<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
14 พฤษภาคม 2551

ตอนที่ 10 เทอมสองยิ่งลำเค็ญ

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก



ตอนที่ 10 เทอมสอง ยิ่งลำเค็ญ


ตะวันลับไปกับก้อนเมฆสีหม่น ฉันอยู่บนรถแท๊กซี่กำลังจะเดินทางไปเข้าเรียนวันแรกของการเปิดเทอมภาค 2 ดูนาฬิกาข้อมือเพิ่งจะห้าโมงครึ่ง แต่วันหนาวเยี่ยมกรายเข้ามา กลางวันเลยสั้นกว่าเดิม ยิ่งเจอฝนปลายฤดู ยิ่งทำให้บรรยากาศมัวซัว รถข้างหน้าต่อแถวยาว แทบไม่ขยับเลย หงุดหงิดไปก็เท่านั้น ใช้เวลาทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาดีกว่า

คะแนนสอบเฉลี่ยทั่วไปของเทอมแรกผ่านไปอย่างธรรมดา ไม่มีตัวไหนโดดเด่นหรือตกต่ำเป็นพิเศษ พอให้ฉันผ่อนคลายหายใจได้ทั่วท้องบ้าง เพื่อนๆในกลุ่มล้วนไปได้โลด นุ่มได้ A ทุกตัวสมใจเธอ เจ้าตัวยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เมื่อใครๆถาม ช่วงนี้จึงดูอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ไม่กระฟัดกระเฟียดหรือรู้สึกขวางหูขวางตาเพื่อนๆร่วมเรียนในชั้น พงษ์มี B + หนึ่งตัว ที่เหลือ A หมด กวินมี A ลดหลั่นกันไป ยายมีเกรดผสมผสานพออวดใครๆได้

ฉันยินดีกับเพื่อนๆนกฮูกในกลุ่ม แม้ตัวเองจะมีเกรดเฉลี่ยน้อยที่สุด ก็ไม่ได้นึกเสียใจหรืออับอายประการใด ตรงกันข้ามบางวิชาเพราะได้คะแนนกลุ่มจึงช่วยฉุดเกรดขึ้นด้วยซ้ำ

น่าเสียดายแทนเพื่อนหลายคนที่ได้เกรดต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่แวะเวียนมาเรียนตามอำเภอใจ ชอบนั่งอยู่ข้างหลังห้อง เผื่อหลบหายไประหว่างเรียนโดยอาจารย์ไม่ทันสังเกต

“ พี่นุ่มต้องเลี้ยงแล้วล่ะ กวาด A ไปหมดแบบนี้”ยายแกล้งหยอดอย่างเกรงๆ

“ ช่าย ช่าย เฮียพงษ์ด้วย ช่วยแชร์” กวินสนับสนุน

“ เธอ 2 คนก็ใช่ย่อยที่ไหน ก็ได้กันคนละตัวสองตัวไม่ใช่หรือ”

นุ่มย้อนกลับอย่างอารมณ์ดี นานๆจะเห็นรอยยิ้มสดใสบนใบหน้าทำให้ดูชวนน่าคุย น่าคบกว่าเป็นไหนๆ

“ งั้นหม่าม้าขอเลี้ยงพวกเราก็แล้วกัน ในฐานะที่ได้คะแนนโหล่สุดของกลุ่ม “ ฉันแสดงความเอื้อเฟื้อ “ ถ้าไม่มีคะแนนรายงานกลุ่มช่วย หม่าม้าคงต้องเทคใหม่อีกหลายวิชา”

“ ไม่หรอกครับ ถ้าผมเป็นหม่าม้าก็คงไม่สามารถอดทนเรียนมาจนครบเทอมแรก” พงษ์ให้กำลังใจ

“ยิ่งต้องมาเรียนกับพวกลิงทะโมน ในชั้นด้วย”

หนึ่งในลิงทะโมนของกลุ่ม ย่นจมูกใส่ ยักท่าทางเหมือนล้อเลียนคำพูดพงษ์ เทอมหนึ่งที่ร่วมชะตากรรมกัน พงษ์ปฏิบัติตัวเป็นพี่ชายที่ดีในกลุ่มทีเดียวล่ะ สุภาพ ใจเย็น ขยันขันแข็ง แม้บางครั้งจะหายไป เข้าเรียนไม่ทันเพราะติดงาน แต่เจ้าตัวก็สามารถไล่กวดทันเพื่อนๆในกลุ่มโดยไม่มีอุปสรรคประการใด หากได้ฝึกฝนด้านการนำเสนอและภาษาอังกฤษให้คล่องกว่านี้ พงษ์น่าจะเป็นคนหนุ่มที่ไปได้สวยในรุ่นเดียวกัน

ฉันนัดเลี้ยงสมาชิกทั้งหมดบ่ายวันเสาร์ หลังหมดชั้นเรียนตอนเที่ยง สถานที่นัดไว้เป็นร้านอาหารเก่าแก่ขึ้นชื่อ ไม่ใหญ่โตนัก แต่ฝีมือทำกับข้าวไม่ตกเลยจากรุ่นแม่ถึงรุ่นลูก

“เห็นสภาพร้านแล้วก็ดูรู้ว่าต้องสเป็คหม่าม้าแน่ๆ”

กวินมองดูสภาพรอบร้าน เรือนไม้กลางเก่ากลางใหม่ ปลูกต้นไม้ล้อมรอบเขียวขจี ส่วนของตัวร้านอาหารแยกออกมาจากบ้านหลังใหญ่ ซึ่งดูมีอายุมาหนึ่งชั่วอายุคน

“ กินให้เต็มที่เลยนะ อย่าลืมเผื่อท้องสำหรับเค้กด้วย ที่นี่ขึ้นชื่อมาก”

ฉันบอกอย่างใจป้ำ เด็กๆสาละวนกับการเลือกสรรรายการอาหารในเมนูพยักเพยิดเกี่ยงกันสั่ง อย่างสบายอารมณ์ วันนี้ยังไม่มีการบ้านใดๆ เพราะเพิ่งเปิดเรียนอาทิตย์แรก

“ ดีจังเลยค่ะ ได้มานั่งกินอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้” นุ่มสูดลมหายใจยาว หอมระรินกลิ่นดอกแก้วที่ปลูกใกล้ๆ

“ อ้าว แล้วปกติกินอะไรกันล่ะ อย่าบอกน่ะว่า ตุนแต่บะหมี่สำเร็จรูปเต็มท้อง”

“ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละ หม่าม้า” กวินตอบแทน “ พวกผมกินง่าย อยู่ง่าย เวลาก็ไม่ค่อยจะมี ”

“ตั้งแต่เรียนที่นี่มา ยายไม่เคยได้ดูหนัง ช้อปปิ้งที่ไหนเลย เพื่อนฝูงเก่าๆก็เลิกคบหมดแล้ว มีมีตติ้ง ก็ไม่เคยโผล่ไปให้เห็นหน้า” ยายบ่นบ้าง

“ ถ้ามีแฟนก็เตรียมเลิกกับแฟนได้ เทอมนี้ยิ่งกระอัก” พงษ์ตอกย้ำ กวินได้ทีแทรกทันควัน

“หรือไม่ก็หาแฟนใหม่ในชั้น”

ทุกคนหัวเราะแจ่มใส แม้จะกังวลถึงภาระการเรียนในเทอมใหม่ อย่างน้อยก็มั่นใจว่ากลุ่มของเรายังเกาะตัวกันแน่นแฟ้น ไม่มีใครดังแล้วแยกวง ถึงจะไม่กลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียวสนิท ก็เริ่มพอยอมรับจุดอ่อน จุดแข็งซึ่งกันและกันได้



Create Date : 14 พฤษภาคม 2551
Last Update : 14 พฤษภาคม 2551 20:20:47 น. 3 comments
Counter : 818 Pageviews.  

 

พงษ์เป็นคนที่มองหลักการชัดเจน ขณะที่นุ่มลงรายละเอียดได้ไม่เคยพลาด กวินสามารถนำเสนอถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจด้วยลีลาสนุกสนาน ส่วนยาย น้องสุดท้อง กำลังอยู่ในระหว่างค้นหาและพัฒนาทักษะของตัวเอง จึงทำหน้าที่ช่วยเหลือทั่วไป ขณะที่ฉันมีเวลาว่างมากกว่าใคร จึงรับอาสาค้นหาข้อมูลใหม่ๆป้อนให้กลุ่มเสมอ รวมทั้งทำบทสรุปคัดย่อของหนังสืออ่านนอกเวลาที่อาจารย์แนะนำให้ ซึ่งได้กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีคุณค่าสำหรับทำรายงาน

นุ่มค่อยๆลดทีท่าเฉยเมยกับกวินและยายลง ยอมพูดจาเป็นพี่เป็นน้องมากขึ้น ไม่มองทะลุอีกฝ่ายเหมือนไม่มีตัวตน ( ซึ่งเป็นบ่อยมากถ้าเธอรู้สึกว่าคนๆนั้นไม่ได้เรื่องในสายตาจนบางครั้งกวินแอบกระซิบกับฉันว่า บางวันเขารู้สึกตัวเองเป็นวุ้นเส้นใสๆอย่างไรไม่รู้) ขณะเดียวกันในกลุ่มก็ยอมให้นุ่มจู้จี้ พิถีพิถัน ช่วยกันทำการบ้านล่วงหน้าเพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีสุดๆ

อาทิตย์แรกผ่านไปอย่างสบายๆ เหมือนช่วงฮันนีมูนจ้ะจ๋า พอเข้าอาทิตย์ที่สอง น้ำผึ้งเริ่มไม่หวานแล้ว เมื่ออาจารย์แต่ละวิชาแสดงจำนวนรายงานที่ต้องส่งทั้งในนามส่วนตัวและกลุ่ม ดังที่เกริ่นไว้บ้าง เทอมนี้ ฉันต้องลงเรียนวิชาการเงินพื้นฐาน ซึ่งเป็นความหวาด หวั่นลึกๆแต่แรกเริ่ม โธ่..จะไม่ให้กลัวได้อย่างไร ถ้ารวมถึงช่วงมัธยมที่เลือกเรียนสายศิลป์ ฉันทิ้งเลขไปทั้งหมดกว่าค่อนชีวิต จะให้ฟื้นกลับมาง่ายๆ ก็เป็นการดูถูกตัวเองมากไปหน่อย

ส่วนอีก 2 วิชาที่เหลือคือการบริหารตลาด และพฤติกรรมองค์กร เท่าที่ดูหัวข้อเรียนและรายละเอียดไม่ค่อยมีคำนวณ เลยเบาใจขึ้นหน่อย ถึงจะมีงานเยอะก็เถอะ ฉะนั้นฉันต้องวางแผนการเรียนให้สมดุลใช้กลยุทธ์ 2 : 1 (ฉันเริ่มพูดภาษาธุรกิจเป็นบ้างแล้ว)คือพยายามยึด 2 วิชาหลังฉุดคะแนนของวิชาการเงินขึ้นมาให้ได้ เกรดเฉลี่ยออกมาจะได้ดูไม่น่าเกลียด

วิชาการเงินพื้นฐานเหมือนเปิดประตูชีวิตฉันสู่อีกโลกหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลขมากมาย จำไม่หวาดไม่ไหว นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของกราฟ ช่องตาราง สูตรคำนวณสารพัด ศัพท์แสงใหม่ๆที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ

ถึงตอนนี้ฉันอดทึ่งนักบัญชีอย่างนุ่มไม่ได้ที่แทบจะซึมซับคำสอนของอาจารย์เต็มสมอง ตอบทุกคำถามได้หมดอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆเลย เธอกลายเป็นศิษย์โปรดของชั้นเรียนวิชานี้ไปในที่สุด เพื่อนๆในห้องยกให้นุ่มเป็นน้องๆกูรูไปเลย นี่ถ้าไม่ใช่เป็นวิชาบังคับพื้นฐาน นุ่มคงไปลงทะเบียนวิชาอื่นเรียบร้อย ไม่มีความจำเป็นต้องมานั่งเรียนในสิ่งที่ตัวเองแม่นอยู่แล้ว

“ นุ่มจ๋า หม่าม้าไม่เข้าใจความแตกต่างของ 2 ตัวนี้ ระหว่าง Depreciation กับ Amortization ต่างกันอย่างไร”

ฉันถามนุ่มหลังเลิกเรียน ทั้งชั้นบ่นพึมพำกับความยากของวิชา แถมอาจารย์ก็สอนเร็วมากจนคนกำลังจะเข้าใจเลยไม่เข้าใจ และคนที่ไม่เข้าใจเลยกลับดำดิ่งลึกหาก้นบึ้งไม่เจอ

นุ่มเริ่มสาธยายยาว “Depreciation คือการคิดค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรมได้เช่น โรงงาน เครื่องจักร วัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิต” ถึงตอนนี้ยายซึ่งนั่งอยู่ถัดจากฉัน ร่วมวงเข้ามาฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

“ส่วน Amortization คือการคิดค่าเสื่อมจากสินทรัพย์ที่เป็นนามธรรม เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าเครื่องหมายการค้าที่เราขออนุญาตใช้ เป็นต้น”

ไม่สาธยายเปล่า นุ่มจับปากกาเขียนตารางขึ้นบนกระดานให้คนที่รุมล้อมทั้งหมดได้เห็นชัดๆ

“ แล้วพวก Cost แล้วคะ พี่นุ่ม ยายยังงงๆอยู่เลย Fixed Cost กับ Variable Cost มีอะไรบอกได้ชัดเจนว่าใช่หรือไม่ใช่”

“Fixed Cost ต้นทุนคงที่ ดูง่ายๆ ว่าเป็นต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะผลิตแค่ไหน เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าออฟฟิค เห็นมั้ย ต่อให้ยอดขายตกก็ต้องจ่ายเงินเดือน จ่ายค่าเช่าออฟฟิคเท่าเดิมอยู่ดี หรือมีออฟ ฟิคไหนที่ยอดขายตกแล้วตัดเงินเดือนพนักงาน พอยอดขายดีขึ้นก็เพิ่มเงินเดือน”

ยายทำหน้าเหรอพักหนึ่ง ก่อนส่ายหน้าเพราะไม่แน่ใจหรือไม่รู้ก็ได้

“ที่บ้านมีโรงงาน น่าจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนที่สุด” นุ่มสำทับต่อ

“ ค่าโฆษณาส่งเสริมการขายก็เหมือนกัน ขายได้ชิ้นเดียวก็ต้องจ่ายเท่านี้ ขายพันชิ้นก็ต้องจ่าย ขายไม่ได้เลยก็ต้องจ่าย”

“ส่วน Variable Cost ต้นทุนผันแปร คือต้นทุนที่ต้องจ่ายให้สอดคล้องกับการผลิต เช่น ค่าการผลิตต่อหน่วย ค่าคอมมิชชั่นตามยอดขาย” ไม่อธิบายเปล่า เธอพลิกเอกสารที่ได้รับแจกจากในชั้น ชี้ลงไปที่ตัวเลขสมมติ

“ฉะนั้นเงินรายได้ของพวกเซลส์ในเคสที่อาจารย์ยกตัวอย่าง จึงมีทั้ง 2 ต้นทุน คือเงินเดือนประจำคงที่กับคอมมิชชั่นที่มากน้อยตามความขยัน ”

“ แล้วค่าจ้างรับเป็นรายวันจะอยู่ตรงไหน” พงษ์ถามขึ้นบ้าง
“อยู่ที่ว่า เขารับเป็นวันๆ หรือรับเป็นเงินเดือน ถ้ารับเป็นวัน วันไหนไม่มาไม่ได้เงิน ก็ถือเป็นต้นทุนผันแปร” นุ่มสรุปง่ายๆ

“นุ่มช่วยอธิบายคำว่า EBIT กับ EBITDA ให้ฟังหน่อยซิจ้ะ ใช้ต่างกันอย่างไร”

“ อันแรกเป็นการคำนวณรายรับก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี อันหลังเพิ่มค่าเสื่อมราคาที่จับต้องได้และไม่ได้ด้วย”

ยังมีข้อสงสัยปลีกย่อยอีกมาก เช่น เรื่องของงบกระแสเงินสด เงินหมุนเวียน แต่ด้วยเกรงใจว่าดึกแล้ว มิฉะนั้นคงขอให้เธอเล็คเชอร์ใหม่หมด เห็นฝีไม้ลายมือ(และฝีปาก)ของนุ่มอย่างนี้ กลยุทธ์อีกข้อที่ฉันต้องเพิ่มเติมก็คือ ต้องจับนุ่มให้อยู่หมัด


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:24:04 น.  

 

นอกเหนือจากวิชาการเงินที่นับวันจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา ไม่มีวันญาติดีกันได้ วิชาบริหารจัดการการตลาดกลับกลายเป็น ความสนุกสนาน มีอะไรให้ค้นหาเพิ่มขึ้นทุกขณะ อาจเป็นเพราะเรื่องราวสนุกๆที่แวดล้อมในชีวิตประจำวันของพวกเราผู้บริโภคที่ต้องซื้อ ๆขายๆ ของเป็นปกติ โดยเฉพาะแม่บ้านที่จำเป็นต้องซื้อของใช้อุปโภค-บริโภค เข้าบ้านเสมอ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆจึงต้องเปรียบเทียบคุณภาพ ราคาและความน่าเชื่อถือของยี่ห้อนั้นๆ

ในชั้นเรียนเดียวกัน เมื่อมีการยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับแม่บ้าน จึงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงของลูกศิษย์ ฮ นกฮูกผู้นี้ ยกมือตอบและแบ่งปันเรื่องเล่าได้อย่างคล่องปาก อีกทั้งเทอมนี้ พวกเราค่อนข้างคุ้นเคยสนิทสนมคุยเล่นกันมากขึ้น ความสงวนเนื้อสงวนตัวเหนียมถ้อยคำจึงลดลง

“ อ้าวไหน ใครบอกได้บ้างว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่เคยเป็นดาวรุ่งในอดีตแล้วร่วงจากไปตลอดเรียบร้อยแล้ว”

เพื่อนๆล้วนยกตัวอย่างของสินค้ายุคใหม่เช่น ผงซักฟอกยี่ห้อดัง บะหมี่สำเร็จรูปจากค่ายเพลง ยาสีฟันจากค่ายยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ร้านพิซซ่าส่งถึงบ้าน เป็นต้น ส่วนฉันยกตัวอย่างสมัยวัยรุ่นซึ่งหลายคนนึกภาพไม่ออก

“น้ำอัดลมค่ะ อาร์ซี ไม่ใช่น้ำ อาร์ซีของชีวจิตนะคะ”

น้ำข้าว R.C. (Rejuvenating Concoction).กำลังเป็นเครื่องดื่มสุขภาพยอดฮิตขณะนั้น หลายคนคงเคยต้มดื่มจากธัญญพืชหลายชนิด เผอิญมีชื่อย่อพ้องกับน้ำอัดลมชื่อดังในอดีต ซึ่งคลับคล้ายคลับคลาเอานางงามจักรวาลฝรั่งมาเป็นพรีเซนเตอร์

“นอกจากนี้ก็ยังน้ำอัดลมยี่ห้ออื่นอีก เช่น ซาสี่ หรือทุกวันนี้เรารู้จักในรสชาติของรู้ทเบียร์ แล้วก้อคิกคาปู้ รสคล้ายมะนาวเปรี้ยวปะแล่มๆ”

ถึงตอนนี้ฉันได้มีโอกาสเปิดกรุความทรงจำในอดีตให้เพื่อนต่างวัยรับรู้ (รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนซึ่งอ่อนวัยกว่ามาก) สงครามโฆษณาสมัยที่ฉันเป็นวัยรุ่น มักจะพยายามอวดอ้างว่าผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตัวเอง “ดีที่สุด” สมัยนั้นยังไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมกำกับโฆษณาใดๆทั้งสิ้น เครื่องดื่มน้ำดำยอดนิยมแบรนด์หนึ่งจึงใช้สโลแกนนี้ “ดื่ม...ดีที่สุด”จนติดปากลูกเล็กเด็กแดง

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทน้ำดำยังมีกลยุทธ์เลือกเวลาโฆษณาที่ฉลาด โดยจะยิงสป็อตโฆษณาก่อนโปรแกรมหนังหรือละครเรื่องดัง ทำให้คนดูใจจดใจจ่อเมื่อไหร่โฆษณาน้ำดำแบรนด์นี้จะมาถึงเสียที พอเริ่มต้นสป็อตโฆษณาก็จะเรียกพ่อแม่พี่น้องมาล้อมวงเตรียมดูละครหรือภาพยนตร์เรื่องโปรดตอนใหม่ หลายคนถึงกับเข้าใจเกินเลยไปว่าน้ำดำดังกล่าวเป็นคนผลิต นำรายการนั้นๆมาฉาย จึงเป็นแบรนด์น้ำดำที่ใครๆก็จดจำขึ้นใจและทุกคนก็เฝ้าคอย (เพราะจะได้ดูหนังเสียที)

ตรงกันข้ามกับน้ำอัดลมยี่ห้อที่กล่าวข้างต้น (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) พอหนังหรือละครกำลังเข้าจุดไคลแม็กซ์ตอนท้าย ก็มีเสียงสป็อตโฆษณา “ เอ๋...ย ย ย....คิกคา...” แสดงให้รู้ว่าจบตอนแล้ว ซึ่งก็สามารถสร้างความจดจำได้ดีแต่ในทางลบ เพราะทุกคนรู้สึกว่า โฆษณาตัวนี้เข้ามาขัดจังหวะ อารมณ์ตื่นเต้นที่กำลังจะได้จะเสียกันอยู่ พาลไม่ชอบ ไม่อยากซื้อน้ำอัดลมยี่ห้อนี้เสียเลย

เมื่อเล่าถึงตอนนี้ เพื่อนในห้องหัวเราะ นึกไม่ถึงว่าแค่ยิงโฆษณาก่อนหรือหลังภาพยนตร์เรื่องดัง ก็สามารถสร้างอคติความชอบ/ไม่ชอบให้กับแบรนด์ได้ ฉันยังยกตัวอย่างสป็อตโฆษณาอื่นๆที่กลายเป็นขวัญใจคนติดจอ(หนัง)ทีวี ที่สามารถเลือกเวลายิงได้ดีด้วยกลยุทธ์เดียวกัน เช่น ตู้เย็นเควินเนเตอร์กับภาพยนตร์ชุด Lost in Space หรือภาคไทย “โลกพิศวง” ที่มีหมอสมิธจอมยุ่งกับหุ่นยนต์ท่องอวกาศแสดงด้วย เป็นต้น



โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:26:19 น.  

 

“ทำไมห้างสรรพสินค้าต่างชาติจึงสู้ห้างไทยไม่ได้”

พงษ์เปิดประเด็นในบ่ายวันเสาร์ เมื่อเราต้องมานั่งล้อมวงทำรายงานสถานการณ์การค้าปลีกปัจจุบัน

“ เพราะคนไทยรู้ใจกันเอง” คำตอบแรกจากนุ่ม

“ เพราะคนไทยชอบ ลด แลก แจก แถม ทุกเดือน ซึ่งห้างเมืองนอกไม่ยอมทำ เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์” ยายแทรกขึ้นบ้าง

“ เพราะคนไทยชอบคุ้ยกระบะของลดราคา ยิ่งจัดวางของวุ่นๆเท่าไหร่ ยิ่งขายดี ห้างต่างชาติไม่วางของอีเหละเขละขละแบบนี้” กวินพูดอย่างเห็นภาพชัดเจน

“ ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น เน้นบรรยากาศสบายๆระหว่างจับจ่ายซื้อของ ไม่เร่งเร้าหรือตะโกนยั่วยุให้ลูกค้าต้องซื้อแบบบ้านเรา”

ฉันพูดพลางนึกถึงห้างสรรพสินค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดเพลงบรรเลงเพราะๆเย็นเสนาะหูระหว่างให้ลูกค้าเดินชมของถูกใจ พนักงานสุภาพ ไม่เข้ามาประชิดตัวจนเกินไป ตอนเปิดสมัยแรกๆ ใครๆก็เห่อไปใช้บันไดเลื่อนตัวแรกของเมืองไทย

“บรรยากาศผู้ดีช้อปปิ้งแบบนี้ เลยแข่งขันไม่ได้กับผู้ร้ายช้อปปิ้งแบบพวกเรากระมังครับ หม่าม้า”

พงษ์ออกความคิดเห็นกึ่งสรุป เจ้าตัวคงไม่ใช่ขาช้อปเท่าไร นุ่มถามสถานที่ช้อปปิ้งของคนไทยก่อนหน้าที่จะมีห้างหรูติดแอร์ผุดเป็นดอกเห็ดเหมือนเช่นทุกวันนี้ ฉันเลยได้โอกาสเล่าแหล่งซื้อของประเภทต่างๆในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีลูกค้าประจำหนาแน่น

“ ถ้าผ้าต้องสะพานหัน รองเท้าต้องบางลำภู หนังสือต้องวังบูรพา และ ทองต้องเยาวราชจ้ะ ”

แล้วฉันก็คุยฟุ้งถึงการรอซื้อหนังสือลดราคากว่าครึ่ง ซึ่งจะเริ่มประมาณครึ่งปีหลังเป็นต้นไปโดยมี ร้านหนังสือแถววังบูรพารุ่นเก่าๆเป็นตัวนำเทศกาลจนถึงสิ้นปี

“ ไม่เหมือนสมัยนี้หรอก ลดกันนิดๆหน่อยๆพอหอมปากหอมคอ”

กรุความทรงจำของฉันเลยกลายเป็นแหล่งข้อมูลของเพื่อนๆเมื่อต้องการขอทราบอดีตกาลของเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งฉันยินดีที่จะเปิดให้ทุกคนได้แคะคุ้ย งัดแงะตามความพอใจ เท่าที่จะจดจำได้ ประกอบกับมีการบ้านกรณีศึกษาต่างๆหลายข้อที่มักจะยกความสำเร็จ/ข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ยุคก่อนๆมาให้เรียนวิเคราะห์แทบทุกสัปดาห์ ทำให้ฉันรู้สึกสนุกร่วมสมัยไปกับห้อง เรียนอย่างไม่ลำบากใจ

เออหนอ...ถ้าลืมเรื่องตัวเลขไปได้บ้าง เทอมนี้ก็คงพอเอาตัวรอดได้หรอกน่า









โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:27:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]