...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
13 มกราคม 2554
 
All Blogs
 

ตำนานเมืองชุมพร(ต่อ)

เกาะมัตโพน

เรื่อง คุณครูสุนีย์ จุนเจือ
โรงเรียนวัดหาดพันไกร ชุมพร


ภาพ อาจารย์(พิเศษ)กิตติพงศ์ พันธ์เมือง


อีก ๑ สัปดาห์โรงเรียนก็จะเปิด แต่สิ่งที่โสภีต้องการไปดูสถานที่สำคัญ ๆในจังหวัดชุมพร ยังไม่ครบ นายสมาน รักษาพันธุ์ จึงมาหาและติดต่อคุณตาเกื้อบุญ ว่าอยากให้คุณตาเกื้อบุญพาไปเที่ยวหาดทรายรี ไปไหว้อนุสรณ์สถานเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ “แต่ก่อนอื่นก็อยากจะแวะไปที่เกาะมัตโพนก่อน

“คุณสมานต้องขับรถตรงไปในตลาดปากน้ำชุมพร พอเลยตลาดจึงจอดรถไว้แล้วเดินลงไป” คุณตาเกื้อบุญพูด
“อ้าว เป็นเกาะนึกว่าจะต้องลงเรือไป ทำไมเดินไปได้ละครับ?” นายสมานถาม


“เพราะเกาะมัตโพน เป็นเกาะขนาดเล็ก อยู่ห่างจากชายฝั่งปากน้ำชุมพร ราว ๕๐๐ เมตร มีแนวสันทรายเป็นทางยาว จากชายฝั่งไปถึงตัวเกาะ ทำให้เราสามารถเดินไปยังตัวเกาะได้ แต่ต้องเวลาน้ำลงเท่านั้นนะ ถ้าไม่ใช่เวลาน้ำลงต้องเดินทางโดยทางเรือ หรือถ้าไปแล้วระดับน้ำขึ้นสูงอาจจะติดเกาะ” คุณตาเกื้อบุญพูด

นายสมาน บิดกุญแจลงสลักประตูรถแล้วก้าวตามทุกคนตรงไปยังเกาะมัตโพน ที่เห็นอยู่ไกล ๆ ทุกคนเดินตามสันทรายมายังเกาะ บนเกาะมียอดเขาขนาดเล็กสูงประมาณ ๑๐ – ๑๕ เมตร มีเจดีย์เล็ก ๆ อยู่บนยอดเขา ๑ องค์

จากรูปแบบสถาปัตยกรรม น่าจะเป็นเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชื่อว่า “มาลิกเจดีย์” ทางขึ้นมีขั้นบันไดนับได้ ๙๔ ขั้น เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมขนาด ๓.๗๐ x ๓.๘๕ เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานบัว ความสูงของเจดีย์ประมาณ ๙ เมตร คุณตาเกื้อบุญอธิบายว่า

“มาลิกเจดีย์ บนเกาะมัตโพน เดิมทีน่าจะสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิ เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ ของกองทัพเรือ บนยอดเขามีประภาคาร มีเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือเฝ้าอยู่ในบริเวณที่พักข้างล่าง คุณตาเกื้อบุญอธิบายปิดท้ายว่า “เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ จะมีการจัดงานประเพณี เพื่อเป็นการทำบุญสักการะ มาลิกเจดีย์ เป็นประจำทุกปี”

“ทำไมจึงมีชื่อว่าเกาะมัตโพนครับ ฟังดูแปลก ๆ” นายสมานถาม
“เหตุที่เรียกเกาะมัดโพน เพราะสมัยก่อนชาวบ้านได้นำตะโพนมามัดรวมกันไว้ที่เกาะ อีกประการหนึ่ง ในเมืองชุมพรมีสิ่งของที่ขึ้นชื่อด้วยคำว่า มัด คือ มัดทวี มัดโพน มัดกา มัดหวาย รวมกันเรียกว่า มัดโพน คำนี้ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น มัต-ตะ-โพน”

ไหว้เสด็จในกรม
ชมหาดทรายรี


เมื่อทุกคนกลับมาขึ้นรถอีกครั้ง คุณตาเกื้อบุญพูดว่า

“คราวนี้เราไปไหว้เสด็จในกรม ชมหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนกกันเลย”
คุณตาเกื้อบุญตั้งใจจะพูดให้ตรงกับ คำเชิญชวนของจังหวัดที่แต่งเป็นคำคล้องจอง จุดมุ่งหมายเพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่จังหวัดชุมพร แม้บางความหมายจะไม่ค่อยชัดเจน เช่นคำว่า “ดีกล้วยเล็บมือ” ซึ่งคุณตาเกื้อบุญนึกแล้วยิ้มขัน ๆ ในหมายความว่า

“มีกล้วยเล็บมือนางรสชาติดี ไม่ใช่ดีแบบ “ดี” ของคนและสัตว์ ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อย และมีรสขม”

“ผมก็เคยคิด อย่างคำว่า “ไหว้เสด็จในกรม” พอไปได้ ว่ามาแล้วต้องไหว้เสด็จในกรมหลวงชุมพร “ชมหาดทรายรี” ก็พอไหว แต่ “ดีกล้วยเล็บมือ” ผมรู้สึกทะแม่ง ๆ

ยิ่ง “ขึ้นชื่อรังนก” นี่ขึ้นได้เพียงชื่อแต่นักท่องเที่ยวขึ้นไป-ตาย เพราะเกาะรังนกเขาห้ามขึ้น ใครเข้าไปแค่ ๑๐ เมตรจากตัวเกาะเขายิงตายโดยไม่ผิดกฎหมาย ที่ขึ้นชื่อก็คือว่า ซื้อรังนกมารับประทานได้อย่างเดียว”



“เฮ่อ เราเลิกพูดเรื่องนี้กันเถอะ ขืนคิดมากเดี๋ยวจะแก่เกินวัย” คุณตาเกื้อบุญพูด

ระหว่างที่รถแล่นไปยังไม่ถึงหาดทรายรี คุณตาเกื้อบุญพูดว่า
“หาดทรายรี อยู่ห่างจากเขต เทศบาลเมืองชุมพร ไปทางทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ตามทางหลวงชุมพร-ปากน้ำ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่ยาวมาก มีทรายขาวสะอาด ใกล้แนวชายหาด เป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานของพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ผู้ทรงทำให้กองทัพเรือมีความทันสมัย ทัดเทียมกับอารยประเทศ เป็นที่เคารพบูชาของชาวชุมพรและชาวเรือทั่วไป ว่ากันว่าทรงมีอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ ทำให้มีการบนบานศาลกล่าว เราไปแล้วจะเห็นว่ามีคนมาจุดประทัดกันไม่ขาด”

“ชาวเรือเขาบนบานเรื่องอะไรบ้างคะ” โสภีถาม




“บนบานอย่ามีพายุพัดเรือจนล่ม ให้อยู่รอดปลอดภัย บางคนบนบานอย่าให้ฝนตก เมื่อเขาจะจัดงานสวนสนุก พอสิ่งที่บนบานประสบผลสำเร็จเขาก็มาจุดประทัดแก้บน”

“แล้วฝนตกไหมคะ?” โสภีถามอีก
“บางครั้งก็ตก บางครั้งก็ไม่ตก บางครั้งน่าจะตกแต่กลับไม่ตก พองานที่บนไว้เสร็จฝนกลับลงซู่ ๆ ไม่รู้ว่าท่านศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเพราะธรรมชาติ แต่ถึงอย่างไรท่านก็เป็นขวัญกำลังใจให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวในด้านการทำความดี เพราะใครที่ทำชั่วถึงจะบนให้ท่านช่วย ก็ไม่เคยสำเร็จ”

พอดีรถที่นายสมานเป็นคนขับ ได้มาจอดในลานจอดใกล้ ๆ ศาลเจ้าพ่อ กรมหลวงชุมพร ฯ หลังเก่า ส่วนบนเนินเขาเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อ กรมหลวงชุมพร ฯ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่

ใกล้ ๆ ลานจอดรถ มีเรือรบหลวงชุมพร มีข้อความเขียนไว้ในแผ่นป้ายความว่า “เป็นเรือ ตอร์ปิโด ขนาดใหญ่ มีความยาวตลอดลำเรือ ๖๘ เมตร กว้าง ๖.๕๕ เมตร เมตร ปลดประจำการเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ กองทัพเรือ ได้มอบเรือนี้ให้จังหวัดเพื่อนำมาตั้งไว้ที่หาดทรายรีเพื่อเป็นอนุสรณ์ของกรมหลวงชุมพร ฯ

ตอนขากลับนี่เองที่ที่ ๆ โสภีหมายตาไว้ และขอให้พ่อมาจอดรถแวะชมคือ สะพานท่านางสังข์ และอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร

สะพานท่านางสังข์

ระหว่างที่อยู่ในรถ โสภีจึงถามคุณตาเกื้อบุญว่า
“ท่านางสังข์ ทำไมจึงได้ชื่อว่าท่านางสังข์คะ?”

“มีเรื่องเล่าว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ สังข์ ตั้งบ้านเรือนอยู่กับสามี ที่ริมฝั่งแม่น้ำท่ายาง ต่อมาได้เกิดเหตุร้ายแก่นางคือ ตกดึกของคืนหนึ่ง นางเจ็บท้องจะคลอดลูก สามีไปตามหมอตำแย ซึ่งต้องข้ามฟากแม่น้ำ และเดินทางไปอีกไกล แต่เมื่อข้ามน้ำเขาก็จมลงไปในสายน้ำที่เชี่ยวกราก




“ฝ่ายนางสังข์นอนเจ็บท้องอยู่คนเดียว และคลอดบุตรออกมาแต่ลูกตาย ต่อมาทราบว่าสามีตายอีกจึงเศร้าโศกเสียใจ นางบอกชาวบ้านว่าถ้านางตายไปให้เอาบ้าน และที่ดินของนางขาย เพื่อเอาเงินมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อมิให้ผู้อื่นต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นสามีของนางนี้อีก แล้วนางก็กลั้นใจตาย ชาวบ้านก็ได้จัดการให้ตามที่นางประสงค์ สะพานที่สร้างนี้ให้ชื่อว่าสะพานนางสังข์”

คุณตาเล่าจบก่อนที่รถที่นายสมานขับมาจะแล่นขึ้นสะพานท่านางสังข์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำท่าตะเภา ที่ปัจจุบันยังดูกว้างและลึกและรถก็มาจอดที่ลานอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร

วีรกรรมของยุวชนทหารและทหารหาญ
ทุกคนต่างออกเดินไปรอบ ๆ ลานบริเวณอนุสาวรีย์ โสภีรีบวิ่งมาที่คุณตาเกื้อบุญแล้วพูดว่า

“คุณตาช่วยเล่าถึงการรบในครั้งนั้นให้ฟังหน่อยนะคะ ฟังคุณตาเล่าแล้วสนุก
“เหตุเกิดในปีที่ตาเพิ่งเกิดมาดูโลก พ่อแม่ของตาแล้วก็หลาย ๆ คนเคยเล่าให้ฟัง ที่มีบันทึกไว้เป็นหนังสือโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น คุณประพันธ์ ณ พัทลุง นายอำเภอเมืองชุมพรตอนนั้น เขียนเล่าไว้ว่า ในคืนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน มีพายุฝนตกหนัก ทะเลมีคลื่นใหญ่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินเรือ แต่มีกองเรือลำเลียงขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีเรือพิฆาตคุ้มกันเข้ามาอยู่ในอ่าวชุมพรตั้งแต่สี่ทุ่ม มาจอดหลบพายุอยู่หลังเกาะมัตโพน

รอขนถ่ายกำลังพลลงเรือเล็ก ญี่ปุ่นนำเรือลำเลียงพลเข้าอ่าวมาเป็นแถวตอนใกล้สว่าง โดยปล่อยเรือออกเป็นสองขบวน ขึ้นฝั่งที่บ้านปากน้ำชุมพร และที่หาดบ้านคอสน ห่างกันประมาณ ๓ กิโลเมตร




“ด้านตะวันตกของบ้านคอสน ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร คือบ้านท่ายางเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีถนนเข้าตัวจังหวัดระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร และถนนที่เชื่อมกับบ้านปากน้ำชุมพรอีก ๕ กิโลเมตร โดยมีสะพานข้ามคลองท่านางสังข์เป็นสะพานใหญ่กว้าง รถยนต์แล่นผ่านได้ เป็นตัวเชื่อมสองฝั่ง ข้าศึกจึงมุ่งเข้ายึดสะพานท่านางสังข์เป็นอันดับแรก”

“แล้วญี่ปุ่นเขารู้เส้นทางได้อย่างไรคะ?” โสภีถาม


“ญี่ปุ่นรู้จักสภาพทุกตำบลที่ขึ้นบกอย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะก่อนหน้านั้นคนญี่ปุ่นได้เข้ามาเปิดร้านค้าขาย ร้านถ่ายรูป ร้านตัดผม เป็นหมอฟัน เป็นลูกจ้างห้างร้านบริษัท บางคนมาอยู่นานจนกลมกลืนไปกับคนไทย ทำให้ไม่มีใครระแวงสงสัย รวมทั้งครอบครัวนักเรียนญี่ปุ่นที่เข้ามาเรียนภาษาไทย ล้วนแต่มาจากหน่วยจารกรรม ที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “พวกแนวที่ ๕”



“โอ ช่างร้ายกาจ ผมเคยได้ยิน ที่ทางใต้โน่นก็มีทั่ว พวกญี่ปุ่นที่มาแฝงตัวเป็นแนวที่ ๕” นายสมานพูด

“พวกนี้เที่ยวเดินท่อม ๆ เก็บหอยหาปูตามชายหาด ไม่ก็เช่าเรือออกไปเที่ยวตกปลา ทำหน้าที่หยั่งวัดระดับน้ำตื้นลึกของอ่าวและร่องน้ำ บันทึกรายละเอียดสภาพแวดล้อมของชายหาดศึกษาสภาพจริงของตัวเมือง เอาจนทุกอย่างพรุนไปหมด

ส่วนพวกนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาตอนหลังคือพวกมาสอบข้อมูล และทำความคุ้นเคยกับสภาพที่เป็นจริง มีระดับผู้บังคับหน่วยบางหน่วยและนายทหารเสนาธิการ แฝงเข้ามาสัมผัสด้วยตนเองด้วย แต่ทางเราไม่ได้เฉลียวใจเลย”

“แล้วทหารของเราตอนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน?” นายสมานถาม
“ชุมพรมีกำลังประจำอยู่กองพันเดียว คือกองพันทหารราบที่ ๓๘ ในบังคับบัญชาของพันโทเชิด เอกสิงห์ กับหน่วยฝึกยุวชนทหารในบังคับบัญชาของร้อยเอกถวิล นิยมเสน กับกำลังตำรวจภูธรประมาณหนึ่งกองร้อย

ที่ตั้ง กองพันทหารราบ ๓๘ อยู่เลยสี่แยกปฐมพร ถนนสายชุมพร-ระนอง ห่างจากตัวเมืองชุมพรไป ๑๖ กิโลเมตร มีกำลังหนึ่งกองร้อยปืนกลเบา หนึ่งกองร้อยปืนกลหนัก หนึ่งหมวดพลาธิการ และหนึ่งกองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน...


“ที่น่าเศร้าคือ กองร้อยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีแต่ปืนกับตัวผู้บังคับบัญชา ไม่มีกำลังพลเพราะอยู่ระหว่างรอการบรรจุ แล้วจะไปสู้กับกองกำลังทหารญี่ปุ่นได้อย่างไร แต่ก็จำเป็นต้องสู้”


คุณตาเกื้อบุญเล่าแล้วหัวเราะขื่น ๆ ก่อนจะเล่าต่อไปว่า


“เป็นความประจวบเหมาะที่เวลา ๖ นาฬิกาตรง วันนั้น กองพันทหารราบ ๓๘ รวมกองพันฝึกแถวชิดอยู่ที่สนามบินทับไก่ ห่างจากที่ตั้งกองพัน ๒ กิโลเมตร รองผู้บังคับกองพันผู้อำนวยการฝึก พอเกิดเหตุฉุกเฉินก็นำทหารไปรับอาวุธได้โดยไม่เสียเวลา

“เวลา ๖ นาฬิกา ๓๐ นาที ผู้บังคับกองพันได้รับแจ้งจากข้าหลวงประจำจังหวัด ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าญี่ปุ่นลำเลียงพลขึ้นบกที่บ้านปากน้ำชุมพร และบางส่วนเข้ามาถึงบ้านท่ายางแล้ว กำลังตำรวจและยุวชนทหารออกไปวางแนวยับยั้งแล้ว”

“เวลา ๖ นาฬิกา ๔๐ นาที มีข่าวเพิ่มเติม ว่าข้าศึกคืบหน้าเข้ามาถึงคลองและสะพานท่านางสังข์ ต่อจากนั้นข่าวก็ขาดหาย...”
"ทำไมครับ ?” นายสมานสงสัย



“เครือข่ายสื่อสารระหว่างบ้านปากน้ำกับตัวจังหวัดถูกทำลาย กองพันทหารราบ ๓๘ ต้องรีบเข้าไปป้องกันไม่ให้ตัวเมืองถูกยึด แผนขั้นต้นให้เคลื่อนกำลังผ่านตัวเมืองออกไปให้ถึงคลองท่านางสังข์ วางแนวต้านทานตามถนนสายบ้านท่ายาง-บ้านปากน้ำด้านตะวันตก

จากวัดท่ายางใต้ถึงสะพานท่านางสังข์และบ้านนาทุ่ง” คุณตาเกื้อบุญเดินนำทุกคนดูสถานที่ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเล่าเหตุการณ์

“กองพันทหารราบ ๓๘ มีความจัดเจนในภูมิประเทศด้านตะวันตกของชุมพร มากกว่าด้านทะเลเพราะเคยเชื่อว่า ถ้าข้าศึกยกมาน่าจะมาจากทางกระบุรีมากกว่าอ่าวไทย จึงฝึกตั้งรับอยู่ทางด้านนั้นเป็นส่วนใหญ่ แล้วตอนนั้นญี่ปุ่นก็เป็นมหามิตรกับเรา แต่เพื่อความไม่ประมาท ผู้บังคับกองพันสั่งแบ่งกำลังส่วนหนึ่ง ไปรักษาพื้นที่และปิดเส้นทางที่กิโลเมตรที่ ๒๒ ทางหลวงสายชุมพร-กระบุรี”

“ปีนั้นยานยนต์ลำเลียงพลประจำกองพันมีอยู่ไม่กี่คัน ผู้บังคับกองพัน ต้องขอให้ข้าหลวงประจำจังหวัด เกณฑ์รถเอกชนมาช่วยเป็นการด่วน สภาพถนนก็ย่ำแย่การเคลื่อนกำลังจึงขลุกขลัก แต่ก็สามารถปรับตัวรับเหตุวิกฤตได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ ไม่ใช่อย่างที่มาพูดกันในตอนหลังนี้ว่า พอญี่ปุ่นบุกฝ่ายไทยได้แต่คว้าผ้าขาวม้าพันกายร้องไอ้เสือเอาวาออกไปลุย ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อข้าศึกส่วนหนึ่งเข้ามายึดพื้นที่ใกล้สะพานท่านางสังข์ฝั่งตะวันออก ทางเราดูแล้วว่าเป็นเพียงส่วนย่อยของกองระวังหน้า ขณะที่ยุวชนทหารกับตำรวจวางแนวยิงอยู่ฝั่งตะวันตกของสะพาน จึงต้องให้ทหารกองร้อยที่ ๑ กับทหารกองร้อยที่ ๔ ข้ามสะพานไปยังวัดท่ายางใต้ ซึ่งคาดว่าคงจะขับไล่ข้าศึกออกไปได้ไม่ยาก”

“แล้วข้ามไปได้ไหมครับ?”
“ข้ามไปได้โดยให้ยุวชนทหารและตำรวจรวมแล้วราว ๑๐๐ คนเศษ ๆ คอยยิงสกัดอยู่ทางฝั่งตะวันตกซึ่งไม่ใคร่เห็นตัวข้าศึก ขบวนของทหารกองร้อย ๑ จึงไปยังจุดกำหนดที่วัดท่ายางใต้ แต่ที่วัดท่ายางเหนือข้าศึกระดมยิงมาจากบริเวณวัดท่ายางใต้ ฝ่ายเราจึงลงจากรถเข้าปะทะผลักดันให้ข้าศึกถอยไป จนสามารถเข้าไปยึดพื้นที่วัดท่ายางใต้ไว้ได้

จากนั้นจึงวางแนวต้านทานยับยั้งข้าศึก ที่จะเคลื่อนที่มาตามถนนสายบ้านปากน้ำชุมพร-ท่านางสังข์และตัวจังหวัด จุดนี้เป็นที่ที่มีการรบกันยิงกันอย่างรุนแรงที่สุดจนกระทั่งหยุดยิง ตามคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

“มีความประหลาดอยู่ประการหนึ่งคือกองทัพญี่ปุ่นสามารถส่งขึ้นบกได้ตรงตามจุดยุทธศาสตร์ทุกแห่ง แผนยุทธการรัดกุมแนบเนียนอย่างที่ชุมพร กองทัพญี่ปุ่นสามารถตัดข้ามไปกระบุรี ระนอง จู่โจมอังกฤษในพม่าได้ทันที ตอนนั้นถ้าอังกฤษมีใจจะส่งกำลังมาช่วยไทย ก็พอจะยันญี่ปุ่นไว้ได้...

“แต่นายทหารที่ร่วมในการสู้รบครั้งนั้นเล่าว่า ระดับหน่วยย่อยของซามูไรไม่มียุทธวิธีเฉียบแหลมอะไรเลย ไม่มีการจัดขบวนยุทธ์ที่มีส่วนป้องกันปีก ไม่มีส่วนระวังหน้า ขึ้นบกได้ก็เดินดุ่ย ๆ เป็นกลุ่มเข้าหาถนนเป็นหลัก จึงถูกฝ่ายไทยเรายิงเอาตลอดแนว เรากราดด้วยปืนกลร่วงเป็นใบไม้

ญี่ปุ่นแก้โดยทุ่มกำลังพลโถมเข้าอัดลูกเดียว เหมือนชีวิตพลทหารไม่มีค่า หรือไม่ก็เชื่อมั่นในลัทธิบูชิโด ว่าตายในสนามรบ อีกเจ็ดวันก็จะกลับมาเกิดใหม่ หรือการตายถวายชีวิตแก่พระจักรพรรดิถือเป็นเกียรติอันสูงสุด ส่วนผู้บังคับบัญชากองพันทหารญี่ปุ่นอาจคิดว่า

“ทุ่มกำลังเข้าไปเถอะ ทุ่มไปเยอะ ๆ เดี๋ยวไทยก็หมดแรงไปเองแหละอย่างนี้ก็ได้”

“เอ๊ะ! ความคิดแบบนี้ผมรู้สึกคุ้น ๆ” นายสมานพูด



“ที่ภาคใต้บ้านเราใช่ไหมล่ะ” คุณตาเกื้อบุญยิ้มและพูดต่อไปว่า “ปัจจุบันที่มันไม่ยอมสงบลงได้ก็เพราะเขาสอนคนของเขาแบบนี้ ตอนแรกสอนว่ายิงไม่เข้า ยิงไม่ถูก ฝ่ายทหารมองไม่เห็นพอมีตายเข้าก็สอนใหม่ว่า ตายเพื่อพิทักษ์ศาสนา ตายเพื่อพระเป็นเจ้า จะได้ขึ้นสวรรค์ จะได้เกิดมาใหม่ที่ดีกว่า รวยกว่า มีความสุขมากกว่าเดิมอะไรประมาณนี้

เด็กเขาก็เชื่อ เมื่อเชื่อก็ยอมตายได้ทุกเมื่อไม่มีใครกลัวตาย แบบนี้เราสู้รบกับเขายากนะ เพราะฝ่ายเราไม่ได้เชื่อแบบนั้น” ทั้งสองคนเลยพลอยพากันออกนอกเรื่อง




“ขอเข้าเรื่องต่อนะตอนนั้นร้อยเอกถวิล นิยมเสน (หลังเสียชีวิตได้รับยศเป็นพันโท) ท่านเพิ่งย้ายมารับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารจังหวัดชุมพรได้ไม่กี่เดือน พอสั่งทหารและยุวชนทหารระดมยิงเปิดสะพาน เพื่อให้ทหารกองร้อยที่ ๔ ปืนกลหนักผ่านไปได้

ท่านลุกขึ้นชูปืนพก ๙ มม.เหนือศีรษะออกคำสั่ง “ยุวชนทหาร-ตามข้าพเจ้า” สิ้นเสียงก็ออกวิ่งนำหมู่ข้ามสะพาน พอพ้นก็พุ่งตัวลงกำบังไหล่ถนนทางด้านเหนือ วางแนวอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีจุดตั้งยิงที่ได้เปรียบ หน่วยปืนกลเบาไปตั้งอยู่ในจุดบอดอีก”

“ร้อยเอกถวิลใจร้อนโผล่ขึ้นมาตรวจพื้นที่และมองหาทางข้ามถนนไปทางฝั่งใต้เพื่อเข้าทำลายปืนกลญี่ปุ่นซึ่ง ๆ หน้า ครั้งนี้ร้อยเอกถวิลคงจะเผลอตัว ชะเง้อสูงเกินไปข้าศึกระดมยิงเข้ามา กระสุนเจาะเข้าที่คอเสียชีวิตทันที จากนี้ยุวชนทหารจึงยึดแนวถนนยิงต่อสู้กับข้าศึกอย่างถวายหัว มีนายสิบผู้บังคับหมู่ร่วมอยู่ด้วยอีกหนึ่งนายกับตำรวจสี่ห้านาย ตำรวจที่ข้ามไปก่อนพร้อมกับรถบรรทุกทหารของกองร้อยที่ ๑ ปืนกลเบา ก็มีบาดเจ็บและเสียชีวิต


“ปืนกลเบากระบอกที่ยุวชนทหารนำข้ามสะพานไป ก็เกิดขาตั้งชำรุดใช้ตั้งยิงไม่ได้ยุวชนทหารนายหนึ่งจึงใช้หลังหนุนแทนขาตั้งกระบอกปืน ทำให้ปืนกลกระบอกนี้ใช้ยิงต่อสู้ศัตรูอยู่ได้จนมีคำสั่งหยุดยิงเมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกาตรง”



“อย่างไรก็ตาม การสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่ วัดท่ายางใต้ นอกจากตำรวจ - ทหารเรายังมีเด็กยุวชนทหาร ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนศรียาภัย เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่ทั้งหลาย การสร้างอนุสาวรีย์ จึงสร้างเป็นรูปยุวชนทหาร เพื่อเน้นให้เห็นวีรกรรมของเด็กนักเรียนสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร

“ปฏิบัติการของหมู่ปืนกลที่ท่านางสังข์ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เขียนบทสดุดีวีรกรรมออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอยู่หลายวัน ท่านให้สมญานามยุวชนคนกล้าศรียาภัยว่า “ลูกฐานปืนกล”



“ต่อมาภายหลังทางญี่ปุ่นรู้ว่า สงครามที่สะพานท่านางสังข์ เขาสู้รบกับเด็กนักเรียนมัธยม กองทัพญี่ปุ่นละอายมาก มีหนังสือมาแสดงความเสียใจ และสรรเสริญในความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของเด็กชุมพรอย่างเป็นทางการมายังกระทรวงกลาโหม

เหตุการณ์รบจริงที่คลองท่านางสังข์ครั้งนั้น ชี้ว่าเด็กนักเรียนโรงเรียนศรียาภัย ชั้นมัธยมปีที่ ๔, ๕ และ ๖ ซึ่งเท่ากับชั้น มัธยมปีที่ ๑ ม. ๒ และ ๓ ในตอนนี้ ซึ่งอยู่ในยุคที่ยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ ยังไม่รู้จักเกมส์คอมพิวเตอร์ ยังไม่รู้จักโทรศัพท์มือถือ ไม่มีศูนย์การค้า ยาอี และคาราโอเกะ สามารถช่วยชาติบ้านเมืองได้อย่างน่าชื่นชม”

ทุกคนฟังแล้วถอนใจและต่างนิ่งกันไปชั่วครู่ คุณตาเกื้อบุญจึงพูดขึ้นว่า
“เราไปที่อื่นกันต่อเถอะ”

สระยายชีและตาเถร

ระหว่างนั่งรถกลับมาบ้านหาดพันไกร คุณตาเกื้อบุญถามโสภีและสีมาว่า
“หนูเคยได้ยินตาเล่าเรื่องสระยายชีและตาเถร แต่นานแล้วอยากฟังอีกค่ะ” สีมาพูด

“สระทั้งสองนี้ยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน สระยายชี อยู่ที่วัดปากสระ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว เป็นบึงน้ำที่กว้างใหญ่มีพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ น้ำลึกมีศาลาอยู่กลางน้ำ มีต้นปะกง และพืชน้ำอื่น ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนสระตาเถรที่อยู่ทางด้านเหนือ น้ำตื้นมีพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ มีต้นเสม็ดขึ้นปกคลุม”
“สระตาเถรเล็กกว่าสระยายชี” โสภีรำพึง




“ใช่แล้วลูก เรื่องเล่ามีว่ามีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งมีฐานะมั่งมีแต่หัวแข็ง วันหนึ่ง ๆ ถ้าไม่ได้พนันอะไรกัน หรือไม่ได้โต้เถียงกันแล้วแทบจะนอนไม่หลับ วันหนึ่งฝ่ายสามีพูดว่า อยู่กันมานานแต่หามีบุตรไม่ เราควรออกถือบวชเป็นชีปะขาวจะดีหรือไม่ ภรรยาก็ตอบตกลง และท้าพนันว่าใครจะอยู่ในผ้าขาวได้นานกว่ากัน ทั้งสองจึงพากันไปออกบวชเป็นตาเถรกับยายชี




วันหนึ่งยายชีไปหาตาเถร ท้าพนันว่าให้มาขุดสระแข่งกัน ใครขุดได้กว้างใหญ่กว่าเป็นฝ่ายชนะ ตาเถรก็ตอบตกลงรับคำท้า ทั้งสองขุดสระกันไปจนแก่เฒ่า จึงนำมาเปรียบเทียบกัน เมื่อรู้แพ้ชนะกันแล้วต่างก็เอาทรัพย์สมบัติฝังไว้ใต้ก้นสระทั้งคู่ เรื่องก็จบเท่านี้”
“สรุปว่าตาเถรแพ้ยายชี” นายสมานพูด

บ้านทุ่งวัวแล่น

“เอาอีกเรื่อง คราวนี้ขอเรื่องบ้านทุ่งวัวแล่นค่ะ” โสภีพูด
“บ้านทุ่งวัวแล่นตอนนี้ชายหาดกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีร้านอาหารและรีสอร์ทเต็มไปหมด แต่ในสมัยโบราณบ้านทุ่งวัวแล่น เป็นป่าใหญ่ติดชายทะเล มีบ้านคนอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน มีสัตว์ป่าชุกชุม เวลากลางคืน ชาวบ้านต้องคอยระวังสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย เพราะมีเสือเข้ามาคาบไปกินเสมอ



“มีเรื่องเล่าว่า กิตติศัพท์ความชุกชุมของสัตว์ป่า ในป่าบริเวณบ้านทุ่งวัวแล่น ทำให้มีพรานจากที่ต่าง ๆ เข้ามาล่าสัตว์อยู่เสมอ แต่ทุกครั้งแม้พรานจะยิงถูกที่สำคัญ แต่สัตว์ที่ถูกยิงก็สามารถหลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย

กระทั่งวันหนึ่งพวกพรานได้ยิงวัวป่าขนาดใหญ่ล้มลง แต่ลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้
พรานเหล่านั้นจึงติดตามรอยเลือดไป และล้อมยิงจนวัวป่าตาย จากนั้นได้ช่วยกันถลกหนังได้ครึ่งตัว พรานคนหนึ่งจึงพูดสบประมาทวัวที่ตายขึ้นว่า
“ไหนว่าอาถรรพณ์ศักดิ์สิทธิ์นัก แน่จริงลุกขึ้นวิ่งอีกซี”



ปรากฏว่า วัวป่าตัวนั้นก็ลุกขึ้นวิ่งหายเข้าไปในป่า พวกพรานพยายามตามหาเท่าใดก็ไม่พบ จึงนำเรื่องมาเล่าต่อ ๆ กันมาและบริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่นในปัจจุบันจึงได้ชื่อว่า หาดทุ่งวัวแล่น”


บ้านสะพลี

“เป็นไง ไม่น่าเชื่อใช่ไหม แต่ยังไงก็ช่างเถอะ จริงไม่จริงเราพิสูจน์ไม่ได้ เอาเป็นว่านิทานหรือตำนานมีไว้เล่ากันเล่นก็เพลินดี แต่ที่สำคัญคือทำให้เรารู้ว่าสถานที่นั้น ๆ ที่ชื่ออย่างนั้น มีที่มาอย่างไร นั่นแหละคือข้อดีของนิทานหรือตำนาน”



“อยากฟังเรื่องอะไรต่อดีนะ” สีมารำพึง “อ้อ นึกออกแล้ว บ้านสะพลีไง อยู่ใกล้ ๆ บ้านทุ่งวัวแล่น”

“บ้านสะพลีเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะทิว ก็เขตเดียวกับบ้านทุ่งวัวแล่นนั่นแหละ คือว่าบริเวณนี้เป็นป่าที่รกทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุมและไม่ผู้คนอยู่อาศัย ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้กรีฑาทัพมาตีหัวเมืองทางใต้ ได้เดินทัพผ่านพื้นที่นี้เป็นเวลาค่ำพอดี จึงให้ทหารปลูกที่ประทับ เพื่อพักการเดินทางชั่วคราวเป็นตำหนักย่อม ๆ ริมคลองน้ำเล็ก ๆ สายหนึ่ง และให้ออกล่าสัตว์มาเป็นอาหาร”

“ทหารออกไปล่าสัตว์ห่างจากตำหนักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเขตป่าทึบภูเขาดินสอและภูเขาอื่น ๆ ติดกันเป็นพืดตามแนวยาวเดียวกัน แต่ไม่ได้สัตว์แม้แต่ตัวเดียว ก่อนกลับมีทหารคนหนึ่งยิงเนื้อทรายล้มลง ก็พากันวิ่งไปยังเนื้อทรายนั้น แต่เนื้อทรายตัวนั้นกลับลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้ เหมือนวัวอีกนั่นแหละ และเมื่อตามไปยิงซ้ำจนล้มลงอีก พอวิ่งเข้าไปจับเนื้อทราย เนื้อทรายก็ลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้อีก เป็นอยู่เช่นนี้หลายครั้ง


ในที่สุดทหารผู้หนึ่ง ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับทิศทางของป่า ชวนทหารทั้งหมดตามไปในทิศทางที่เนื้อทรายวิ่งหนี จนพบสระน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้ทำพิธีพลีกรรมสระน้ำตามธรรมเนียม การล่าสัตว์โบราณ จนถึงบ่ายวันรุ่งขึ้น พวกล่าสัตว์ก็เดินทางมาที่สระน้ำนี้อีก และทำพิธีพลีกรรมสระน้ำ คือการทำศาลเล็ก ๆ ขึ้น แล้ววางเครื่องเซ่น เรียกว่าการทำพลีกรรม ขอสัตว์ป่าจากเจ้าป่าเจ้าเขา เป็นความเชื่อของคนโบราณ

แต่ถึงทุกวันนี้พวกพรานอาชีพก็ยังทำพิธีนี้กันอยู่ ก่อนการออกล่าสัตว์ หลังจากนั้นก็ปรากฎว่าล่าเนื้อได้มากมาย

ข่าวการล่าสัตว์ดังกล่าวได้แพร่กระจายออกไป จนทำให้นักล่าสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมาหาเนื้อครั้งใดในพื้นที่นี้ จะต้องขึ้นไปบนภูเขาดินสอ แล้วทำพิธีพลีสระน้ำนี้ก่อนทุกครั้ง จึงจะได้สัตว์

สระพลีนี้ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น สะพลี ตรงตามชื่อตำบล



บ้านเขาบางผรา

ค่ำคืนนั้น หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จ โสภีไม่สนใจเปิดโทรทัศน์ดูข่าวอย่างที่เคยแต่รีบเอาหนังสือนิทานพื้นบ้านจังหวัดชุมพรออกมาอ่านอย่างสนใจ เรื่องแรกที่เธออ่านคือตำนาน “บ้านเขาบางผรา” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า



หลายร้อยปีมาแล้ว หมู่บ้านบางผรา เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อย มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ สายหนึ่งไหลผ่านไปบรรจบแม่น้ำชุมพร แม่น้ำสายนี้ตื้นและแคบ ชาวบ้านเรียกว่า บาง มีลักษณะคล้ายลำธาร ในบางมีปลาชุกชุมมาก เมื่อชาวบ้านจับปลาได้ก็นำไปย่างหรือหมักเกลือไว้ตากแห้ง

ทุกบ้านจึงทำผราสำหรับย่างปลา หรือตากปลาเค็มกันแทบทุกบ้าน หมู่บ้านนี้จึงเรียกว่าบ้านบางผรา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ดอนตาเถรและดอนยายชี
ดอนตาเถร เป็นควนหรือเขาเล็ก ๆ อยู่หลังที่ว่าการอำเภอปะทิว ในปัจจุบัน ส่วนดอนยายชี อยู่ห่างจากดอนตาเถร ประมาณ ๒๐๐ เมตร มีเรื่องเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่มีบุตร ทั้งที่มีใจบุญสุนทาน จึงได้ทำพิธีบวงสรวงขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ได้ผล ต่างฝ่ายต่างโทษกัน จึงหย่ากันแล้วออกบวช



ฝ่ายชายไปอยู่ที่ดอนตาเถร ฝ่ายหญิงไปอยู่ที่ดอนยายชี แต่ยังมีทิฐิไม่ยอมแพ้กัน จึงได้สร้างวัดแข่งกัน แต่สร้างไม่เสร็จถึงแก่กรรมก่อนทั้งคู่ ชาวบ้านจึงเรียกเนินทั้งสองด้วยชื่อดังกล่าว

บางตำนานกล่าวว่า ในสมัยที่สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้แจ้งให้หัวเมืองสิบสองนักษัตร และประชาชนทั่วไปให้ทราบเพื่อช่วยกันสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ข่าวนี้แพร่ไปถึงกรุงศรีอยุธยา



มีสองผัวเมียผู้ใจบุญ ได้รวบรวมทรัพย์สินสิ่งของลงเรือสำเภา พร้อมบ่าวไพร่ไปเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดินทางมาถึงเมืองปะทิว ได้ทราบว่าการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร ฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองผัวเมียเสียใจจึงได้ออกบวชทั้งสองคน และเอาทรัพย์สินสิ่งของที่นำมาไปสร้างเจดีย์ที่ยอดเขาแห่งหนึ่งคือ เขาเจดีย์ ปัจจุบันมีวัดตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เรียกว่า วัดเขาเจดีย์


เมื่อสร้างพระเจดีย์ที่วัดเสร็จแล้ว ทั้งสองผัวเมียได้แยกย้ายกันไปพำนักที่ดอนตาเถรและดอนยายชี จนถึงแก่กรรมชาวบ้านจึงเรียกบริเวณทั้งสองว่า ดอนตาเถร และดอนยายชี





 

Create Date : 13 มกราคม 2554
34 comments
Last Update : 13 มกราคม 2554 15:38:29 น.
Counter : 43226 Pageviews.

 

สวัสดีคะ อ่านถึงตอนสะพานท่านางสังข์ เดี๋ยวคืนนี้จะกลับมาอ่านใหม่พักนี้อู้งานไม่ค่อยได้ ทักทายตอนบ่ายแก่ๆๆคะอาจารย์

 

โดย: seton 13 มกราคม 2554 15:51:55 น.  

 

สีม่วงของอาจารย์เนี่ย สวยจริงๆค่ะ ม้วง ม่วง

ตำนานเยอะจริงๆ ช่างค้นนะคะ

ไปชุมพรเที่ยวที่ผ่านมา นักล่าฯก็ไปอยู่แถวสะพลีด้วย ยังนึกว่า ชื่อแปลกดีจริง

เด๋วมาอ่านบล็อกนี้ละเอียดอีกครั้งนะคะ

ตอนนี้ตื่นเต้นกะที่ลุงบอกว่า ได้โทรไปบอกอาจารย์วัธนา

ถ้าแกมาจริงๆ จะเป็นเกียรติกะบล้อกมากเลยค่ะ

โห...คอเดียวกันด้วยเหรอคะ

กรี๊ดดดดดดดดดดด ยิ่งปลื้มเลย....

 

โดย: นักล่าน้ำตก 13 มกราคม 2554 16:27:34 น.  

 

สวัสดีครับคุณลุงบูลย์

ตำนานเมืองชุมพร ตอนแรกอ่านจบแล้ว ตอนนี้เรื่องยาว
จะค่อยๆทยอยอ่านครับ

ภาพวาดแต่ละภาพให้ความรู้สึกคนละอารมณ์กับฝีมือคุณลุงบูลย์
ภาพของอาจารย์กิตติพงศ์วาดเส้นสายแทบไม่ได้ยกปากกา
เชื่อมั่นในสายตา มีความแม่นยำและเชื่อมั่นตามประสาคนหนุ่ม
ส่วนภาพของคุณลุงบูลย์จะมีความเป็นคนชนบทมากกว่า ผู้คนใน
ภาพบ่มเพาะมาจากท้องไร่ท้องนาจริงๆ

 

โดย: Insignia_Museum 13 มกราคม 2554 20:04:16 น.  

 

อ.วัธนามาแล้ว

ขอบคุณลุงมากค่ะ ดีใจสุดๆ

 

โดย: นักล่าน้ำตก 13 มกราคม 2554 22:51:53 น.  

 



สวัสดียามสายครับคุณลุง
อ่านเรื่องราวแล้ว มีครับทุกรสครับคุณลุง

 

โดย: panwat 14 มกราคม 2554 9:11:32 น.  

 

ทักทายช่วงสาย งานของอาจารย์กิตติพงศ์สวยทุกรูปเลยนะคะ
ตำนานเมืองชุมพร มีเยอะจังเลย

 

โดย: seton 14 มกราคม 2554 9:19:51 น.  

 

มาลงชื่อไว้ก่อนครับ ยามเย็นไปเที่ยวหาดกมลา มีงานเปิดหาดเย็นนี้ ดูเหมือนลุงบอกมีลูกชายอยู่กมลาหรือกะตะครับ เผื่อมีโอกาสได้รู้จักในวันต่อๆไป

 

โดย: ปลายแป้นพิมพ์ 14 มกราคม 2554 14:32:32 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

สวัสดีค่ะคุณลุง

 

โดย: หญิงแก่น 14 มกราคม 2554 15:22:37 น.  

 

คุณลุงค่ะเป็นเพลงประกอบละคร เรื่องเธอกับเขาและรักของเราค่ะ แต่เล็กไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเพจวิวมันคือจำนวนครั้งของผู้เข้าชมบล็อกของเราเหรอค่ะ

 

โดย: หญิงแก่น 14 มกราคม 2554 16:48:41 น.  

 

เห็นภาพยุวชนทหารแล้วอดนึกแปร๊บบบบไปถึงจิ๋วแรนเจอร์ไม่ได้

ที่เข้าไปคุ้มกันนายกฯตอนวันเด็กน่ะค่ะ ฮาดี อุอุ

ลุงหายไปเลย อ.วัธนาให้เกียรติมาบ้านนักล่าฯสองเมนต์แล้ว

ลุงไม่ไปดูเหรอคะ ในฐานะผู้ประสานงาน

 

โดย: นักล่าน้ำตก IP: 58.8.102.224 14 มกราคม 2554 17:06:29 น.  

 

ตอนนี้ไม่รู้จักคำว่า ตะโพน ค่ะเดี๊ยวต้องไปหาข้อมูลก่อน

ตำนานท่านางสังข์ ตำนานนี่จะเป็นเรื่องเล่าที่เศร้ามากค่ะ

ประวัติสระยายชีและตาเถร คล้ายกับดอนตาเถรและดอนยายชี

น่าจะเชื่อถือได้น่ะค่ะเพราะบอกสืบกันมา เล่าคล้ายกัน

เสียดายที่ไม่รู้ว่าทำไมยายชี ชนะ ตาเถร

อ่านไปมาก็สนุกดีน่ะค่ะ แต่ถ้าจะให้จำไปยาวๆ ไม่ได้แน่ๆ

ต้องอาศัยการ์ตูนคุณลุงช่วยจำค่ะ

ขอบคุณมากน่ะค่ะที่มีกลอนให้ blogแนวเนี๊ยะ เป็นข้อเตือนใจด้วย


 

โดย: แนวเนี๊ยะ 14 มกราคม 2554 17:19:03 น.  

 

สวัสดีตอนสายๆค่ะคุณลุง เห็นข้อความที่ฝากไว้แล้วใจหาย เกิดอะไรขึ้นเหรอค่ะ ทำไมคุณลุงต้องอำลาบล็อกแก้ง ด้วยล่ะคะ หรือเพราะงานเยอะขึ้นค่ะ

 

โดย: หญิงแก่น 15 มกราคม 2554 10:24:04 น.  

 

สวัสดีค่ะลุงบูลย์
+===============================+

วันนี้มีเมนู "ดอกอัญชัน" มายั่วน้ำลายค่ะ อะคึ่ ๆ


ข้าวผัดดอกอัญชัน



น้ำชาดอกอัญชัน


ขณะนี้ จขบ.กำลังจิบชาอัญชันอุ่น ๆ หน้าจอคอมฯ
"สีน้ำชา" สวยเหมือนในภาพ ซึ่งจะมีกลิ่นอ่อนๆ ดอกอัญชัน
หอมกรุ่นตามธรรมชาติ ได้บรรยากาศแบบไทยลูกทุ่งเชียวค่ะ

 

โดย: สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น 15 มกราคม 2554 10:57:11 น.  

 

จะอำลาบล็อกแก็งแล้วจะย้ายไปอยู่ที่ไหนบอกหนูด้วยนะคะ
พอจะบอกได้ไหมว่าสัจธรรมบางประการที่ค้นพบ คืออะไร
เผื่อหนูจะได้บรรลุสัจธรรมบาง ห้ามทิ้งกันเด็ดขาดขอร้อง

 

โดย: seton 15 มกราคม 2554 11:21:16 น.  

 

อ่านแล้วเพลินดีจังคะ หนูดีรายงานตัว ขอเป็นแฟนบล็อกอีคนนะคะ

 

โดย: หนูดี0127 15 มกราคม 2554 13:53:35 น.  

 

ขอบคุณที่ยังบอกที่อยู่ใหม่ให้น่ะค่ะ...


เข้าไปแวะชม saveหน้าweb แล้วค่ะ

รู้สึกว่าหนูจะเข้าไปอ่านได้ แต่จะเม้นท์ไม่ได้เหมือนอย่างที่นี่ค่ะ


จะตามไปทำบล๊อกก็ไม่ได้...ไม่มีความสามารถทางปราชญ์กับเค้า

blogงานฝีมือ ก็จะพอลงทีนี่ได้ค่ะ...

หนูว่างานคุณลุงคนอ่านเยอะ เพียงแต่เค้าไม่เม้นท์ค่ะ..


หนูเลยยังไม่มีโอกาสเห็นภาพของลูกชายคุณลุงบูลย์เลยค่ะ

ต้องตามไปอ่านบล็อกเนชั่นน่ะค่ะ ที่นั้นก็อ่านง่ายค่ะ

 

โดย: แนวเนี๊ยะ 15 มกราคม 2554 14:25:29 น.  

 

เป็นอะไรอ่าคะลุง ?

 

โดย: นักล่าน้ำตก 15 มกราคม 2554 17:54:08 น.  

 

good morning ka.

 

โดย: TheShockTime 15 มกราคม 2554 17:57:47 น.  

 



สวัสดีค่ะคุณครูลุงบูลย์
+=========================+

ตั้งใจมาแสดงความเคารพเนื่องด้วย "วันครูแห่งชาติ"
แม้ว่าจะไม่เป็นศิษย์ในสถานศึกษา
หากสาวบ้านนอก ขอเป็นลูก(หลาน)ศิษย์ของลุงบูลย์
นับตั้งแต่วันที่ได้รู้จักกันในบล๊อกแก๊งค่ะ

ด้วยความเคารพรัก

บทเพลง "พระคุณที่สาม" มอบแด่คุณครูทุกท่านค่ะ

 

โดย: ลูก(หลาน)ศิษย์ (สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น ) 16 มกราคม 2554 8:42:38 น.  

 



แวะมากราบสวัสดีคุณครูอีกคนที่เล็กได้รู้จักในบล็อกแก้งที่เปี่ยมล้นด้วยวิชาความรู้ค่ะคุณลุงบูลย์ ขอให้คุณลุงอายุมั่นขวัญยืน สุขภาพแข็งแรง มีผลงานนำเสนอให้เด็กๆรุ่นหลานๆได้ชื่นชมผลงานไปนานแสนนานนะคะ

 

โดย: หญิงแก่น 16 มกราคม 2554 11:14:31 น.  

 

สวัสดีครับลุงบูลย์ ปูชนียบุคคลผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความรู้ความสามารถ

วันนี้วันครู ผมขออวยพรให้อดีตครูผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ประสพแต่ความสุขความเจริญ สุขภาพแข็งแรงตลอดปีและตลอดไป เงินทองไหลมาเทมา มีผลงานทั้งเก่าและใหม่ตีพิมพ์เยอะๆนะครับ

ลุงบอกว่าจะโบกมือลาบล็อกแก็งค์ ด้วยเหตุผลอันใดหรือครับ หรือลุงเหนื่อย ผมเข้าใจนะ เพราะผมเองยังเหนื่อย แต่ก็แบ่งเวลาให้ลงตัว ทำงานด้วย เล่นบล็อกด้วย เหนื่อยก็พักผ่อน นอนหลับ พักสายตา

ลุงนำผลงานมาลง คนมาดูมาอ่านเยอะหรือไม่ ผมว่าอย่าไปกังวลเลย อย่างผมคิดเสมอว่าอยากนำลง ใครจะมาดูหรือไม่ก็ช่าง อยากฝากฝังงานที่เราชอบไว้ในนี้ ดีกว่าเก็บไว้กับตัวเรา รู้เห็นเพียงคนเดียว ไม่มีประโยชน์ ผมคิดเท่านี้จริงๆ ยังมีงานอีกมากมายพร้อมที่จะออกมา มอบคืนให้กับสังคม เพราะถ้าเราไม่อยู่ในโลกใบนี้แล้ว อย่างน้อยๆสิ่งที่เหลือไว้ อาจมีประโยชน์กับอนุชนรุ่นหลังบ้าง ไม่มากก็น้อย

น่า..ลุงนะ ผมคนหนึ่งละที่สนับสนุนให้ลุงอยู่ต่อไป และต่อไป สู้ ๆ

 

โดย: ปลายแป้นพิมพ์ 16 มกราคม 2554 15:00:16 น.  

 

หนูตามมากราบคุณลุงวันครู..ด้วยอีกคนค่ะ.....



คุณปลายแป้นพิมพ์...ความเห็นโดนใจหนูมากค่ะ.(อธิบายไม่เก่งค่ะ)

ทำไมคุณลุงไม่ทิ้งบล๊อกไว้ให้พวกเราได้ศึกษาดูล่ะคะ
นานๆ เข้ามาแวะคุยด้วยก็ได้นี่ค่ะ....


งานแบบคุณลุง....ก็หาดูได้น้อยน่ะค่ะ....


คุณลุง...ไปอยู่อีกที่...(เป็นสำนักงานใหญ่ไป)


ส่วนที่blog(สาขาย่อย) ก็ให้เด็กๆแฟนคลับในblogดูแลแทนน่ะค่ะ แนวเนีียะจะตามมาดูแลเป็นเพื่อนด้วยค่ะ

 

โดย: แนวเนี๊ยะ 16 มกราคม 2554 15:31:18 น.  

 

พี่ตฤณพูดถูกค่ะคุณลุง "ของปลอมสีย้อมทา" ความจริงก็คือความจริง ดีจริงย่อมดีแท้ ของแท้ย่อมแน่จริง อยากให้คุณลุงยังคงอยู่และอวดผลงานทิ้งไว้ในบล็อกนี้นานๆอัพทีก็ได้ค่ะไม่อยากให้จากไปไหน นะคะ...

 

โดย: หญิงแก่น 16 มกราคม 2554 16:57:03 น.  

 

แว่บมาอ่านเรื่องราวมีความรู้อ่านสนุกครับแถมภาพประกอบสวยๆอีก
เยี่ยมเลยครับคุณลุง ~

 

โดย: ทีแปลง 16 มกราคม 2554 18:33:49 น.  

 



ตามไปบล็อกใหม่รู้สึกว่าไม่เป็นสมาชิกจะเม้นท์ไม่ได้ หรือว่าหนูเม้นท์ไม่เป็นตาลายไปหมด ส่งเมล์ไปหาได้รับหรือเปล่า ทักทายกันหน่อยนะคะ ดูสิใครๆๆก็คิดถึง ไม่อยากให้ไปไหน
_____________วัยรุ่นเขาไม่ใจน้อยหรอกคะ_______________

 

โดย: seton 16 มกราคม 2554 21:24:21 น.  

 



______ กราบอาจารย์เนื่องด้วยวันครู..ด้วยอีกคนค่ะ__________

เหนื่อยนักพักให้พอ
นอนให้เต็มที่ แต่พอตื่นก็ต้องสู้ให้เต็มที่
"ทำงานให้หนัก และพักให้พอ"
ประโยคนี้อาจารย์เคยมอบให้หนูยังเก็บมาอ่านประจำ
หายเหนื่อยแล้ว มาอัฟบล็อกใหม่นะคะ

 

โดย: หนูแอน สีทนสีดีสีไม่เพี้ยน (seton ) 16 มกราคม 2554 21:33:07 น.  

 

ได้ความรู้ดีจัง...
แวะมาเยี่ยมครับ...

 

โดย: ลุงนาฬิกา 16 มกราคม 2554 23:49:07 น.  

 

นั่นๆ เห็นไหม มีคนรักเยอะแยะเลย

เอานะ ไม่ลาจาก ขอเป็น เดือนละบล็อกสองบล็อกก็ยังดี จะได้รู้ว่าลูกๆหลานยังคิดถึงนะลุงนะ

 

โดย: ปลายแป้นพิมพ์ 17 มกราคม 2554 11:15:07 น.  

 

หวัดดีค่ะลุง

เอาของเก่าขึ้นมาอีกครั้ง ก็เลยมาอ่านอีกครั้งค่ะ

 

โดย: นักล่าน้ำตก 28 เมษายน 2554 7:51:49 น.  

 

สนุกมากชอบสุดสุด

 

โดย: พลอย IP: 223.206.2.246 19 สิงหาคม 2554 19:22:45 น.  

 

เสียดายครับ บล็อกไม่ทันใจเลยไปติดเฟซบุ๊คเสียแล้ว
วันนี้นาน ๆ มาเยี่ยมบ้านเก่าที โอ สมาชิกยังอยู่กันดีเหลือเกิน ขอบคุณที่ยังมาเยี่ยมมาหากันครับ

ไม่เดี้ยงไปเสียก่อนอาจจะได้เจอกันอีก

 

โดย: ลุงบูลย์ IP: 118.173.146.153 18 กรกฎาคม 2555 15:05:42 น.  

 

เรื่องสั้นก็สั๊นสั้นอ่านไม่ถึง 1 นาที ก็จบและ
เรื่องยาวก็ย๋าวยาวจัง

 

โดย: ไม่ประสงค์ที่จะออกนาม IP: 110.49.225.11 25 สิงหาคม 2555 15:37:37 น.  

 

เรื่องดี ภาพสวย สุดยอด ขออนุญาตนำไปเผยแพร่แก่นักเรียนนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

 

โดย: ครูไทย IP: 49.48.142.158 24 ตุลาคม 2555 14:02:27 น.  

 

ภาพสวยดีครับ
เนื้อเรื่องอ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็อ่านจนจบ โดยรวมแล้วเข้าใจประมาณ 80-90% :3

 

โดย: sobonut IP: 110.171.230.201 10 สิงหาคม 2561 19:14:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


pantamuang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.