แพนด้าชี้โทรจันคือหัวขโมยข้อมูล
แพนด้าชี้โทรจันคือหัวขโมยข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยแพนด้า แล็ป บริษัท แพนด้า ซอฟต์แวร์ ระบุว่า กำลังจะมีการเผยแพร่รายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมัลแวร์ โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า โทรจันเป็นมัลแวร์ที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเข้าสู่ระบบปฏิบัติการและดำเนินการต่างๆ ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ทันได้ตระหนัก ในปัจจุบันแพนด้าฯ พบว่าโทรจันเหล่านี้ ถูกใช้ในการขโมยรหัสผ่านสำหรับการเข้าใช้บริการทางการเงินมากที่สุด ส่วนโทรจันกลุ่มต่อมาที่ แพนด้า แล็ป ตรวจพบบ่อยมากได้แก่ บ็อต (มาจากคำว่า “robot”) และแบ็คดอร์โทรจัน ที่อาจนำไปสู่การใช้งานระบบของผู้ใช้ไปในทางที่ผิด โดยมัลแวร์ทั้งสองประเภทนี้แม้จะพบบ่อย แต่ก็ยังห่างจากโทรจันอยู่มาก และมีปริมาณคงที่หรือลดลงบ้างในปี 2549
นายหลุยส์ โครอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย แพนด้า แล็ป กล่าวถึงการเพิ่มจำนวนของโทรจันนี้ว่า ข้อมูลที่พบจากการศึกษาทำให้แพนด้าฯ เห็นชัดว่า จุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวของผู้ผลิตมัลแวร์ คือ การทำกำไรจากผลงานของตัวเอง โดยไม่ต้องการชื่อเสียงดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไป โดยโทรจันยังคงรักษาตำแหน่งของตนเอาไว้ได้ในการเป็นมัลแวร์ที่พบมากที่สุด ในขณะที่มัลแวร์ประเภทอื่น เช่น ไวรัสในแบบเก่าๆ โปรแกรมไม่พึงปรารถนาและโปรแกรมเจาะระบบมีจำนวนลดลง
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย แพนด้า แล็ป กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโปรแกรมต่อโทรศัพท์ หรือ ไดอัลเลอร์ ก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน โดยแม้โปรแกรมเหล่านี้สามารถแก้ไข ค่าการเชื่อมต่อโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์ได้ แต่ในปัจจุบันมีเครือข่ายไวไฟ (WiFi) และการเชื่อมต่อผ่านบรอดแบนด์เข้ามาแทน จึงทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็มเหล่านี้ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว
ข่าวจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 6 ธันวาคม 2549 เวลา 09:09 น.