่งสมภูมิปัญญาจนเกิดเป็นวัฒนธรรมอันเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ที่สร้างมนต์เสน่ห์ให้กับผู้พบเห็นไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ


หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย

ถือกำเนิดเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2010 ด้วยมีแนวคิดเดียวกันในการมุ่งหวังที่จะร่วมเผยแพร่ อนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก ในฐานะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการเชิดหุ่นละครเล็ก อีกทั้งได้ผู้ใหญ่ใจดีอย่างอาจารย์วัชระ ประยูรคำ ปฏิมากรชั้นนำของเมืองไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกับกลุ่มศิลปินนักแสดงผู้เชิดหุ่นละครเล็ก และให้คำปรึกษาในการสร้างสรรค์ พัฒนาเพื่อต่อยอดการแสดงให้เกิดความหลากหลาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ที่ต้องการเสพศิลปวัฒนธรรม



หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย

ปัจจุบันได้จัดทำการแสดง ณ บ้านศิลปิน คลองบางหลวง โดยได้รับความเมตตาจากคุณชุมพล อักพันธานนท์ เจ้าของบ้านศิลปินปรับพื้นที่บางส่วนภายในบริเวณบ้านให้เป็นลานวัฒนธรรม เพื่อจัดการแสดงหุ่นละครเล็ก และเปิดให้ชมฟรีทุกวัน วันละ 1 รอบ เวลา 14.00 น.(การแสดงหยุดทุกวันพุธ) แหล่งเรียนรู้อีกหนึ่งแห่งให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และเพื่อสร้างกิจกรรมที่หลากหลายให้กับชุมชน และส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางน้ำที่ควรค่าแก่การสืบสานให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป เพื่อเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมไทยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ที่ไม่มีโอกาส อีกทั้งเพื่อเป็นการร่วมเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง



เอกลักษณ์ของการแสดงหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย

หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย ผู้เชิดทั้งสามคนจะต้องใส่หน้ากากสีดำ แต่งกายสีดำ สวมถุงแขน สวมถุงขาสีดำ เพื่อเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ และเพื่อส่งให้หุ่นเด่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมให้อยู่แต่ที่ตัวหุ่น หรืออีกนัยหนึ่งก็เปรียบได้ว่าผู้เชิดหุ่นเป็นเพียงจิต และตัวหุ่นเปรียบเสมือนเป็นกาย เมื่อผู้เชิดคือจิตทั้งสามต่างมีหน้าที่แตกต่างกัน ถ่ายทอดไปยังร่างกายเมื่อร่างกายสมบูรณ์ ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างงดงาม และอ่อนช้อยประดุจเสมือนหุ่นมีชีวิต


“ ศิลปิน ยังคงอยู่ได้ จากแรงสนันสนุน และส่งเสริม

ศิลปะถูกเติมเต็มได้ด้วยศิลปินที่ทำงานด้วยใจ

ศิลปะและวัฒนธรรม อยู่ได้ ด้วยการอนุรักษ์ และเผยแพร่

ถ้ามีท่านร่วมสนับสนุน ส่งเสริม อนุรักษ์ ศิลปิน

ศิลปวัฒนธรรมก็คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ”

ขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านกันกับประวัติและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย //www.klongbangluang.com/?page_id=11


มาชมการแสดงกันต่อครับ
การแสดงมีด้วยกัน 3 ชุดการแสดง เลือกชุดการแสดงแรกมาให้ชมกันก่อน กับการแสดงเชิดหุ่นหนุมาน เพื่อบอกเล่าเรื่องวิธีการเชิดหุ่นให้ชมกันก่อน
พิธีกรบอกว่า "คนที่จะมาเชิดหุ่นได้ ปกติต้องได้เรียนรู้ท่าการแสดงของโขนมาก่อน ช่วงการเชิดหุ่นจะได้เป็นท่าทางเดียวกันกับตัวหุ่น"

มาชมกันเลยครับ อาจจะเขียนบรรยายประกอบให้อ่านกันเล็กๆ น้อยๆ ครับ











อย่างที่พิธีกรเล่าบอกไว้ตอนต้นว่า คนเชิดหุ่นจะต้องได้รับการเรียนรู้หรือเคยเรียนการแสดงโขนมาก่อน คนที่จะมาเชิดหุ่นหนุมาน ก็ต้องดูว่าเหมือนจะต้องได้เรียนรู้ท่าการแสดงของตัวลิง ตัวหนุมานมาก่อน
















การเชิดหุ่นจะสมบูรณ์ได้จำเป็นต้องมีคนเชิดหุ่นพร้อมๆ กันถึง 3 คน













การแสดงท่าทางการเชิดหุ่นหนุมาน พอแสดงท่าทางหลักๆ ให้ชมกันแล้ว ช่วงท้ายการแสดงก็เป็นการแสดงที่สร้างความสนุกสนานให้ชมกันเล็กน้อยครับ เป็นการเล่นไปพร้อมๆ กันกับพิธีกร และหุ่นหนุมาน
































หนุมานยังโชว์ท่าการแสดงพิเศษให้ชมกันอีกหนึ่งท่าการแสดง "ซารังเฮโย"








3-4 ภาพสุดท้ายกับหนุมานครับ




จบกันไว้ที่ภาพนี้ครับ
ไว้ทำภาพชุดการแสดงที่เหลือมาให้ชมกันต่อครับ

ขอบคุณคณะนักแสดงหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย ไว้ด้วยครับ ที่นำการแสดงดีๆ น่าชมมาให้ชมกันถึงเชียงใหม่ และขอนำภาพถ่ายชุดนี้มาประชาสัมพันธ์ ร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยไว้ด้วยครับ

ขอบคุณเพื่อนๆ ที่แวะมาชมภาพถ่ายที่ blog นี้กันด้วยครับ
Create Date :10 กรกฎาคม 2555 Last Update :10 กรกฎาคม 2555 6:49:34 น. Counter : 4554 Pageviews. Comments :13