อานาปานสติ


🌷 อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์

เมื่อกล่าวถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นเครื่องรองรับจิตแล้ว ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่าง มักจะถูกมองข้าม จากพวกนักตำรานิยมที่ติดหนึบอยู่วิปัสสนา (นึก) ของตน

พวกนักวิปัสสนา (นึก) ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้ว มักให้ความสำคัญไปที่ มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยเฉพาะในหมวดจิตตานุปัสสนา (ดูจิต) เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจไปเองว่าเหมาะกับพวกมีปัญญามาก คือ ทิฐิจริตหรือวิปัสสนา (นึก) นั่นเอง

โดยลืมไปว่ามีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า การจะทำให้มหาสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ขึ้นมาได้นั้น จะต้องเจริญให้มากและประกอบอยู่เนืองๆ ในอานาปานสติบรรพะให้ยิ่งๆ ขึ้น จนชำนิชำนาญอย่างคล่องแคล่ว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องสืบสวนทวนความลงไปว่า เรื่องอานาปานสตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ที่ไหนบ้าง

ปฐมบทพื้นฐาน (สติปัฏฐาน ๔) ในบรรพะแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้นคือ เริ่มต้นที่ อานาปานสติบรรพะ พิจารณากายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

(อานาปานสติกรรมฐาน พิจารณากายสังขาร คือลมหายใจ)

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น


ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ฯลฯ


(อานาปานบรรพะ มหาสติปัฏฐานสูตร)

จากที่ยกมานี้ พอสรุปได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของ สัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระพุทธพจน์ที่มีมาใน มหาจัตตารีสักกสูตร ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

(มหาจัตตารีสกสูตร)

สรุป เมื่อกล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นการกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน คือ เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน เพื่อให้หลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลาย

ขณะที่กำลังเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอานาปานสติ (สัมมาสมาธิ) อยู่นั้น องค์ธรรมสำคัญที่มาประกอบด้วยคือ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ จิตจึงรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า

เมื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป
จิตของเรา หาปรวนแปรกระสับกระส่าย ตามไปด้วยไม่


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท


 



Create Date : 05 พฤษภาคม 2564
Last Update : 5 พฤษภาคม 2564 11:06:42 น.
Counter : 1039 Pageviews.

0 comments
:: ชีวิตคือการพบเจอและการเลือก :: กะว่าก๋า
(19 ก.ค. 2567 05:09:21 น.)
:: ชีวิตไม่ง่าย :: กะว่าก๋า
(18 ก.ค. 2567 05:13:27 น.)
การสร้างที่ควร ปัญญา Dh
(18 ก.ค. 2567 08:39:08 น.)
:: คิลานะ :: กะว่าก๋า
(15 ก.ค. 2567 22:00:43 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด