<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
1 มิถุนายน 2551

ตอนที่ 12 ขวัญใจนักเรียน

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก



ตอนที่ 12 ขวัญใจนักเรียน

มาถึงตอนนี้แล้ว ฉันก็เริ่มเป็นดาวเด่นประจำชั้นเรียนได้ไม่น้อยหน้าใคร เมื่อมีใครถามเพื่อนๆว่าเรียนชั้นไหน แทนที่จะตอบว่า สาขา......ภาคเรียนที่......กลับตอบสั้นๆว่า “ ชั้นเรียนที่มีหม่าม้า” หรือไม่ก้อ “เรียนห้องเดียวกับหม่าม้า” แค่นี้คนฟังก็ร้องอ๋อ...เข้าใจทันที ด้วยบุคลิก(และแน่นอนที่สุด...วัย)ที่แตกต่างชัดเจนทำให้ อาจารย์ บุคลากรตลอดจนพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนรู้จักฉันดี แม้ตอนแรกจะไม่แน่ใจว่าใช่นักเรียนหรือเปล่าจนฉันต้องรับไหว้เด็กๆเหล่านี้ไปหลายครั้ง

บางคนเขินๆไม่รู้จะเรียกคำนำหน้าว่า “ป้า” หรือ “พี่” ต่อเมื่อฉันเรียกแทนตัวเองว่า “หม่าม้า” โดย(แอบ)ถือวิสาสะนับเด็กๆพวกนี้อายุเกณฑ์เท่าลูกๆ ความเขิน ค่อยๆลดไป ความสนิทสนมกรายมาแทนที่

“ หม่าม้าขา วันนี้อาจารย์โทรมาบอกว่าจะเข้าคลาสสายครึ่งช.ม. ให้อ่านเอกสารที่แจกไปก่อน”

พนักงานผู้ทำหน้าที่ประสานงานประจำสาขาหลักสูตรบอก เป็นอีกครั้งที่ฉันจะต้องนำสารจากเธอไปกระจายให้เพื่อนๆที่เหลือ คล้ายกับว่าฉันทำหน้าที่หัวหน้าชั้นกลายๆ

“หม่าม้าคะ ตารางเมคอัพของวิชา.....ค่ะ”

ฟังเผินๆเหมือนจะเป็นตารางแต่งหน้า ที่จริงเป็นศัพท์เรียกเข้าใจกันในกลุ่มคนเรียนหนังสือ ตารางเรียนจัดพิเศษที่อาจารย์และชั้นเรียนตกลงกันในวิชาที่รียนไม่ทันหรือขาดหายไปเพราะเจอวันหยุดนักขัตฤกษ์

“หม่าม้าคะ บ่ายนี้จะมีเซคชั่นบรรยายพิเศษจากวิทยากรข้างนอก ช่วยบอกเพื่อนๆในชั้นเข้าฟังด้วย”

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานทางวิชาการให้แล้ว ฉันมักจะถูกยกให้เป็นตัวชูโรงเมื่อมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนนักศึกษามอบของที่ระลึกแก่วิทยากรพิเศษที่มาบรรยาย ตัวแทนสาขามอบพวงมาลัยดอกมะลิแก่บรรดาอาจารย์ทั้งหลายในวันไหว้ครู ตัวแทนชั้นเรียนเมื่อต้องประชุมร่วมกับชั้นเรียนอื่นเรื่องการจัดสัมมนาร่วม เป็นต้น

ฉันเลยกลายเป็น “หม่าม้า” ของทุกคนในมหาวิทยาลัยโดยปริยาย อาจารย์บางท่านก็ลืมชื่อจริงของฉัน เผลอเรียก “คุณหม่าม้า” ก็มี

ถ้าไม่นับวิชาการเงินแล้ว เทอมนี้ฉันสนุกกับการเรียนพอสมควร หลังจากเร่งปรับระดับความเร็วให้เท่ากับเพื่อนๆอ่อนวัยในกลุ่มผ่านมาได้หนึ่งภาคเรียนแล้ว อีกทั้งมีวิชาที่ฉันได้ขุดหยักสมองเปิดกรุในอดีตเล่าเรื่องความทรงจำย้อนยุคซึ่งสร้างความหรรษาให้กับชั้นเรียนไม่น้อย ฉันเลยได้ตำแหน่งขวัญใจของห้องไป เวลาอาจารย์ถามเรื่องราวสมัยเก่าๆก็มักจะหันมาทางฉัน
เสมอ ทำให้ต้องตื่นตัว เตรียมพร้อมทุกนาที

“ หม่าม้า เค้าเป็นดาวมหาวิทยาลัยนะ” ปออ่อนบอกเพื่อนๆที่มาเที่ยวบ้าน อย่างภูมิใจ

“ ใครๆเค้าเป็นตอนสาวๆ แต่หม่าม้าเป็นตอนแก่ เก๋เสียอีก”

เพื่อนๆของลูกๆขบขันแกมฉงนเมื่อรู้ว่าฉันกลับสู่ห้องเรียนในวัยขนาดนี้ บางคนออกปากทึ่งในความเพียรพยายามครั้งนี้

“โอ้โฮ หม่าม้าไม่เบื่อเหงกหรือครับ ตอนท่องหนังสือสอบ”

“ โอ๊ย หม่าม้าน่ะน่ะเค้าชอบเขียน เคยฝันจะเป็นนักประพันธ์ใหญ่ ”ลูกชายตอบแทน
“ เป็นนักเขียน S.E.A. WRITE รู้จักมั้ย พวกชอบไปเขียนข้างๆทะเลน่ะ ” เจ้าตัวเล่นคำพ้องให้เพื่อนๆงงเล่น

จริงด้วยแหละ ฉันเคยฝันจะเป็นนักเขียน เพราะทำคะแนนวิชาการประพันธ์ได้ดี การผันอาชีพมาเป็นเลขานุการแม้จะไม่ตรงใจนัก ก็ยังคงรักษาทักษะการสื่อสารไว้ได้บ้าง เสียดายตั้งแต่คลอดป่านดำแล้ว ฉันต้องออกจากงานเพื่อดูแลลูกๆทั้งลินินที่กำลังโตวันโตคืน ป่านดำกำลังอ้อแอ้ หลังจากนั้นก็มีปออ่อนรั้งท้าย เวลาส่วนตัวหมดวุ่นไปกับพวกเขาจนกระทั่งเริ่มโตๆกัน ฝีมือที่เคยฝึกปรือมลายไปสิ้น




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2551
3 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2551 19:09:02 น.
Counter : 536 Pageviews.

 


กลับมาถึงตำแหน่งขวัญใจนักเรียนบ้าง มีเรื่องไม่สบอารมณ์หลายๆเรื่องที่เพื่อนนักเรียนในชั้นอยากจะร้องเรียน ขอความผ่อนปรนจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่พ้นที่จะต้องให้ฉันเป็นตัวแทนรวบรวมความคิดเห็นไปช่วยพูด เช่น ปัญหาที่จอดรถซึ่งต้องจ่ายแพงเป็นรายชั่วโมง หากวันไหนมาทำงานทั้งวัน ก็แทบจะต้องควักหมดตัวเลยเหมือนกัน

“ ทางที่ดี อย่าเอารถมา ไม่ต้องกังวลเรื่องหายด้วย” เพื่อนคนหนึ่งสรุปหาทางออกให้

“ แต่กลับแท๊กซี่ดึกๆก็อันตรายนะ”

“แถมบ้านเราต้องเข้าซอยอีกลึก รถสองแถวก็เลิกวิ่งแล้ว ต้องซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อย่างเดียว”

“ นั่งแท๊กซี่ทุกครั้งก็พาจนเหมือนกันนะยะ “

บรรดาเพื่อนผู้หญิงซึ่งมีมากกว่าครึ่งคัดค้าน เลยเป็นหน้าที่ของ ฮ นกฮูกคนนี้ที่ต้องรวบรวมคำร้องเรียนเรื่องอัตราค่าจอดรถส่งไปให้ฝ่ายบริหารนักศึกษา เงียบไปประมาณสักเดือนหนึ่ง จึงได้รับแจ้งกลับมา

“ ทางโรงเรียนเขากำลังขอต่อรองเจ้าของตึก คิดค่าจอดครึ่งเดียวหลัง 6 โมงเย็น หรือไม่ก็ราคาเดียวเหมาเบ็ดเสร็จรวมไปถึงวันหยุด”

ฉันถ่ายทอดคำตอบที่ได้ทราบให้เพื่อนๆฟัง น่าขัน...ฉันเองเสียอีกที่ไม่ได้เดือดร้อน เพราะไม่ได้ขับรถมา กลายเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขา

เรื่องการใช้อุปกรณ์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกกรณีที่จุกจิก ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องจำนวนกระดาษที่สั่งพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดในระเบียบเดิมนั้น นักศึกษาหนึ่งคนจะมีโควต้าเทอมละ 100 แผ่น

“ ไม่พอหรอกค่ะ เพราะแค่การบ้านวิชาเดียวก็ปาเข้าไปเกือบ 10 แผ่นแล้ว นี่มีทุกอาทิตย์ ทุกวิชา”

“ เจอรายงานใหญ่ปลายเทอมอีก ”

“ บางวิชา อาจารย์ให้พิมพ์จากหัวข้อในอินเตอร์เน็ทออกมาต่างหาก”

“ ปริ้นท์อยู่ดีๆ เครื่องรวน ปริ้นท์ซ้ำออกมาเป็นเทือก เสียโคว้ต้าไปฟรีๆ”

นี่คือเสียงบ่นจากเด็กๆ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือขอยืมโควต้าของคนที่เหลือในกลุ่ม แล้วคนที่ถูกยืมก็ต้องไปขอยืมโควต้าจากคนอื่นๆอีก เป็นปัญหาลูกโซ่กระทบไปหมดทั้งห้อง

สำหรับฉันเองก็ใช้กระดาษเกินโควต้าเยอะ เพราะต้องเตรียมข้อมูลค้นคว้าจากแหล่งต่างๆเพิ่มเติมเหมือนกัน อาศัยที่บ้านมีเครื่องปริ้นเตอร์พิมพ์งาน เลยใช้สมบัติส่วนตัวแทน แต่ก็อดเห็นใจเพื่อนๆไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้น่าจะถูกคำนวณไว้แล้วกับค่าเรียนที่สูงลิ่ว ถ้าทางมหา วิทยาลัยเพิ่มให้อีกคนละ 50 แผ่น ก็คงจะพอแก้ปัญหา
นี้ได้ เพราะเท่ากับเพิ่มโควต้าอีกประมาณ 250- 300 แผ่น ต่อนักเรียน 1 กลุ่ม ( 5-6 คน)

“ ข่าวดีจ้ะ ฝ่ายบริหารเพิ่มจำนวนโควต้ากระดาษพิมพ์ตามที่พวกเราขอไปได้แล้ว แต่ขอให้พวกเราประหยัดๆหน่อย พยายามใช้กระดาษ 2 หน้า ถ้าไม่จำเป็นนัก ”

ฉันบอกในชั้นเรียน หลังจากได้พูดคุยกับอาจารย์ฝ่ายบริหารพักใหญ่ๆ เพื่อนๆตบมือ ร้องเสียงเฮ

 

โดย: กูรูขอบสนาม 1 มิถุนายน 2551 19:11:49 น.  

 

หมดจากเรื่องโควต้ากระดาษก็มาถึงเรื่องของการใช้ห้องคอมพิวเตอร์

“หม่าม้า ห้องคอมพิวเตอร์น่ะ เปิดนานกว่านี้ได้มั๊ยคะ”

ปุ๊กกี้ เพื่อนในชั้นมาปรึกษาเย็นวันหนึ่ง เธอเป็นอีกคนที่ไม่ค่อยมีเวลาทำการบ้านตอนกลางวันเพราะงานติดพัน และจำเป็นต้องมาใช้ห้องคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยมาทำงานกลุ่มตอนเย็น

“ นั่นนะซิ พอเลิกเรียนจะทำงานกลุ่มกัน ก็ทำไม่ได้ ในกรุ๊ปไม่มีใครอยากแบกโน้ตบุ้คมาเรียนหรอก หนักก็หนัก กังวลอีก”

เพื่อนในกลุ่มอีกคนกล่าวเสริม ย้ำเตือนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยของทรัพย์สินส่วนตัวที่เริ่มมีปัญหา

“วันก่อน โน้ตบุ๊คของชาญก็หาย เปิดทิ้งไว้เผลอแป๊บเดียวไปเข้าห้องน้ำเอง ”

ไม่น่าเชื่อว่า ในออฟฟิคมีขอบเขตมิดชิดเช่นนี้ยังมีเรื่องของหายได้อีก ทางโรงเรียนถึงกับประกาศป้ายเตือนให้ระวังการวางทิ้งสมบัติส่วนตัวในที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุดหรือโถงล็อบบี้ แม้จะมีอาณาเขตชั้นเช่าของตัวเอง แต่ในออฟฟิคเดียวกันก็มีบริษัทอื่นๆเช่าร่วมอยู่ด้วย การเป็นสถานที่เปิด มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้า - ออก ทำให้ยากแก่การตรวจค้น นักเรียนคนไหนที่มีโน้ตบุ๊คหรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ฟังก์ชั่นมหัศจรรย์ล้วนตกเป็นเป้าหมายที่ไม่คลาดสายตามิจฉาชีพ

“ หม่าม้าช่วยไปพูดกับอาจารย์หน่อยได้มั้ยคะ อยากจะให้เปิดห้องคอมฯนานขึ้นถึงสัก 5 ทุ่ม”

เมื่อฉันเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับนุ่ม เธอแสดงความรู้สึกไม่ค่อยพอใจนักกับคำขอร้องของเด็กๆ

“ ทำไมเขาไม่ไปพูดเองน่ะ ต้องให้หม่าม้าพูดแทน คราวที่แล้วก็เรื่องที่จอดรถ ต่อมาก็กระดาษ”

“ คงกลัวว่าพูดไปจะไม่มีน้ำหนักมั้ง” พงษ์พยายามจะเข้าใจ

“ มันเกี่ยวกับการจัดการในกลุ่มมากกว่า ถ้าทุกคนจัดสรรเวลาลงตัว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาข้างนอกอีก”

นุ่มวิจารณ์ ฉันเห็นด้วย บางกลุ่มไม่ทำการบ้านล่วงหน้ามาก่อน หวังจะรอคำแนะนำจากเพื่อนคนอื่นๆในชั้นเรียนแล้วค่อยลงมือ ทำให้ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนล่วงเลยไป

“ แต่ถ้ายืดได้ก็ดีนะ เฮีย จะได้จำกัดที่อยู่ของนักเรียนตอนดึกได้ ให้ไปอยู่ในห้องคอมฯเกาะกลุ่มใหญ่กัน เวลากลับก็กลับพร้อมๆกัน ไม่เปลี่ยว”

กวินเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอปัญหาไม่ชอบมาพากลจากคนทำงานในออฟฟิคข้างบน

“ เค้าเห็นเด็กที่นี่ ฐานะดีๆทั้งนั้น ขับรถมาเรียนกันจอดเต็มลาน ก็ต้องอดฉวยโอกาสไม่ได้”

แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยนัก แต่นุ่มก็พร้อมจะไปเป็นเพื่อนต่อรองกับทางมหาวิทยาลัย

อาจารย์ฝ่ายสำนักบริหารไม่ค่อยจะยินดีสักเท่าไหร่ที่ต้องเปิดใช้ห้องคอมพิวเตอร์นานกว่าเดิม

“ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นมั๊ยคะ อีก 2 ชั่วโมงเอง” นุ่มถามตรงๆถึงเรื่องเม็ดเงิน

“ ก็พอสมควร เพราะต้องดูว่า พอเปิดแล้วมีคนเข้ามาใช้บริการจริงๆเท่าไหร่ หากหรอมแหรมก็ไม่คุ้มหรอก”

“ คืออยากจะมองในแง่ความปลอดภัยน่ะค่ะ ถ้าเลิกเรียนแล้วสามารถรวมตัวกันในห้องใดห้องหนึ่งได้ ก็จะอุ่นใจกันขึ้น ไม่งั้นต้องไปหามุมทำงานตามซอกต่างๆ เพราะห้องสมุดก็ปิด 3 ทุ่มเหมือนกัน”

ฉันยกเหตุผลที่ยากแก่การปฏิเสธ พร้อมต่อรองให้ปิดแอร์ในส่วนอื่นๆเพื่อประหยัด รวมทั้งบริเวณโถงล็อบบี้

 

โดย: กูรูขอบสนาม 1 มิถุนายน 2551 19:20:56 น.  

 

ฝ่ายบริหารได้นำข้อเสนอของพวกเราไปหารือ ในที่ประชุม ผลสรุปออกมาว่าอนุญาตให้ใช้ได้ถึง 4 ทุ่ม เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่พวกเราต้องยอมรับเช่นกัน

“ ไม่ใช่ทางมหาวิทยาลัยจะขี้เหนียวอะไรหรอกนะ แต่เป็นเรื่องของสวัสดิภาพของพนักงานห้องคอมฯมากกว่า”

อาจารย์เริ่มร่ายยาวให้เห็นภาพ

“ ถ้าปิด 5 ทุ่ม พวกเขาก็ต้องอยู่คอยพวกคุณจนกว่าทุกคนจะออกจากห้องไป ดูแลความเรียบร้อยของอุปกรณ์เครื่องใช้อีกครั้ง บางคนก็ลืมปิดสวิทช์ ปิดไฟ กว่าจะถึงบ้านก็เกือบเที่ยงคืน ช้ากว่าเดิมเป็น 2 ชั่วโมง แน่นอนเราจ่ายพิเศษพวกเขาได้ ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ขอให้พวกคุณเห็นใจหน่อย พวกเขาไม่มีรถส่วนตัวขับกัน ต้องกลับรถสาธารณะ กลับดึกๆอย่างนี้ที่บ้านก็ต้องห่วง”

ฉันนึกถึงใบหน้าบุคลากรที่ต้องพึ่งพา อดนึกสงสารไม่ได้หากพวกเขาต้องอยู่ดึกๆดื่นๆกลับบ้านคนเดียว เพียงเพราะต้องคอยให้พวกเราทำงานคอมพิวเตอร์จนพอใจ พวกเราต่อให้อยู่ดึกแค่ไหนก็ยังมีพาหนะส่วนตัวขับกลับได้แทบทุกคน การต่อรองเรื่องห้องคอมพิวเตอร์จึงได้บทยุติพบกันครึ่งทาง แม้ว่าจะไม่เป็นไปดังความต้องการทั้งหมด

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจอันเป็นผลสืบเนื่องก็คือ พวกเราได้รู้จักมักจี่กับเพื่อนๆต่างชั้นเรียนมากขึ้น ภายในห้องคอมพิวเตอร์ที่กลายเป็นห้องทำงานหลังเรียนของทุกแผนก มีโอกาสถามไถ่ถึงวิชาอื่นๆ ความยากง่าย สไตล์การสอนของอาจารย์บางท่าน

ยิ่งไปกว่านั้นยังรู้จักมักจี่กับพนักงานห้องคอมฯมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องอยู่คอยแก้ปัญหาเครื่องแฮงก์บ้าง โปรแกรมติดขัดบ้าง ระหว่างรอแก้ปัญหาก็มีการแจกจ่ายขนมนมเนยประทังหิวกัน บางกลุ่มถึงกับสั่งพิซซ่า อาหารจานด่วนมาแบ่งปันเผื่อแผ่รวมไปถึงพนักงานด้วย ช่วยให้ประหยัดมื้ออาหารไปหนึ่งมื้อ รายได้ของบุคลากรเหล่านี้ไม่สูงเลย เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำวัน

“พี่นนท์ มาเป็นฝรั่งกินพิซซ่ากันเร้ว”

ยายเรียกหนุ่มน้อยผู้ประจำเวรคุมห้องคอมพิวเตอร์คืนนั้น ให้มาร่วมวงสังสรรค์กับพวกเราหลังจากพิมพ์รายงานแก้ไขเสร็จ

ค่ำนี้ไม่มีตารางเรียนแต่กลุ่มเรานัดกันมาทำรายงาน ฉันขอเป็นเจ้ามือเลี้ยงพิซซ่า สั่งถาดใหญ่ 2 กล่องเผื่อให้ใครเอากลับบ้านได้

“ ผมทานข้าวเย็นแล้วครับ เชิญพี่ๆกับหม่าม้าเถอะครับ” นนท์ ตอบ มือยังสาละวนซ่อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง

ฉันแบ่งพิซซ่าออกมาจากอีกกล่อง เหลือไว้ในกล่องถึงครึ่งถาด ปิดฝาให้เรียบร้อย

“ เอากลับไปกินที่บ้านตอนเช้าก็ได้จ้ะ นนท์ อุ่นเสียหน่อย ชีสคงยังไม่เละ”

นนท์ขอบคุณสั้นๆก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ นิสัยช่างเทคนิคส่วนใหญ่ไม่ใช่คนพูดมากอยู่แล้ว เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียว พวกเรารู้ดีว่านนท์คงไม่ค่อยจะมีโอกาสสั่งอาหารราคาแพงๆมากินเองบ่อยๆนักหรอก

เพื่อนในชั้นขอบคุณเป็นการใหญ่ที่ได้เวลาทำงานในห้องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น

“ ในหนึ่งชั่วโมง ต้องสรุปทุกอย่างให้เสร็จ แล้วแยกย้ายกลับไปทำส่วนของตัวเองต่อ” นุ่มแนะนำการใช้เวลาให้ได้ประโยชน์มากที่สุดแก่เพื่อนกลุ่มอื่นๆ เมื่อหลายคนแสดงทีท่าไม่แน่ใจว่าเวลาที่ได้เพิ่มขึ้นมาเพียงพอหรือไม่

เป็นอีกครั้งที่ ฮ นกฮูกสูงวัยตัวนี้ได้รับมอบหมายภารกิจจนดำเนินลุล่วงแม้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม หากความรู้จักเห็นอกเห็นใจที่มีต่อพนักงานผู้น้อยต่างหากที่กลายเป็นคุณค่าที่ผูกพันมหาศาล

ไม่ใช่แค่นนท์ หนุ่มน้อยห้องคอมพิวเตอร์คนเดียวที่มีน้ำใจบริการกับพวกเรา ยังมีพนักงานคนอื่นๆอีกตัวเล็กตัวน้อย ถ้ามีโอกาสจะขอเล่าและขอขอบคุณในคราวต่อไป

 

โดย: กูรูขอบสนาม 1 มิถุนายน 2551 19:23:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]