ยินดีต้อนรับสู่ moresaw blog ...........................


กุหลาบเวียงพิงค์- วงจันทร์ ไพโรจน์




กุหลาบเวียงพิงค์
คำร้อง-ทำนอง วงจันทร์ ไพโรจน์


กุหลาบเวียงพิงค์ ดอกนี้บ่มีเจ้าของ
เพิ่งแรกแย้มบ่มีไผจอง เป็นเจ้าของครองใจเด็ดดม
ส่งกลิ่นอบอวล ยั่วยวนหัวใจไปตามสายลม
เปิ้นทั่วแคว้นแดนไทยหมายชม สมเป็นกุหลาบเวียงเหนือ
กุหลาบเมืองไหน ทั่วดินแคว้นในแดนสยาม
ยังบ่เทียมเทียบเท่าความงาม เปรียบดังสาวชาวพิงค์งามเหลือ
บ่ได้แต่งเติม เสริมส่งไว้ลวงให้ใครหลงเชื่อ
ปากบ่แดงแป้งบ่ได้เจือ คิ้วบ่ได้เถือดินสอ
กุหลาบเวียงพิงค์ ดอกนี้สวยจริงเจ้าเอ๋ย
ยังบ่มีผู้ใดไหนเลย มาโลมเล้าเอาไปพะนอ
ด้วยสาวชาวพิงค์ กลัวบ่ฮักจริงของชายรูปหล่อ
กลัวเสียนักกลัวคำป้อยอ กลัวน้ำตาหล่อรินทรวง
หมู่เฮาชาวเหนือ อย่าไปเชื่อเชียวหนอคำชาย
เดี๋ยวจะต้องเจ็บช้ำใจตาย เปิ้นเมืองใต้พูดจาหลอกลวง
หากเปิ้นได้เฮา เปิ้นคงทิ้งเฮาน้ำตาไหลร่วง
หากหลงลมคงโดนหลอกลวง ช้ำทรวงเหมือนดั่งบัวบาน


วงจันทร์ ไพโรจน์ เล่าถึงที่มาเพลงนี้ว่าในปี 2500 มีโอกาสติดตามวงดนตรีแม่ดมที่อยู่แถวเฉลิมบุรีไปเดินสายเหนือ โดยมีบังเละ และสุรพล สมบัติเจริญไปด้วย รถไฟวิ่งผ่านสถานีต่างๆ จนมาถึงลำปาง เมื่อแฟนเพลงรู้ว่าวงจันทร์ ไพโรจน์มา ก็นำดอกกุหลาบมอญสีออกชมพูอ่อนมามอบให้มากมายผ่านหน้าต่าง


ระหว่างที่กำลังชื่นชมความงามของดอกกุหลาบอยู่ สายตาของเธอก็ไปเห็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงข่าวสาวเหนือฆ่าตัวตายเพราะความรัก เธอรู้สึกเศร้า ก็เลยแต่งออกมาเป็นกลอน 3 ห้อง เพราะเคยเห็นว่าเพลง “ดูดวงเดือน “ ก็มีแค่ 3 ท่อนเช่นกัน


หกเดือนผ่านไป บริษัทกมลสุโกศล ได้มาขอซื้อเพลงกุหลาบเวียงพิงค์นี้ไปให้เธออัดแผ่น แต่ก่อนที่จะร้องลงแผ่นเสียง คนควบคุมเสียงบ่นว่าเนื้อเพลงสั้นไป เธอรู้สึกเกรงใจนักดนตรี ก็เลยอ้อนพี่ๆ น้องๆ นักร้องนักดนตรีมาช่วยแต่งห้องสุดท้าย


“ หมู่เฮาชาวเหนือ!! " ครูสำเนียง ม่วงทอง ขึ้นเนื้อท่อนแรกก่อนสั้นๆ เธอก็เลยต่อ " อย่าไปเชื่อเชียวหนอคำชาย” จากนั้นมนัส ปิติสานต์ มาช่วยเสริมอีกแรง “เดี๋ยวจะต้องเจ็บช้ำใจตาย “  ก่อนที่จะรีบไปเตรียมตัวสีไวโอลิน จังหวะนั้น สุรพล สมบัติเจริญ ได้มาเชื่อมต่อ “เปิ้นเมืองใต้พูดจาหลอกลวง “


กลับมาถึงคิวครูสำเนียง ม่วงทองอีกครั้ง แกเอื้อน “ หากเปิ้นได้เฮา “ อารมณ์นั้นเธอคิดถึงเด็กสาวชาวเหนือที่ฆ่าตัวตาย ก็เลยแต่งว่า “เปิ้นคงทิ้งเฮาน้ำตาไหลร่วง “ ถึงตรงนี้หยุดคิดกันอยู่นานก่อนที่สุรพล สมบัติเจริญ จะคิดท่อนสุดท้ายของเพลงได้ว่า “ หากหลงลมคงโดนหลอกลวง ช้ำทรวงเหมือนดั่งบัวบาน”


แต่ภายหลังเมื่อเพลงกุหลาบเวียงพิงค์จบกระบวนการผลิต และออกมาเป็นแผ่นเสียง กลับมีการให้เครดิตสุรพล สมบัติเจริญ ว่าเป็นผู้ประพันธ์เพลง และสร้างความสับสนให้กับวงการเพลงในเวลาต่อมา











ดวงจันทร์ ไพโรจน์ หรือวงจันทร์ ไพโรจน์ มีชื่อเล่นว่าจิ๋ม เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อ 18กรกฎาคม 2478 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายทวี และนางสงิม ไพโรจน์ จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวันรับศีลวิทยา ก่อนที่จะมาศึกษาต่อที่โรงเรียนสตรีเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 


พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก ทำให้ต้องมาอยู่ในความดูแลของยาย ที่มีบ้านในซอยกิ่งเพชร ใกล้กับวังอัศวินของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือองค์ชายใหญ่ และเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เธอมีโอกาสได้คลุกคลี ร่ำเรียนวิชานาฏศิลป์และร่วมแสดงละครหรือภาพยนตร์ของคณะอัศวินการละครในเวลาต่อมา


ด้วยใจรักการร้องเพลง ในวัยเพียง 9 ขวบ ภายใต้การสนับสนุนจากครูมงคล อมาตยกุล เธอก็ได้ขึ้นแสดงความสามารถในด้านนี้โดยการประกวดร้องเพลงรำวงในงานวัดภูเขาทอง โดยใช้เพลงที่ชื่อว่า “ 8 นาฬิกา” ในการประกวด และได้รางวัลชนะเลิศ จนบริษัท ต.เง็กชวน เห็นแววจึงนำไปอัดแผ่นร้องเพลงเด็ก ร่วมกับนักร้องรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง นริศ อารีย์ และณรงค์ ธนะวังน้อย


ตอนอายุได้ 14 ปี การที่เธอได้ตำแหน่งรองชนะเลิศในการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร (รางวัลที่ 1 เป็นของลัดดา ศรีวรนันท์ ) ทำให้องค์ชายใหญ่ต้องนำเธอมาร้องเพลงสลับหน้าม่านละครและภาพยนตร์ รวมทั้งให้ร้องเสียงลิปซิงค์ สมจิตร ทรัพย์สำรวย นางเอกละครแสดงหน้าเวที ซึ่งสามีของนางเอกคนดัง นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต็อก ยอดศิลปินจำอวดก็ยังเคยทำนายไว้ว่า เธอจะเป็นหนึ่งในนักร้องชั้นนำของแผ่นดินสยามในภายภาคหน้า โดยภาพยนตร์ที่เธอร่วมแสดงในช่วงนี้ก็อย่างเช่น นเรศวรมหาราช, ลูกโจร และนางกลางเมือง


การค้นพบความสามารถของตัวเองทางด้านการร้องเพลงที่ไพเราะจับใจ น้ำเสียงใสเย็นถึงขั้นเย็นยะเยือก แถมมีเอกลักษณ์ตรง "ลูกคอชั้นเดียว" ทำให้เธอได้มาร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีมงคล อมาตยกุล หรือวงดนตรี ป.ชื่นประโยชน์ โดยวงนี้จะใช้ชื่อใดในสองชื่อนี้ ก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส แต่นักดนตรีและนักร้องล้วนแล้วแต่เป็นชุดเดียวกันทั้งสิ้น โดยวงนี้เป็นการรวมตัวกันของครูมงคล กับเพื่อนๆ คือ ครู ป. , ครูเนียน วิชิตนันท์, ครูไพบูลย์ บุตรขัน และครูแก้ว รักไทย งานแสดงของวงดนตรีนี้ มักจะแสดงในงานลีลาศหรือตามโรงภาพยนตร์ โดยมีนักร้องที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากมายหลายคนเช่น ลัดดา ศรีวรนันท์ , นริศ อารีย์ , ปรีชา บุณยเกียรติ เป็นต้น และที่นี่เอง ที่เธอได้เปลี่ยนชื่อจากดวงจันทร์ มาเป็นวงจันทร์


ในปี 2496 ขณะมีอายุได้ 18 ปี ช่วงนั้นวงของครูมงคลเริ่มมีนักร้องหญิงหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น วงจันทร์จึงผันตัวออกจากมาเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์กองทัพเรือ ที่คับคั่งไปด้วยนักร้องประจำวงคนดัง อาทิ สมยศ ทัศนพันธ์ , พยงค์ มุกดา และเอมอร วิเศษสุทธิ์ โดยไม่มีเงินเดือนประจำ แต่ได้เป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 17 บาท ขณะที่รายได้เสริมในช่วงนั้นยังมีไม่มาก


ต่อมาครูฮอน หาญบุญตรง ได้ชักชวนมาร้องเพลงที่ไนต์คลับ “ ห้อยเทียนเหลา” และให้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อ "ราตรีเจ้าเอ๋ย" กับ “วิมานรัก” ที่แต่งโดยครูฮอน หาญบุญตรง กับบริษัท ต.เง็กชวน โดยเธอได้ค่าเหนื่อย 50 บาท แต่ก็ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งในระหว่างนี้ แม้จะยังไม่ดังมากนัก แต่เธอก็โชคดี ที่มีครูเพลงหลายคนป้อนเพลงให้เธอบันทึกแผ่นเสียงอยู่ไม่น้อย


ในสมัยนั้น ประเทศไทยยังทำแผ่นเสียงเองไม่ได้ จะต้องส่งไปที่อินเดีย ทำให้กระบวน การทำแผ่นเสียงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ประกอบกับทางผู้ผลิตเพลงมักจะไม่รีบปล่อยเพลงออกมา แต่ชอบที่จะรอให้เพลงที่ดังมากๆเริ่มซาความนิยมไปแล้ว จึงจะปล่อยเพลงใหม่ออกมา


วงจันทร์ ไพโรจน์ จึงเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 2500 จากผลงานเพลงที่บันทึกเสียงเป็นเพลงที่ 4  คือเพลง "ช่างร้ายเหลือ" ผลงานการประพันธ์ของครูมงคลที่บันทึกเสียงไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2497 ขณะที่เธอมีอายุได้ 19 ปี งานชุดนี้เธอได้ค่าเหนื่อยมา 100 บาท


และในปี พ.ศ.2500 เมื่อเพลงช่างร้ายเหลือเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วจนทำให้ผู้ขับร้องได้รับฉายาจากแฟนเพลงว่านักร้องเสียงระทม ครูมงคล ก็จึงได้ตัดสินใจตั้ง "วงดนตรีจุฬารัตน์" อันโด่งดังขึ้นมา


ความดังของเพลงช่างร้ายเหลือทำให้ เพลงต่อๆมาที่เธอบันทึกเสียงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่มีการปล่อยออกมาในภายหลังตามแนวการทยอยปล่อยเพลงของยุคนั้น ก็โด่งดังตามมาอีกหลายเพลง อย่างเช่น ชาตินี้ชาติเดียว แต่งโดย ครู ป. ,มารหัวใจ , สามหัวใจ และ ถึงร้ายก็รัก ซึ่งเพลงหลังนี้ก็ดังไม่แพ้เพลงช่างร้ายเหลือเลยทีเดียว เพลงนี้ประพันธ์เนื้อร้องโดยจำลอง เบญจานุวัตร ทำนองโดยครูมงคล เพลงนี้เป็นการขับร้องร่วมกัน 3 คนของวงจันทร์ ไพโรจน์, ลัดดา ศรีวรนันท์ และดวงตา ชื่นประโยชน์ เมื่อปี 2499


วงจันทร์ ไพโรจน์ ยังได้ขับร้องเพลงดังอีกหลายเพลงจากฝีมือการประพันธ์ของครูเพลงชื่อดังแห่งยุคมากมาย เช่น "สาวสะอื้น " ของครูสมาน กาญจนะผลิน, " ไทรโยคแห่งความหลัง " ของครูนคร มงคลายน  " เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ " ของครูสุรพล สมบัติเจริญ ,แม่พิมพ์ของชาติ เพลงที่มีผลทำให้ผู้คนในยุคนั้นมากมายอยากจะเป็นครู ซึ่งประพันธ์โดยสุเทพ โชติสกุล (บางตำราบอก เทือกสกุล) , อุทยานดอกไม้ คำร้องโดยสกนธ์ มิตรานนท์ และทำนองโดย ชูศักดิ์ รัศมีโชติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่รวบรวมรายชื่อดอกไม้ไว้มากที่สุดคือ 49 ชนิด นอกจากนั้นก็ยังมีเพลง แน่แล้วหรือ ,ปรารถนาแห่งหัวใจ , เมินเสียเถิด , พิศวาสวาย , ร้ายจริงนะ  สาวสันป่าตอง , สาวบ้านแพน , มนต์รักอารีดัง , สาวสะอื้น, น้ำตาสาวเหนือ, บุษบาเสี่ยงเทียน , หญิงคนชั่ว โดยเพลงส่วนใหญ่ของเธอมักเป็นเพลงเศร้า เข้ากับฉายานักร้องเสียงระทมของเธอ


และจากดอกกุหลาบมอญ ที่แฟนเพลงมอบให้ที่ชานชาลาสถานีรถไฟ ก็เป็นการจุดประกายแง่มุมชีวิตนักแต่งเพลงให้กับเธอด้วยงานเพลงชิ้นแรก “กุหลาบเวียงพิงค์ “ และเมื่อนับต่อเนื่องมากว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้แต่งเพลงไว้มาก กว่า 100 เพลง


เธอเริ่มหัดเขียนเพลงจากความอยากลองว่าจะเขียนเพลงเองได้ไหม โดยเมื่อเขียนแล้วก็ขอให้ครูเพลงช่วยเกลา โดยบอกกับครูเพลงเพียงว่าอยากแต่งให้ใครร้อง เหมือนกับที่ครูเพลงเคยเอาเพลงมาให้เธอร้อง และต่อมาเมื่อเธอเห็นว่าเด็กคนไหนมีแวว อยากเป็นนักร้อง เธอก็เอามาฝึก โดยคิดเสมอว่าตอนเธอเป็นเด็กๆ หากมีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก็คงจะดีไม่น้อย


เธออยู่กับวงดุริยางค์ทหารเรือจนอายุ 28 ปี และการที่เป็นคนที่มีชื่อเสียง งานนอกจึงเริ่มเข้ามามากขึ้น จนต้องลาออกจากวงมาเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดอย่างจริงจังกับวงบางกอก ชะชะช่า โดยได้ค่าตัววันละ 500 บาท ต่างจากสมัยที่ยังอยู่กับวงดุริยางค์กองทัพเรืออย่างมาก


นอกจากนั้นเธอก็ยังมีรายได้เสริมจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณายาแก้ไอเพอลี่วิทเที่ยวละ 500 บาท โดยสมัยนั้นยังไม่มีทีวี ก่อนร้องเพลงเธอก็จะเดินออกไปที่หน้าเวที โดยถือขวดยาออกไปด้วยแล้วพูดว่า “ ดิฉันเสียงดีเพราะทานยาเพอลี่วิท “


สมัยนั้นนักร้องดังๆไม่ค่อยมีมากสักเท่าไหร่ การที่วงจันทร์ ไพโรจน์ ไปร้องที่ไหนก็ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงทุกที่ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ทางเจ้าของงานที่จ้างวงไปแสดง จะต้องให้ค่าเหนื่อยกับเธอต่างหากอีก 500 บาท ทำให้ในการเดินสายแต่ละครั้ง วงจันทร์ ไพโรจน์ จะได้ค่าตัวรวมแล้วถึง1,500 บาท


เธอเดินสายอยู่ 2 ปี ก็หันมาร้องเพลงประจำไนต์คลับอเล็กซานดรา แถวอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย โดยร้องประจำอยู่ที่เดียว แต่ก็ได้ค่าตัวมากกว่าอยู่กับวง และช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์ที่สุด นอกจากนั้น ก็ยังมีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ เรื่อง "เพื่อนแพง" ของเชิด ทรงศรี และมีดีกรีเป็นถึงนางเอกในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ, กากีกับดอกไม้ เดือนเสี้ยว และนางบังเงา


แม้จะมีรายได้มาก แต่การที่เป็นคนชอบแต่งตัว ชอบตัดเสื้อผ้า ถึงจะมีรายได้มาก แต่ก็หมด ไม่ค่อยเหลือเก็บ ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการที่เธอร้องเพลงที่ไนต์คลับ 11 ปี


ก็เข้าสู่ยุคร่วงโรย ในปี 2513 เธอจึงลงทุนเปิดภัตตาคารตาลเดี่ยว ที่ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามกับแดนเนรมิต ที่นี่มีนักร้องเสียงระทมชื่อวงจันทร์ ไพโรจน์ ขับกล่อมทุกคืน กอปรกับการที่ได้เพื่อนนักร้อง อาทิ สมยศ ทัศนพันธ์, วิเชียร ภู่โชติ, นริส อารีย์, ลัดดา ศรีวรนันท์, ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และพูลศรี กำเนิดเหมาะ แวะมาเยี่ยมเยือนและขึ้นร้องเพลง ทำให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างมาก ภัตตาคารของเธอดังมาก มีกว่า 100 โต๊ะ และคนแน่นทุกวัน เธอทำร้านอยู่ 16 ปี ก็หมดสัญญาเช่า ซึ่งในปัจจุบันที่ดินผืนนั้นก็คือห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว


วงจันทร์ ไพโรจน์ ย้ายไปทำร้านใหม่อยู่ที่หมู่บ้านอมรินทร์นิเวศน์ ขนาดเล็กกว่าเดิม ชื่อว่าร้านวงจันทร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเก่า กระนั้นก็ยังมีการเปิดสาขาทั้งที่พัทยาและเชียงใหม่


และในยุคที่วงการโทรทัศน์ได้รับความนิยม วงจันทร์ ไพโรจน์ ก็ได้ผลิตรายการเพลงรักสามสมัย และรายการอาศรมนักเพลง ด้วย


นอกจากนั้นเธอก็หันไปจับธุรกิจโรงแรมที่พัทยา ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่พออายุมากขึ้นทำไม่ไหว แล้วก็เลิกไปทีละอย่าง


ในวัย 70 กว่า วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้ปิดฉากอาชีพนักร้องไปแล้วอย่างเป็นทาง การ หลังจัดงานคอนเสิร์ตอำลาชีวิตการเป็นนักร้องไปเมื่อปี 2549 ขณะมีอายุ 71ปี ปัจจุบันเธอหันมาทำงานฝีมือประเภทศิลปะการร้อยสร้อยประดับลวดลายไทยจากดินญี่ปุ่น ส่งออกตามออเดอร์ลูกค้าที่มีจำนวนมาก และเขียนเพลงอยู่กับบ้านที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กับสามี วิภาค สุนทรจามร ทายาทเจ้าของมรดกบทเพลงดังของครูเวช สุนทรจามร


หากรวมกับบทเพลงของเธอแล้ว ทั้งคู่ถือเป็นแหล่งรวมบทเพลงอมตะอันทรงคุณค่าที่มีมากกว่า 1,000 เพลง แต่ทั้งสองก็ยังยืนยันแน่นหนัก ว่าจะไม่มีวันขายขาดมรดกเพลง ทรัพย์สินทางปัญญาให้กับค่ายเพลงยักษ์ เพราะเห็นตัวอย่างการถูกดองเพลง หรือนำบทเพลงไปปู้ยี้ปู้ยำ จนทำให้บรรดาศิลปินครูเพลงหลายท่าน เคยเปรยว่าสุดเจ็บช้ำกล้ำกลืน


วงจันทร์ ไพโรจน์ บันทึกเสียงเอาไว้ทั้งสิ้น 1,117 เพลง


ชั่วชีวิตของวงจันทร์ก็ไม่เคยได้รับรางวัลเกียรติยศทางผลงานเพลง และการแสดงใดๆ เพราะความถ่อมตัวเสมอว่างานของเธอยังไม่ดีพอ จึงไม่เคยส่งประกวด


ผู้เชี่ยวชาญด้านวงการเพลงลูกทุ่งจัดให้วงจันทร์ ไพโรจน์อยู่ในกลุ่มนักร้องลูกทุ่งครับ






ช่างร้ายเหลือ- วงจันทร์ ไพโรจน์








แม่พิมพ์ของชาติ- วงจันทร์ ไพโรจน์









อุทยานดอกไม้- วงจันทร์ ไพโรจน์








แว่วเสียงซึง- วงจันทร์ ไพโรจน์








ช่างร้ายเหลือ- วงจันทร์ ไพโรจน์









ไทรโยคแห่งความหลัง วงจันทร์ ไพโรจน์









สาวสะอื้น- วงจันทร์ ไพโรจน์












Create Date : 30 ตุลาคม 2554
Last Update : 30 ตุลาคม 2554 16:08:36 น. 0 comments
Counter : 2636 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moresaw
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 69 คน [?]




ชีวิตคนเรามันสั้นนัก
ลืมให้ไว
อภัยให้เร็ว
เมตตาให้มากขึ้น
หวังให้น้อยลง
ลงมือทำให้เยอะขึ้น
มองข้อดีของคนอื่นเป็นนิสัย
ข้อเสียมีก็รู้จักให้อภัย
สุขใจกับสิ่งที่ได้
พอใจกับสิ่งที่มี
หัวเราะเหมือนไม่เคยมีน้ำตา
ยิ้มไว้ตลอดมาแม้จะต้องฝืน
รักไม่กลัวกล้ำกลืนอกหัก
ทำให้คนรู้ว่าเรามีความสุขใจ
สุดท้ายคิดบวกไว้นะครับทุกๆคน

credit :Pintip


คาถาอายุยืน

กินปลาเป็นหลัก
กินผักเป็นยา
กินกล้วยน้ำว้าเป็นยาชูกำลัง
ตื่นนอนดื่มน้ำ 1 แก้ว
ก่อนนอนดื่มน้ำ 1 แก้ว

อยู่ไหน ก็สุขใจ ถ้าเราทำใจ ให้เป็นสุข

เมื่อใดที่รู้จักคำว่าพอ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น

รู้จักให้ รู้จักรัก รู้จักรอ รู้จักพอ ชีวิตก็มีความสุข


ขอบคุณทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชมบล๊อกครับ



since 8/22/2011 credit : lizFah
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add moresaw's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.