จิตไม่ใช่กองทุกข์


🌷  จิตไม่ใช่กองทุกข์

ที่ต้องพยายามเน้นนักเน้นหนาเรื่อง “จิต” นั้น เพราะในปัจจุบันผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนารายใหม่ๆ มักเชื่อตามๆ กันมาจาก “ตำราและอาจารย์” โดยไม่เคยพิจารณาว่าสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมานั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งๆ ที่สิ่งที่รู้มา อ่านมา หรือได้ยินได้ฟังมานั้น ขาดเหตุผลไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย เพียงเพราะเป็นการเชื่อแบบตามๆ กันมาเท่านั้น

ซึ่งผิดไปจากหลักกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพราะว่า สิ่งที่เชื่ออยู่นั้น เป็นการเชื่อที่เกิดขึ้นแบบตามๆ กันมา ๑๐ ประการ โดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเสียก่อน

พระองค์ยังทรงตรัสไว้ในท้ายกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อทั้ง ๑๐ ประการ ให้ตั้งใจฟัง ศึกษาให้ดีเสียก่อน แล้วนำสิ่งที่รู้และได้ยินได้ฟังมา เอามาสมาทาน ลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงได้แล้ว และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ผู้รู้ไม่ติเตียน ค่อยเชื่อก็ยังไม่สายเกินไป

แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่มักเชื่อโดยขาดหลักเหตุผล เพียงเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรืออยู่ในฐานะที่ผู้ฟังคิดเองเออเอง ว่าผู้พูดคงไม่โกหกหรอก โดยไม่เคยนำพามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับพระพุทธพจน์ (พระสูตรและพระวินัย) หรือกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในสายภาวนากรรมฐานเลย

อย่างเช่น เชื่อไปได้ว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือ จิตเป็นตัวทุกข์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียแล้ว จะเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ เท่ากับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ดีๆ นั่นเอง โอวาทปาฏิโมกข์   ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ก็จะเสียหายไปด้วย 

โอวาทปาฏิโมกข์ ๑ ละชั่ว ๒ ทำดี ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง 

ถ้าเราลองพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าพระองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง “จิต” ล้วนๆ ทั้ง ๓ ข้อเลย ข้อ ๑ การละชั่ว ละกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ละกันที่จิต ข้อ ๒ การทำดี ทำกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทำดีกันที่จิตอีกนั่นแหละ ในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้นล้วนมีสอนกันอยู่ในทุกๆ ศาสนา เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แต่ในข้อที่ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น จะมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับ “อริยมรรค ๘” หรือ “อธิจิตตสิกขา”

ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียเองแล้ว คำว่า อธิจิต เราจะแปลว่ายังไงดีล่ะ คงต้องแปลว่า จิตเป็นกองทุกข์อันยิ่ง ใช่หรือไม่? เรายังจะชำระจิตไปเพื่ออะไร เมื่อชำระจิตได้แล้ว แทนที่จิตจะสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หลุดพ้นไปได้ หรือกลายเป็นอธิจิต ซึ่งอธิจิตจะนำให้เกิด “อธิปัญญา” ตามมาได้ แต่กลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

สืบเนื่องจากมีความเชื่อกันไปแล้วว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ ในเมื่อจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์ซะแล้ว มันก็ต้องเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์อยู่อย่างนั้นเองวันยังค่ำ จะดัดแปลงแก้ไขใดๆ ไม่ได้เลย 

เพราะความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง เห็นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเข้าใจผิดว่าจิตเป็นกองทุกข์ เพราะวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ ถูกจัดไว้เป็นกองทุกข์ นั่นเอง

มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน “ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์” ใครที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ล่ะ ถ้าไม่ใช่ “จิตของตน”

เรื่องราวต่างๆ ในโลกที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนสืบเนื่องมาจาก การที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ  และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เข้ามาเป็นของๆ ตน (คือจิต) นั่นเอง

เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (ความนึกคิดในใจ) ทั้งหลาย ที่รัก ที่ชอบ ฯลฯ จิตก็จะเป็นสุขไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่รักที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบใจ ขัดใจ ชิงชัง ฯลฯ จิตก็จะหงุดหงิด เศร้าหมองจนเป็นทุกข์ไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น

เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าจิตไม่ใช่เป็นกองทุกข์แน่นอน เพราะในบางครั้งบางคราว จิตก็เป็นตัวสุข หรือเป็นกองสุขขึ้นมาได้เช่นกัน

ฉะนั้น จิตไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ที่จิตเป็นสุข หรือจิตเป็นทุกข์ขึ้นมานั้น ล้วนเพราะตัวจิตเองเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นของๆ ตนนั่นเอง

เมื่อได้ลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยความเพียรจนสำเร็จ จิตจะมีสติอย่างต่อเนื่อง (สันตติ) เป็นจิตที่มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงาน และจิตเองก็จะปฏิเสธ สุข ทุกข์ โสมนัส หรือโทมนัสทั้งหลายในกาลก่อนไปด้วย   เพราะจิตปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น และปล่อยวาง (ละ) ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตนเอง เข้าถึง “อธิจิต” ได้ ดังมีพระพุทธวจนะรับรองไว้ดังนี้

“สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง
สัตว์ทั้งหลาย
(จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า
จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน”


(คัททูลสูตรที่ ๒)

♦️

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี”
[อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาแต่ครั้งใด รู้ไม่ได้]

(อวิชชาสูตร)

♦️

“จิต นี้มีมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร
เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ”


♦️

“ปภสฺสรมิทํภิกฺขเว จิตฺตํ
ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส
แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง”


พระพุทธวจนะที่ยกมานี้ พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตจะเศร้าหมองจนเป็นทุกข์ หรือผ่องแผ้วจนเป็นสุขนั้น เกิดจากการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จึงจะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ ภายในของจิตผู้นั้น

ถ้าจิตของผู้นั้นไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรของจิตผู้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จิตก็อยู่ส่วนจิต กิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส ซึ่งเป็นของคู่โลก

พระพุทธวจนะที่นำมาเสนอนี้ ชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นเลย

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 02 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:38 น.
Counter : 432 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)
ได้คะแนน ปัญญา Dh
(7 เม.ย. 2567 12:52:45 น.)
คิดดี พูดดี ทำดี นาฬิกาสีชมพู
(6 เม.ย. 2567 17:52:38 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด