อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
"ครูแจ้ง"เสียชีวิตด้วยหัวโรคใจล้มเหลว

รูดม่านชีวิตบรมครูขับกรับ “ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ” ด้วยหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะที่ภรรยาเตรียมเคลื่อนศพไว้ที่ วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี

(16มิ.ย.) นางบุญนะ คล้ายสีทอง ภรรยา ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2538 สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) เปิดเผยว่า ครูแจ้ง ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะกำลังทำกิจกรรมกายภาพบำบัดจากการเป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งทางคณะแพทย์ด้านโรคหัวใจ ได้วินิจฉัยว่า เกิดจากอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบหัวใจล้มเหลว โดยคณะแพทย์ได้ทำการปั้มหัวใจครูแจ้งอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ร่างกายครูแจ้งไม่ตอบสนอง จึงจากไปอย่างสงบด้วยวัย 74 ปี เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ทั้งนี้ ครูแจ้งได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบด้านขวาเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า จะนำศพครูแจ้งไปบำเพ็ญกุศลยังวัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งจะมีการกำหนดวันสวดพระอภิธรรมกี่วันอีกครั้ง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เนื่องจาก ครูแจ้ง เป็นศิลปินแห่งชาติ อยู่ในความดูแลของสำนักงาน
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทั้งนี้ ตนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบรมครูขับกรับที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประเทศไทยได้สูญเสียปูชนียบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมไปอีกคนหนึ่ง




นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสวช.ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติของครูแจ้ง เพราะถือว่าประเทศไทย ได้สูญเสียศิลปินที่มีความคำคัญของประเทศไทอีก 1 ท่าน อย่างไรก็ตาม สวช.จะเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมศพ พร้อมทั้งมอบเงินค่าจัดพิมพ์หนังสือ 120,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

สำหรับประวัติ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2478 ที่จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนคำแพน และเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา กรมศิลปากร เนื่องจากครูแจ้งเป็นผู้มีความสามารถในการขับเสภาพร้อมขยับกรับ ไพเราะหวานหู จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม" เพราะเสียงดี ขยับกรับได้ยอดเยี่ยมจนไม่มีใครเทียบ เป็นนักขับเสภาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ขับเสภาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถขับบทเสภาเก่า ๆ ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตโดดเด่นจนกระทั่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องขุนช้าง ชุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม


นอกจากนี้ ครูยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาศิลปะการขับกล่อมให้แก่ศิษย์มากมาย จนได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวขับไม้ประกอบซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวาง สมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2520 และได้รับพระราชทานเหรียญ รัตนาภรณ์ในงานพระราชพิธีขึ้นระวาง และสมโภชช้างสำคัญ 3 เชือกที่จ.เพชรบุรี ปี 2521 และได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์) จากสวช. เมื่อปี 2538

----------------
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ครูขับคำหอม เป็นหนึ่ง ในตำนานศิลปินพื้นบ้าน ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากดินแดนนักร้อง ลูกทุ่ง(จ.สุพรรณบุรี)ที่ต้อง ผ่านการหล่อหลอม บ่มเพาะ จิตวิญญาณ ของ การ เห่ ขับ กรับ ร้อง ในท่ามกลาง ศิลปินพื้นถิ่น ที่มีการถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และโดยสายเลือด รายล้อมด้วยสิ่งแวดวงล้อมรอบตัว ที่เต็มไปด้วยบรรดาเหล่าศิลปินพื้นบ้าน มาตั้งแต่เริ่มเกิดลืมตาขึ้นมาดูโลก ก็จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ทุกเช้า

ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2478 ณ บ้านตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 และเป็นบุตรชายคนเดียว ของนาย หวัน และนางเพี้ยน คล้ายสีทอง มีพี่น้อง ท้องเดียวกันทั้งหมด 4คน คือ

1. นางทองหล่อ ขาวเกตุ
2. นางฉลวย คงศิริ
3. นายแจ้ง คล้ายสีทอง
4. นางอร่าม จันทร์หอมกุล


ครอบครัวของ ครูแจ้ง เป็นครอบครัวศิลปินโดยแท้ เนื่องจากคุณตา เป็นนักสวดโบราณ(สวดคฤหัสถ์) บิดาแสดงโขน พากย์โขน และเป็นตลกโขนที่มีชื่อเสียงในคณะโขนวัดดอนกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี มารดาเป็นนักร้องเพลงไทยเดิม และแม่เพลงพื้นบ้านผู้มีน้ำเสียงไพเราะยิ่งคนหนึ่ง ครูแจ้งจึงมีความผูกพันกับเสียงดนตรีไทยอย่างแน่นแฟ้น ด้วยติดตาม บิดา มารดา ไปตามงานต่างๆ เข้ารับการศึกษา อยู่ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนลำแพน ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จนจบชั้น ประถมปีที่ 4 อันเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น


ชีวิตครอบครัว

ครูแจ้งฯ สมรสกับนางสาวบุญนะ โพธิหิรัญ บุตรีของกำนันสนิท โพธิหิรัญ กับนางลำจียก โพธิหิรัญ มี บุตร ธิดา ทั้งสิ้น จำนวน 6 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 4 คน ได้แก่

นางสาวคะนึงนิจ คล้ายสีทอง
นางสาวเพ็ญพรรณ คล้ายสีทอง
นายสาธิต คล้ายสีทอง
นางสาวขณิษฐา คล้ายสีทอง
นายประทีป คล้ายสีทอง
นางสาววัลภา คล้ายสีทอง

ปัจจุบัน ครูแจ้ง อาศัยอยู่บ้านไม้ 2 ชั้น อยู่ที่ 108 หมู่ 12 ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ริมแม่น้ำท่าจีน ที่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้รอบบ้าน และทิวแถวต้นไม้ เขียวครึ้ม ที่ดูเงียบสงบ ตลอดสองฝั่ง แม่น้ำท่าจีนที่ไหลเอื่อย ริมฝั่งของแม่น้ำ เต็มไปด้วยแพลูกบวบที่ชาวบ้าน ทำไว้เลี้ยงผักบุ้ง ผักกระเฉก ที่ชาวบ้านปลูกไว้ขาย และกินเอง ส่วนในแม่น้ำ ก็อุดมไปด้วย ปลา ต่างๆมากมาย ทั้งปลา ชะโด ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาดุก ปลาฉลาด ปลานิล ปลาไน ปลาแรด และปลาที่ขึ้นชื่อ ที่เชื่อว่า มีแต่เฉพาะ ที่อำเภอบางประม้า ก็คือปลาม้า และปลาอื่นๆมากมาย รวมทั้งจระเข้ สองฝั่งของแม่น้ำ มองไปจนสุดลูกหูลูกตาเต็มไปด้วย ต้นไม้ สีเขียวครึ้ม เป็นสายเลือดสายชีวิต ของคนสุพรรณฯ มาตั้งแต่โบราณ ครั้งที่สุพรรณเคยเป็นเมืองหลวง ที่เรียกว่า “เมืองสุพรรณภูมิ”


การใช้ชีวิตตามแบบวิถีชีวิตในชนบท

ชุมชนสมัยสมัยก่อนไม่หนาแน่น บ้านส่วนใหญ่อยู่ห่างๆกัน รอบบ้านเต็มไปด้วย ต้นไม้ใบหญ้า ธรรมชาติยังมี ความอุดมสมบูรณ์ มีการปลูกโสน ชาวย่านนั้น อยู่กันอย่างสงบ เรียบง่าย ย่าจะทำไร่อ้อย ไร่เผือก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว พืช ผัก ผลไม้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องออกไปตลาด เมื่อก่อน สมัยที่ยังอยุ่กันที่สุพรรณฯ ยังไม่ได้ย้ายออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีบ่อปลา 2 บ่อ ปีหนึ่งๆ สามารถวิดบ่อได้ 2 ครั้ง ได้ปลาขายได้เงินเป็นหมื่น สมัยที่ทองยังราคาบาทละ 800

สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยให้คนสนใจด้วย ที่สุพรรณบุรี จะแวดล้อมด้วยเสียงดนตรีไทยตลอดเวลา มีหลายปัจจัยที่จะทำให้คนชอบได้ คือต้องชอบ ต้องรัก มีคนสนับสนุนและมีพรสวรรค์

ตำนานรักของ "ครูแจ้ง”

ไม่ต่างจาก ตำนานรักของชายหนุ่มหญิงสาวหลายๆคู่ในสมัยก่อน ที่ พ่อ แม่ของฝ่ายหญิง จะกีดกันฝ่ายชาย มิยอมให้รักกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ฝ่ายชาย ฐานะความเป็นอยู่ด้อยกว่าฝ่ายหญิง หรือจะเป็นเพราะ ฝ่ายชายไม่เอาถ่าน เอาแต่กินเหล้าเมายา งานการไม่ทำ หรือ ด้วยอื่นใดก็แล้วแต่ สมัยนั้น ถ้า ชาย หญิง รักกันจริง ก็มักจะ แหกม่านประเพณี หอบผ้าหอบผ่อน พากันหนี จน พ่อ แม่ฝ่ายหญิง โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แบกปืนออกมาไล่ยิง สนั่นลั่นทุ่ง และหลังจาก นั้น พอว่าที่พ่อตา แม่ยายหายโกรธ คิดถึงลูกสาวแล้ว ก็จะกลับ มาขอขมาลาโทษ มาให้พ่อ แม่ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย ผูกข้อไม้ข้อมือ ไม่ต่างจาก รายอื่นๆ ตำนานรักของ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ก็เช่นกัน ใช้สูตร “รักกันหนา พาลูกสาวหัวหน้าวงหนี” แล้วกลับมาขอขมา ลาโทษ กำนันสนิท และแม่ลำเจียก และก็กลับมาใช้ชีวิต ครอบครัว เฉกเช่น สามี ภริยา จนลูก 6 คนมาจนถึงทุกวันนี้


คุณบุญนะฯ ภริยา ครูแจ้งฯ เธอ มีมารดาชื่อนางลำเจียก โพธิ์หิรัญ เป็นนักร้องเจ้าของวงฯ เป็นครูสอนในโรงเรียนประชาบาล พ่อเป็นกำนันชื่อ สนิท ชาวบ้านเรียกว่า “กำนันหนิท”ส่วน ครูแจ้ง เป็นเด็กข้างบ้านพ่อเสียตั้งแต่ “ครูแจ้ง”อายุยังไม่ถึงขวบ พ่อของกำนันสนิท ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือ โรงเรียนประชาบาล ได้ขอมาเลี้ยงเพราะเห็นว่า มีแววตั้งแต่เด็ก ตอนอายุประมาณ 7-8 ขวบ อยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ ก็เลยฝากให้ไปอยู่ด้วย ตอนแรกก็ยังไปๆมาๆ ไม่ได้อยู่ประจำ ต่อมาภายหลัง เลยมาอยู่เป็นเด็กในบ้าน ช่วยทำงานทุกอย่าง และก็เรียนเรื่อง การร้อง รำ ทำเพลง ไปด้วย

บรรดาลูกๆ ของ”ครูแจ้ง” ที่พอที่จะมีแววเจริญตามรอยตาม”ครูแจ้ง”ได้ ก็เห็นจะมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่เรียนจบด้าน คีตศิลป์ไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ตอนนี้ทำงานประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารเรือ ในตำแหน่งนักร้องประจำวง ร้องเพลงในแบบ “สุนทราภรณ์” และก็สามารถขับเสภาได้


ครูแจ้งไม่อยากให้ภรรยาเรียน และร้องเสภาเพราะเห็นว่า หน้าที่ภริยาควรจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน คอยดูแล ลูก หลาน ดูแลสามี และ ดูแลกิจการบ้านช่อง จะเหมาะสมกว่า เพราะจะได้ไม่ต้อง ตระเวน ไปมา ปล่อยให้เป็นเรื่องของ “ครูแจ้ง” คนเดียวก็พอ


การเข้ารับรับราชการ

เมื่ออายุ 17 ปี ติดตาม นายสนิท โพธิหิรัญ บุตรเขยของครูแคล้ว เข้าทำงานที่กองยกบัตร สะพานแดง บางซื่อ กรุงเทพมหานคร รับเงินเดือนพอเลี้ยงตัวเองไปได้


เมื่ออายุ 21 ปี ได้เข้ารับราชการทหาร ประจำหน่วยเสนารักษ์

พ.ศ.2508 “ครูแจ้ง เข้าราชราชการ ในตำแหน่ง คีตศิลป์จัตวา หรือตำแหน่ง ขับร้องเพลงไทย แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร

ช่วงที่ครูแจ้งรับราชการใหม่ๆ เงินเดือน 3 พันบาทก็พออยู่ได้ ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากภริยาทำของกินและขายข้าวเหนียวปิ้งตั้งวางแผงขาย แถว "วัดครุใน ตลาดพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่แถวปากน้ำ สมุทรปราการ ขายของ 2 รอบ เช้ากับเย็น ตื่นตี 5 ติดไฟย่างตอนตี 5 ครึ่ง แม่ค้าที่ขายในโรงงานมารับ ของขายก็ห่อมาจากบ้าน นับว่าทำกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว ลูกๆต่างก็ช่วยกัน ช่วงเวลานั้นมีเงินเก็บเป็นแสน มีเงินก็ซื้อทองเก็บไว้ เก็บได้เกือบประมาณ 30 บาททีเดียว ที่เหลือก็เก็บสะสมจนสามารถซื้อที่ดินแปลงที่ปลูกบ้านหลังนี้ได้

ระยะที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม กำลังคึกคะนอง ครูแจ้งชอบเลี้ยงเหล้า เพื่อนฝูงเป็นประจำ จนบางครั้งก็พลอยทำให้เสียงานเสียการ ขาดงานบ่อยๆเริ่มเป็นหนี้เป็นสิน จนเจ้าหนี้มาตามหักเงินเดือนที่กรมศิลป์ ช่วงนี้พี่ต้องไปทำงานและ
กลับบ้านพร้อมกับครูแจ้งทุกวัน

ช่วงชีวิตในขณะที่รับราชการครูแจ้งฯ มีภารกิจที่รัฐบาลได้ส่งไปทำงานเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และบางครั้งก็ได้มีโอกาสเดินทางไปปักกิ่ง ในสมัยที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรม กับประเทศจีน ที่นั่น ได้ไปร้องโขน ร้องละครโชว์

เส้นทางสู่ดนตรีไทยและการร้อง

เมื่อ ครูแจ้งอายุได้ 11 ปี บิดาถึงแก่กรรม นายแคล้ว คล้ายจินดา ครูดนตรีไทย เจ้าของวงดนตรีปี่พาทย์ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำท่าจีน ได้มาขอตัว ครูแจ้ง จากมารดา ให้ไปหัดดนตรีไทยฆ้องวง เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ เด็กชายแจ้งได้เริ่มหัดอย่างจริงจัง โดยบรรเลงเพลงสาธุการและเพลงอื่นๆ และในไม่ช้าก็สามารถออกงานไปพร้อมกับ วงได้ทุกครั้ง

ต่อมา ในวงดนตรีของ ครูแคล้ว ขาดนักร้อง เด็กชายแจ้งจึงมีโอกาสได้เริ่มฝึกหัดขับร้องเพลงกับ ครูเฉลิม คล้ายจินดา ซึ่งเป็นบุตรชายของครูแคล้ว โดยเริ่มจากเพลง 2 ชั้น และเพลงตับราชาธิราช (ตอนสมิงพระรามหนี) จนกระทั่งครูแจ้งขับร้องได้อย่างคล่องแคล่ว และได้เป็นนักร้องวงดนตรีของครูแคล้ว ครูแจ้งได้รู้จักกับ นักดนตรีเอกของบ้านดุริยประณีต คือ นายสืบสุด ดุริยประณีต และ จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ทั้งสองคนนี้มาช่วยงานในวงดนตรีของครูแคล้วอยู่เสมอ และภายหลังได้รับการชักชวนจากนายสืบสุด ดุริยประณีตให้เป็นนักดนตรีวงดุริยประณีตต่อมา

ในช่วงที่ครูแจ้งอยู่วงดนตรีดุริยประณีตนั้น ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคสมัยที่มีการสนับสนุนให้แสดงลิเก โดยเปลี่ยนชื่อเป็น นาฏดนตรี มีการแสดงสดส่งกระจายเสียงตามวิทยุต่างๆ จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ลิเกหลายคณะได้ใช้วงปี่พาทย์บ้านบางลำพูในการบรรเลง ต่อมาครูแจ้งก็ได้เลื่อนเป็นนายวง และเป็นคนตีระนาดเอกเอง ส่วนใหญ่จะแสดงประจำสถานีวิทยุที่กรมการรักษาดินแดง

และเมื่อคณะลิเกขาดตัวแสดงตัวใดตัวหนึ่ง ก็มักจะให้ครูแจ้งแสดงแทน ซึ่งครูแจ้งสามารถแสดงได้ดีในทุกตัวแสดง จนบางคณะต้องติดต่อให้ครูแจ้งแสดงเป็นพระเอก โดยใช้ชื่อในการแสดงว่า "อรุณ คล้ายสีทอง"

ในยุคแรกๆของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม วงดนตรีดุริยประณีตได้มีโอกาสบรรเลงดนตรีไทยอยู่เป็นประจำ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูแจ้งได้มีโอกาสสวมบทและร้องเพลง "บุหลันเถา" แทนตัวจริง เฉพาะในตอนสองชั้นและชั้น
เดียว ปรากฏว่าศิลปินผู้ใหญ่ที่นั่งฟังอยู๋ด้วย ได้กล่าวชมน้ำเสียงของครูแจ้ง แต่ก็ได้แนะนำให้ปรับปรุงวิธีการร้องและลีลาการร้องในบางช่วง ครูแจ้งจึงได้มีโอกาาสเรียนวิชาการขับร้องกับ ครูสุดา เขียววิจิตร

โดยเพลงแรกที่ฝีกร้องก็คือเพลง "เขมรราชบุรีสามชั้น" ต่อจากนั้นก็ได้มีการต่อเพลงอื่นๆอีกหลายเพลง จนสามารถนำไปร้องเข้ากับวงดนตรีในงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และมีความไพเราะ

พ.ศ.2506 ครูแจังได้ขี้นประกวดขับร้องเพลงไทย และการบรรเลงเครื่องสาย โดยใช้ชื่อว่า นายอภัย คล้ายสีทอง และได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องฝ่ายชาย

สำหรับการขับและขยับกรับเสภา มีครูโชติ ดุริยประณึต เป็นผู้ฝึกหัดให้ โดยเริ่มตั้งแต่วิธีการจับไม้กรับเสภา ซึ่งมีอยู๋ 4 อัน หริอ 2 คู่ โดยถือไว้ข้างละ 1 คู่ โดยขยับตั้งแต่เสียงสั้นไปหาเสียงยาว เสียงสั้นคือเสียงก๊อก แก๊บ เสียงยาวคือเสียงกรอ ขยับจนคล่องดีแล้ว จึงตึเสียงกร้อ แกร้ (เสียงกรอ) ต่อจากนั้นก็หัดตีไม้สกัดสั้น ได้แก่เสียงแกร้ แก๊บ และไม้สกัดยาวคือเสียงกร้อ แกร้ กร้อ แกร้ แก๊บ ใช้สลับตอนหมดช่วงของการขับเสภาและในระหว่างขับ ส่วนไม้กรอใช้สำหรับขับครวญเสียงโหยไห้ และใกล้หมดช่วงของการขับเสภา แต่ยังไม่ทันได้ต่อไม้เสภาอื่นๆ ครูโชติฯ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน และต่อมาครูแจ้งได้เรียนขยับกรับกับอาจารย์มนตรี ตราโมท ครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง จนภายหลังได้รับการยกย่องว่า "เสียงดี ตีกรับอร่อย"

บุคคลที่ครูแจ้งให้การเคารพยกย่องมากท่านหนึ่งก็คือ อาจารย์เสรี หวังในธรรม ผู้ให้การสนับสนุนและแนะนำวิธีการร้องต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

บทขับเสภาที่ต้องใช้เป็นประจำ

เพลงหลักๆที่มีชื่อเสียง ก็จะหาละคร “ขุนช้าง ขุนแผน” ครูแจ้งจะร้องเอง ขับเสภาเองหมด แต่ก็อยากทำ แต่ค่าตัวนักแสดงแพงมาก อยากทำออกมาเป็นซีดี แต่ค่าใช้จ่ายสูงและกลัวจะถูกก๊อปปี้ด้วย

ครั้งหนึ่งมีงานที่ “ตำหนัก ติยาลัย” อยุธยา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จรับแขกต่างประเทศ มีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯได้ทรงจัดให้มีการเห่เรือ และสมเด็จฯ ทรงลงมาปล่อยปลาตอนเที่ยงคืน และก็มีการปล่อยโคมลอย

ครูแจ้งฯต้องไปถวายงานต่อหน้าพระที่นั่งให้สมเด็จฯท่านเกือบทุกวัน ตอนนั้นเพิ่งกลับมาอยู่บ้านที่สองพี่น้อง หลังนี้ ใหม่ๆ หลังเสด็จกลับ ประมาณ ตี 3 ต้องเดินทางกลับมาเอารถของตัวเองที่กรมศิลป์ฯ การเดินทางกลับบ้าน

ในช่วงเวลานั้นอันตรายมาก ไม่มีไฟส่องทางถนนจะมืดมาก ไหนจะแคบอีกเพราะมีเพียงสองเลน สองข้างทางก็เป็นคลองชลประทาน ถนนเป็นถนนดำ รถสวนมาต้องขับกันช้าๆ เพราะมองไม่เห็นกัน ฝนตกหนัก ลมแรง มองอะไร

ไม่เห็น เวลารถสวนกัน พอมาถึงโรงเรียนบรรหาร 5 มีไฟส่องสว่าง ยางแตกพอดี โชคดีที่ยางมาแตกที่ตรงนี้ ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะในรถก็ไม่มีเครื่องมือสักชิ้น มืดก็มืด อันตรายก็อันตราย โชคดีเผอิญมีรถสิบล้อจอดรอฝนเลยถามหาร้านปะยาง กว่าจะกลับถึงบ้าน นอนได้ก็สว่างพอดี

ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินของประชาชน บางทีก็เหนื่อย

เมื่อเร็วๆนี้ ไปรับงานวัดที่จ.กาญจนบุรี ด้วยความเกรงใจพระ จึงรับงาน แค่ 5,000 บาท เนื่องจากพระโทรมาขอร้องให้ช่วยงานบุญ ของวัด ขอให้ไป งานนี้มีการประกวดนักร้องลูกทุ่งโดยให้ครูแจ้ง เป็นกรรมการตัดสิน พี่ไม่ได้สอบถามรายละเอียดเรื่องเส้นทาง ปรากฏว่าหลงทาง เข้าป่า เข้าดง ไปซะไกล ระยาทางไกลมาก ออกจากบ้าน 4 โมงเย็นถึงวัดเอาตอนทุ่มครึ่ง งานเกือบเลิกซะแล้ว ด้วยความสงสารพระที่จะหาเงินเข้าวัด ก็เลยไม่อยากรับเงินงานนี้ ถือโอกาส ช่วยทางวัดทำบุญไปด้วย

ครั้งที่ไปงานมรดกโลกที่อยุธยา ช่วงนั้น ครูแจ้ง ยังไม่ได้เกษียณ ต้องไป ขับเสภา 5 คืนติดต่อกัน แต่ก็ลำบากเรื่องการเดินทาง เพราะเลิกงานดึกๆประมาณ ตี 2 กว่าจะถึงบ้านทุกวันและก็ต้องเดินทางจากบ้าน ไปอีกในตอนเช้า แต่เมื่อนึกถึงว่า เป็นการถวายงานสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ก็เกิดความภาคภูมิใจ หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ในการรับงานส่วนใหญ่ พี่จะต้องเป็นคนรับงานเอง รับงานขับเสภาทั่วไป ในพิธีต่างๆ ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานศพ หลังจากนั้นก็เลยไม่ได้ขายของ รับงานเสภาให้ครูแจ้ง นางบุญนะ ศรีภริยา คู่ชีวิตของครูแจ้ง ย้อนอดีต สมัยที่ ครูแจ้ง เริ่มรับราชการ สังกัดกรมศิลปากร ใหม่ๆ

ช่วงนี้ตอนนี้งานก็น้อยลง เพราะงดงานรื่นเริง (พระพี่นางฯ) งานน้อยลงบ้าง วันสงกรานต์ทุกปี จะต้องมีงานขับเสภาประจำที่ เสรีเซ็นเตอร์ เป็นงานอนุรักษ์วัฒนธรรม ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี แต่ปีนี้เลื่อนเป็นวันที่ 14 เมษายน

หมายเหตุ : ความตอนหนึ่งจากเวป"สนามหลวง"
--------------
แจ้ง คล้ายสีทอง ครูผู้มากอารมณ์ขัน เยาวภาพวัย 73

สุทธาสินี จิตรกรรมไทย - เรื่อง สุรินทร์ มุขศรี - ภาพ


"เอาสิ! มันจะยากอะไรล่ะ" "แจ้ง คล้ายสีทอง" ตบเข่าดังฉาด ทำหน้าตาขึงขัง ก่อนยิ้มกว้างอย่างอารมณ์ดี เมื่อถูกร้องขอให้ขับเสภา

แล้วเสียงขับเสภาคู่เคียงไปกับเสียงขยับกรับก็ดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำ

น้ำเสียงครูแจ้งดุดันแข็งกร้าวเมื่อขับบทเหี้ยมหาญ ถึงบทรักก็ทอดเสียงอ่อนโยน เข้าบทโศกน้ำเสียงก็เปลี่ยนเป็นเศร้าสร้อย..กระทบใจผู้ฟังไม่น้อย

สมกับเป็นนักขับเสภามือหนึ่งของไทย!!

ครูแจ้งเป็นชาวสุพรรณโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2478 ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เติบโตมากับเพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณฯ

"ตาฉันเป็นพ่อเพลง..เก่งมาก ลุงป้าน้าอาอยู่แถวนี้ก็พ่อเพลงแม่เพลง เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงฉ่อย ฉันก็ได้ยินเรื่อยมา" ครูแจ้งเล่า

ฝึกฝนดนตรีไทยตั้งแต่เด็ก ย่างเข้าวัยรุ่นอายุได้ราว 16-17 ปี ครูแจ้งก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

ที่กรุงเทพฯ ครูแจ้งผ่านการเคี่ยวกรำด้านการขับร้องเข้าขั้นเข้มข้นจากครูดนตรีไทยหลายท่าน รวมถึงฝึกการขับเสภา ลูกคอ เนื้อเสียง และน้ำเสียงดีจนหลายคนติดอกติดใจ กระทั่งได้รับการเรียกขานว่า "ช่างขับคำหอม"

ทุ่มเทให้กับวงการดนตรีไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี ครูแจ้งก็ได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) เมื่อปี 2538

ถึงตอนนี้ ครูแจ้งในวัย 73 ยังคงมีความสุขกับสิ่งที่รักอย่างการขับเสภา และใช้ชีวิตอยู่กับ "บุญนะ คล้ายสีทอง" คู่ชีวิตที่พบรักกันตั้งแต่ครั้งเป็นวัยรุ่น

"อบอุ่นด้วยลูกๆ หลานๆ ที่บ้านริมแม่น้ำท่าจีน..ถิ่นฐานบ้านเกิดที่ครูแจ้งคุ้นเคย ขณะที่ในเมืองหลวงช่างวุ่นวายและสถานการณ์การเมืองที่อึมครึม"

- ชีวิตวัยเด็กของครู?

เกิดที่นี่แหละ มีพี่น้อง 4 คน ฉันเป็นคนที่ 3 เป็นผู้ชายคนเดียว พี่สาวชื่อทองหล่อ, ฉลวย น้องสาวชื่ออร่าม มีครูแจ้งที่ชื่อไม่เหมือนใคร แม่เล่าว่าตอนพระอาทิตย์พ้นดวงก็ตกฟากพอดี พ่อเลยตั้งชื่อลูกว่าแจ้ง

พ่อฉันเสียตั้งแต่เล็กๆ..ก็จนน่ะสิ ไปเป็นเด็กวัดอยู่วัดโบสถ์ดอนลำแพนแถวบ้าน เรียนหนังสือโรงเรียนวัดจนจบ ป.4 ครูแคล้ว คล้ายจินดา บ้านอยู่ฝั่งขะโน้น (ชี้มือไปอีกฝั่งของแม่น้ำท่าจีน) เห็นฉันชอบดนตรี เลยมาขอแม่ฉันอยาก

ให้ฉันไปเรียนดนตรี เขาเห็นเวลามีปี่พาทย์ ฉันจะนั่งหลังวงดูเขาตีบรรเลง พอกลับบ้านก็หากะลามาทำเป็นวงฆ้องเคาะไปเรื่อย

ฉันเลยไปอยู่กับครูแคล้วตอนอายุ 11

- เรียนปี่พาทย์เป็นอย่างไรบ้าง

เรียนกับครูเฉลิม คล้ายจินดา ลูกชายครูแคล้ว เรียนดนตรี เรียนร้องเพลงไทยเดิม กลางวันข้ามกลับบ้านมาทำนา พอกลางคืนมีงานก็ข้ามกลับบ้านครูแคล้ว ไม่ได้เล่นเฉพาะในสุพรรณฯ นครชัยศรีก็ไป

วงปี่พาทย์ครูแคล้วเป็นที่รู้จักของคนเยอะ ฉันเป็นนักร้องของวง ขึ้นไปอีกทีก็นักร้องรุ่นใหญ่เลย รุ่นแม่ยายฉัน (หัวเราะ) ร้องเพลงสมัยนั้นค่าตัว 6 สลึง ผู้ใหญ่ได้ 2 บาท แต่ฉันได้รางวัลด้วย คนแก่เห็นเขาก็บอก "เออ ไอ้นี่ร้องเพลงดี

เอาไปบาทนึง" เสร็จงานแล้วบางคืนได้ตั้ง 30-40 บาท สมัยนั้นทองบาทละ 600 ดูสิ..ฉันได้รางวัลเยอะไหมล่ะ (หัวเราะ)

เพลงติดปากมีเยอะ แต่มีเพลงที่คนเขาบอกว่าต้องครูแจ้งร้องเท่านั้นถึงจะเพราะ อย่างเพลง "แสนเสนาะ" เพลง "แสนสุดสวาท" เขาบอกว่าใครร้องเพราะเท่าครูแจ้งเป็นไม่มี (ยิ้ม)

อู้ย..ตอนนั้นวัยรุ่น เขาเรียกเด็กข้างถนน ฉันเป็นปี่พาทย์ ร้องเพลงเก่ง บางทีออกไปกับเพื่อน 4-5 คน เชียร์รำวงกันมันไปเลย (หัวเราะ)

- ทำไมถึงเข้ากรุงเทพฯ

ทำนาแล้วล้มๆ ลุกๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง นาไม่ต้องเช่า วัวก็ไม่ต้องเช่า แต่ฝนไม่ตก นา 5-6 ไร่จะได้ข้าวสักเกวียนครึ่งเกวียนก็ยากเต็มทน อายุได้ 16 เข้า กทม. ทำงานในคลังแสง กองยกกระบัตร มีโอกาสต่อเพลง "ต้นวรเชษฐ์" กับครู

ดนตรี แต่ต่อได้ท่อนเดียว พออายุสัก 20 ก็ไปเป็นทหารอีก 1 ปี 6 เดือน แถวๆ ราบ 11 ทำให้ห่างจากปี่พาทย์ไปเป็นปีๆ

ตอนนั้นยังไม่คิดถึงดนตรีปี่พาทย์ เพราะยังไม่เอาจริงเอาจัง ร้องเล่นๆ เท่านั้น แต่ทำปี่พาทย์วิทยุด้วย

ตอนเป็นทหารก็วิ่งเข้าวิ่งออกบ้านดุริยประณีต ไปช่วยงานเขาบ้าง แหม..เห็นเขาร้องเพลงกันเพราะ ฉันอยากร้องบ้างแต่ไม่กล้าขอเขาต่อเพลง เพราะเป็นคนไม่กล้าขอเรียนอะไรกับใครเขา นอกจากเขาบอกให้เราถึงเอา

ที่อยากร้องเพลงเพราะคิดว่าเสียงยังดีอยู่ เพลงสุนทราภรณ์ เพลงครูสง่า อารัมภีร์ ฉันร้องได้หมด ร้องเล่นๆ ไปเรื่อย

- อะไรที่ทำให้ครูแจ้งได้ร้องเพลงอีกครั้ง

มีอยู่วันหนึ่งนั่งกินเหล้าอยู่บ้านดุริยประณีต ฉันร้องเพลงบุหลั่น 2 ชั้น ชั้นเดียว มีครูผู้ใหญ่นั่งฟังกันเต็ม ครูโชติ ดุริยประณีต ได้ยินเข้าก็บอกว่า "แจ้งเสียงดี ฉันจะปั้นแจ้งนี่ล่ะ" แล้วครูโชติก็ให้ครูเชื่อม (เชื่อม ดุริยประณีต) ต่อเพลง

ให้ร้อง

รุ่งขึ้นฉันเอาดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้ครูเชื่อม ครูให้ต่อเพลงเขมรราชบุรี ท่อน "ชะรอยกรรมจำพราก" ท่อนเดียวร้องอยู่เกือบเดือน (หัวเราะ) พอได้แล้วค่อยไปอีกหน่อย ทั้งเพลงใช้เวลาเดือนกว่า เพราะถ้าร้องไม่ได้อารมณ์ ครูไม่ต่อ

เพลงให้

ได้มา 4-5 เพลง ก็มีคนส่งฉันเข้าประกวดร้องเพลงของสถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ใช้ชื่อว่า "อภัย" เข้าไปอัดเสียงอยู่ 2 หน 4 เพลง ให้กรรมการฟังเสียง เคาะเป๊งต้องร้องให้ตรงเสียง ผิดเสียงไม่ได้ โดนตัดคะแนน ครั้งนั้นฉันได้ที่ 1

นักร้องอีกคนที่แข่งเขาเสียงสูงปรี๊ด ความจริงนักร้องถ้าร้องเสียงสูงต้องสูงให้สุด ลงต้องลงให้ถึงสุดถึงจะครบขบวน บางคนร้องกลางๆ สูงก็ไม่สูง ต่ำก็ไม่ต่ำ เหมือนน้ำเอ่อเต็มตลิ่ง ล้นก็ไม่ล้น ลงก็ไม่ลง ฉันชอบคุณชรินทร์ (นันท

นาคร) เพราะคุณชรินทร์ร้องสูงร้องต่ำ

พอได้ที่ 1 ฉันพุ่งแรงเลย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ มาติดต่อฉันให้ไปเข้าวงดนตรี ฉันจะไปแล้วแต่พอครูโชติรู้เข้าก็บอกว่าอย่าไป

- ครูแจ้งร้องเพลงลูกทุ่งไหม

ฉันไม่ร้องเพลงลูกทุ่ง ไม่ใช่ทำไม่ดี แต่ไม่ชอบ

วันก่อนเขาให้ไปเป็นกรรมการประกวดเพลงลูกทุ่ง ทั้งที่ฉันไม่ร้องเพลงลูกทุ่ง ฉันเลยขอร้องเพลงด้วย เดี๋ยวจะหาว่าขับแต่เสภา ก็ขึ้นไปร้องเพลงลูกกรุง (หัวเราะ) เพลง "สาวนครชัยศรี" ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่งไว้ ภาษาสวยมาก

แต่งให้เกียรติลูกผู้หญิง

- เข้าทำงานที่กรมศิลปากรได้อย่างไร

ครูโชติฝากฉันไว้กับท่านอธิบดี ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันไม่รู้สึกอะไรตอนที่ครูโชติไม่ให้ไปอยู่วงเพลงไทยสากล เพราะเชื่อฟังครู ครูบอกว่าถ้าไปก็ร้องได้แต่เพลงเถา ร้องส่งปี่พาทย์ไม่ได้อะไร ถ้าอยู่กรมศิลป์จะได้หมดทั้ง โขน ละคร ฟ้อน รำ เห่ ขับ กล่อม แล้วฉันก็ได้ตำแหน่งนักร้อง

เพลงไทย

อยู่ที่กรมศิลป์มีแต่ครูชั้นหนึ่งทั้งนั้น มีทั้งครูที่สอนฉันมาก่อน และยังมีครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ครูท้วม ประสิทธิกุล ครูนิภา อภัยวงศ์ ครูสงัด ยมะคุปต์ ครูเสรี หวังในธรรม

เข้าไปต้องฝึกหมดทุกอย่าง แต่ไม่ต้องเก่งหมด เพราะคนเราไม่ได้เก่งไปทุกด้าน

- เน้นขับเสภาหรือยัง

เน้นสิ แต่กว่าจะขับอย่างจริงจังก็อายุประมาณ 30

ฉันเรียนกับครูโชติ ครูสงัด ครูมนตรี (มนตรี ตราโมท) ฟังเทปครูเหนี่ยว กับครูหลวงเสียงเสนาะกรรณขับเสภา คอยจำเทคนิคไว้ ไปบ้านครูเจือ ขันธมาลา ฟังครูเจือบอกไม้กรับ ฟังครูหมื่นขับคำหวานขับเสภา

ครูหมื่นขับคำหวานท่านขับเสภาตลก ครูหลวงเสียงเสนาะกรรณจะขับเสภาเพราะหวานหู บทเข้าพระเข้านางต้องครูหลวงเสียงฯ ส่วนครูเหนี่ยวขับแบบนักเลง กระโชกโฮกฮาก เป็นบทหยิ่งผยอง

- ครูแจ้งมีแบบการขับของตัวเองไหม

ต้องดูบท ฉันจะเอาของครูแต่ละท่านมาใช้ให้ถูกจุด อย่างร้องถึงคำว่า "แหวกม่าน" ต้องทำเสียงจินตนาการว่าค่อยๆ แหวกม่าน ไม่ใช่พรวดพราดแหวกม่าน นางตกใจตายกันพอดี (หัวเราะ)

การขับเสภาเป็นเรื่องของการใช้เสียงแสดงอารมณ์บอกเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันเคยขับเสภาตอน "กำเนิดพลายงาม" ขับเสร็จหันไปดูคนฟัง ปรากฏว่านั่งร้องไห้กันหลายคน นั่นคือการขับเสภาไปกระทบใจเขา

ฉันเคยร้องเอาเนื้อความเป็นใหญ่ สัมผัสลดน้อยลงไป แต่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ท่านบอกว่า ไม่ได้ ไม่งั้นคนไทยจะมีกลอนทำไม ต้องอ่านให้สัมผัสถึงจะเป็นกลอน ถ้าเอาเนื้อความเป็นใหญ่เขียนร้อยแก้วเสียก็หมดเรื่อง

ต้องเอาสัมผัสเป็นตัวตั้ง ความอยู่ทีหลัง

- ใช้บทอะไรในการขับเสภา

เอามาจากวรรณคดีทั้งนั้น ต้องอ่านวรรณคดีทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องไหนไม่เคยอ่าน หรือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็นำมาขับเสภาได้ บางครั้งก็มีแต่งบทเสภาขึ้นใหม่

ฉันร้องได้ทุกบทนั่นแหละ

- กรับคู่ใจ?

หูย..ตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม โน่น เผลอๆ จะก่อนหน้านั้นเสียด้วย (หัวเราะ) ได้มาจากเพื่อน

เขาค้นกันเยอะเรื่องไม้ที่เอามาทำกรับ มาตายที่ไม้ชิงชันกันหมด เพราะไม้ชิงชันให้เสียงกังวาน เลือกที่ต้นโต แก่ได้ที่ แล้วเอาไม้มาเผาจนกว่าไม้จะไม่ไหม้ เสร็จแล้วเอาไม้มาผ่า..อย่าเลื่อย ถึงขั้นตอนเหลาต้องเหลาให้ดี ต้องเทียบเสียง

ให้เข้ากับระนาดลูกที่ 2

ครูโชติเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าตีกรับตอนกลางวันแสกๆ แล้วเขียดร้องรับ แสดงว่าฝีมือเข้าขั้น ฉันเลยลองตีกรับดู อู้หู..ตีได้สักประเดี๋ยว เขียดร้องรับกันระงม เคยคิดว่าถ้ากรับหายคงต้องเลิกหากิน (หัวเราะ)

เวลาขับเสภาต้องให้ได้อารมณ์ความรู้สึก ขยับกรับก็ต้องให้ได้อารมณ์ด้วย

- คนรุ่นนี้กับการขับเสภา?

แต่ก่อนฉันต้องเรียนขับเสภาอย่างละเอียด อักษรอย่างนี้ คำอย่างนี้ ต้องใช้อารมณ์อย่างไร ขับเสภาแบบไหน ขับได้กี่อย่าง แต่เดี๋ยวนี้คนขับไม่รู้ก็ขับส่งเดช วรรณคดีมีอารมณ์ของเขาอยู่ ต้องตีให้ออก

ถามถึงคนรุ่นนี้กับการขับเสภาหรือ..ฉันคิดว่าการขับเสภาไม่หายไปหรอก เขาเรียนกันเยอะไป แต่เรียนไม่ละเอียด เป็นแค่พอผ่าน จะเรียนจริงจังหายากเต็มทน อีกอย่างหาคนส่งเสริมการขับเสภาไม่ค่อยมี ศิลปินไทยจะแย่เอาคราวนี้

ที่ว่ากันว่าขับทำนองเสนาะ ตอนนี้ฉันเห็นว่าได้แต่ขับทำนอง ส่วนความเสนาะหาได้ยากเหลือเกิน

- งานที่ครูแจ้งประทับใจมากที่สุด

งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เข้าไปขับเสภาถวายหน้าพระที่นั่ง และเคยเข้าไปขับเสภาถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกหลายครั้งที่พระตำหนักสิริยาลัย

งานระดับชาติ ต้อนรับพระราชอาคันตุกะฉันก็ประทับใจ

- กิจวัตรประจำวันของครูแจ้ง?

เช้าๆ มานั่งกินกาแฟที่นี่ (ศาลาริมน้ำ) ขนมปังหมูแฮม 2 แผ่น น้ำชาสักแก้ว ตกค่ำเข้านอน ตื่นอีกที 3-4 ทุ่ม หลับอีกครั้งก็ตี 4-5

ฉันมีสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี บางครั้งก็มีคนเชิญไปให้ความรู้ครูภาษาไทยที่อื่น กลับบ้านว่างๆ มานั่งเล่นศาลาริมน้ำ ตกปลาไปเรื่อย ปลาจะกินเบ็ดไม่กินเบ็ดเรื่องของมัน (หัวเราะ)

- สุขภาพ?

ไม่เป็นอะไร มีแต่หัวเข่าซ้ายไม่ค่อยดี กดลงไปแล้วเจ็บจี๊ดๆ ส่วนเสียง..ตอนนี้อายุเยอะแล้วเสียงชักแย่ ต้องเพลาๆ การกินเหล้า (หัวเราะ) แต่ฉันไม่เคยดูแลเสียงเป็นพิเศษเลย

โดยรวมก็มีความสุขดีตามอัตภาพ (ยิ้ม)

Credit : มติชนออนไลน์ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11068 หน้า 17


Create Date : 16 มิถุนายน 2552
Last Update : 16 มิถุนายน 2552 15:08:36 น. 5 comments
Counter : 4235 Pageviews.

 
แสนเสียดายศิลปินแห่งชาติผู้มากความสามารถ ไม่ทราบว่าท่านมีลูกศิษย์สืบทอดเจตนารมณ์หรือไม่เนี่ย อ่านประวัติแล้วชื่นชมจริงๆ ขอบคุณจขบ.ที่นำประวัติของท่านมาให้รับทราบกัน


โดย: yellow.river IP: 124.121.229.68 วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:16:09:11 น.  

 
ด้วยความอาลัยค่ะ


โดย: latics1 วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:16:31:22 น.  

 
อยากทราบประวัติ วงคล้ายจินดามากยิ่งขึ้น นอกจากลุงแคล้ว ครูเฉลิม แล้ว มีใครอีกบ้างไหม เคยได้ยินว่า มีลุงกร่างอีกคนที่เล่นปี่พาทย์ดีเหลือเกิน
ใครมีรูปภาพของครูวงดนตรีเหล่านี้บ้างเอ่ย


โดย: สะพายเขียว IP: 114.128.25.156 วันที่: 15 มกราคม 2553 เวลา:19:14:58 น.  

 
เสียดายจังๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


โดย: wwww........ IP: 192.168.5.233, 125.27.154.102 วันที่: 10 สิงหาคม 2554 เวลา:12:51:27 น.  

 
เสียดายจังๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


โดย: wwww........ IP: 192.168.5.233, 125.27.154.110 วันที่: 10 สิงหาคม 2554 เวลา:12:52:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.