เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
9 เมษายน 2551

ตอนที่ 1 เริ่มต้นเมื่อบั้นปลาย

บทเกริ่นนำ

บันทึกนิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของ หม่าม้าคนหนึ่งที่ชื่อว่า "รุ้งพลบ"
เคยโพสในพันทิปห้องถนนนักเขียนมาเมือปลายปีที่แล้วเป็นระยะเวลาเกือบสามเดือน ป่านนี้กระทู้ชักเลือนๆไปแล้ว เพื่อนบางคนเปิดหากระทู้ไม่เจอ หม่าม้าก็เลยตัดสินใจรวบรวมมาอยู่ในบล็อคของกูรู
แต่แรกก็กริ่งเกรงว่าจะยาวเกินไปหรือเปล่า ทำให้บล็อคน่าเบื่อ
หากเสียงเรียกร้องของหลายคนก็คงจะเป็นข้อแก้ตัวได้บ้าง
ต้องตั้งหน้าตั้งตาอ่านสักหน่อย มีอยู่ 37+1 ตอน
อ้อ..ลืมบอกไป หม่าม้ารุ้งพลบ เป็นปิยะมิตรของกูรูเองแหละ

โรงเรียน ฮ นกฮูก
เรื่องราวของหม่าม้า ที่ร้างราตำราเรียนร่วม 30 ปี แล้วตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนใหม่ในวัย ฮ นกฮูก




ตอนที่ 1 เริ่มต้นเมื่อบั้นปลาย
เช้าวันฟ้าใสหลังพ้นต้นปีหมาดๆ สายลมเย็นยังทิ้งเยื่อใยของปลายฤดูหนาว ฉันตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปจากวิถีชีวิตเดิมๆ

“ จะกลับไปเรียนหนังสือใหม่นะ ”

ใครๆที่รู้จัก เลิกคิ้วทำหน้าฉงนเมื่อได้ฟังประโยคนี้จบ
ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนสนิทที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย 30 กว่าปี หลังจากเอ่ยปากออกไป คำพูดทำนองนี้ก็ปรากฏเซ็งแซ่ทันที

“ เพี้ยนหรือเปล่าเธอ จะเรียนไปทำไม อายุก็ปูนนี้แล้ว”
“ นั่นนะซิ หัวสมองก็ไม่ได้แล่นปรูดปราดแล้ว เรียนไปก็อายเด็ก”
“ อยู่บ้านสบายๆให้ลูกเลี้ยงดีกว่า หรือถ้าเบื่อก็รอเลี้ยงหลานแล้วกัน”
“ หาเรื่องอายุสั้นล่ะซิ ใครที่ไหนอยากจะมาสอนหนังสือคนแก่
พวกสนิมเกรอะเคาะทีก็ร่วงกราว กราว”

ฉันไม่ได้โต้ตอบหรือแก้ตัวประการใด เพราะนึกอยู่แล้วว่าจะต้องมีปฎิกิริยาวาจาเช่นนี้จากบรรดาผู้ใกล้ชิดหรือพูดให้ทันสมัยหน่อยก็พวกขาประจำมี้ตติ้งรุ่นเรือนไม้ชงโค

ในวัยที่เป็นคุณแม่กลางคน มีลูกโตๆจนเรียนจบทำงานกันหมดแล้ว
บางคนก็ถูกยกฐานะเป็นคุณย่าหรือคุณยายหมาดๆ( ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ) จะมีใครสักกี่คนหนอนึกอยากจะหวนกลับสู่สภาพนักเรียนจุ้มปุ๊กอีกครั้ง หลังจากร้างราห้องเรียนไปร่วม 30 ปี

หลายคนแอบกระซิบกัน ยัยเพื่อนคนนี้คงถูกปิศาจหลงวัยตัวไหนที่โบยบินมากับสายลมหนาวเข้าสิง เสกมนต์ดลใจให้หลงผิดในบั้นปลายชีวิต(ซึ่งเหลืออีกไม่กี่ปี) พวกเขาคิดว่าฉันคงเหมือนบรรดาผู้หญิงวัยทองทั้งหลาย ไม่มีภาระต้องห่วงใครอีกแล้ว ลูกๆก็มีงานมีการทำ สามีก็มีความสุขในอีกโลกหนึ่ง จึงเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน อยากจะหาอะไรทำฆ่าเวลาไปวันๆ

“ ไปช่วยงานอาสามั๊ย มีตั้งหลายองค์กรอยากได้คนมาช่วยงานอยู่ทีเดียว”

คนพูดสาธยายถึงองค์กรสาธารณกุศลต่างๆที่มีกิจกรรมมากมาย มีบรรดาคุณหญิงคุณนายขึ้นแท่นประธาน ฉันบอกปฏิเสธไป ฐานะเศรษฐกิจทุกวันนี้ยังมีความจำเป็นด้านเงินทองอยู่พอสมควร ไม่สามารถจะทุ่มเทหรือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงระดมทุนรับบริจาคสินทรัพย์จากผู้มั่งมีได้อย่างเต็มที่ เอาเป็นว่า ช่วยเป็นครั้งคราวก็พอไหว

เพื่อนอีกคนซึ่งมีฐานะร่ำรวย ชอบสังสรรค์พบปะ พูดคุยกับผู้คน ชวนให้เล่นหุ้น

“ เช้าแต่งตัวไปห้องค้า เย็นลงก็กลับบ้าน เหมือนไปทำงานแต่สบายกว่าเยอะ ไม่ต้องเล่นแบบซีเรียส เอาพอสนุกๆ ไม่เหงา”

ฉันไม่เคยมีความรู้เรื่องหุ้น เคยได้ยินเพื่อนๆคุยกันถึงตัวเลขเขียวๆแดงๆบนกระดาน แต่ก็ไม่เคยทำความเข้าใจได้เสียที จึงขอบอกลาความหวังดีด้านนี้

บุคคลที่ไม่แสดงความแปลกใจอะไรเลยกลับเป็นบรรดาลูกๆของฉัน 3 คน อาจเป็นเพราะเคยชินตากับภาพที่ฉันชอบนั่งอ่านหนังสือต่างๆเป็นประจำตั้งแต่พวกเขายังเล็กๆอยู่ อ่านคนเดียวไม่พอยังเคี่ยวเข็ญให้พวกเขาต้องมีหนังสือติดมือไปอ่านในทุกที่ที่สะดวกด้วย ทั้งลินินลูกสาวคนโต ป่านดำลูกชายคนกลางและปออ่อนลูกสาวคนเล็ก กลายเป็นเด็กรักการอ่านโดยปริยายจนเติบโตเล่าเรียนจบ มีอาชีพการงานสมดังหมาย

ครอบครัวเราอยู่กัน 4 คนแม่ลูกหลังจากที่ปะป๊า พ่อของลูกๆได้ป่วยกระเสาะกระแสะเรื้อรังและลาจากโลกไปก่อนกำหนดเมื่อปี กลายมานี้เอง ฉันยังจำช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ต้องฮึดสู้ให้กำลังใจทั้งตัวเองและคู่ชีวิตไม่ให้ท้อถอย จนเว้นว่างจากกิจกรรมสุดโปรดทั้งหลาย

ชีวิตที่วุ่นกับการพยาบาลเยียวยา ประทังและทำใจให้พร้อมสำหรับการอำลา ทำให้ไม่มีเวลาว่างคิดเรื่องใหม่ๆที่อยากจะทำ หลังหายทุกข์หายโศกพักใหญ่แล้วนั่นแหละ ถึงย้อนกลับมาดูว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตข้างหน้าดี

“ หม่าม้าจะเรียนอะไรล่ะ พวกภาษาแน่ๆเลย ”
ปออ่อนเดา ก่อนหน้าที่ปะป๊าป่วยก็เคยเห็นหม่าม้าจับปากกาขีดๆเขียนๆ แปลบทความภาษาต่างประเทศลงพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งเป็นครั้งคราว บางทีหม่าม้าอ่านหนังสือพิมพ์แล้วนึกสนุก อยากแสดงความคิดเห็นขึ้นมาก็เขียนจดหมายร่ายยาวไปถึงกองบรรณาธิการ เลยกลายเป็นนักเขียน(จดหมาย)โดยปริยาย

“ไม่หรอกจ้ะ หม่าม้ามีความรู้ด้านภาษาพอตัวแล้ว ถึงจะไม่ได้จบเมืองนอกเมืองนา ก็พออ่านออก เขียนได้ ส่วนพูด...อาจจะไม่คล่อง ก็ไม่ค่อยได้พูดกับฝรั่งที่ไหนเลยนี่นา ”

อาชีพแรกและอาชีพเดียวของฉันคือการเป็นเลขานุการตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ ได้ช่วยฝึกฝนทักษะในการสื่อสารจนมีประโยชน์ติดตัวมาถึงทุกวันนี้

ยังจำได้ถึงการฝึกเขียนจดหมายธุรกิจและรายงานการประชุมด้วยภาษาที่กระชับ รัดกุม ถูกต้อง ผ่านการตรวจตราจากเจ้านายตาละเอียดยิบกว่าจะหลุดลอดออกมาได้ บันทึกการประชุมสั้นๆ หากใช้คำที่ผิดความหมายย่อมส่งผลกระทบถึงผู้ เกี่ยวข้อง เรื่องเล็กๆบางเรื่องจึงลุกลามอย่างไม่น่าเชื่อ

เด็กสมัยใหม่อาจนึกไม่ถึงเลยว่า ทำไมถึงต้องเคร่งครัดขนาดนั้น คำพูดจำนรรจาก็เหมือนกัน นึกรำคาญพิธีกรรุ่นใหม่ว่าผ่านการคัดเลือกมาได้อย่างไร ออกเสียงควบกล้ำ ร เรือ ล ลิงไม่ได้เลย พลอยให้เด็กๆที่เป็นแฟนรายการติดนิสัยละเลยการออกเสียงที่ถูกต้องตาม

เออ....บ่นแทนครูภาษาไทยมากไปแล้วกระมัง

“ หม่าม้าไปเรียนคอร์สสั้นๆก็ได้นี่คะ เรียนจบคอร์สหนึ่งก็ต่ออีกคอร์สหนึ่ง ไม่ต้องเหนื่อยทำ Case ทำวิจัย”

ลินินลูกสาวคนโตที่ผ่านการเรียนระดับปริญญาโทมาแล้วอย่างสาหัสสกรรจ์แนะนำขึ้นบ้าง คงไม่อยากเห็นหม่าม้าเครียดและเหนื่อยล้ากับกิจกรรมการเรียนมากเกินไปในวัยที่ควรจะพักผ่อนชมสวน ชมต้นไม้ไปตามเรื่อง

“ ไม่ล่ะ หม่าม้าอยากจะเรียนอะไรที่จริงๆจังๆและใช้งานได้ด้วย”
ฉันปฎิเสธความหวังดีของลูกๆไป

“ หม่าม้าชอบพวกประวัติศาสตร์ ลองไปเรียนวิชาจัดการวัฒนธรรมหรือพวกท่องเที่ยวดีมั้ยล่ะ ”

ป่านดำ ลูกชายคนกลางขอแสดงความคิดเห็นขึ้นบ้าง “เรียนจบก็ไปเป็นไกด์นำเที่ยวได้ ”
ฉันหัวเราะ ดูซิ พวกเขาคงนึกไม่ถึงหรอกว่าฉันอยากจะเสริมเติมความรู้ด้านไหน

“ หม่าม้าจะเรียนบริหารธุรกิจน่ะ ”
“ หา.....” ทั้ง 3 คนร้องเป็นเสียงเดียวอย่างคาดไม่ถึง หม่าม้าของพวกเขาอายุเกิน 50 มากโขแล้ว กำลังจะตัดสินใจเรียนต่อในสาขาบริหารธุรกิจ เป็นไปได้หรือนี่




Create Date : 09 เมษายน 2551
Last Update : 9 เมษายน 2551 22:21:24 น. 3 comments
Counter : 377 Pageviews.  

 
“หม่าม้าจะเรียนบริหารธุรกิจไปทำไม จะกลับไปทำงานอีกเหรอ ”
ปออ่อนเริ่มทำหน้าเหมือนไม่ค่อยจะเชื่อว่า หม่าม้าของบ้านนี้ยังปกติดีอยู่หรือเปล่า

“ โอ๊ย แก่เป็น ฮ นกฮูกอย่างนี้แล้ว ใครเขาจะจ้าง ” ฉันหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“ ก้อไปบริหารมูลนิธิการกุศลไง เขารับพวกเกษียณก่อนอายุไปทำงานก็เยอะ ” ป่านดำผู้มีคำตอบให้กับทุกเรื่องมองไกลไปโน่น

“ หม่าม้าไม่ลองเข้าคอร์สฝึกอบรมสั้นๆล่ะคะ เห็นมีตั้งหลายโปรแกรมสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เดี๋ยวหนูจะถามเพื่อนๆให้”

ลินินยังยืนกรานให้ฉันทดสอบการกลับสู่ห้องเรียนของตัวเองอีกครั้งด้วยหลักสูตรสั้นๆเฉพาะหน้าเสียก่อน จนแน่ใจแล้วค่อยปักหลักจริงจัง

“ไม่ล่ะ หม่าม้าอยากเริ่มต้นเรียนใหม่หมด อยากจะมีธุรกิจของตัวเอง....”

คราวนี้ ลูกๆเงียบกริบ ไม่ทราบว่าเงียบเพราะตั้งตัวไม่ทัน หรืองุนงงกับอาการสมองกลับของผู้เป็นประมุขของครอบครัวหรือเปล่า

หม่าม้าที่พวกเขาเคยเห็นมาตลอดชีวิตคือผู้หญิงแม่บ้านคนหนึ่งที่ไม่เคยทำธุรกิจอะไรเลย นอกจากตื่นเช้าขึ้นมาก็สาละวนกับงานบ้านทุกชนิด พาลูกๆไปส่งโรงเรียน ไปจ่ายตลาด เข้าครัวทำอาหาร 3 มื้อ ( บางครั้งก็ขี้เกียจเหลือแค่ 2 มื้อ ) ทำงานบ้านด้วยตัวเองตั้งแต่ซักผ้า-รีดผ้า ถูบ้าน ดูแลความเรียบร้อยของห้องหับต่างๆ ขุดดิน ปลูกพืชผัก ถางหญ้าไม่ให้รก ตอนหัวค่ำก็สอนการบ้าน พร้อมดูแลปะป๊าที่เพิ่งเสร็จงานในเวลาเดียวกัน เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องมีกิจกรรมให้พาไปร่วมไม่เว้น เรียนพิเศษ ว่ายน้ำ เล่นกีฬา ร่วมกิจกรรมโรงเรียน ฯลฯ จนวันหนึ่งอยากจะให้มีมากกว่า 24 ชั่วโมง แถมบางช่วง ลูกคนไหนป่วยเป็นอีสุกอีใส หัดหรือไข้หวัด หม่าม้าก็ต้องหยุดงานอื่น มาเฝ้าหยอดน้ำข้าวต้มอยู่ข้างเตียงไม่ห่าง

แล้วหม่าม้าจะเอาหัวที่ไหนมาคิดเรื่องทำธุรกิจ ถึงจะเคยทำงานออฟฟิศมาก่อนก็เถอะ แต่นั่นก็น้านนานมาแล้วก่อนจะแต่งงานกับปะป๊าเสียอีก

“หม่าม้ารู้ว่าเพ้อเจ้อไปหน่อย แต่ตอนปะป๊าไม่สบาย ถ้าหม่าม้ามีความรู้ทางธุรกิจบ้างก็คงจะช่วยให้คำปรึกษา แบ่งเบาความกังวลใจได้บ้าง”

ฉันตอบเรียบๆแม้จะอดสะท้อนใจไม่ได้ว่า หากมีลูกคนไหนสักคนเรียนสายธุรกิจมาก็คงจะพอช่วยสืบทอดกิจการของปะป๊าได้บ้าง แม้จะเป็นบริษัทเล็กๆ มีคนทำงานไม่ถึงสิบคนก็ตาม แต่นั่นแหละ ทางใครก็ทางมัน ปะป๊าและฉันเป็นพ่อแม่ที่ทันสมัย ไม่เคยบังคับหรือกำหนดเส้นทางเติบโต ความชอบส่วนตัวของลูกๆ

“อีกอย่าง หม่าม้าไม่อยากจะเป็นภาระของพวกเรา ตอนแก่”
“ หม่าม้า กลัวเราจะทอดทิ้งเหรอ ”
ปออ่อนพูดเสียงเครือๆเหมือนจะร้องไห้ ฉันลูบศีรษะลูกเบาๆ ปออ่อนเป็นลูกคนเล็กที่สนิทและออดอ้อนแม่มากที่สุด เธอเกิดในช่วงที่ฉันลาออกจากงานประจำมาเป็นแม่บ้านอย่างสมบูรณ์จึงมีเวลาเลี้ยงดู ฟูมฟักอย่างเต็มที่

“เปล่า แต่หม่าม้ากลัวสมองฝ่อ ถ้าไม่ได้ใช้อะไร”

ฉันนึกถึงภาพยนตร์จากช่องเคเบิ้ลทีวีหลายเรื่องที่แสดงชีวิตของคนแก่ซึ่งนั่งเฝ้าจ่มอยู่กับอดีตไปวันๆ ช่างเวิ้งว้างและว่างเปล่ากับวันคืนที่ผ่านเลย แล้วใจก็ทรุด กายก็เสาะ ป่วยเป็นโรคหลงๆลืมๆ พัฒนาไปถึงขั้นรุนแรงจนช่วยตัวเองไม่ได้ท้ายสุด กลายเป็นคนที่ถูกโลกลืมในไม่ช้า

“ ถ้าเกิดหม่าม้าอายุยืนถึง 90 ปีล่ะ พวกเราไม่ต้องแบ่งเงินเดือนมาให้ใช้ถึงตอนนั้นเลยเหรอ แล้วจะมีเงินเก็บกันพอได้อย่างไร ถ้ายิ่งแต่งงาน มีครอบครัว มีหลานๆอีกโขยง ”

ฉันพยายามอธิบายให้เห็นถึงความจริงในวัฎฎจักรที่เกิดขึ้นและเป็นไป ตราบเท่าที่พวกเขาแต่ละคนยังพอใจกับการใช้ชีวิตแบบคนในเมืองใหญ่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างนับวันแต่จะมีราคาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตที่ดิ้นรนว่ายเวียนอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพไปวันๆ

“หม่าม้าไม่อยากจะเป็นฝ่ายเฝ้าขอเงินลูกๆตลอดไป อยากมีชีวิตของหม่าม้าเองบ้าง ......”


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 9 เมษายน 2551 เวลา:9:46:44 น.  

 

คำพูดประโยคท้ายนี้ ทำให้ฉันหวนระลึกถึงเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่งที่รักใคร่ชอบพอ เธอเป็นนักเรียนหัวกะทิมาจากต่างจังหวัดเพียงคนเดียว ใช้ชีวิตเงียบๆในห้องสมุด ขณะที่ฉันมาจากโรงเรียนสตรีเล็กๆแห่งหนึ่ง ไม่มีกลุ่ม ไม่มีโต๊ะประจำ เมื่อได้เรียนด้วยกันจึงผูกมิตรชิดใกล้

ครั้นเธอเรียนจบก็พยายามหาตำแหน่งงานบรรณารักษ์กลับไปรับราชการที่บ้านเกิด เราสองคนยังมีโอกาสติดต่อกันเป็นประจำ เธอมีแผนการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่คณะเดิมหลังรับราชการได้สัก 2-3 ปี แต่ก็ต้องยกเลิกเพราะได้แต่งงานกับลูกชายเจ้าของห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในท้องถิ่น มีลูกๆเป็นทายาทสืบทอดตระกูล

ดูๆแล้วชีวิตก็น่าจะมีความสุขสงบดี ตัวเธอเองก็ยังพอใจเป็นบรรณารักษ์ประจำวิทยาลัยครูประจำจังหวัด ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจทางฝั่งสามี พวกเราชอบล้อเลียนเรียกฉายาเพื่อนคนนี้ว่า “คุณนายห้าง” บางทีก็เรียกสั้นๆว่า “ นายห้าง ” ไปเลย

เวลาผ่านมานับสิบปี เพิ่งมีโอกาสได้เจอครั้งหลังสุด เมื่อเธอเข้าคอร์สอบรมระยะสั้นกับหลักสูตรบริหารจัดการของหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

“ไม่มีแล้วห้างของที่บ้าน”

แล้วเจ้าตัวก็เล่าถึงชะตาธุรกิจของครอบครัวสามีอันพลิกผัน เมื่อถึงคราวเศรษฐกิจขยายรุ่งโรจน์ถึงหัวเมืองใหญ่ ก็ เริ่มมีห้างสรรพสินค้าชื่อดังจากกรุงเทพขึ้นไปตั้งสาขา

ตอนแรกกะจะร่วมทุนกันเพราะห้างท้องถิ่นย่อมรู้จักตลาดมากกว่า แต่ตกลงในข้อสัญญาไม่ได้ จึงไม่ได้เป็นพันธ มิตรต่อ

เมื่อมีคู่แข่งจากเมืองกรุงขึ้นไปบุกถึงที่ จำเป็นอยู่นั่นเองที่จ้าวถิ่นจะต้องปกป้องและรักษาฐานลูกค้าเดิมอย่างเหนียวแน่น ครอบครัวทางสามีสามารถต้านการรุกคืบของห้างใหญ่รายนี้ได้ระดับหนึ่ง ชาวพื้นเมืองยังพอใจใช้บริการของห้างท้องถิ่นเก่าแก่ จวบจนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่กระเทือนถึงธุรกิจทุกหย่อมหญ้า แม้ห้างของเธอจะหลุดพ้นมาได้อย่างสะบักสะบอมก็ไม่วายต้องเจอยักษ์ใหญ่(จริงๆ)ยืนปักหลั่นท้าทายต่อหน้า

“ พอซูเปอร์สโตร์เข้าไปเท่านั้นแหละ ต่อให้รักผูกพันแค่ไหนก็เอาลูกค้าไม่อยู่ เพราะเขาเล่นนโยบายดั๊มพ์ราคาของจนสู้ไม่ไหว บางตัวถูกกว่าต้นทุนเสียอีก ”

คนเล่าเอ่ยชื่อห้างสรรพสินค้าซูเปอร์สโตร์ที่ขายของถูก 2-3 ชื่อ มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ขึ้นมาเปิดพื้นที่รบใจกลางเมืองอย่างปลอดโปร่ง โล่งสบาย ปราศจากการต่อต้านใดๆไม่เหมือนในระยะหลังๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมองการขยายตัวของห้างใหญ่เหล่านี้ว่าเป็นการลงทุนในท้องถิ่น เกิดการจ้างงานและหมุนเวียนเงินตราจำนวนมาก

ห้างซูเปอร์สโตร์บุกตลาดเต็มรูปแบบ ซื้อใจชาวเมืองด้วยราคาของที่ถูกพิเศษ ทั้งลด แลก แจก แถม จนร้านค้าตึกแถวแบบโชว่ห่วยสู้ไม่ได้ ปิดกิจการเป็นแถบๆ

ห้างของครอบครัวสามีก็กัดฟันสู้ด้วยวิธีการส่งเสริมการขายต่างๆเพื่อดึงฐานลูกค้ากลับ แต่สายป่านและเม็ดเงินที่ไม่หนาเท่า ยิ่งทำมากเท่าไร ยิ่งเฉือนเนื้อตัวเอง จนท้ายสุด ต้องปิดกิจการ ปล่อยให้ผู้ค้ารายย่อยมาเช่าพื้นที่

“ ฟื้นไม่ไหวแล้ว ห้างที่มีอยู่ก็เปลี่ยนธุรกิจไปทำอย่างอื่นซะ อย่างลูกๆของเราเรียนจบแล้วก็ไม่อยากกลับมาช่วยที่บ้านทำค้าปลีกอีก สู้อยู่กรุงเทพเป็นลูกจ้างรับเงินเดือน โก้กว่า ไม่ต้องเครียดเรื่องหมุนเงิน ”

เมื่อฉันถามว่า เธอมาเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจทำไม ในเมื่อไม่มีธุรกิจให้ดำเนินการต่อแล้ว

“ไม่อยากเป็นคุณป้าบรรณารักษ์แก่ๆเฝ้าห้องสมุดจนเกษียณ ”

แล้วเพื่อนผู้ขยันคนนี้ก็เล่าแผนการทีเจ้าตัวมองไว้
เธออยากจะฟื้นธุรกิจขายรองเท้า ซึ่งเป็นกิจการดั้งเดิมของครอบครัวสามีก่อนจะขยายเป็นห้างสรรพสินค้า สืบดูสายสัมพันธ์ของคนรู้จักเก่าๆ พ่อค้าส่งและโรงงานผู้ผลิต รองเท้ายังพอมี หากจะฟื้นใหม่ก็ยังพอเห็นลู่ทาง

แม้ถูกคัดค้านจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะบรรดาลูกๆที่เป็นฝั่งเป็นฝาไปหมดแล้ว แต่เธอก็ยืนกรานในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้

อุปสรรค์ที่เหนี่ยวรั้งก็คือ...จะเริ่มนับหนึ่งอย่างไร
ในเมื่อไม่เคยข้องแวะกับธุรกิจค้าขายมาก่อน ตัวเลขที่รู้จักและจำขึ้นใจก็คือระบบการแยกแยะรหัสหนังสือประเภทต่างๆที่ท่องกันมาสมัยเรียนที่คณะ

“ เลยมาลองฟังพวกกูรูนักบริหารที่นี่ไง ”

หลักสูตรที่เธอเข้าร่วมอบรมเสียเงินเรียนค่อนข้างสูง
จัดโดยสถาบันฝึกอบรมเอกชนที่มีชื่อเสียงมานาน
เป็นคอร์สธุรกิจระยะเวลาสั้นๆ 6 เดือน มีวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์เฉพาะหัวข้อนั้นๆสอน แบ่งปันประสบ การณ์ต่างๆพร้อมบทสรุปจบภายในครึ่งวัน ผู้รับการฝึกอบรมล้วนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ทุกคนเน้นสร้างสายสัมพันธ์เพื่อเกื้อกูลกันในภายภาคหน้า

“เดือนหนึงก็ลงมาเรียน เสาร์-อาทิตย์ 2 วัน ไม่จุใจเลย อยากจะหาที่เรียนเต็มหลักสูตรให้คนในวัยเราๆได้ความรู้อย่างครบกระบวน”

เธอเรียนจบไปนานแล้ว ป่านนี้คงกำลังวุ่นกับบทบาทใหม่ จากคุณนายห้างเฉิดฉายเป็นแม่ค้าขายรองเท้าติดดิน คุกเข่าย่อตัวคอยสวมรองเท้าให้ผู้มาลอง คู่แล้วคู่เล่า ชีวิตช่างเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว

เสียงคัดค้านจากบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยค่อยๆลดลง เมื่อเห็นทีท่าเอาจริงเอาจังของฉันกับการกลับไปสวมบทบาทนักเรียนอีกครั้ง ลูกๆยอมรับการตัดสินใจของหม่าม้าประจำบ้าน อาจจะถึงเวลาที่พวกเขาต้องตระหนักแล้วว่า ช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราต้องมาถึงจุดเปลี่ยนผันที่เจ้าตัวเท่านั้นจะรู้เว่า อยากจะเดินไปทางไหน หม่าม้าที่เคยเป็นแม่ศรี(เฝ้าบ้านเรือน)ประจำบ้านกำลังสลัดคราบ ก้าวออกจากมุมจำเจที่อยู่กับที่มานานนับสิบปี ( ห้องนอน โซฟา โต๊ะรับแขก ห้องครัว) สู่โลกภายนอกในวัยบั้นปลายของชีวิต ประตูบานใหม่กำลังรอเปิดออก แต่หลังประตูทอดยาวนั้นจะราบเรียบหรือขรุขระเพียงใดไม่มีใครบอกได้

คืนนั้นฉันฝันเห็น นกฮูกตัวป้อมๆที่ยืนจับขอนไม้นิ่ง...นาน ขยับตัวและกระพือปีกสองสามครั้ง








โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 9 เมษายน 2551 เวลา:11:10:17 น.  

 

เก็ยไว้ที่นี่ ชอบครับ จะได้ไม่อันตรธานสูญหาย

ว่างเมื่อใดจะมาอ่านต่อ


โดย: yyswim วันที่: 10 เมษายน 2551 เวลา:0:45:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]