(500) Days of Summer เรื่องรัก 500 วัน

(500) Days of Summer
เรื่องรัก 500 วัน
พล พะยาบ
คอลัมน์ rear window , mars ธันวาคม 2552
ว่ากันว่าในบรรดาหนังโรแมนติค-คอมิดี้สัญชาติมะกันทั้งจากฮอลลีวู้ดและผู้สร้างอิสระที่สร้างกันออกมาพอสมควรในปีนี้ มีแค่ 2 เรื่อง ที่พอจะเข้าท่าเข้าทางและไม่ซ้ำซากตามสูตรสำเร็จจนเกินไป หนึ่งคือ Adventureland ของผู้กำกับ เกร็ก มอตโตลา (Greg Mottola) อีกหนึ่งคือ (500) Days of Summer ของ มาร์ค เว็บบ์ (Marc Webb)
Adventureland เกี่ยวกับหนุ่มน้อยซึ่งยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ครั้งแรกได้พบรักกับสาวที่มีปัญหาครอบครัว ซ้ำยังเป็นชู้กับสามีคนอื่น ส่วน (500) Days of Summer เล่าถึงความรักจริงใจของชายหนุ่มที่มีต่อหญิงสาวผู้ไม่เชื่อในความรัก ลักษณะร่วมซึ่งถือว่าเป็นส่วนดีของหนังทั้งสองเรื่องคือ หนังไม่ล่องลอยขายฝันจนฟุ้งเฟ้อ แต่เหยาะเรื่องราวดรามาแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปเพื่อให้หนังจับต้องได้ ไม่เล่นกับเหตุการณ์อลหม่านแบบคาดไม่ถึงหรือมุกตลกต่ำๆ เช่นที่ชอบใช้กันในระยะหลัง
ที่สำคัญ แม้ตัวละครนำโดยเฉพาะพระเอกจะเป็นแค่เด็กเพิ่งจบมัธยมปลายอย่างใน Adventureland หรือเพิ่งก้าวสู่วัยทำงานอย่างใน (500) Days of Summer แต่หนังกลับมีวุฒิภาวะ ขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยพัฒนาการของตัวละคร กระทั่งสู่บทสรุปในทางเดียวกันที่ให้ตัวละครพระเอก เติบโต ขึ้นกว่าจุดเริ่มต้น
(500) Days of Summer ออกตัวไว้แต่แรกทั้งในคำโปรยบนใบปิดและเสียงบรรยายเปิดเรื่องว่าไม่ใช่หนังรัก แต่เป็นเรื่องราวว่าด้วยความรัก เล่าถึงช่วงเวลา 500 วัน ที่ชายหนุ่มชื่อ ทอม ตกอยู่ในห้วงรักต่อหญิงสาวชื่อ ซัมเมอร์
ทอมเรียนจบสถาปัตย์แต่มาเป็นพนักงานบริษัทผลิตการ์ดอวยพร มีหน้าที่คิดคำอวยพรหรือข้อความเก๋ๆ เพื่อเขียนลงในการ์ด ส่วนซัมเมอร์เป็นเลขาฯคนใหม่ของหัวหน้าซึ่งทอมรู้ทันทีเมื่อแรกพบหน้าว่าเธอคือคนที่เฝ้ารอมานาน แม้ทอมจะไม่ถนัดเรื่องผู้หญิง กล้าๆ กลัวๆ ในการเข้าหาซัมเมอร์ แต่วันเวลาช่วยให้เขาและเธอสนิทกันมากขึ้น กระทั่งคบหากันในที่สุด
ปัญหาคือทั้งสองเริ่มต้นคบหากันด้วยทัศนคติที่แตกต่างไปคนละทาง ทอมเชื่อในรักแท้ ตามหาคนที่ใช่หรือคนที่เป็นเนื้อคู่มาตลอดชีวิต ส่วนซัมเมอร์ซึ่งรับรู้การหย่าร้างของพ่อ-แม่ตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ที่จะปิดกั้นไม่ให้ความผูกพันก่อตัว การคบหากับทอมจึงเป็นไปโดยรู้ทั้งรู้ว่ามีปลายทางรออยู่ ตรงกันข้ามกับทอมที่รู้สึกจริงจังกับความสัมพันธ์ครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
วันหนึ่งเมื่อซัมเมอร์ขอหยุดความสัมพันธ์กันดื้อๆ ทอมจึงเหมือนหล่นคว้างจากที่สูงลงมาแตกเป็นเสี่ยง
ยังดีที่ทอมมีน้องสาวและเพื่อนสนิทคอยปลอบใจ แต่เขาก็ยังต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่ดี นับแต่วันที่ 290 ซึ่งถูกบอกเลิก ผ่านอีกหลายวันที่พยายามขอคืนดีและเฝ้ารอคอย จนถึงวันที่ได้รู้ความเป็นไปของซัมเมอร์ และวันที่รู้ถึงความรู้สึกที่ควรเป็นไปของตนเอง
ความเก๋ของ (500) Days of Summer อยู่ที่ลูกเล่นในการนำเสนอ ตั้งแต่การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลาโดยใช้ตัวเลขบอกว่าเรื่องราวต่อไปนี้เกิดขึ้นวันที่เท่าไร(จาก 500 วัน) ผู้ชมจึงมองเห็นความสัมพันธ์ของทอมและซัมเมอร์วูบไหวไปมาไม่แน่นอน เช่นเดียวกับบุคลิกของซัมเมอร์ที่ดูปรวนแปร และอารมณ์ความรู้สึกของทอมซึ่งหวั่นไหวยิ่งนักทั้งยามสุขและทุกข์
บทเพลงไพเราะผ่อนคลายถูกใส่แทรกเป็นระยะ มากมายด้วยบทสนทนาดีๆ และมุกตลกคำพูดเรียกรอยยิ้มมากกว่าจะโปกฮาเอามัน ส่วนพระ-นางก็มีเสน่ห์และเข้าคู่ตามบทกันได้อย่างดีทั้ง โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (Joseph Gordon-Levitt) ในบททอม และซูอี้ เดสชาเนล (Zooey Deschanel) ในบทซัมเมอร์ โดยเฉพาะเดสชาเนล...ชั่วโมงนี้ยังไม่เห็นดาราสาวรุ่นคนไหนเหมาะกับบทนางเอกบุคลิกแปลกๆ แต่เสน่ห์ล้นเหลือเท่ากับสาวตาโตคนนี้
อย่างที่บอกว่านี่ไม่ใช่หนังรัก ไม่ใช่เรื่องราวของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของผู้ชายชื่อทอมในช่วงเวลาที่มีหญิงสาวชื่อซัมเมอร์ผ่านเข้ามาในชีวิตและเขารู้สึกรักหมดใจ คู่ความสัมพันธ์ระหว่างทอมกับซัมเมอร์เป็นไปในแนวทางเดียวกับคู่พระ-นางในเรื่อง Adventureland คือฝ่ายชายดูอ่อนไหวกว่าฝ่ายหญิง และเป็นฝ่ายวิ่งไล่ตามความรู้สึกของตนเองโดยที่ฝ่ายหญิงเอาแต่รักษาระยะหรือกระทั่งเพิ่มระยะห่างออกไป
ทอมคือผู้ชายที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง ส่วนซัมเมอร์ตั้งมั่นกับเงื่อนไขส่วนตัวจนบวกลบคูณหารแล้วไม่เหลือความรักอยู่ในคำตอบ บุคลิกของทั้งสองจึงตรงข้ามกับทฤษฎีซีกขวา-ซ้ายของสมองที่สรุปไว้ประมาณว่าผู้หญิงรักด้วยอารมณ์ ส่วนผู้ชายรักด้วยเหตุผล
หนังย้ำบทบาทชาย-หญิงที่สลับกันของทั้งสองด้วยฉากที่ซัมเมอร์บอกเลิกทอม ซัมเมอร์บอกว่าเธอกับเขาคล้าย ซิดกับแนนซี่ เข้าไปทุกที หมายถึง ซิด วิเชียส (Sid Vicious) มือเบสวงเซ็กซ์ พิสตอลส์ (Sex Pistols) วงพังค์ตำนานยุคทศวรรษ 1970 กับแฟนสาว แนนซี่ สปันเจน (Nancy Spungen) ซึ่งความสัมพันธ์จบลงด้วยเหตุฆาตกรรมที่ชี้ว่าซิดใช้มีดแทงแนนซี่จนเสียชีวิต
ซัมเมอร์สรุปประเด็นนี้ชนิดที่ทำให้ทอมต้องอึ้งหนักว่า เธอคือซิด ส่วนทอมคือแนนซี่!
การใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้งของทอมแสดงให้เห็นผ่านหน้าที่การงานของเขาด้วย คืองานในบริษัทผลิตการ์ดนานาชนิดซึ่งทอมมีหน้าที่สร้างสรรค์ข้อความดีๆ มีความหมายลึกซึ้ง เพื่อคนที่ซื้อการ์ดไปจะได้ใช้เป็นสื่อบอกความในใจ-ความรู้สึกต่อผู้อื่น เห็นได้ว่าทอมถูกห้อมล้อมด้วยอารมณ์ความรู้สึกตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่คนอ่อนไหวอย่างเขาจะถนัดเรื่องแบบนี้แทนที่จะเลือกเป็นสถาปนิกตามที่เรียนจบมา
ตรงแง่มุมเกี่ยวกับสถาปนิกนี่เองที่หนังขยายความในช่วงท้ายให้เห็นพัฒนาการของตัวละคร จากเมื่อก่อนที่ไม่คิดเอาดีทางด้านสถาปัตย์ แต่ก็มีมุมโปรดเพื่อนั่งมองภูมิทัศน์ของเมือง เปรียบไปก็เหมือนคนที่ชอบคิดฝันถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ปล่อยอารมณ์ล่องลอยไปวันๆ โดยไม่ลงมือสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง
เมื่อถึงวันที่ความรู้สึกพังทลายเพราะความรัก ทอมจึงต้องแสวงหาความมั่นคงให้ตัวเองเสียที
เขาลาออกจากบริษัทผลิตการ์ด รื้อฟื้นวิชาสถาปัตย์เพื่อสมัครงานใหม่ งานออกแบบสิ่งปลูกสร้างอย่างตึกรามบ้านเรือนตอกย้ำภาพความมั่นคงที่ทอมไม่เคยใส่ใจ ต่างกันคนละเรื่องกับงานผลิตถ้อยคำความรู้สึกซึ่งไม่อาจจับต้องเป็นรูปธรรม
ในเมื่อเริ่มต้นอย่างมั่นคงแล้ว แบบที่ร่างไว้ก็คงเป็นรูปเป็นร่างตามมา
ไม่ว่ายิ่งใหญ่อย่างตึกระฟ้า หรือแค่มุมเล็กๆ ในใจ
เหมือนหนังกลวงเปล่า ไม่มีอะไร แต่เมื่อลองคิด ลองแกะ กลับค้นพบว่าเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของพล็อต ข้อคิดที่สอดรับกัน วิธีการนำเสนอที่สนับสนุนเรื่องเป็นอย่างยิ่ง และความเป็นธรรมชาติของหนังแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ
ดาราเล่นเก่งและเพลงเพราะมาก...
บทหนังคมคาย ฉลาด และดูไม่จงใจเกินไป ทั้งที่เรื่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เช่น ตัวเลขแสดงวัน ต้นไม้ ฤดูกาล สถาปัตยกรรม (ที่เป็นเหมือนการสรุปภาพฝันอันสวยงามและความเป็นจริงเข้าไว้ด้วยกัน) อาชีพที่รักและที่คิดว่ารัก คนที่ใช่และที่คิดว่าใช่
ที่ผมชอบที่สุด ก็เรื่องเวลาและอายุที่ไม่ลำดับความสำคัญ (หนังเล่าแบบไม่เรียงเวลา กลับไปกลับมาแต่ไม่งง น้องสาวพระเอกที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินตัวและเข้าใจประสบการณ์ชีวิตมากกว่าใครเพื่อน การแต่งงานของคนแก่ในบริษัทที่ไม่แคร์เวลาและอายุ)
ชอบบุคลิกทั้งของพระเอกและนางเอกที่เมื่อได้เรียนรู้กันและกัน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นเหมือนอีกคนหนึ่ง
ชอบการค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักจริง และการแยกแยะสิ่งนั้นออกจากสิ่งที่คิดว่ารัก ?
ชอบความเติบโตที่หนังมอบให้ผู้ชม หลายประเด็นเป็นมุมมองที่ใช่เอามากๆ และนำมาปรับใช้ได้จริงๆ
ชอบการแบ่งวิธีคิดของพระเอกในฉากนึงตอนหลัง ที่จอด้านซ้ายแสดงภาพความหวัง จอด้านขวาแสดงภาพความจริง เท่ซะ
และอีกหลายส่วนเยอะแยะไปหมด ทั้งฉากหนังเพลงผสมการ์ตูนที่ดูเวอร์เกินจริงเมื่อมีความสุข ฉากหนังเศร้าขาวดำเมื่อมีความทุกข์ เซ็กซ์เลียนแบบหนังโป๊แต่ทั้งคู่ก็ทำไม่ได้ การเล่นเป็นครอบครัวแสนสุขในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น เรียกได้ว่าแทบทุกฉากล้วนมาอย่างมีความหมาย
สรุป หนังเค้าดีจริงๆ ครับ