พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป


🌷 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป
ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา


หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา“

โดยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” คือ “โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ“

วันนั้นเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ

พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” แปลว่า “ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มานั้น พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน”

พระพุทธองค์จึงทรงประกาศตนเองว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยองค์เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฌานในสัมมาสมาธิที่ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เป็นการต่อยอดความรู้มาจากรูปฌานหรืออรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานสมาบัติที่มีปรากฏอยู่ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมา ฉะนั้นสัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบทั่วๆ ไป และฌานในสัมมาสมาธินั้น ก็ไม่ใช่ฌานสมาบัติเช่นกัน

เมื่อกล่าวถึงเนื้อธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น คือ อริยสัจ ๔ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ทำให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เปล่งวาจาว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า หัวข้อธรรมที่ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์ (จิต) ที่ติดข้องด้วยความยึดถืออยู่ในโลกทั้งสิ้น หรือก็คือ จิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์นั่นเอง

ตรงตามที่พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า “โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงปิดบังไว้ จึงหลงงมงายอยู่ในความมืด เพราะความทะยานอยาก (ตัณหา) มีประการต่างๆ” นั่นเอง

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อธรรมที่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” นั้น หมายความเกี่ยวเนื่องกับ จิตที่ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นเอง

แต่กลับมีพวกอิ๊กคิวที่ชอบตีความไปตามจริตที่ติดความง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไหลตามกิเลสว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น” ให้รู้ก็พอ ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่พยายาม ไม่สามารถบังคับ เพราะบังคับมันไม่ได้ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงจะดับของมันไปเองเป็นธรรมดา (ตามยถากรรมนั่นเอง) ซึ่งทำให้พระธรรมบทของท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะนี้เสียหายไปหมด

คำกล่าวที่ว่า “เป็นธรรมดานั้น” ล้วนกล่าวถึงเรื่องของโลก ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย หรือจิตที่ติดข้องในอารมณ์ ที่ควรต้องละ ต้องสละคืนความยึดถือออกไปให้หมดสิ้น เป็นธรรมดา

เมื่อรู้แล้ว ละเรื่องที่รู้ไม่เป็น ได้แต่ดูเฉยๆ ก็คือความไม่รู้นั่นเอง เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองของสัตว์โลก (จิต) ผู้ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย รู้แล้วไม่ยึดติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นไม่มี

ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก รู้แล้วละสิ่งนั้นทั้งปวง เป็นก็เย็นได้ สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา

ไม่ใช่อย่างที่พยายามครอบงำให้เชื่อตามๆ กันไปว่า “เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ให้รู้ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยๆ (เฉยโง่) เดี๋ยวมันก็ดับไปของมันเอง”

การรู้แบบนี้ก็เปรียบเสมือนว่าไม่รู้จักอารมณ์ เพราะละสิ่งที่รู้ไม่เป็น ปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามยถากรรมดีๆ นี่เอง นานวันไปก็กลับกลายเป็นถิรสัญญา คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

อารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเร็วขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ทั้งหลาย แต่เป็นสัญญาที่จดจำธรรมารมณ์ (ถิรสัญญา) ดังกล่าวไว้ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง ประกอบกับว่า เมื่อจดจำธรรมารมณ์ดังกล่าวที่ว่ามานี้ได้อย่างยาวนาน ทำให้ธรรมารมณ์ดังกล่าวเหล่านั้น จืดจางไปจากความรู้สึกของตนเอง จนตนเองเข้าใจผิดไปว่าธรรมารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเอง

โดยไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า ธรรมารมณ์ในส่วนที่ประทับใจหรือที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ก็ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในธรรมารมณ์เหล่านั้น แบบปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทั่วๆ ไป วนเวียนเป็นวัฏฏะ ไม่รู้จักจบสิ้น ธรรมารมณ์เก่าดับไป ธรรมารมณ์ใหม่เกิดขึ้นๆๆ ตลอดไป

เนื่องจากไม่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ทำให้ไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) ไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า

ทุกข์ ต้องกำหนดรู้
และต้องรู้จักเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ที่กำหนดรู้นั้นด้วย
เมื่อกำหนดรู้แล้ว ต้องละให้เป็น จึงจะเย็นได้ (ดับ) นิโรธ
และจะละสิ่งที่รู้ให้เป็นจึงจะเย็นได้นั้น ต้องเดินตามทาง อริยมรรค มีองค์ ๘ ที่มีสัมมาสมาธิเป็นประธานในองค์มรรคนั่นเอง

เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บริบูรณ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 14 พฤษภาคม 2564
Last Update : 14 พฤษภาคม 2564 9:14:18 น.
Counter : 373 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
สุขสันต์วันปีใหม่ไทย ๒๕๖๗ haiku
(13 เม.ย. 2567 10:13:33 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 32 : กะว่าก๋า
(10 เม.ย. 2567 06:04:44 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด