Group Blog
ธันวาคม 2565

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
16 ธันวาคม 2565
อริยะสัจ ๔

พระอริยะสัจ ๔ คือ

ทุกข์ (Sanskrit: Duhkha) คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ ๕

สมุทัย (Sanskrit: Samudaya ) คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

นิโรธ (Sanskrit: Nirodha) คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง

มรรค (Sanskrit: Marga) คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ ๗. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ ๘. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
..ที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ เพราะมรรคจิตจะมีองค์ธรรมทั้ง ๘ อย่างนี้ เกิดขึ้นพร้อมกันในสภาวะธรรมนั้น
..เมื่อมรรคทั้ง ๘ รวมเป็นองค์ธรรมเดียวกัน เรียกว่า มรรคสมังคี เป็นมัคคญาณ เพื่อตัดสังโยชน์

มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 
1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

-------------------------------------------------------------------------

ทำความรู้ชัดถึงการแก้ทุกข์และปัญหาในพระอริยะสัจ ๔ ด้วยตนเองก่อนดังนี้

ขั้นกำหนดรู้ สัจจะญาณ (เวียนรอบที่ ๑ ในอริยะสัจ ๔ ครบ ก่อน)
อาศัยหลักอิทัปปัจยตา แนบอารมณ์ทำความรู้ขัดแยบคาย อนุโลม ปฏิโลม
เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี
สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี
เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

ขั้นกำหนดรู้ กิจจะญาณ (เวียนรอบที่ ๒ ในอริยะสัจ ๔ ครบ ตามมาแล้วปฏิบัติ)
อาศัยการเจริญในอิทธิบาท ๔ ภาวนา
สิ่งใดมีมากไม่ดี ควรลด
สิ่งใดมีแล้วดี ควรทำให้มาก
สิ่งใดมีน้อยไม่ดี ควรเพิ่ม
สิ่งใดมีแล้วไม่ดี ควรละ
สิ่งใดดีมีประโยชน์สุข ควรทำให้เข้าถึง
สิ่งใดไม่ดีีเป็นทุกข์มีโทษ ควรทำให้สิ้นไป

ขั้นกำหนดรู้ กตญาณ (เวียนรอบที่ ๓ ในอริยะสัจ ๔ ครบ ปฏิบัติแล้วทบทวนรู้)
อาศัยทำความรู้เข้าไปในภายในผลลัพธ์ที่ได้ แนบอารมณ์ทำความรู้ขัดแยบคาย อนุโลม ปฏิโลม
หากแนบอารมณ์ทำความรู้ทบทวน หาผลลัพธ์ไม่ได้ แสดงว่ายังทำไม่พอ หรือทำไม่ตรงจุด
หากแนบอารมณ์ทำความรู้ทบทวน แล้วข้องขัด แสดงว่ายังไม่สำเร็จ ยังละไม่หมด ยังทำไม่ถึงที่สุด
หากแนบอารมณ์ทำความรู้ทบทวน แล้วเห็นผลแต่อยู่ไม่นาน แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่บริบูรณ์
หากแนบอารมณ์ทำความรู้ทบทวน แล้วเห็นผลชัด ไม่เสื่อม ไม่ข้องขัด แสดงว่าถึงความบริบูรณ์อันเป็นที่สุดแล้ว


๑. พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้ว่า..ทุกข์ควรกำหนดรู้
.. กำหนดรู้ทุกข์ในตน โดยดูความไม่สบายกายใจ ความอัดอั้น คับแค้นกายใจ โศรกเศร้า ร่ำไร รำพันทั้งหลายเกิดมีที่ตนเป็นไฉน อย่างไร ..สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์นั้นคืออะไร
.. กำหนดรู้เพื่อพิจารณาเห็นชัดซึ่งตัวทุกข์ ไม่ใช่รู้เพียงแค่สภาพองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งของทุกข์ คือ ให้รู้เห็นตัวทุกข์ที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงรู้ว่าโศรกเศร้าเสียใจ คับแค้นกายใจ ทนอยู่ได้ยาก คือ ทุกข์ เพราะนี้เป็นสภาพลักษณะองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่มีทางแปรปรวนเปลี่ยนไปของทุกข์ที่เรารับรู้ได้เท่านั้น ยังไม่ใช่ตัว ตัวทุกข์แท้ คือ ความเห็นเป็นตัวตน อัตตา ความเอาใจเข้ายึดครองตัวตน ความเอาใจเข้ายึดมั่นถืิอมั่น อุปาทานขันธ์ ๕
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงความทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

๒. พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้ว่า..สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ
.. ละสมุทัยในตน โดยเมื่อรู้สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์แล้วให้ทบทวนพิจารณาดูว่า ทำไมมันจึงทำให้เราเป็นทุกข์ได้ สาเหตุที่สิ่งนั้นๆมันทำให้เราเป็นทุกข์ได้เพราะอะไร
..กล่าวคือ เมื่อเห็นตัวทุกข์แล้ว เราจะเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นด้วย แต่เหตุที่รู้นั้นยังไม่ชัดแจ้งสรุปชัดเจนได้ ด้วยเหตุดังนี้จึงให้น้อมพิจารณาไตร่ตรองเงื่อนต้นจาก..เหตุ ..ปัจจัยสืิบต่อ ..ไปสู่ผล และพิจารณาย้อนกลับ..จากผล ..ปัจจัยสืบต่อ ..ไปหาเหตุ ให้รู้ชัดในเหตุที่ทำให้ตัวทุกข์นั้นเกิดมีขึ้น แล้วละที่เหตุนั้น
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

๓. พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้ว่า..นิโรธควรทำให้แจ้ง
.. ทำนิโรธให้แจ้ง โดยความสุขของเราเป็นแบบไหน ความดับไปไม่มีทุกข์ของเราเป็นอย่างไร ความสุขโดยปราศจากทุกข์ของเราเป็นไฉน สุขที่ว่านั้นมันสุขอย่างไร สุขได้ด้วยอะไร อาศัยสิ่งใดทำให้เราไม่มีทุกข์ สิ่งที่เราอาศัยนั้นมันอยู่ยั่งยืนนานไหม ใช้มันดับทุกข์ได้ตลอดไปไหม เป็นสิ่งภายนอกหรือสิ่งภายในกายใจตน สามารถนำมาใช้ได้ทุกเมื่อหรือไม่ แล้วเราสามารถสุขโดยไม่อาศัยสิ่งนั้นมาทำให้สุขได้หรือไม่ ความยั่งยืนแห่งสุขนั้นเป็นอย่างไร เพราะอะไร กำหนดรู้เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์ ทำความดับทุกข์ที่แท้จริงให้ชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่ซื้อผ้าเอาหน้ารอดให้ผ่านๆพ้นๆไป
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

๔. พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้ว่า..มรรคควรเจริญให้มาก
.. ทำมรรคให้มาก โดยก็เมื่อรู้ชัดความสุขในแต่ละอย่างของตนว่าอิงอาศัยอะไร ในสถานะการณ์ สภาพแวดล้อมจิตใจอย่างไร สามารถหาสิ่งที่ทำให้สุขนั้นได้อย่างไร เอาสิ่งที่ดับทุกข์เรานั้นมาใช้ยังไงบ้าง ก็ให้พิจารณาลำดับแนวทางขั้นตอนที่ทำให้เราดับทุกข์นั้นมาเจริญปฏิบัติ ทำให้มากจนแจ้งในเป็นทางที่ถูกต้องดีพร้อม อีกประการเมื่อรู้ถึงความดับทุกข์โดยไม่อิงอาศัยแสวงหาต้องการสิ่งใดภายนอกมาทำให้สุขให้ยากให้ลำบากตนให้สูญเสียทรัพย์สิน เงิน ทอง บริวาร ก็ความดับทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีอะไรเป็นเหตุปัจจัยไปสู่ผล คือ ความดับทุกข์ โดยไม่อาศัยเครื่องล่อใจนั้น ก็ทำเหตุนั้นให้มาก
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงทางเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

-------------------------------------------------------------------------

เมื่อรู้จัก พระอริยะสัจ ๔ ในตนดีแล้ว ก็ให้ฝึกใช้ในทางโลกจนเป็นปัญญาแก่ตนจนเป็นอุปนิสัยของตนดังนี้..

ก. ใช้เพื่อแก้ความทุกข์ของตนเอง ..ยกตัวอย่าง (การกำหนดรู้) นำมาใช้ได้ดังนี้

ทุกข์ของเราเป็นแบบไหน
(ทุกข์ของเราคืออะไร เราพบเจอสิ่งใด เรารับรู้สัมผัสกายใจอย่างไร มีอะไรทำให้เราเร่าร้อน กระวนกระวายกายใจ ทนอยู่ได้ยาก อัดอั้นคับแค้นกายใจ โศกเศร้า ร่ำไร รำพัน ไม่สบายกาย เกิดความไม่สบายใจทั้งหลาย)
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงความทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

สิ่งใดเป็นเหตุแห่งทุกข์ของเรา
(เหตุที่ทำให้เราทุกข์นั้นอยู่นั้นเพราะอะไร ยินดี-ยินร้ายในสิ่งไหน สำคัญมั่นหมายใจไว้ต่อการกระทำนั้นๆจากสิ่งที่สร้างการกระทบนั้นๆไว้อย่างไร)
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

ความดับทุกข์ของเราเป็นอย่างไร
(ความสุขสำเร็จของเราในเรื่องนั้นๆคือสิ่งใด, ก็เมื่อหากเป็นไปตามที่ใจเราต้องการแล้วนั้นความทุกข์นี้จะไม่กำเริบขึ้นอีกหรือไม่ หรือจะยังคงวนเวียนอยู่ไม่รู้จบเพราะสิ่งใด)
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

สิ่งใดเป็นทางดับทุกข์ของเรา
(หนทางที่จะทำให้เราถึงซึ่งความสุขสำเร็จได้นั้นคือสิ่งใด แบบไหน มีทางใดบ้างที่จะให้ถึงสิ่งนั้นได้ หนทางความดับสิ้นซึ่งทุกข์ของเราอย่างถาวรหรือกลับกลอกแปรปรวนน้อยลงไม่กำเริบขึ้นอีกคือสิ่งใด มีอะไรบ้าง ลดสิ่งใด ละสิ่งใด เพิ่มสิ่งใด)
.. ทำความรู้ทั่วพร้อมแนบอารมณ์เข้าถึงทางเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ มีใจน้อมเข้าถึงความดับสิ้นทุกข์ รู้ชัด กิริยา อาการ เพราะสิ่งใดมี..สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้มี..เพราะสิ่งใดไม่มี, เพราะสิ่งใดไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งใดมี

.....................................................

ข. ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือการเรียน การงาน หรืออื่นๆ ..ยกตัวอย่าง รอบ ๓ อาการ ๑๒ นำมาใช้ในทางโลกแบบปุถุชนได้ดังนี้

๑. ปัญหาของเราเป็นแบบไหน กำหนดรู้ปัญหา, รู้ตัวปัญหา, ทบทวนผลว่า..ปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีอยู่ไหม ตัวปัญหายังมีอยู่หรือไม่ ยังมีอยู่มากน้อยเพียงใด ถูกแก้บ้างแล้วหรือยัง หรือผันแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใด

๒. สิ่งใดคือเงื่อนต้นเหตุปัญหาของเราที่ควรละ กำหนดรู้ต้นเหตุของปัญหา, ละเหตุของปัญหา, ทบทวนผลว่า..ต้นเหตุของปัญหาถูกกำจัดไปหมดแล้วหรือยัง ปัจจุบันยังมีต้นเหตุให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ..เราแก้ปัญหาตรงจุดไหม ..โดยเทียบเมื่อละต้นเหตุของปัญหาในข้อนั้นๆแล้ว(ตามทางดับสิ้นปัญหา) ตัวปัญหาเบาบางลงไหม อ่อนกำลังลงไหม องค์ประกอบของตัวปัญหาลดลงเห็นตัวปัญหาชัดเจนขึ้นไหม ความดับสิ้นปัญหาแสดงผลเกิดมีขึ้นหรือไม่

๓. ความดับสิ้นไปของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร กำหนดรู้ความหมดสิ้นไปแห่งปัญหา, ทำความรู้ชัด และทำให้สำเร็จซึ่งความสิ้นไปแห่งปัญหา, ทบทวนผลว่า..ถึงที่สิ้นสุดแห่งปัญหาแล้วหรือยัง ตัวปัญหาเหล่านั้นถูกขจัดสิ้นไปแล้วหรือไม่ ปัจจุบันเราถึงความหมดสิ้นปัญหาแล้วใช่ไหม

๔. สิ่งใดเป็นทางดับสิ้นปัญหาของเรา กำหนดรู้ทางปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งความดับสิ้นไปแห่งปัญหา สิ่งใดหนอที่แก้ปัญหาของเราได้อย่างถาวรยั่งยืน, ปฏิบัติตามทางดับสิ้นปัญหานั้นให้เต็มที่จนบริบูรณ์เสร็จสิ้นกิจหน้าที่อันควรกระทำแล้ว ถึงที่สิ้นสุดของปัญหาทั้งปวง, ทบทวนผลว่า..เราปฏิบัติตามทางแก้ปัญหาเหล่านั้นครบถ้วนบริบูรณ์แล้วหรือไม่ ยังขาดส่วนไหนไปหรือไม่ ทำได้มากน้อยแค่ไหน ..ทางปฏิบัตินั้นถูกต้องจริงหรือไม่ ..โดยเทียบกับเมื่อปฏิบัติแล้ว ต้นเหตุของปัญหาต้องเบาบางลงและหมดไป ในขณะเดียวกันความหมดสิ้นไปของปัญหาต้องชัดเจนขึ้น ความดับสิ้นปัญหาจะต้องแสดงผลให้เห็นรับรู้ชัดเจนมากขึ้น

หมายเหตุ..
๑. สีม่วง คือ รอบที่ ๑ สัจจะญาณ ให้กำหนดรู้ทั้ง ปัญหา ต้นเหตุแห่งปัญหา ความดับสิ้นปัญหา ทางดับสิ้นปัญหา ในรอบที่ ๑ ให้ครอบก่อนองค์ ๔ ก่อน เราก็จะรู้ว่า อะไรคือตัวปัญหา อะไรคือเงื่อนต้นแห่งปัญหา อะไรคือความดับสิ้นปัญหา อะไรคือทางดับสิ้นปัญหา
๒. สีฟ้า คือ รอบที ๒ กิจจะญาณ ให้ทำหลังจากกำหนดรู้ชัดเจนแล้วว่า สิ่งใดคือกองตัวปัญหา สิ่งใดคือกองต้นเหตุแห่งปัญหา สิ่งใดคือกองดับสิ้นปัญหา สิ่งใดคือกองทางดับสิ้นปัญหา เมื่อรู้ดังนี้แล้วทำความกำหนดรู้กิจ คือ หน้าที่ที่ควรทำกับสิ่งเหล่านั้นในแต่ละกอง ก็จะรู้ว่า ปัญหาควรกำหนดรู้ เหตุแห่งปัญหาควรละ ทางดับสิ้นปัญหาควรทำให้เกิดมีขึ้นจนเต็มบริบูรณ์จนถึงที่สุดแห่งปัญหา(ถึงที่สิ้นสุดปัญหาทั้งปวงเหล่านั้นแล้ว)
- จากนั้นให้ลงมือปฏิบัติให้มาก
๓. สีส้มโอรส คือ รอบที่ ๓ กตญาณ เมื่อทำให้มากในรอบที่ ๒ แล้ว เราจะรับรู้ได้ถึงการแสดงผลของความดับวสิ้นปัญหา เมื่อทำได้จนการปฏิบัตินั้นให้ผลแล้ว พึงทำ กตญาณ วนรอบทบทวน ปัญญา เหตุแห่งปัญหา ความดับสิ้นปัญหา ทางดับสิ้นปัญหา ให้ครบ เพื่อเกิดความรู้ว่าเราพ้นปัญหานั้นสิ้นแล้วจริงหรือไม่ ถึงที่สุดแห่งปัญหานั้นจริงแล้วหรือยัง




Create Date : 16 ธันวาคม 2565
Last Update : 16 ธันวาคม 2565 0:27:28 น.
Counter : 527 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 1075032
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]