ธรรมดาคือธรรมดาที่แสนจะธรรมดา ธรรมดาคือธรรมดาที่ยิ่งกว่าธรรมดา ธรรมชาติคือธรรมดา ที่แสนจะธรรมดาและยิ่งกว่าธรรมดา
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
18 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

หลง

“นกหลงฟ้า ปลาหลงน้ำ”
“แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ”
หลายท่านคงเคยได้ยินสำนวนสุภาษิตเหล่านี้กันมาบ้าง
ความหมายโดยรวมหมายถึงการลุ่มหลง
จนลืมตัว ลืมทิศ ลืมทาง
หลงในสายลม
หลงในสายน้ำ
หลงในแสงสี
หลงในสิ่งที่มาล่อหลอก
หลงในสิ่งที่มามัวเมา
...จนกู่ไม่กลับ
...กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะต้องสูญเสียสิ่งสำคัญไปแล้วก็ได้



การฝึกสมาธิปฏิบัติวิปัสสนา
นักปฏิบัติที่แท้จริงต้องใช้สติพึงไตร่ตรองอยู่เสมอในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา
เมื่อเราปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง
ผลของการปฏิบัติก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
การพบเห็นภาพ แสง สี เสียง กลิ่น อุณหภูมิ นิมิต
ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดๆ
ให้เราพึงระลึกเสมอว่ามันเป็นอาการธรรมชาติ
เป็นธรรมดาของจิตเท่านั้นเอง




หลายคนเมื่อจิตเริ่มสัมผัสได้กับธรรมชาติของจิต
ก็จะเกิดการหลงใหล
เช่นเมื่อพบเห็นแสงสี ภาพ รูปนิมิตต่างๆ
ก็ส่งจิตเขาไปเกาะว่ามันคือความจริง
และเมื่อรู้สึกอิ่มเอิบกับสิ่งที่สัมผัสได้
ก็อยากได้อยากให้เกิดอย่างนั้นอยู่เสมอ
เมื่อมีฌานความรู้ต่างๆ เกิดขึ้น ก็จะหลงว่าตัวเองเก่ง
ไม่ยอมฟังเสียงคนอื่น
เมื่อเกิดความสงบนิ่งก็จะติดใจสงบนิ่งอยู่ตรงนั้น
ไม่อยากออกมารับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
เกิดอารมณ์เป็นสุขก็จะติดใจยึดสุข
เบื่อหน่ายที่จะออกมาเผชิญกับความเป็นจริง



เมื่อเกิดความเชื่อก็จะเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ
เกิดศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ขาดปัญญาในการพิจารณา
แล้วก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำด้วยความเพียร
เพื่อจะไปให้ถึงสิ่งที่ตนเคยสัมผัสมา
แต่มันเป็นความเพียรที่มุทะลุลืมตัวขาดความพอดี
จนเกิดเป็นความคร่ำเคร่งเคร่งเครียดมุ่งมั่นเกิน
...จนถอนตัวไม่ขึ้น



และถึงแม้บางท่านจะเกิดการวางเฉย
แต่หากเป็นการไม่ใส่ใจในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
โดยไม่ได้ใช้สติปัญญาในการพิจารณา
นั่นก็คือความหลง
และยังหลงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่รับรู้ได้ สัมผัสได้ มันคือสิ่งที่ถูกต้อง
ซึ่งแท้จริงมันคืออุปทาน
สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส
เป็นตัวที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรมดีๆ นี่เอง



เรามาฟังอาจารย์คณานันท์ท่านชี้แนะ
เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ฝึกสมาธิปฏิบัติวิปัสสนากันดีกว่า


มีบางท่านที่ก้าวหน้าเป็นพิเศษครับคือมีอาการดังนี้คือ
จิตยังจับอยู่ในอารมณ์สบายของสมาธิ ทั้งวันจนกระทั่งหลับ
เมื่อหลับแล้ว ก็รู้สึกว่าหลับพักเดียวก็เต็มอิ่ม
ส่วนบางท่านก็เริ่มปรากฏความเป็นทิพย์ของจิต
คือเวลานึกอย่างไรก็มักที่จะได้อย่างที่คิดไว้
บางครั้งพูดตอบในสิ่งที่คนอื่นกำลังคิดอยู่ในใจ
(ผมใช้คำล้อคนนั้นว่า "อย่าคิดดัง" ครับ)



ในขั้นตอนที่ความเป็นทิพย์เริ่มปรากฏ
ให้ใช้วิปัสสนาให้มากขึ้นครับ
ให้คิดแต่สิ่งที่ดีๆ เป็นกุศล
คิดในแง่บวก ความเป็นทิพย์จะยิ่งเพิ่มพูนงอกงามครับ
จุดนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ถ้ามีจิตคิดว่าตนเองเก่ง เป็นผู้วิเศษ
เราบารมีสูงมากที่สุด
หรือใช้ความเป็นทิพย์เพื่อทำร้ายผู้อื่น
ไม่ช้าคุณธรรมจะเสื่อม มีอบายภูมิเป็นที่ไปครับ
ขอให้ระมัดระวังจิตด้วย
ถ้าสำนึกทันรีบขอขมาพระรัตนไตยครับ
ก่อนหลงลงลึกกว่านี้ครับ
เป็นเรื่องที่พระท่านให้เตือนครับ



ข้อแนะนำคือให้ระวังอารมณ์ใจที่จะมาหลอก
ให้เราหลงว่าเราเก่ง เราวิเศษกว่าคนอื่น
ที่จริงมีผู้ที่เก่งกว่า ดีกว่าเราอีกมากมายมหาศาลครับ
เพราะจุดนี้เป็นอันตรายอย่างมากต่อนักปฏิบัติครับ
มาติดกันตรงจุดนี้กันนักต่อนักครับ
จนถือว่าเป็นจุดหักเหของนักปฏิบัติเลยก็ว่าได้
ขอให้ผ่านไปให้ได้เพื่อความดีที่สูงขึ้น คุณธรรมที่สูงขึ้น
ให้คิดว่าในเมื่อเรามีสิ่งศักดิ์สิทธ์คุ้มครอง
เราก็ยิ่งต้องรักษาความดีไว้ อย่าให้ดีแตก
ให้ตั้งมั่นในสัมมาทิฐิและถ่อมตนไว้เสมอครับ




"เราว่าเราดีเมื่อไหร่ เราก็เลวเมื่อนั้น"
(เพราะจิตเราเกิด มานะทิฐิอันเป็นอุปกิเลสละเอียดเข้ามาสู่ใจ)
ผมเองกว่าจะเข้าใจวลีนี้ ก็หลายปีเต็มที
(แสดงว่าเลวมาก และตอนนี้ก็ยังเลวอยู่ ดีเมื่อไหร่ก็คงไม่มาเกิดแล้ว)
ดังนั้นเรานำความโง่ ความเลวของเรา
มาเล่า มาพิจารณาซ้ำ เพื่อ เรียนผิดเป็นครู กันดีกว่า
ซึ่งผมเชื่อว่า พี่ๆน้องๆ หลายๆ คนเองก็ผ่าน
การ "เรียนผิด" กันมาไม่น้อยครับ



แบ่งปันประสบการณ์กัน
เพื่อไม่ให้คนอื่น ไปพลาด ไปเสียเวลากันอีก
และยังเป็นการสลายมานะทิฐิในจิตของตนเองอีกด้วย
เรากล้าเล่าอย่างไม่อายก็เพื่อความดีของผู้อื่นเป็นสำคัญ
หากยังกลัวเสียฟอร์มก็แปลว่ามานะทิฐิยังท่วมหัวท่วมหูอยู่
มาเล่าเรื่อง ความผิดพลาดในการปฏิบัติให้ฟังแล้วกันครับ



เอาเรื่องแรกก่อน เป็นเรื่องที่ตัวผมเองเกิด วิปัสสนูปกิเลส
เรื่องนี้เกิดกับผมสมัยที่ยังบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นพระนวกะ (พระบวชใหม่)
ปฏิบัติเอง อ่านศึกษาเองจากหนังสือ ธรรมมะ
(ยังไม่รู้จักหลวงพ่อฤาษี และวิชามโนมยิทธิ)
สมัยนั้นส่วนใหญ่อ่านของท่านพุทธทาส
และสายพระป่าหลวงปู่มั่น
ลุยอ่านไปเกือบครบทั้งห้องสมุดของวัด



วันหนึ่งเกิดสงสัย อยากเป็นพระโสดาบัน
ก็เลยเรียนถามพระเถระใหญ่ท่านซึ่งท่านได้ปธ. 9 เรื่องพระโสดาบัน
ท่านตอบกลับมาว่า
"หน้าอย่างเราชาตินี้ไม่มีวันได้หรอกพระโสดาบัน"
ผมก็ลากลับมาที่คณะ พอบ่ายหลับไป
ก็ฝันว่า เห็นหลวงจีนหลายรูปจำนวนมาก
เดินเรียงแถวเพื่อนมัสการพระเจดีย์ใหญ่
ข้างบนเจดีย์มีระฆัง
และเราก็ไปเห็นหลวงจีนรูปหนึ่งก็ยืนมองหน้ากันเหมือนส่องกระจก



พอค่ำทำวัตรเย็น ก็ทำสมาธิ
(ซึ่งปกติก็ได้มั่งไม่ได้มั่ง เหมือนทำส่งเดชมากกว่า)
ปรากฏว่าวันนั้น จิตบังเอิญตั้งมั่นมาก
นั่งไปเกิดมีนิมิตเห็นธรรมจักร สีทองสว่างอยู่ในจิต
พร้อมมีเสียงบอกมาในจิตว่า
"ธรรมจักรเริ่มหมุนแล้ว หนทางหลุดพ้นนี่คือ มรรคมีองค์แปด"
พอสิ้นเสียงปั๊ป เท่านั้น จิตเราก็ระเบิดออก
จักรวาล สะท้าน สะเทือน จิตสว่าง
เกิดปิติระลอกแล้วระลอกเล่า



มีความสุขปิติอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก
อีกทั้งสมาธิก็ตั้งมั่น จิตแนบในวิปัสสนาญาณอยู่ตลอดเวลา
เห็นสิ่งใดก็ตามจะมีตัวรู้คอยบอก คอยสอน
เทียบในอนิจลักษณะ อยู่ตลอดทุกเวลา
ตอนนั้นสุขมากจน ไม่อยากสึกอีกแล้ว
เพราะจิตทรงในมหาสติเต็มรอบ ตลอดเวลา
หากไม่ทรงมหาสติปัฐฐาน
ก็เจริญเมตตาพรหมวิหาร อย่างแนบแน่น
ตอนนั้นก็ได้พูดคุยให้พระเพื่อนๆฟังว่าพบเจออะไรในการปฏิบัติ
ก็กลายเป็นที่ทราบกันไปหมดทั้งวัด



จนมีพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านภูมิธรรมสูง
จะจัดให้ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระสังฆราช
(ซึ่งท่านเป็นอุปัชฌาย์)
เพื่อขอประทานคำแนะนำในการปฏิบัติ
ตอนนั้น เราก็เกรงใจท่านอย่างยิ่ง
ไม่กล้าไปกราบรบกวนท่าน เพราะเราเป็นพระเด็กๆ
ท่านมีพระราชกิจมากมาย
เรามิบังอาจรบกวนท่านด้วยเรื่องของเรา
(แต่ท่านก็ทรงเมตตามาสอนในฝันอยู่เสมอๆ)



พอช่วงที่จิตแนบในอารมณ์วิปัสสนาญาณ
มีช่วงหนึ่งที่ไปตั้งสัจจะเอาไว้ บางข้อ
ว่าจะลดอาหาร ไม่ฉันอาหาร
(เป็นความโง่ที่ไม่รู้จัก ทางสายกลางของตนเองว่าอยู่ที่จุดใด)
ก็ปรากฏว่า พอหยุดอาหารได้ สามวันเท่านั้น
จิตที่ทรงสติปัฐฐานสี่ตั้งมั่นเต็มที่ก็เจ๊ง
อารมณ์ที่แนบในวิปัสสนาญาณ ก็หายไป
(ตอนนั้นไม่รู้จักอารมณ์ใจ หนัก อารมณ์ใจเบา ลมสบาย ก็ยังไม่ได้)



พอเริ่มเสื่อมก็ปรากฏว่ามี เสียงบอกในจิตว่า
"เราบรรลุโสดาบันแล้ว"
พร้อมกับมีปิติติดตามมา อีกหลายต่อหลายครั้งคราว
ทีนี้ไอ้ความเลวของจิตก็ปรากฏ
เพราะความโง่ ความระยำของตนยังมีมาก
ก็เชื่อทันทีว่าเราบรรลุธรรมไปแล้ว
ดีไม่ไปบ้าว่าตนเองเป็นพระอรหันต์



มาระลึกดู แล้วไอ้การไม่มีครูบาอาจารย์ก็ดี
ไอ้ความโง่ ความอ่อนหัดในการปฏิบัติก็ดี
ไอ้ความหลง มานะทิฐิก็ดี ล้วนทำให้เกิด วิปัสสนูปกิเลส
แต่เราเองนั้นก็ได้ประโยชน์จากมันด้วยเช่นกัน
เราได้รู้ว่า "ผิด" เป็นอย่างไร
อาการที่กำลังจะเกิดเป็นอย่างไร เกิดแล้วมีอาการอย่างไร
และวิธีแก้ไขมีอย่างไร



ตัวผมเองกว่าจะแก้อาการของตนได้
ก็ใช้เวลานับเดือน แต่กลับมาได้โดยไม่ถึงขั้นสัญญาวิปลาส
ก็นับว่าเป็นโชคดีของตนเองแล้ว ดังนั้น ขอให้ทุกท่าน
อย่าได้ประมาทในการปฏิบัติ
ยึดหลักครูบาอาจารย์ท่านเอาไว้
หากรู้สึกว่าตนเองดี ตนเองเก่ง ตนเองวิเศษ เมื่อไร
เราเลวเมื่อนั้น



จงยึดหลัก ลมสบาย จิตสบายเข้าไว้
ทางสายกลางคือจิตสบาย และตั้งมั่น
เราปฏิบัติเพื่อการละวาง
เลิกอุปกิเลส
คลายมานะทิฐิ
ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อยึด เพื่อเกาะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตชาติภพภูมิเก่า



ญาณเครื่องรู้ทั้งหมดเราต้องพิจารณาดูด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา
อย่าไปยึด อย่าไปปรุงแต่งต่อ
รอดู รอพิจารณา ว่าจริงหรือเท็จ
วิชามโนมยิทธิ
หลวงพ่อให้หลักว่ามีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือ
ในการตัดกิเลส
ใช้พิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าว่า
พระนิพพานมีสภาวะเช่นไร
สวรรค์มีจริง
นรกมีจริง
บาปกรรมมีจริง
เพื่อความเป็นสัมมาทิฐิ
ไปจนถึงความเป็นพระอริยะเจ้า
ดังนั้น พึงใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์



ขอกราบขมาพระรัตนไตร
ในความเลว ความชั่ว ความโง่ของข้าพเจ้าด้วยเทอญ
ข้าพเจ้าสิ้นพยศในคุณครูบาอาจารย์
อันมีพระรัตนไตรเป็นสรณะสูงสุด
ตลอดกาลตลอดสมัย
ตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเทอญ



เรามาฟังอาจารย์คณานันท์ต่อเรื่อง
การหลงใหลในภพภูมิกันอีกสักหน่อย

วันนี้ผมเอาเรื่องอวิชชาที่ทำให้หลงติดในภพภูมิสังสารวัฏ
มาให้ลองพิจารณากันดูครับ



อันเหล่าหนอนแมลงวันนั้น
เมื่อได้กำเนิดมาในบ่อเกรอะ
อันเต็มไปด้วย อุจจาระ ปัสสาวะ
อันเน่าเหม็นน่าสะอิดสะเอียนนั้น
ก็มีจิตคิดยินดีในลาภที่เกิดขึ้นว่า
โอ้เรานี่หนอช่างโชคดีเหลือเกิน
ที่ได้ ดื่ม กิน อาหารอันประเสริฐ
จำนวนมหาศาลหาประมาณมิได้

จึงมีจิตคิดยินดีใคร่เกิดเป็นหนอนแมลงวันเยี่ยงนี้
ร้อยชาติ พันชาติ




เหล่าเปรต อสุรกาย ที่มีปากเท่ารูเข็มนั้น
มีความอดอยากหิวโหยเป็นนิตย์
เมื่อเห็นซากสุนัขตาย
ขึ้นอืดบวมพองเขียว
น้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้มจากผิวหนังที่บวมปริแตก
ก็มีจิตยินดี ว่าวันนี้เรามีลาภแท้ๆ
ตรงเข้าไปดูดกิน น้ำเหลือง น้ำหนอง อย่างเอร็ดอร่อย
จึงติดในภพภูมินี้ด้วยประการฉะนี้




มนุษย์ เองก็ดื่มกิน
ซากสัตว์อสุภะทั้งเล็กทั้งใหญ่เป็นอาหาร อันเป็นของสกปรก
เมื่อมีมิจฉาทิฐิว่า
การเวียนว่ายตายเกิดไม่มี
สวรรค์มีแค่ในอก นรกแค่อยู่ในใจ
แท้จริงไม่มี บุญบาปไม่มี

จึงไร้ศีลธรรม
กอบโกยแต่วัตถุ
เบียดเบียนผู้อื่นและธรรมชาติ
จึงตกอยู่ในหล่มแห่งอบายภูมิอันมีทุคติเป็นที่ไปในที่สุด



เทวดาผู้ประมาทเสวยทิพยสมบัติ
อันเกิดจากบุญที่เคยบำเพ็ญมาอย่างเพลิดเพลิน
ไม่สนใจต่อบุญสร้างกุศลและบารมีเพิ่มเติม
ครั้นใช้บุญจนหมดสิ้นก็ได้เวลาที่ต้องรับผลของกรรมชั่ว
จึงต้องจุติลงยังอบายอันมีนรกภูมิเป็นต้น
พรหมก็เช่นกัน
เเม้นเวลาเสวยสุขจะนานแสนนาน
แต่หากประมาทไม่ทำบุญสร้างบารมีเพิ่ม
เมื่อหมดบุญก็ย่อมตกสู่อบายเช่นกัน



บุคคลผู้ประเสริฐ
มีปัญญามองเห็นทุกข์ภัยในสงสารวัฏ
ประกอบไปศีล สมาธิ และสัมมาทิฐิ
อันอบรมมาดีแล้ว
ย่อมหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ด้วยโมกขธรรมอันวิเศษ
แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูด้วยประการฉะนี้




เรามาต่อกันด้วยเรื่องราวของคุณXorce
เกี่ยวกับการปฏิบัติกันบ้าง

ขอแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัตินะครับ
แนวทางการปฏิบัติแต่ละสายนั้นมีความ
ต่างอยู่
ตรงที่
วิธีการละกิเลส
จุดประสงค์ที่หลวงพ่อให้ฝึกญาณรู้เห็นต่างๆ
ไม่ใช่ว่าให้นำมาใช้เพื่อความสนุก เพื่อความบันเทิงใจ
ที่เราสามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ



แต่ว่าให้ฝึกมาเพื่อให้เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด
ในกฎแห่งกรรม
ให้เชื่อว่าที่เดียวที่มีความสุขก็คือพระนิพพานจริงๆ
ที่อื่นไม่พ้นทุกข์
แต่ว่าคนส่วนมากนำมาใช้ผิดวิธี
ใช้ในสิ่งที่ไม่ควรจะใช้ (รวมถึงผมด้วย) ทำให้เกิดการยึดติด



ผมเคยเป็น...ยิ่งใหญ่หาผู้ใดสู้ไม่ได้
(แบบนี้ผิดแน่นอน)
ผมเคยเกิดเป็นสุนัขมาหลายชาติ
เกิดเป็นหนอน แมลงมาหลายชาติ
ลงนรกมาก็เยอะ เลวจริงๆเลย
(ใช้เพื่อให้เบื่อการเกิด ใช้เพื่อละกิเลส
คือจุดประสงค์จริงๆของหลวงพ่อ)



แนวทางการปฏิบัติทั้ง ๔ สาย
แท้จริงแล้ว เป็นความถนัดของแต่ละดวงจิตในการละกิเลส
จะให้บางคน มาเชื่อพระพุทธศาสนา
โดยไม่เห็นนรก มันก็ทำไม่ได้
หรือจะไม่นำอิทธิฤทธิ์มาล่อให้เขาสนใจธรรมะ บางครั้งก็ไม่ได้
ไม่ว่าจะปฏิบัติแบบใด
ก็ต้องเผชิญกับการรู้เห็นเหมือนกัน
มันขึ้นอยู่กับเราว่าติดหรือเปล่า




เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ส่วนมากวิชาเก่าจะรวมตัว
ก็จะมีอภิญญา ญาณรู้เห็นเหมือนกัน
ญาณต่างๆ จะใช้หรือไม่ใช้
พอฝึกถึงระดับหนึ่ง จะสายไหนก็มีเหมือนกัน
สุกขวิปัสสโก จะต้องเชื่อนรก เชื่อสวรรค์
เชื่อนิพพานเป็นเมืองแก้ว โดยไม่สามารถเห็นได้ล่วงหน้า
การเชื่อโดยไม่เห็น เป็นเรื่องยากสำหรับบางคน



หากเรามุ่งที่จะไปนิพพาน
เราก็จับแค่อารมณ์พระนิพพาน
ญาณต่างๆจะไม่ต้องฝึกเลยก็ได้
เพราะญาณต่างๆ เป็นผลพลอยได้
จากการทำจิตให้สะอาดจากกิเลส



ผมก็เคยคิดว่าผมเป็นวิสัยใด
แต่ผมมาคิดทีหลังว่า
ผมนั้นชอบปฏิบัติมั่วๆ เอามันทุกสาย
อย่ายึดติดในสายการปฏิบัติเลยครับ
พอเอาเข้าจริงก็มีแค่สายเดียวครับคือสายสัมมาทิฐิ



ขออนุญาตนะครับ อันนี้สำคัญมากเลยนะครับ
คือว่าเวลาปฏิบัติธรรมนั้น
ให้เราเน้นวางกำลังใจให้เบาๆ สบายๆ
กันเอาไว้ทุกๆ คนนะครับ
ให้เรารู้สึกสบายๆ และมีความสุขที่ได้ทำสมาธิ
อารมณ์สบายๆนั้นควรจะต้องรักษาให้ได้ตลอดเวลา
เพราะว่าหากอารมณ์เราหนักเมื่อไหร่
มันจะเริ่มเอนๆไปทางด้านมิจฉาทิฐิแล้วนะครับ
หากอารมณ์เรายัง เบาๆ สบายๆ เป็นสุข ชุ่มเย็นอยู่
จิตใจของเราก็จะอยู่ในแนวทางแห่งสัมมาทิฐิ



ซึ่งการปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้ว
ก็คือการทำให้ตัวเองตั้งมั่นอยู่ในแนวทางแห่งสัมมาทิฐิไปเรื่อยๆ
หากเป็นสาวกภูมิก็จะบรรลุธรรม
หากเป็นพุทธภูมิก็จะได้สรรพวิชาต่างๆกลับคืนมา
ซึ่งการจะตั้งมั่นในสัมมาทิฐินั้น
เหมือนจะง่าย
แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ละเอียดและไม่ง่ายอย่างที่คิด



ทุกๆ คนมีด่านที่ต้องผ่านหลักๆ ก็คือตัวอิจฉา และตัวเก่ง
ตอนแรกๆ ที่ทุกๆ คนเริ่มปฏิบัติธรรมนั้น
ส่วนมากจะมีตัวอิจฉาที่ซ่อนอยู่
ไม่ว่าจะอยากได้นู่นได้นี่
บ้างคิดว่าได้แล้วจะเอาไปใช้ให้มันส์เลย ประมาณนั้น
ตัวผมเองก็เป็น
ครั้นพอเราได้ไปแล้ว
เราก็จะเริ่มนำมาแสดงความสามารถต่างๆ
จนหลงคิดว่าตัวเองเก่งกล้าสามารถยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ปุถุชน
อันนี้ผมก็เคย



แต่ว่าเราอาจจะลืมจุดประสงค์จริงๆของการปฏิบัติธรรมไป
เราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
เพื่อความสุขที่ถาวร
ไม่ใช่เพื่ออิทธิฤทธิ์
เพื่อชื่อเสียง
หรือเพื่ออะไรต่อมิอะไรที่ผิดจากวัตถุประสงค์



บางคนก็ได้พบความสุขจากทางสายกลางแล้ว
แต่ว่าก็ปฏิบัติเลยทางสายกลางไป
จนกลายเป็นมิจฉาทิฐิไปก็มี
เพราะหลงติดในญาณทัศนะ
ดังนั้นอยากจะให้ทุกๆ คน
คิดกันว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในทางสายกลาง
หรือว่าเลยจากทางสายกลางไปแล้ว



หากเลยไปบ้างก็ไม่ต้องตกใจ
ให้กราบขอขมาคุณพระศรีรัตนตรัย
แล้วตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกครั้ง

เชื่อว่าทุกๆคนจะต้องได้เข้าถึงซึ่งความดี
และถึงซึ่งที่สุดแห่งทุกข์คือพระนิพพานอย่างแน่นอน
ไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด
แต่ว่ามันอยู่ที่ว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้
จากความผิดพลาดของเราแล้วหรือยัง



ต่อไปเป็นวิธีการแยกแยะระหว่างอุปาทานกับของจริง
ที่คุณXorce เอามาชี้แนะให้เราได้เรียนรู้กัน

เวลาเรารู้เห็นสิ่งใดนะครับ
ให้วางอุเบกขาไปก่อนเลยครับ
ถ้าจริงเดี๋ยวก็มีสิ่งมายืนยัน หากไม่จริงเดี๋ยวเราก็ทราบว่าไม่จริง
จริงๆ อยากจะให้ลองไปฝึกญาณ8 ที่บ้านซอยสายลมกันซักครั้งหนึ่ง
เพราะว่าหากสิ่งที่เรารู้ไม่ถูกปุ๊ป เราจะได้ทราบทันทีเลย
และจะได้วางกำลังใจใหม่ทันทีก็วางกำลังใจใหม่จนกว่าจะถูกนะครับ
หลักๆ ก็คืออุเบกขาไปก่อนเลย
เหมือนกับเห็นว่านี่มันไม่ใช่เรื่องของเรา
เป็นเรื่องราวเป็นนิทานของคนอื่น
อย่าไปยึดกับสิ่งที่เห็น
ขอให้ทุกๆ คนมีอารมณ์ใจที่เบาสบายนะครับ




อาจารย์คณานันท์ได้นำคำสอบของ
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
มาบอกกล่าวกัน หลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนว่า …

"เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก
แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า
วิธีละได้ง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น
ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง
ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"



ฉะนั้น ใครที่อยากเห็นอะไร
หรือเห็นแล้วดีใจเข้าไปเห็นอยู่เรื่อย
ก็ควรรู้ว่ามันไม่ประโยชน์แก่ตัวเรา
เพราะการเห็นนั้น ไม่ได้พาตัวเราพ้นทุกข์ไปไหนเลย
ขอสรุปช่วงนี้ ด้วยคำสอนของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ดังนี้




“เวลาภาวนา อย่าส่งจิตออกนอก
ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด
ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำรา อย่าเอามายุ่งเลย
ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด
แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ
จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง
ต้องภาวนาให้มาก ๆ เข้า
เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง"



"ความรู้อะไร ๆ ให้มันออกจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ
เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด
ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละดี
คือ จิตมันสงบ ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว
อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต
แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง"



"ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ
แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา
เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง
……..เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย”

คัดลอกมาจากเวบธรรมจักรครับ



ขอนำเรื่องราวที่คุณปาฏิหาริย์แนะนำคำสอนของ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราสีมา
มาให้เพื่อนธรรมได้ศึกษาเพิ่มเติม


นิมิต (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
บทความนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังฝึกสมาธิ
และพบเจอกับนิมิตต่างๆ อยู่
บางคนก็หลงใหลไปในนิมิตเมื่อพบนิมิตที่ดี
บ้างก็กลัวนิมิตที่เกิดขึ้นไม่กล้าปฏิบัติต่อไป
เมื่อพบนิมิตที่ไม่ดีหรือนิมิตร้าย
หรือบางคนอาจจะกำลังคิดแก้ไขเรื่องนี้อยู่
แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านได้แสดงธรรมเรื่องนิมิตนี้
พอประเทืองความรู้สำหรับผู้เห็นนิมิตในขณะทำสมาธิ



หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
ได้เทศน์แสดงธรรมที่เกี่ยวข้องกับนิมิตในเทปเรื่อง
“นิมิตและวิปัสสนา”

เมื่อครั้งหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่
นักปฏิบัติบางท่านที่ติดนิมิตจนถอนตัวไม่ขึ้น
หลับตาทำสมาธิก็ตกลงในวังวนแห่งภาพต่างๆ
ที่ปรุงแต่งขึ้นในห้วงสมาธิจริงบ้างปลอมบ้าง
แล้วแต่สภาพของสังขารปรุงแต่งหรือญาณกำเนิด



ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน
จึงเตือนผู้ปฏิบัติชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย
ในเรื่องนิมิตและความสุขในสมาธิ
นักปฏิบัติธรรมบางท่านก็หลงใหลได้ปลื้มกับนิมิต
หรือให้ความสำคัญกับผู้รู้เห็นนิมิตว่าเป็นผู้วิเศษเลิศเลอ
ภาพในนิมิตที่ปรากฏและถูกต้องนั้นมีเพียงเล็กน้อย
นอกนั้นเกิดจากสังขารปรุงแต่งเสียเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนิมิตที่ปรากฏขึ้นเอง
และนิมิตที่กำหนด
จิตเมื่อเข้าสู่สมาธิอ่อนๆ ก็มีนิมิตจางๆ
แล้วค่อยๆ ชัดขึ้นเมื่อสมาธิสงบจนกระทั่งชัดที่สุด



ทุกครั้งที่ปรากฏนิมิตต้องใช้ปัญญาอบรมจิตควบคู่กันไปด้วย
(เพราะนิมิตที่ปรากฏอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์)
แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนิมิต
เพื่อพัฒนาการจิตในระดับต่อไป
นิมิตก็จะออกมาในอีกหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นปิติในลักษณะต่างๆ
รวมทั้งความรู้สึกหลากหลายของความสงบ
ก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ
ทั้งนี้ต้องใช้ไตรลักษณ์เป็นหัวข้อธรรมใหญ่
ในการพิจารณาองค์ประกอบของสมาธิทุกรูปแบบก็ว่าได้



เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติทั้งหลาย
พึงสังวรระวังเกี่ยวกับเรื่องนิมิตต่างๆ
ถ้าท่านภาวนาแล้วเกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมา
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มักเกิดขึ้น
เพราะอุปาทานที่ท่านคิดว่าอยากรู้อยากเห็น
ระดับจิตที่สงบลงเป็นสมาธิในขั้นอุปจารสมาธินั้น
ถ้าจิตมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในขณะนั้น
มันจะกลายเป็นตัวเป็นตนไปหมด
เพราะสิ่งที่มองเห็นนั้นรู้สึกมองเห็นด้วยตาธรรมดา
ตาท่านหลับอยู่แต่ท่านก็มองเห็นได้
ทำไมจึงมองเห็นได้
ก็เพราะจิตท่านเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง
อันนี้พึงสังวร



ในเมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวนี้เกิดมาแล้ว
ควรจะปฏิบัติต่อนิมิตทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร
๑. ท่านอย่าไปเอะใจ อย่าไปตื่นในการที่ได้พบเห็น
ให้ประคองจิตอยู่ในท่าทีที่สงบเป็นปกติ
๒. อย่าไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง
ถ้าจริงมันจะสงสัย
สมาธิอ่อนๆ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก
ให้ประคองจิตให้เป็นสมาธิไว้นานๆ
ภาพนิมิตนั้นจะอยู่ให้ท่านชม
บางทีท่านอาจจะนึกว่าภาพนิมิตที่มองเห็นนั้น
เป็นสิ่งที่สนุกเพลิดเพลิน สนุกยิ่งกว่าไปดูหนัง
อันนี้แล้วแต่มันจะเป็นไปตามอำนาจกิเลสของใคร



แต่ถ้าผู้เห็นนิมิตนั้นเคยมีสมาธิดีมีปัญญาดี
อาจจะจับเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต
เป็นเครื่องระลึกของสติพิจารณาเป็นกรรมฐาน
ในแง่ของวิปัสสนาเลย
กำหนดหมายว่านิมิตนี้ก็ไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เสมอ
ถ้าท่านสามารถกำหนดพิจารณาได้อย่างนี้
ท่านก็จะได้ความรู้ในแง่วิปัสสนา



เรื่องนิมิตต่างๆ นี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยถ่ายเดียว
เป็นสิ่งที่ให้ทั้งคุณเป็นสิ่งที่ให้ทั้งโทษ
ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดหมายเอานิมิตเป็นเครื่องรู้ของจิต
เป็นเครื่องระลึกของสติ
เป็นอารมณ์ที่จะน้อมนึกพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน
หรือสมถะกรรมฐานก็แล้วแต่
ย่อมได้ประโยชน์สำหรับผู้มีสติปัญญา
สามารถรู้เท่าทันนิมิตนั้นๆ



แต่ถ้าผู้หลงว่าเป็นจริงเป็นจัง
จิตอาจจะไปติดนิมิตนั้นๆ
ชอบอกชอบใจในนิมิตนั้นๆ
บางทีก็จะไปเที่ยวกับนิมิตนั้น
ฝากเอาไว้ให้นักปฏิบัติได้โปรดพิจารณาเอาเอง
เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นทางผ่านของผู้บำเพ็ญจิต



แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับนิมิตต่างๆ
ซึ่งเกิดจากการพิจารณากรรมฐาน
โดยยกเอากายของเราเป็นเครื่องรู้ของจิต
เป็นเครื่องระลึกของสติ
จะน้อมนึกไปในแง่ไม่สวยงามก็ตาม
จะน้อมนึกไปว่ากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ตาม
ในเมื่อจิตสงบลงแล้ว
ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานหรือในธาตุกรรมฐาน
จนมองเห็นอสุภกรรมฐานว่า
ร่างกายนี้เป็นของสกปรก เป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย
น่าเกลียดผุพังสลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ
ยังเหลือแต่สภาพจิตที่ยังสงบนิ่ง ใส บริสุทธิ์ สะอาด



สิ่งที่รู้เห็นทั้งหลายหายหมดไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ
แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากความเป็นสภาพเช่นนั้นแล้ว
มาสู่ปกติธรรมดาร่างกายที่มองเห็นว่าสาบสูญหายไปนั้น
ก็ยังปรากฏอยู่ จะปรากฏว่าสูญหายไป
หรือปฏิกูลเฉพาะในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้เห็นอันนี้เป็นเพียงนิมิต
ซึ่งหลักของการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน
เมื่อจิตเพ่งจดจ่ออยู่ในสิ่งที่รู้แน่วแน่ นิมิตย่อมเกิดขึ้น




อันดับแรกเรียกว่า “อุคคหนิมิต”
ในอันดับต่อไปเรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต”
อุคคหนิมิตจิตจดจ่อรู้ในสิ่งๆ เดียวอย่างแน่วแน่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นิมิตนั้นก็อยู่ในสภาพปกติ จิตก็อยู่ในสภาพปกติ
แต่รู้เห็นกันอย่างติดหูติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น
อันนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”
ทีนี้ถ้าหากว่าจิตสามารถปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงของนิมิต
ให้มีอันเป็นไปต่างๆ ขยายให้ใหญ่โตขึ้นหรือย่อให้เล็กลง
หรือถึงขนาดสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ
จิตก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิของ “ปฏิภาคนิมิต”



ถ้าหากว่านิมิตมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่างนั้น
ถ้าจิตสำคัญมั่นหมายในการเปลี่ยนแปลงของนิมิต
โดยกำหนดอนิจจสัญญา คือความจำหมายว่าไม่เที่ยง
เข้ามาแทรกความรู้เห็นในขณะนั้นโดยอัตโนมัติ
จิตของท่านจะกลายเป็นการเดินภูมิวิปัสสนากรรมฐาน
และนิมิตที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น
ในขั้นนี้เรื่องราวหรือนิมิตอะไรที่พึงเกิดขึ้นภายในจิต
ของผู้ปฏิบัติอยู่ก็ตาม
ให้สังวรระวังรักษาความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ว่า
สิ่งนี้คือจิตของเราปรุงแต่งขึ้นในขณะที่จิตของเรามีสมาธิ

เอาความรู้สึกอันนี้มาสกัดกั้นเอาไว้ก่อน
เพื่อป้องกันไม่ให้จิตของเราหลงหรือรู้ผิด
นี่คือหลักการปฏิบัติที่เราพึงสังวรระวัง




เป็นยังไงกันบ้างได้อ่านเรื่องราวของอาจารย์
และเพื่อนธรรมที่นำมาบอกกล่าวให้เข้าใจถึงตัว “หลง”
ซึ่งนักปฏิบัติหลายคนจมปลักอยู่ตรงนั้นนาน
บางคนใช้เวลาเป็นหลายเดือนหลายปี
กว่าจะหลุดออกมาจากหลุมดักตรงนั้นได้
และมีอีกหลายคนใช้เวลาตลอดชีวิต
จนข้ามภพข้ามชาติก็ยังไม่สามารถหลุด“หลง” ออกมาได้
แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้
จะทำให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจและหลุดพ้นจากสภาวะ “หลง”
ออกมาได้ในที่สุด
ด้วยหวังว่าจิตของผู้อ่านจะรู้เท่าทันไม่ให้จิตหลงเข้าไปติดกับได้
หรือหากพลัดหลงเข้าไป
ก็หวังว่าแผนที่และเข็มทิศที่เสนอไป
จะชี้นำทางเพื่อนธรรมให้ออกจากเขาวงกตแห่งความหลงได้โดยง่าย



คราวนี้ขอให้คุณ Nakamura
นำคำสอนของหลวงปู่ดู่ วัดถ้ำเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่
มาสรุปให้ฟังกันดีกว่า

วิธีเช็คผลของการปฏิบัติว่าเรามาถูกทางไหมนะครับแบบง่ายๆ
"ปฏิบัติแล้ว โลภ โกรธ หลง แกลดน้อยลงหรือเปล่าละ
ถ้าลดลงก็ใช้ได้แล้ว" หลวงปู่ดู่




ขอทิ้งท้ายเพชรฯ ภาคหลงด้วยบทความจากคุณ ณ.
สาธุค่ะ ทุกสิ่งมี...เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...
ถ้าเราพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ให้ได้ตลอด
เราก็จะไม่หลงไปในนิมิตถูกต้องใช่มั๊ยค่ะ?
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุแห่งไตรลักษณ์
สิ่งที่เกิดขึ้นในนิมิตล้วนจับต้องไม่ได้...
สิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นได้ด้วยตาเนื้อ
ให้จับได้ด้วยสัมผัส
ให้รู้ได้ด้วยใจ
สุดท้ายก็ต้องดับไปเช่นกัน...
ฉะนั้นเราต้องคอยประคองจิตเราให้เข้าสู่กฎไตรลักษณ์ให้ได้ตลอด
แล้วเราก็จะไม่หลง...สาธุค่ะ






 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2552
1 comments
Last Update : 4 มีนาคม 2552 16:34:17 น.
Counter : 1230 Pageviews.

 

แบ่งปันประสบการณ์กัน
เพื่อไม่ให้คนอื่น ไปพลาด ไปเสียเวลากันอีก
และยังเป็นการสลายมานะทิฐิในจิตของตนเองอีกด้วย
เรากล้าเล่าอย่างไม่อายก็เพื่อความดีของผู้อื่นเป็นสำคัญ
หากยังกลัวเสียฟอร์มก็แปลว่ามานะทิฐิยังท่วมหัวท่วมหูอยู่ มาเล่าเรื่อง ความผิดพลาดในการปฏิบัติให้ฟังแล้วกันครับ
..
บทความดีดี..ที่นำมาแบ่งปัน
เห็นด้วยค่ะ
ใช่ค่ะ..อีกด้านเราจะรู้สึกสุขและสบายใจมากมาก

 

โดย: Nissan_n 18 กุมภาพันธ์ 2552 16:28:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไอฟ้า
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ธรรมชาติคือความสวยงาม
ธรรมชาติคือความเรียบง่าย
ธรรมชาติคือความสุข
ธรรมชาติคือความรัก
...แค่เราเปิดใจให้ธรรมชาติ
เราก็จะรับรู้และซึมซับ
ความสวยงามที่เรียบง่าย
ที่ส่งมอบความรักให้เราตลอดไป
...ธรรมชาติ
Friends' blogs
[Add ไอฟ้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.