ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี
อยู่กับมาร-อยู่กันด้วยความรัก


วันนี้ขอเขียนถึงหนังสือสามเล่มในสองชื่อค่ะ คือ “อยู่กับมาร” ภาคไทย เขียนโดยพระครูใบฏีกาอำนาจ โอภาโส และ “อยู่กับมาร” ภาคฝรั่ง เขียนโดยอดีตพระในนิกายวัชรยานและมหายาน สตีเฟน แบท์ชเลอร์ (แปลโดยสดใส ขันติวรพงศ์) ส่วนอีกเล่มเป็นหนังสือถอดความจากปาฐกถาธรรมของท่านปัญญานันทภิกขุตั้งแต่ปี 2524 โน้น.. อ่านแล้วรู้สึกอยากเขียนรวมกันด้วยเหตุผลที่ว่าได้รับและอ่านหนังสือสองชื่อนี้ในวาระเดียวกัน และเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ คิดว่าความรักกับมารก็เหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกันได้ค่ะ



ชอบคำว่า “อยู่กันด้วยความรัก” จากหนังสือของท่านปัญญาค่ะ และโดยเฉพาะเป็นหนังสือที่คนรักเลือกให้อ่าน (อะแฮ่ม!) เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ตัวอักษรโต ๆ มีข้อความเนื้อหาสั้น ๆ ถึงความหมายของคำว่าความรัก ตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย ๆ แต่จะอยู่ในใจและปฏิบัติออกมาได้อย่างง่ายหรือไม่นั้นถือเป็นความสามารถเฉพาะตัว (ไม่ห้ามการลอกเลียนแบบ เพราะรู้ว่า การตัดสินด้วยใจจริง ๆ นั้น มักบอกได้เสมอว่า ของแท้หรือของปลอม อิ อิ)

ความรักที่ถูกต้องของท่านปัญญามีพื้นฐานมาจากความรักในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ท่านขยายความว่าเป็นพระอริยสงฆ์ด้วย ไม่ใช่พระสงฆ์ทั่วไปเฉย ๆ) ท่านปัญญาสอนว่าความรักในพระรัตนตรัยนี้เป็นฐานอันมั่นคงของชีวิต เมื่อใจเราอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระธรรม อยู่กับพระอริยสงฆ์ ใจเราก็ไม่ไปอยู่กับผีกับมาร และพื้นฐานนี้จะทำให้เราสามารถรักหน้าที่ รักครอบครัว รักประเทศชาติ “อยู่กันด้วยความรัก อยู่กันด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อกันกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ทุกวันทุกเวลา…เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อการทำลายล้าง แต่เราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกัน สร้างสรรค์กัน ให้มีความสุขความเจริญสมปรารถนา”

ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนขึ้นไปเสมอกันด้วย ศีล ศรัทธา จาคะ และปัญญา เราคงอยู่กันด้วยความรักโดยไม่มีทุกข์นะคะ (เคยฟังพระเทศน์ที่วัดญาณเวศกวันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ธรรมะกลุ่มนี้เป็นองค์ธรรมสำหรับการครองชีวิตคู่ และสำหรับคนโสดก็เป็นธรรมะสำหรับ “เลือกคู่” ด้วย) แต่ถ้าความแตกต่างนั้นมีมาก เราจะอยู่กันด้วยความรักจริง ๆ ได้อย่างไร เพราะการเรียกร้อง คาดหมาย และหวัง มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับความรัก กับคนที่เรารัก หรือกับคนที่รักเรา แถมเป็นความคาดหวังที่ต้องการได้รับการสนองตอบอย่างจริงจังและมากกว่าจากคนอื่น ๆ เสียด้วย

ในความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวย คนเรามักตกแต่งหน้าตารูปลักษณ์และการแสดงออกให้ตนเองออกมาดูดี “ขั้นเทพ” กันทั้งนั้น ไม่เห็นใครอยากแสดงตัวกันเลยว่าแต่ละคนนั้น “มารขั้นเทพ” หรือ “ขั้นเทพแห่งมาร”!? แต่ในความสัมพันธ์ที่จริงจังและลึกซึ้งยาวนาน เราไม่สามารถตกแต่งให้ตนเองดูดีได้ทุกเวลานาที และเมื่อความจริงแสดงตัว ความรักก็มักถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะมีอำนาจเพียงไรให้คนเรายังอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติดีปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องต่อกันได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะคนที่คิดว่า “มารแห่งความรัก” คือสิ่งอื่น คนอื่น

ใครจะคิดว่า มารแท้จริงที่สุดนั้นคือมารที่อยู่ในตัวเราเอง หรือว่าตัวเราเองนั้นแหละคือการแสดงตัวของมาร

ใครจะคิดว่า เรื่องที่จริงและลึกซึ้งที่สุดก็คือ คนเรามักอยู่กับมารมากกว่าอยู่กับความรัก คนที่สามารถจัดการมารได้ คนนั้นจึงจะสามารถจัดการความรักได้อย่างถูกต้องและดีงาม


ถ้ามารแห่งความรักของเราคือตัวเราเอง แล้วความรักจะยังคงอยู่ได้อย่างไร เราจะเลือกกำจัดความรัก หรือกำจัดมาร?

ท่านปัญญาได้เทศน์ไว้ในหนังสือว่า ธรรมะนั้นเป็นกระจก “เหมือนกับคนมีกระจกบานน้อยคอยส่องดูหน้าตนบ่อย ๆ เพื่อดูว่าหน้าของเราเป็นมันหรือเปล่า มีอะไรแปดเปื้อนหรือไม่ วัตถุที่เอาไปโปะไปทาไว้ มันเลือนหายไปอย่างไร ก็จะได้โปะได้ทากันใหม่ อันนี้คือการพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง...”

หนังสือชื่อ “อยู่กับมาร” ทั้งสองเล่มที่เขียนถึงครั้งนี้ เป็นกระจกธรรมะที่ช่วยให้เราส่องเห็นตัวเอง (และคนอื่น) ในมุมที่เราไม่เคยมองหรือไม่เคยคิดถึง (ก็แหม..คนเราชอบเป็น “เทพ” มากกว่าเป็น “มาร” นี่เนอะ) ไม่เพียงหน้าตาเนื้อตัวภายนอก แต่หมายรวมถึงความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณภายใน และทุกสิ่งที่ล้อมรอบเคลื่อนไหวไปมาอยู่รอบตัวเรา

มารขั้นเทพนี่มีจริง และมีรูปแบบมากมายเกินกว่าที่เคยนึกคิดเสียอีก

ในอยู่กับมารภาคไทยนั้น พระครูอำนาจอรรถาธิบายผ่านคำปรารภไว้ว่า มารคือ

“สภาวธรรมที่ขวางกั้นความสุข ความดี หรือขัดขวางมิให้บรรลุผลสำเร็จแห่งความดีงาม หรือปิดบังไม่ให้เห็นความจริงอันประเสริฐ

ความไม่รู้ว่าสิ่งไหนเป็นมาร สิ่งไหนเป็นมิตร และปล่อยให้ศัตรูมาอยู่ในจิตใจ หลงทำตามคำสั่งอย่างเป็นทาส แต่กลับได้รับผลตอบแทนเป็นความเศร้าหมอง หรือกลับทำร้ายในสิ่งที่เรารัก

การรู้จักกับศัตรูที่แอบแฝงเข้าไปในจิตใจ หรือมารที่คอยล้างผลาญความสุขสงบสันติแห่งชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะถูกมารสิงสู่และครอบงำจิตใจจากคุณงามความดี จนกลายเป็นคนร้ายไปโดยไม่รู้ตัว

ความสุขอันดีงามทั้งหลายของจิตใจเราทุกคนไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกปิดปังอยู่ด้วยกลไกของมาร หากมีสติเห็นความหลงผิดแล้วไม่ทำตาม จะไม่ตกเป็นทาสมารอีกต่อไป

ประเภทของมารประกอบด้วย ๑) กิเลสมาร ๒) อภิสังขารมาร ๓) ขันธมาร ๔) เทวปุตตมาร ๕) มัจจุมาร”



ในหน้าโปรยบทของกิเลสมารนั้น มีข้อความว่า “อย่าโอดครวญว่าอุปสรรคปัญหาเป็นมารผจญ มันคือของขวัญอันเสมอภาคที่ทุกคนจะต้องได้รับ สำหรับคนอ่อนแอเท่านั้น ที่แก้ห่อของขวัญนั้นไม่ออก” และลงท้าย (บท) ด้วยว่า “มารเมื่อจะขัดขวางใคร ๆ ก็ย่อมใช้กามคุณนั่นแหละเป็นเครื่องมือ ผู้พ้นจากกามแล้ว ย่อมพ้นอำนาจจากมาร”

เอาละสิ ไม่ติดอยู่ในกามคุณถึงจะไม่เจอกิเลสมาร เจอข้อท้าทายเบื้องต้นต่อชีวิตคนเข้าแล้ว…

มารถัดมาคืออภิสังขารมารซึ่งมาอยู่กับเราในรูปของการหลงคิดปรุงแต่ง มันหลอกให้เราสุขให้เราเศร้า ให้เราปีติ ให้เราทุกข์ และอีกสารพัดความรู้สึกนึกคิดของเรา ด้วยเหตุฉะนี้ มันจึงมีลักษณะเฉพาะตัวมาก ๆ เล่ห์หลอกแพรวพราวตามพื้นฐานชีวิตและสติปัญญาของตัวเจ้าของเลยทีเดียว

อำนาจของมารตัวนี้อยู่ที่ความคิดความหลงและการปรุงแต่ง หน้าตามันจึงประหลาด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลอกให้เจ้าตัวคิดวุ่นวายได้แบบไม่เลือกกาละเทศะ ตามความคิดตัวเองไม่ค่อยทัน

ก็ในเมื่อคิดเองเพ้อเองจะตามทันตัวเองได้อย่างไร จริงไหม
เฮ้อ, พ้นจากกามว่ายากแล้ว พ้นจากความคิดตัวเองนี่ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก …

มารตัวที่สามคือขันธมาร หรือขันธ์ห้า คนที่คุ้นภาษาธรรมก็อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงรูป วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร ส่วนคนที่ไม่คุ้น พระครูอำนาจท่านอธิบายไว้ว่าคือองค์ประกอบขององคาพยพแห่งชีวิตห้ากอง ประกอบด้วยกองแห่งรูปหรือธาตุสี่ประเภท (ที่พื้นฐานเข้าใจทั่วไปว่าคือร่างกายของคนเรา) กองแห่งการรับรู้ (วิญญาณขันธ์) คือการกระทบสัมผัสของร่างกายและใจต่อสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งภาษาพระท่านเรียกว่าผัสสะ วิญญาณคือการรับรู้ผัสสะต่าง ๆ และเมื่อประสาทสัมผัสทั้งหลายเกิดผัสสะก็จะเกิดกองแห่งความรู้สึก (เวทนาขันธ์) จากนั้นก็จะเกิดการจดจำได้ว่าอะไรเป็นอย่างไร (สัญญาขันธ์) ส่วนกองสุดท้ายคือกองแห่งความคิด (สังขารขันธ์) พระท่านให้ความหมายไว้ต่อมาว่าคือ “กระบวนการนำความจำมาวิวัฒน์ดัดแปลง” อภิสังขารมารตัวที่สองคงเป็นกองแห่งความคิดที่เติบโตมาก ๆ จากสังขารขันธ์นี่เอง

เทวปุตตมารเป็นมารตัวที่สี่ เทวปุตตนี้ก็คือ “เทพบุตรสูงสุดในกามาวจรภูมิ” อธิบายอย่างนี้ชวนให้คิดว่าถ้ากามคุณห้า (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เป็นกิเลสมารเบอร์หนึ่งละก้อ มารที่ร้ายกว่าละเอียดประณีตวิจิตรบรรจงกว่าก็คือเทวปุตตมารนี่เอง ความละเอียดประณีตที่ยึดยื้อใจคนให้เผลอเพลินจนจนกลายเป็นความผูกพันที่ละเอียดลึกซึ้งนั้น เป็นมารสำคัญที่ทำให้คนไม่สามารถสลัดหรือสละสภาพที่เป็นอยู่เข้าไปสู่สภาวะดั้งเดิมของจิตได้ (มารตัวนี้เคยได้ยินในความหมายของความสะดวกสบายที่ทำให้คนยึดติดจนไม่ยอมทนลำบากเพื่อฝึกฝนตนเองในทางธรรมด้วยค่ะ)

ผู้เขียนเปรียบเทียบเทวปุตตมารกับการตกหลุมรัก รายละเอียดอยู่ที่คนเราแสวงหาความสุขความดีงามซึ่งเป็นคุณค่าในตัวเราผ่านคนที่เรารัก เพราะสามารถแสดงสิ่งนั้นออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อได้รับการสนองตอบ คนเราก็ยึดติดกับความรู้สึกนั้น หรือนัยหนึ่งคือคุณค่าของตัวเราเอง ซึ่งนับเป็นการยึดติดที่ละเอียดมาก ๆ ส่วนเนื้อหาจะละเอียดประณีตกับจิตคนอ่านแค่ไหนขอเชิญชวนให้ลองอ่านเองค่ะ

มาถึงมารตัวสุดท้ายคือมัจจุมารที่ผู้เขียนกล่าวถึงว่า “ความพลัดพรากเป็นนาทีที่สุกงอมของความรัก ความเคารพ และความซาบซึ้งถึงคุณค่าที่ความว่างแปลงร่างมาอย่างวิจิตร” …นี่คือมัจจุมาร “โอกาสที่ไม่อาจหวนกลับคืนมา” เป็นมารตัวสุดท้าย ที่บอกกับคนเราว่า เมื่อต้องเผชิญหน้า “บางทีมัจจุมารก็ปิดโอกาสแห่งความฝัน ความปรารถนา และปิดโอกาสที่จะทำความดีทั้งมวล”

เมื่อส่องกระจกธรรมะดูมารในตัวเราแล้ว ถือว่าเริ่มรู้จักกับมารแล้วนะคะ
หนังสือเล่มนี้บอกว่า “การเข้าใจ ‘มาร’ คือของขวัญแห่งปัญญา” ค่ะ

และอย่าคิดว่ามารมีเฉพาะกับตัวเรา หรือคนธรรมดา ๆ อย่างเรา เพราะในหนังสือ “อยู่กับมาร” ฉบับที่เขียนโดยการศึกษาสืบค้นพระคัมภีร์ต่าง ๆ นั้น สตีเฟน แบท์ชเลอร์ เขียนเน้นไปถึงมารของพระพุทธเจ้าทั้งก่อนและหลังการตรัสรู้ หนังสือของสตีเฟนเตือนใจว่า มารและการผจญมารเป็นธรรมชาติอย่างยิ่งของชีวิตคนเรา เพราะแม้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สั่งสมบารมีมากมายหลายภพชาติจนตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณก็ยังเจอมารผจญตลอดพระชนม์ชีพ

สตีเฟน แบทช์เลอร์ขยายความเพิ่มเติมการผจญมารของพระพุทธเจ้าในหลายมิติ ซึ่งรวมถึงสังคมและการเมืองด้วย พระไพศาล วิสาโลท่านเขียนคำนำให้หนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งว่า “สตีเฟน แบท์ชเลอร์ เขียนหนังสือเล่มนี้ในท่วงทำนองปรัชญายิ่งกว่าการพรรณนาตามแนวทางศาสนา เพราะมุ่งไปที่ผู้อ่านชาวตะวันตกซึ่งหนักในทางการใช้ความคิดและโน้มเอียงไปในทางโลกียวิสัย (secularism) ตลอดทั้งเล่มจึงเต็มไปด้วยข้อความที่ยั่วยุกระตุกใจ เพื่อท้าทายความคิดที่เคยยึดถือ บางครั้งลีลาการเขียนก็ชวนทะเลาะกับผู้อ่าน ทั้งนี้เพื่อหวังให้เกิดความคิดงอกเงยหรือก้าวไปจากความเชื่อเดิม ๆ….”



ตามอ่านเรื่องชวนทะเลาะ(ทางความคิด) แล้วได้พบว่ามีประเด็นใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดถึง ซึ่งช่วยให้การรับรู้เรื่องราวการต่อสู้กับมารลึกซึ้งขึ้น ซาบซึ้งมากขึ้นกับเรื่องเล่าในรูปแบบต่าง ๆ กันในการผจญมารของพระพุทธเจ้า เห็นความสำคัญของการตีความและการถ่ายทอดมากขึ้น และมีกำลังใจมากขึ้นในการผจญมารในชีวิตของตนเอง…

มารในหนังสือของสตีเฟนไม่เพียงมีเฉพาะในทางพุทธศาสนา แต่ปรากฏอยู่ในพระเยซูคริสต์ อยู่ในคติของศาสนาที่สืบทอดมาจากอับราฮัม อยู่ในข้อเขียนของศานติเทวะ นาคารชุน มิลตัน และปาสกัล รวมทั้งอยู่ในนิยายของคาฟด้า มิลาน กุนเดรา และในบทกวีของโบเดอแลร์ การร้อยเรียงเรื่องมารในลักษณะเช่นนี้ย้ำว่ามารเป็นของสากลของมนุษย์ทุกคนทุกชนชาติ เพราะในทัศนะของสตีเฟน

“ถ้าไม่มีมารคอยขัดขวาง มนุษย์ก็ไม่อาจสร้างหนทาง เพราะหนทางจะเปิดก็ต่อเมื่อชนะอุปสรรคที่ขัดขวางเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ถ้ามารไม่เข้ามาขวาง เราก็ไม่ขวนขวายที่จะออกจากวิกฤตนั้น ถ้าไม่มีกระแสเวียนวนในชีวิต เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องนำทางชีวิต ถ้าเราไม่หงุดหงิดเบื่อหน่าย เราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหมู่คณะ ไม่ต้องร่วมคิดร่วมปฏิบัติ และถ้าไม่มีความขัดแย้งหรือความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างความกลมกลืนหรือหาทางออก”

ทัศนะเช่นนี้ ชาวพุทธคงคุ้นเคยกับข้อความสั้น ๆ ที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด”

มารในหนังสือทั้งสองเล่ม เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายปัญหาอุปสรรคความทุกข์ความยากลำบากในชีวิตคน แม้จะให้น้ำหนักต่างกันขยายความต่างกัน แต่เนื้อหาจากหนังสือทั้งสองเล่มก็ให้ความหมายเดียวกันต่อการรู้จักมารในชีวิตของคนปกติธรรมดา

พระครูอำนาจขยายความละเอียดถึงมารในชีวิตโดยการขยายความด้วยองค์ธรรมต่าง ๆ ในพุทธศาสนา เพื่อเน้นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงมารในวงจรปกติของชีวิตตนเอง ในขณะที่สตีเฟนพาผู้อ่านให้รู้จักมารในบริบทที่กว้าง ให้รายละเอียดของมารในฐานะที่ “มารกับพุทธะเกี่ยวก้อยไปด้วยกัน” ซึ่งไม่เพียงแต่จะขยายความมารของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังตีความมารในรูปของสภาวะแวดล้อม สังคม การเมือง โดยไม่ลืมที่จะเน้นย้ำถึงมารที่อยู่ในตัวของแต่ละคนเองด้วย ผู้เขียนพยายามที่จะบอกว่า การอยู่อย่างรู้เท่าทันมารจะทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้

ในหนังสืออยู่กับมารของพระครูอำนาจมีภาพวาดประกอบงดงามอยู่ตลอดทั้งเล่ม สอดแทรกสลับกับบทกวีเกี่ยวกับมารในรูปแบบต่าง ๆ กัน ถ้าขณะอ่านอยู่ในภาวะที่สามารถดื่มด่ำกับภาพและคำการรับรู้เรื่องมารก็เหมือนค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปในตัว หรือเมื่อต้องการหาคำตอบเฉพาะเจาะจงในบางประเด็นก็สามารถพลิกหาคำตอบรวบรัดกระชับในบางส่วนได้ เช่นความสอดคล้องเรื่องทศบารมีกับการสลัดออกจากอำนาจมาร การถอดรหัสขันธ์ห้ากับการตกหลุมรัก หรือแม้แต่การเรียนรู้เรื่องวัฏฎะ 3 ในพวงดอกไม้ของมาร และกองทัพกิเลสมารที่เป็นการทำงานสอดคล้องกันระหว่างนิวรณ์ 5 อนุสัย 7 และสังโยชน์ 10

สตีเฟนเขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนสารคดีนิพนธ์ผสมกับการคุยแบบชวนคิด เป็นหนังสือที่มีเสน่ห์สำหรับคนที่ชอบเสพความรู้ผสมจินตนาการที่มีฐานความลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตจริง การร้อยเรียงเรื่องมารในต่างทัศนะ ต่างบริบท ทำให้มารดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทุกคน (คนที่มองโลกในแง่ร้ายว่าทำไมชีวิตฉันถึงทุกข์ยากขนาดนี้ก็จะได้รู้สึกว่า เออ, มารผจญหรือการต้องผจญกับมารนี่มันเป็นของสากล เป็นของปกติธรรมด๊าธรรมดานะ)

เหมือนเช่นฉากที่เล่าถึงองคุลีมาลผู้พยายามไล่ฆ่าพระพุทธเจ้า แต่ตามเท่าไรก็ไม่ทันจนต้องร้องตะโกนว่า หยุด หยุด! พระพุทธองค์มีดำรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว ท่านก็จงหยุดเถิด…เราหยุดแล้วตลอดกาล เราหยุดการกระทำการรุนแรงแก่ชีวิต แต่ท่านสิยังไม่หยุด นี่แหละเราจึงพูดว่าเราหยุด แต่ท่านยังไม่หยุด” ผู้เขียนขยายความตรงนี้ไว้ว่า

“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธะกับมาร (หรือตัวแทนของมารเช่นองคุลีมาล) เป็นการนำนามธรรมมานำเสนอเป็นรูปธรรม ในลักษณะของตัวละครที่มีปฏิกิริยาตอบโต้กัน ความตึงเครียดระหว่างสังสารกับนิพพาน ความยึดมั่นถือมั่นกับอิสรภาพ เริ่มที่จะปะทุขึ้นอย่างฉับพลัน การต่อรองระเบิดเป็นชีวิต และพลังชีวิตนี้เองที่ทำให้เรื่องเล่าน่าสนใจกว่าทฤษฎี ตัวละครเหล่านี้สะท้อนชีวิตของเราอย่างที่ทฤษฎีไม่อาจทำได้”

และเหมือนเช่นฉากกระต่ายยืนตาลายอยู่หน้าแสงไฟรถยนต์เมื่อต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ความบีบคั้นไม่แค่ทำให้เราไม่เห็นเป้าหมาย แต่มันจะทำให้เรามึนชาอยู่ภายใน การจะหนีจากเงื้อมมือของมารนั้น ไม่ใช่การกดมันไว้ แต่ต้องเปิดที่ว่าง ให้เราเป็นอิสระที่จะปล่อยวางมันได้ และมันเองก็มีอิสระที่จะหายไป”

สติปัฎฐาน 4 คือทางออกจากอำนาจของมารซึ่งผู้เขียนทั้งสองนำเสนอไว้ เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง การหลุดออกจากบ่วงของมารหรือการรู้เท่าทันมารนั้นคงไม่ง่ายเพียงแค่อ่านหนังสือแล้วเข้าใจ..

แม้มารจะเป็นของสากลแต่ก็เป็นของ “เฉพาะตัว” นะคะ
ถ้าไม่มีการ “ตามรู้” กลไกมารที่เปลี่ยนแปลงไปมาตามผัสสะที่ตัวเรารับเข้าไปอยู่ตลอดเวลาแล้วละก้อ อาจตกอยู่ใต้อำนาจมารโดยไม่รู้ตัวก็ได้

เรา (อีกภาคหนึ่งของมาร) เตือนท่านแล้ว !! อิ อิ




หมายเหตุ
ชื่อหนังสือ1 อยู่กับมาร มีสติอยู่กับความดีและความชั่ว Living with the Devil
ผู้เขียน สตีเฟน แบทช์เลอร์
ผู้แปล สดใส ขันติวรพงศ์
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา
พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2550
ISBN 978-974-88162-5-8
จัดจำหน่ายโดย สายส่งศึกษิต เคล็ดไทย
หนา 232 หน้า ราคา 210 บาท

ชื่อหนังสือ 2 อยู่กับมาร
ผู้เขียน พระครูใบฏีกาอำนาจ โอภาโส (เรื่องและภาพ)
สำนักพิมพ์ อมรินทร์ธรรมะ
พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2553
ISBN 978-616-519-026-8
จัดจำหน่ายโดย อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์
หนา 250 หน้า ราคา 179 บาท

ชื่อหนังสือ 3 อยู่กันด้วยความรัก
ถอดความจากปาฐกถาธรรมของพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
ณ โรงเรียนพุทธรรม วัดชลประทานรังสฤษฎ์ วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2524
จัดพิมพ์โดย กองทุนปัญญานันทธรรม ศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา วัดชลประทานรังสฤษฎ์
หนา 32 หน้า : ราคา - เผยแพร่เป็นธรรมทาน






Create Date : 29 ตุลาคม 2553
Last Update : 29 ตุลาคม 2553 20:39:12 น. 9 comments
Counter : 2447 Pageviews.

 
ชอบจัง แม้มารจะเป็นเรื่องสากล แต่เป็นของเฉพาะตัว
สังเกตดูว่า อายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หน้าที่การงานสูงขึ้นเรื่อยๆ มารที่อยู่กับตัวจะมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายคืนก่อน แถวนี้มีฝนตกหนักตอนกลางคืน สองตายายออกไปนั่งสัมผัสเสียงฝนกัน ..นึกถึงตอนเด็กๆ ที่มีความสุขใจกับเสียงฝนแบบนี้ เดี๋ยวซ่าตรงนั้น เดี๋ยวซู่ตรงนี้ เดี๋ยวแฉ่ตรงโน้น เหมือนออเคสตร้าวงใหญ่ ที่มีธรรมชาติเป็นผู้อำนวยเพลง ..นึกถึงหลายๆคนที่รู้จัก เขาจะมีโอกาสได้พบกับความสุขใจกลางสายฝนแบบนี้ไหมหนอ(มารเกาะแน่น)..ว่าแล้วก็ส่งความรู้สึกดีๆไปตามกระแสคลื่นในอากาศเป็นการใหญ่


โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:13:41:35 น.  

 
สวัสดีค่ะ อย่าลืมไปดูกระดานชนวนที่ทองผาภผุมินะคะ
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: แม่สามข้าว (sinaporn ) วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:20:57:49 น.  

 
ขอบคุณนะคะที่จับใจความหนังสือดีๆ มาให้คนท่องเว็บได้อ่าน เหมือนกับได้ดูหนังตัวอย่าง หรือไม่ก็ได้ฟังการเสวนาวิชาการในหัวข้อที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน

ชอบตรงที่ว่า" การจะหนีจากเงื้อมมือของมารนั้น ไม่ใช่การกดมันไว้ แต่ต้องเปิดที่ว่าง ให้เราเป็นอิสระที่จะปล่อยวางมันได้ และมันเองก็มีอิสระที่จะหายไป ”



โดย: A life IP: 161.200.211.31 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:10:23:24 น.  

 
อยากบอกว่ารับอะไร ๆ ผ่านคลื่นมาจากคุณแมลงได้เสมอค่ะ

คุณแม่สามข้าวคะ กระดานชนวนแถวกรุงเทพฯ มีขายบ้างไหม? คนเราโหยหาอดีตด้วยหลายเหตุผลเนอะ แต่อย่างหนึ่งที่มันเตือนคนก็คือ ทุกคนมีที่มาที่ไป...ฉะนั้น ห้ามหลงเพลินอยู่เฉพาะปัจจุบันและในความสะดวกสบายของเมืองกรุง

และสวัสดีคุณ A Life ค่ะ
ความชอบตรงที่คุณยกคำพูดมานั้นต้องใช้พลังอย่างมากในการมองเห็นนะคะ

คนเรามักไม่รู้หรอกว่า มารตัวไหนมีอิทธิพลที่สุดในการครอบงำตนเองอยู่
ยิ่งคนเก่งมากเท่าไหร่ ฉลาดมากเพียงไร มารมันยิ่งเก่งมากไปกว่า ฉลาดมากไปกว่าเท่านั้น
เพราะมันแสดงออกตามธรรมชาติของเจ้าของน่ะค่ะ

มารกลัวสติที่มากและต่อเนื่องเพียงพอ เพราะ ณ ภาวะตรงนั้น ตาในเราจะค่อย ๆ แยกมารออกจากตัวเราได้เองโดยไม่ต้องคิดค่ะ
คุยกันแบบผู้สนใจบางเรื่องตรงกันนะคะ คำตอบที่แท้จริงของแต่ละคนอยู่ที่แต่ละคนเอง ก็เรื่องอย่างนี้...
มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว


โดย: kangsadal วันที่: 3 พฤศจิกายน 2553 เวลา:7:50:18 น.  

 
จริงด้วยค่ะ ยิ่งฉลาดและเก่งมาก มารยิ่งร้ายกาจ แต่ไม่ได้หมายความว่าฉลาดน้อยแล้วมารมันจะไม่ร้ายนะ ถ้าเราไม่รู้ทัน และมองไม่เห็น..พี่พี คลื่นนั้นแหวกอากาศไปได้ไกลนา แม้จะกายจะดับคลื่นก็ยังส่งไปถึงนา..กายจะมีแต่ถ้าแมลงเกาะแน่น คลื่นไหนๆก็เข้าไม่ถึง เพราะใจปิด เลยสัมผัสไม่ได้


โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:8:17:56 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

แวะมาส่งท้ายปีเก่า ตอนรับปีใหม่ค่ะ
ขอให้มีความสุขมากๆนะคะ


โดย: Dangjarunun วันที่: 31 ธันวาคม 2553 เวลา:10:08:43 น.  

 
พี่พีมาขอบคุณสำหรับกำลังใจ และกุศลของการสวดมนต์ค่ะ
นักเดินทางสองคนกำลังมุ่งมั่นซ่อมรถอยู่ ด้วยความหวังว่าจะได้ใช้เวลาเดินทางชีวิตด้วยกันต่อ ช่วยกันพยุงกันและกัน..
ปีใหม่นี้ขอให้เย็นกาย เย็นใจ สุขภาพแข็งแรง ทำอะไรก็ประสบผลดังตั้งใจนะคะ มีโอกาส มีเวลา เราจะได้นั่งคุยกัน เย็บผ้ากัน ชมสวนกัน กินขนมกัน..สนุกกับวันเวลาอย่างรู้ค่าด้วยกัน


โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:15:17:00 น.  

 
มาชวนไปฟังเพลงเก่า ๆ เพราะ ๆ แต่ลึกซึ้งครับ

เพลงที่ชื่อ "อุษาสวาท"

ดูซิว่า จะมีความหมายลุ่มลึกลึกซึ้งสักแค่ไหน....




ครูสุรัฐ พุกกะเวศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลง "อุษาสวาท"


โดย: ลุงแว่น วันที่: 22 มกราคม 2554 เวลา:15:08:20 น.  

 
มารายงานว่าอ่าน"อยู่กับมาร"จบไปรอบนึงแล้วค่ะ ก้เลยกลับมาอ่านหน้านี้อีกที..คาดว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเยินแน่ค่ะ แน่นอนว่าไม่น่าจะต่ำกว่าห้าครั้ง จะไปตามหาเล่มอื่นอย่างเช่น ปฏิจจสมุปบาท มาอ่านอีกค่ะ อ่านวิธีการอธิบายตรงไปตรงมาของพระท่านนี้แล้ว น่าจะทำให้ชัดเจนอีกมุมหนึ่งค่ะ..ขอบคุณสำหรับการแนะนำหนังสือดีๆค่ะ


โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 3 กรกฎาคม 2554 เวลา:11:33:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
29 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.