การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่มีอยู่จริง


🌷 การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่มีอยู่จริง

เมื่อนึกถึงหรือกล่าวถึงการปฏิบัติธรรม ก็มักมีความเชื่อความศรัทธาแตกต่างกันไป ตามจริตนิสัยของตนเป็นพื้นฐาน บ้างเอาความง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นเข้าว่า อาศัยปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด บ้างเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง มาบดบังเอาความจริงไว้ บ้างรู้ยิ่งเห็นจริงด้วยการอ่านตำรา จนความคิดที่ได้ตกผลึก จึงลักจำเอามาพูด ฯลฯ และต่างยืนกรานในสิ่งที่รู้มาว่าถูกต้อง โดยขาดการตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง และพิสูจน์สิ่งที่รู้มานั้นด้วยการปฏิบัติบูชาตามเสด็จพระพุทธองค์

ทั้งที่ตามจริงแล้ว ในปฐมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตนสูตร) ที่ทำให้เกิดอริยบุคคลขึ้นครั้งแรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์สาม พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน ว่าด้วยการปฏิบัติธรรม “ที่สุดโต่งสองฝั่ง ที่ไม่ควรเสพ” และทรงวางหลัก “ทางสายกลาง” ขึ้นมา โดยเน้นว่า เป็นข้อปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง

“เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนะปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง“

การไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเฉียดไปมาไม่ได้ เช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิกรรมฐานภาวนาตลอดรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก ด้วยเพียรพยายามอันยิ่ง เพื่อลด ละ เลิก ทิฐิสันดานที่ไม่ดีทั้งหลายอันเคยปรากฏอยู่ ให้เบาบางลงไป กลับกลายเป็นว่า “ความเพียรพยายาม” ดังกล่าวนั้น มีครูบาอาจารย์บางคนอบรมสั่งสอนว่าเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” อันไม่ควรเสพ

พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา เป็นการลำดับวิธีการปฏิบัติธรรมไว้ตามขั้นตอนที่สมควรปฏิบัติตาม พระองค์ทรงห้ามส่วนที่สุด ๒ อย่าง เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น มีการปฏิบัติธรรมทั้งสองอย่างกันมาก รูปฌานและอรูปฌาน ที่เรียกว่า “ฌานสมาบัติ” ที่ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะได้ฝึกฝนจนชำนาญ ก็จัดว่าเข้าใกล้ “กามสุขัลลิกานุโยค” คือการติดสุขในอารมณ์ฌานอันละเอียดประณีตนั่นเอง

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม อันตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของใครมาต่อยอดเลย จึงได้อาจหาญประกาศตนว่า รู้เองเห็นเองโดยชอบ “ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” แปลว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน

อันมี “อริยมรรคมีองค์ ๘” หรือ มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติทางสายกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุดสองฝั่งนั้น โดยพระพุทธองค์ได้ทรงชี้ทางเดินให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ได้รู้เห็นตามความเป็นจริงถึงองค์ประกอบย่อย และองค์ประกอบโดยรวมของ “สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ

องค์ประกอบย่อยใน “หมวดสมาธิ” ประกอบด้วย “สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ” ทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ

เดิมนั้นท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ยังติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานสมาบัติที่เคยปฏิบัติมาจนชำนาญ อันมีรูปฌาน และอรูปฌาน เป็นอารมณ์ภายนอกกาย นำเอามาเป็นอารมณ์ในองค์ภาวนา จิตเป็นสุขอันละเอียดก็จริง แต่ยังมีอาการหวั่นไหว เกรงไปว่า “อารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้” ทำให้ต้องยึดถือเอาอารมณ์นั้นไว้เป็นของๆ ตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเทศนาถึง “สัมมาสติ” ซึ่งเป็นการหยิบยกเอา กาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมาพิจารณา เพื่อสร้างสติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง) ล้วนเป็นธรรมอันเป็นภายในกาย ทำให้ “จิตของตน” เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางและหลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่จิตของตนเคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ได้

ส่วนองค์รวมแห่ง “สัมมาสมาธิของพระอริยเจ้า” มีตรัสไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ
เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น “สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน”
ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร
คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ”


พระพุทธองค์ทรงยกให้ สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธาน แวดล้อมไปด้วย อริยมรรคที่เหลืออีก ๗ องค์ และในอริยมรรคที่แวดล้อมอยู่ ๗ องค์นั้น ทรงเชิดให้ สัมมาทิฐิ เป็นใหญ่เป็นประธาน ซึ่งสอดคล้องพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงยังสมาธิ
(สัมมาสมาธิ) ให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น
(เป็นสมาธิ) ดีแล้ว
ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
(มีสัมมาทิฐิ) ดังนี้

ในปัจจุบันมีคนสอนว่า การทำสมถะ เช่น การนั่งสมาธิกรรมฐานภาวนา การเดินจงกรมนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” เป็นเพียงแค่สมถะ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญญาวิปัสสนา ขอกล่าวว่าการสอนดังกล่าวนั้นเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง เพราะในปฐมเทศนาไม่มีการกล่าวถึงสัมมาวิปัสสนาเลย เป็นการปล่อยให้ตัวบุคคลที่ตนเชื่อและศรัทธา มาบดบังความจริง ๔ ประการ คือ อริยสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

และคนสอนมักอ้าง “วิปัสสนา” โดยสอนให้เดินวิปัสสนาไปเลยเพื่อให้เกิดปัญญา มีสติอัตโนมัติ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ส่วนสมถะกรรมฐานที่เป็น สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ต้องทำหรือกระทำเล็กๆ น้อยๆ เพียงเป็นพิธีก็พอแล้ว เป็นการกล่าวตู่ เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์อย่างไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นเลย

สุดท้ายนี้ ขอฝากนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อความหน่าย คลาย ละ จงเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติธรรมไว้อย่างชัดเจน คือ

“ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (จิตผู้ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย”

ทางที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดได้ ทางนั้นคือ การภาวนามยปัญญา ให้มีสติรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ) เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ แสดงว่าไม่มีวิธีอื่นที่จะยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบรูณ์

จงอย่างหลงไหลไปกับความสบายๆ ง่ายๆ ลัดสั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 08 พฤษภาคม 2564
Last Update : 8 พฤษภาคม 2564 11:23:19 น.
Counter : 623 Pageviews.

0 comments
หลักของสติ **mp5**
(16 เม.ย. 2567 12:14:57 น.)
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด