โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หมวดสมาธิ ในอริยมรรค ๘


🌷  น้อมถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ

๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือก็คือ "หัวใจพระพุทธศาสนา" แสดงว่าโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น ย่อมน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น



🌷  โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หมวดสมาธิ ในอริยมรรค ๘

หากมีคนกล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ โดยไม่ต้องผ่านการปฏิบัติฌานในสัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เปรียบเหมือนมีคนกล่าวว่า ตนจะเอาใบตะเคียน ใบทองกวาว ใบมะขามป้อม มาทำกระทงใส่น้ำ ย่อมมิใช่ฐานะที่จะมีได้ เช่นกัน

เมื่อเรานำเอาหลักธรรม หมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ในอริยมรรคมีองค์ ๘ มาสอบสวน เทียบเคียงแล้ว จะเห็นได้ชัด ดังนี้

สัมมาวายามะ เฉพาะสัมมาวายามะ มรรคองค์ที่ ๖ ในหมวดสมาธิองค์เดียว ก็เทียบลงได้กับในโอวาทปาฏิโมกข์ ถึงสองข้อทีเดียว อันข้อที่ ๑ กับข้อที่ ๒ ที่มีว่าไว้ดังนี้

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง (อกุศล)
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี (กุศล)


คือ การละอกุศลทั้งปวง มาทำกุศลทั้งปวงให้เกิดขึ้น

มาดูว่าเทียบกันอย่างไร?
สัมมาวายามะ มีกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้

กตโม จ ภิกขเว สัมมาวายาโม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เป็นอย่างไร?
- เพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
- เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
- เพียรยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
- เพียรยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น


เราจะเห็นได้ว่าขณะภาวนาอานาปานสติอยู่นั้น จิตมีสติกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า มีสติกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจออก เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในขณะนั้นจิตดำรงตนอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ทั้งข้อ ๑ และข้อ ๒ อย่างชัดเจน

ส่วนข้อที่ ๓ ในโอวาทปาฏิโมกข์ คือ
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ

ต้องอาศัยข้อธรรมอะไรในการชำระจิตของตน ก็เหลือแต่ สัมมาสติ มรรคองค์ที่ ๗ และสัมมาสมาธิ มรรคองค์ที่ ๘ ซึ่งมรรคทั้ง ๒ องค์นั้นต้องทำงานควบคู่กันไปตลอดสายของการปฏิบัติภาวนาอานาปานสติ

ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้กล่าวไว้ดังนี้

กตมา จ ภิกขเว สัมมาสติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เป็นอย่างไร?
- เพียรระลึกรู้ในที่ ๔ สถาน อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่
คือ มีสติพิจารณาระลึกรู้ในกาย เวทนา จิต และธรรม

โดยเฉพาะบรรพะแรกของหมวดกาย คือ การปฏิบัติอานาปานสติภาวนา

ทำไมต้องอานาปานสติภาวนาล่ะ? เพราะมีพระบาลีกล่าวไว้ในพระสูตรหลายแห่งซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา
วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้


พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า อานาปานสติกรรมฐานภาวนา ที่เมื่อเราเจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างอื่นอีกมากมาย ยังให้สติปัฏฐาน ๔ นั้นบริบูรณ์ ยังให้โพชฌงค์ ๗ นั้นบริบูรณ์ โดยเฉพาะโพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นองค์คุณธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ ๗ ประการนี้ เมื่อบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมมีผลให้ วิมุตติจิตหลุดพ้น เป็น "ปัญญาวิมุตติ"

ในขณะที่สัมมาสติเดินอยู่นั้น สัมมาสมาธิ มรรคองค์ที่ ๘ ก็ทำงานควบคู่กันไปด้วยตลอดสายของการปฏิบัติอานาปานสติกรรมฐานภาวนาอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่จตุตถฌาน (ฌาน ๔) ในสัมมาสมาธิ ทำให้เกิดเจโตวิมุติ จิตหลุดพ้นด้วยกำลังของฌาน แล้วนำกำลังของฌานที่ระลึกได้มาใช้ในขณะดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน (อุเปกฺขา สติ สงฺสุทธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ) จะเห็นได้ว่าขั้นตอนที่เกิดขึ้นในหมวดสมาธิ แห่งองค์อริยมรรคนั้น ก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ (หัวใจพระพุทธศาสนา) นั่นเอง

เพราะสัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ แตกต่างจากสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งในกาลก่อนพุทธกาลตลอดจนจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจากอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีจำเพาะในพระพุทธศาสนาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ต่างไปจากสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไปตรงที่ว่า สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต เป็นการปล่อยวางเป็นชั้นตามกำลังของฌาน ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ จนกระทั่งจิตของตนตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออุปกิเลสทั้งหลาย อารมณ์ที่เป็นแขกจรเข้ามากระทบจิตให้หวั่นไหวไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับสมาธิอื่นทั่วไปแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สมาธิเหล่านั้นล้วนสอนให้เกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่น จนจิตละเอียดเข้าสู่ฌาน สงบนิ่งชุมแช่อยู่กับสุขในอารมณ์ฌานนั้น ต้องเกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่นเพราะกลัวอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางไป ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น สูงสุดได้แค่ทำให้กิเลสเบาบางลงเท่านั้น ไม่สามารถทำจิตให้ข้ามไปโลกุตตระได้

เมื่อมาพิจารณาองค์ฌานของสัมมาสมาธิ ที่มีมาในมหาสติปัฏฐาน ๔ มีว่าไว้ดังนี้

กตโม ภิกขเว สัมมาสมาธิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นชอบ) เป็นอย่างไร?
ต้องสงัดแล้วจากกามารมณ์ สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศล
เข้าถึงปฐมฌาน อันมี วิตก วิจาร ปิติ สุข
เมื่อละวิตก วิจารได้ เข้าทุติยฌาน มีธรรมอันเอกผุดขึ้น
เมื่อละปิติได้ อยู่เป็นสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน
เพราะละสุข ละทุกข์ เพราะความโสมนัสและโทมนัสทั้งในกาลก่อนอัสดงไป
เข้าถึงจตุตถฌาน มีสติบริสุทธิ์กุมเฉย (อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ)


สรุปได้ว่า ฌานในสัมมาสมาธินั้น เป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตนเป็นชั้นๆ จนกระทั่งจิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ รู้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง หมดความยึดมั่นถือมั่นถึงเรื่องราวต่างๆ ในโลก พ้นโลก เหนือโลก ดังนี้ เอวัง

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท

 



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:57:39 น.
Counter : 376 Pageviews.

0 comments
: อดีต...ปล่อยมันไป : กะว่าก๋า
(10 ก.ย. 2567 04:35:33 น.)
: เธอไม่ได้รักฉัน ฉันไม่ได้รักเธอ : กะว่าก๋า
(8 ก.ย. 2567 06:14:12 น.)
: เพราะรักนั่นแหละ : กะว่าก๋า
(5 ก.ย. 2567 04:22:22 น.)
ต้องขยันมากกว่านี้! peaceplay
(2 ก.ย. 2567 15:52:17 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด