ไพบูลย์ บุตรขัน ตอน 6 คำรณ.. พระเอกลูกทุ่ง ศิลปินกบฎ
จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีไทย (พ.ศ. 2491 ถึงกลางปี 2500) หลังจากท่านเดินทางกลับจากยุโรปในปี พ.ศ.2498 ท่านก็อยากให้ไทยมีความก้าวหน้าทางการเมืองเฉกเช่นอารยประเทศบ้าง จึงเปิดให้มีการไฮด์ปาร์ค หรือการอภิปรายทางการเมืองในที่สาธารณะได้อย่างเสรี
ในส่วนของเพลง และการแสดงออกในสังคม เพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองเป็นที่นิยมก่อนหน้านั้นมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อแสดงออกถึงความอึดอัดคับข้องใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในสภาวะการณ์ของยุคนั้น เมื่อมีนโยบายนี้ออกมา เพลงการเมือง (หรือพูดด้วยภาษาสมัยนี้คือเพลงเพื่อชีวิต) ก็ยิ่งเบ่งบาน เพลงแนวการเมืองนั้น ถ้าจัดประเภทกันแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง (ซึ่งสมัยนั้นก็ยังไม่ได้แยกออกมาจากเพลงไทยสากลอย่างชัดเจนนัก)

นักร้องที่เราจะนึกถึงขึ้นมาเป็นคนแรก หากเราพูดถึงเพลงการเมืองในยุคนั้น คือ คำรณ สัมบุญณานนท์ ในปกแผ่นเสียงสมัยนั้นอาจจะเขียนนามสกุลแตกต่างกันไปหลายแบบ แต่แบบนี้คือการเขียนที่ถูกต้องตามทะเบียนบ้าน

คำรณ สัมบุญณานนท์ ในสมัยหนุ่มนั้น เป็นนักล่ารางวัลตามเวทีการประกวดร้องเพลงตามงานวัด รุ่นเดียวกับ เลิศ ประสมทรัพย์, นริศ อารีย์, ดอกดิน กัญญามาลย์, ชาญ เย็นแข, ใหญ่ นภายน และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี การได้รางวัลจากการประกวด ทำให้เข้าตาของ 'เหม เวชกร' ที่กำลังทำละครวิทยุ สาวชาวไร่ อยู่ เขาได้เล่นเป็นพระรองในละครวิทยุเรื่องนี้ และได้ร้องเพลง 'เจ้าสาวชาวไร่' ที่เป็นเพลงนำละคร จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงได้เข้าสู่วงการนักร้องอาชีพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา

แม้ในหลายแหล่งจะบอกว่าเพลงนี้ชื่อ เจ้าสาวชาวไร่ แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่า ที่จริงเพลงนี้น่าจะชื่อ สาวชาวไร่ เหมือนกับชื่อละคร หรือไม่ก็เป็นเพลงที่ไม่ได้มีชื่อตั้งแต่แรก อาจจะใช้ชื่อประโยคขึ้นต้นเป็นชื่อเพลงมากกว่า
ชื่อเพลง ซึ่งชื่อว่า เจ้าสาวชาวไร่ น่าจะมาจากความคลาดเคลื่อนในการถ่ายทอด เพราะเท่าที่ค้นข้อมูลดู ถึงแม้ว่าจะไม่มีการบันทึกเสียงเอาไว้ แต่คำรณก็ได้ใช้เพลงนี้ในการประกวดตามเวทีต่างๆ หลายครั้ง และละครวิทยุเรื่องนี้ก็มีผู้ฟังจำนวนมาก จนมีคนจำได้ว่าเพลงนี้ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า 'โอ้ เจ้าสาวชาวไร่..' ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่อเพลงได้

ในปี พ.ศ. 2487 คำรณ สมัครเข้าเป็นนักร้องหน้าม่านสลับฉาก ในโรงละครเฉลิมบุรี เขาร้องเพลงอยู่หน้าเวที ไพบูลย์ บุตรขัน ก็เขียนเพลง เขียนบทละครอยู่หลังเวที และนั่นทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสร่วมงานกัน เท่าที่ค้นดูคร่าวๆ ครูไพบูลย์ แต่งเพลงแนวการเมืองให้ คำรณ เกิน 30 เพลง และเพลงแนวอื่นอีกจำนวนมาก แต่เพลงฝีมือครูคำรณที่ดังสุดๆ จนมีชื่อเสียงจนเรียกว่าเป็นเพลงแจ้งเกิดก็ได้คือเพลงชมหมู่ไม้ ที่บันทึกเสียงไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2491-92 ครูไพบูลย์ น่าจะได้รับอิทธิพลของเพลงโห่ มาจากความดังของนักร้องโยเดลในยุคนั้นอย่าง ยีน ออดรี้ ก็เลยเอามาบวกเข้าไปกับการแต่งเนื้อเพลงบรรยายบรรยากาศตามแนวถนัดของตัวเอง ได้เป็นเพลงนี้ออกมา

เป็นเพลงโห่ (Yodel) ยุคแรกๆ ของบ้านเรา และเป็นเพลงแรกของคำรณ ที่บันทึกเสียงเผยแพร่กันในวงกว้าง โดยใช้ชื่อ คำรณ สัมบุญณานนท์ แต่ว่าก่อนหน้าเพลงนี้ สมัยก่อนคำรณ เคยบันทึกแผ่นเสียงเพลงโห่มาบ้างแล้วโดยใช้ชื่อ ทองคำ สัมบุญณานนท์

ถ้าจะนับกันแล้วเราถือว่า เลิศ ประสมทรัพย์ คือนักร้องเพลงโห่คนแรก ส่วนคำรณ เป็นคนที่สอง เลิศ แห่งสุนทราภรณ์ นั้น ร้องมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนปี พ.ศ. 2484 เสียอีก และคว้ารางวัลจากเวทีประกวดมามากมาย

เพลงโห่นี้ได้อิทธิพลมาจากนักร้องฝั่งอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเพลงของคนเลี้ยงแกะในแถบเทือกเขาสูงของยุโรปอีกต่อหนึ่ง และได้พัฒนามาเป็น yodel แบบอเมริกัน
มีผู้ให้ความเห็นว่าเพลงโห่ในแนวทางลูกทุ่งไทยเป็นการโห่แบบยุโรปดั้งเดิม ตามแนวของ แฮงค์ วิลเลี่ยม ที่เรียกว่า Alpine yodel ซึ่งก็ถ่ายทอดกันต่อๆ มา จนในยุคนี้มาสุดอยู่ที่ราชาเพลงโห่ เพชร พนมรุ้ง ที่ผมคาดว่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายของเพลงโห่ของไทย

คำรณ นั้น ได้รับอิทธิพลมาจาก Gene Autry ทั้งแนวร้อง และการแต่งตัวเลียนแบบนักร้องคันทรี่ (น่าจะเป็นนักร้องคนแรกของไทยที่แต่งตัวแนวคาวบอย) พร้อมสะพายกีตาร์ 2 คอที่ทำเอง การร้องเพลงโห่ของคำรณ ทำเอา เลิศ ประสมทรัพย์ เลิกร้องเพลงโห่ไปเลย ท่านบอกว่า ร้องไปก็สู้คำรณไม่ได้

ผมเลือกเพลงชมหมู่ไม้ เวอร์ชั่นของเพชร พนมรุ้ง จากอัลบั้ม มนต์เพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน แผ่นที่ 5 เพลงที่ 14 จัดจำหน่ายโดยบริษัทเมโทรแผ่นเสียงและเทป มาให้ฟัง เพราะผมว่าเป็นพัฒนาการถึงจุดสุดยอดของเพลงนี้แล้ว เหนือกว่าเวอร์ชั่นของคำรณเสียอีก

ผมจำได้ว่าเคยไปดูคอนเสิร์ต มนต์เพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อหลายปีมาแล้ว จัดโดยสถานีวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็ม ตอนนั้นอัลบั้มนี้เปิดตัวพร้อมกับงานคอนเสิร์ตพอดี ตรงที่ผมนั่งมีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ นั่งข้างๆ ผมคนหนึ่ง เธอได้ยินเสียงโห่สดๆ ในเพลงนี้ของเพชร พนมรุ้ง ก็ทำตาโตปากกว้าง หันไปถามคุณแม่ที่นั่งถัดไปว่า "แม่ขา อันนั้นเป็นเสียงของเค้าจริงๆ เหรอคะ"

ฉายา 'ราชาเพลงโห่' ของเพชร พนมรุ้ง ไม่ได้มาเพราะอุบัติเหตุ โชคช่วย จับฉลากหน้าห้องเรียน หรือสอยดาวได้จากงานกาชาด เป็นความสามารถล้วนๆ ที่สะสมมาตลอดชีวิต มีสไตล์ที่แปลกแตกต่าง ซับซ้อน เทคนิคแพรวพราว จัดเป็นอันดับหนึ่งของไทย ไม่ว่าจะนับจากอดีต หรือในปัจจุบัน

เขาร้องเพลงนี้ได้พิสดารมหัศจรรย์พันลึกอย่างไร ไปฟังกันครับ




เพลงแนวลูกทุ่งเพลงโห่ของครูไพบูลย์ ที่คำรณร้องได้ไพเราะจับใจมากเพลงหนึ่งคือ สวรรค์ชาวนา ที่โด่งดังเป็นอันมาก ในเพลงนี้นอกจากจะเป็นเพลงที่มีเนื้อร้อง ทำนองน่าฟังแล้ว ยังเป็นเพลงที่มีซาว์นเอ็ฟเฟ็คอีกด้วย เมื่อก่อนนี้เพลงนี้จะชอบเปิดทางสถานีวิทยุตอนเช้าๆ แทบทุกวัน
เด็กๆ สมัยนั้น (ผมเกิดไม่ทัน) บอกว่าใครๆ ก็จำเสียงกลองเพลวัดโบสถ์ ตะลุ่มตุมตุม ในเพลงนี้ได้

ฉากในเพลงนี้ เป็นฉากรอบๆ บ้านของครูไพบูลย์เอง แถบปทุมธานี ที่สมัยก่อนถือว่าบ้านนอกสุดกู่ มีทั้งเสียงไก่ขันก้องกังวาน กาเหว่าเสียงหวาน มีชาวนาไล่ควายฮุ่ยๆ ตีเหล็กไฟแป๊กๆ จุดยามวน ได้บรรยากาศน่าฟังมาก




เรื่องการเอาเสียงต่างๆ หรือแม้แต่สำเนียงการพูดการร้องของภาษาไทยพื้นถิ่นต่างๆ เข้ามาผสมในเพลงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของครูไพบูลย์เลย เราจะได้เห็นตัวอย่างกันดาษดื่น เดี๋ยวผมจะค่อยๆ ชี้ให้เห็นในเพลงต่อๆ ไป
คำรณเองก็ได้ร้องเพลงสำเนียงสุพรรณอย่าง หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ เป็นเพลงรักบ้านนอกเหน่อๆ ที่น่ารักเพลงหนึ่ง ถ้าสนใจลองหาในยูทูปดูได้

ส่วนเพลงโห่ ผมมีคลิปนี้ครับ เป็นเพลงโห่ของคำรณ 3 เพลง ที่เอามาเรียงต่อกัน ถ้าอยากจะลองฟังเสียงโห่แบบคำรณกันยาวๆ ก็แนะนำอันนี้เลยครับมี 3 เพลงต่อเนื่อง

-------------------------------------

คำรณ สัมบุญณานนท์ สมัยวัยรุ่นเคยถูกตำรวจจับข้อหาปล้นธนาคาร เพราะเพื่อนฝูงในก๊วนเดียวกันเป็นไอ้เสือปล้น แต่หลังจากพิสูจน์ได้ว่าตัวเองไม่ได้เข้าร่วมกับการปล้นด้วย ตำรวจก็ปล่อยตัวมา
นอกจากบุคลิกที่สมัยนี้เรียกได้ว่า bad boy ทั้งเรื่องไอ้เสือ และยาเสพติดแล้ว คำรณยังเป็นคนรูปหล่อ หน้าตาดี น่าแปลกใจว่าเขาเคยผ่านการเป็นนักมวยมาก่อน แต่ก็ยังยังสามารถรักษาใบหน้าหล่อๆ คมสันไว้ได้โดยไม่ถูกตะบันยับไปเสียก่อน ถึงขนาดได้เป็นพระเอกหนังเรื่อง รอยไถ จากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม เสียด้วย
และไม่ใช่แค่เรื่องเดียว เขายังได้เป็นพระเอกหนังเพลงในแนวไอ้เสือ และหนังเพลงแนวลูกทุ่งอีกเป็นกระบุง อย่าง ชายสามโบสถ์, หญิงสามผัว, เกวียนหัก, ขุนโจรใจเพ็ชร, เลือดทรยศ, ฆ่ายัดกล่อง, วิวาห์น้ำตา ฯลฯ
ทั้งยังเจ้าชู้จัดๆ ชนิดที่เคยถูกสาดน้ำกรดเพราะเรื่องชู้สาวมาแล้ว แต่โชคดีที่ไม่เสียโฉม

เพลงในแนวไอ้เสือของเขาก็มีหลายเพลง ที่ครูไพบูลย์แต่งไว้มีเพลงหนึ่งคือ น้ำตาเสือตก บรรยายชีวิตของไอ้เสือกลับใจ และยังมีเพลงไอ้เสืออื่นๆ ที่มีคนอื่นแต่งไว้ให้อีกหลายเพลง
เพลงในตระกูลไอ้เสือที่ผมว่าโดดเด่นที่สุดคือเพลง ชายสามโบสถ์ ที่เนื้อหางดงาม
แต่ถ้าลองฟังเพลงนี้แล้วลองนับดีๆ เราจะนับได้แค่ 2 โบสถ์เท่านั้นแหละ หายไปโบสถ์นึง เพราะว่าในสมัยนั้นเพลงหนึ่งจะยาวนักไม่ได้ ยังไงก็ต้องตัดเพลงให้อยู่ในหน้าเดียวของแผ่นครั่งให้ได้ คือจะยาวประมาณ 3 นาที เรื่องราวในโบสถ์ที่สองก็เลยต้องถูกตัดหายไป
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องปกติ ที่เราเจอได้ในเพลงเก่าๆ อย่างเพลงดาวลูกไก่ ของ พร ภิรมย์ ที่ถูกตัดแบ่งเป็นสองเพลง

ชายสามโบสถ์เวอร์ชั่นที่มีครบทั้ง 3 โบสถ์ ผมหาเจออันเดียว จากชุดมนต์เพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน ของค่ายเมโทรเหมือนเดิม ในแผ่นที่ 1 เพลงที่ 14 เป็นเสียงร้องของชัยชนะ บุณนะโชติ ที่เทคนิคการร้องเรียกได้ว่า เป็นร่องเสียงเดียวกับคำรณเลย
จุดเด่นของเพลงเวอร์ชั่นชัยชนะคือเสียงขลุ่ยครับ เป่าได้หวานเศร้า วิเวกดีเหลือเกิน
และมีที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือ การออกเสียงของชัยชนะ เป็นสำเนียงคนเมืองแปดริ้วแท้ๆ ใครฟังออกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมฟังปุ๊บสะดุดหูทันที เพราะสำเนียงเหมือนคุณยายของผมเลย โดยเฉพาะการออกเสียง ส.เสือ นี่ ผมฟังแล้วคิดถึงคุณยายขึ้นมาเชียว




เพลงในกลุ่มเพลงไอ้เสืออาจจะเป็นเพลงแนวที่หาคนร้องเทียบคำรณไม่ได้แล้ว เพราะจะร้องเพลงแนวนี้ได้ บุคลิกต้องได้ ประวัติต้องมีด้วย ถึงจะได้อารมณ์ เพลงที่คล้ายๆ กันอีกกลุ่มหนึ่งคือเพลงชีวิตที่เล่าเรื่องชีวิตชนชั้นล่างในสังคม นอกจากสวรรค์ชาวนา แล้ว ก็ยังมีเพลงคนขับแท็กซี่ บุรุษไปรษณีย์ ช่างตัดผม คนหาเช้ากินค่ำ กรรมกรรถราง ลูกข้าวเหนียว ที่เป็นผลงานของครูไพบูลย์

เพลงเด่นเพลงหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มเพลงชีวิต ของคำรณที่ผมอยากให้ฟังคือเพลงคนนอกสังคม ลองตั้งใจฟังเพลงนี้ดีๆ ก่อนอื่นลองฟังเพลงนี้เทียบกับชีวิตที่เป็นไอ้เสือของคำรณดู

อย่าเพิ่งรีบเลื่อนลงไปอ่านข้างล่างครับ ใจเย็นๆ ฟังเพลงนี้ให้จบก่อน

คนนอกสังคม




เอาใหม่.. ลองฟังอีกรอบ


คราวนี้ลองคิดว่า คนแต่งเพลงนี้คือ ไพบูลย์ บุตรขัน ที่ตอนนั้นกำลังป่วยเป็นโรคเรื้อน หมดเงิน หมดงาน ไม่มีใครคบ สังคมรังเกียจ ต้องเก็บตัวอยู่ในกระท่อมปทุมวัน ให้พ้นสายตาผู้คน

ฟังแล้วเราจะสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดท้อแท้ในชีวิตของครูไพบูลย์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงออกมาได้อย่างชัดเจน


แต่เพลงคำรณ ก็ไม่ได้เคร่งเครียดจริงจังไปเสียทั้งหมด นอกจากเพลงกลุ่มเพลงไอ้เสือ เพลงชีวิต แล้วเพลงแนวสนุกๆ แนวล้อเลียน ก็มี

เพลงนี้เป็นเพลงเอกลักษณ์ เพลงประจำตัวเพลงหนึ่งของคำรณเลยก็ว่าได้ ถ้าพูดถึงคำรณ จะข้ามเพลงนี้ไปไม่ได้เลย เป็นเพลงที่ใช้ทำนองล้อเลียนเพลง กระท่อมไพรวัลย์ ของชาญชัย บัวบังศร (ที่ต้นฉบับขับร้องโดยสมยศ ทัศนพันธ์) แต่คำรณเอามาล้อเสียยับเยิน

(ขอแทรกวาระส่วนตัวตรงนี้หน่อย คือ.. เพลงกระท่อมไพรวัลย์ นี่ ผมชอบเวอร์ชั่นของ จรัล มโนเพ็ชร แฮะ ฟังแล้วได้บรรยากาศศิลปินป่าดี)


กระท่อมกัญชา




เพลงล้อเลียนอีกเพลงหนึ่ง คือเพลงบ้านยายหอม ที่ล้อเลียน ท่าฉลอม ของครูชาลี อินทรวิจิตร
เพลงที่ครูชาลีแต่งเล่าเรื่องชีวิตนายบุญเย็น นายท่าเรือที่ท่าฉลอม ที่เคยมีความรักอยู่กับสาวพยอมแห่งมหาชัย เขาเทียวไปมาท่าฉลอม-มหาชัย เพื่อเอาใจสาว แต่สาวเจ้าก็ไปแต่งกับหนุ่มถิ่นอื่นเสียนี่

เพลงบ้านยายหอม เล่าเรื่องไอ้หนุ่มนครปฐม อุตส่าห์เลิกกัญชาเพื่อเอาใจสาว และใช้เวลาเดิน 3 เดือนตามทางรถไฟไปหาสาวสุโขทัย เพื่อเอาปลาร้าไปฝาก
แหม.. ความรักนี่มันยากกว่าเรื่องกัญชาจริงๆ นะเนี่ย

เพลงนี้ผู้แต่งอาจจะเป็นครูไพบูลย์ (แต่ฟังจากทางกลอนแล้วไม่น่าจะใช่ มันทื่อๆ ผิดสไตล์ไปนิดนึง) หรืออาจจะเป็นชาญชัย บัวบังศร ผู้แต่งกระท่อมกัญชาก็ได้ แต่ถ้าให้เดาจากทางเพลง ผมเดาเอาว่าคนร้องนั่นแหละ ที่แต่งเพลงนี้เอง


บ้านยายหอม




หรืออย่างเพลงไอ้ทุยแถลงการณ์ ที่ไอ้ทุยมาแถลงการณ์ว่าถูกเอาไปปู้ยี่ปู้ยำในเพลง จนแม่เผือกเพื่อนเกลอมาต่อว่า ไอ้ทุยก็เลยต้องออกมาแถลงการณ์ว่า มันเป็นควายไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยนะ พวกมนุษย์ทำกันไปเองต่างหาก


แต่หากจะเอาแนวเพลงที่ทำให้คำรณโดดเด่นจนถูกเพ่งเล็งแล้วละก็ คือเพลงการเมืองครับ
ในช่วงยุคต้น เพลงการเมืองเป็นฝีมือการประพันธ์ของครูไพบูลย์ ที่แนวเพลงเป็นเพลงลูกทุ่ง ส่วนในยุคหลังเป็นฝีมือของเสน่ห์ โกมารชุน ที่แนวเพลงจัดได้ว่าเนื้อหาเริ่มแตกแนวออกมาเป็นเพลงเพื่อชีวิตแล้ว เพลงดังจนต้องถูกเชิญตัวไปโรงพักของสองขุนพลเพื่อชีวิตนี้คือ เพลงสามล้อแค้น เสียงร้องของเสน่ห์ ที่เนื้อหารุนแรงเอามากในยุคที่สามล้อถูกห้ามเข้ามาในพระนคร และเพลงการเมืองนี้สร้างแนวทางที่ชัดเจนมากในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ของทั้งคู่ จนกระทั่งในยุคเปลี่ยนแปลง จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ถูกรัฐประหารลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้าสู่ยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพลงแนวการเมืองถูกห้าม บวกด้วยละครเวทีก็เริ่มซบเซา ความต้องการนักร้องสลับฉากก็ลดลง จนทำให้คำรณแทบหมดทางทำมาหากิน เสน่ห์ โกมารชุนก็เลิกแต่งเพลงการเมือง หันไปเอาดีทางภาพยนต์
เพลงเด่นๆ ในกลุ่มนี้ของคำรณ ที่เราจะต้องนึกถึง และยังเป็นความจริงอยู่จนปัจจุบันนี้คือเพลงเพลงมนต์การเมือง แต่งโดยครูสุเทพ โชคสกุล หลายสิบปีผ่านไป เพลงนี้ก็ยังคงเป็นจริงอยู่
ถ้าสนใจเรื่องราวของเพลงการเมืองในยุคนั้น ลองหาอ่านได้จากบล็อกของกลุ่มรองเท้าแตะครับ


หลังปี 2500 ชีวิตของคำรณ สัมบุญณานนท์ก็เริ่มตกต่ำ ระยะหลังนอกจากกัญชา กับยาเส้นมวนใบจาก เข้าก็เริ่มใช้ฝิ่น จนสุขภาพทรุดโทรม
จากการสูบยาสารพัดชนิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้คำรณถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดเมื่อปี 2512 ที่โรงพยาบาลโรคปอด (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี) ปิดฉากชีวิตอันมีสีสันแพรวพรายของศิลปินกบฏแต่เพียงนั้น ทิ้งไว้แต่ผลงานทรงคุณค่าจำนวนมาก


ในกลุ่มเพลงการเมือง เพลงชีวิตที่ครูไพบูลย์แต่งให้คำรณนั้นก็มีหลายเพลง น่าจะร่วมยี่สิบ สามสิบเพลงได้กระมัง
สิ่งที่ทำให้เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน มีความแตกต่างจากเพลงที่คนอื่นแต่งในยุคเดียวกันอย่างหนึ่งคือ ความที่ท่านเป็นนักคิด มีอุดมการณ์ สะท้อนอุดมคติที่มี ออกมาอยู่ในเนื้อเพลง ถึงแม้เพลงนั้นจะไม่ใช่เพลงการเมือง เป็นแค่เพลงทั่วไปก็ตาม ด้วยความสามารถทางกวี ทั้งอุดมคติทางการเมือง การบูชายกย่องชาวนา การสะท้อนภาพชีวิตของคนชั้นล่าง ชาวบ้านร้านตลาด ชาวไร่ชาวนา ความลำบาก ความทุกข์ ความสุข เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน จึงจับใจชาวบ้านนัก เพราะเป็นเพลงชีวิตของพวกเขาเอง และมีความไพเราะในเชิงกวี ยิ่งการบรรยายเรื่องของชีวิตในท้องไร่ท้องนาแล้ว ยิ่งไร้เทียมทาน

เพลงการเมืองของครูไพบูลย์แต่ละเพลงนี่ เนื้อหาเพลงเป็นการวิพากษ์การเมืองอย่างแรงมาก จนไม่น่าเชื่อว่าจะออกอากาศได้ในยุคสมัยนั้น แต่ว่าชั้นเชิงการแต่งของครูไพบูลย์ก็นับว่าเหนือชั้น ใช้กลเม็ดทางกวี สอดแทรกอุดมคติทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์เข้าไปอย่างแนบเนียน แทนที่จะบอกว่ารัฐบาลมันแย่ เงินเฟ้อ เก็บภาษีเยอะ ก็บอกว่า
เมื่อก่อนนั้น ‘มีเงินบาทเดียวในกระเป๋า เที่ยวได้ตั้งแต่เช้ายันค่ำ’
แต่ตอนนี้ ‘ต้องปิดสแตมป์เอาไว้ที่รูจมูกเรา หายใจออกเข้าภาษีเล่นเราไม่รู้เท่าไหร่’

ตาสีกำสรวล เป็นเพลงที่วิจารณ์การเมืองอย่างแรง ใช้ท่วงทำนองของลำตัดมาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผู้ทุกข์ยาก เพราะการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่ได้ความ แต่ด้วยลีลากวีที่แรงในเนื้อหา กลับฟังนุ่มนวลด้วยภาษาที่ใช้


ตาสีกำสรวล ภาค 1 …เมื่อก่อนนั้น…




ตาสีกำสรวล ภาค 2 …ยุคใหม่นี้…




คำว่าตาสี ที่มีในเพลงนี้ เป็นชื่อคนจริง มีตัวตนอยู่จริง แกปลูกกระท่อมใบตาลแห้งเฝ้าควายอยู่บนโคก ระหว่างบ้านท้องคุ้งกับวัดบัวหลวง แถวบ้านครูไพบูลย์ ครูเลยเอามาใส่ในเพลง และคำว่าตาสี ก็เลยกลายเป็นคำสามัญสำหรับเรียกชาวบ้าน บ้านนอก ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ

ชื่อตาสี ตาสา ถูกใช้อีกหลายครั้ง ในหลายเพลง อย่างเช่น ลูกสาวตาสี เป็นเพลงชมโฉมสาวงาม แต่ทิ้งลวดลายการวิจารณ์สังคมอย่างแสบสันเอาไว้ในเพลงด้วย



ในวรรณคดีกวีร้อยกรองเหยียดน้องว่าต่ำ
รูปชั่วตัวดำเหมือนกับ อีกา
เขาเหยียดประนามหยามลูกตาสา ไม่น่าเคลียเคล้า
แต่เขากินข้าวจากน้ำมือนาง ตลอดปี


เนื้อร้องท่อนนี้ถึงจะมีทางกลอนที่นุ่มนวลสวยงามไพเราะในเชิงกวี ในท่อนแรกนี่ใชคำได้สวยงามมาก 'วรรณคดีกวีร้อยกรอง'
แต่เพลงนี้ก็แฝงการวิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อน ใช้กำปั้นทุบลงไปหนักๆ ที่มายาคติทางสังคม


ในบรรดาเพลงชีวิต เพลงตาสี หรือเพลงการเมืองของครูไพบูลย์ หากพูดกันแล้วจะขาดไม่ได้ ที่ต้องพูดถึงเพลงหนึ่ง เพลงที่ดังที่สุด และขายดีที่สุด แถมยังถูกรัฐบาลห้ามออกอากาศอยู่เป็นเวลานานอย่างไม่น่าเชื่อ คือ
เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย



Create Date : 05 ตุลาคม 2554
Last Update : 21 ตุลาคม 2554 7:20:38 น.
Counter : 4447 Pageviews.

1 comments
  
แวะมาอ่านและแวะมาฟังเพลงต่อค่ะ
เจิมบอก....แหล่ม
โดย: อุ้มสี วันที่: 6 ตุลาคม 2554 เวลา:0:13:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
2
4
6
7
8
9
10
12
13
14
15
20
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog