นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี


🌷  นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
ณ บัดนี้ ให้พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา

เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า สำรวมจิตสำรวมใจของตน อย่าส่งจิตออกไปในเรื่องอดีต เพราะเป็นเรื่องที่ได้ผ่านพ้นมาแล้ว อย่าส่งจิตไปในเรื่องอนาคต เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นอันยังมาไม่ถึง

มาอยู่กับปัจจุบันขณะนี้ ที่เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องมีความตั้งใจ ที่จะสร้างสติ ประคองจิตของตนให้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องล่อให้จิตมีสติตั้งมั่นไว้กับองค์ภาวนา

องค์ภาวนานั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ขอให้เป็นองค์ภาวนาที่มาจากกายสังขาร ที่เกิดจากกาย อย่าไปใช้องค์ภาวนาซึ่งเป็นอารมณ์ภายนอกกาย เพราะจะทำให้เกิดเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้น เกิดความลุ่มหลงในสัญญาอารมณ์นั้นได้

เพราะสัญญานั้นเป็นเพียงขันธ์ ซึ่งไม่เที่ยง อนิจจตา เป็นทุกข์ ทุกขตา ไม่ใช่ตน อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย อนัตตตา

อารมณ์ที่เกิดจากสัญญานั้น ย่อมต้องจืดจางลงไปได้ตามกาลเวลา ทำให้จิตที่ลุ่มหลงยึดมั่นอยู่กับอารมณ์นั้น ต้องคอยกระหวัดนึกถึงอารมณ์ที่ลุ่มหลงยึดมั่นอยู่นั้นตลอดเวลา ยังเป็นทุกข์ด้วยเกรงว่า อารมณ์ที่ลุ่มหลงอยู่ ยึดอยู่ จะจืดจางลงไป

การใช้องค์ภาวนาที่เกิดจากกายสังขาร ย่อมทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้เห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ขององค์ภาวนาเองที่ใช้เป็นอารมณ์อยู่ เมื่อเพียรประคองจิตจนสามารถปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นองค์ภาวนาอยู่นั้นได้ เหมือนที่เรามักจะได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วว่า เมื่อภาวนาไป ภาวนาไป องค์ภาวนา พุทโธหาย จิตจะเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในระดับหนึ่ง นี่เราพูดถึงบุคคลผู้ที่สนใจใฝ่หาความหลุดพ้นจากทุกข์

ส่วนภัยใหญ่ของชีวิต สำหรับบุคคลผู้ที่ยังจมปลักติดอยู่ในโลกนั้น คือความคิดที่ลุ่มหลงในกามคุณและอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะขาดการภาวนามยปัญญา ทุกวันนี้ คนมักมองแต่เรื่องภายนอกตัวทั้งสิ้น ด้วยกังวลกลัวภัยที่จะมีมาจากภายนอก ทั้งที่ภัยเหล่านั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตนได้สร้างมันขึ้นมาเอง โดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มานะ ทิฐิ บุคคลสามารถหลบหลีกหลีกเลี่ยงผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

แต่ภัยที่เกิดจากกิเลสกามและอกุศลธรรมที่ตนเองได้เคยก่อไว้จนกลายเป็นวิบาก คงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงหลบหลีกให้พ้นไปจากภัยเหล่านั้นได้ ส่วนจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้หรือไม่นั้น ต้องมาดูกันว่าปัจจุบันเรารู้จักภัยใหญ่ของชีวิตที่แท้จริงหรือยัง

ภัยใหญ่ที่ว่านั้นคือ ราเคนะ โทเสนะ โมเหนาติ จิตที่เศร้าหมองไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ที่มีในตนเอง อันเกิดจากความรู้สึกนึกคิดที่ยังลุ่มหลง มีฉันทะราคะไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็นอารมณ์ที่ชวนให้รัก ชักให้หลง ทำให้เกิดความกำหนัด ก็เพลินยิ่งเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

ส่วนอารมณ์ที่ชวนให้ชัง ชักนำให้โกรธ ทำให้เกิดพยาบาท ก็เป็นการสร้างกิเลสกรรม วิบาก ฝังแน่นลงไปในความรู้สึกนึกคิดที่ลุ่มหลงนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรหมั่นเพียรฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้รู้จักคิดเป็น เมื่อคิดเป็น ก็เย็นได้ เมื่อคิดไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้ ไม่ร้อนรุ่มไปกับ ราคะคินา โทสะคินา โมหะคินา คือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ โดยเปลี่ยนความคิดที่ลุ่มหลงนั้น ให้มาลงในการสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิตของตนให้ได้

มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ดังนี้

“เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
ยตฺถพาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ

พวกเธอทั้งหลาย จงดูโลก (ร่างกาย) อันวิจิตรดุจราชรถ
ที่คนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่ผู้รู้ หาข้องไม่”


จากพระธรรมบท จะเห็นว่าบุคคลผู้จมปลักอยู่ในโลก เหมือนจิตที่ยึดมั่นเอาขันธ์ ๕ มาเป็นตน (ขันธ์ ๕ ก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

บุคคลจะลุ่มหลงในร่างกายที่ต้องปรุงแต่ง แต่งเติมอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนราชรถที่งดงามวิจิตรที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่บุคคลผู้สนใจไฝ่หาธรรมหลุดพ้นจากทุกข์นั้น หาข้องด้วยไม่

เพราะบุคคลผู้ที่ลุ่มหลงอยู่ในโลก คือ ร่างกายที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ หรือรูปนามนี้ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บุคคลเช่นนั้นย่อมติดอยู่ในนิวรณ์ (นิวรณ์ ๕ คือ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ)

เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้นถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น

บุคคลผู้ปฏิบัติ จึงต้องรู้จักทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป

เรามาเริ่มที่ร่างกาย ที่มีมาใน “กายสูตร” กายจะดำรงอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร

อาหารของกายที่สำคัญอันดับ ๑ คือ การนอน เมื่อคนเรามักนอนมากจนเกินไปนั้น ทำให้จิตซึมเซา เกียจคร้านการงานทั้งหลาย

อาหารที่ ๒ คือ การกิน ลองพิจารณาดูว่า เมื่อวันนึงวันนึง เราเอาแต่หาอะไรกินทั้งวี่ทั้งวัน กินแล้วก็นอน ดังมีคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าบุคคลใดเก่งเรื่องกินกับเรื่องนอนเสียแล้ว ชีวิตของบุคคลนั้น หาอะไรเก่งอีกไม่ได้เลย

ฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จึงต้องฝึกฝนอบรมตนเอง ด้วยการอดนอนผ่อนอาหาร ดังที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทางสายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมักแนะนำให้ทำกัน เพราะจะทำให้เบากายเบาใจ เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา เพราะการนอนมากไปกับการกินมากไป จะไปทับธาตุขันธ์ให้หนัก ทำให้การภาวนาก็จะไม่ก้าวหน้าเช่นกัน

แม้ นิวรณ์ ๕ ก็มี อาหาร คือ มีปัจจัยให้เกิดให้ดำรงอยู่ คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ มีศุภนิมิต ความสวยงาม เป็นอาหาร
๒. พยาปทะ ความคิดเบียดเบียน มีปฏิฆะนิมิต ความหงุดหงิด เป็นอาหาร
๓. ถีนมิทธะ ความซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน มีความเบื่อระอา ความเกียจคร้าน ความเฉยชา ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง ความมีใจหดหู่ เป็นอาหาร (ข้อถีนมิทธะนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า เป็นผลที่เกิดจากอาหารของร่างกาย มันทับธาตุขันธ์เอา จนจิตของตนเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมอง ย่อมนำไปสู่เรื่องราวที่วุ่นวายขัดข้องตามมาอีกมาก)
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน มีความไม่สงบระงับภายในใจ เป็นอาหาร
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย มีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย เป็นอาหาร

นิวรณ์เกิดและดับเพราะอะไร?
พระองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ศุภนิมิต อันเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าสวยงาม ทำให้กามฉันทะเกิด
ส่วนปฏิฆะนิมิต อันเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้ว ทำให้ใจหงุดหงิดไม่ยินดีพอใจ ทำให้เกิดพยาบาท และทำให้พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามใหญ่โตขึ้น
ความไม่ยินดี อรติ ความคร้าน ตฺนทิ ความบิดขี้เกียจ วิชมฺภิกา ความเมาอาหาร ภตฺตสมฺมโท ความหดหู่แห่งจิต เจตโสลีนตฺตํ ทำให้ถีนมิทธะเกิด และทำให้ถีนมิทธะที่เกิดแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ความไม่สงบใจ เจตโส อวูปสโม ทำให้อุทธัจจะกุกกุจจะเกิด และทำให้อุทธัจจะกุกกุจจะที่เกิดแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ความคิดที่ไม่แยบคาย อโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดวิจิกิจฉา และทำให้วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ในการดับนิวรณ์ ๕ นั้น ตรัสว่า

อศุภนิมิต ความไม่สวยไม่งาม ล้วนเป็นปฏิกูลเน่าเปื่อย ดับกามฉันทะ
เมตตาเจโตวิมุตติ ดับพยาปทะ
ความริเริ่มบำเพ็ญเพียร ความมุ่งมั่น ความบากบั่น ดับถีนมิทธะ
เจตโส วูปสโม ความสงบใจ ดับอุทธัจจะกุกกุจจะ
โยนิโสมนสิการ ความคิดที่แยบคาย ดับวิจิกิจฉา

นิวรณ์เองก็ต้องอาศัยปัจจัยทำให้เกิดเช่นกัน เมื่อมีขันธ์ ๕ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารูปนามก็ได้

เมื่อมีอารมณ์ รูป มากระทบจิต ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความนึกคิด อันเนิ่องด้วยอารมณ์นั้น (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา

รูปนาม หรือขันธ์ ๕ ย่อมต้องมีช่องทางในการรับอารมณ์เข้ามาสู่จิต ซึ่งเราเรียกว่าอายตนะ ๖ ช่องทาง สำหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต มี ๖ ช่อง

อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้นหน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดูและได้แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังอยู่คงอยู่ในบ้าน และรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด

จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา เมื่อตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ เมื่อทั้งสามมารวมกันเกิดผัสสะ เมื่อมีผัสสะย่อมต้องมีความชอบชัง ความน่ารัก น่าใคร่ ติดใจ ยินดี ยินร้าย เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เรียกว่าเวทนา มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ทางหูได้ยินเสียง ก็เป็น โสตวิญญาณ
ทางจมูกได้รับกลิ่น ก็เป็น ฆานะวิญญาณ
ทางลิ้นได้รับรส ก็เป็น ชิวหาวิญญาณ
สัมผัสทางกาย ก็เป็น กายวิญญาณ
นึกคิดทางใจที่เรียกว่าธัมมารมณ์ ก็เป็นมโนวิญญาณ ที่มโนวิญญาณรับเข้ามานั้น ล้วนเป็นอารมณ์

อารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่จิตหลงยึดถือเอาเข้ามาเป็นสมบัติของตนเอง ด้วยความสำคัญผิด เพราะความจริงนั้น อารมณ์เป็นเพียงเงา และความรู้สึกที่มีต่อวัตถุหรือสิ่งของที่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุดินน้ำลมไฟ รวม ๔ ธาตุทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดาทุกอารมณ์

อารมณ์ ดังกล่าวนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย รวม ๕ ทาง ซึ่งจะเข้าสู่จิต ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียงคู่กันไปตามลำดับ

เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว ก็จดจำอารมณ์เหล่านั้นไว้ ในรูปของธัมมารมณ์ที่มโนทวาร แล้วนึกน้อมเอาอารมณ์เหล่านั้นกลับขึ้นมารับรู้ได้อีก เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความนึกคิดที่เก็บไว้ในใจ อีกทางหนึ่ง รวมเป็น ๖ ทาง

อารมณ์ทั้ง ๖ ดังกล่าว คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปสู่จิตทีละอารมณ์ ตลอดเวลาที่ตื่นนอน รวมทั้งในขณะนอนฝันด้วย สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใด ครั้งละเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น

เมื่ออารมณ์ดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อใด จิตก็จะแล่นออกไปรับรู้อารมณ์ ตามช่องทางที่อารมณ์เข้ามา ผัสสะกันเมื่อไหร่ กลายเป็นจิตผสมกับอารมณ์ไปเมื่อนั้น ทำให้มีความฟุ้งซ่านหวั่นไหวเกิดขึ้นที่จิต

ครั้นอารมณ์ดังกล่าวนี้ดับไป ความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหว ก็ย่อมสงบลงชั่วขณะ จากนั้นจิตก็จะดิ้นรนแสวงหา อารมณ์อันอื่นมายึดไว้เพื่อจะได้รับรู้ต่อไปอีก สุดแต่ว่าจะได้อารมณ์ที่พอใจจากช่องทางใด เมื่อรับรู้อารมณ์ใหม่ก็เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหวในลักษณะใหม่ไปด้วย อารมณ์เหล่านี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตตลอดเวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้เป็นเพราะจิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงหลงยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายซึ่งไม่เที่ยงไว้ โดยเข้าใจผิดว่าเที่ยงและมีแก่นสาร เนื่องจากไม่รู้จักจิตของตนเองที่แท้จริง

นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นอุปกิเลสของจิต จาก “อุปกิเลสสูตร” พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

สิ่งที่ทำให้ทองคำเสื่อมคุณภาพลง หมายถึงอุปกิเลสมี ๕ อย่าง คือ ๑. เหล็ก อโย ๒. โลหะ โลหํ ๓. ดีบุก ติปุ ๔. ตะกั่ว เสสํ ๕. เงิน สชฺฌูต สิ่งทั้ง ๕ นี้ ทำให้ทองคำไม่นุ่ม ไม่พร้อมที่จะใช้งาน สีไม่สุก เปราะ และเอาดีไม่ได้

จิตก็เหมือนกัน มีอุปกิเลส ๕ อย่างที่ทำให้ไม่นุ่มนวล ไม่เหมาะที่จะใช้งาน ไม่ผุดผ่อง หมดสภาพ และไม่มั่นคงสำหรับที่จะสิ้นอาสวะได้ อุปกิเลส ๕ อย่างนั้น คือ นิวรณ์ ๕ อันมี กามฉันทะ พยาปทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

อันตรงข้ามกับ โพชฌงค์ ๗ ซึ่งไม่เป็นเครื่องกีดขวางจิต ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต เมื่อบุคคลกระทำให้มาก เจริญให้มากแล้ว มีแต่จะทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติ เพื่อความสิ้นสังโยชน์ เพื่อความสิ้นอาสวะ เพื่อถอนอนุสัย เอวัง.

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศน์วันพระ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔





Create Date : 12 กรกฎาคม 2564
Last Update : 12 กรกฎาคม 2564 15:01:32 น.
Counter : 4001 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของความลวง : กะว่าก๋า
(25 เม.ย. 2567 03:38:29 น.)
137. ทางเดินไปสู่ “ความดับทุกข์” คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” ตอนที่ 3 chancamp
(21 เม.ย. 2567 06:10:44 น.)
กฎของธรรมชาติ ปัญญา Dh
(20 เม.ย. 2567 10:45:01 น.)
: ถามตะวัน จันทราตอบ : กะว่าก๋า
(20 เม.ย. 2567 06:10:27 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด