ยูโด การซ้อมและมุมมอง (ตอน มั่นใจ หนูทำได้-ใครก็ทำได้) ตอนที่5 "ความมั่นใจ"
ยูโดแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกนาเกะวาซะ(ท่ายืน) ส่วนสองคาตาเมะวาซะ(ท่านอน) และส่วนที่สามอาเตมิวาซะ(ท่าเตะต่อย) แต่ส่วนสามไม่รู้ลึกขอไม่พูดถึงละกัน

ในส่วนของท่ายืนและท่านอน เคยมีคำถาม "ทำยังไงให้เก่ง" จะทำอย่างไรดี? หลังจากที่ค้นหาอยู่นาน ถึงตอนนี้ยังไม่เก่ง แต่พบคำตอบบางส่วนแล้ว นั้นคือ "ความมั่นใจ" ทำให้เกิดความมั่นใจแล้วมันจะเปิดทาง เปิดโอกาสให้เราเข้าไปหาความเก่งได้ง่ายขึ้น

ความมั่นใจ
ความมั่นใจ
ความมั่นใจ
และก็ความมั่นใจ
....

ที่มีความมั่นใจสี่ตัวเพราะมันเป็นสี่ส่วน เพื่อที่จะง่ายของแบ่งออกเป็นท่ายืนและท่านอน ในส่วนของท่ายืนก็จะมีการโจมตีและการป้องกัน ในส่วนของท่านอนก็จะมีการโจมตีและการป้องกันเช่นกัน มันถึงต้องมีความมั่นใจสี่ตัวนั้นเอง
① ความมั่นใจเรื่องการโจมตีในส่วนของท่ายืน
② ความมั่นใจเรื่องการป้องกันในส่วนของท่ายืน
③ ความมั่นใจเรื่องการโจมตีในส่วนของท่านอน
④ ความมั่นใจเรื่องการป้องกันในส่วนของท่านอน

ผมมาจากแนวอ่อนแอผอมแห้งแรงน้อย และเป็นเหมือนคนหมู่มากที่เล่นยูโด คือท่านอนสำคัญตรงไหน ไม่จำเป็น เริ่มต้นขอเน้นท่ายืน ทุ่มโป้งเดียวจบ...ท่านอนไม่ต้องเป็นก็ได้ (ถ้าไปเน้นทางท่านอนก่อน ยังไม่ทันจะได้เล่นโดนทุ่มแพ้ไปก่อนแล้ว) ความมั่นใจในสี่ข้อ เลยเริ่มต้นเลือกจากข้อ①ก่อน ซึ่งมันผิด !!! ทำยังไงมันก็วนอยู่ในลูป ซ้อมแล้วเหนื่อย-เหนื่อยแล้วเจ็บ-เจ็บก็พัก-พอหายเจ็บก็ซ้อมต่อ-แล้วก็กลับมาซ้อมแล้วเหนื่อย-เจ็บ-พัก-ซ้อม-เหนื่อย-เจ็บ.....

คนเรามีสัญชาติญาณในเรื่องความปลอดภัยทุกคน ถ้าเราไปจับแก้วน้ำร้อนๆ ด้วยความตกใจ ปกติเราต้องรีบถอยรีบถอนมือออกทันที (ไอ้พวกผิดปกติคงทำตรงข้าม555) เราต้องเน้นปลอดภัย เราต้องป้องกันตนเองก่อน เป็นที่มาในการเบนเข็มมาที่ข้อ②

ข้อ②ไม่ได้หมายความถึงเราจะเน้นแต่รับท่าทุ่มจากคู่ซ้อมหรือป้องกันให้คู่ซ้อมออกท่าทุ่มไม่ได้ อันนั้นไว้กลับมาพูดกันเมื่อมีโอกาสครับ

จะรันโดริได้ต้องทำอะไรได้ก่อน? ต้องตบเบาะเป็นก่อนนั้นเอง ตรงนี้แหละคือเราต้องสร้างความมั่นใจในการป้องกันตนเองในส่วนของท่ายืนให้ได้ก่อน พอเรามั่นใจว่าเราป้องกันตนเองได้เราก็ไม่กลัวที่จะล้ม ไม่กลัวที่จะโดนทุ่ม อาการเกร็งจะลดน้อยลง การซ้อมจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง โดนทุ่มตบเบาะได้ ไม่กลัวที่จะถูกทุ่ม พอไม่กลัวไม่เกร็งเราก็จะมีสมาธิเน้นไปในการพัฒนาท่าทุ่มของเราให้คมและสวยงามมากขึ้น (สวยงามคือใช้แรงน้อยลง หาจังหวะเข้าทำได้เหมาะสม และยืนได้หลังจากทุ่ม)

ช่วงที่เป็นหุ่นให้เข้าท่าก็จะไม่เกร็งไม่กลัว เราก็จะสามารถรับรู้ สัมผัส อ่านทางแรงที่คู่ซ้อมใช้ออกมา ครั้งไหนเพี้ยน ครั้งไหนแปลกกว่าทุกที (ขะดีหรือไม่ดี) เราจะสามารถบอกคู่ซ้อมที่เข้าท่าและเรียนรู้จังหวะการเข้าท่าตรงนั้นได้ ดังนั้นข้อ②นอกจากจะมาช่วยเสริมข้อ①แล้วยังมาช่วยส่งเสริมตัวเราและคู่ซ้อมของเราให้พัฒนาไปพร้อมๆกันด้วย

ไม่ต้องไปไกล เอาเรื่องนาเกะโนะคาตะ ในทางหลักเกณฑ์ปกติ คนที่จะได้โชดั้งต้องสอบนาเกะโนะคาตะสองที ครั้งแรกเป็นโทริ ครั้งที่สองเป็นอุเกะ โทริได้อุเกะแย่ก็ไม่ผ่าน หรืออุเกะดีทุ่มไม่ได้ก็ไม่ผ่านเช่นกัน ดังนั้นในความคิดของผมสำหรับท่านที่เริ่มต้นยูโด ข้อสองเป็นตัวเลือกในการเริ่มต้นที่ดีที่สุด

พอได้②แล้วให้ย้อนกลับมาที่① (เพราะผมยังไม่เอาท่านอนเลยยังไม่ต้องไป③กับ④) สำหรับ①ความมั่นใจในการจู่โจมของท่ายืน ทำยังไง? ง่ายสุดทำกันทุกคนอยู่แล้ว "การเข้าท่า" เข้าไม่เป็นไม่รู้หลักไปเริ่มกันที่อุจิโกมิ (ความหมายอุจิโกมิของญี่ปุ่นกับไทยไม่เหมือนกันนะคร้าบ)

การเข้าท่า สำคัญมาก!!!! เข้ากันทุกคน ยิ่งเข้ายิ่งห่วย ถ้าท่ามันผิดตั้งแต่แรก เหมือนจะไปพัทยาแต่ขับรถไปสระบุรี ยังขับยิ่งไกล ก็ท่าแม่งผิด...แล้วไปทำของผิดๆให้มันเคยชิน มันจะไม่ห่วยได้ยังไง

เข้าท่าอะไรเราต้องรู้ก่อนว่าท่ามันถูกหรือผิด ไม่มีใครเกิดมารู้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า"ศิษย์มีครู" ต้องหาอาจารย์หรือผู้รู้ (ของแท้) มาช่วยปรับท่าให้ พอได้ท่าที่ถูกแล้วถึงค่อยไปทำให้มันชำนาญ

"กูทำแบบนี้ ท่าจะถูกผิด ช่างหัวมัน กูทุ่มของกูได้ละกัน" ก็เอาที่สบายใจเลยละกัน

กลับมาเรื่องเน้นรับข้อ②แบบผิดๆ กลัวการถูกทุ่มจนไม่ทำอะไรเลย นอกจากเกร็ง ไม่ออกท่า เพราะคนที่เริ่มซ้อมมาพร้อมๆกัน หรือยังซ้อมมาไม่นาน การเข้าท่าทุกครั้ง หรือในส่วนของสกุริ มักจะมีอาการเสียหลักผสมมาด้วยทุกครั้ง ด้วยความไม่มั่นใจตรงนี้เลยขยับไปมารอว่าอีกฝั่งจะออกท่ามาเมื่อไหร่แล้วค่อยอาศัยลูกมั่ว ทุ่มฝั่งตรงข้ามลงไป ... แบบนี้จะมาซ้อมยูโดทำไม? คู่ซ้อมก็ไม่ได้ประโยชน์จากการฝึกซ้อม นานๆไปก็เป็นด้วยกันทั้งคู่ รอกันไปมา สุดท้ายแทนที่จะไปเน้นเรื่องความคมของท่ากลายเป็นเน้นขยับตัวเกร็งๆรอแต่จังหวะสองและไม่มีท่าที่เป็นชิ้นเป็นอันของตนเอง

พอซ้อมเข้าท่า หาจังหวะจนมันมีความมั่นใจแล้ว แต่ไปรันโดริดูมันไม่ง่ายอย่างที่คิด รันโดริไม่มีแต้มไม่มีคะแนน แต่บางครั้งเราคิดไปถึงลักษณะเสมือนแข่ง ทุ่มแบบนั้นมันไม่อิปปง ไม่วาซาอาริ ได้แค่ยูโก แถมพอได้ยูโกแล้วคนทุ่มโดนกดล๊อค หักแขน เชือดคอกลับมาอีก แข่งจริงคงแพ้ไม่เป็นท่า ไม่มีข้อ④หรือข้อ③ทำเอาข้อ①เริ่มสั่นคลอนและไม่มั่นใจตามไปด้วย จะทุ่มกลายเป็นกลัวและเกร็งว่าถ้าแต้มไม่เต็ม...มันจะแย่!

ในส่วนของท่านอน ผมก็เติบโตมาจากสัญชาติญาณไขว้คว้าความปลอดภัยเช่นกัน จริงๆไม่ได้จะมาทางนี้แต่แรก แต่เพราะไปซ้อมเซไกอิดชู พอลงไปท่านอนทำอะไรไม่เป็นก็เล่นแต่เซไกอิดชู ข้อ④เลยเข้ามาเองแบบไม่ตั้งใจ

ท่านอนผมเรียนมาหลายท่า อย่าไปพูดถึงว่าเคซะคาตาเมะทำยังไง โยโกชิโฮทำยังไง โอคุริเอริจิเมะทำยังไง พวกนี้ทุกคนที่เรียนยูโดรู้ๆกันอยู่แล้ว แต่ผมกำลังจะพูดถึงเราจะสร้างจังหวะเพื่อที่จะทำให้มันเป็นเคซะกาตาเมะยังไงต่างหาก จังหวะของหุ่นอยู่ในสภาพไหน เราฝึกฝนกันมาพอสมควร แต่ถ้าน้องๆหรือท่านที่เพิ่งเรียนรู้ท่านอน จังหวะหรือรูปแบบที่ผมอยากแนะนำแรกสุดคือ จังหวะที่ตัวเราอยู่ในท่าเต่า

"ท่าเต่า" อาจารย์และเซนเซแทบจะทั้งหมดไม่แนะนำให้อยู่ในท่านี้ตอนเล่นท่านอน เพราะมันตั้งรับได้อย่างเดียว มองอะไรไม่เห็นหดหัวอยู่ในกระดอง รอการถูกจัดการอย่างเดียว แต่เริ่มแรกแม่งไม่รู้เชี้ยอะไรเลยจะเอาอะไรไปสู้กับคนอื่นในท่านอนละ?

ที่ผมแนะนำให้เริ่มจากที่นี้ เพราะว่าเราไม่มีท่าอื่นลงไปคลุกในท่านอน ไม่มีท่าอะไรจะให้นอนหงาย นอนแผ่ มันก็ไม่ใช่...แต่ขดเป็นเต่าเพื่อหาวิธีหลีกหนีจากท่านี้ให้เร็วที่สุดต่างหาก กันไว้ดีๆ พอมีโอกาส ลุกขึ้นวิ่ง รอฟังเสียง"มาเต่ะ" อันนี้เป็นส่วนเริ่มต้นของข้อ④

หดหัวเป็นเต่า กันอย่างเดียวมันขาดทุน ในจังหวะเต่าถ้าคู่ซ้อมเข้าผิดที่ผิดทาง อะไรก็เกิดขึ้นได้ รับเป็นรุกและรุกก็กลายสภาพเป็นรับได้เช่นกัน พอเรามีbaseกันจากท่าเต่าแล้วเราค่อยไปศึกษาหาทางจากท่าอื่น นั้นก็คือไปข้อ③ได้

บางครั้งที่เป็นเต่า หรือจะอยู่นอนหงาย นอนคว่ำ นอนคล่อม นอนตะแคง ผมไม่สนใจหรอกว่ามันจะอยู่ยังไง เพราะท้ายสุดผมก็โดนกดโอไซโกมิอยู่ดี กดได้ก็กดกันไปแต่ผมมีเซไกอิดชู กับท่าเทปโปไคเอชิ พลิกกลับเอาตัวรอดได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนของข้อ④เช่นกัน

พอมั่นใจว่าเราป้องกันได้จากในส่วนของท่านอน เราไปเน้นข้อ③ สร้างความมั่นใจในส่วนของการโจมตีบ้าง แบบเดียวกับท่ายืน คือต้องฝึกเข้าท่าบ่อยๆ (ท่านอนก็มีอุจิโกมิเหมือนกันนะคร้าบ) และต้องซ้อมจากรันโดริบ่อยๆจากคู่ซ้อมที่หลากหลาย ซ้อมให้เหนื่อย ซ้อมให้หนัก ซ้อมให้รู้สึกอึดอัด ซ้อมให้รู้สึกว่าเราต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากท่านอน บ่อยๆเข้าข้อ③ก็จะมาเอง

สเต็ปของผม ②①④③ ใครจะก๊อปปี้ก็ได้ครับ แต่รู้แบบของการซ้อมก็แล้วแต่ ตัวใครตัวมัน แทนกันไม่ได้ ใครซ้อมคนนั้นก็ได้เอง



Create Date : 04 พฤษภาคม 2559
Last Update : 4 พฤษภาคม 2559 20:25:15 น.
Counter : 1293 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ablaze357.BlogGang.com

ablaze357
Location :
Chiba  Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]

บทความทั้งหมด