สเต็มเซลล์-โคลนนิ่ง อันเนื่องมาจากรางวัลโนเบล

ธีรนัย จารุวัสตร์



สเต็มเซลล์เส้นประสาทมนุษย์ (สีแดง)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือแห่งปัญญาที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจความพิศวงของธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากความรู้ต่างๆ ที่ได้มา ทำให้เรื่องลี้ลับเกินความเข้าใจของคนในยุคหนึ่ง เป็นเรื่องที่เข้าใจกันทั่วไปในคนยุคต่อมาเสมอ

การมอบรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ประจำปี 2555 ให้แก่ ดร.จอห์น เกอร์ดอน จากประเทศอังกฤษ และ ดร.ชินยะ ยามานากะ ชาวญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เป็นเครื่องยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น

คณะกรรมการ โนเบลประกาศเกียรติคุณว่านัก วิจัยทั้งสอง ช่วยให้มนุษย์เข้าใจวิธีการเปลี่ยนแปลง "เซลล์" (cell) ในสิ่งมีชีวิตมากขึ้น นับว่าเป็นการไขปริศนาของธรรมชาติได้อีกเปราะ

ผลงานชนะรางวัลของดร.เกอร์ดอน คือผลงานวิจัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วซึ่งใช้นิวเคลียส (หัวใจของเซลล์) จากกบตัวหนึ่ง ไปฝังในไข่ที่ยังไม่ได้ปฏิสนธิของกบอีกตัวหนึ่ง ปรากฏว่าไข่ฟองนี้พัฒนากลายเป็นลูกอ๊อดขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องอาศัยสเปิร์ม หรือที่เรียกว่าการ "โคลนนิ่ง" นั่นเอง

โดยที่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกันว่าเซลล์ที่โตแล้วไม่สามารถกลับไปทำหน้าที่สร้างร่างกายแบบในตัวอ่อนได้

แม้ว่า ดร.เกอร์ดอนเคยถูกปรามาสจากครูในสมัยเรียนมัธยม ดังที่ใบเกรดเขียนว่า "ความมุ่งมั่นของนายเกอร์ดอนที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นเหลวไหลสิ้นดี เพราะเขาทำไม่ได้แม้แต่ท่องจำความรู้ขั้นพื้นฐานของวิชาชีวะ รังแต่ทำให้ตนเองและคนอื่นเสียเวลาเท่านั้น"

แต่เกอร์ดอนในตอนนั้นกลับมุมานะจนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และชนะรางวัลทรงเกียรติได้ในที่สุด

สำหรับ ดร.ชินยะ ผลงานดีกรีโนเบลของเขาคือ การใช้ "ยีนส์" (genes) 4 ชนิดเปลี่ยนให้เซลล์ผิวหนังของหนูตัวหนึ่งกลายเป็น "เซลล์ต้นกำเนิด" หรือที่เรียกว่า "สเต็มเซลล์" (stem cell)

การวิจัย สเต็มเซลล์ ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 2510 โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สามารถเพาะปลูกสเต็มเซลล์ในสิ่งมีชีวิตให้เป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆได้ตามต้องการ ดังนั้น สเต็มเซลล์จึงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการแพทย์ เพราะเป็นเสมือนการปลูกถ่าย "อะไหล่" ที่สำคัญในร่างกายแก่ผู้ป่วยที่ต้องการ

ศูนย์วิจัยสเต็มเซลล์แห่งแรกในประเทศไทยอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของ นพ.กำธร พฤกษานานนท์ จากคณะแพทยศาสตร์ของจุฬาฯ ซึ่งทีมวิจัยแห่งนี้มีผลงานสร้างเด็กหลอดแก้วครั้งแรกในประเทศไทยมาแล้ว ปัจจุบันทำการวิจัย สเต็มเซลล์เพื่อทดสอบยา ศึกษากลไกการเกิดโรค และค้นหาวิธีรักษาโรค

นพ.กำธรยกตัวอย่างว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาการใช้สเต็มเซลล์ปลูกเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจใหม่ ให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือเนื้อเยื่อสมองให้แก่ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ จนกระทบกระเทือนต่อสมองได้

ขณะที่ ดร.ลารัน ที. เจนเซน จากสหรัฐ อเมริกา ซึ่งขณะนี้สอนอยู่ ณ ภาควิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่าโรคกระเพาะปัสสาวะของมนุษย์ ก็รักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ ในอนาคตอันใกล้ สเต็มเซลล์จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินด้วย เพราะสเต็มเซลล์จะไปแทนที่เซลล์ผลิตอินซูลิน ในตับอ่อนของมนุษย์ ซึ่งมักถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน

ที่มาของสเต็มเซลล์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สเต็มเซลล์ตัวอ่อน (embryonic stem cell) ได้จากตัวอ่อนของมนุษย์อายุประมาณ 4-5 วัน และสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อโตเต็มวัย (adult stem cell) ได้จากส่วนต่างๆ ของมนุษย์ที่โตแล้ว เช่น เลือด ไขกระดูก หรือผิวหนัง

แต่ในอดีตที่ผ่านมา สเต็มเซลล์เต็มวัยใช้งานไม่ดีเท่ากับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ที่สามารถพัฒนาการเปลี่ยนรูปร่างต่างๆ ให้แพทย์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การนำสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมาใช้นั้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงทางจริยธรรมอย่างมาก โดยกลุ่มเคร่งศาสนาและอนุรักษนิยมต่อต้านการวิจัยลักษณะนี้ เพราะมองว่าเป็นการทำลายตัวอ่อนของมนุษย์ ไม่ต่างจากการทำแท้ง ถึงแม้ว่านักวิจัยใช้สเต็มเซลล์จากเฉพาะตัวอ่อนตามคลินิกเจริญพันธุ์ที่ไม่ใช้งานและจะนำไปทำลายทิ้งอยู่แล้วก็ตาม

นพ.กำธรกล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยที่จุฬาฯ ใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อน แต่ก็มีกติกา มีระเบียบควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ทำลายเซลล์ตัวอ่อนตามใจชอบ

ด้าน ดร.เจนเซนแสดงความเห็นว่า ถ้าหากการวิจัยที่ใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนนั้น สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มาก ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่า แต่ก็เข้าใจเหตุผลของผู้ที่ต่อต้าน เพราะตนมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาคริสต์หัวอนุรักษนิยมจำนวนมาก และรัฐบาลสหรัฐไม่ให้เงินวิจัยเท่าที่ควรเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความรู้สึกของคนกลุ่มนี้

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีอนุรักษนิยมแห่งสหรัฐอเมริกา เคยออกคำสั่งเมื่อปี 2544 ห้ามรัฐบาลกลางมอบเงินสนับสนุนให้แก่งานวิจัยที่ใช้สเต็มเซลล์ ตัวอ่อน นักวิจัยจึงต้องใช้สเต็มเซลล์จากสายรกของเด็กทารกแทน ซึ่ง ดร.เจนเซนกล่าวว่า การทำสเต็มเซลล์เช่นนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่ค่อยมีใครเก็บสายรกของตนเองตั้งแต่แรกเกิดไว้

 


1.ดร.เกอร์ดอนลบคำปรามาสของครูได้ในที่สุด

2.แล็บสเต็มเซลล์ที่จุฬาฯ

3.ดร.ชินยะในห้องทดลอง

4.ลูกศิษย์ดร.ชินยะแสดงความดีใจ

5.ศูนย์วิจัยสเต็มเซลล์แห่งแรกในไทย

6.นพ.กำธร

7.ดร.จอห์น เกอร์ดอน

8.ดร.ชินยะ ยามานากะ

9.ดร.เจนเซน





 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่อมาในปี 2552 ประธานาธิบดีเลือดใหม่ของสหรัฐ บารัก โอบามา จึงประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามการสนับสนุนสเต็มเซลล์ดังกล่าว

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ยังเป็นองค์กรศาสนาที่ต่อต้านการวิจัย สเต็มเซลล์ที่แข็งขันที่สุดก็ว่าได้ โดยศาสนจักรคาทอลิกที่นครวาติกันออกประกาศเมื่อปี 2543 บัญญัติว่าการวิจัยที่ ใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนผิดหลักศาสนาและ หลักศีลธรรม เพราะเป็นการทำลายชีวิตของมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างนิกายคาทอลิกกับวงการวิทยาศาสตร์จึงคุกรุ่นมาตลอด

แต่เมื่อต้นปีนี้ ศาสนจักรคาทอลิกออกประกาศสนับสนุน การวิจัยสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช้ตัวอ่อนของมนุษย์

กระทั่งเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ศาสนจักรคาทอลิกวาง แผนจัดงานสัมมนาร่วมกับนักวิจัยสเต็มเซลล์ แต่ขอเซ็น เซอร์บทพูดของ นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเวทีก่อน ทำให้เกิดการประท้วงจนศาสนจักรสั่งยกเลิกงานก่อนจะได้จัดจริง

ดร.เจนเซนระบุว่างานวิจัยของ ดร. ชินยะที่ได้รางวัลโนเบล ช่วยปลดล็อกความขัดแย้งทางจริยธรรมระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับผู้ที่เคร่งครัดศาสนาได้มาก เนื่องจาก ดร.ชินยะสาธิตว่า เราสามารถเปลี่ยนสภาพเซลล์ของผู้ใหญ่ให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ที่พัฒนาได้หลายแบบ (induced pluripotent stem cells หรือ ไอพีเอส) แบบที่พบในตัวอ่อนของมนุษย์ได้

จากที่ก่อนหน้านี้เคยเชื่อกันว่าเซลล์สิ่งมีชีวิต ไม่มีทางพัฒนาย้อนกลับไปเป็นตัวอ่อนได้ ผลงานของ ดร.ชินยะแปลว่า เราสามารถสร้าง สเต็มเซลล์จากมนุษย์ได้ โดยไม่ต้องพึ่ง สเต็มเซลล์ตัวอ่อนอีกต่อไป

"ผมคิดว่าความคืบหน้านี้จะทำให้วงการวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยสเต็มเซลล์อย่างกล้าหาญและเปิดเผยมากขึ้น" ดร.เจนเซนกล่าว

ดร.เจนเซนยังกล่าวว่า นอกจากจะยุติการต่อต้านทางศีลธรรมต่อวงการวิจัย สเต็มเซลล์แล้ว การใช้เซลล์ที่โตแล้วของมนุษย์มาทำเป็นสเต็มเซลล์นั้นยังดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยเองด้วย เพราะเซลล์ที่นำมารักษาก็มาจากร่างกายของผู้ป่วย เช่น ปลูกเนื้อเยื่อหัวใจจากผิวหนังผู้ป่วย แทนที่จะนำมาจากตัวอ่อนของมนุษย์คนอื่นที่ร่างกายอาจจะเข้ากันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สเต็มเซลล์ก็เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ตรงที่สร้างอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังเช่นกรณีผู้ป่วยคนหนึ่งในประเทศไทยเสียชีวิตจากการรักษาด้วย สเต็มเซลล์ที่บริเวณไตเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่องค์การอาหารและยา (อย.) ประกาศเตือนบ่อยครั้งว่าอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อ้างมาทำจาก "สเต็มเซลล์" เนื่องจากในประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำสเต็มเซลล์มาใช้ในลักษณะนี้ การฉีดสารกล่าวอ้างเข้าร่างกายจึงอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่อ้างว่าทำจาก "สเต็มเซลล์พืช" ซึ่งอย.ระบุว่าเป็นเพียงส่วนประกอบของพืชเท่านั้น ไม่ใช่สเต็มเซลล์

"เรื่องสเต็มเซลล์นี่ยังต้องระมัดระวังอีกมาก เราค่อยๆ ทำ เพราะสเต็มเซลล์ใช้สารเคมีหลายชนิดและใช้ไวรัสด้วย สเต็มเซลล์เนี่ยสามารถแปลงเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ เราจึงต้องควบคุมอย่างละเอียด เพราะมันอาจกลายเป็นอย่างอื่นที่เราไม่ต้องการก็ได้

เช่น ปลูกกล้ามเนื้อหัวใจกลายเป็นกระดูก หรือปลูกเนื้อเยื่อสมองกลายเป็นเนื้องอก ทีนี้ก็วุ่นไปกันใหญ่" นพ.กำธรกล่าว พร้อมย้ำว่า การวิจัยสเต็มเซลล์ในไทยไม่ได้หยุดนิ่งตามสหรัฐ ที่ผ่านมามีการศึกษาและพัฒนาตลอด

นพ.กำธรเผยว่า ทีมวิจัยของจุฬาฯ แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการกับนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศมาตลอด และติดตามงานวิจัยของ ดร.ชินยะ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ปีนี้มาตลอด ล่าสุด นักวิจัยที่ได้ไปทำงานร่วมกับ ดร.ชินยะก็เริ่มเดินทางกลับมาแล้ว คาดว่าจะใช้ความรู้มาพัฒนาวงการสเต็มเซลล์ในบ้านเราได้อีกมาก

สเต็มเซลล์จะกลายเป็นยารักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยทั่วไปได้สักวันหนึ่งหรือไม่?

ดร.เจนเซนมองว่า ภายในไม่เกิน 50 ปี การวิจัยน่าจะประสบความสำเร็จและปลอดภัยจนนำมาใช้ตามโรงพยาบาลต่างๆได้ แต่คงต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากในการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงแรกเพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงการรักษานี้ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่

ด้าน นพ.กำธรกล่าวว่า ยังไม่อยากจะชี้ชัดว่า อีกกี่ปีสเต็มเซลล์จะบรรลุเป้าหมายในการรักษาโรคที่ซับซ้อนอย่างอัลไซเมอร์ได้ แต่คิดว่าการวิจัยจะไปถึงขั้นนั้นสักวันหนึ่งแน่นอน ส่วนราคาของการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ก็จะสูงในช่วงแรกอย่างแน่นอน ไม่ต่างจากยารักษาโรคใหม่ๆ ที่จะแพงในช่วงแรก ต่อมาจะเริ่มถูกลงตามลำดับ

"สเต็มเซลล์เป็นเทคโนโลยีที่ให้ คุณประโยชน์มหาศาลแก่วงการแพทย์ ประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้เขาถือเป็นนโยบายของชาติ ทุ่มงบประ มาณกันเป็นพันล้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นวาระของชาติจริง เพราะเรานำมารักษาคนได้ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นวิจัยก็จริง แต่ในอนาคตเราทำได้แน่" นพ.กำธรกล่าวทิ้งท้าย

หน้า 21

ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
คุณธีรนัย จารุวัสตร์

สวัสดีวันอังคารค่ะ




Create Date : 16 ตุลาคม 2555
Last Update : 16 ตุลาคม 2555 12:35:13 น.
Counter : 1702 Pageviews.

0 comments
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
สรุปวิชาโลกดาราศาสตร์และอวกาศชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องทรัพยากรธรณี นายแว่นขยันเที่ยว
(28 ก.พ. 2567 00:03:41 น.)
มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 347 Rain_sk
(28 ก.พ. 2567 08:43:19 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Letalia.BlogGang.com

Letalia
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด