อบรมยูโด Olympic solidarity with kodokan sensei (second day)


อบรมยูโด Olympic solidarity with kodokan sensei (second day)

ช่วงเช้าเป็นส่วนของท่ายืน
วอร์มอัพ
ท่าวอร์มเหมือนกับเมื่อวาน เน้นเรื่องต้นขา และการย่อเข่า การซ้อมแบบญี่ปุ่นส่วนใหญ่จัดคอร์สแล้ว จะพยายามลิงค์ให้เนื้อหามันต่อกันตั้งแต่พื้นฐานไปถึงเทคนิคต่างๆ

โอคุริอาชิบารัย (นัมโบเซนเซ)
- โอคุริแบบที่ใช้ในนาเกะโนะกาตะเป็นแบบขยับออกด้านข้าง
- เซนเซหยิบเอามาซ้อมเป็นแบบดันหุ่นถอยหลัง กับแบบหมุนเป็นวงกลม
- ถ้าเดินขาพร้อมกับหุ่นจะปัดไม่ได้ แต่ถ้าก้าวก่อนที่จะปัด เราก้าวใหญ่หน่อยจะปัดได้
- ช่วงปัดอย่างอท้อง ให้ส่งแรงจากสะโพกออกไป
- ปัดให้เน้นไปที่ขาด้านใน (ไม่ใช่ขาแรกที่เราปัด) แต่เราต้องปัดขาแรกโดยเน้นเป้าหมายขาสอง
- ท่าขา ทั้งหมดมือต้องมีคุสุชิ ท่านี้ก็เช่นกัน


โซเดทรึริโกมิโกชิ (นัมโบเซนเซ)
- ใช้เป็นแบบขวาจับขวา หรือซ้ายจับซ้าย
- การหมุน หมุนกลับฝั่ง โซเดคือแขนเสื้อ จับแขนเสื้อแล้วหมุน มือฝั่งที่จับแขนเสื้อ มีสองแบบ แบบดันศอกขึ้น (แบบที่เซนเซใช้) กับแบบตีศอกออกข้าง ตรงนี้แล้วแต่ความถนัด
- มือข้างที่จับคอ ลอดใต้รักแร้ ยังคงดึงคุสุชิตลอด
- ท่านี้ปล่อยให้สะโพกปลิ้นออกไปหน่อย ใช้สะโพกเป็นตัวเบียด
- ตอนทุ่มดูทิศทางของขาหุ่นด้วย ต้องวางและหมุนเข้าไปให้ขาหุ่นวางขนานกัน (ไม่ใช่ให้หุ่นวางขานึงนำ)


ไทโอโตชิ (ซาเมชิม่าเซนเซ)
ต่อจากเมื่อวาน เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แบบที่สามของเมื่อวานแยกออกเป็นสองแบบ กลายเป็นแบบที่สามกับสี่ ไล่ลำดับกันขึ้นไป เมื่อวานก็จะเรียนไปหกแบบ (ไม่นับแบบที่ศูนย์) วันนี้เรียนต่อแบบที่7-10

แบบที่7
คล้ายกับแบบที่หก เพียงแต่แบบหกจะเป็นกึ่งคล้ายๆกับเกี่ยวโอ แต่ไม่ได้เกี่ยวโอแค่แตะเฉยๆ ส่วนแบบที่เจ็ดคือการเกี่ยวโอมากหน่อยแล้วใช้ไทโอ สเต็ปการเข้าไทโอเป็นแบบสองสเต็ป เพราะขาแรกเราใช้เกี่ยวไปแล้ว

แบบที่8
ใช้โอโซโตการิ (ก็ไม่เชิงโอโซโตเป็นคล้ายๆกับอาชิกุรุม่า) เอาขาไปแปะไว้ จากนั้นกระโดดเข้าไป โดดได้แค่ครั้งเดียว ขาที่โดดเข้าไปเป็นขาสอง แล้วเสียบขาสามออกไป

แบบที่9
ใช้สเต็ปหลอกแบบอาชิกุรุม่าที่เรียนมาเมื่อวานนี้ แต่สเต็ปหนึ่งกับสองหายไปละ วางขาหลอกแล้วเสียบขาสเต็ปสามได้ทันที

แบบที่10
ไทโอเข้าไปแล้ว หุ่นต้านด้วยการย่อเข่าทิ้งน้ำหนักฝืนเอาไว้ เปลี่ยนจากไทโอเป็นโออุจิการิ

ทั้งสิบแบบที่เรียนรู้ซ้อมกันไป คนที่ถนัดทั้งหมดไม่มี แล้วคนที่จะใช้ได้ต้องมำแบบที่ศูนย์ให้ได้ก่อน ส่วนแบบอื่นๆ เลือกดูหาตัวตนความถนัดของตนเองให้ได้

ช่วงบ่ายเป็นเนวาซะ
ท่าวอร์มมีหลากหลายแต่เซนเซเอาสิ่งสำคัญหลักๆมาให้วอร์ม
- เอบิ
- เกียกุเอบิ
- วากิชิเมะ

เอบิกับเกียกุเอบี มีอย่างละสามแบบ แบบขาบนถีบ แบบขาล่างถีบ กับแบบใช้สองขาถีบ จะทำแบบไหนไม่ผิด ในแต่ละแบบมีวิธีการใช้กับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แบบที่ใช้บ่อยสุดของเอบิ คือแบบที่ใช้ชาบนเป็นตัวถีบ ส่วนเกียกุเอบิเป็นแบบสองขา

ท่าวากิชิเมะ เน้นเรื่องการบิดข้อมือกับขาที่แยก โดยการกดแรงลงที่ปลายนิ้วโป้งทั้งสองข้าง สุดท้ายคือการดันหน้าอกขึ้นทิ้งน้ำหนักลงท้อง

โอบิโทริไคเอชิ (ซาเมชิม่าเซนเซ)
(นอกเรื่องแป็บ ท่านี้เห็นทีไรคิดถึงเซนเซที่โดโจของอำเภอ เคยเรียนกับเซนเซแปดดั้งท่านนี้มาสองท่า ท่าโอบิโทริไคเอชิกับท่าคุซะการิ)
- เริ่มจากท่าโอบิโทริไคเอชิแบบใช้ตอนยืน มือที่จับคอเสื้อกระตุกลง พอหุ่นก้มเอามือไปจับสายรัด เซนเซเน้นเรื่องคุสุชิ คุสุชิของท่านี้คือการกดลง กดโดยใช้ท่อนแขนและข้อศอก แขนที่จับสายรัด กดลงไปตรงแกนกลางลำตัว
- จับให้หุ่นก้มลง อย่าไปเขย่งเพื่อจับสายรัดของหุ่น
- อีกมือโอบลำตัวผ่านทางรักแร้ จับให้กระชับทั้งสองแขน คุสุชิยังทำอยู่ด้วยการกดลง
- ขาที่อยู่ข้างหน้าสืบเท้าเข้าไป แล้วขาอีกข้างวางเข้าไปใกล้กับขาแรก แล้วใช้ขาแรกในทางเตะขึ้นไป
- จุดที่เตะ คนทุ่มใช้ข้อเท้าเป็นตัวล๊อคไปที่อุเกะบริเวณเข่าด้านข้าง
- เตะพร้อมกับหมุน หลักการหมุนของท่านี้ต้องทำตัวติดกันเป็นลูกบอล จะได้กลิ้งไปพร้อมกัน
- กลิ้งครบรอบจะอยู่คร่อมบนตัวหุ่น มือที่จับสายไม่ต้องใส่ปล่อย เป็นการคุมแกนกลางของหุ่นจะทำให้ดิ้นได้ไม่สะดวก

โอบิโทริไคเอชิ แบบที่ใช้ตอนนอน
- คนใช้นั่งหงายขึ้น ดึงเหมือนกับท่ายืน กดแกนกลางเหมือนกัน
- ช่วงที่จะถีบขึ้นไป ต้องเขยิบก้นเข้าไปคืบนึง เขยิบแล้วตัวกลมเป็นลูกบอลอาศัยแรงที่อยู่ประชิดกัน เตะส่งหุ่นหมุนพลิกไปพร้อมกับตัวเราที่ตีลังกาตามไป
- จุดที่ขาปะทะเข้าไปเหมือนกับรูปแบบท่ายืน

ฮิกิโกมิไคเอชิ (ซาเมชิม่าเซนเซ)
- เป็นการใช้แบบบิดออกข้าง มีทั้งแบบท่ายืนกับท่านอน
- ท่ายืนกดตัวหุ่นให้ก้มลง มือสอดเหมือนกับท่าโอบิโทริไคเอชิ
- แทนที่จะเตะ กลายเป็นขาวางออกข้างแล้วบิดตัวหมุนด้านข้าง

ฮิกิโกมิแบบท่านอน
- หุ่นอยู่ในท่าเต่า มือนึงจับสาย อีกมือสอดผ่านรักแร้แล้วเอาไปประกบกับแขนที่จับสาย ดึงแขนสองข้างให้กระชับ
- หุ่นออกแรงต้านไม่อยากจะพลิกขึ้นมา
- เอาแรงต้านตรงนั้นเปลี่ยนไปทิศทางเดียวกันกับแรงต้าน พลิกหมุนตัวไป
- ทิศทางของการดึงให้พลิก อยู่ตรงแนวไหล่หรือเฉียงๆ45องศาไปทางด้านหลัง
- พลิกไปแล้ว เราต้องรีบหมุนวนไปกันไม่ให้หุ่นพลิกต่อไปจนเกินรอบ ช่วงที่หมุนวนไปกั้นพยายามกดให้เรียบอยู่บนตัวหุ่น อย่าให้มีช่องว่างเยอะ ถ้ามีช่องว่างหุ่นอาจจะหนีโดยการดันขึ้นด้านบน

โอคุริเอริจิเมะ (ซาเมชิม่าเซนเซ)
- เชือดใช้กับตอนที่หุ่นเข้าอิปปงเซโอนาเกะมาแล้วไม่ติดทิ้งตัวคว่ำลงบนพื้น
- มือโทริอยู่บริเวณคอเสื้อ
- กดหุ่นลงพร้อมกับดึงหุ่นมาทางเฉียงหน้า (ดึงถอยลงเฉียงหลัง) ช่วงดึงคือการทำคุสุชิ ระหว่างดึงเอาหน้าอกกดบริเวณหลังของหุ่นเอาไว้
- หมุนวนตามทิศทางของการเชือด

ทั้งสามท่าที่ซาเมชิม่าเซนเซสอนมา เป็นการเน้นย้ำท่านอนที่จะต้องมีการทำคุสุชิในทุกๆครั้งที่ใช้ ไม่ต่างกับท่ายืนที่การเข้าท่าทุกครั้งก็ต้องมีคุสุชิเช่นกัน

ท่ายืนกับท่านอนต่างกันตรงที่ท่ายืนหลังจากฝึกฝนแล้วยังต้องเรียนรู้จังหวะ ไทม์มิ่ง และองค์ประกอบหลายๆอย่างในการอ่านและสร้างจังหวะให้ลงล๊อค ส่วนท่านอนถ้าฝึกชำนาญแล้วสามารถเอาไปใช้ได้เลย องค์ประกอบในเรื่องของจังหวะจะน้อยกว่าท่ายืน

อุชิโร่เคซะกาตาเมะ (นัมโบเซนเซ)
- หุ่นนอนคว่ำ ขึ้นไปคร่อมบนตัวหุ่น
- เอาแขนขวาสอดผ่านรักแร้ด้านขวาของหุ่น ทะลุผ่านออกมาที่คอเสื้อฝั่งขวาของหุ่น แล้วโน้มตัวลงไปให้มือขวาจับคอเสื้อของเราเอาไว้
- หมุนตัววนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา จนสามารถใช้แขนซ้ายจับกางเกง บริเวณหลังเข่าหรือต้นขาขวาของหุ่น
- จับได้แล้วตีลังกาม้วนหน้าไป ตัวเราตัลังกาพลิกไปได้ ตัวหุ่นก็จะพลิกขึ้นมาเช่นกัน เพราะแขนขวาที่สอดเข้าไปมันค่อยๆเป็นเกลียวบังคับพลิกขึ้นมา
- พลิกแล้วจัดแต่งเป็นท่า อุชิโร่เคซะกาตาเมะ

โยโกชิโฮ (นัมโบเซนเซ)
- หุ่นอยู่ในท่าเต่า มาอยู่ด้านศรีษะของหุ่น ให้หุ่นอยู่ทางด้านซ้ายมือของเรา
- มือขวาจับคอเสื้อหุ่นด้านหลัง มือซ้ายจับสายด้านหลัง
- ทำท่าอุเกมิม้วนตัวตบเบาะ (ม้วนขวา) ระหว่างเริ่มม้วน เปลี่ยนที่แขนขวาจากจับสาย เป็นล้วงเข้าเป้ากางเกงมา อ้อมมาจับสายรัดด้านหน้าของหุ่น
- ม้วนไปเป็นเส้นตรง ตามทิศทางตัวหุ่นจากหัวไปขา
- ช่วงที่ม้วนตัว มือซ้ายที่จับคอเสื้อด้านหลัง ดึงตามไป แรงในการม้วนจะดึงหุ่นให้พลิกขึ้นมา
- ม้วนแล้ว พลิกแล้ว ยากสุดและสำคัญสุดคือมันต้องพอดีกับเข่าขวาไปทับข้อศอกซ้ายของหุ่น
- ทับได้ มือที่อ้อมมาจับสายรัดด้านหน้าไม่จำเป็นแล้ว คลายออก หุ่นจะหนีไม่ได้ เพราะติดศอกที่ถูกกดไว้ ก็กดล๊อคโยโกชิโฮทันที

จูจิกาตาเมะ (นัมโบเซนเซ)
- หุ่นอยู่ในท่าเต่า เข้าท่าศรีษะ
- เอาแขนซ้ายสอดผ่านคอด้านขวาของหุ่น (ด้านซ้ายถ้ามองจากโทริ) ไปออกรักแร้ขวาของหุ่น
- อาศัยแรงที่หุ่นอยากจะลุกขึ้นยืนจากท่าเต่า เอาแรงดันขึ้นตรงนั้นมาใช้
- ขาขวาก้าวข้ามคอหุ่นไปวางลงบริเวณข้างสีข้างขวาของหุ่น ช่วงที่ขาขวาวางลงขาซ้ายเตะจรเข้ฟาดหาง พร้อมกับทิ้งตัวเอาช่วงไหล่ขวาลงพื้นหมุนไป
- ใช้บริเวณข้อพับเข่าด้านหลังของขาซ้ายเป็นตัวเตะกวาดคอของหุ่นให้พลิก มันจะหมุนมาครบรอบในท่าจูจิกาตาเมะแบบพอดี จากนั้นอยู่ที่พื้นฐานของจูจิแล้วว่าจะจัดแต่งให้ออกมายังไง (เซนเซไม่ได้พูดถึงการจัดท่าจูจิ เพราะละไว้ในฐานที่คิดว่าทุกคนมีพื้นฐานแล้ว)

เนื้อหาถัดมาเป็นส่วนของซาเมชิม่าเซนเซ กับการซ้อมเข้าท่าชุดในส่วนของท่านอนของโคโดกังคือ "เซไกอิดชู"

ส่วนของเซไกอิดชูเคยเขียนอธิบายละเอียดไว้ต่างหากแล้ว ไม่อยากเขียนซ้ำอีกรอบ

หลักจากอธิบายจนครบแล้ว มีการให้ตัวแทนออกมาแสดงเซไกอิดชู ทั้งหมดสามครั้งเป็นสามคู่ เป็นการแนะนำการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง การที่คนเป็นกลุ่มมาดูแค่คู่เดียวซ้อม ญี่ปุ่นเรียกว่า "มิโตริเคโกะ" คือการมองคนอื่นซ้อมเพื่อการเรียนรู้ มองแล้วรู้ว่าถูก มองแล้วรู้ว่าผิดจะได้เอาเรียนรู้และเอามาพัฒนาในการฝึกซ้อมของตนเอง

ท้ายสุดวันนี้ได้มีโอกาสคุยกับซาเมชิม่าเซนเซ เกี่ยวกับเนื้อหาที่เซนเซเตรียมมา ว่าทำไมถึงเลือกเอาสิ่งนี้ หรือสิ่งนั้นมาสอน ถึงได้รู้ว่าเซนเซไม่ใช่เอาอะไรก็ได้มาสอน แต่เซนเซทำการบ้านมาดีมาก คราวก่อนที่มาสอนคนไทย รับรู้พื้นฐานของเรา และพยายามเอาสิ่งที่ยังขาดไปมาเติมให้เต็ม เอาแค่เรื่องของลำดับท่าที่เรียน ยกตัวอย่างเช่น เนวาซะวันนี้ เซนเซคิดอยู่หลายๆครั้งว่าจะเอาอะไรมาสอน จะเรียงลำดับอย่างไร เอายากขึ้นก่อนแล้วค่อยเอาพื้นฐานมาใส่ตอนท้าย หรือจะเอาพื้นฐานแล้วค่อยเอาที่ยากขึ้นเติมมาตอนหลัง ทุกอย่างมีเหตุและผลเสมอ



Create Date : 24 ธันวาคม 2559
Last Update : 25 ธันวาคม 2559 18:58:29 น.
Counter : 1009 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ablaze357.BlogGang.com

ablaze357
Location :
Chiba  Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]

บทความทั้งหมด