19.14 พระสูตรหลักถัดไป คือกันทรกสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
19.13 พระสูตรหลักถัดไป คือกันทรกสูตร [พระสูตรที่ 1]

ความคิดเห็นที่ 10-135
[ต่อ]

๓. อเหตุกวาทะและเหตุกวาทะ
             อเหตุกวาทะ:-
             มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลาย
เศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลาย
บริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความสามารถของบุรุษ ไม่มีความ
พยายามของบุรุษ
             สัตว์ทั้งปวง (สัตว์ทุกจำพวก)
             ปาณะทั้งปวง (สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์ เป็นต้น
สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ คือ พืช เพราะมีแต่รูป ไม่มีใจ
             สัตว์ที่มี ๒ อินทรีย์ คือ สัตว์ เพราะมีทั้งรูปและใจ)
             ภูตทั้งปวง (สัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา)
             ชีวะทั้งปวง (พวกพืชทุกชนิด)
             ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร
             เป็นแต่แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และ ตามภาวะ
(แปรปรวนไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบเหมาะ และตามภาวะการณ์)
             ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น
             ส่วนวาทะที่ตรงกันข้ามกับวาทะของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เรียกว่า เหตุกวาทะ
             สมณพราหมณ์ผู้มีอเหตุกวาทะ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ
             จะเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
             จะสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
แล้วประพฤติ เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม
ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม
             ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขวาแห่งกุศลธรรม
             ก็เหตุมีอยู่จริง แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า เหตุไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด
             ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นดำริว่าเหตุไม่มี
ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริผิด
             ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าววาจาว่า เหตุไม่มี
วาจาของเขานั้นเป็นวาจาผิด
             ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่าเหตุไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึก
ต่อพระอรหันต์ผู้มีวาทะว่า เหตุมี
             ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญผิดว่าเหตุไม่มี
การให้ผู้อื่นสำคัญของเขานั้น เป็นกิริยาที่ให้สำคัญโดยไม่ชอบธรรม
             และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรมนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น
             เขาละคุณ คือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือความเป็นผู้ทุศีล
             อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด
วาจาผิด ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรม
การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะ มิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย             
             บุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จะปลอดภัย
             แต่ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป
จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อนึ่ง แม้ว่าเหตุไม่ได้มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
จะเป็นความจริงก็ตาม
             ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ อันวิญญูชนพึงติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
             เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่า หาเหตุมิได้ (อเหตุกวาทะ)
             ถ้าเหตุมีอยู่จริง ความยึดถือ ของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้
เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ
             - ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน
             - เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แผ่ไปโดยส่วนเดียว
ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

             เหตุกวาทะ:-
             ตรัสตรงข้ามกับอเหตุกวาทะ
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง
ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

             [อรรถกถา] อภิชาติทั้ง ๖ ได้แก่
             ๑. กัณหาภิชาติ (ผู้มีชาติดำ) หมายถึงผู้ทำงานน่ากลัว เช่น เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต
             ๒. นีลาภิชาติ (ผู้มีชาติเขียว) หมายถึงภิกษุผู้เป็นนักบวชพวกหนึ่ง ผู้เลือกกินแต่เนื้อปลา
             ๓. โลหิตาภิชาติ (ผู้มีชาติแดง) หมายถึงนิครนถ์ผู้ถือผ้าผืนเดียวเป็นวัตร
             ๔. หลิททาภิชาติ (ผู้มีชาติเหลือง) หมายถึงคฤหัสถ์ผู้เป็นสาวกของชีเปลือย ผู้ประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์
             ๕. สุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาว) หมายถึงเจ้าลัทธิชื่อ นันทะ วัจฉะ สังกิจจะ ดีกว่า ๔ จำพวกข้างต้น
             ๖. ปรมสุกกาภิชาติ (ผู้มีชาติขาวที่สุด) หมายถึงพวกอาชีวกผู้มีลัทธิดีกว่า ๕ จำพวกข้างต้น

๔. วาทะว่าอรูปพรหมไม่มีและวาทะว่าอรูปพรหมมี
             มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             อรูปพรหมย่อมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง
             สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์พวกนั้น
เขากล่าวอย่างนี้ว่า
             อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง
             สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน         
             บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า
             เราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็นในวาทะทั้งสองแล้วจะพึงถือเอาฝ่ายเดียว
กล่าวว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย
             ถ้าวาทะว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
             ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เป็นความผิด
นี้เป็นฐานะที่จะมีได้
             ถ้าวาทะว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
             ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด
นี้เป็นฐานะที่จะมีได้
             อนึ่ง การถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การตัวต่อตัว การกล่าวส่อเสียดและมุสาวาท ซึ่งมีรูปเป็นเหตุ ย่อมปรากฏ
             แต่ข้อนี้ ย่อมไม่มีในอรูปพรหม ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้
             บุรุษผู้เป็นวิญญูชนนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว
             ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งรูปอย่างเดียว
             (ผู้ที่ไม่ได้ฌานและผู้ที่ได้รูปฌานต่างก็พิจารณาว่า
ถ้าอรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง แต่เราบำเพ็ญเพื่อให้ได้อรูปฌาน (ตามลำดับ)
อย่างน้อยเราจะเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็เป็นไปได้
             ถ้าอรูปพรหมมีด้วยอาการทั้งปวง และเราบำเพ็ญเพื่อให้ได้อรูปฌาน
(ตามลำดับ) เราจะเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา
ซึ่งไม่มีความเสียหายอะไร ก็เป็นไปได้ ทั้งพ้นจากโทษของการมีรูป
             บุคคลทั้งสองนี้ พิจารณาอย่างนี้ ก็บำเพ็ญเพื่อให้ได้อรูปฌาน
กล่าวคือ เพื่อหน่าย เพื่อดับแห่งรูป คือเกิดในอรูปเท่านั้น)

๕. วาทะว่าความดับแห่งภพไม่มี
             มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ความดับสนิทแห่งภพ ไม่มีด้วยอาการทั้งปวง
             สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เขากล่าวอย่างนี้ว่า
             ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง
             สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน
             เราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็นในวาทะทั้งสองแล้วจะพึงถือเอาฝ่ายเดียว กล่าวว่า
             นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย
             ถ้าวาทะว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
             ข้อที่เราจะเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิดนี้
เป็นฐานะที่จะมีได้
             อนึ่ง ถ้าวาทะว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
             ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบันนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้
             ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด
ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ
ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น
             ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ
ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรมประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน
ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น
             บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว
             ย่อมปฏิบัติ เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพเท่านั้น
             (ผู้ได้อรูปฌานพิจารณาว่า ถ้าไม่มีดับสนิทแห่งภพ แต่เราเจริญวิปัสสนา
ให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างน้อยที่สุด ก็อุบัติในอรูปภพ ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็เป็นไปได้
             ผู้ยังไม่ได้ฌานพิจารณาว่า ถ้าไม่มีดับสนิทแห่งภพ แต่เราบำเพ็ญเพื่อบรรลุ
อรูปฌานและเจริญวิปัสสนาให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างน้อยที่สุดก็อุบัติในอรูปภพ
ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็เป็นไปได้
             ผู้ได้อรูปฌานก็พิจารณาว่า ถ้ามีดับสนิทแห่งภพ แต่เราเจริญวิปัสสนา
ให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็เป็นไปได้ที่จะดับภพ บรรลุนิโรธในปัจจุบัน.
             ผู้ยังไม่ได้ฌานก็พิจารณาว่า ถ้ามีดับสนิทแห่งภพ แต่เราบำเพ็ญเพื่อบรรลุ
อรูปฌานและเจริญวิปัสสนาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็เป็นไปได้ที่จะดับภพ
บรรลุนิโรธในปัจจุบัน)

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 10-136
[ต่อ]

บุคคล ๔ จำพวก
             ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน
             คือพวกที่มีวัตรเป็นคนเปลือย ฯลฯ เป็นผู้ประกอบความขวนขวาย
ในการทรมานตน เป็นต้น
             ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
         คือพวกที่ฆ่าสัตว์เลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร
เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือพวกทำการงานอันทารุณอื่นๆ
         ๓. บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี
เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญ
             ปลงผมและหนวด นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ ทาตัวด้วยเนยใสและน้ำมัน
เกาหลังด้วยเขาสัตว์
             เข้าไปยังโรงบูชายัญหลังใหม่พร้อมด้วยผู้ติดตาม นอนบนพื้นหญ้าเขียวขจี
ไม่ได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด
             ดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๑ ของโคแม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว
ผู้ติดตามนอกนั้นก็ดำรงชีพด้วยน้ำนมเต้าที่เหลือ ลูกโคมีชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมที่เหลือ
             สั่งให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ ตัดต้นไม้เพื่อทำเสาบูชายัญ เกี่ยวหญ้าเพื่อลาดพื้นที่
             ทาสและกรรมกรที่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญให้ทำงานก็ร้องไห้

             ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการ
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว (ไม่มีตัณหา)
             ดับสนิท (ดับกิเลส)
             เป็นผู้เย็น (เพราะไม่มีกิเลสอันทำให้เดือดร้อนในภายใน)
             เสวยแต่ความสุข (เสวยสุขที่เกิดจากฌาน มรรคผลและนิพพาน)
             มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน (มีตนประเสริฐ)
             คือบุคคลที่เมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ ... (ตรัสพระพุทธคุณ ๙)
             ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้รู้แจ้งชัดด้วยปัญญา
อันยิ่งของพระองค์เองแล้ว
             ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม
             ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล) งามในท่ามกลาง (อริยมรรค)
งามในที่สุด (พระนิพพาน)
             ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
             เมื่อได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธา ย่อมเห็นตระหนักว่า
             ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม
และเพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน)
             บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
             เขาบวชอย่างนี้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย
             (สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา
             สาชีพ หมายถึง แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน
ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สาชีพ

             เขาเมื่อบรรพชาแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
             ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย
มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังผลประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
             ๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้
ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด
             ๓. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
(การงดเว้นจากเมถุนธรรม) ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
             ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ มีปกติพูดความจริง เชื่อมต่อคำจริง
มีคำพูดมั่นคง มีคำพูดที่ควรเชื่อถือ ไม่พูดให้คลาดเคลื่อนต่อชาวโลก
             ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้ว
ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง
             ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
             กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
             ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ
เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
             ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
             ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
             (พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก
             ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ
ที่เกิดจากเหง้า เช่น กระชาย, เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย,
เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พีชคาม
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ภูตคาม

             ๙. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
(คืองดตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น)
             ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี
และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
             ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วย
ดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
             ๑๒. เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่
             ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
             ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
(ธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง
ลูกเดือย หญ้ากับแก้)
             ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
             ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
             ๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
             ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
             ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
             ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
             ๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
             ๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
             ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
             ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและ
การโกงด้วยเครื่องตวงวัด
             ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง
             ๒๖. เว้นขาดจากการตัด (อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง
การปล้น การกรรโชก
             ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย
ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

             ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน
             ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส (ความทุกข์ใจ)
ครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
             ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
             ภิกษุดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
             ภิกษุลิ้มรสด้วยชิวหา ...
             ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
             ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
             ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคน
ด้วยกิเลสภายใน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อินทรีย์สังวร&detail=on

         ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ฯลฯ การพูด การนิ่ง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก_2

             ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรียสังวร
และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้ว ภิกษุนั้นย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ
ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
             นั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก
ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
อันเป็นเหตุตัดทอนปัญญาได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน จนถึง จตุตถฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

              ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปบรรลุวิชชา ๓
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3

พราหมณ์และคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีและชาวบ้านศาลาทั้งหลาย
ได้กราบทูลว่า
             ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ฯลฯ
             แล้วทูลขอเป็นอุบาสกผู้ถึงไตรสรณะตลอดชีวิต

[แก้ไขตาม #10-137]

ความคิดเห็นที่ 10-137
ฐานาฐานะ, 25 กรกฎาคม เวลา 22:18 น.

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
             ๑๐. อปัณณกสูตร เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1833&Z=2382&bgc=lavender&pagebreak=0
...
6:59 PM 7/24/2013

             ย่อความได้ดีครับ ย่อความนี้น่าจะติดอันดับย่อความที่ยาวที่สุด 3 อันดับแรก.
             มีข้อติงดังนี้ :-
             เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะ แต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีล
แก้ไขเป็น
             เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีล

(การงดเว้นจากเมถุนธรรม ) ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
             แก้ไขเป็น
(การงดเว้นจากเมถุนธรรม) ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

ความคิดเห็นที่ 10-138
ฐานาฐานะ, 25 กรกฎาคม เวลา 22:24 น.

             คำถามในอปัณณกสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1833&Z=2382

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 10-139
GravityOfLove, 25 กรกฎาคม เวลา 23:39 น.

            ตอบคำถามในอปัณณกสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1833&Z=2382

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา ยังไม่มีศาสนาและคําสอนที่เป็น
ที่ศรัทธายึดถือ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง อปัณณกธรรม
             ๒. เมื่อยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรมแล้วประพฤติ
เพราะอปัณณกธรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
             ๓. สมณพราหมณ์ที่เป็นนัตถิกทิฎฐิ (ไม่เชื่อว่าโลกหน้ามีจริง เป็นต้น)
             - ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง จะถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
             เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาทะ
เพราะสมาทานทุจริต ๓ ไม่เห็นโทษของอกุศลธรรม และไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลธรรม
             - ถ้าโลกหน้ามีจริง นอกจากจะถูกวิญญูชนติเตียนในปัจจุบันแล้ว
เมื่อตายไปยังเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ส่วนอัตถิกทิฏฐิ ตรงกันข้ามกับนัตถิกทิฏฐิ
             อกิริยทิฏฐิและกิริยทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิและเหตุกทิฏฐิ นัยเดียวกับนัติถิกทิฏฐิและอัตถิกทิฏฐิ
             ๔. บุคคล ๔ จำพวก
             ๕. ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดดิ่งมาก ห้ามทางสวรรค์ ห้ามทางพระนิพพาน ในอันดับ
แห่งอัตภาพนั้น สัตว์นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน (ในอัตภาพนั้น) ชื่อว่า เป็นตอแห่งวัฏฏะ

ความคิดเห็นที่ 10-140
GravityOfLove, 25 กรกฎาคม เวลา 11:08 น.

             ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=5#ปุพฺพนฺตกปฺปิกา
             อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=6#อปรันตกัปปิกทิฏฐิ
            เป็นปัญหาที่ทรงพยากรณ์หรือไม่ทรงพยากรณ์คะ

ความคิดเห็นที่ 10-141
ฐานาฐานะ, 25 กรกฎาคม เวลา 13:44 น.

GravityOfLove, 2 ชั่วโมงที่แล้ว
             ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=5#ปุพฺพนฺตกปฺปิกา
             อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=6#อปรันตกัปปิกทิฏฐิ
             เป็นปัญหาที่ทรงพยากรณ์หรือไม่ทรงพยากรณ์คะ
11:08 AM 7/25/2013
             น่าจะทรงไม่พยากรณ์ครับ
             แต่ทรงพยากรณ์ถึงเหตุเกิดทิฏฐิไว้ในปุพฺพนฺตกปฺปิกา
แต่ในอปรันตกัปปิกทิฏฐิ ผมไม่เห็นเหตุเกิดของทิฏฐิ หรือว่า
เหตุเกิดของทิฏฐิก็คือระดับการบรรลุของเขาเหล่านั้น
หรือการตรึกไปตามความชอบใจของเขา (ที่ไม่บรรลุ)
             ปุพฺพนฺตกปฺปิกา 18
              สัสสตวาทะ 4
              เอกัจจสัสสตวาทะ 4
              อนฺตานนฺติกา 4
              อมราวิกฺเขโป 4
              อธิจจสมุปปันนิกะ 2
              อปรันตกัปปิกทิฏฐิ 44
              สัญญีวาทะ 16
              อสัญญีวาทะ 8
              เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ 8
              อุจเฉทวาทะ 7
              ทิฏฐธรรมนิพพานวาทะ 5
             เมื่อเทียบในจูฬมาลุงโกยวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=13&A=2682
             น่าจะเป็นอันเดียวกับอันตคาหิกทิฏฐิ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อันตคาหิกทิฏฐิ
             หรืออนฺตานนฺติกา 4 เป็นตัวอย่าง. เล่ม 9 ข้อ 35
//84000.org/tipitaka/read/?9/35

ความคิดเห็นที่ 10-142
GravityOfLove, 25 กรกฎาคม เวลา 21:42 น.

             ในชวนะเหล่านั้นบางคนก็หยั่งลงทรรศนะเดียวบ้าง บางคนสองทรรศนะบ้าง บางคนสามทรรศนะบ้าง
             เมื่อเขาหยั่งลงทรรศนะหนึ่ง สองสามทรรศนะก็เป็นอันหยั่งลงแล้ว
             เขาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดดิ่งทีเดียว ห้ามทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์ในอันดับแห่งอัตภาพนั้น
จะป่วยกล่าวไปไยถึงพระนิพพาน. สัตว์นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน ชื่อว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะ.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=103&bgc=lavender

             หมายความว่า ตอแห่งวัฏฏะเป็นได้ตั้งแต่อัตภาพเดียวไปจนถึงหลายอัตภาพใช่ไหม
             เมื่อหายดิ่งแล้ว ก็มีสิทธิ์นิพพานได้ใช่ไหมคะ

ความคิดเห็นที่ 10-143
ฐานาฐานะ, 25 กรกฎาคม เวลา 22:02 น.

             ใช่ครับ เมื่อเลิกมิจฉาทิฏฐิแล้ว ก็อาจสามารถครับ
แต่ว่า เลิกมิจฉาทิฏฐิได้ยากเท่านั้นเอง
             มิจฉาทิฏฐิเป็นปฏิปักษ์ต่อสัมมาทิฏฐิ ทำให้สัมมาทิฏฐิ
ไม่มีกำลังพอจะเลิก เช่นว่า พอฟังธรรมที่ถูกต้อง ก็อาจเห็นด้วยได้
พออยู่คนเดียว หรืออยู่กับพวกมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิก็เจริญได้อีก
ทำให้ยากที่จะเลิกมิจฉาทิฏฐิ ยากที่จะบรรลุพระนิพพาน.

ย้ายไปที่



Create Date : 11 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 10:15:53 น.
Counter : 479 Pageviews.

0 comments
หลักของสติ **mp5**
(16 เม.ย. 2567 12:14:57 น.)
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)

Gravity-of-love.BlogGang.com

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด