" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
26 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
23.02.2558 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปฏิรูปกองทัพ คือสถาปนาอำนาจสูงสุดของพลเรือน





อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์



นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปฏิรูปกองทัพ คือสถาปนาอำนาจสูงสุดของพลเรือน

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เ

Source://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1424680999








พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงข้อเสนอของคุณกษิต ภิรมย์ เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพว่า คุณกษิตไม่รู้ว่ากองทัพก็กำลังปฏิรูปตัวเองอยู่ อันที่จริงก็คงไม่มีใครรู้เลยว่ากองทัพกำลังปฏิรูปตัวเองอยู่ ซึ่งถ้าเป็นจริงก็น่าประหลาด เพราะกองทัพไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร หากเป็นของ "ชาติ" หรือประชาชนทุกคน จะปฏิรูปกองทัพโดยคนอื่นไม่รู้อะไรเลยว่าจะปฏิรูปอย่างไรได้ด้วยหรือ

ผมต้องบอกไว้เลยว่า นอกจากคุณกษิตไม่รู้เกี่ยวกับการทหารแล้ว ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ที่ผมออกจะวิตกมากกว่าก็คือ ทหารเองก็อาจไม่รู้เท่าๆ กัน

การทหารนั้นไม่ได้มีไว้สักแต่ให้มีไว้ แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของการทหารคือเอาชนะในการทำสงคราม หรืออย่างน้อยก็ทำสงครามเป็น พอที่ผู้รุกรานจะสูญเสียมากเกินคุ้ม จนเขาไม่เลือกการทำสงครามเป็นนโยบาย ตรงนี้แหละครับที่ผมไม่แน่ใจว่าทหารไทยรู้เรื่องสงครามหรือไม่ หรือทำสงครามเป็นหรือไม่

ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่าการรบกับสงครามนั้นเป็นคนละอย่าง คนที่ได้รับการฝึกปรือให้ทำการรบเป็น รบได้หลายอย่าง ทั้งบนบก, บนน้ำ, บนอากาศ, รบแบบประชิดตัว, รบแบบกองโจร, รบแบบเต็มอัตราศึก ฯลฯ ก็ย่อมรบเป็น ผมไม่สู้จะสงสัยความพยายามของกองทัพไทย ที่จะทำให้ทหารรบเป็น แม้อาจได้ไม่เต็มร้อยอย่างที่หวังนักก็ตาม กองทัพของประเทศอื่นทั้งโลกก็พยายามอย่างเดียวกัน ส่วนจะสำเร็จมากหรือน้อยกว่ากองทัพไทยก็ว่ากันไปในแต่ละประเทศ หากทว่ารบเป็นอย่างเดียว ไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำสงครามเป็นด้วย ถึงประสบชัยชนะในการรบ แต่ก็อาจปราชัยในสงครามได้ กรณีเช่นนี้เกิดในประวัติศาสตร์ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ครั้งล่าสุดคือทหารอเมริกันรบชนะเวียดกงในยุทธภูมิหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็แพ้สงครามจนได้

สงครามในโลกสมัยใหม่ไม่ได้กระทำด้วยกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่กระทำกันในเชิงเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และพลังทางสังคมทั้งหมดที่มีอยู่ และส่วนนี้สำคัญเสียยิ่งกว่าการรบหลายเท่านัก



ผมต้องเตือนเรื่องนี้ เพราะข้อเสนอของคุณกษิต ภิรมย์ ก็คือให้ยกเลิกกองบัญชาการทหารสูงสุดเสีย ซึ่งเป็นการปฏิรูปกองทัพในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การปฏิรูปในเชิงซื้ออาวุธใหม่ เกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น ตั้งกรมกองใหม่ในกองทัพ ฯลฯ อย่างที่ พล.อ.ประวิตรดูเหมือนจะส่อถึงว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพ (ก็เป็นประจักษ์พยานอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ว่า ทหารรู้จักแต่การรบ ไม่รู้จักการทำสงคราม จึงพูดกันไม่รู้เรื่อง)

เพราะสงครามมีความหมายกว้างกว่าการรบเช่นนี้ การจัดกองทัพในประเทศที่เข้มแข็งด้านการทหาร จึงต้องถือหลัก civilian supremacy หรือพลเรือนต้องเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดเหนือกองทัพเสมอ เพราะพลเรือนเท่านั้นที่สามารถระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคม ออกมาทำสงครามได้ ในขณะที่ทหารทำได้แต่ระดมกำลังเข้าสู่การรบซึ่งไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชนะสงคราม แน่นอนว่าพลเรือนที่จะสามารถระดมสรรพกำลังดังกล่าวได้ นอกจากมีอำนาจแล้ว ยังต้องได้อำนาจนั้นมาอย่างชอบธรรมตามเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้ว การระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคมก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ผมขอยกตัวอย่างการทำสงครามที่ต้องระดมสรรพกำลังในการต่อสู้ จากเรื่องที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วสักเรื่องหนึ่ง

นายพลไอเซนฮาว (เอ่อร์) ถูกเลือกให้เป็นผู้บัญชาการใหญ่ของกองทัพสัมพันธมิตรในยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่สอง ความจำเป็นทางการเมืองบังคับว่า ถึงอย่างไรผู้บัญชาการใหญ่ก็ต้องเป็นอเมริกัน เพราะสหรัฐคือพลังที่เข้มแข็งที่สุดที่เหลืออยู่ในการเอาชนะนาซี ประธานาธิบดีอเมริกันเลือกผิดหรือถูก

ในแง่ประวัติส่วนตัว ไอเซนฮาวไม่ได้มีชื่อเสียงด้านการรบด้วยซ้ำ เพราะมีนายพลอื่นซึ่งมีประวัติการรบที่โด่งดังกว่าเขาอีกหลายคน แต่ไอเซนฮาวเหมาะที่สุดในการเป็นผู้นำกองทัพสัมพันธมิตร เพราะเขาเป็นนายพลที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม (ไม่กร่างแบบนายพลของกองทัพที่ไม่รู้จักสงคราม) ใช้คนเป็น ประนีประนอมเป็น แต่ไม่ประนีประนอมอย่างซี้ซั้ว เพราะเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องได้ชัด จึงรู้จังหวะก้าว ว่าตรงไหนต้องเด็ดขาด ตรงไหนต้องประนีประนอม

ไอเซนฮาวใช้ความสามารถทั้งหมดเหล่านี้นำกองทัพสัมพันธมิตรไปสู่ชัยชนะได้ แม้ไม่ราบรื่นนัก เช่นบางครั้งต้องปล่อยให้ความอหังการของนายพลอังกฤษบ้าง อเมริกันบ้างนำทหารไปสู่ความสูญเสียที่ไม่จำเป็น ก็ต้องปล่อย เร่งเดินทัพให้ทันก่อนที่กองทัพแดงของโซเวียตจะ "ปลดปล่อย" ยุโรปกลางและตะวันออก แต่ก็ไม่บุ่มบ่ามจนเสี่ยงต่อการสูญเสียมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องประคองความสัมพันธ์กับเชอร์ชิลนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งใฝ่ฝันจะเป็นเวลลิงตันมาตลอดชีวิตอีกด้วย

ความสามารถของไอเซนฮาวในการนำกองทัพสัมพันธมิตรไปสู่ชัยชนะคือความสามารถทาง "การเมือง" ไม่ใช่การรบ และนั่นคือเหตุผลที่คนอเมริกันพากันเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีต่อกันสองสมัยหลังสงคราม แทนที่จะเลือกทหารอย่างแม็กอาเธอร์ ซึ่งมีสีสันกว่าเขาอย่างมาก ทั้งประสบชัยชนะในการรบอย่างเลื่องลือด้วย (แม็กอาเธอร์ไม่ได้ลงสมัครด้วย)

ตรงกันข้ามกับกองทัพสหรัฐ กองทัพไทยไม่เคยทำสงครามมาตั้งแต่ ร.3 คือเมื่อรบกับเวียดนามเพื่อแข่งอิทธิพลในกัมพูชา (2000 ปีมาแล้ว) การปราบฮ่อ, กบฏเงี้ยวเมืองแพร่, กบฏผีบุญ, และอั้งยี่ในกรุงเทพฯ คือการรบ ไม่ใช่สงคราม อาศัยยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า ก็ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วด้วยการรบครั้งเดียว ผู้นำไทยตัดสินใจหลีกเลี่ยงสงครามกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ.112 และกับญี่ปุ่นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก อาจมีการรบสองครั้งที่อ้างว่าเป็นสงครามได้ หนึ่งคือเมื่อเปิดสงครามกับฝรั่งเศสในอินโดจีน ซึ่งกินเวลาไม่นานนัก การรบกระทำกับกองทัพอาณานิคม ในยามที่ฝรั่งเศสไม่สามารถส่งกำลังบำรุงได้มากนัก อีกทั้งไม่ประสบชัยชนะจริง หากญี่ปุ่นไม่เข้ามาแทรกแซงให้เจรจาสงบศึก อีกครั้งหนึ่งคือเมื่อส่งกองทัพไปยึด "สหรัฐไทยเดิม" ในพม่า ซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะต่อสู้กับกองทัพไทยซึ่งมียุทโธปกรณ์เหนือกว่าได้ แต่กองทัพไทยก็ต้องหยุดตรึงแนวประจันกับกองทัพจีน จากบันทึกของทหารที่เข้าสู่การรบครั้งนี้ บางท่านกล่าวว่าจุดมุ่งหมายของสงครามคือสร้างจุดเชื่อมต่อกับกองทัพสัมพันธมิตรผ่านกองทัพจีน ดังนั้น จึงไม่มีการปะทะกันอย่างใหญ่ระหว่างกองทัพทั้งสอง

โดยสรุปก็คือ ถึงอาจอ้างว่าได้ทำสงครามในสองครั้งนี้ ก็ไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบทั้งสองครั้ง นับตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา ถึงแม้กองทัพไทยได้ผ่านการรบมาหลายครั้ง แต่ล้วนเป็นการรบที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาและหนุนช่วยของกองทัพสหรัฐทั้งสิ้น เช่น ในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม (หรือเป็นทหารรับจ้างในลาว) จึงไม่ใช่การทำสงครามจริง การใช้กำลังทหารเข้าปราบ พคท. คือการทำการรบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่าทำสงคราม หากจะมียุทธศาสตร์ใหญ่เชิงสงครามบ้าง ก็เป็นการริเริ่มและหนุนช่วยจากวอชิงตัน เช่น การพัฒนาชนบทเชิงยุทธศาสตร์

นั่นคือหากจะมองการต่อสู้กับ ผกค.ว่าเป็นสงคราม ก็เป็นสงครามเย็นของอเมริกัน ไม่ใช่ของกองทัพไทย กองทัพไทยมีหน้าที่ทำการรบเท่านั้น ไม่ได้ทำสงคราม

เอาประสบการณ์ของกองทัพไทยไปเปรียบกับกองทัพเวียดนาม, พม่า และลาว ก็จะเห็นได้ชัดว่า กองทัพไทยขาดประสบการณ์การทำสงครามโดยสิ้นเชิง ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะนับตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา กองทัพก็ค่อยๆ หลุดออกไปจากการควบคุมของฝ่ายพลเรือนมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นองค์กรทางการเมืองที่เป็นอิสระในตัวของตัวเอง

ฉะนั้น หากเกิดสงครามขึ้น กองทัพที่ทำสงครามไม่เป็น ซ้ำยังไม่อยู่ในกำกับควบคุมของฝ่ายพลเรือนเสียอีก จะทำแต่การรบเพื่อไปสู่ชัยชนะย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสงครามไม่เคยชนะได้ด้วยการรบเพียงอย่างเดียว และประเทศไทยก็จะยับเยินด้วยแพ้สงคราม



คราวนี้หันกลับมาสู่การปฏิรูปกองทัพเพื่อให้กองทัพไทยทำสงครามเป็นหลักการที่ขาดไม่ได้ในการปฏิรูปกองทัพก็คือ ความมีอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือกองทัพ เรื่องนี้สำคัญกว่ายุบหรือไม่ยุบ บก.สส., เกณฑ์ทหารอย่างไร หรือเลิกการเกณฑ์ทหาร, ขั้นตอนการเลื่อนยศเลื่อนขั้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่หลักการ สำคัญสุดคือการมีอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือกองทัพ

ตำแหน่ง ผบ.สส.นั้นไม่เคยมีในกองทัพไทยมาก่อน ก็ไม่น่าแปลกอันใด ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทหารทุกเหล่าทัพย่อมต้องปฏิบัติการตามพระบรมราชโองการ ที่น่าแปลกก็คือ หลัง 2475 แล้ว ก็ยังไม่ได้แต่งตั้งตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งตนเองขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นการเฉพาะกิจ เมื่อต้องทำการรบกับกองทัพอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อทวงดินแดน จนถึง 2503 สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ จึงตั้งตำแหน่งนี้ขึ้นเป็นการถาวร โดยตนเองดำรงตำแหน่งนี้จนถึงแก่กรรม

อันที่จริง กองทัพที่สามารถทำสงครามได้ของประเทศใดก็ตาม ต้องมีตำแหน่งนี้ ไม่อย่างนั้นจะประสานงานระหว่างเหล่าทัพได้อย่างไร ฉะนั้น โดยภารกิจแล้ว ผบ.สส.ต้องมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาได้ทุกเหล่าทัพ เมื่อหันมาดูการเมืองภายในของทุกเหล่าทัพของไทยแล้ว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าตำแหน่งนี้จะมีไม่ได้จนถึงการยึดอำนาจของสฤษฎิ์ เพราะแต่ละเหล่าทัพย่อมไม่ยอมให้บุคลากรจากเหล่าทัพอื่นมามีอำนาจเหนือ ผบ.ของเหล่าทัพได้ สฤษฎิ์สถาปนาอำนาจนำอย่างเด็ดขาดของกองทัพบกเหนือทุกเหล่าทัพ จึงสามารถตั้งตำแหน่งนี้ได้

เข้าใจว่าการตั้งตำแหน่งนี้เป็นคำแนะนำของฝ่ายสหรัฐด้วย ในสหรัฐมีประธานคณะเสนาธิการผสมทำหน้าที่นี้ แต่สหรัฐระวังมิให้กองทัพมีอิสระในการปฏิบัติการจนเสียหลักการอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือกองทัพ ผู้เป็นประธานต้องได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี และได้รับคำรับรองจากวุฒิสภา อีกทั้งมีหน้าที่เพียงการให้ข้อเสนอแนะแก่ รมต.กลาโหมเท่านั้น ใน พ.ศ.2529 ยังออกกฎหมายเพิ่มลงมาให้ชัดด้วยว่า คณะเสนาธิการผสมไม่มีอำนาจสั่งการการยุทธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นคำสั่งของประธานาธิบดี ผ่านลงมายัง รมต.กลาโหม ลงไปยัง ผบ.เหล่าทัพอีกทีหนึ่ง ทหารจึงสามารถปฏิบัติการยุทธ์ได้

ดังนั้น แม้ตั้งตำแหน่ง ผบ.สส.ขึ้นตามคำแนะนำของสหรัฐ แต่ก็ตั้งขึ้นแบบไทยๆ นั่นคือ 1.ต้องอยู่ในมือของผู้มีอำนาจทางทหาร และนายกรัฐมนตรีซึ่งล้วนเป็นทหารต่อจากสฤษฎิ์ จึงดำรงตำแหน่ง ผบ.สส.ไปพร้อมกัน 2.ต้องรักษาอำนาจสั่งการกองทัพไว้ในมือทหารเสมอ หลังการล่มสลายของระบอบเผด็จการทหาร ผบ.สส.จึงเก้อ เพราะถึงเป็นทหาร ก็หาได้มีอำนาจในการสั่งการเหล่าทัพได้จริง จนอาจทำให้คุณกษิต ภิรมย์ เห็นว่ายกเลิกไปดีกว่า

แต่ความจริงแล้วตำแหน่งนี้มีความสำคัญแก่กองทัพที่จะทำสงครามเป็น ในประเทศของสหภาพยุโรปทุกประเทศ รวมทั้งในนาโต้ ก็ล้วนมีตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น ซึ่งมักเรียกว่า Chief of Defense แต่ในทุกประเทศเหล่านั้น ล้วนเป็นตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งจากพลเรือน และปฏิบัติงานได้ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนทั้งสิ้น

การปฏิรูปกองทัพไทย จึงไม่ได้หมายถึงการยกเลิกตำแหน่งนี้ แต่เป็นการปรับโครงสร้างของการบริหารกองทัพ จนทำให้กองทัพต้องอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของพลเรือน ต้องยกเลิกกฎหมายใดก็ควรยกเลิก เช่น พ.ร.บ.กลาโหม ซึ่งเพิ่งออกใหม่ในสมัยรัฐบาลทหารที่ทำสงครามไม่เป็น กฎอัยการศึกซึ่งออกมาตั้งแต่ ร.6 เมื่อสายโทรเลขยังเข้าไม่ถึงอำเภอ จึงให้อำนาจทหารในพื้นที่ประกาศได้เองเช่นนี้ และกฎหมายอื่นๆ อีกมาก

จำเป็นที่ต้องทำให้กองทัพไทยมีสมรรถภาพในการทำสงครามเป็น เพราะมีภารกิจทางทหารอีกมากที่กองทัพควรทำด้วยความรับผิดชอบ กองทัพที่รบเป็นอย่างเดียวย่อมตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนต่างๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกกองทัพ ยิ่งกว่านี้เพราะอิทธิพลอันล้นเหลือของทหารในสังคมไทย ยังเป็นเหตุให้ทหารทั้งในประจำการหรือนอกประจำการ หรือรวมแม้แต่คนที่ไม่เคยเป็นทหารเลย ต่างมองทางออกจากปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองหรือชีวิตของประเทศชาติ จากมุมมองของการรบเพียงอย่างเดียว ทางออกเช่นนั้นเป็นทางออกที่ตันมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มออกจากถ้ำแล้ว



(ที่มา:มติชนรายวัน 23 ก.พ.2558)

--------------------------------------------------------------





Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2558 11:01:55 น. 0 comments
Counter : 619 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.