The Limey การผ่านพ้นของยุคสมัย


The Limey
การผ่านพ้นของยุคสมัย

Starpics Movie Edition ฉบับที่ 536 สิงหาคม 2543


*ปี 1999 ระหว่างหนังฮิตทุนหนา 2 เรื่อง คือ Out of Sight กับ Erin Brockovich สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ผู้กำกับฯผู้เติบโตมากับหนังอินดี้ ได้ทำหนังเล็กๆ ออกมาเรื่องหนึ่ง เป็นงานที่ไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จัก และมีแนวทางต่างจากหนังสำเร็จรูป 2 เรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นโดยสิ้นเชิง

The Limey เป็นหนังที่ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก เจาะใจสร้างตัวละครให้ เทอเรนซ์ สแตมป์ นำแสดง สแตมป์คือนักแสดงซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดจากหนัง 3 เรื่อง ในปี 1967 ประกอบด้วย Modesty Blaise, Poor Cow และ Far from the Madding Crowd สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่คงรู้จักเขาในบทเบอร์นาเดตต์ กะเทยสูงอายุในหนังออสเตรเลียเรื่อง The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert(1994)

นอกจากนี้ โซเดอร์เบิร์กยังเลือกนักแสดงรุ่นเก๋าอีก 2 คน คือ ปีเตอร์ ฟอนด้า และ แบร์รี่ นิวแมน มาเล่นประกบกับสแตมป์ สำหรับฟอนด้า หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยในบทกัปตันอเมริกา ในหนังคลาสสิคปี 1969 เรื่อง Easy Rider ของผู้กำกับฯ-นักแสดง เดนนิส ฮอปเปอร์ ส่วนนิวแมนก็มีประวัติการแสดงโชกโชนตั้งแต่ทศวรรษ 60

The Limey เล่าเรื่องราวของ วิลสัน(สแตมป์) ชายสูงอายุชาวอังกฤษซึ่งเพิ่งพ้นโทษจำคุกหนที่สาม เดินทางมาแคลิฟอร์เนียเพื่อสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตของเจนนิเฟอร์(เมลิสสา จอร์จ) บุตรสาว วิลสันไม่เชื่อว่าเธอเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำไฟลุกท่วมอย่างที่หนังสือพิมพ์และตำรวจสรุป เขาเดินทางมาพบเอ๊ด(หลุยส์ กุซแมน) โจรกลับใจเพื่อนสนิทของเจนนิเฟอร์ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวโศกนาฏกรรมดังกล่าวเพื่อสอบถามความจริง และได้รู้จักกับอีเลน(เลสลี่ แอนน์ วอร์เรน) นักแสดงสาวเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของเจนนิเฟอร์

จากการสอบถามทำให้วิลสันรู้ว่า ก่อนเสียชีวิตเจนนิเฟอร์คบหาอยู่กับ เทอร์รี่ วาเลนไทน์(ฟอนด้า) โปรดิวเซอร์ผู้ประสบความสำเร็จในแวดวงดนตรีและพัวพันกับการค้ายาเสพติด วิลสันเชื่อว่าวาเลนไทน์ต้องมีส่วนรู้เห็นการตายของเจนนิเฟอร์ ดังนั้น เป้าหมายของเขาคือเค้นหาความจริงจากวาเลนไทน์ ก่อนปลิดชีวิตเพื่อล้างแค้น

เมื่อวาเลนไทน์รู้ข่าว เขาพยายามกำจัดวิลสันโดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเอเวอรี่(นิวแมน) ลูกน้องคนสนิทวัยใกล้เคียงกัน ซึ่งเอเวอรี่ได้ว่าจ้างให้สเตซี่(มิคกี้ แคทท์) นักเลงรุ่นลูกจัดการแทน

การมาเยือนของวิลสันนอกจากเพื่อล้างแค้นแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงลูกสาวซึ่งความผูกพันที่ผ่านมาระหว่างเขาและเธอแทบจางหายไปตามเส้นทางชีวิตที่ห่างไกล และเป็นการทำหน้าที่พ่อครั้งสุดท้ายหลังจากที่เขาละเลยมานาน

การที่โซเดอร์เบิร์กเจาะจงสร้างตัวละครให้เทอเรนซ์ สแตมป์ แสดง อีกทั้งมีปีเตอร์ ฟอนด้า และแบร์รี่ นิวแมน เป็นตัวละครหลัก (ทั้งสามอายุไล่เลี่ยกัน คือเกิดในช่วงปี 1938-1939) โดยให้ชายสูงวัยทั้งสามตามล่าตามล้างกัน คือความแปลกและแตกต่างเบื้องแรกที่พบเห็น...อะไรคือจุดประสงค์ของโซเดอร์เบิร์กในการรวมดาวชราโรยในครั้งนี้

จากเรื่องราวการล้างแค้นที่ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีตัวละครไม่กี่ตัว ดูแล้วไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่โซเดอร์เบิร์กไม่ได้มุ่งให้ The Limey เป็นหนังอาชญากรรมระทึกขวัญว่าด้วยการล้างแค้น โครงเรื่องที่ร่างขึ้นอย่างหลวมๆ นี้มีจุดประสงค์เพื่อรองรับแก่นเรื่องเป็นด้านหลัก ไม่มีอารมณ์บีบคั้นตื่นเต้นซึ่งควรเกิดขึ้นจากปฏิบัติการล้างแค้นของตัวละคร แต่มีอารมณ์สับสนปนเศร้าของตัวละครวัยไม้ใกล้ฝั่งมาแทนที่

*The Limey เริ่มต้นด้วย voice-over เสียงสั่นเครือแต่หนักแน่นว่า “tell me…tell me about Jenny” แล้วปรากฏภาพใบหน้ายับย่นของชายสูงอายุ เขายืนอยู่ด้านหน้าสนามบิน มองไปที่ตำรวจ 2 นายบริเวณนั้น จากนั้นเขานั่งอยู่เบาะหลังรถแท็กซี่ สายตาสำรวจภาพสองข้างทาง

ชายสูงอายุผู้นี้คือวิลสันซึ่งเดินทางจากอังกฤษมาแคลิฟอร์เนียเพื่อสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตของลูกสาว บุคลิกแรกของวิลสันที่สัมผัสได้คือความโดดเดี่ยว เขานั่งอยู่ในห้องพักตามลำพัง หยิบจดหมายและข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์เรื่องการเสียชีวิตของเจนนิเฟอร์คลี่ออกอ่าน มีเสียงน้ำจากฝักบัว ประกอบกับภาพเด็กผู้หญิง และภาพหญิงสาวนั่งอยู่ในรถ ตัดสลับกับภาพใบหน้าครุ่นคิดกังวลของวิลสัน

จากนั้น วิลสันเดินทางมาหาเอ๊ด ทั้ง 2 คนพูดคุยกัน ภาพตัดไปมาระหว่างฉากในบ้านและฉากในรถ แต่บทสนทนากลับต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันไม่ขาดตอน บางครั้งคำถามเกิดขึ้นในฉากหนึ่ง แต่กลับมีคำตอบอีกฉากหนึ่ง และการสนทนาลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งตอนที่วิลสันคุยเรื่องเจนนิเฟอร์กับอีเลน

นอกจากนี้ ตลอดทั้งเรื่องมีภาพหลายภาพแทรกซ้อนเข้ามาในภาพหลักซึ่งกำลังดำเนินเรื่อง เช่น ภาพรูปถ่ายของเจนนิเฟอร์ ภาพความทรงจำในอดีตของวิลสัน ภาพคนนอนร้องขอชีวิต โดยเฉพาะภาพวิลสันนั่งอยู่ในเครื่องบินปรากฏบ่อยครั้งที่สุด โดยที่ผู้ชมไม่อาจระบุได้ว่าเป็นภาพขณะที่เขากำลังเดินทางมาแคลิฟอร์เนีย หรือกำลังกลับอังกฤษ

กระทั่งหนังดำเนินมาถึงตอนจบ จึงได้ทราบว่าภาพวิลสันนั่งเครื่องบินซึ่งปรากฏตั้งแต่ตอนต้นคือการเดินทางกลับอังกฤษหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ส่วนเสียง voice-over ว่า “tell me…tell me about Jenny” ในฉากเปิด คือคำพูดคาดคั้นหาความจริงจากวาเลนไทน์ในตอนท้าย

เฉพาะการตัดต่อภาพและเสียงที่ดูสับสนไร้ที่มาที่ไป บางครั้งเป็นภาพที่ปรากฏก่อนเหตุการณ์จริงนี้ อาจยังไม่ชัดเจนนักต่อการตีความหมายของโซเดอร์เบิร์กที่ต้องการสื่อแสดง แต่ระหว่างที่เรื่องราวดำเนินอยู่นั้น องค์ประกอบอื่นๆ ต่างค่อยๆ ทำหน้าที่เสริมให้แก่นเรื่องของ The Limey ชัดเจนยิ่งขึ้น จนเรียกได้ว่าโซเดอร์เบิร์กสามารถดึงทุกองค์ประกอบมาใช้งานได้ครบถ้วนสมบูรณ์

ดังที่กล่าวไว้แล้ว ตัวละครหลักทั้งสามคือชายสูงอายุ ซึ่งย่อมมีรายละเอียดในช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ผ่านมามากมาย โดยเฉพาะช่วงวัยหนุ่มเมื่อย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้วในทศวรรษที่ 60 ยุคสมัยดังกล่าวตรงกับสถานการณ์โลกซึ่งคุกรุ่นด้วยสงครามเย็น สงครามเวียดนาม ประกอบกับทุนนิยมบริโภคนิยมขยับตัวเข้าไปมีอิทธิพลทั่วทุกมุมโลก หนุ่มสาวในยุคนั้นมีท่าทีต่อต้านความรุนแรงอันเกิดจากนโยบายของรัฐบาลของพวกเขา ต่อต้านวิถีชีวิตฟุ้งเฟ้อของคนรุ่นพ่อแม่ จึงแสดงออกด้วยการขบถต่อกฎเกณฑ์ทางสังคม สนใจปรัชญา ยาเสพติด และดนตรีร็อคแอนด์โรล เรียกรวมคนหนุ่มสาวเหล่านี้ว่าบุปผาชนหรือฮิปปี้

แน่นอนว่ายุคสมัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไป แต่คนรุ่นนั้นซึ่งยังมีชีวิตอยู่ต่างยังรำลึกถึงความหอมหวานแห่งอิสระเสรี ความเป็นปัจเจกชนแห่งยุคแสวงหาซึ่งไม่อาจหวนกลับมาอีกครั้ง คนเหล่านี้จำต้องยืนอยู่บนยุคสมัยใหม่ซึ่งแตกต่าง และไม่ใช่สังคมในอุดมคติที่พวกเขาใฝ่ถึง บางคนปรับตัวให้ไหลไปตามกระแส ขณะที่บางคนต้องกลายเป็นคนแปลกแยก หลงยุค และมีช่องว่างทางความคิดกับคนรุ่นใหม่

วิลสันคือคนประเภทหลัง ยิ่งเวลาส่วนใหญ่ของเขาหมดไปในที่คุมขัง เขาจึงไม่มีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก กลายเป็นคนเก่าซึ่งหลงอยู่ในโลกสมัยใหม่ จนเป็นเหตุให้สัมพันธภาพระหว่างเขากับลูกสาวซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เลือนรางจนยากสานต่อ และการที่วิลสันต้องเดินทางมาอเมริกา ความแตกต่างด้านสถานที่ยิ่งเสริมทับความแปลกแยกให้วิลสันมากขึ้น ดังเช่นฉากที่วิลสันติดต่อซื้อปืน ซึ่งอาจไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าขั้นตอนหนึ่งของการล้างแค้น ถ้าหนังไม่ได้ให้คนสูงอายุอย่างวิลสันแอบติดต่อซื้อปืนจากเด็กนักเรียน

คำพูดของวิลสันหลายครั้งที่ผู้ฟังไม่อาจเข้าใจได้ ทั้งด้วยภาษาที่ใช้และเรื่องที่เขาพูดถึง บางครั้งเราอาจมองเห็นความหวังที่จะได้พบโลกที่ใฝ่ถึงในคำพูดของเขา แต่บางครากลับดูเหมือนว่าเขายอมรับสภาพที่เผชิญอยู่ เช่นในฉากที่อีเลนถามเขาว่ามีเพื่อนบ้างหรือเปล่า วิลสันตอบว่ามี แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนกันบ้าง ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ก่อนจะสรุปว่าคุณไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังอยู่ที่ไหน

เห็นได้ว่าตลอดเวลาที่หนังได้สื่อผ่านการตัดต่อภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ปรากฏก่อนเหตุการณ์จริง หรือการสนทนาที่ตัดต่อคาบเกี่ยวระหว่างฉาก 2 ฉาก รวมทั้งผ่านการกระทำและคำพูดของวิลสันล้วนแต่ต้องการบอกถึงสภาพไร้ที่อยู่ที่ยืนที่แท้จริง ความสับสนต่อยุคสมัย การเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาที่วิลสันไม่อาจตามได้ทัน จนเมื่อวิลสันได้รู้ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเจนนิเฟอร์ เขาจึงฉุกคิดได้ว่าเรื่องราวในอดีตอาจไม่งดงามดังเดิมถ้ามาซ้ำรอยอีกครั้งในปัจจุบัน

บทสรุปสุดท้ายของวิลสันคือฉากการเดินทางกลับอังกฤษ ระหว่างทางหญิงซึ่งนั่งข้างๆ รำพึงว่าเธอไม่รู้ว่าชอบการเดินทางจากไปหรือการกลับบ้านกันแน่ วิลสันพูดด้วยท่าทีเหนื่อยล้าตอบกลับไปว่าเขาอยากพำนักอยู่กับบ้านมากกว่า เป็นคำพูดที่ทำให้เรารู้ว่าชายสูงอายุผู้นี้ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือด้วยการหาสถานที่สักแห่งหนึ่งเพื่อการผ่อนพัก ไม่ต้องการเรียกคืนยุคสมัยที่ไม่อาจหวนมาได้อีกแล้ว


ขณะที่ตัวละครอย่างวิลสันคือคนผู้แปลกแยกกับยุคสมัย วาเลนไทน์กลับเป็นคนที่ปรับตัวได้อย่างดี เขาเป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยการผลิตแผ่นเสียงเพลงดังในอดีต เรียกว่าเขาหากินกับยุคสมัยที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเวลางดงามในชีวิตจนเขาเรียกว่ายุคทอง วาเลนไทน์อธิบายความหมายของยุคสมัยนี้ให้แอดฮาร่า(อมีเลีย ไฮน์ส) แฟนสาวฟังว่าเปรียบเหมือนสถานที่ที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาเหมือนก่อน และอาจจะมีอยู่จริงแค่ในจินตนาการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวาเลนไทน์จะยอมรับว่ายุคสมัยดังกล่าวไม่อาจกลับคืนมาอีกแล้ว แต่เขาก็ยังรำลึกถึงอยู่เสมอ ดังในฉากหนึ่งที่เขาเล่าเรื่องราวในอดีตสมัยที่เขาขับมอเตอร์ไซค์คลาสสิคบนไฮเวย์ในแอดฮาร่าฟัง ก่อนที่แอดฮาร่าจะบอกว่าเขาเคยเล่าเรื่องนี้แล้ว เรื่องการขับมอเตอร์ไซค์คลาสสิคนี้ แน่นอนว่าผู้ชมต้องหวนนึกถึงภาพกัปตันอเมริกา ซึ่งฟอนด้ารับบทบาทใน Easy Rider หนังยอดเยี่ยมปี 1969 อันเป็นภาพลักษณ์หนึ่งในยุคแสวงหา

ส่วนเอเวอรี่ สมุนมือขวาของวาเลนไทน์ก็เป็นพวกคนแก่ตกยุคเช่นกัน แม้จะวางมาดสุขุมนุ่มลึก แต่ก็มีหลายครั้งที่ออกอาการงกๆ เงิ่นๆ ด้วยสังขารและเขี้ยวเล็บที่โรยราไร้คม โดยในฉากที่เอเวอรี่ไปเจรจากับสเตซี่ให้กำจัดวิลสันแทน เอเวอรี่พูดแบบยอมรับความจริงว่า คนที่ประสบความสำเร็จอย่างเขาก็ยังมีขีดจำกัด พร้อมกับพูดป้อยอนักเลงรุ่นลูกจนสเตซี่รำคาญ

ตัวละครอย่างสเตซี่ซึ่งถอดแบบมาจากผู้ร้ายในหนังอาชญากรรมยุคหลังอย่าง Pulp Fiction(1991) หรือหนังของโซเดอร์เบิร์กเองเรื่อง Out of Sight(1998) ที่ชอบพูดเรื่องไร้สาระ คิดว่าตนเองแน่ แต่สุดท้ายกลับถูกจัดการอย่างง่ายดาย ก็คือภาพเปรียบเทียบผู้ร้ายต่างยุคสมัยที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นอกจากบทที่ยอดเยี่ยมของ เล็ม ด็อบบ์ส การตัดต่อฝีมือ ซาราห์ แฟล็กซ์ และรายละเอียดที่โซเดอร์เบิร์กนำมาประกอบให้สังเกตตีความกันแต่ละฉากแล้ว อีกองค์ประกอบที่โดดเด่นมากคือการกำกับภาพของ เอ๊ด ลาซแมน ทั้งการจัดวางตำแหน่งของตัวละครในแต่ละเฟรมภาพ การจัดภาพนิ่งที่สื่อถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา โดยเฉพาะแสงอาทิตย์สีเหลืองส้มยามใกล้ลับขอบฟ้าถูกดึงมาใช้เป็นแสงหลักตลอดทั้งเรื่อง สอดรับกับตัวละครที่ผ่านพ้นช่วงรุ่งเรืองสูงสุดมาสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

ทางด้านเพลงประกอบล้วนแต่เป็นผลงานของวงดังในช่วงทศวรรษที่ 60-70 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น The Who, Boston, Steppenwolf และ The Byrds ที่ฟังแล้วได้อารมณ์ความรู้สึกถวิลหาบรรยากาศเก่าๆ ส่วนภาพวัยหนุ่มของวิลสันเป็นฟุตเตจที่หยิบยืมมาจากหนัง Poor Cow ของ เคน โลช ที่สแตมป์แสดงเมื่อปี 1967 แต่ละภาพล้วนถูกเจาะจงให้ลงตัวกลมกลืนกับเรื่องราวในอดีตของวิลสัน

ขณะที่หนังรุ่นใหม่หลายเรื่องเสนอภาพความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาของคนหนุ่มสาวซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยปัจจุบัน เป็นภาพของคนหนุ่มสาวที่ยังไม่สามารถจับแก่นสารใดๆ เพื่อเติมความหมายและทดแทนส่วนที่ขาดพร่องให้แก่ชีวิต

The Limey ของโซเดอร์เบิร์กเรื่องนี้ก็ได้แสดงความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาเช่นกัน แต่เป็นความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาของคนวัยใกล้ล่วงลับที่ถวิลหายุคสมัยซึ่งชีวิตของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยความหมาย...แต่กลับเลือนรางไร้ค่าในวันเวลาปัจจุบัน




ข้อมูลเพิ่มเติม

1.คำว่า Limey ซึ่งเป็นชื่อหนัง เป็นศัพท์สแลงอเมริกัน หมายถึง คนอังกฤษ

2.ใน wikipedia ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครวิลสัน กับ เอ๊ด ซึ่งคอยช่วยเหลือ ถอดแบบมาจากตัวละคร ดอน กีโฆเต้ แห่งลามันช่า กับ ซานโช ปานซ่า ผู้เป็นคนรับใช้ จากวรรณกรรมคลาสสิคเรื่องยิ่งใหญ่ Don Quixote ของ เซร์บันเตส (มีฉบับแปลเป็นไทยแล้วโดย สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ...คอวรรณกรรมห้ามพลาด!!!)

3.จาก wikipedia เช่นกัน เป็นข้อมูลที่ผมเองไม่ได้สังเกต บอกว่าเสื้อยืดของตัวละครเอ๊ดล้วนแต่เป็นรูปหน้าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่(และเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา) โดยช่วงต้นเรื่องเป็นรูป อยาตอลลาห์ โคไมนี ของอิหร่าน ช่วงกลางเรื่องเป็นรูป เช เกวารา (ดังรูปข้างบน) พอถึงช่วงท้ายเป็นรูป เหมาเจ๋อตุง



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 14 มกราคม 2551 20:43:40 น.
Counter : 1901 Pageviews.

5 comments
  
เข้ามาแฮบปี้วาเลนไทน์ย้อนหลังค่ะบอส
มีความสุขมากๆนะค๊าและก็
ขอให้ปีนี้มีแต่ความรักและคนรักเลยน้าค้า คริๆๆๆ
โดย: LunarLilies* วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:9:14:10 น.
  
โห...พูดถึงหนังแนวเศร้าๆเหงาๆในวันแห่งความรัก
ขอทำนายทายทักว่ายังเป็นชายโฉด เอ๊ย ชายโสดชัวร์ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ (แซวกันเล่นนะคะบอสสส)

แฮปปี้วาเลนไทน์นะคะ
โดย: G IP: 203.113.76.71 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:22:32:35 น.
  
หนังสองเรื่องของผกก.คนเดียวกัน เราค่อนข้างอยู่ในระดับชอบนะคะ

แต่จะหาเรื่องนี้ดูได้ยังไงหละนี่



อ่า...พ.ค.นี้ก็ครบปีแล้วสิคะนี่
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:9:34:48 น.
  


บอส หนูมาอวยพรอีกรอบ

" ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ "

ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง
ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย



ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
เฮง เฮง เฮง นะค้า
โดย: LunarLilies* วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:11:27:14 น.
  
ผมว่าน่าสนใจดีนะครับ สำหรับการเขียนเรื่องผลกระทบของคำว่า spoil ต่อการวิจารณ์
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:17:09:21 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด