อบรมยูโด kodokan koshukai in thailand (jita kyoei project) 3/4


อบรมโคโดกัง+สอบสาย
วันที่สามเนื้อหาวันนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจอยากเขียนมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เนื้อหายังไม่เข้าใจลึกซึ้งมากพอที่จะกล้าเขียนออกมาได้
เนื้อหาการซ้อมในวันนี้ แต่แรกวางไว้ที่นาเกะโนะคาตะกับยูโนะคาตะ แต่เพื่อให้เหมาะสมและลงตัวกับทุกฝ่ายทั้งในเรื่องของเวลาและอื่นๆ เนื้อหาวันเสาร์ย้ายไปอยู่วันอาทิตย์ และเนื้อหาวันอาทิตย์ย้ายมาอยู่วันเสาร์ ดังนั้นวันนี้เนื้อหาเป็นคาตาเมะโนะคาตะกับคิเมะโนะคาตะ
เรื่องคาตะตั้งใจ(นานแล้ว)จะเขียนในส่วนของนาเกะโนะคาตะสรุปออกมา แต่อาจารย์แก้วได้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนาเกะโนะคาตะไปแล้ว ในเมื่อนักยูโดทั่วไปมีแหล่งข้อมูลของนาเกะโนะคาตะแล้ว เลยขอเบนเข็มมาที่คาตาเมะโนะคาตะ
เช้าเริ่มต้นที่วอร์มอัพ วอร์มอัพวันนี้เป็นการวอร์มในส่วนของท่านอน ที่ต้องวอร์มแบบท่านอนเพราะคาตาเมะโนะคาตะ มีเนวาซ่าเป็นส่วนประกอบ เซนเซได้อธิบายความหมายของคาตาเมะโนะและเนวาซะ ที่บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเนวาซะกับคาตาเมะคือสิ่งเดียวกัน
เนวาซะคือท่านอน ท่านอนประกอบด้วยสามส่วน มีโอไซโกมิ ชิเมะ และคันเซ็ตสึ แต่คาตาเมะมีส่วนประกอบคือเนวาซะ และ ท่าล๊อคควบคุมหุ่นในส่วนของท่ายืน พูดง่ายๆคือคาตาเมะจะใหญ่และเยอะกว่าเนวาซะ
คาตาเมะโนะคาตะ กับ นาเกะโนะคาตะ สองอย่างรวมกันเป็น รันโดริโนะคาตะ ถูกคิดค้นขึ้นในปี1882(ช่วงหลังจากที่ก่อตั้งโคโดกังยูโด) คือเป็นต้นแบบของท่าที่เราเอามาปรับใช้ตอนรันโดริ ทุกท่าทุกการขยับในส่วนของคาตาเมะโนะคาตะกับนาเกะโนะคาตะเป็นพื้นฐานที่ใช้ได้จริงตอนรันโดริ ในทุกการขยับจะไม่มีการขยับที่เสียเปล่า ตามปรัชญายูโด เซเรียวกุเซโย (การใช้แรงให้มีแระสิทธิภาพสูงสุด)
คาตาเมะโนะคาตะ ประกอบด้วยสามชุด ในแต่ละชุดประกอบด้วยห้าท่า เริ่มจากชุดโอไซโกมิ ตามด้วยชุดชิเมะวาซะ และชุดสุดท้ายเป็นคันเซ็ตสึวาซะ
ก่อนจะไปลงลึกในแต่ละชุด มีคำศัพท์ญี่ปุ่นหลายคำ (น่าปวดหัวในการจำ)ชิเซนฮองไต - การยืนแบบเป็นธรรมชาติ ระยะห่างระหว่างขาประมาณเท่าไหล่ ยืนแบบไม่เกร็งเคียวชิ หรือ คุไรโดริ - การคุกเข่าในรูปแบบของคาตาเมะโนะคาตะโทมะ - ระยะการทำเคียวชิแบบไกล ประมาณ120เซนโดยประมาณชิกามะ - ระยะการทำเคียวชิแบบใกล้ประมาณ30เซนโดยประมาณชิกโก้ - การขยับในท่าเคียวชิจากโทมะไปหาชิกามะ หรือจากชิกามะถอยไปหาโทมะ
ทั้งโทมะและชิกามะที่ต้องบอกว่าโดยประมาณเพราะ ปรมาจารย์คาโน่จิโกโร่ ผู้คิดค้นยูโด มีร่างกายสรีระที่เล็ก ระยะโทมะ120เซนเป็นระยะที่เหมาะสมและสมบูรณ์สำหรับคาโน่จิโกโร่ สำหรับสรีระร่างกายที่แตกต่างสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสมควร
เคียวชิหรือคุไรโดริ เป็นการนั่งคุกเข่าข้างซ้าย ฝ่าเท้าขวาวางลงพื้น จุดสำคัญคือฝ่าเท้าขวากับเข่าซ้ายจะวางอยู่แนวเดียวกัน ฝ่าเท้าขวานิ้วเท้าวางเฉียงขวา นิ้วเท้าของขาซ้ายวางจิกพื้น มือซ้ายอยู่ข้างลำตัว มือขวาวางอยู่บริเวณหัวเข่าขวา หลังตรงไม่งอท้อง ช่วงขยับตัวในรูปแบบของเคียวชิจะปิดขาขวาเข้ามา แล้วสืบเท้าขวาออกไปตามด้วยขยับเข่าซ้าย (ถอยหลังก็ทำตรงข้ามโดยการขยับเข่าซ้ายลงหลังแล้วค่อยสืบฝ่าเท้าขวาตามลงมา) โดยทั่วๆไปการขยับแบบนี้จะขยับจากระยะโทมะไปหาชิกามะ ขยับสองครั้งติดกัน
การเริ่มต้นของคาตาเมะโนะคาตะจะเหมือนกับนาเกะโนะคาตะ- เคารพตอนเข้าเบาะ (ยืนเคารพ)- เดินสามก้าว โดยเดินด้วยขาซ้ายก่อน- หยุดแล้วหันเข้าหาโชเม็งเคารพเบาะแบบยืน- หันกลับมาหากัน แล้วเคารพแบบคุกเข่า- ยืนขึ้นมา ก้าวขาซ้ายเข้าไปก้าวนึง ก้าวแล้วจะยืนในลักษณะชิเซ็นฮอนไตเหมือนกันกับนาเกะโนะคาตะจนถึงจุดนี้- จากนี้คาตาเมะโนะคาตะ ทั้งคู่จะทำท่าเคียวชิ- ถ้าหันหน้าไปทางโชเม็ง ทางขวามือจะเป็นอุเกะ ส่วนทางซ้ายมือจะเป็นโทริ- อุเกะในท่าเคียวชิขยับก่อน หนึ่งก้าว ก้มลงมองพื้นเล็กน้อย วางฝ่ามือขวา (นิ้วของฝ่ามือขวาวางชี้ไปทางซ้าย)แล้วพลิกหมุนนอนหงาย โดยสไลต์เอาขาขวาออกมา- อุเกะอยู่ในท่าเตรียมพร้อมแบบนอน โดยยกเข่าซ้ายขึ้นเล็กน้อย ฝ่ามือวางอยู่ข้างลำตัวทั้งสองข้าง หัววางลงพื้น(ไม่ต้องยกขึ้น)สาเหตุที่ต้องยกเข่าซ้ายขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ความรู้สึกว่าอุเกะยังอยู่กับการทำคาตาเมะโนะคาตะไม่ใช่นอนตามสบายหลับไปแล้ว- ตำแหน่งบริเวณหัวไหล่ของอุเกะจะอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของเบาะ
หลังจากนี้โทริจะยืนขึ้น เดินไปเริ่มบรรเลงคาตาเมะโนะคาตะ การเดินทุกครั้งเดินขาขาซ้ายก่อนเสมอ เริ่มจากหมวดโอไซโกมิวาซะ หมวดโอไซโกมิทุกท่าอุเกะจะแสดงทางหนีสามแบบต่อเนื่องกัน โทริก็จะแสดงวิธีขยับตอบโต้การหนีของอุเกะต่อเนื่องไปจนสามารถควบคุมอุเกะได้สมบูรณ์ อุเกะจึงตบยอม แต่รูปแบบการหนีไม่ใช่ว่าตามใจอุเกะหรือโทริ มันจะมีแบบฟอร์มลำดับท่าของมันกำหนดไว้แล้วทั้งหมด และรูปแบบตรงนี้แหละ เป็นเนื้อหาสำคัญของการทำโอไซโกมิ
① เคซะคาตาเมะรูปแบบของท่าชื่อท่าจริงๆคือ คุสุเรเคซะคาตาเมะ แต่ชื่อท่านี้กลับใช้ว่าเป็นเคซะคาตาเมะ- เคซะคาตาเมะจะเข้าทำจากด้านข้าง- ถึงระยะโทมะ (120เซน) นั่งลงในท่าเคียวชิ ขยับเข้าไปในตำแหน่งชิกามะ(30เซน)- ทุกท่าพออยู่ในตำแหน่งชิกามะแล้ว พอจะเข้าทำจะต้องเขยิบเข้าไปอีกนิดนึง ไม่ถึงกับติดตัวอุเกะ (เหลือที่ไว้ขยับขยายท่าหน่อยนึง ติดเลยบางท่าใช้ไม่ได้)- โทริจะหงายซ้ายมือ คว่ำมือขวาจับแขนขวาอุเกะออกมา เอารักแร้ซ้ายหนีบแขน ใส่ท่าเคซะคาตาเมะ- ท่าเคซะอันนี้มือขวาจะไม่คล้องคอ แต่จะคล้องไปที่แขนซ้ายอุเกะ (บอกแล้วว่ามันคือคุสุเรเคซะ)- โทริก้มหน้าลงเล็กน้อยเป็นการให้สัญญาณ จากนั้นอุเกะเริ่มหาทางหนี
หนี1 คุสุเรเคซะพื้นฐานหนีทั่วไปคืออุเกะเอามือซ้ายไปช่วยแขนขวาในการดึงหักแขนซ้ายโทริ เพื่อสร้างวงในการพลิกออกมา- โทริกำลังจะถูกพลิกออกไป แก้เกมส์ด้วยการพลิกหมุนเอาฝ่าเท้าขาซ้ายวางกดลงพื้น อุเกะหนีออกทางนี้ไม่ได้
หนี2 อุเกะหนีออกไม่ได้ แต่สร้างช่องว่างระหว่างตัวโทริกับอุเกะ ถ้าทำเอบิสอดขาขวาเข้าไปอยู่ใต้ท้องอุเกะ แล้วพลิกสะโพกตามมากขาสองข้างสามารถกอดโทริได้ เวลาก็จะโทเคตะ- โทริก็เข้าใจว่าอุเกะตั้งใจจะทำอะไร พลิกขาในท่าโคชิคิริ (จะพลิกไปขาซ้ายหรือขาขวาก็ได้) สำคัญคือพลิกแล้วขวางปิดทางไม่ให้อุเกะทำเอบิสอดขาเข้ามาได้- การทำโคชิคิริ มันเกี่ยวข้องกับท่าหนีที่สามด้วย บางคนโคชิคิริแล้วจะมาเบรคทางหนีของท่าที่สามมันไกลไป โดยพลิกกลับได้ ตรงนี้ไม่ตายตัว ถ้าเป็นในส่วนของคาตะอยู่ที่การซ้อมกับคู่ของเรา แต่ถ้าเป็นการรันโดริอยู่ที่แนวแรงว่าพลิกไปฝั่งไหนจะสามารถคุมหุ่นได้สมบูรณ์กว่ากัน
หนี3 อุเกะทำเอบิตั้งใจที่จะสอดขาถูกขวางไว้ได้ มือซ้ายจับไปที่สายรัดด้านหลัง (จะเข้าจากทางคอโทริด้านขวาหรือซ้ายก็ได้) ถ้าจับไม่ถึงจับคว้าเสื้อด้านหลังของโทริตรงไหนก็ได้ เพื่อทำเท็ปโปไคเอชิ พลิกโยนหุ่นออกไปจากประสบการณ์ท่าเท็ปโปไคเอชิจะเห็นผลได้ดีสุดคือต้องจับสาย และการจับสายโดยการใช้แขนซ้ายจับ จะต้องให้คอของหุ่นอยู่ทางด้านซ้ายมือของแขนซ้าย มันถึงจะจับสายได้ถึง (ถ้าคอหุ่นอยู่ทางขวามือของแขนซ้าย จะติดคอจับไปไม่ถึงสาย)- อุเกะจะโยนโทริหลังจากจับสายเพื่อพลิกทำเท็ปโปไคเอชิ โทริแก้ทางด้วยการพลิกเอาขาซ้ายวางลงพื้น (เหมือนการแก้เกมส์ในรูปแบบการหนีที่1)
ครบสามแล้ว การล๊อคสมบูรณ์จนหนีไม่ได้ก็ใช้มือตบยอมที่ตัวหุ่น แล้วทั้งคู่ก็ประคองกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมที่เริ่มต้น เข้าเคซะยังไงทำย้อนกลับออกมาจนมาอยู่ท่าเคียวชิในระยะชิกามะ
② คาตะคาตาเมะ- จากระยะชิกามะไม่ต้องถอยออกมาที่โทมะ ต่อท่าคาตะคาตาเมะได้เลย แต่อย่าลืมว่าทุกท่าที่เข้าจากระยะชิกามะจะต้องเขยิบเข้าไปใกล้ตัวหุ่นอีกครี่งก้าวเสมอ- หงายมือขวาขึ้น คว่ำมือซ้ายลง ใช้สองมือจับแขนขวาอุเกะดันไปที่หน้า แล้วใส่ท่าคาตะคาตาเมะ- คาตะคาตาเมะ เข่าขวาจิ้มด้านข้างชองอุเกะ ส่วนขาซ้ายยืดออกไป
หนี1 อุเกะกำมือขวาแล้วเอามือซ้ายมาช่วยดันเพื่อตีศอกขวาสร้างช่องว่างระหว่างอุเกะกับโทริ- อันนี้แค่อุเกะพยายามสร้างช่องก่อน โทริก็ออกแรงต้านกลับไปเท่านั้นเอง
หนี2 อุเกะสร้างช่องได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วทำเอบิเพื่อสอดขาเข้าไปใต้ตัวโทริ (เหมือนกับท่าแรก หนีแบบที่สอง)- โทริไม่ให้สอด ทำโคชิคิริดันขาหรือขวางขาอุเกะที่จะสอดออกไป
หนี3 อุเกะพยายามตีลังกาหมุนไปทางไหล่ซ้าย ถ้าตีสำเร็จนอกจากหนีได้ยังกดโอไซโกมิคืนได้ด้วย- โทริไม่ให้ม้วนหลังหมุนตัวข้ามไหล่ซ้าย พลิกขาจากโคชิคิริกลับมาแล้วดึงอุเกะลงตาในทิศทางตรงข้ามกับไหล่ซ้ายของอุเกะ
ครบสามแบบหนีไม่ได้ตบยอม แล้วทำย้อนกลับจนกระทั่งอยู่ในท่าเคียวชิระยะชิกามะ จากนั้นทำชิกโก้ถอยหลังกลับสองก้าวไปอยู่ระยะโทมะ ลุกขึ้นยืนแล้วเดินไปด้านหัวของอุเกะ ไปทำเคียวชิที่ระยะโทมะ ขยับเช้าไประยะชิกามะ เตรียมสำหรับท่าลำตัวต่อไป ท่าคามิชิโฮ
③ คามิชิโฮ- เอามือสองข้างวางคว่ำลาดกับพื้นไหลผ่านทางด้านใต้ของไหล่อุเกะไปจับสายรัดที่เอวทั้งสองข้างของอุเกะ ช่วงสอดมือเข้าไปนิ้วเท้ายังจิกพื้นอยู่ สอดได้ขยับตัวเข้าไปชิดหัวของอุเกะ (เหมือนเข่าไปคุมคอของอุเกะ) ตรงนี้ค่อยวางนิ้วเท้าลงไม่จิกพื้น พร้อมกับหันหน้าแนบกับตัวอุเกะ เป็นการให้สัญญาณ
หนี1 อุเกะโยกตัวไปซ้ายขวาซ้าย ประมาณสามโยกกำลังดี (หรือจะขวาซ้ายขวาก็ได้) - ถ้าโยกได้ตรงจังหวะกับแรง จะพลิกหุ่นขึ้นมาได้ โทริไม่ให้เกิดอาการตรงนั้น ช่วงโยกไปมา โทริประคองสมดุลย์ด้วยขากับเข่า
หนี2 โยกไม่หลุด แต่เกิดช่องว่างบริเวณท้องระหว่างอุเกะกับโทริ ช่องตรงนั้นสอดแขนซ้ายเข้าไป เพื่อที่จะหมุนตัวพลิกเอาแขนขวาออกมา ท่าก็จะหลุด- โทริไม่ให้สอดได้ ดึงดันให้ระยะช่องว่างตรงนั้นแคบลง
หนี3 ระยะแคบลงแต่ตัวอุเกะกับโทริบนล่างเริ่มคลายออก ทางหนีคือเกี๋ยกกุเอบิ ดันไหล่โทริออกทางด้านล่าง สร้างระยะให้มากขึ้น เพื่อที่จะม้วนตัวเอาขาเข้าไปสอดใต้ท้องอุเกะ ตีลังกากลับขึ้นมา- ระยะกว้างขึ้น อุเกะลองตีลังกาขึ้นมาดู โทริดันน้ำหนักใช้หัวชนลำตัวอุเกะ พร้อมกับเทน้ำหนักกดลงไป ตรงนี้ขาโทริสองข้างแยกกว้างออกเอาฝ่าเท้าลงพื้นทั้งสองข้าง แต่ตูดไม่โด่ง
หนีไม่ได้ตบยอม ทำย้อนกลับ ท่าที่สี่จะเข้าจากด้านข้าง ยืน เดิน ไปอยู่ท่าเคียวชิในตำแหน่งชิกามะด้านข้าง
④ โยโกชิโฮ-มือซ้ายหงายขึ้น มือขวาคว่ำลง จับแขนขวาหุ่นออกมาวางด้านข้าง แล้วเอาเข่าซ้ายอัดเข้ารักแร้เพื่อคอนโทรลแขนขวาหุ่น (ท่าตรงนี้ใช้กับอีกหลายๆท่า ทั้งในหมวดของชิเมะกับคันเซ็ตสึ)- มือซ้ายเอานิ้วโป้งจับสายรัดด้านซ้ายของอุเกะ สร้างช่องว่างแล้วเอาแขนขวาลอดผ่านขาซ้ายอุเกะ เอานิ้วมือห้านิ้วจัลสายรัดด้านซ้ายมือของอุเกะ (ถ้าไม่เอานิ้วโป้งมือซ้ายไปสร้างช่องตรงสายรัด นิ้วมือขวาจะเข้าไปจับทั้งหมดลำบาก)- จับสายได้มือซ้ายไปคล้องคอ เข่าขวาจิ้มเอวอุเกะเอาไว้ อุเกะหันหน้าไปทางซ้าย (หันไปทางหัวของอุเกะ)
หนี1 อุเกะเอาสันมือข้างซ้ายดันคอ เพื่อจะเอาขาซ้ายมาดันคอโทริ- โทริเอาหัวแนบตัวหุ่นเอาไว้แน่นๆ
หนี2 ขาซ้ายหลังเข่าของอุเกะดันคอไม่ได้ ก็ทำเอบิ (เหมือนท่าเคซะหนีสองกับท่าคาตะหนีสอง)- โทริตามสไตล์ ทำโคชิคิริ
หนี3 อุเกะจับสายโยนเท็ปโปไคเอชิ (เหมือนเคซะหนีสาม)- โทริพลิกขา ตามแบบเคซะหนีสาม
ตบยอม
⑤ คุสุเรคามิชิโฮ- ท่านี้เหมือนคามิชิโฮ ไปตั้งท่าทางหัวอุเกะตำแหน่งชิกามะ- เขยิบเข้าไปนิดนึง แล้วสไลต์เอียงขวาไปอยู่บริเวณเฉียงๆทางไหล่ขวาของหุ่น- มือซ้ายหงายมือขวาคว่ำ จับแขนอุเกะออกมา โทริเอาแขนขวาพันแขนขวาอุเกะให้มือขวาสี่นิ้วไปจับคอเสื้ออุเกะด้านหลัง- มือซ้ายล้วงไปจับสายอุเกะ แล้วโทริหันหน้าไปทางซ้ายมือ
หนี1 อุเกะเอาแขนซ้ายดันช่วงคอโทริ เพื่อสร้างช่องว่างขึ้นมา แล้วจะเอาแขนซ้ายเข้าไปในช่องเพื่อพลิกเอาแขนขวาหมุนออกมา- โทริขยับตามให้ช่องวางเกิดน้อยที่สุด
หนี2 อุเกะทำคล้ายๆเอบิ (ไม่เหมือนกับเคซะหนีสอง หรือโยโกชิโฮหนีสอง) คราวนี้พยายามสอดขาซ้ายเข้ามาในช่องว่างตรงนั้น ถ้าสอดได้จะพลิกหมุนเอาตัวออกมาได้- โทริพลิกสะโพกขยับตัวไปเป็นวงกลมให้ขาซ้ายอุเกะเข้ามาไม่ถึงตัว
หนี3 อุเกะจับสายพยายามโยนเป็นเท็ปโปไคเอชิ- โทริตามเดิม พลิกตัวเอาขาซ้ายลงพื้น
ตบยอม กลับมากันในตำแหน่งเดิม มีจุดสำคัญคือตอนเราเขยิบเข้ามันมีสองจังหวะคือเขยิบนิดนึงในทางตรงแล้วฉีกออกไปทางเฉียงขวาอีกทีนึง ขากลับจากตำแหน่งเฉียงขวา เราถอยกลับมาทำเคียวชิในระยะชิกามะโดยการถอยเพียงครั้งเดียว
จบเซ็ตโอไซโกมิ โทริถอยชิกโก้สองก้าวแล้วอยู่ท่าเคียวชิน ขณะเดียวกันอุเกะพลิกตัวกลับมาอยู่ในท่าเคียวชิ จัดเสื้อผ้า
อุเกะกลับลงไปนอน โทริยืนขึ้น เดินมาทำเคียวชิด้านข้าง จากตำแหน่งโทมะเข้าไปตำแหน่งชิกามะ
ชุดที่สอง ชิเมะวาซะชุดสองกับสามวิธีหนีจะไม่ถึงสามหนีแล้ว บางท่ามีสองมีหนึ่ง แล้วก็ตบยอม จะใช้เวลารวดเร็วกว่าท่าชุดโอไซโกมิ เพราะเหตุผลที่ว่า เชือดกับหักมันอันตราย ถ้ามันไปสุดทางจะไปต่อไม่ได้ ต้องรีบตบยอมก่อนสลบก่อนหัก ตรงนี้ก็เป็นแนวคิดที่ว่ายูโดรู้จักลิมิตตนเอง รู้จักประมาณตนว่าแค่ไหนถึงเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของตนเองแล้วคู่ซ้อม
① คาตะจูจิจิเมะการเชือดจูจิจิเมะมีสามแบบคือ นามิจูจิ(คว่ำมือลงสองข้าง) คาตะจูจิ (มือซ้ายหงายสี่นิ้วเข้าคอเสื้อ มือขวาคว่ำนิ้วโป้งนิ้วเดียวเข้าคอเสื้อ) และเกี๋ยกกุจูจิ (สองมือหงาย)- ทำเหมือนจะเข้าท่าโยโกชิโฮ จนถึงตรงเข่าซ้ายยัดเข้าไปที่รักแร้ขวาของอุเกะ- มือซ้ายสี่นิ้วสอดเข้าคอเสื้อ- เอามือขวาปัดแขนขวาอุเกะให้เปิดขึ้น ระหว่างปัดก็ขึ้นคล่อมตัวอุเกะ- มือขวาโทริที่ปัดแขนซ้ายอุเกะ ปัดแล้วลากยาวต่อเป็นวงกลมผ่านหัวอุเกะไป แล้วเอานิ้วโป้งมือขวา เข้าไปที่คอเสื้อฝั่งขวาของหุ่น เป็นท่าคาตะจูจิ- การเชือดท่านี้คือการแหกของศอกสองข้างออก ทิ้งน้ำหนักตัวลงไป โดยให้ดูแนวคางของเราตรงกับแนวหน้าผากของอุเกะ- ขณะเชือด ขาสองข้างแนบลำตัวอุเกะเอาไว้
หนี อุเกะพยายามดันศอกทั้งสองข้างของโทริที่แบะออกให้เข้าหากัน แนวเชือดมันออกข้างพร้อมกับทิ้งน้ำหนักลง ถ้าอุเกะพยายามดันไม่ให้ออกข้างก็จะหนีได้ แต่อย่างที่บอกโทริทิ้งน้ำหนักตัวลงมาด้วย เชือดยังดำเนินต่อไป สุดทนก็ตบยอมไปที่หลังของโทริ
อีกสามท่าถัดไปเป็นการเข้าจากทางด้านหัวของอุเกะ เดินไปทำเคียวชิในตำแหน่งชิกามะรอไว้เลย ช่วงเริ่มยืนขึ้นเดิน อุเกะซิทอัพขึ้นมานั่ง ขาแบะออกสองข้าง รอไว้
② ฮาดากะจิเมะ- จากตำแหน่งชิกามะ เขยิบเข้าไปนิดนึง (เข่าขวายังตั้งอยู่)- มือขวาคว่ำลง ขยับไปพร้อมกับมือซ้ายที่หงายขึ้น ไปชิเมะในท่าฮาดากะจิเมะ แก้มขวาโทริกับแก้มซ้ายอุเกะแนบติดกัน (ทำทีไรขนลุกทุกที)- ดึงลงหลังเล็กน้อย เข่าของโทริที่ตั้งไม่เข้าไปยันหลังของอุเกะ
หนี อุเกะพยายามใช้สองมือช่วยกันดึงแขนขวาของโทริ พร้อมๆกับการปิดคางลงมา ทำไม่สำเร็จใช้ขาขวาตบยอม
ถอยเล็กน้อยไปตำแหน่งชิกามัแล้วเข้ามาใหม่
③ โอคุริเอริจิเมะ- แขนซ้ายสอดผ่านรักแร้ซ้ายของอุเกะ ไปจับคอเสื้อซ้ายของอุเกะ- มือขวา (ไม่ผ่านรักแร้ขวาของอุเกะ) เอานิ้วโป้งเข้าไปให้ลึกทางคอด้านซ้ายของอุเกะ- เข้าแล้ว มือซ้ายไปเข้าคอเสื้อฝั่งขวาของอุเกะ- ช่วงเชือดดึงลงหลังเล็กน้อย แก้มขวาโทริกับแก้มซ้ายอุเกะแนบติดกัน เชือดอันนี้เข่าขวาโทริยันหลังอุเกะด้วย พร้อมกับใช้ช่วงไหล่กดที่ท้ายทอยของอุเกะ ให้อุเกะก้มลง
หนี อุเกะพยายามใช้สองมือช่วยกันดึงแขนขวาของโทริ พร้อมๆกับการปิดคางลงมา ทำไม่สำเร็จใช้ขาขวาตบยอม (เหมือนฮาดากะจิเมะ)
④ คาตะฮะจิเมะ- เข้าเหมือนกับโอคุริเอริจิเมะ จนถึงตอนที่นิ้วโป้งขวาเข้าซอกคอซ้ายของอุเกะ- แขนซ้ายโทริดันแขนซ้ายอุเกะยกขึ้น หมุนเอามือซ้ายไปสับท้ายทอย แต่ไม่สับให้ลอดผ่านลงบริเวณช่องแขนขวา- ช่วงที่เชือด ท่านี้จะบิดตัวลงไปทางด้านขวาเล็กน้อย
หนี อุเกะเอามือขวาไปจับข้อมือซ้ายดึงกลับลงมา ดึงไม่ได้ ตบยอมด้วยขาขวา
⑤ เกี๋ยกกุจูจิจิเมะ- เข้าเหมือนท่าคาตะจูจิ จนถึงคล่อมตัว แต่คราวนี้แขนไม่วนอ้อมหัวอุเกะแล้ว ให้เสียบเข้ามาตรงๆ โดยสี่นิ้วเข้าไปด้านในคอเสื้อฝั่งขวาของหุ่น- แนวเชือดท่านี้ไม่เหมือนกับท่าคาตะจูจิ เป็นการเชือดบิดข้อมือของโทริให้ถูกัน
หนี วิธีหนีต่างกับคาตะจูจิ เพราะการเชือดเป็นการใช้ข้อมือบิดหมุนกันไว้ อุเกะใช้แขนซ้ายดันศอกขวาโทริขึ้น ในขณะที่แขนขวาดันศอกซ้ายโทริลง- ดันเยอะไม่หน่อย โทริล้มลงทางด้านขวามือของอุเกะ ช่วงล้มลงมา โทริเอาขาสองข้างกอดตัวอุเกะเอาไว้ แล้วเชือดต่อ- ตามปกติที่ล้มกันลงมา อุเกะซีกขวากับโทริซีกซ้ายติดทับกันอยู่ แต่โทริยังบดเชือดต่อด้วยการบิดข้อมือที่แขนขวาต่อได้ ไม่ได้ตบยอม
กลับตำแหน่งแต่งตัว เสร็จแล้วอุเกะนอนลง โทริมาเริ่มที่ด้านข้าง
ชุดที่สาม คันเซ็ตสึวาซะ① อุเดะการามิ- เข้าเหมือนกับจะเข้าโยโกชิโฮ เปิดแขนขวาอุเกะออกมา- ก้มลงเป็นการให้สัญญาณ- ช่วงที่โทริก้ม ทันที มือซ้ายอุเกะโผล่ขึ้นมาเพื่อที่จะจับคอเสื้อโทริทางด้านขวา- โทริไม่ให้จับ พลิกมือซ้าย (ให้นิ้วโป้งมือซ้ายคว่ำลง) จับแขนซ้ายอุเกะดันลงไป พร้อมๆกับการใส่ อุเดะการามิ- อย่าลืมคุมอุเกะด้วยการเอาลำตัวทับลำตัว ช่วงที่โทริหักแขนอุเกะ มือซ้ายโทริทำท่าบิดมอเตอร์ไซค์ แขนขวาดันยกขึ้นเล็กน้อยหมดทางหนี ตบยอมด้วยมือ
② อุเดะฮิชิกิจูจิกาตาเมะ- กลับมาเริ่มต้นท่ากันที่เคียวชิตำแหน่งชิกามะ เขยิบเข้าไปนิด โทริก้มหน้าลงให้สัญญาณ- อุเกะพุ่งแขนขวาขึ้นมา จะจับคอเสื้อด้านซ้ายของโทริ- โทริเอามือขวามาจับข้อมือขวาของอุเกะ (ให้ฝ่ามือขวาโทริหันเข้าหาตัวโทริเอง) พร้อมๆกับเอามือซ้ายมาจับต่อด้านล่างของมือขวา- ใช้สองมือดึงขึ้น โทริใส่แข้งขวาเข้าชิดกับหุ่นบริเวณติดรักแร้ลงมานิดๆใกล้กับสีข้าง ขาซ้ายหมุนวนกดทับด้านบนตัวอุเกะ- บีบขาสองข้างให้แคบเข้า ดึงแขนหุ่นแล้วดันลงใช้หน้าท้องดันขึ้นเล็กน้อย (จูจินิ้วโป้งอุเกะชี้ขึ้นด้านบน เรียนไปเมื่อวานนี้)
หนี อุเกะพยายามดึงแขนให้งอกลับเข้ามา พร้อมกับเบี่ยงทางจากตำแหน่งจูจิ (ตัวอุเกะโทริตัดกันเป็นมุมฉาก) ให้เป็นเส้นตรงเพื่อที่จะพลิกตัวหลบออกไป แต่โทริคุมสมบูรณ์ ก็ตบยอม
③ อุเดะฮิชิกิฮุเดะกาตาเมะ- เหมือนโยโกชิโฮ จนถึงวางแขนขวาอุเกะออกไป- ก้มลงมากกว่าท่าแรก อุเกะพุ่งแขนซ้ายขึ้นมา หมายจะจับลึกไปด้านหลังคอเสื้อทางฝั่งขวามือของโทริ- โทริใช้คอกับไหล่ล๊อคมือซ้ายอุเกะไว้ จังหวะนั้นเอามือซ้ายทับมือขวาบริเวณข้อศอกซ้ายของอุเกะ ใช้เข่าขวากดลำตัวอุเกะให้ไม่ขยับตามการหมุนของการหักข้อศอก- ท่านี้ไม่ได้ใช้แรงมือในการหัก ใช้แรงส่งจากลำตัวบิดไปทางซ้าย พร้อมกับคุมไม่ให้หุ่นหมุนตามไป
จบสามท่าที่เข้าจากขึ้น ยืนขึ้นเดินไปทางหัว พร้อมๆกับอุเกะพลิกตัวขึ้นมา ทั้งคู่อยู่ในท่าเคียวชิ โทริทำชิกโก้ขยับเข้ามาสองก้าว จากนั้นทั้งคู่ขยับกันคนละนิดปรับระยะ
④ อุเดะฮิชิกิฮิสะกาตาเมะ- จับขวาทั้งคู่- โทริใช้แขนซ้าย หมุนลงล่างเข้าใน ลักษณะทวนเข็มนาฬิกา จับแขนขวาอุเกะ โดยฝ่ามือซ้ายกดแถวๆข้อศอก (กดเลยข้อศอกขึ้นไปด้านบนของแขนนิดๆ)- ใช้ฝ่าเท้าขวาถีบไปบริเวณใกล้ๆขาหนีบอุเกะด้านซ้าย- อุเกะล้มตัวลง โทริยกฝ่าเท้าซ้ายไปแนบติดบริเวณเอวด้านขวาของอุเกะ- โทริดันเข่าซ้ายมาชนมือซ้ายของตัวเอง กดเข่าผ่านมือซ้ายลงไปจะเจอศอกของอุเกะ- อุเกะตบยอมลงบนเบาะด้วยมือซ้าย
กลับมาในท่าเคียวชิแล้วยืนขึ้นในท่าชิเซ็นฮอนไต
⑤ อาชิการามิ- เข้าจับกันเหมือนนาเกะโนะคาตะในท่าอุจิมาตะ- โทริขยับขาซ้ายเข้ามา ส่งขาขวาขี้นทำท่าโทโมนาเกะ- โทริล้มลง ยังพยายามที่จะดันให้อุเกะล้มลง อุเกะไม่ล้มออกแรงดึงต้าน ทำให้โทริขยับลึกเข้าไปในหว่างขาของอุเกะ- โทริเอาขาซ้ายไปพันขาขวา พร้อมๆกับเอาขาขวาถีบไปบริเวณหัวเข่าซ้ายของอุเกะ ถีบให้ล้มคะมำมาด้านหน้า- ขาซ้ายโทริที่ทำอาชิการามิ พยายามเลื้อยให้นิ้วเข้าไปอยู่ข้อพับหลังเข่าทางด้านขาขวาของตนเอง โทริกดหน้าตักขาซ้ายเข้ามาให้แคบลง- อุเกะตบยอม
ต่างคนต่างลุกขึ้นมาอยู่ในท่าเคียวชิ โดยอุเกะจะถอยก่อน ถอยหลังทำชิกโก้1ก้าว ส่วนโทริเมื่ออุเกะถอยเสร็จแล้วค่อยถอยกลับสองก้าว
จัดเสื้อผ้า เสร็จแล้วยืนขึ้น
ทั้งคู่ถอยด้วยขาขวาก้าวนึง ถอยแล้วส้นเท้าติดกัน (ด้านหน้าไม่ติด) คุกเข่าเคารพกันเอง ยืนขึ้นหันหน้าเคารพโชเม็ง
หันกลับมาถอยสามก้าว โดยถอยขาขวาก่อน จะออกนอกเบาะพอดี เคารพกันอีกครั้ง เป็นอันจบพิธิกรรม
เปิดวาร์ปไปศึกษาต่อในเว็ปของโคโดกัง สำหรับท่านที่สนใจ
โดยส่วนตัวยังไม่เคยกดเข้าไปดูตรงนี้ เพราะคิดว่าคาตะคือการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ สำหรับคาตาเมะโนะคาตะน่าจะเคยปฏิบัติมาไม่ต่ำกว่าสิบครั้งแล้ว และเนื้อหาในยูทูปกับการเรียนกับเซนเซตัวเป็นๆ แตกต่างกันมาก หรือการเรียนกับเซนเซท่านนึงแล้วไปเรียนกับอีกท่านนึง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆอาจจะแตกต่างกันบ้าง แรกๆก็จำจุดลำบาก จนกระทั่งต้องสอบทำคาตาเมะโนะคาตะ มันถึงจะมีจุดเร่งให้ฝึกซ้อมและเรียนรู้ด้วยร่างกาย
เนื้อหาวันนี้ พอแค่นี้ก่อน ส่วนคิเมะโนะคาตะ ช่างมัน ตัดทิ้ง ยังไม่ได้เข้าใจรายละเอียดถึงขนาดที่จะเรียบเรียงได้ วันนี้ก็เอาแค่คาตาเมะโนะคาตะไปเต็มๆก่อน ใครจะสอบดั้งสาม อ่านหรือดูยูทูปไม่เพียงพอ ต้องอ่านต้องดูแล้วเอาไปปฏิบัติ หรือถ้าจะเข้าใจง่ายขึ้น ต้องรู้ว่าท่าแต่ละท่าพื้นฐานการหนี หนียังไงแล้วจะต้องกันหนีได้อย่างไร
วันนี้ซ้อมไม่หนักแต่มีความรู้สึกเพลียและล้า อาจเป็นเพราะร่างกายไม่หนักแต่สมองคิดตามในการเรียบเรียงจัดหมวดหมู่คาตาเมะโนะคาตะมากจนเกินไป



Create Date : 13 ธันวาคม 2560
Last Update : 13 ธันวาคม 2560 9:49:52 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ablaze357.BlogGang.com

ablaze357
Location :
Chiba  Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]

บทความทั้งหมด