ตัวของเรา สไตล์ของเรา ทำไมต้องเหมือนใคร
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2560
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 กรกฏาคม 2560
 
All Blogs
 
ชุดนักเรียนไทย เอาแบบนี้ดีกว่ามั้ย...



ที่จริงเรื่องนี้เขียนค้างไว้นานแล้ว เพิ่งจะได้มาทำต่อให้จบนี่ล่ะครับ ผมเลยต้องปรับเนื้อหานิดหน่อยให้เป็นปัจจุบันด้วย

ก็ต้องบอกก่อนว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องชุดนักเรียนตอนนี้ไปถึงไหนกันแล้วกระทรวงศึกษาปล่อยเรื่องชุดนักเรียนแล้วหรือยังนะครับ


ก่อนหน้านี้ก็เป็นประเด็นกันมาหลายครั้งกับเรื่องของชุดนักเรียนของไทย ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทั้งเรื่องที่ว่าควรจะมีเครื่องแบบมั้ย และเรื่องที่ว่าเครื่องแบบนักเรียนจะเปลี่ยนดีหรือเปล่า

ผมก็เลยลองคิดดูและพบว่ามันน่าจะเป็นอย่างไรดี ซึ่งผมก็คิดพิจารณาจากปัญหาที่ผมรู้ แน่นอนว่าผมก็อาจไม่ได้รู้ปัญหาทั้งหมด



ประเด็นแรก เรื่องค่าใช้จ่าย.....
มองปัญหา....ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเยอะเพราะต้องซื้อใหม่บ่อยๆ ซึ่งเหตุผลที่ต้องซื้อใหม่กันก็คือชำรุดเสียหาย เก่าเสื้อขาวไม่ขาวแต่ออกเหลือง และเด็กโตขึ้นจนไม่สามารถใส่ได้



การแก้ปัญหา....จากปัญหาที่เกิดเรามองการแก้ได้ง่ายๆ และตรงไปตรงมาคือ ปกติเสื้อผ้าสำหรับนักเรียนจะใช้ได้ประมาณ 1-2 ปี ถึงจะมีการขาดชำรุดเสียหาย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ดูจะไม่ได้แย่จนเกินไปสำหรับเสื้อผ้าที่ต้องใส่ทุกวัน แต่ที่ทำให้ต้องซื้อใหม่คือเด็กโตขึ้น ขนาดรูปร่างเปลี่ยนทำให้ใส่ของเดิมไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี่เองก็มีการทำชุดนักเรียนแบบปรับขยายไซส์ได้ออกมา เรียกว่าตัวเดียวได้S M L ทั้ง 3 ไซส์เลย ซึ่งผมมองว่ามันก็เป็นวิธีที่ดีและน่าเอามาใช้จริงนะครับ เพราะอันนั้นดูเหมือนว่าเขาจะทำเอาไปแจกเด็กขาวเขาหรือยังไงนี่แหละ แต่ถ้าเอามาใช้ในชุดนักเรียกธรรมดาก็ให้ขยายได้สัก 1 ไซส์หรือ 1-2 นิ้วก็โอเค หรือไม่ก็ให้เด็กใส่แบบลูสฟิตไปเลยครับ กางเกงหรือกระโปรงก็ใส่ยางยืดหรือใส่แอดจัสเตอร์ให้ปรับขนาดได้ไปเลย

อีกปัญหาคือเรื่องเก่า เสื้อขาวแต่ออกเหลืองไม่ขาว อันนี้มันเก่าเร็วแน่นอนเพราะใช้ทุกวัน และเด็กก็วิ่งเล่นกันมีเหงื่อมีเลอะอะไรเป็นปกติ ผมเลยมองว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่เปลี่ยนสีเสื้อนักเรียนกันซะเลย แทนที่จะเป็นสีขาวก็เปลี่ยนเป็นสีพวก อ๊อฟไวท์ เบจอ่อน หรือสีแบบฝ้ายไม่ฟอกสีอะไรแบบนั้น ซึ่งจะเป็นสีที่ออกเทาๆ ปนน้ำตาลอ่อนไปเลยเหมือนสีของพวกเสื้อเอาท์ดอร์ มันจะช่วยให้มันดูไม่เก่า เพราะเวลาเลอะมันก็จะค่อนข้างกลืนไปกับสีเสื้อดูไม่น่าเกลียด และสีเป็นโทนหม่นๆ นิดนึงอยู่แล้วเพราะงั้นมันก็จะไม่ดูเหลืองเวลาเก่าครับ แถมสีแบบนี้ยังใส่ได้ทั้งคนขาวและคล้ำด้วย



ประเด็นที่ 2...ควรจะมีเครื่องแบบมั้ยหรือให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ไปเรียน.....
พิจารณาเหตุผลของการมีเครื่องแบบ.....เป็นระเบียบ เป็นการฝึกให้อยู่ในระเบียบ เป็นการแสดงสถานะของผู้สวมใส่ ง่ายและไม่ต้องเลือกชุดใส่ มีความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ประหยัด เพิ่มความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของนักเรียน



เรื่อง ความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ผมมองว่าตัดไปเลยครับ เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้ถ้าเรามองสังคมของนักเรียนนักศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้ว่าพอแต่งเหมือนกันหมดก็ไปแบ่งแยกกันที่อื่นแทนครับ เช่น รถที่ทางบ้านใช้ ยี่ห้อของที่ใช้ กล่องดินสอ เครื่องเขียน เพราะงั้นสุดท้ายเด็กจะหาทางแบ่งแยกและสร้างความเหลื่อมล้ำได้อยู่ดีเพราะผู้ใหญ่ส่วนมากมักสอนให้เด็กพยายามทำให้ดีกว่าคนอื่นและมีการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอด เด็กจึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องเหนือกว่าคนอื่นและพยายามจะทำตัวให้เหนือกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม ในด้านวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่ง่าย เด็กๆ จะหันมาทางนี้แน่นอนครับ...ผมไม่ได้นั่งเทียนมาเขียนนะ ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อเด็กๆ กันดูครับ ว่าเราเคยทำอะไรยังไงหรือเราเคยเจออะไรจากเพื่อนมาบ้าง เพื่อนเคยทำอะไรกับเรามาบ้าง มันมีเรื่องการไม่รับเข้ากลุ่มเพราะไม่มีของอย่างเขาใช่มั้ยครับ พอใครมีอะไรเด่นกว่าคนอื่นถึงจะเป็นแค่เรื่องธรรมดาๆ ก็ตาม ก็จะกลายเป็นคนที่เด่นขึ้นมาและได้รับการยอมรับใช่มั้ยครับ ถูกครับ แต่ละยุคมันมีอะไรที่ต่างกันรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูกสังคมมันต่างกันแต่เรื่องแบบนี้มันอยู่ในสังคมไทยอยู่ตลอด มีทุกยุคทุกสมัย มองสังคมอ๊อฟฟิศหรือมหาวิทยาลัยปัจจุบันก็ได้ (มันใกล้ตัวพ่อแม่มากกว่าสังคมประถมมัธยม) มันก็มีแบบนี้อยู่ตลอดใช่มั้ยล่ะครับ....และที่ยิ่งกว่านั้นคือสิ่งที่อาจไม่ได้ตั้งใจจะเอามาสร้างความเหลื่อมล้ำอะไรคือพอปิดเทอมบางคนก็ได้ไปต่างประเทศ บางคนได้ไปเที่ยวในประเทศ บางคนก็ไม่ได้ไปไหน และบางคนก็ไม่มีโอกาสได้ไปไหน สิ่งเหล่านี้ก็สร้างความเหลื่อมล้ำได้โดยที่เด็กเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจจะทำ.....เพราะงั้นจุดนี้ไม่ต้องใส่ใจ

ความประหยัด มองมุมกลับดูแล้วจะพบว่ามันก็ไม่ได้ประหยัดสักเท่าไหร่ เพราะมันกลายเป็นการบังคับว่าทุกคนต้องใส่แบบนี้ ถ้าใครไม่มีก็ต้องไปหาซื้อมาใส่ และถ้ามันประหยัดจริงก็คงไม่มีคนบ่นอย่างในประเด็นแรกครับ.....จุดนี้ตัดไป

ความเป็นระเบียบ กับ การฝึกให้อยู่ในระเบียบ อันนี้ผมมองว่าใช่ ควรจะมีอะไรที่มาฝึกให้คนรู้จักการอยู่ในระเบียบตั้งแต่เด็ก....อันนี้เป็นข้อดีครับ

การแสดงสถานะของผู้สวมใส่ การที่ดูก็รู้ว่าเป็นนักเรียน บางทีมันก็มีประโยชน์ในแบบที่เราไม่ทันคิดได้เหมือนกันนะครับ.....อันนี้ก็เป็นข้อดี

ง่ายและไม่ต้องเลือกชุดใส่ ก็ใช่ครับ แต่กลับกันก็อาจกลายเป็นความน่าเบื่อโดยเฉพาะกับเด็กในวัยที่กำลังอยากเรียนรู้และลองอะไรใหม่ๆ .....ข้อนี้ 50-50 ถือว่าไม่ได้ดีและไม่ได้เสีย

ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน อันนี้ผมมองว่ามันเป็นเหมือนจิตวิทยาเล็กๆ เหมือนการสร้างความรู้สึกรักพวกพ้องมากขึ้น มันไม่ได้เต็มร้อยหรอกครับแต่มันมีมากกว่า อาจจะเพิ่มขึ้นสัก 20% เท่านั้นก็ได้แต่มันก็ถือว่ามีมากกว่าแล้ว ซึ่งมันก็อาจได้ประโยชน์อะไรบางอย่างได้ .....ข้อนี้ผมให้เป็นประโยชน์แล้วกันครับ


ข้อสรุป.....ผมมองว่า สำหรับคนไทยแล้วถ้าไม่มีเครื่องแบบที่เป็นระเบียบบังคับไว้บ้างมันจะยิ่งเละเทะครับ เพราะนิสัยคนไทย "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" ทำให้ไม่ค่อยจะมีระเบียบกัน ไม่รู้จักความเหมาะสมและความพอดี เพราะงั้นเครื่องแบบนักเรียนยังน่าจะมีต่อไปครับ เพราะข้อดีของมัน......แต่น่าจะมีการปรับให้เหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น




ประเด็นที่ 3...ชุดนักเรียนไทย เปลี่ยนได้มั้ย....
พิจารณา.....ก็มีหลายคนคิดว่าเราน่าจะเปลียนเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น มีความเป็นแฟชั่นแบบปัจจุบันมากขึ้น แต่ก็มีหลายคนออกมาคัดค้านว่า ชุดนักเรียนก็แค่ชุดที่ใส่ไปเรียน ไปเรียนก็เพื่อไปหาความรู้ไม่จำเป็นต้องไปคิดเรื่องแต่งตัวอะไร ชุดอะไรก็ใส่ไปเรียนหาความรู้ได้เหมือนกัน

ผมมองว่า ใช่เลยครับ ชุดอะไรก็ใส่ไปเรียนหาความรู้ได้เหมือนกัน ใส่ชุดนอนไปเรียนก็เรียนรู้ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อขาวกับกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสีน้ำเงินหรอก ใส่เสื้อยืดสีชมพูกางเกงสีเทา รองเท้าแตะ ก็เรียนรู้ได้ เพราะงั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับชุดนักเรียนแบบเดิม เปลี่ยนใหม่ก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อให้มีความเป็นแฟชั่น แต่เพื่อให้เหมาะกับสมัยปัจจุบัน คงข้อดีเอาไว้และสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดซึ่งแก้ปัญหาที่เจอใน 2 ประเด็นแรกได้ครับ



แล้วชุดนักเรียนไทยน่าจะเป็นยังไงดีล่ะ
ถ้าถามว่าน่าจะเป็นยังไงดี ผมมีให้หลายรูปแบบไอเดียครับ.....

ผมคิดว่าชุดนักเรียนไทยควรเปลี่ยนครับ....เพราะในเมื่อชุดนักเรียนคือชุดที่ใส่ไปเรียนเพราะงั้นมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อขาวกับกางเกง/กระโปรงน้ำเงินหรือดำหรอก


ตัวอย่างสีบางส่วนที่คิดว่าเหมาะกับเสื้อนักเรียน

อย่างแรกเลย ผมว่าชุดนักเรียนน่าจะเปลี่ยนสีให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและการใช้งาน ตามที่ได้อธิบายไว้ในประเด็นแรกคือ เปลี่ยนจากเสื้อขาวเป็นสีพวก อ๊อฟไวท์ เบจอ่อน เทา หรือสีแบบฝ้ายไม่ฟอกสีอะไรแบบนั้น ซึ่งจะเป็นสีที่ออกเทาๆ หรือปนน้ำตาลอ่อนไปเลยเหมือนสีของพวกเสื้อเอาท์ดอร์ เพราะเด็กจะใส่เสื้อไปทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะมีเหงื่อและย่อมตามมาด้วยคราบสกปรกต่างๆ สีแบบนี้เวลาเลอะมันก็จะค่อนข้างกลืนไปกับสีเสื้อดูไม่น่าเกลียด แถมยังเป็นโทนหม่นๆ นิดนึงอยู่แล้วเพราะงั้นถึงเก่าก็จะไม่ดูเหลือง และสีแบบนี้ยังใส่ได้ทั้งคนขาวและคล้ำด้วย ส่วนกางเกงกระโปรงก็ใช้สีสุภาพอย่างดำหรือน้ำเงินเหมือนเดิมไปครับ


ตัวอย่างผ้าออกซ์ฟอร์ดกับผ้าทวิลวีฟ....ในรูปทวิลวีฟเป็นผ้ากาบาร์ดีนซึ่งได้เลือกภาพมาเป็นตัวอย่างของผ้าแบบทวิลวีฟเฉยๆ เพราะผ้ากาบาร์ดีนเนื้อแน่นมากอาจไม่เหมาะกับเสื้อที่จะใช้ในไทย ถ้าใช้จริงอาจเลือกผ้าตัดเชิ้ตชนิดอื่นที่เป็นทวิลวีฟเหมือนกัน

ผ้าที่ทำเสื้อ อาจใช้เส้นใยเป็นโพลีเอสเตอร์ เพราะราคาถูก แห้งเร็ว ผลิตให้เนื้อเนียนได้ รีดง่าย ยับยาก ซึ่งช่วยลดงานในการจัดการกับเสื้อผ้าของทางบ้าน ทอเป็นผ้าเพลนวีฟอย่างอ๊อกซ์ฟอร์ดเส้นด้ายที่ตัดกัน 2 สีจะช่วยทำให้พรางความสกปรกได้อีก หรือเป็นทวิลวีฟก็ได้ซึ่งก็จะได้เนื้อผ้าที่เนียนนุ่มกว่า...การตัดเย็บอาจทำแบบเย็บตะเข็บไว้ 2 ชุด เป็น 2 ไซส์ เช่น S,M หรือ M,L เป็นต้น เมื่อใช้ไปพอเสื้อเริ่มเล็กลงก็เลาะตะเข็บออกเพื่อขยายเป็นอีกไซส์ที่ใหญ่ขึ้นได้ หรือไม่ก็ให้นักเรียนใส่เป็นแบบลูสฟิตไปเลยครับ พอตัวใหญ่ขึ้นก็จะค่อยๆ กลายเป็นเรกูล่าร์และพอตัวใหญ่ขึ้นอีกก็จะเริ่มกลายเป็นสลิมนั่นก็คือได้เวลาเปลี่ยนตัวใหม่

กางเกงกับกระโปรงก็ใส่เอวยางยืดหรือทำแอดจัสเตอร์ไปเลย ให้ขยับขนาดได้ราว 1-2 นิ้ว กางเกงหรือกระโปรงก็จะใช้ได้นานขึ้นครับ กรณีที่ยางยืดเสื่อมก็แค่ไปเปลี่ยนใหม่ ไม่ถึงร้อยกางเกงก็กลับมาใช้ได้อย่างเดิมแล้ว

ถุงเท้าก็น่าจะเปลี่ยนเป็นสีเทาแทนนะครับ เพราะมันช่วยให้เวลาที่เลอะแล้วดูไม่แย่เท่าถุงเท้าขาวมันช่วยลดภาระในการจัดการกับเสื้อผ้าของทางบ้านของนักเรียนได้


ต่อไปก็เรื่องระเบียบครับ....
ผมว่าเราน่าจะเปลี่ยนแนวคิดด้านระเบียบการแต่งกายกันซะใหม่ จากการบังคับให้ใส่เสื้อขาว กางเกง/กระโปรงน้ำเงินหรือดำ ถุงเท้าขาว กับรองเท้าดำ ซึ่งทำให้ทุกคนต้องซื้อทุกชิ้นไม่มีชิ้นไหนเป็นไม่ได้ และเด็กนักเรียนหลายคนเบื่อเพราะถูกบังคับตลอด 12 ปีที่ต้องใส่แต่ชุดเดิมๆ ตลอด เพราะงั้นก็ลองมาปรับแนวคิดกันหน่อยครับ

แต่ละโรงเรียนอาจออกแบบชุดในแบบของตัวเองไปเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดทุกโรงเรียน บางโรงเรียนอาจใช้ชุดแบบนึงและอีกโรงเรียนอาจใช้ชุดอีกแบบก็ได้ การที่ชุดแต่ละโรงเรียนต่างกันก็มีข้อดีนะครับ คือถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้นมองไปปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นเด็กโรงเรียนไหน ซึ่งผมก็มีไอเดียให้อยู่ 2 แบบ คือ.....



รูปจากเวบของโรงเรียนมัธยมเทเคียวฮาจิโอจิ (Teikyo Hachioji) จะมีชุดหลักที่บังคับอยู่ แล้วจะมีเสื้อสีฟ้ากับเทา (ชาย) และชมพูกับม่วง (หญิง) ให้เลือกใส่ได้ ชิ้นล่างมีให้เลือกได้ 3 สี นักเรียนหญิงสามารถเลือกใช้เนคไทหรือโบว์ก็ได้

- ใช้ไอเดียแบบญี่ปุ่นครับ คือในชุดนักเรียนมีให้เลือกใส่ได้ สมมุติว่ามีสัก 10 ชิ้น ก็ให้เลือกใส่เองได้ ผสมชุดเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่เหมือนกันหมดทุกคน เช่น มีเสื้อเชิ้ตให้เลือก 2 สี เนคไท 2 แบบ ใส่ถุงเท้าได้ 2-3 สี มีกางเกง กระโปรง เสื้อนอก (เบลเซอร์) ส่วนเสื้อ knit ต่างๆ อย่างสเวตเตอร์ คาร์ดิกัน เวสท์ ก็เลือกใส่ได้ตามชอบแต่ต้องเป็นสีสีสุภาพ (ไม่ใช่ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่นนะครับ แต่เห็นมีหลายโรงเรียนทำแบบนี้)


รูปจากเวบของโรงเรียนมัธยมปลายสตรีคามาตะ (Kamata Joshi) รูปใหญ่จะเป็นรูปแบบบังคับของฤดูหนาวกับร้อน แต่ชุดฤดูหนาวก็สามารถเปลี่ยนจากเบลเซอร์เป็นสเวตเตอร์หรือเวสท์ได้ และชุดฤดูร้อนก็สามารถเลือกใส่เป็นเสื้อโปโลแทนได้

เวลาแต่งไปเรียนก็สามารถเลือกได้ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร จะใส่เบลเซอร์มั้ย จะใส่เสื้อ knit หรือเปล่า ผูกเนคไทมั้ยถ้าผูกจะเลือกแบบไหนอะไรประมาณนี้ครับ แต่ถ้าเป็นงานพิธีอะไรพวกนี้ก็จะต้องใส่ให้ครบตามที่กำหนด (เสื้อสีอะไร เนคไทแบบไหน ต้องใส่เบลเซอร์ด้วย) ซึ่งอันนี้ก็เป็นของ ม.ปลาย นะครับ เขาจะให้อิสระมากกว่าเมื่อเทียบกับ ม.ต้น ที่ต้องอยู่ในระเบียบที่กำหนดมากกว่านี้ แต่บางแห่งก็ให้อิสระกับเด็ก ม.ต้น ให้เลือกใส่ได้เหมือนกันนะครับ.....บางโรงเรียนในญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้หญิงใส่กางเกงได้ด้วย เขามีกางเกงสำหรับผู้หญิงให้เลือกใส่ได้เลยครับ


รูปจากเวบของโรงเรียนมัธยมปลายฮิงาชิมุรายามะนิชิ (Higashimurayama Nishi) นักเรียนหญิงมีกางเกงให้เลือกใส่ได้ด้วย ในชุดฤดูหนาวก็สามารถเลือกใส่เสื้อนิทแทนเสื้อเบลเซอร์ได้



ก็ไม่ใช่ว่าจะให้เด็กไทยไปผูกเน็คไทใส่เสื้อนอกอะไรหรอกนะครับ มันไม่เหมาะกับประเทศเราซึ่งเป็นเมืองร้อน แต่หมายถึงว่าเราน่าจะเอาแนวคิดที่ให้เด็กได้เลือกผสมชุดที่จะใส่เองได้มาใช้


รูปจากอินเตอร์เน็ต...มีการตัดต่อใหม่

เช่นเราอาจจะมีเสื้อให้เลือกสัก 2-3 แบบ(เชิ้ตนักเรียน, โปโล, เสื้อไทย) สีก็แล้วแต่ว่าจะให้เลือกได้หรือไม่ ถ้าเลือกได้ก็อาจจะมีสัก 2 หรือ 3 สี เช่น ขาว, เทา, เบจอ่อน (หรือจะเป็นสีอื่นก็แล้วแต่) กางเกง/กระโปรง สัก 2 แบบ อาจมีการผสมชุดไทยลำลองเข้าไปด้วย (กางเกง/กระโปรงปกติ, กางเกงไทย, ซิ่นสั้นหรือกระโปรงแร็ปอะราวด์ชายตรง) ถุงเท้าให้ใส่สีขาว เทา ดำ ได้ เลือกใส่รองเท้าได้สีขาวกับดำล้วน เข็มขัดเป็นสีสุภาพไม่กำหนดว่าเป็นผ้าหรือหนัง อาจทำหัวให้เหมือนกันให้เป็นระเบียบสักหน่อย....หรืออาจออกไอเดียอื่นๆ อีกก็ได้ตามเห็นสมควร และบังคับให้ใส่ชุดตามที่โรงเรียนกำหนดเมื่อต้องเข้าพิธีต่างๆ ของทางโรงเรียน.....ชุดนักเรียนที่ว่ามีหลายแบบให้เลือกใส่นี้ก็หมายความว่าชุดหลักคือแบบที่ทุกคนจะต้องมี ส่วนแบบอื่นๆ ก็แล้วแต่คนครับ จะซื้อใส่หรือไม่ก็ได้ มันเป็นแค่ตัวเลือกให้ใส่กันได้เท่านั้นครับ

การให้อิสระแบบนี้ผมคิดว่าน่าจะทำในชั้นมัธยมครับ ม.ต้น ก็อาจให้อิสระได้แต่อาจยังไม่มากเท่าไหร่ แล้ว ม.ปลาย ก็จะมีอิสระมากกว่า ส่วนประถมก็ให้บังคับอยู่ในระเบียบไปก่อนเพราะเด็กควรจะผ่านการรู้จักอยู่ในระเบียบมาก่อนที่จะได้อิสระครับ ถึงแม้ว่าในเด็กญี่ปุ่นที่ระดับประถมหลายโรงเรียนไม่มีเครื่องแบบให้ใส่ การที่ขึ้นชั้น ม.ต้น แล้วต้องมาใส่เครื่องแบบกันก็ทำให้เด็กๆ หลายคนรู้สึกตื่นเต้นและอยากใส่เครื่องแบบกัน แต่ผมก็ยังมองว่าการไม่มีเครื่องแบบเลยนั้นไม่เหมาะกับคนไทยที่รู้จักความเหมาะสมน้อยกว่า เข้าใจกาลเทศะน้อยกว่า และมีระเบียบน้อยกว่าญี่ปุ่นครับ พ่อแม่เด็กหลายๆ คนก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องเหล่านี้มากนัก เพราะงั้นเด็กๆ จึงควรจะได้รับการฝึกสอนในเรื่องพวกนี้ในช่วงประถมซึ่งเป็นวัยที่สำคัญในการวางพื้นฐานก่อนที่จะไปให้มีอิสระในช่วงมัธยม ซึ่งจะเป็นช่วงที่เด็กกำลังต้องการอิสระพอดีครับ



รูปจากอินเตอร์เน็ต...มีการตัดต่อใหม่

- บังคับแต่เสื้อส่วนกางเกงรองเท้าไม่บังคับแต่มีข้อกำหนด คือให้ใส่เสื้อเหมือนกันทุกคนเช่นอาจเป็นเสื้อเชิ้ตนักเรียนธรรมดา อย่างทุกวันนี้ก็ได้หรืออาจเป็นเสื้อโปโลแทน หรือบางโรงเรียนจะใช้เสื้อไทยก็แล้วแต่ครับ ซึ่งก็อาจมีอักษรย่อชื่อโรงเรียนหรือมีตราโรงเรียนก็ได้ ส่วนชิ้นล่างก็แล้วแต่เลยครับ ให้เลือกใส่มาเองได้เลย แต่ก็ต้องมีการกำหนดว่าให้สั้นที่สุดได้แค่ไหน ให้ใช้สีสุภาพ และรองเท้าก็ต้องเป็นรองเท้าสีขาวหรือดำล้วน เข็มขัดผ้าหรือหนังและเป็นสีสุภาพ...ชุดพละก็เพิ่มแค่กางเกงเข้ามา....วิธีนี้จะมีสิ่งที่ต้องซื้อคือแค่เสื้อกับรองเท้าและกางเกงพละเท่านั้น ส่วนอย่างอื่นก็ใช้ของที่มีอยู่ได้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกมากครับ


- ส่วนชุดลูกเสือก็อาจไม่จะเป็นต้องมีอะไรมากมายอาจใช้แค่ผ้าพันคออย่างเดียวพอ หรืออาจมีปลอกแขนหรือเสื้อเฉพาะในกรณีทีต้องปักอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะช่วยประหยัดได้อีกไม่น้อยครับ

- ชุดไทยลำลองถ้าจะให้มีการใช้ในโรงเรียนก็ต้องมีการปรับกางเกงไทยหรือซิ่นสั้นให้ใส่ได้ง่ายขึ้นไม่ต้องใช้เชือกผูก อาจใส่หูร้อยเข็มขัดเข้าไปเลยก็ได้ หรืออาจทำเป็นแบบสายรูดก็ได้

คือไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่งแต่เอาทั้ง 2 แบบนี้มาผสมเข้าด้วยกันเลยก็ได้ เช่นบังคับเฉพาะเสื้อแต่ก็มีเสื้อให้เลือกใส่ได้มากกว่า 1 แบบหรือมีอะไรอย่างนี้ครับ ซึ่งถ้ามีการให้เลือกใส่ได้มากกว่า 1 สี ก็อาจมีสีขาวยืนพื้นเป็นสีมาตรฐานก็ได้แล้วมีสีอื่นๆ ให้เลือกใช้ได้ เพราะเด็กหรือผู้ปกครองก็สามารถเลือกใช้สีอื่นที่ดูแลง่ายกว่าสีขาวได้

ถ้าให้ใส่กางเกงขายาวได้แล้วข้อแตกต่างกับสายอาชีพคืออะไร....ผมคิดว่าก็อาจเป็นการผูกเน็คไทก็ได้สำหรับสายพาณิชย์เพราะนักเรียนสายอาชีพจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการไปทำงานจึงให้ผูกเน็คไท เพราะเมื่อไปทำงานเราบอกไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นจะไปทำงานในตำแหน่งอะไรและจะต้องแต่งตัวแบบไหน ส่วนสายช่างก็ให้ใส่เสื้อเชิ้ตช่าง (อาจมีที่เสียบปากกาที่แขน หรือกระเป๋ามีฝา) หรือเสื้อช็อป เพราะต้องมีการฝึกปฏิบัติและในการทำงานก็อาจมีชุดช่างให้ใส่อยู่แล้ว และเข็มขัดซึ่งสายอาชีพจะมีหัวเข็มขัดเป็นตราโรงเรียนแต่สายสามัญจะเป็นหัวเข็มขัดแบบปกติหรืออะไรที่ต่างออกไปหรืออาจมีการดีไซน์รูปแบบเฉพาะอื่นๆ สำหรับสายอาชีพขึ้นมาอีกก็ได้ครับ



ประโยชน์ของการทำแบบนี้ เราได้อะไร....

การทำแบบนี้ผมว่ามันจะทำให้เด็กไม่เบื่อการแต่งชุดเดิมๆ ไปโรงเรียน เป็นการสร้างแรงจูงใจในการไปเรียนอีกทางหนึ่ง เพราะเด็กในวัยมัธยมมักจะเป็นวัยที่กำลังอยากเลือก อยากรู้ อยากลอง อยากมีอิสระ การไปบังคับอยู่แบบนั้นมันทำให้เด็กไม่อยากทำและเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อไป ถ้าให้อิสระแบบที่พูดถึงนี้จะเป็นการทำให้เด็กไม่เบื่อได้ครับ และยังเป็นการฝึกสอนในทางปฏิบัติในด้านการรู้จักอยู่ในระเบียบด้วย คือแม้จะมีอิสระแต่ก็ต้องรู้จักที่จะอยู่ภายในข้อกำหนด

อีกข้อที่เราจะได้จากการทำแบบนี้คือเด็กจะได้แสดงออกทางความคิดบ้าง เพราะได้คิด ได้เลือกว่าจะใส่อะไรไปเรียน ทำให้เด็กได้คิดเอง ตัดสินใจเอง เป็นการฝึกให้เด็กได้คิดแล้วลงมือทำจริงไปด้วยโดยมีกฏกติกาเป็นโจทย์กำหนดไว้ เด็กๆ จะถูกฝึกให้คิดแบบจะทำยังไงก็ได้แต่ต้องไม่ผิดกฏกติกามันเป็นการปล่อยให้เด็กได้คิดทำให้เด็กรู้จักคิดและพิจารณาสิ่งต่างๆ เองมากขึ้นไม่ใช่แค่เดินตามที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้อย่างเดียว ซึ่งมันจะเป็นการเรียนรู้เรื่องของกฏกติกา กาลเทศะรวมถึงความความเหมาะสมในการแต่งตัวไปด้วยพร้อมๆ กัน

ประโยชน์ที่ได้จาก 2 ข้อแรกรวมกันคือให้เด็กรู้จักการตัดสินใจเองโดยอยู่ภายใต้กฏกติกา ไม่ใช่แค่การทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ไปวันๆ โดยไม่เข้าใจอะไรเลย รู้จักเพียงแค่การทำตามคำสั่งเท่านั้น


การที่มีชุดไทยลำลองให้เลือกใส่ได้ด้วย จะช่วยให้เด็กคุ้นกับชุดเสื้อผ้าแบบไทยมากขึ้นและเมื่อเคยใส่จนชินแล้วก็จะไม่รู้สึกแปลกกับการใส่ขุดไทยอื่นๆ ทำให้เป็นการปูพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในระยะยาวไปด้วยได้เลยครับ ซึ่งตรงนี้ครูอาจารย์ก็ต้องมีการสอนเรื่องเกี่ยวกับการใส่ชุดไทยแบบต่างๆ รวมถึงชุดไทยลำลองด้วย.....บางคนอาจคิดว่าทุกวันนี้ก็มีให้ใส่ทุกวันศุกร์อยู่แล้วนี่ แต่คิดดูดีๆ ทุกวันนี้คือให้ใส่ทุกวันศุกร์ มันคือการสั่งให้ใส่ครับ เด็กไม่ได้เลือกหยิบมันมาใส่ด้วยตัวเองแต่เป็นเพียงแค่การทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เท่านั้น มันต่างกันกับที่ผมอธิบายไว้เพราะแบบที่ผมพูดถึงนี้มันคือการให้เด็กเลือกและตัดสินใจหยิบมันมาใส่ได้เองโดยไม่ได้บังคับครับ

ถ้ามีการใช้ชุดนักเรียนที่ไม่ได้เหมือนกันทุกโรงเรียน หลายโรงเรียนอาจใช้รูปแบบคล้ายๆ กัน และอีกหลายโรงเรียนที่อาจดีไซน์ชุดแบบใหม่ๆ ออกมา เมื่อชุดแตกต่างกันมันก็จะกลายเป็นจุดเด่น ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นเราจะมองแล้วรู้ทันทีว่าเป็นเด็กโรงเรียนไหน เช่นเมื่อเด็กไปทำอะไรไม่ดี หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ในเรื่องความเหลื่อมล้ำมันก็อาจจะลดได้ก็ได้ครับ ในแง่ของสภาพอุปกรณ์เครื่องใช้ของตัวเด็กเอง ตอนคุยกับแม่ แม่ผมก็บอกว่าของอย่างรองเท้ามันกลายเป็นสิ่งที่เวลาที่มันเสียหาย ขาด หรือกาวเริ่มล่อน ถ้ารองเท้ามาขาดพร้อมกับเสื้อผ้า ผู้ปกครองย่อมซื้อเสื้อผ้าก่อนแล้วอาจชะลอรองเท้าออกไปอีกระยะหนึ่ง รองเท้าของเด็กก็จะดูเก่าโทรมหรือขาดและอาจกลายเป็นความเหลื่อมล้ำได้อีก เพราะคนอื่นๆ มีรองเท้าสภาพดีๆ ใช้กัน แต่ถ้าเสื้อกับกางเกงมันใช้ได้นานพอที่จะไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยๆ ผู้ปกครองก็จะสามารถซื้ออย่างอื่นที่ชำรุดเสียหายให้กับเด็กได้ ซึ่งผมนึกดูแล้วก็จริงครับ มันอาจลดความเหลื่อมล้ำด้วยผลตรงนี้ก็ได้.....แต่ถ้ามันไม่ช่วยลดเลย นี่ก็จะเป็นการฝึกสอนให้เด็กได้อยู่ในโลกจริงได้ โดยต้องมีการสอนกันทั้งที่บ้านและในห้องเรียน คือครูและผู้ปกครองต้องช่วยกันสอนในจุดนี้ด้วย เพราะชีวิตจริงมันไม่ได้เท่าเทียมครับ มันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ และถึงทำอยู่อย่างทุกวันนี้มันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ดีอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเมื่อเราไม่สามารถลบความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้หายไปได้เราก็สอนให้เด็กอยู่กับมันให้ได้ดีกว่าครับ และกลับกันก็สามารถสอนเด็กให้ไม่แบ่งแยกในจุดนี้ไปได้พร้อมๆ กันได้ด้วย



แล้วผู้ประกอบการล่ะ.....
ทางด้านผู้ประกอบการก็จะยังผลิตสินค้าสำหรับนักเรียนขายต่อไปได้ แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องปรับตัวกันหน่อย ส่วนที่ใช้เหมือนกันก็ยังผลิตขายต่อไปได้อย่างเดิม ส่วนกางเกงนักเรียน ถ้าโรงเรียนส่วนหนึ่งไม่ได้บังคับกางเกงแล้วทางผู้ผลิตจะผลิตไปขายยังไง ผู้ผลิตก็ต้องเปลี่ยนแนวมาผลิตเป็นรูปแบบของกางเกงที่ให้นักเรียนใช้ได้อย่างถูกต้องอย่างแน่นอน คือหน้าตาสุภาพและเหมาะสมที่จะใส่ไปเรียนได้ ยังไงก็ดูเหมาะสมไม่ผิดระเบียบแน่นอน (ถึงจะไม่ได้บังคับแต่ก็มีระเบียบอยู่ให้ใส่ให้เหมาะสมนะครับ) ซึ่งคราวนี้ก็จะไปแข่งกันที่การดีไซน์แล้ว การออกแบบกางเกงสำหรับนักเรียน จะทำยังไงให้ดูสุภาพพอ ไม่ผิดระเบียบ แต่มีฟังก์ชั่นที่เหมาะกับนักเรียน เช่นอาจเป็นกางเกงที่มีช่องซิปหรือกระเป๋ามีฝาปิดสำหรับใส่ของมีค่า อย่างเช่นเงิน กระเป๋าตังค์ โทรศัพท์ หรืออาจทำกระเป๋าให้ล้วงได้สะดวกแม้อยู่ในท่านั่ง หรือคราบไม่ฝังซักง่าย เป็นต้น ซึ่งกางเกงแบบเดิมก็ยังขายได้เพราะถูกระเบียบแน่นอน....เสื้อก็เหมือนกันครับ การแข่งขันก็อาจจะเหมือนกางเกงก็ได้ ถึงรูปแบบจะเหมือนกันแต่ก็อาจมีการพัฒนาด้านอื่นๆ ขึ้นมาแข่งก็ได้ เช่น วัสดุที่ใช้ อาจจะยับยากสุดๆ หรือซับเหงื่อและแห้งเร็ว หรือผ้ายืดได้ คราบไม่ฝังซักง่ายเป็นต้นครับ....และที่สำคัญคือราคาที่อาจทำให้ถูกกว่าเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นทั่วไป ซึ่งถ้าหน้าตามันไม่ได้เป็นอย่างกางเกงนักเรียนปัจจุบันแต่กลายเป็นเหมือนกางเกงลำลอง มันก็อาจจะมีคนซื้อไปใส่อยู่บ้าน ใส่เที่ยว ใส่เดินห้างกันบ้างก็ได้ และถ้าทำให้ทนและราคาไม่แพงได้ ไม่แน่ว่าคนที่รายได้น้อยก็อาจหันมาซื้อหรือกางเกงแบบนี้ใส่ไปไหนมาไหนกันด้วยก็ได้

ในขณะเดียวกันโรงเรียนอีกส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนเครื่องแบบไปเลย ดีไซน์เครื่องแบบใหม่เลย ผู้ผลิตก็อาจต้องจับมือกับโรงเรียนเพื่อผลิตให้กับโรงเรียนนั้นๆ ก็ได้ เพราะยังไงโรงเรียนที่ใช้เครื่องแบบที่ต่างออกไปจากโรงเรียนอื่นๆ ก็ต้องการผู้ที่จะมาผลิตให้อยู่ดี

รองเท้าเองก็ด้วยครับ ต่อให้โรงเรียนมีข้อบังคับไว้นิดหน่อยเช่นให้ใส่ได้คือสีขาวล้วนกับดำล้วนโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นรองเท้านักเรียนอย่างทุกวันนี้ คือสามารถไปหาซื้อรองเท้าผ้าใบยี่ห้อไหนมาใส่ก็ได้ แต่การจะหาสีขาวล้วนหรือดำล้วนก็ไม่ใช่ว่าจะง่าย รวมถึงเรื่องราคาอีก ถ้าผู้ผลิตรองเท้านักเรียนผลิตแบบที่ถูกระเบียบชัวร์ๆ และมีราคาที่ถูกกว่ารองเท้าแบรนด์ใหญ่พวกนั้นเหมือนอย่างทุกวันนี้ ก็เชื่อว่าผู้ปกครองส่วนมากจะยังซื้อรองเท้านักเรียนจากผู้ผลิตเดิมๆ นี้อยู่เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหา เรื่องราคาก็ส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องเสียเวลาหาก็อีกส่วนหนึ่ง จึงเชื่อว่าจะยังมีคนซื้อรองเท้านักเรียนจากผู้ผลิตเดิมใช้กันอยู่อีกไม่น้อยครับ....แน่นอนว่าทางผู้ผลิตก็อาจต้องปรับปรุงและพัฒนาด้านดีไซน์ใหม่ๆ และวัสดุใหม่ออกมาเพื่อแข่งกับแบรนด์ใหญ่มากขึ้น ซึ่งถ้าดีไซน์มันไม่ใช่อย่างรองเท้านักเรียนปัจจุบันมันก็ไม่แน่ว่าอาจมีคนทั่วไปซื้อไปใส่บ้างก็ได้

ด้วยตามนี้ผมมองว่าทางผู้ผลิตก็จะยังอยู่กันได้และไม่ได้ผลกระทบมากขนาดนั้น



บางคนอาจคิดว่าเด็กมีหน้าที่เรียนก็ควรสนใจเรื่องเรียน ควรตั้งใจเรียน ทำไมต้องไปสนใจเรื่องการแต่งตัวไปเรียนด้วย คิดง่ายๆ ครับ ผู้ใหญ่เองก็มีหน้าที่การงานต้องทำ แล้วผู้ใหญ่สนใจแต่เรื่องการงานหน้าที่ของตัวเองเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า ตั้งใจทำงานเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า เปล่าเลย หลายคนก็ไม่ได้ตั้งใจทำงาน หลายคนก็ยังสนใจแต่เรื่องการแต่งตัว ของใช้แบรนด์เนม การมีของใช้ที่เท่าเทียมกับคนอื่น โดยอ้างว่ามันเป็นเรื่องของสังคมที่ผู้ใหญ่มี...คิดดีๆ ครับ ผู้ใหญ่ไม่ได้มีแค่เรื่องของการทำงานและความรับผิดชอบ ชีวิตของเด็กก็ไม่ได้มีแค่การเรียนและความรับผิดชอบในเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียวเหมือนกัน เด็กก็มีสังคมของเขาเหมือนกันกับผู้ใหญ่นั่นแหละ แถมการทำอย่างที่ได้พูดถึงกันไปทั้งหมดนี้มันยังช่วยวางพื้นฐานอีกส่วนหนึ่งให้กับเด็กเพื่อเตรียมออกไปเจอกับสังคมภายนอกเมื่อโตขึ้นไปพร้อมกันด้วย


เมื่อพิจารณาทั้งหมดนี้แล้วการเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนใหม่มันก็ยังไม่เห็นข้อเสียอะไรที่ทำให้แย่ลงใช่มั้ยครับ มีแต่ดีขึ้นกับเหมือนเดิม ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าถ้าทำจริงแล้วมันจะมีปัญหาอะไรที่เราคิดไม่ถึงหรือเปล่า แต่ถ้าเราเปิดใจสักหน่อย ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ยอมปรับเปลี่ยน มันก็จะกลายเป็นการพัฒนาขึ้นไปได้ เพราะการยอมเปลี่ยนอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นแต่เป็นเรื่องของการปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย และมันจะให้ผลในการฝึกสอนเด็กในทางปฏิบัติเกี่ยวกับด้านต่างๆ เข้ามาด้วยครับ


อย่างที่บอกว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากระทรวงศึกษาปล่อยเรื่องชุดนักเรียนแล้วหรือยัง คือให้โรงเรียนดีไซน์ใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตามแบบเดิมแล้วหรือเปล่า ถ้ายังก็ปล่อยเถอะ ถ้าปล่อยแล้วโรงเรียนก็เปลี่ยนกันเถอะครับ


โดย นาย nyo


ภาพประกอบเนื้อหาส่วนหนึ่งจากอินเตอร์เน็ต


Create Date : 07 กรกฎาคม 2560
Last Update : 19 กรกฎาคม 2560 19:01:10 น. 0 comments
Counter : 9559 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nyo
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ 2539 ห้ามผู้ใดทำการคัดลอก ส่วนใดส่วนหนึ่งของบล๊อกนี้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อค


ติดต่อผมได้ที่
naai.nyo@gmail.com

____________________

บล๊อกนี้ผมเขียนขึ้นมาจากสิ่งที่ผมไปรู้ไปเห็นมาก็เลยเอามาเล่าต่อเพื่อเป็นการแชร์ความรู้กัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อยครับ


กรูณาใช้ภาษาให้เหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ
Friends' blogs
[Add nyo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.