ธรรมดาคือธรรมดาที่แสนจะธรรมดา ธรรมดาคือธรรมดาที่ยิ่งกว่าธรรมดา ธรรมชาติคือธรรมดา ที่แสนจะธรรมดาและยิ่งกว่าธรรมดา
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
อวิชชา กับ สัมมาทิฐิ

พอเอ่ยคำว่าอวิชชา
หลายคนจะคิดไปถึงเรื่องไสยศาสตร์
คุณไสย มนต์ดำ การเล่นของ การสาปแช่ง
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมามันก็คืออวิชชา
ที่เรารับทราบรับรู้กันมาตั้งนานแล้ว
แต่ในความเป็นจริงอวิชชามันมีรายละเอียดปลีกย่อย
มากกว่าสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาอีก
เราไปทำความรู้จักกับคำว่าอวิชชากันดีกว่า

อวิชชาก็คือความไม่รู้
ไม่รู้อะไร?
ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรรู้?
สิ่งที่เป็นของจริงเป็นของแท้
แล้วอะไรคือของแท้?
ของแท้คือแนวทางที่จะพัฒนาไปสู่การหลุดพ้น
ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วทางหลุดพ้นน่ะ
ฟังมาจนหูจะเปื่อยอยู่แล้ว

รู้ว่าอย่างไร?
ก็ต้องถือศีล ทำสิ่งดีๆ ศึกษาธรรมมะ
ทำสมาธิบ้าง ภาวนาบ้าง ถูกต้องหรือเปล่า?

ก็ไม่ผิดนะ แล้วทำอย่างไรล่ะ?
อ้าว!...จะให้ทำอย่างไร เขาทำอย่างไรกันก็ทำอย่างนั้นแหละ
ศีลสำหรับคนทั่วไปก็ศีล ๕
ศีลอุโบสถก็ศีล๘
ศีลของเณรก็ศีล ๑๐
ศีลของพระก็ศีล ๒๒๗

จำแม่นดีจังเลย แล้วทำได้ไหมล่ะ?
ทำได้สิ อย่างน้อยก็ศีล ๕ แหละ
แต่ก็มีบ้างที่ทำไม่ได้ ก็สิ่งยั่วยวนมันเยอะจริงๆ


ทำไมความไม่รู้คืออวิชชารู้หรือเปล่า?
ก็เพราะไม่รู้มันก็คือไม่รู้ไงจะมีอะไรซะอีกล่ะ
อวิชชาคือความไม่รู้
ที่เกิดมาจากความไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก
สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
ยิ่งฟังยิ่งงง มีอะไรมาอธิบายได้ชัดกว่านี้หรือเปล่า?




รู้จักนกแก้วนกขุนทองไหม?
รู้จักสินกแก้วมันน่ารัก
มีขนหลายสีด้วยสีเหลือง สีเขียว
ปากมันโค้งๆสีแดง แล้วมันยังพูดได้อีกนะ เก่งจัง

มันพูดได้เพราะอะไรรู้ไหม?
เพราะมันฟังคนพูดกันมันก็เลยพูดได้น่ะสิ
เพราะมันเลียนแบบการพูดของคนใช่ไหมล่ะ?
ใช่ ๆ บางครั้งมันก็เลียนเสียงเห่าของหมา
เสียงไก่ขันมันก็ทำได้นะ
มันเก่งมากจริงๆ บางทีมันก็ร้องเพลงได้ด้วยนะ

แล้วมันรู้ความหมายของสิ่งที่มันพูดหรือเพลงที่มันร้องหรือเปล่า?
ไม่รู้สิไม่ใช่นกแก้วนะ

คำว่านกแก้วนกขุนทอง
หมายถึงการพูดโดยอาศัยการท่องจำ
เอาเป็นว่ามีความจำดี
อะไรผ่านหูมาจำได้หมด
จำได้ดีขึ้นใจซะด้วยสิ
แต่ไม่มีปัญญาที่จะไปรู้หรือเข้าใจสิ่งที่ท่องจำได้
เป็นการเลียน...ไม่ใช่การเรียน...

การเลียนคือการลอกแบบจากสิ่งที่มันได้ยิน
ถ้ามันพูดถึงสีต่างๆ ได้ เช่นสีแดง สีเขียว สีเหลือง
ถ้ามันกำลังพูดคำว่าเขียวๆๆๆๆๆๆๆๆ
แล้วเราไปถามมันว่าปากของมันสีอะไร คิดว่ามันจะตอบได้ไหม?
ก็คงตอบเขียวแหละมั้ง
แต่มันก็อาจจะตอบแดงได้นะ ถ้ามีการพูดให้มันได้ยินบ่อยๆ
นกแก้วปากสีอะไร สีแดง
นกแก้วปากสีอะไร สีแดง
นกแก้วปากสีอะไร สีแดง
รับรองถ้ามันได้ยินว่า นกแก้วปากสีอะไร
มันจะตอบสีแดงทันที
เพราะความจำดี ว่าเสียงโทนนี้ แล้วต่อด้วยโทนนี้
มันเป็นสัญญาความจำโทนเสียงนั่นเอง

แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถาม ไปถามมันว่า กล้วยสีอะไร
เราอาจจะได้คำตอบว่าสีแดง
เพราะมันอาจจะจำโทนเสียงที่ว่า
สีอะไร ที่เคยฟังอยู่ประจำเลยตอบ สีแดง
แต่จะรู้ความหมาย จะเข้าใจไหม?
นั่นคงต้องไปเกิดเป็นนกล่ะนะ

แต่ถ้าตามสุภาษิตคำไทยที่ว่า
พูดเป็นนกแก้วนกขุนทอง
หมายถึงสักแต่ว่าพูดไปเรื่อย
ได้ยินอะไรมาพูดพร่ำไปเรื่อย
ไม่ได้รู้หรือเข้าใจในสิ่งที่พูดออกมาเลย
ถ้าคนเราสักแต่พูดเพราะอาศัยความจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง
มันก็คือความไม่รู้นั่นเอง
ถึงแม้คำพูดจะสลวยแค่ไหน ฟังดูมีความรู้ดีแค่ไหน
มันก็เป็นเพียงการก๊อปปี้ทำสำเนา ที่ไม่ใช่ของจริง




แค่การพูดในสิ่งที่ก๊อปปี้มานี่ก็ถือว่าเป็นอวิชชาเลยเหรอ?
ร้ายแรงขนาดนั้นเชียวเหรอ?


การพูดนี่แหละสำคัญมาก
เพราะมันสามารถทำให้คนทำร้ายทำลายกันได้
มันยุยง ปลุกปั่น มันปั่นหัวให้คนตีกันได้

ถ้ากรณีสิ่งที่พูดเป็นสิ่งทีดีคนรับฟังก็ได้รับในสิ่งดีๆ
แม้คนพูดจะไม่เข้าใจเลยก็ตาม
แต่ถ้าหากสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่เหมือนจะดูดีแต่มันไม่ดี
แล้วเราเอามาขยายต่อโดยที่เราก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่
ก็เหมือนกับเราเป็นการสร้างกรรมต่อเนื่องขนาดใหญ่เลย
เพราะคนที่ฟังจากเราก็จะไปขยายต่อไปอีกเรื่อยๆ

ฉะนั้นเราต้องระวังในการพูดให้ดี
เพราะมันอาจจะกลายเป็นอวิชชา
และกลายเป็นกรรมหนัก
ซึ่งเราต้องรับผลกรรมที่เรากระทำลงไปแบบไม่รู้ตัว

แล้วนกมันไม่บาปเหรอได้ยินอะไรมาก็พูดให้คนเขาฟังไปทั่ว?
มันเป็นนก
เราไม่ได้ให้เครดิต
ไม่ได้ให้ความเชื่อถือ
เพราะเห็นว่ามันเป็นนก
มันก็แค่นกไม่มีความสำคัญอันใด
ที่จะทำให้คนที่ได้ฟังหลงผิดได้
เพราะมันก็พูดของมันตามประสานก
แต่ถ้าหากมีใครหลงผิด
ไปเชื่อตามนกที่ฝอยจนน้ำลายแตกฟองมันก็คงช่วยไม่ได้

ถ้าถามถึงบาปบุญคุณโทษ
มันต้องมีอยู่แล้ว
ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ย่อมได้รับผลในสิ่งที่ทำเสมอ
แต่เนื่องจากนกมันไม่มีเจตนา
นกมันไม่เข้าใจในสิ่งที่มันพูดทำ
นกมันมีปัญญาแบบนก
กรรมของมันอาจจะน้อยลงก็ได้
ส่วนคนที่หลงไปกับน้ำลายนก
ก็คงเป็นเพราะรับผลกรรมที่ตนได้เคยกระทำไว้นั่นเอง

อ๊ะ!...ที่ยกตัวอย่างนกขึ้นมานี้อย่าเข้าใจผิดว่าไปดูถูกมันเชียวนะ
เพียงแค่ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เท่านั้น
สัตว์ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตโดยสัญชาตญาณ เพื่อการดำรงอยู่
และมีหลายตัวทีเดียวที่ใช้ความรักความกตัญญู
ตอบแทนให้กับผู้ที่ให้ความรักความเมตตากับมัน

แล้วคนที่พูดดี แต่รู้ไม่จริงนี่
เราจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าคนๆ นั้นเขารู้จริงหรือเปล่าล่ะ?

มันก็ต้องศึกษากันไปสิ เมื่อเราได้เรียนรู้ ไม่ใช่เลียนรู้นะ
เมื่อเราเรียนรู้โดยใช้ปัญญาวิเคราะห์พินิจพิจารณา
เราก็จะรู้ได้ด้วยตัวเราเองนั่นแหละ
ว่าสิ่งที่เรารู้มา สิ่งที่เรารับทราบมามันใช่หรือไม่ใช่
สรุปว่าเราต้องเรียนรู้คนๆ นั้นอย่างนั้นเหรอ?
เราเป็นนักเรียนอยู่แล้วนี่
ยิ่งเรียนเราก็ยิ่งสามารถแยกแยะ
ของแท้กับของเทียมได้เร็วขึ้นนั่นแหละ

และเมื่อผ่านการเรียนรู้มาระดับหนึ่งแล้ว
บางครั้งหรือหลายๆ ครั้งเราก็สามารถจับความรู้สึก
ที่แผ่ออกมาจากคนที่คุยด้วยได้
ถึงขนาดสามารถรู้ถึงสภาวะจิตของผู้ที่กำลังคุยอยู่ได้เลยก็มี
นั่นไม่ใช่ว่าเก่งแต่อย่างใด
หากแต่เกิดจากการศึกษา
และการพิจารณาอยู่เนื่องๆ
ปัญญาจึงเกิด
ทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น




อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอวิชชาคือความไม่รู้
หรืออีกนัยหนึ่งคือความรู้ที่ผิดๆ
ความรู้ผิดรู้ยังไงล่ะ?
รู้ผิดก็คือไม่รู้ถูก
อีกแล้วทำให้งงอีกแล้ว แล้วรู้ถูกมันเป็นอย่างไร?
รู้ถูกคือรู้อย่างท่องแท้ เข้าใจอย่างถูกต้อง รู้ได้ด้วยใจของตน

การรู้ที่ผิดๆ มันเข้าไปรวมถึงความเชื่อที่ผิดๆ
และปักใจเชื่ออย่างนั้น โดยไม่มองไม่เปิดใจให้กว้าง
ไม่เปิดใจศึกษาให้กระจ่าง เชื่อว่าสิ่งที่ตนรู้มานั้นถูกต้องที่สุด
ไม่ยอมรับความคิดใดๆ ที่ผิดไปจากสิ่งที่ตนเชื่อ
ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ผู้นั้นกลายเป็นมิจฉาทิฐิ
ซึ่งก็คือความเห็นผิด ความเชื่อผิด ความคิดผิด
ซึ่งตรงกันข้ามกับสัมมาทิฐิ

มิจฉาทิฐิตัวนี้มีอยู่ในทุกผู้ทุกตัวตน
เพียงแต่ว่าเราสามารถกำจัด ทำให้มันเบาบางได้เพียงใด
ยิ่งเรามีมิจฉาทิฐิมาก
เราก็ยิ่งหลงทางได้มากขึ้น

แต่ถ้าหากเขาได้รับการบอกกล่าวกันมาแบบนั้นๆ
ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จะให้ทำอย่างไรล่ะ
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นความรู้ความเชื่อที่ผิดๆ
แต่เขาไม่รู้ว่ามันผิด พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็บอกก็สอนมาแบบนั้น
คงไม่มีใครอยากจะรู้อะไรผิดๆ หรอก?


นั่นสินะ...คนประเภทที่ไม่รู้ว่าตัวเองผิดนี่แก้ไขไม่ง่ายเลย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้
เพราะปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ
การศึกษาพินิจพิเคราะห์และใช้สติปัญญาในการพิจารณา
โดยยึดหลักคำสอนของพุทธองค์เป็นแนวทางนั่นแหละ
เป็นทางออกที่ดีที่สุด

ซึ่งก็ต้องค่อยๆ แซะ ค่อยๆ แงะ ค่อยๆ งัด
ทำให้เขาเห็นถึงสิ่งที่เราได้จากการที่เราปฏิบัติ
ว่าทำจริงก็เกิดผลจริง
เขาต้องปฏิบัติเอง
เพื่อให้ผลเกิดกับตัวเขาเอง

อีกหลายต่อหลายคนมีความกลัว
แถมด้วยความดื้อ เรียกได้ว่าดื้อด้าน
กลายเป็นมานะทิฐิ
ทำให้ไม่สามารถเปิดใจเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องได้

แล้วจะทำอย่างไรกับคนประเภทนี้ล่ะ?

คนประเภทนี้ที่ว่ามีไม่น้อยทีเดียวนะ
และก็มีอีกหลายคนที่ใช้วิธีนิ่มนวลไม่ได้
มันไม่สามารถเข้าไปเคาะสนิม กัดตะกรัน
ขุดตะกอนที่ฝังแน่นอยู่ได้
บางทีก็ต้องใช้ไม้แข็ง เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้สึกตัว
ซึ่งมันแล้วแต่จริตของผู้นั้น
และวิธีการสอนของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน




บางคนเชื่ออย่างฝังจิตฝังใจว่าตนเองเป็นคนอ่อนแอ
เป็นคนโง่ เป็นคนที่ต่ำต้อย
หรือแม้กระทั่งคิดว่าตัวเองเป็นขี้ข้า
เป็นข้าทาสตลอดชีวิต
ซึ่งอาจจะมาจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม
รวมถึงภาวะจิตที่ติดตัวเขามาตั้งแต่กำเนิด
เขาจึงมีความเชื่อเช่นนั้น
ทำให้ไม่ว่าเขาจะทำอะไร
เขาก็จะตอบสนองกับสิ่งที่เชื่อ
เขาเป็นอย่างนั้นเพราะความเชื่อของเขาเอง


ที่เราจะช่วยเขาได้คือต้องคอยชี้คอยย้ำเตือน
ถึงความเป็นตัวของเขา
ชี้จุดดีๆ ที่เขามี ให้เขาได้รู้สึกถึงความมีคุณค่าของเขา
ให้เขาค่อยๆ ก้าวออกมาจากจุดยืนที่เขาปักเอาไว้
ที่มันทำให้เขารู้สึกผิด รู้สึกโง่ รู้สึกต่ำต้อย
ให้เขาค่อยๆ คลาย ปลดล็อคความเชื่อที่ผิดๆ นั้นเสีย

หรือหลายคนมีความรู้มาก รู้ดี จนรู้ล้น
ร่วมด้วยมานะทิฐิที่คิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น
ตนเองดีกว่าคนอื่น คนเองฉลาดกว่าคนอื่นๆ
ก็เลยมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองรู้มาแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
แล้วก็ปิดตายประตู
ตอกตะปูตรึงไว้ทุกทิศ
เทคอนกรีตทึบทุกด้าน

ไม่ยอมออกมารับอากาศภายนอกเลย
ไม่ยอมรับความรู้ใดๆ
ที่แปลกแยกแตกต่างจากความเชื่อของตนเอง
ไม่ยอมใช้ปัญญาเข้ามาศึกษาเข้ามาพิจารณา

คนประเภทนี้ในจิตของเขาตอกย้ำความเป็นตัวฉัน
ความเป็นหนึ่ง ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เพราะถือว่า
“ฉันรู้แล้ว”
ไม่ยอมรับความคิดเห็นของใคร
มองเพียงมุมของตนเองเท่านั้น
ขาดปัญญาในการที่จะไตร่ตรองมุมที่แปลกแยกออกไปจากมุมของตน
เมื่อแข็งเมื่อกระด้าง ก็จะขาดความอ่อนน้อม
ตรงนี้เองปัญญาจึงไม่เกิด

อวิชชาทั้งหลายล้วนก่อเกิดมาจาก
กิเลศ ตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง โทสะ โมหะ
ความอาฆาตแค้น พยาบาท มิจฉาทิฐิ

ความคิดความเห็นที่ผิดๆ ทั้งสิ้นทั้งมวลเหล่านี้
ล้วนเป็นน้ำเน่า
ที่จะก่อให้เกิดเชื้อโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อสภาวะจิต
และสภาวะกาย
แต่พวกเขาก็ยังดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน
สุขสำราญในน้ำเน่าๆ นั้น
ยิ้มรับยินดีในสิ่งที่ดื่มกิน ด้วยความลุ่มหลงมัวเมา


“ก็ยังเป็นคนธรรมดาอยู่มันก็ต้องเป็นไปตามกระแสโลก”

ก็เป็นคนธรรมดากันทั้งนั้นแหละ
แต่ว่าการเข้าสู่กระแสมากเกินไป
มันก็คือการหลง หลงทาง หลงในกระแสโลก
เรายังอยากหลงวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้นกันอีกเหรอ?
ทุกข์ไม่พออีกเหรอ?
ไม่อยากหาทางออกกันหรอกเหรอ?
คนทุกคนที่อยู่บนโลกนี้เท่าเทียมกันหมด
ไม่มีใครดีกว่าใครในเรื่องของกรรม
เพราะทุกคนย่อมได้รับผลกรรม
ตามสิ่งที่ตนกระทำไว้แล้วเท่าๆ กันทั้งสิ้น




เราไปศึกษาแนวทางที่อาจารย์คณานันท์ได้นำไปชี้แนะ
ในการสัมมนาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่
เกี่ยวกับสัมมาทิฐิซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของมิจฉาทิฐิ
ที่เป็นตัวให้เกิดอวิชชากันดีกว่า
เพื่อจะได้เข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น



สัมมาทิฐิ ดุจดั่งเข็มทิศ
นำทางสู่เส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรม
ในลำดับต่อไปก็คือ
เราจะต้องมีความเห็นที่ถูกต้องที่ว่า
กรรมมีจริง บุญมีจริง บาปมีจริง
กรรมและกฎของกรรมมีผลจริง
เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง
เราก็ไม่ทำบุญ
เราก็กอบโกย
เราก็แสวงหาแต่ความสุขทางโลก
หากันแต่เงินโกยกันแต่ทองกันไป

แต่ความจริงกรรมมีจริงบุญมีจริง บาปมีจริง
นรกมีจริงสวรรค์มีจริง
ภพภูมิต่างๆ การเวียนว่ายตายเกิด
สังสารวัฏทุกอย่างมีจริง
พระนิพพานมีจริง ปรากฏจริง
ผลแห่งการปฏิบัติธรรมมีจริง
ถ้าเราไม่เชื่อข้อใดข้อหนึ่ง
ก็คือความเป็นมิจฉาทิฐิ


เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิด
เราก็กอบโกยกันเฉพาะชาตินี้พอ
เกิดหน เดียวตายหนเดียวภพหน้าไม่มี
มีแต่ปัจจุบันนี้เท่านั้น
ดังนั้น "ฉัน" ก็โกยความสุข
กอบโกยทรัพยากร
โกงทรัพย์สินเงินทองคนอื่นเพื่อ "ฉัน"
จะบำรุงบำเรอความสุขของ "ฉัน" คนเดียวเท่านั้นเอง …

นี้คือโทษของมิจฉาทิฐิที่
ทำให้เกิดทุกข์ เกิดความเบียดเบียน เกิดความยุ่งยาก
เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ กับสังคม และโลกใบนี้
ก็ด้วยทิฐิอันเป็นมิจฉาทิฐิ

แต่เมื่อเราตั้งมั่นอยู่ในความเห็นที่เป็นสัมมาทิฐิ
เราก็จะไม่ประมาท เชื่อมั่นในบุญ เชื่อมั่นในบาป
เชื่อมั่นในกฎของกรรม
เราก็จะไม่ทำชั่ว เราก็จะทำดี
เราก็จะเชื่อ ในภพภูมิ ในการเวียนว่ายตายเกิด
และเราก็จะรู้ว่า พระนิพพานมีจริง



เมื่อเราตั้งมั่นอยู่ใน ความเป็นสัมมาทิฐิได้
...สัมมาสมาธิก็เกิด เพราะสมาธิเราจะดำเนินไปอย่างถูกต้อง
เมื่อสัมมาสมาธิเกิด สัมมาปฏิบัติ
วิถีในการปฏิบัติของเราก็ถูกตามมรรค ตามผล
ในมรรคมีองค์แปด ที่ระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้
หากสัมมาทิฐิเราไม่ได้ตัวเดียว
มรรคมีองค์แปดก็จบเลย
มรรคทั้งแปดข้อจะเพี้ยนหมดเลย
ธรรมจักรจะไม่หมุน

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
สำหรับผู้ที่ตั้งจิตอธิษฐานในความเป็นสัมมาทิฐิ
บางท่าน ธรรมจักรจะปรากฏ
ของตัวผมเอง ปรากฏครั้งหนึ่งในสมัยที่ยังบวชอยู่ที่วัดบวรฯ
ในยุคสมัยนั้นยังไม่ได้ศึกษาธรรมมากนัก
แต่จะมีญาณทัศนะที่ปรากฏหลังจากที่ได้เมตตาอัปมานฌาน
และก็ได้ทำสมาธิในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
จากนั้นมันมีญาณเครื่องรู้ปรากฏขึ้นมาว่า
“ธรรมทั้งหลาย ปรากฏขึ้น เจริญขึ้น ก็ด้วยมรรคมีองค์แปดดังนี้เอง”

หลังจากนั้นก็ปรากฏภาพธรรมจักร
หมุนอยู่ในดวงจิต ...สว่าง
...จากนั้นสภาวะโดย รอบก็เกิดอาการระเบิด
จิตสว่างโพลง มีอาการที่จิตของเรามีปีติ
มีความสุข มีความ สบายใจอย่างบอกไม่ถูก
...จิตมันเปิด มันระเบิด มันตื่นขึ้น
ธรรมจักรในตัว ในจิตของ เรามันหมุน
มองเห็นธรรมจักรหมุนอย่างชัดเจน
วงล้อแห่งธรรม ธรรมในจิตของเรา
มันได้เดินขึ้นในจิตในใจของเรา
...ธรรมะมีความเจริญมีความไพบูลย์งอกงามขึ้น
ก็เพราะด้วยธรรมในข้อที่มรรคมีองค์แปด
ตัวแรกที่สุด ก็คือสัมมาทิฐิ
....หากแม้นเราไม่ทรง เราไม่ตั้งมั่นในสัมมาทิฐิ
เราเป็นมิจฉาทิฐิแต่ต้น
มรรคอีกเจ็ดประการก็จะผิดจะเพี้ยนไปหมด


ดังนั้นความเป็นสัมมาทิฐิสำคัญที่สุด
เป็นเข็มทิศนำทางสู่เส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง
ถ้าไม่มีเข็มทิศนำทาง
เราก็ยังวกเวียน เราก็ยังหลง
เราก็ยังเดินอ้อม ถึงแม้ว่าเราปฏิบัติธรรมก็จริง
แต่หากเราวกเวียนเราเดินอ้อมมากเกินไป
การปฏิบัติก็ช้า เห็น ผลช้า หรือไม่ปรากฏผลที่ชัดเจน

ให้เราทุกคนตั้งจิตอธิษฐาน
“ขอให้ข้าพเจ้าจงมีจิตที่ตั้งมั่น มั่นคง
อยู่ในความเป็นไตรสรณคมน์
ขอให้ดวงจิตของเราทรงอยู่ในความเป็นสัมมาทิฐิ
สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา สัมมาปฏิบัติ ตลอดไป
ตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุดด้วยเทอญ”
... ขอให้ธรรมจักรจงหมุนจงเดินภายในดวงจิตของทุกคน
เพื่อให้เกิดความไพบูลย์ ความเจริญงอกงาม ในความดี ในธรรมะ
ขององค์พระสมณโคดมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า




ยังมีหลายคนทำหน้ายุ่งๆ อยู่ใช่มั๊ย?
ไม่เข้าใจตรงไหนก็สอบถามเข้ามาได้นะ
เอาแบบนี้ดีกว่า
ถ้ายังค่อยไม่ชัดระหว่างสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิ
อาจารย์คณานันท์ได้เมตตาอธิบายไว้
ตามหลักแนวทางแห่งพุทธศาสนาได้ชัดเจนมาก
ตามไปศึกษากันเลย


มีผู้ที่สอบถามเข้ามาเรื่องการแยกแยะธรรมมะและสมาธิ
ว่าจะสามารถแยกแยะได้อย่างไร

ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าท่าน ได้กล่าวถึง
"สัมมาทิฐิ และมิจฉาทิฐิ "เอาไว้
ซึ่งหมายรวมครอบคลุมและยังผลต่อไป
ยังหนทางแห่งการหลุดพ้น คือ มรรคมีองค์แปด
เราสามารถแยกแยะได้ว่า
สมาธิก็ดี การปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ดี
หากเป็นวิชชา หรือธรรมมะตามแนวทางสัมมาทิฐิ
ที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนนี่
ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่สอนสิ่งที่ก่อให้เกิด "อวิชชา" ครับ

วิธีดูก็คือหากเป็นสัมมาทิฐิ
การปฏิบัติจะเป็นไปเพื่อให้ เพื่อสงเคราะห์ เพื่อละ
เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง
ลดมานะทิฐิให้เบาบางลง
มีจิตอ่อนโยน นอบน้อม
อโหสิกรรมให้อภัยเพื่อให้กรรมเบาบางลง
ลดชาติภพให้สั้นลง (นั่นคือใกล้พระนิพพานยิ่งขึ้น)


หากเป็นมิจฉาแล้ว
การปฏิบัติ จะเป็นไปเพื่อการเบียดเบียน กอบโกย
เป็นไปแล้วกลับพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้น
ก่อให้เกิดมานะทิฐิ การถือตัวถือตน
นำชาติภพในอดีตมา เป็นเงื่อนไข
สร้างกรรมก่อเวร สร้างการคับข้องใจ เคืองแค้นกันต่อไป
ก่อภพชาติ สร้างเจ้ากรรมนายเวร ไม่มีที่สิ้นสุด
ยิ่งไกลพระนิพพานไปโดยไม่รู้ตัว
แม้จะได้อภิญญา รู้อดีต รู้ชาติภพก็ตาม
เพราะนำมาใช้พอกพูนกิเลส


สัมมายิ่งปฏิบัติ จิตยิ่งเบา ยิ่งสุข กิเลสยิ่งเบาบางลง
เห็นตัวธรรมดาจนจิตของเราปล่อยวาง ไม่ยึดติด อันเป็นเหตุแห่งทุกข์


มิจฉายิ่งปฏิบัติ ยิ่งหนัก ยิ่งก่อเวร ก่อภพ ก่อชาติ
ยิ่งรู้ ยิ่งเกิดโลภ โกรธ หลง คือรู้ด้วยอวิชชา
รู้เรื่องราวในอดีตชาติแต่ยิ่งทำให้ทุกข์
ยิ่งทำให้จิตเรายิ่ง ไปยึดไปผูกกับ ผู้อื่นมากขึ้น
ทั้งบุญคุณ ความแค้น ความรัก ข้ามภพชาติ จิตยิ่งหนักไปโดยไม่รู้ตัว


ดังนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย วางกำลังใจให้เป็นกุศล
ประกอบด้วยจิตอันเป็นอุเบกขาและปราศจากอคติทั้งปวง
พิจารณาการปฏิบัติของตน ขัดเกลากิเลส
ปรับแนวทางแห่งการปฏิบัติให้เป็นเส้นทางแห่งความดี
ทั้งต่อตนเองและ่ต่อส่วนรวม

ขอเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิจิตจงงอกงาม
จากภายในจิตใจที่ดีงามทุกๆ ดวงด้วยเทอญ




คราวนี้เราจะมาต่อกันด้วยแนวทางที่ถูกต้อง
เพื่อไม่ทำให้เราหลงเข้าไปในอวิชชากัน
ไปฟังอาจารย์คณานันท์กันต่อเลย


หนทางแห่งการปิดอบายภูมิ

เมื่อเรามีความตั้งมั่นในไตรสรณะคมน์
ความลังเลสงสัยในความดีได้ปราศจากออกไป
จากดวงจิตของเราแล้ว
เราก็มาพิจารณาต่อไปในหนทางแห่งการปิดอบายภูมิ
นั้นก็คือ การรักษาศีล การทรงศีลให้บริสุทธิ์


พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติศีลเพื่อเป็นเครื่องปิดอบายภูมิ
ศีลของฆราวาสมีทั้งหมด ๕ ข้อ ได้แก่
ศีลข้อที่หนึ่งเราไม่ฆ่าสัตว์
ไม่เบียดเบียนทั้งคนและสัตว์ทางกาย

อันได้แก่ เราไมได้คร่า ไม่ได้พรากชีวิตผู้อื่น
เราไม่ทุบตี เราไม่ทำร้าย ร่างกายของคนและสัตว์อื่น
กรรมของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ในภพของที่เป็นสัมปรายภพคือภพต่อไป ก็คือ
ทำให้เรา ต้องไปเสวยวิบากอยู่ในนรก


ส่วนกรรมที่ส่งผลมาตัดรอน
ดั่งเช่นในชาติปัจจุบันหรือในชาติต่อๆไปที่เราเกิดเป็นมนุษย์ก็คือ
เมื่อเราทำผิดศีลข้อที่หนึ่ง ทำลายสัตว์อื่น
ก็จะทำให้ตัวเรา มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายเป็นผู้ที่มีโรคมาก
อาพาธมาก กรรมตัดรอนให้เป็นผู้ที่มีชีวิตสั้นทันตาเห็น
นี้คือโทษของการละเมิดศีลข้อที่หนึ่ง



ส่วนธรรมที่เป็นเครื่องตรงกันข้าม
เป็นคู่ปรับกับศีลข้อที่หนึ่งการ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ก็คือการให้ทานที่เป็นทานแห่งชีวิต
การปล่อยสัตว์ การให้ชีวิตสัตว์
ปล่อยโค ปล่อยกระบือ
ปล่อยปลา ปล่อยนก
เราให้ชีวิตเค้า



...นอกเหนือจากนั้น ยังมีกุศลที่เราทำได้ ก็คือ
อย่างหลายๆท่านในที่นี้เป็นแพทย์ก็ดี เป็นพยาบาลก็ดี
การที่เราตั้งกำลังใจรักษาอาการโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น
หรือบางครั้งเรามีโอกาสช่วยชีวิตเค้า
อย่างเช่นคนไข้ฉุกเฉินมา เราช่วยปั๊มหัวใจเค้าขึ้นมาบ้าง
เราช่วยห้ามเลือดให้เค้าบ้าง
เราช่วยแก้พิษที่เค้าโดนงูกัด มาบ้าง
ก็คือการช่วยชีวิต การให้ชีวิตกับเค้า
ดังนั้นตรงส่วนนี้เราสามารถดึงเอาบุญส่วนนี้มาช่วยอธิษฐานจิต
ขอให้ตัวเราเป็นผู้มีโรคน้อย มีอาพาธน้อย มีอายุยืนได้เช่นกัน
ก็ให้จำไปใช้




ส่วนศีลข้อที่สอง ก็คือการไม่ลักทรัพย์
การลักทรัพย์นั้นก็คือการเบียดเบียน
การยักยอกเอาทรัพย์สินของผู้อื่น
เอาสิ่งของของผู้อื่น
เป็นการเบียดเบียนของของเค้า
แย่งของของเขา ปล้นชิงของของเขา
ขโมยของของเขาลักทรัพย์ของเขา
คือ ทำให้เขาเสียทรัพย์
กรรมตรงนี้ก็ทำให้เราไปเสวยวิบากในนรก


ส่วนกรรมที่ตัดรอนก็ส่งผลที่ทำให้เราเสียทรัพย์
เช่น เราโดนขโมยขึ้นบ้านบ้าง
โดนลักของ ของหายบ่อยๆ
ทรัพย์สินในบ้านเราเสียหายจากภัยธรรมชาติ
โดนลมบ้าง โดนไฟไหม้บ้าง
โดนพายุบ้าง โดนน้ำท่วมบ้าง
เป็นวิบากมาตัดรอน ทำให้โดนโกงบ้าง
โดนผู้อื่นมาฉ้อฉลเบียดบังบ้าง
นี้เป็นกรรมที่เราทำไว้และมันส่งผลกลับมาสู่ตัวเรา


ส่วนธรรมที่เป็นปรปักษ์ที่เป็นเครื่องแก้ในกรรม
ที่มาตัดรอนในศีลข้อที่สองก็คือ
การให้ทาน การช่วยเหลือ การสงเคราะห์
การให้ข้าวปลาอาหาร การบริจาคทรัพย์
การบริจาคทาน การเอื้อเฟื้อ การตั้งโรงทาน



อย่างกรณีที่เรามาอบรมครั้งนี้
ทางโรงพยาบาลก็จัดอาหารมาให้ก็เป็นทาน
เป็นโรงทานให้กับผู้ปฏิบัติธรรม
และทานนั้นก็จะมีระดับของความบริสุทธิ์สูงขึ้นไปอีก
ถ้าเราให้ทานกับ คนที่ไม่มีศีล อานิสงส์ก็ไม่เท่ากับผู้ที่มีศีล
ดังนั้นการที่เรามาปฏิบัติธรรมนี้เราเป็นผู้ทรงสมาธิทรงความดี
ทุกคนมาปฏิบัติธรรมไม่มีใครละเมิดศีลห้า
ก็จัดว่าเป็นผู้ที่มีศีล
ดังนั้นทานที่ทางโรงพยาบาลได้จัดได้เลี้ยงนี้
ก็เป็นทานที่มีอานิสงส์มีผล
ดังนั้นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นเราก็ตั้งใจให้กับทีมงาน
ของโรงพยาบาลหาดใหญ่
ขอให้ทางบุคลากรก็ดี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนก็ดี
ตัวโรงพยาบาลเองก็ดี
มีความคล่องตัว มีความเจริญรุ่งเรืองต่อๆไป
ขอให้การสร้างตึกสร้างอาคารสำเร็จสำฤทธิ์ผล
โรงพยาบาลสามารถช่วยเหลืออำนวยประโยชน์สุข
ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตนี้ให้มาก




เมื่อเราระลึกต่อไปในระดับของทาน
จะมีความบริสุทธิ์สูงขึ้นตามผู้ที่รับทาน
ทานที่เราให้กับผู้ที่มีศีล
ก็ยังไม่เท่ากับให้กับผู้ที่เป็นพระสงฆ์
ที่มีความบริสุทธิ์เป็นพระสุปฏิปัณโณ

ทานที่เราให้กับผู้ที่เป็นพระสุปฏิปัณโณ
ก็ไม่เท่ากับทานที่เราให้กับพระโสดาบัน

ทานที่เราให้กับพระโสดาบัน
ก็ไม่เท่ากับทานที่เราให้กับพระสกิทาคามี

ทานที่เราให้กับพระสกิทาคามี
ก็ไม่เท่ากับทานที่เราถวายให้กับพระอนาคามี

ทานที่เราถวายให้กับพระอนาคามี
ก็ไม่เท่ากับทานที่เราถวายให้กับพระอรหันต์

ทานที่เราถวายให้กับพระอรหันต์
ก็ไม่เท่ากับที่เราถวายพระพุทธเจ้า

เคยได้ยินมั้ยครับ?
...และพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสว่า
แต่ทานที่มีผลมากคือ สังฆทาน
คือทานที่เราให้กับหมู่สงฆ์เป็นส่วนรวม
ดังนั้นทานที่เราให้กับสงฆ์เป็นส่วนรวม
จึงเป็นทานที่มีอานิสงส์ผลมาก



และหากเราจะตั้งกำลังใจให้เกิดมีอานิสงส์มากขึ้นไปอีก
เราก็ต้องมาพิจารณาในทานว่า
องค์ประกอบของทาน
ความบริสุทธิ์ของการให้ทาน มีอะไรบ้าง


๑.ความบริสุทธิ์ ของผู้รับในทานนั้น
ก็คือเราถวายหรือให้กับใคร
ดังที่เราบอกมาแล้วว่าสังฆทาน
เป็นทานที่มีผลเลิศ
๒.เรามาพิจารณาข้อที่สอง
ตัวทานนั้นมีความบริสุทธิ์มั้ย?
หนึ่ง ทานนั้นเป็นทานที่เราไม่ได้ลักไม่ได้ขโมยใครมา
เป็นทานที่เราได้มาโดยบริสุทธิ์ก่อนที่เราจะให้
สอง ทานนั้นเป็นทานที่มีความละเอียดปราณีตหรือไม่
ถ้าเราให้ทานที่มีความหยาบ
อานิสงส์น้อยกว่าการให้ทานที่มีความละเอียด
ความหยาบความละเอียดก็คือ
เราใช้ของเช่นไร
ถ้าเราให้ของที่ต่ำกว่าเรา อย่างเช่นเราใส่เสื้อใหม่
แต่เราให้ทานที่เป็นเสื้อเก่าๆ เสื้อที่เราไม่เอาแล้ว
อานิสงส์ก็ไม่เท่ากับทานที่เราให้เสื้อเสมอกับที่เราใส่หรือดีกว่าที่เราใส่
อย่างเช่น เวลาเรากินอาหารเรากินอย่างดี
แต่เวลาเราไปถวายพระ ถ้าเราถวายเป็นเดน
เป็นของที่เราไม่ชอบ ผลักไป ถวายพระ

ดังนี้เวลาที่เรารับอานิสงส์ของทาน
เราก็จะได้รับของห่วยๆ แย่ๆ

บางคนเป็นเศรษฐีมีเงินเยอะ
กลับไม่ได้ใช้ของดี ใช้แต่เสื้อผ้าปุปะ
ด้วยความตระหนี่ ด้วยจิตที่เราให้เดนมาก่อน
ก็จะใช้แต่เสื้อผ้าเก่าๆ รถโทรม ๆ บ้านผุๆ
เงินมีเยอะ แต่ไม่ได้ใช้
เนื่องเพราะด้วยอานิสงส์ที่ให้เดนทาน


ประเภทส่วนที่สองก็คือ ให้มิตรทานคือ
เราใช้อย่างไร เราให้อย่างนั้น
ให้ของที่เสมอกับที่เราใช้ อย่างนี้เราก็จะได้เป็นปกติ



ส่วนอีกประเภทคือ การให้ทานที่เป็นเลิศ
อย่างเช่น เรารู้ว่าเราจะไปกราบพระสุปฏิปัณโณ
เรารู้ว่าเราจะไปกราบพระอรหันต์
เราบรรจงทำอาหารที่ปราณีต
ซึ่งโดยปกติเรากินของเราเองเราอาจจะกินข้าวราดแกง
แต่เรารู้ว่าการทำทานที่ปราณีต
มีอานิสงส์ มีผลเลิศ
เราบรรจงทำอาหารอย่างปราณีตเต็มกำลัง
หมายถึงอย่างไม่เบียดเบียนตัวเราด้วย
คือกำลังของเราทำได้อย่างนี้
แต่เราทำให้ได้ดี ให้ปราณีตที่สุดเท่าที่เราจะพึงทำได้
แต่ดีกว่าที่เรากิน ดีกว่าที่เราใช้
และน้อมถวายท่าน
คราวนี้เวลาอานิสงส์ ผลที่จะได้
เวลาเราได้ของ จะได้อะไร
เรามักจะได้แต่ของดีๆ
ที่เราเองก็ไม่กล้าแม้แต่จะซื้อใช้เอง
แต่คนอื่นกลับเอาของดีๆกว่าที่เราจะกล้าซื้อมาให้เรา
หรือจับฉลากได้รางวัลดีๆมา
ก็ด้วยเหตุแห่งการให้ทานอันปราณีต


ดังนี้เราได้รู้แล้วว่าปัจจัยในการทำทานมีอะไรบ้าง
หนึ่งผู้รับ มีความบริสุทธิ์สูง ทานก็มีอานิสงส์สูง
ตัวทานมีความปราณีตสูง อานิสงส์แห่งทานก็สูง




และสุดท้ายคือผู้ให้ทาน
คือตัวเราเอง

ทำอย่างไรจึงจะให้ทานมีอานิสงส์สูงที่สุด
นั่นคือ จิตใจของเรา
ถ้าเราตั้งกำลังใจของเราให้เป็นกำลังใจให้สูงที่สุด
ผู้ให้ทานมีความบริสุทธิ์ด้วย
อานิสงส์ก็ยิ่งสูงที่สุดด้วย


ทำอย่างไรผู้ให้ทานจึงจะมีความบริสุทธิ์สูง?

หนึ่ง เราตั้งกำลังใจว่า
ขณะนี้เรากำลังจะทำทาน
กำลังจะถวายทาน
กำลังจะทำความดี
เราย้อนกลับมาพิจารณาจิตเราว่า
ตอนนี้ ขณะจิตนี้ ศีลของเราบริสุทธิ์
เราทรงศีลห้าบริสุทธิ์
ไม่ได้ฆ่าสัตว์
ไม่ได้ลักทรัพย์
ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม
ไม่ได้พูดปด
ไม่ได้ดื่มสุรา
ทรงอารมณ์ใจว่าในขณะที่เราจะถวายทานนี้
เราทรงศีลอยู่อย่างบริสุทธิ์
ดังนี้เรียกว่าศีลเป็นเครื่องรักษาให้เราบริสุทธิ์เป็นชั้นที่หนึ่ง



ชั้นที่สอง เรากำหนดให้เป็นสมาธิ
ก็คือเราทรงจิตอยู่ในฌาน
ความบริสุทธิ์ของจิต
กำลังของจิตที่เป็นฌาน
ก็เป็นความบริสุทธิ์



ชั้นที่สาม เราทรงอารมณ์ใจว่าเราถวายทาน
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
จิตของเรา ตั้งจิตว่าเราจะทรงอยู่ในพรหมวิหารสี่
และเราตั้งจิตว่า ทานที่เราจะทำนี้
เราปรารถนาที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย
มาร่วมยินดี มาร่วมโมทนา
มาร่วมมีส่วนร่วมในบุญกุศลนี้ทุกประการ
จิตเราทรงอยู่ในเมตตา
ไม่มีขอบเขต
แบ่งบุญ ไม่หวงบุญ
มีแต่เมตตา
มีแต่ความแบ่งปัน

จิตเรามีความบริสุทธิ์มั้ย ?


จากนั้นถ้าจะเอาสูงกว่านั้น
ชั้นสูงสุด ให้เราตั้งกำลังใจว่าเราถวายทานนี้
เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
น้อมถวายพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
และทุกๆ ท่านบนพระนิพพาน
ให้เราเห็นในจิตเราว่า
ทานทั้งหมดที่เราน้อมถวายสว่างสดใส
เป็นเพชรประกายพรึกแพรวพราวสวยงาม
และตัวเรากำลังยกน้อมถวายพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
ทุกๆท่านบนพระนิพพาน
กำหนดในจิตให้มีตัวเรามากมายเท่ากับทุกท่านบนพระนิพพาน
แล้วน้อมถวายทานนี้กับทุกท่าน


ถ้าจิตเราปราศจากอคติทั้งปวง
ทานที่เราให้ก็ยิ่งมีความบริสุทธิ์สูงสุด




มาที่ศีลข้อ๓ คือการไม่ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
ซึ่งก็รวมถึงไม่ผิดสามีผู้อื่นด้วย
การผิดลูกเมียผู้อื่นเรียกง่ายๆ ว่าเป็นชู้
และการหมกมุ่นอยู่ในกามราคะ
มีจิตใจฝักใฝ่ในกามอยู่ตลอด
ลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกามารมณ์
ไม่ว่าทั้งหญิงหรือชาย
กรรมตรงนี้ทำให้เราตกสู่อบายภูมิในส่วนของนรก


ส่วนกรรมที่ส่งผลในชาติที่เราเกิดเป็นมนุษย์
ในส่วนที่เป็นกรรมตัดรอน ก็คือกรรมนั้นจะทำให้
หนึ่ง ลูกของเราจะไม่อยู่ในโอวาท ดื้อกับเรา
คนในปกครองก็จะดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟัง

ข้อต่อไปก็คือ บางครั้งกรรมที่เราเจ้าชู้มากๆ
จะทำให้เรากลายเป็นกระเทยบ้าง ผิดเพศบ้าง
เพราะกรรมที่เราไปหมกมุ่นกับเพศตรงกันข้าม
จิตมันก็จะไปฝัง
พอมาเกิดอีกที มันก็จะมาจุติ
มาเกิดเป็นเพศที่มีความก้ำกึ่งกันอยู่
นี้เป็นโทษเป็นภัยของความที่เราเจ้าชู้ ผิดศีลข้อนี้



ธรรมที่เป็นคู่ปรับกับข้อกาเมฯ ก็คือ
การปลีกวิเวก ความสันโดษ เนกขัมมะบารมี
ก็คือตรองให้เห็นโทษภัยแห่งกาม

การละเมิดกาม การล่วงเกิน การเป็นชู้กัน
เราดูข่าวก็มักจะมีข่าวที่ฆ่ากันเพราะหึงหวงกัน
คนจะฆ่ากันได้ก็เพราะมีความรู้สึกที่เป็นอย่างไร ..?
โกรธมั้ย แค้นมั้ย อาฆาตมั้ย พยาบาทจองเวรมั้ย?
มันเป็นโทษเป็นภัยที่ทำให้เกิดทุกข์
เกิดการเบียนเบียนกัน
ความยึดติด
ความหลงในกาม
ทำให้เกิดโทษเกิดภัยเกิดทุกข์
กับตัวเราก็ดี กับบุคคลอื่นก็ดี จริงมั้ย?


เมื่อเราตรองให้เห็นโทษเห็นภัยแล้ว
เราก็ปลีกว่าเราปรารถนาที่จะบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี
เราจะสร้างบุญ สร้างบารมีของเรา
เราอาจจะดำรงชีวิตในเพศฆราวาส
เราอาจจะไม่สามารถบวชได้
แต่การที่เรามาปฏิบัติธรรมในสองวันนี้
ให้เราตั้งกำลังใจว่า เราได้ปลีกจากกาม ถูกมั้ย ?
เรามีความบริสุทธิ์ เรามิได้ละเมิดในศีลข้อนี้
เรามาอบรมจิตอยู่ในสมณะธรรม
มาดำรงจิตในสมาธิ ดำรงจิตรักษาศีลกัน


ดังนั้นสองวันที่เรามาปฏิบัติกัน
ก็เป็นการบำเพ็ญบารมีเนกขัมมะ
ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆก็ตาม
แต่ก็คือการสร้างบารมีเนกขัมมะ
ข้อที่เราทำได้ก็คือ
หาวัน หาเวลา สามวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง
ไปปลีกบวชชีพราหมณ์ บวชผ้าขาว บำเพ็ญเนกขัมมะบารมี
ตรงนี้ก็จะเสริมจะเป็นธรรมที่มาแก้ไขเป็นคู่ปรับในกรรม
ที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร



ถ้าหากเวลาที่เราจะไปสามวัน ก็ไม่ไหว เจ็ดวันก็ไม่ไหว
วิธีการที่จะบำเพ็ญบารมีเนกขัมมะอย่างง่ายก็คือ
เรากำหนดว่า วันพระก็ดี วันโกนก็ดี
เราจะถืออุโบสถศีล เราจะรักษาศีลที่บ้านนี่ล่ะ
จะใส่เสื้อขาวก็ได้ ไม่ใส่เสื้อขาวก็ได้
แต่เราจะรักษาจิต เราจะรักษาอุโบสถศีลให้บริสุทธิ์
และอธิษฐานว่าตรงนี้ขอให้เป็นเนกขัมมะบารมี
ก็สามารถทำได้เช่นกัน ... ยากมั้ย ?
พอทำได้นะ ....อะไรที่ทำได้
อะไรที่ทำง่าย ....ข้ออ้างจะได้น้อย
..ไม่งั้นก็โน่นนี่นั้นก้อไม่ได้
ถ้ามันง่ายซะก็ หวานเลย ทำได้ตลอด ทำได้เรื่อยๆ




คราวนี้เข้าสู่ศีลข้อที่สี่ไม่โกหก
มุสาวาท คือคำพูด คือวาจาที่ล่อลวงหลอกลวงโกหกฉ้อฉล
โดยปรารถนาให้เขาเสียประโยชน์
หรือจะหลอกเขาเอาสนุกก็มี
บางคนพูดโกหกเอาสนุก
แกล้งเพื่อนเล่นได้.. สนุก !!
แต่คนอื่นเขาเดือดร้อน ตรงนี้ก็เป็นบาป
หรือโกหกหลอกลวงฉ้อฉลให้ตัวเองได้ทรัพย์มาบ้าง
อย่างนี้ก็เป็นบาป

แต่บางครั้ง ก็ยังมีคำพูดโกหกแต่ไม่ผิดศีลอยู่
อย่างเช่นบางครั้งเราจำเป็นที่จะพูดเพื่อให้กำลังใจคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้
บางครั้งเราดูเราสันนิษฐานจากอาการ
ท่าทางจะเพียบแปล้ ไม่รอด ...
เราบอก..ไม่ได้ๆ
เราเป็นคนตรง เราบอกเค้าไปตามตรง
...พี่ ไม่รอดหรอก!!
…คนไข้จะเป็นไง.. เสียกำลังใจมั้ย ?
หมดกำลังใจนะ
ดังนั้นเราจำเป็น
อย่างนี้ไม่ใช่โกหกเพื่อหลอกลวงเพื่อให้เค้าเสียประโยชน์



แต่เราพูดเพื่อให้กำลังใจเค้า
เราก็ต้องบอกกับเค้า ปลอบเค้าว่า ...
ทำใจดีๆนะ ยังงัยก็ดีวันดีคืนนะ ยังงัยก็เข้มแข็งนะ...
เราต้องบอกเขาอย่างนี้ไป
ตรงนี้ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเราไปพูดอีกแบบประมาณว่า...
เราแลดูอาการคนไข้แล้วก็ดูท่าจะไม่รอด
แต่เราจะเลี้ยงจะดึงไว้เพราะว่า
เค้าจะได้จ่ายค่ารักษาเรานานๆหน่อย ...
อย่างนี้เรียบร้อย ผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์


ดังนั้นคำพูดโกหกก็คือการหลอกลวง
ทำให้ผู้อื่นเค้าเสียประโยชน์
ทำให้ผู้อื่นทุกข์ใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเรา


กรรมที่ทำให้ส่งผลเวลาที่เราสิ้นจากอรรถภาพนี้
ก็ต้องลงนรกเหมือนกัน
ส่วนกรรมที่มาตัดรอนในชาติปัจจุบันก็ดี
ที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี
ในศีลที่เราละเมิดข้อที่เราโกหกหลอกลวงผู้อื่นก็คือ
เราก็จะเจอแต่คนที่ไม่จริงใจกับเรา
เคยมั้ย? ทำไมเจอแต่คนหลอกเราเรื่อยเลย
ไม่จริงใจกับเราเลย นี่เป็นกรรมที่เราทำเอง
เป็นกรรมที่มาตัดรอน จากการที่เราบำเพ็ญมุสาวาท
จากการที่เราไม่จริงใจกับผู้อื่นก่อน ผลก็จะปรากฏแบบนี้


ส่วนธรรมที่เป็นเครื่องปรปักษ์
เป็นคู่ปรับกับศีลในข้อมุสาวาทก็คือสัจจะ
สัจจะคือคำพูดที่เด็ดเดี่ยว คำพูดที่มีความจริงใจ
และอธิษฐาน
ก็คือการตั้งจิตมั่นมีความเด็ดเดี่ยวไม่คลอนแคลน



เมื่อเราตั้งมั่นอยู่ในความเป็นสัจจะไว้ให้เป็นปกติ
เราก็จะเจอแต่คนที่เค้ามีสัจจะ
และคนที่เค้ามองเราคนเค้าปฏิบัติต่อเรา
เค้าก็จะรู้ว่าเราเป็นคนจริง เป็นคนที่เด็ดเดี่ยว
เป็นคนที่มีสัจจะมีความจริงใจ
ผลก็จะไม่มีคนที่เค้ามาหลอกลวงเรา
นี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ในข้อคุณธรรม
เพื่อให้ศีลเราบริสุทธิ์ และทำให้ธรรมเราเจริญยิ่งๆขึ้นไป
ศีลนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์คือ งดเท่านั้น
แต่เราต้องทำให้ ธรรมะ เจริญขึ้นด้วย




ศีลข้อที่ห้า คือ ข้อสุราเมรยมัชปมา
ไม่ดื่มสุรา ไม่เสพของมึนเมา

ความหมาย คือสุราและของมึนเมาเป็นเครื่องเบียดเบียน
เป็นเครื่องนำไปสู่อบายภูมิ
ทำให้เสียทรัพย์
ทำให้เราหลงมัวเมาจิตจะหมกมุ่นจดจ่ออยู่กับอบาย
อยู่กับอารมณ์ที่มัวเมา กรรมที่ส่งผลนอกเหนือจากนรก


กรรมในส่วนที่เป็นกรรมตัดรอนก็คือ จะทำให้
หนึ่ง เราจะเป็นผู้ที่ปวดศีรษะบ่อย กินเหล้านะ
ข้อที่สอง จะทำให้เราไม่สามารถทรงสมาธิได้มาก
เพราะเราทำลายสติ
สมาธิเป็นตัวที่สร้างสติ
ในเมื่อเราทำกรรมที่เป็นเครื่องทำลายสติ
สมาธิเราก็จะไม่ดี เราจะเมา
ข้อที่สาม ที่เป็นวิบากมาตัดรอนก็คือ
เวลาที่เรากินเหล้า จะทำให้เราละเมิดศีลข้ออื่นทั้งหมด


เพราะเราทำลายสติของเรา ใช่มั้ย เคยฟังนิทานมั้ย ?
ที่บอกว่า มีคนหนึ่งเค้าไปกินเหล้ากับเพื่อน
พอกลับมาบ้าน เมียถาม ไปไหนมา
ไม่บอก..ไปกินเหล้ามา ก็บอกว่าไปอย่างอื่น
ก็ผิดศีลอีกข้อแล้ว โกหก
พอเมียไล่ เหม็นเหล้า
เมียไล่ หนีไปที่อื่นไปเที่ยวต่อ
ไปเที่ยวโสเภณีต่อ เมาแล้วไปต่อ อบายต่อ
สรุปผิดศีลข้อสามต่อ
คราวนี้เมาไปเรื่อยๆ ไปโมโหมีเรื่องกับคนอื่น
ไปตีไปแทงกับเค้า ผิดศีลข้อที่หนึ่งต่อ
ดังนั้นพอมันไม่มีสติ แล้วมันผิดไปหมด


หรือเอาง่ายๆเราพิจารณาต่อไป
เรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
เคยได้ยินมั้ย เป็นเด็กเมาเหล้าบ้าง เมายาม้าบ้าง ทำไง
ฆ่าพ่อฆ่าแม่แต่เอาเงินไปกินยาไปซื้อยา เคยได้ยินมั้ย
ถ้าปกติเค้าไม่ใช้ยาเสพติดเค้าจะทำอย่างนั้นมั้ย ไม่ทำ
เพราะทำลายสติข้อเดียว
ทำให้สามารถทำบาปที่เรียกว่า “อนันตริยกรรม” ได้
เพราะทำลายสติอย่างเดียว
ดังนั้นมันเป็นโทษมั้ย


เรามองว่าเล็กน้อย ...กินๆไปตามสังคม
พอมันติดพอมันชอบแล้ว ผลมันเป็นยังงัย
มันหนักกว่าที่เราคิดเยอะ
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอย่าไปคิดว่ากรรมหรือบาป
เป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น
ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ อุปมาดั่งสนิมในเนื้อเหล็ก
จุดสนิมเล็กๆเพียงจุดเดียวมันสามารถลามทำให้ด่างไปทั้งเล่ม
ทำให้โลหะทั้งชิ้นเป็นสนิมเกรอะกรัง
คือทำลายได้ทั้งหมด
ฉันใด บาปอกุศลเล็กๆน้อยๆ
เรามองเราประเมินว่าเป็นเรื่องเล็ก
มันก็เป็นความประมาทและทำให้บังเกิดความเสื่อมได้เช่นกัน


ดังนั้นสำหรับธรรมที่เป็นเครื่องทำให้เป็นคู่ปรับกับศีลข้อที่ห้า
ก็คือการทำสมาธิการตั้งสติ การฝึกจิต
คือเป็นผู้ที่เราจะต้องฝึก รู้จิต
มีสติรู้เท่าทันจิต ทันอารมณ์ตลอดเวลา
ตรงนี้เป็นธรรมที่มาเป็นปรปักษ์
กับศีลข้อที่ห้าที่เราจะทำให้มากขึ้นยิ่งๆขึ้นไป


ดังนั้นเมื่อเรามาพิจารณาดูแล้ว
1.เรามีความไม่ประมาทในความตาย
เรามีเป้าหมายแห่งชีวิตในภพภูมิต่อไป อย่างชัดเจนมั่นคง
2.เรามีความมั่นคงในพระพุทธในพระธรรมในพระสงฆ์
มีความตั้งมั่นในความเป็นสัมมาทิฐิ
3.เรามีศีลห้าที่บริสุทธิ์
และเราเจริญธรรมที่เป็นเครื่องหนุนนำให้ศีลห้าเราบริสุทธิ์เป็นปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเมตตาพรหมวิหารสี่
ยิ่งเจริญมากเท่าไร ศีลเราก็จะยิ่งบริสุทธิ์
เพราะเมตตาพรหมวิหารสี่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงศีล
เป็นอาหารหล่อเลี้ยงฌานสมาบัติให้เจริญ
เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจเราให้ชุ่ม เย็น

ซึ่งทั้ง 3 ข้อเพื่อการปิดอบายที่ว่านี้
พระท่านเรียกว่าสังโยชน์ 3
องค์ประกอบของสังโยชน์ 3 ในภาษาบาลีคือ
1.สักกายะทิฐิความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายขันธุ์ 5
2.วิจิตกิจสา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย
การเวียนว่ายตายเกิด และ ทิฐิ
3.สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำศีล
(เข้าใจศีลแต่เปลือก เข้าใจแค่ปาก ไม่ได้ปฏิบัติ
ไม่ได้ให้ความมั่นคงในการปฏิบัติ...เพื่อนธรรม)

ถ้าเราตัดสังโยชน์ 3 ข้อนี้ได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นองค์แห่งพระอริยะเจ้าเบื้องต้น
ในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระโสดาบัน
ถ้าเราทรงอารมณ์จิตทั้ง 3 ข้อนี้ได้
ก็จะเป็นเครื่องปิดอบายภูมิอย่างถาวร
มีพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบันบารมีต้น
คือยังต้องเกิดอีก ๗ ชาติ ก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
บารมีกลางอีก ๓ ชาติ ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน
หรือบารมีเข้มข้น ก็คืออีกชาติเดียวก็ถึงซึ่งพระนิพพาน
พระโสดาบันคือพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา
ซึ่งถึงแม้เราจะเป็นญาติโยมเป็นฆราวาส
ก็สามารถรักษาศีลรักษาคุณธรรม
ทรงความดีในข้อนี้ได้ไม่เกินวิสัย…

เอาล่ะได้ฟังการขยายความจากอาจารย์คณานันท์กันมาแล้ว
ผู้เขียนหวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
และอยากให้ทุกท่านทราบว่าปัญญาที่พวกเราทุกคนใฝ่หา
ยิ่งเรายิ่งโน้มเข้าหา อ่อนเข้าหา เราก็จะได้ปัญญา
เพราะ ปัญญาเกิดจากความอ่อนน้อม


ธรรมไม่ใช่หนังสือ
ธรรมไม่ใช่การอ่าน
ธรรมไม่ใช่การท่องจำ
ธรรมคือการปฏิบัติแล้วรู้จริง





Create Date : 02 เมษายน 2552
Last Update : 29 พฤษภาคม 2552 10:19:16 น. 0 comments
Counter : 920 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ไอฟ้า
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ธรรมชาติคือความสวยงาม
ธรรมชาติคือความเรียบง่าย
ธรรมชาติคือความสุข
ธรรมชาติคือความรัก
...แค่เราเปิดใจให้ธรรมชาติ
เราก็จะรับรู้และซึมซับ
ความสวยงามที่เรียบง่าย
ที่ส่งมอบความรักให้เราตลอดไป
...ธรรมชาติ
Friends' blogs
[Add ไอฟ้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.