22.1 พระสูตรหลักถัดไป คือสันทกสูตร [พระสูตรที่ 26]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
21.11 พระสูตรหลักถัดไป คือลฑุกิโกปมสูตร [พระสูตรที่ 16]

ความคิดเห็นที่ 3-1
GravityOfLove, 4 กันยายน เวลา 19:23 น.

             คำถามสันทกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=5062&Z=5497

             กรุณาอธิบายค่ะ
             [๒๙๖]  ... ถ้าคำของศาสดาผู้นี้เป็นคำจริง
กรรมในลัทธินี้ ที่เราไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่เราไม่ได้
อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว แม้เราทั้งสองคือเราผู้ไม่ได้กล่าวว่า เพราะกายสลาย แม้เราทั้งสอง
จักขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไปจักไม่มี ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน ถึงความเป็นผู้
เสมอๆ กันในลัทธินี้. ที่ยิ่งกว่ากันก็คือความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคน
ศีรษะโล้น ทำความเพียร ในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือนนอน
เบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทร์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดี
ทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอๆ กับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไร เห็นอะไรอยู่
จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่าลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ได้ ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ ลัทธิอันไม่
เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่
ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่หนึ่งนี้แล อันพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว.
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-2
ฐานาฐานะ, 4 กันยายน เวลา 22:06 น.

              กรุณาอธิบายค่ะ
              [๒๙๖]  ... ถ้าคำของศาสดาผู้นี้เป็นคำจริง ...
              อธิบายว่า
               ... ถ้าคำของศาสดาผู้นี้เป็นคำจริง คือถ้าคำว่า ทำแล้วไม่มีผลเป็นต้นเป็นจริงแล้ว
              ดังนั้น ไม่ทำไม่ประพฤติตามศาสดานั้น ก็เหมือนทำตามประพฤติตามศาสดานั้น
คือ ไม่มีผลอยู่นั่นเอง. ก็เมื่อทำแล้วไม่มีผล คนหนึ่งประพฤติเปลือยกาย ...
อีกคนหนึ่งครองเรือนนอนเบียดกับบุตร ... ก็จักเหมือนกัน.
              เรานั้นรู้อะไร เห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้
น่าจะแปลว่า
              เรานั้นจะต้องโง่เขลาเพียงใด จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้
              วิญญูชนพิจารณาแล้ว ก็ออกจากลัทธินั้น ฯ.

ความคิดเห็นที่ 3-3
GravityOfLove, 4 กันยายน เวลา 22:41 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-4
GravityOfLove, 5 กันยายน เวลา 00:40 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๒๖. สันทกสูตร เรื่องสันทกปริพาชก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5062&Z=5497&bgc=mistyrose&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพี
             สมัยนั้น สันทกปริพาชกพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐
อาศัยอยู่ ณ ถ้ำปิลัคขคูหา
             ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่เร้น (ในที่นี้หมายถึง ออกจากวิเวก)
แล้วเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า เราทั้งหลายจะเข้าไปยังบ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะเพื่อจะดูถ้ำ
             ท่านพระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมากจึงเข้ายังบ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะ
             สมัยนั้น สันทกปริพาชก นั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดติรัจฉานกถา
ด้วยเสียงดังเอ็ดตะโร คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น
             สันทกปริพาชกได้เห็นท่านพระอานนท์กำลังมาแต่ไกล
จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า
             ขอให้เบาเสียงด้วย เพราะสาวกของพระสมณโคดมเป็นผู้ใคร่ใน
ความเป็นผู้มีเสียงเบา ถ้าทราบว่าพวกเรามีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาใกล้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิเวก_3
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ติรัจฉานกถา

             สันทกปริพาชกได้เชิญท่านพระอานนท์นั่ง แล้วตนนั่งที่ต่ำกว่า
             ท่านพระอานนท์ได้ถามสันทกปริพาชกว่า เมื่อกี้นี่ ประชุมเรื่องอะไรกันค้างไว้
             สันทกปริพาชกตอบว่า เรื่องนั้นเอาไว้ก่อนเถิด แล้วขอให้ท่านพระอานนท์             
แสดงธรรมในลัทธิแห่งอาจารย์ของตนให้แจ่มแจ้ง
             ท่านพระอานนท์จึงแสดงธรรมดังนี้
             ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ
(อพรหมจริยวาส - ลัทธิอันไม่ใช่การประพฤติพรหมจรรย์)
             และพรหมจรรย์อันเว้นความยินดี ๔ ประการ (พรหมจรรย์อันไม่น่ายินดี)
ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออก
ไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้
             อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ คือ
๑. ศาสดาเป็นนัตถิกวาทะ
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ
ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
และสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก
             คนเราประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เท่านั้น
             เมื่อทำกาลกิริยา (ตาย) ธาตุดินไปตามธาตุดิน
ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม
             อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปสู่อากาศ
             คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไปเมื่อตายแล้ว
(คน ๔ คน หามผู้ตายพร้อมเตียงออกไป)
             ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกขาวโพลน
             การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด
             ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้
             คำของคนบางพวกที่พูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ
             เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น
เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมไม่มี
             - ในลัทธิของศาสดานี้ วิญญูชนย่อมตระหนักดังนี้ว่า
             ท่านศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             การบูชาไม่มีผล ... เบื้องหน้าแต่ตายไปย่อมไม่มี
             ถ้าคำของศาสดาผู้นี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ ที่เราไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว
             พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่เราไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว
             แม้เราทั้งสอง (เราและศาสดาผู้นี้) เชื่อต่างกัน ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน
             ที่ยิ่งกว่ากัน (ที่ต่างกัน) ก็คือความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย
เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียร ในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด
             แต่เราอยู่ครองเรือนนอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทร์เมืองกาสี
ทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่
             ก็จะเป็นผู้มีคติเสมอๆ กับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้
             เรานั้นจะต้องโง่เขลาเพียงใด จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ก็รู้ว่าลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น

๒. ศาสดาเป็นอกิริยวาทะ
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด ฯลฯ
             บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา
             แม้หากบุคคลจะให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา
การให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์
             บุญย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา
             - ในลัทธิท่านศาสดานี้ วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ...
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ...

๓. ศาสดาเป็นอเหตุกวาทะ
             ศาสดาบางคนในโลกมีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย
หาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง
             ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย
หาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง
             ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ
             สัตว์ทั้งปวง (สัตว์ทุกจำพวก)
             ปาณะทั้งปวง (สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์ เป็นต้น
สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ คือ พืช เพราะมีแต่รูป ไม่มีใจ สัตว์ที่มี ๒ อินทรีย์ คือ
สัตว์ เพราะมีทั้งรูปและใจ)
             ภูตะทั้งปวง (สัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา)
             ชีวะทั้งปวง (พวกพืชทุกชนิด) ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร
แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง
             (แปรปรวนไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบเหมาะ
และตามภาวะการณ์)
             ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น
             - ในลัทธิท่านศาสดานี้ วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ...
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ...

             [อรรถกถา] อภิชาติทั้ง ๖ ได้แก่
             ๑. กัณหาภิชาติ (ผู้มีชาติดำ) หมายถึงผู้ทำงานน่ากลัว เช่น เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต
             ๒. นีลาภิชาติ (ผู้มีชาติเขียว) หมายถึงภิกษุผู้เป็นนักบวชพวกหนึ่ง ผู้เลือกกินแต่เนื้อปลา
             ๓. โลหิตาภิชาติ (ผู้มีชาติแดง) หมายถึงนิครนถ์ผู้ถือผ้าผืนเดียวเป็นวัตร
             ๔. หลิททาภิชาติ (ผู้มีชาติเหลือง) หมายถึงคฤหัสถ์ผู้เป็นสาวกของชีเปลือย ผู้ประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์
             ๕. สุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาว) หมายถึงเจ้าลัทธิชื่อ นันทะ วัจฉะ สังกิจจะ ดีกว่า ๔ จำพวกข้างต้น
             ๖. ปรมสุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาวที่สุด) หมายถึงพวกอาชีวกผู้มีลัทธิดีกว่า ๕ จำพวกข้างต้น

๔. ศาสดาเป็นผู้มีความเห็นในเรื่อง สังสารสุทธิ
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นว่าอย่างนี้ว่า
             สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใคร
นิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาวะอันยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด
             สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน
และกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือ ทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน
             สภาวะ ๗ กองคือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ
             ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี
ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น
             (ในสภาวะ ๗ กองนั้น ไม่มีผู้ฆ่า ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่า
ไม่มีผู้ฟัง ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฟัง ไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้ทำให้คนอื่นรู้)
             เพราะแม้บุคคลจะเอาศาตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่าใครๆ
ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศาตราสอดไปในช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น
             ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ ฯลฯ มหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้
ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ (เอง)
             ความสมหวังว่า เราจะบ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือ
เราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จะทำให้ (กรรมนั้น) สุดสิ้นด้วยศีล
ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้  ไม่มีในที่นั้น
             สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน
ย่อมไม่มีในสงสาร ด้วยอาการอย่างนี้เลย
             ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง
             พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง
เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเองฉะนั้น             
             - ในลัทธิท่านศาสดานี้ วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ...
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ...

             เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว สันทกปริพาชพกล่าวสรรเสริญพระธรรมว่า
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี แล้วถามต่อไปว่า พรหมจรรย์อันเว้นความยินดี ๔ ประการคืออะไร
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
พรหมจรรย์อันเว้นความยินดี ๔ ประการ คือ
๑. ศาสดาอ้างว่าตนเองเป็นสัพพัญญู แต่ช่วยตัวเองไม่ได้
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ ตั้งตนเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง
ปฏิญาณความรู้ความเห็น (ญาณทัสสนะ) อันไม่มีส่วนเหลือ (อย่างเบ็ดเสร็จ) ว่า
             เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี
ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิจ
             ศาสดานั้นเข้าไปเรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าวบ้าง สุนัขกัดเอาบ้าง เป็นต้น
             เมื่อถูกถามว่า นี่อะไร (ทำไมเป็นอย่างนั้น) ก็ตอบว่า
             เราเข้าไปยังเรือนว่างด้วยกิจที่เราจำเป็นต้องเข้าไป
เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เรายังเป็นผู้ถูกสุนัขกัด
ด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เป็นต้น
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ก็รู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดี
ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น
๒. ศาสดาเป็นคนเชื่อถือการฟังตามกัน
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกัน เป็นผู้เชื่อว่าจริง
ด้วยการฟังตามกัน ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมโดยฟังตามกัน โดยสืบๆ กันมาว่า
อย่างนั้นๆ โดยอ้างตำรา
             เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมมีการฟังดีบ้าง มีการฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง
เป็นอย่างอื่นบ้าง
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ก็รู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดี
ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 3-5
[ต่อ]

๓. ศาสดาเป็นนักตรรกะ
             ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้ใช้ความตรึก (นักตรรกะ) เป็นผู้ใช้ความพิจารณา
(นักอภิปรัชญา)
             ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตนเทียบเหตุตามความ
ที่ตนตรึก (ใช้เหตุผล) คล้อยตามความที่ตนพิจารณา (คาดคะเนความจริง)
             เมื่อเป็นดังนี้ ก็ย่อมมีความตรึกดี (เหตุผลถูก) บ้าง ความตรึกชั่ว (เหตุผลผิด) บ้าง
เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ก็รู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดี
ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น
๔. ศาสดาเป็นคนโง่ เมื่อถูกถามก็ตอบซัดส่ายไปมา แบ่งรับแบ่งสู้
             ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นคนเขลางมงาย เมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ
ย่อมถึงความส่ายวาจา คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า
             ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่
ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่
             - วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ก็รู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดี
ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น
             เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว สันทกปริพาชกกล่าวสรรเสริญ
พระธรรมว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
             สันทกปริพาชกถามต่อไปว่า
             ก็ศาสดานั้นมีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร ในพรหมจรรย์ที่วิญญูชน
พึงอยู่โดยส่วนเดียว (อย่างจริงจัง) และเมื่ออยู่ ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์
ให้สำเร็จได้
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรมนั้น (พระพุทธคุณ ๙)
             ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
             ตถาคตนั้น ย่อมแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
             ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง
             ผู้ีที่ได้ฟังธรรมของพระองค์ ย่อมเิกิดศรัทธาในพระองค์ พิจารณาเห็นว่า
             ฆราวาสเป็นที่คับแคบ (บำเพ็ญเพียรไม่สะดวก) เกิดกิเลสได้โดยง่าย
ดังนั้นจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
             (สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา
             สาชีพ หมายถึง แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน
ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สาชีพ

             ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา
มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังผลประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
             ๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้
ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด
             ๓. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล
เว้นขาดจากเมถุน อันเป็นกิจของชาวบ้าน
             ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ มีปกติพูดความจริง เชื่อมต่อคำจริง
มีคำพูดมั่นคง มีคำพูดที่ควรเชื่อถือ ไม่พูดให้คลาดเคลื่อนต่อชาวโลก
             ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น
เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน
ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
             ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ
เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
             ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
             ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
             (พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก
             ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ
ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย, เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี,
เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พีชคาม
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ภูตคาม

             ๙. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
(คืองดตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น)
             ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
             ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและ
เครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
             ๑๒. เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่
             ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
             ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ (ธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้)
             ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
             ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
             ๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
             ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
             ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
             ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
             ๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
             ๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
             ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
             ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
             ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง
             ๒๖. เว้นขาดจากการตัด (อวัยวะ) การฆ่าการจองจำ การตีชิง การปล้น การกรรโชก

             ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

             ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน
             ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยาก
ได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส (ความทุกข์ใจ) ครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
             ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
             ภิกษุดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
             ภิกษุลิ้มรสด้วยชิวหา ...
             ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
             ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
             ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อินทรีย์สังวร&detail=on

             ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ฯลฯ การพูด การนิ่ง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก_2

             ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้
แล้ว ภิกษุนั้นย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
             นั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก ละความประทุษร้าย
คือพยาบาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว
             สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน จนถึงจตุตถฌาน
             เมื่อบรรลุฌานแต่ละข้อ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด
วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว
             และเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้
             ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ
บรรลุวิชชา ๑ ถึงวิชชา ๓
             เมื่อบรรลุวิชชาแต่ละข้อ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด
วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว
             และเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3

             สันทกปริพาชกถามต่อไปว่า
             ก็ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์
(พระเสขะ ๗ จำพวก และกัลยาณปุถุชนชื่อว่ากำลังประพฤติพรหมจรรย์)
             มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว (กิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส
จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว กิจในอริยสัจ ๔ เสร็จแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำเพื่อตนเอง
แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่)
             มีภาระอันปลงลงแล้ว (ปลงกิเลสภาระ (ภาระคือกิเลส)
ขันธภาระ (ภาระคือร่างกาย) และอภิสังขารภาระ (ภาระคืออภิสังขาร) ลงแล้ว)
             มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพ (สังโยชน์ ๑๐) สิ้นแล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นยังบริโภคกามทั้งหลายหรือ?
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรค_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยบุคคล_8
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กิจในอริยสัจจ์_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยสัจ_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สังโยชน์_10

             ท่านพระอานนท์ตอบว่า
พระอรหันต์ ขีณาสพ จะเป็นผู้ไม่สามารถประพฤติล่วงฐานะทั้ง ๕ คือ
             ๑. เป็นผู้ไม่สามารถแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต
             ๒. เป็นผู้ไม่สามารถถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย
             ๓. เป็นผู้ไม่สามารถเสพเมถุนธรรม
             ๔. เป็นผู้ไม่สามารถกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่
             ๕. เป็นผู้ไม่สามารถทำการสั่งสม บริโภคกามทั้งหลาย
เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 3-6
[ต่อ]

             สันทกปริพาชกถามต่อไปว่า
             เมื่ออรหันต์ ขีณาสพ เดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี
ความรู้ความเห็น (ญาณทัสสนะ) ว่า
             อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้วดังนี้ ปรากฏเสมอเป็นนิจหรือ
(จะปรากฏต่อเนื่องตลอดไปไหม)?
             ท่านพระอานนท์อุปมาว่า             
             เปรียบเหมือนมือและเท้าของบุรุษขาดไป เมื่อบุรุษนั้นเดินไป
อยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี คนนั้นย่อมไม่รู้เสมอต่อเนื่องว่า
             มือและเท้าของเราขาดแล้ว แต่เมื่อเขาพิจารณาเหตุนั้นแล้วจึงรู้ว่า
มือและเท้าของเราขาดแล้ว ดังนี้ฉันใด
             ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ เมื่อเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี
หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี อาสวะทั้งหลายก็เป็นอันสิ้นไปเสมอเป็นนิจ
ความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป
แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว

             สันทกปริพาชกถามต่อไปว่า
             ก็ในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุผู้นำ (ตน) ออกไปจากกิเลสและกองทุกข์มากเพียงไร?
             ท่านพระอานนท์ตอบว่า
             มีอยู่จำนวนมากทีเดียว
             สันทกปริพาชกเมื่อได้ยินดังนั้น ก็กล่าวสรรเสริญว่า
             น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
             ในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้มีการยกย่องแต่ธรรมของตนเท่านั้น
และไม่มีคำติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุเท่านั้น
             ทั้งก็ปรากฏว่า มีผู้นำ (ตน) ออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น
ส่วนอาชีวกเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว
(สันทกปริพาชกคิดว่า อาชีวกเหล่านั้นตายแล้ว) ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น
             ทั้งตั้งศาสดาไว้สามคน (เท่านั้น)  คือ นันทวัจฉะ กิสสังกิจจะ และมักขลิโคสาล
ว่าเป็นผู้นำ (ตน) ออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้
             แล้วสันทกปริพาชกก็ให้บริษัทของตน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์กับพระองค์
             โดยกล่าวว่า
             การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อมมีผล
             แต่ว่าบัดนี้ ตนและสาวกบางส่วนจะสละลาภสักการะความสรรเสริญเสียนั้น
ไม่ใช่ทำได้ง่าย
             เมื่อกล่าวเสร็จแล้วก็ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #3-7]

ความคิดเห็นที่ 3-7
ฐานาฐานะ, 5 กันยายน เวลา 05:33 น.

GravityOfLove, 5 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๒๖. สันทกสูตร เรื่องสันทกปริพาชก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5062&Z=5497&bgc=mistyrose&pagebreak=0
...
12:40 AM 9/5/2013

             ย่อความได้ดีครับ มีข้อติงเล็กน้อย
             ย่อความส่วนนี้ว่า
             ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ เมื่อเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี
หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นว่า
             อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป
แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว
             ควรเพิ่มเนื้อความสำคัญเป็นว่า
             ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ เมื่อเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี
หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี อาสวะทั้งหลายก็เป็นอันสิ้นไปเสมอเป็นนิจ
ความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป
แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว

ส่วนอาชีวกเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว
(สันทกปริพาชกคิดว่า ปริพาชกเหล่านั้นตายแล้ว) ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น
             แก้ไขเป็น
ส่วนอาชีวกเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว
(สันทกปริพาชกคิดว่า อาชีวกเหล่านั้นตายแล้ว) ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น

ความคิดเห็นที่ 3-8
ฐานาฐานะ, 5 กันยายน เวลา 05:35 น.

             คำถามในสันทกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5062&Z=5497

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. เมื่อจบพระสูตรนี้ สันทกปริพาชกได้อะไรบ้าง?

ย้ายไปที่



Create Date : 12 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 11:20:12 น.
Counter : 669 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของการค้นพบตนเอง : กะว่าก๋า
(16 เม.ย. 2567 06:05:58 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
สมบัติรูป สมบัตินามที่ถูกรูป ปัญญา Dh
(10 เม.ย. 2567 18:24:46 น.)

Gravity-of-love.BlogGang.com

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด