A NaughtyDog a day will keep a real doctor away!

<<
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 มีนาคม 2552
 

ซาวด์คนท้อง

อันเนื่องมาจากมีคุณแม่มาโพสท์ถามเรื่องการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในขณะตั้งครรภ์ แต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกทำบ่อยแค่ไหน แตกต่างกันอย่างไร อย่ากระนั้นเลย วันนี้มาคุยกันเรื่องนี้ดีกว่าครับ
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์ มีข้อแนะนำว่า ให้ทำ"เท่าที่จำเป็น"ครับ ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับสถานบริการ(โรงพยาบาล หรือคลินิก) ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำมากกว่าว่า...จำเป็น...หรือไม่
คลื่นเสียงความถี่สูงมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ครับ เพราะไม่มีการใช้รังสี และไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเกิดความผิดปกติใดๆ เท่าที่เคยมีการศึกษามา ก็มี"บาง"การศึกษาที่สงสัยว่า การทำอัลตร้าซาวด์"อาจจะ"ทำให้ทารกที่คลอดออกมาถนัดซ้ายมากขึ้น เรื่องนี้ไม่มีการยืนยันชัดเจนนะครับ แต่...แต่...(บอกแล้วผมเป็นพวกชอบแต่)ไม่ได้แปลว่า การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์ จะไม่มี Risk หรือความเสี่ยงเสียทีเดียว ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางทฤษฎีเท่านั้นนะครับ(ในทางปฏิบัติไม่เคยพบ) ขอยืนยันว่าไม่เคยมีรายงานอันตรายที่เกิดจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแต่อย่างใด แต่เนื่องจากการผ่านพลังงานคลื่นเสียง"อาจจะ"มีผลในทางทฤษฎีบางอย่างได้ คำแนะนำจึงให้ "ทำเท่าที่จำเป็น"
คราวนี้มาดู "ความจำเป็น" ของแพทย์ที่ทำดีกว่าครับ แพทย์ทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่ออะไรบ้าง
1. เพื่อดูอายุครรภ์
2. เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารก
3. เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
4. เมื่อเกิดความผิดปกติ และแพทย์ใช้การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อหาสาเหตุ
5. เหตุผลอื่นๆ เช่น ต้องการดูเพศทารก
การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ไม่ใช่เพื่อใช้แทนอายุครรภ์จากการคำนวณนะครับ หากจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้ และประจำเดือนมาเป็นรอบๆที่สม่ำเสมอ(อาจคลาดเคลื่อนได้บ้างนิดหน่อย) อย่างนี้การคำนวณอายุครรภ์จะแม่นยำกว่าครับ ที่นี่ถ้าจะทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ทำเมื่อใดก็ได้ครับแต่...ความแม่นยำจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงเวลาที่ทำครับ
การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ ส่วนใหญ่จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไปครับ แต่มีการตรวจบางอย่างที่จะทำเร็วกว่านี้ เช่นการตรวจความหนาของผิวหนังระดับคอ(Nuchal thickness)จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ครับ เป็นการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์(Down Syndrome)อย่างหนึ่งครับ
การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จะทำเมื่อคิดว่าทารกตัวค่อนข้างเล็ก(ทราบอายุครรภ์แน่นอนแล้ว) หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้ กรณีเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะได้เปรียเทียบการเจริญเติบโตหรือเอาค่าการเจริญเติบโตที่ได้ไปพล็อตกราฟแสดงการเจริญเติบโตครับการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ หมายถึงมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จึงใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อประกอบการวินิจฉัย ที่เจอบ่อยๆก็...เช่น มีเลือดออกผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ แพทย์ก็จะกังวลว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องลม หรือทารกเสียชีวิตแล้วกำลังจะแท้ง ถ้าอายุครรภ์มากมากหน่อยก็จะสงสัยเรื่องรกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด กรณีเหล่านี้จะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติครับ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องทำ
ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูเพศทารก เรื่องนี้แปลกมากครับ เพราะส่วนใหญ่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าใจว่าการทำอัลตร้าซาวด์ทำเพื่อดูเพศให้เท่านั้น เวลาไปบอกคุณแม่ว่าจะขอทำอัลตร้าซาวด์ บางคนจะบอกว่าไม่ทำเพราะไม่อยากทราบเพศ (อึมมมม...อึ้งไปเหมือนกันครับ) หรือบางท่านก็มาขอทำเพื่อดูเพศลูก เรื่องนี้ก็แล้วแต่ครับ การทำเพื่อดูเพศทารกในครรภ์เป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดีครับ ถ้าจะทำส่วนใหญ่ก็จะต้องอายุครรภ์ 16-18สัปดาห์ขึ้นไปครับ ทั้งนี้นอกจากขึ้นอยู่กับอายุครรภ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ทำ ความละเอียดของเครื่อง และท่าของทารก บางรายแพทย์ที่ชำนาญบางท่านเห็นเพศทารกตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 16 สัปดาห์ก็มีครับ
ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี่การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบ 3 มิติ และ 4 มิติ(ทำเป็นภาพเคลื่อนไหวจากภาพ 3 มิติที่สร้างขึ้น) ความนิยมในการตรวจด้วยวิธีใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปดูรู้เรื่องกว่าการทำอัลตร้าซาวด์แบบเก่าซึ่งเห็นเป็นภาพตัดขวาง มีแต่แพทย์เท่านั้นที่ดูรู้เรื่อง ความนิยมการทำอัลตร้าซาวด์ 3 มิตินี้มากจนกลายเป็น Entertaining ultrasound ไปแล้ว กล่าวคือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากดูหน้าลูก ก็มาขอหมอตรวจ บางคนก็ให้เหตุผลว่ามีข้อดีคือทำให้เกิด Bonding(ความผูกพันธ์)ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์
หวังว่าคงทำให้คุณแม่ทั้งหลายมีความเข้าใจกับเครื่องมือนี้มากยิ่งขึ้นนะครับ




 

Create Date : 10 มีนาคม 2552
3 comments
Last Update : 10 มีนาคม 2552 19:53:08 น.
Counter : 2839 Pageviews.

 
 
 
 
นอนหลับฝันดีนะก้าบ
 
 

โดย: พลังชีวิต วันที่: 10 มีนาคม 2552 เวลา:22:08:49 น.  

 
 
 
คุณหมอที่เก่งฝากครรภ์ก็ไม่นิยมเชียร์ 3 มิติ 4 มิติ บอกว่าเป็นการ entertain พ่อแม่มากกว่า สามีเลยยิ้มเลย สบายกระเป๋าไป
 
 

โดย: IcyRose วันที่: 3 มิถุนายน 2552 เวลา:22:35:51 น.  

 
 
 
ดิฉันเป็นคุณแม่ลูกสองแล้วค่ะ มีประการณ์ที่ไม่อยากให้ใครเจอค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันที่สืบห้า กรกฎา เป็นวันครบกำหนดคลอดของลูกคนที่สอง แต่ดิฉันคิดว่าจะรออีกสองวันให้เจ็บท้องคลอดเอง แต่กลางวันที่สืบห้าดิฉันรู้สิกผิดปกติเรื่องการดิ้นของลูกในท้องเพราะปกติจะดิ้นแรงแต่วันนี้เด็ดน้อยและไม่ค่อยแรงเหมือนเดิมดิฉันจึงไปโรงพยาบาล แจ้งให้พยาบาลและหมอที่ดิฉันฝากพิเศษไว้ คืนนั้นทั้งคืนพยาบาลก็ตรวจการเต้นของหัวใจตลอดทั้งคืนแต่ดิฉันก็ยืนยันว่าเด็กดิ้นช้ากว่าปกติ ใจดิฉันอยากให้ให้เค้าซาวน์มากแต่ก็ไม่กล้าบอกให้เค้าทำ เพราะพยาบาลก็ย้ำว่าหัวใจเต้นปกติดี ดิฉันนอนดูอาการหนึ่งคืน พอตอนเช้าเก้าโมงหมอก็ใช้ยาเร่งคลอด ดิฉันก็เริ่มเจ็บท้องตอนเก้าโมงครึ่ง จะเจ็บทุกห้านาที่และเจ็บทุกสามถึงสองนาทีจนถึงบ่ายสองโมงพยบาลก็มาตรวจปากมดลูก ขยายแต่สองเซนต์ พอตอนสองทุ่มน้ำคร่ำก็แตก เค้าก็มาฉีดยาฆ่าเชื้อให้เพราะเด็กยังอยู่ในครรภ์กลัวติดเชื้อ และตรวจปากมดลูกอีกครั้งก็ยังสองเซนต์เหมือนเดิมคุณหมอก็เลยสั่งให้หยุดยาเร่งคลอดก่อน เพราะเจ็บท้องมาทั้งวันทั้งคืนแล้วให้หลับพักเอาแรงก่อนพรุ่งนี้ค่อยให้ยาเร่งคลอดใหม่ แต่ผ่านไหแค่สิบนาที่ดิฉันเจ็บท้องยาวเลยไม่หยุดสักที จนตัวงอร้องให้เพราะความเจ็บพยาบาลก็เข้ามาตรวจปากมดลูกอีกครั้ง เค้าตกใจเพราะปากมดลูกขยายตัวเร็วมากเจ็ดเซนต์แล้วก็เลยเรียกหมอที่ดิฉันฝากพิเศษมา ขณะที่ดิฉันเบ่งคลอดส่วนหัวออกมาก่อนก็ได้ยินหมอบอกว่าหยุดเบ่งก่อเพราะสายสะดือพันคอเด็กอยู่และก็ได้ยินหมอพูดอีกว่าพันตั้งสองรอบแนะ ซึ่งมันทำให้ดิฉันเค้าใจง่ายขึ้นถึงสาเหตุของการดิ้นช้าของลูกดิฉัน และทำให้ใจหายมากถ้าหากคืนนี้ดิฉันไม่คลอดในคืนนี้ถ้ารอถึงพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้นกับลูกดิฉันคงไม่ต้องคิด .....ถ้าตอนที่ดิฉันแอดมิทที่โรงพยาบาลแล้วพยายามขอร้องให้เค้าช่วยซาวน์ดูคงรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าสายสะดือพันคอเด็กอยู่ เป็นเพราะดิฉันเชื่อใจหมอและพยาบาลมากกว่าตัวเองที่อุ้มท้องลูกอยู่ว่ามันผิกปกติ ดิฉันอยากเตือนว่าที่คุณแม่ทุกท่านให้เชื่อตัวเองและพยายามคุยกับหมอให้ตรวจชัดเจนและให้เราเคลียมากที่สุด เพราะความโชคดีไม่ได้เจอกับคนทุกคนเสมอไปค่ะ
 
 

โดย: tankamon IP: 118.172.118.53 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:11:51 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

NaughtyDoc
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




[Add NaughtyDoc's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com