|
รายงาน: คดีล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้าหินกรูด บทเรียนจาก “จินตนา” ใบรับประกันการต่อสู้เพื่อชุมชน ?
ที่มา ประชาไท, 10 ตุลาคม 2554
ในวาระที่ พรุ่งนี้ ! จะมีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่จิตนตา แก้วขาว แห่งบ่อนอก-บ้านกรูด ถูกฟ้องฐานล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้า ศาลชั้นต้นยกฟ้องอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 6 เดือน เธอคิดอย่างไร ชาวบ้านคิดอย่างไร นักกฎหมายเห็นอย่างไร กระบวนการยุติธรรมเผชิญความท้าทายแค่ไหน
ผ่านมากว่า 10 ปี กับการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด ที่เริ่มต้นจากความหวั่นวิตกต่อมลพิษที่จะมาพร้อมกับโรงไฟฟ้าของผู้คนในชุมชนชาวเล จนกระทั่งโครงการฯ ในพื้นที่ต้องล้มเลิกไป นำมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันครั้งสำคัญของผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ปราศจากการรับรู้หรือการมีส่วนร่วมจากชุมชน เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับอีกต่อไป
สำหรับ จินตนา แก้วขาว ในฐานะแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ คดีความกว่า 40 คดีที่ถูกกลุ่มทุนฟ้องร้องคือสิ่งที่เธอต้องเผชิญ นับจากการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.บ้านกรูด ตั้งแต่ปี 2544
“เจ้าแม่นักเคลื่อนไหว” ที่มีคดีติดตัวเป็นเครื่องหมายรับประกัน จึงกลายเป็นคำนิยาม “จินตนา” แม้เจ้าตัวไม่ได้ยินดีเท่าไรนัก
ล่าสุด คดีล้มโต๊ะจีน ของ บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด เจ้าของ “โครงการไฟฟ้าถ่านหิน หินกรูด” ขนาด 1,400 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะมีคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ณ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือหนึ่งในคดีความของจินตนาที่กำลังจะรู้ผลของการต่อสู้ในเร็ววัน
“วันนี้สำหรับพี่ พี่ต้องเตรียมสภาพพี่น้องเพื่อรองรับให้ได้ว่า หากเกิดอะไรขึ้นเราต้องรับมันได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถามว่าเตรียมอะไร คือเตรียมพี่น้องที่จะยืนหยัดสู้ต่อ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าทุนจะคิดว่าใช้ข้อกฎหมาย หรือใช้การกุดหัวก็ไม่สามารถทำให้ภาคประชาชนมันล้ม นี่คือสิ่งที่พี่เตรียมมากกว่าเรื่องอื่น” จินตนา กล่าว
ในฐานะชาวบ้านนักเคลื่อนไหว จินตนามองว่า การใช้กฎหมายกับชาวบ้านไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นวิธีที่กลุ่มทุนเลือกที่จะใช้และใช้มาตลอด ซึ่งก็ทำสำเร็จแล้วในบางจุด เพราะกลุ่มทุนเห็นว่าชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อสู้ก็มีพวกพ้อง การใช้กฎหมายมาจัดการนั้นเป็นการจัดการที่ชอบธรรมมากกว่าการยิงทิ้ง ถ้ายิงทิ้งมันเสี่ยงกับการที่จะเป็นเรื่องราวใหญ่โต และจุดขัดแย้งยิ่งถูกโฟกัส
สำหรับบทเรียนที่ได้รับ จินตนาบอกว่า ในการต่อสู้เราต้องมองทั้งขบวนการเอาไว้ล่วงหน้าว่าแต่ละก้าวนั้นสุดท้ายของปลายทางมันจะเกิดอะไร เมื่อก่อนชาวบ้านคิดแค่จบโครงการ แต่ตอนนี้ชาวบ้านต้องคิดต่อในรายละเอียดว่า เมื่อหยุดโรงงานแล้วต้องเจออะไรต่อไป
“เราคิดว่าวันนี้มันจะได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยๆ แนวทางการต่อสู้มันสามารถหยุดโรงงานได้ มันสามารถทำให้คนเข้ามาดูเรื่องความผิดเรื่องที่ดิน เรื่องการทุจริต เรื่องการเข้ามาของโครงการ เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรมากขึ้น โดยใช้กรอบของกฎหมาย และกรอบของกฎหมายนั้นมันต้องมองในระยะยาวต่อไปอีกว่ามันเอื้อกับใครในระยะยาว” เจ้าแม่นักเคลื่อนไหวกล่าว
ขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูด ก็ยกตัวอย่างเหรียญสองด้านของการใช้กฎหมายว่า ปี 2548 เธอถูกสั่งจากศาลอุทธรณ์ว่าเป็นผู้บุกรุกและอาจถูกสั่งให้จำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่ในปี 2552 มีกรณีการบุกรุกที่ดินของบริษัทโรงไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดให้โรงไฟฟ้าต้องคืนที่ดินให้กับรัฐ 6 ไร่ จะเห็นได้ชัดว่าในขณะที่เกิดปัญหาเรื่องคดีอาญากับชาวบ้าน แต่ในอีกซีกหนึ่งกลุ่มทุนคุณต้องคืนที่ดิน
“ไม่ว่าวันที่ 11 ต.ค.ผลจะออกมาอย่างไร มันเป็นความชอบธรรม อย่างที่ชาวบ้านเขาคิดอยากปลอบใจเรา เขาบอกว่าไม่เป็นไร จำคุก 6 เดือน แลกโครงการ 6 หมื่นล้าน เท่ากับจำคุกเดือนละ 1 หมื่นล้าน อันนี้ถ้าถามชาวบ้านเนี่ยคุ้ม แต่ถามว่าเราอยากให้เกิดไหม เราก็ไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งหนึ่ง เราก็บอกว่านี่คือขบวนที่ชาวบ้านต้องภาคภูมิใจว่า วันนี้ชาวบ้านได้ทำจนสุด จนวันที่เราไม่ต้องเสียค่าโง่ 340,000 ล้าน วันนี้เราไม่ต้องสูญเสียที่ดินสาธารณะให้กับทุนฟรีๆ วันนี้เราไม่เสียธรรมชาติ วันนี้เรารักษาสิทธิชุมชน เราคืนความเป็นบ้านกรูด เราคืนความเป็นคนมาได้ เพราะฉะนั้นวันนี้มันจะแลกบ้าง มันก็จำเป็น” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูดให้ความเห็น
สิทธิตามรัฐธรรมนูญ VS ความผิดตามกฎหมายอาญา
คดีความที่จะถูกพิจารณาโดยศาลสูงสุดในวันที่ 11 ต.ค.นี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบุกเข้าไปในบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 13 ม.ค.44 และใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการฯ ส่งผลให้จินตนาถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุก และต่อมาทางอัยการก็ได้ฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล
ในมุมมองของชาวบ้าน การจัดงานเลี้ยงในวันนั้นคือการสร้างภาพของความจริงที่ถูกบิดเบือนโดยบริษัทที่บอกว่า “สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้” และอาจส่งผลให้กลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจร่วมลงทุนโครงการนี้ พวกเขาเชื่อว่า หากปล่อยให้เกิดงานเลี้ยงสนุกสนาน มีดนตรี อาหาร ตลกคาเฟ่ เพียง 3 ชั่วโมง ก็อาจทำลายอนาคตของคนบ้านกรูดไปตลอด
จินตนา ให้ความเห็นกับคดีนี้ไว้ว่า ในขณะที่กลุ่มทุนพยายามใช้กฎหมายอาญาจัดการชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็พยายามแย้งโดยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันว่าความจริงแล้วสังคมไทยจะเลือกอย่างไร ระหว่างชาวบ้านใช้สิทธิที่จะต่อสู้เพื่อลดการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในแบบเมื่อก่อน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญมันใช้ไม่ได้ ให้ใช้กฎหมายอาญา ในที่สุดมันนำไปสู่ความรุนแรงหรือเปล่า
คดีล้มโต๊ะจีน ‘มาตรฐานหลากหลาย’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “อาชญากรหรือนักสู้เพื่อชุมชน?” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 แสดงความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีของจินตนา
สมชาย กล่าวว่า ความน่าสนใจของคดีความนี้คือ “คำพิพากษาของศาล” โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กลับมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอาญา จากที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย.46 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว
ประเด็นที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชี้แจงคือ ศาลชั้นต้น มีการตัดสินโดยอ้างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิชุมชน ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต
“ไม่ใช่ว่าตัดสินว่าคุณจินตนาไม่ผิด แต่ในแง่หนึ่งผมคิดว่าศาลเริ่มต้นด้วยการพูดถึงรัฐธรรมนูญก่อน เจตจำนงของรัฐธรรมนูญคืออะไร เมื่อชาวบ้านอ้างว่าใช้สิทธิตามนี้ก็ต้องพิจารณาภายใต้ความมุ่งหมายนี้”
ในส่วนของศาลอุทธรณ์ ไม่มีการพูดถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และพิพากษาให้จำเลยมีความผิด โดยวิเคราะห์ว่าพยานโจทก์ 4 คน ซึ่งเบิกความในศาลแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวน อาจเนื่องจากพยานโจทย์เหล่านี้ “เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลย” หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นผิด
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานแล้ว เห็นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานโจทก์อื่นๆ จึงเชื่อว่า “พยานทั้ง 4 คนให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง ยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นศาล”
คำถามสำหรับสมชาย คือ ถ้าเราเชื่อคำให้การในชั้นตำรวจมากกว่าคำให้การในชั้นศาล แล้วเราจะมีศาลไว้เพื่ออะไร?
นอกจากนั้น ในกรณีที่ความเห็นต่อพยานโจทก์ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังแตกต่างกัน เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่าพยานบางคนมีคดีกับจินตนาและยังมีคดีความยังคาอยู่ในศาล แต่ศาลอุทธรณ์บอกว่าพยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุสงสัยว่าจะปรักปรำใส่ร้ายจำเลย
คำถามในฐานะนักเรียนกฎหมายคือ “มาตรฐานอยู่ที่ไหน?” หากพยานน่าสงสัยไม่น่าเชื่อถือ ทำไมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่มองไปในทางเดียวกัน แต่กลับมองตางกันจากขาวเป็นดำ ทั้งที่พยานเป็นพยานชุดเดียวกัน สำนวน คำให้ปากคำเป็นชุดเดียวกัน ในส่วนนี้ก็ให้เกิดข้อสงสัยต่อความรู้ในวิชากฎหมาย เพราะทำให้คิดได้ว่า “คำตัดสิน” นั้นขึ้นอยู่กับ “ความเห็น” ของผู้พิพากษาล้วนๆ
“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่อง 2 มาตรฐาน แต่เป็นเรื่องความมีหรือไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้ความเห็น ทั้งยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ คดีที่ผ่านมานั้น เรากำลังเผชิญอยู่กับกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา นับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และชั้นศาล
‘ไม่มีพระพุทธเจ้าในศาล’ ข้อเสนอตรวจสอบศาล
สมชาย แสดงความเห็นต่อมาว่า สิ่งที่สำคัญที่ต้องผลักดันภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไม่หลุดลอยไปจากสังคม คือ
1.เสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้ดุลยพินิจของศาลหากอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้การใช้ดุลยพินิจถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่อคำพิพากษาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การด่าศาล แต่ต้องวิจารณ์ได้ ในหลายประเทศศาลต้องเขียนคำพิพากษาอย่างระมัดระวังและใช้เหตุผลอย่างรอบคอบ เพราะรู้ว่าจะถูกวิจารณ์ แต่ในเมืองไทยการวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาล หรือคำพิพากษาของศาลมีน้อยมาก
“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันจะดึงให้คำพิพากษาต้องอยู่ในสังคม ไม่ใช่อยากจะเขียนอะไรก็เขียนไป เพราะใครก็ด่าอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ไอ้แบบนั้นแหละที่ทำให้คำพิพากษามันลอยไป” อาจารย์คณะนิติศาสตร์
2.ต้องทำให้ศาลสัมพันธ์กับประชาชน เพราะปัจจุบันศาลยุติธรรมไทยไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนเลย อีกทั้งไม่มีกระบวนการใดๆ ไปควบคุมตรวจสอบ ถือเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระมาก ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกา ศาลสูงสุดมาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ นับเป็นการอยู่ใต้การกำกับของสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกตั้งประธานศาลฎีกา แต่มีวิธีการมากมาย โดยส่วนตัวมีความเชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ใช้อำนาจแล้วลอยออกจากสังคม ไม่ถูกตรวจสอบ ก็พร้อมจะเหลิงได้
“ทุกคนพร้อมที่จะเหลิงได้ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่ในศาล คนที่อยู่ในศาลก็คือมนุษย์ธรรมดา เมื่อใดที่การใช้อำนาจของเราไม่ถูกตรวจสอบ ผมคิดว่าคนทุกคนพร้อมที่จะเหลิงได้” สมชายกล่าว
‘ไม้ขีด’ ก้านสุดท้าย ปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อคนตัวเล็ก
สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาราว 10 ปี ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติจะเข้มข้น ขบวนการชาวบ้านค่อนข้างเข้มแข็งและมีเสียงดัง แต่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เสียงชาวบ้านได้หายไป อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติเริ่มเบาบางลง น่าจะเป็นโอกาสที่นอกจากการสู้ในแต่ละคดีแล้ว ขบวนการชาวบ้านอาจต้องเริ่มกลับมาพูดถึงเรื่องการทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นธรรมมากขึ้นกับคนตัวเล็กๆ ในสังคม โดยเชื่อมร้อยให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ถูกละเมิดโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจากตัวกฎหมายและจากกระบวนการยุติธรรม และร่วมผลักดันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เป็นวาระของขบวนการคนจน
“ผมไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถปฏิรูปได้จากภายในตนเอง ย้ำผมไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถปฏิรูปได้จากภายในตนเอง ผมคิดว่าในการสร้างแรงกดดันด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพของการวิพากษ์วิจารณ์นี่แหละที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยน” สมชายกล่าว
สำหรับคดีของจินตนา สมชายกล่าวว่า หากศาลฎีกาตัดสินให้ยกฟ้องสิ่งที่เกิดขึ้นเราก็จะคิดว่าศาลยังพอพึ่งพาได้ ซึ่งสำหรับชาวบ้านที่บ้านกรูดเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ศาลอาจพอฟังบ้าง แต่กับชาวบ้านในที่อื่นๆ ก็อาจต้องเดือดร้อนต่อไป แต่หากจินตนาติดคุก เขาคิดว่าเครือข่ายขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ในสังคมไทยต้องลุกขึ้นมาพูดอะไรอย่างมากมาย
“ในแง่หนึ่งผมคิดว่าขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ขบวนการคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทย ตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังรอไม้ขีดซักก้านหนึ่งที่จะตกลงไปเพื่อให้มันลุกพรึบขึ้นมา และก่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับคนตัวเล็กๆ หรือคนจนในสังคมไทย ซึ่งในทัศนะ ผมคุณจินตนาคือไม้ขีดที่ดีที่สุด ที่ผมไม่อยากให้ถูกจุด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แสดงความเห็น
Create Date : 11 ตุลาคม 2554 |
Last Update : 11 ตุลาคม 2554 9:40:09 น. |
|
3 comments
|
Counter : 879 Pageviews. |
|
|
|
โดย: Mary IP: 46.161.11.64 วันที่: 1 มีนาคม 2565 เวลา:22:12:48 น. |
|
|
|
| |
|
|
PHILIPS 483513127197 P16LFM00HH OEM ORIGINAL PART