ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี
กรรมเก่า กรรมใหม่




หลายวันก่อน เพื่อนกิจกรรมรุ่นน้องผู้กลายมาเป็นเพื่อนสนิททางธรรมมอบหนังสือให้หลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ “ความเข้าใจเรื่องกรรม” ลองอ่านดูรู้สึกว่าช่วยผ่อนภาระทางใจกับ “กรรมเก่า” บางอย่างของตนเองได้ดี

“กรรม”ที่ว่านี้ เป็นกรรมที่ตนเองรู้ว่ากระทำในอดีตที่ผ่านมานานนักหนา และเริ่มสำแดงผลเป็นวิบากหนึ่งของชีวิตในปัจจุบัน อันเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ เข้าใจได้ และยอมรับได้ เพียงแต่ในวิบากนั้นกลับมี “ตัวช่วย” มากมายที่เกิดขึ้นผ่อนหนักให้เป็นเบาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อคิดย้อนกลับไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็พบตัวช่วยที่ว่านี้เสมอ ได้ตระหนักว่า ชีวิตไม่เคยถึงจุดอับ แม้ความทุกข์จะถมทับแค่ไหน เช่นเดียวกับที่พบว่าในยามรุ่งโรจน์เฟื่องฟู ก็จะมีอุปสรรคหรือปัญหาบางอย่างแสดงตัวผลักดันให้ไม่สามารถหลงระเริงกับความสุข ความอยาก ความทะเยอทะยานในใจจนถึงที่สุดทุกคราไป เหล่านี้ทำให้เริ่มสงสัยและครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องกรรม

หนังสือ “ความเข้าใจเรื่องกรรม” ที่เพื่อนให้มานี้ เป็นการถอดคำบรรยายของอ.สุภีร์ ทุมทอง (www.ajsupee.com) อ่านง่าย เข้าใจง่ายและตอบคำถามบางอย่างที่ค้างคาในใจได้ง่าย ๆ อาจเพราะส่วนหนึ่งมีความโน้มเอียงในทางเชื่อเรื่องเหตุปัจจัยและความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงผูกพันกันอย่างสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในโลกนี้อยู่แล้ว และคำบรรยายในหนังสือก็ช่วยทำให้ความเข้าใจบางอย่างกระจ่างขึ้น

ช่วงหนึ่งที่สำคัญก็คือ “ตัวกรรมแท้ ๆ คือเจตนาที่มันเกิดขึ้นเป็นครั้ง ๆ เป็นความจงใจที่พิเศษ ที่ต้องการจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ นี้เรียกว่าตัวกรรม”

“...เหตุเกิดของกรรมคือผัสสะ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรรมนั้นมันไม่ได้มีตัวตนอะไร อิงอาศัยผัสสะจึงเกิดเจตนาขึ้น เราทั้งหลายได้กรรมเก่า อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้คุณภาพกายและคุณภาพใจมาอย่างนี้ ด้วยผลของกรรมเก่าที่เคยทำมา เคยสะสมมาตั้งแต่อดีต… ดังนั้น ตา หู จมูก กายและใจอันเป็นที่ตั้งของความรู้สึกนี้ท่านจึงเรียกว่า กรรมเก่า เมื่อกรรมเก่าทำงานเรียบร้อยแล้ว เกิดความรู้สึกขึ้น ในบางผัสสะเราก็มีเจตนาจะทำบางอย่างกับมัน เจตนาที่จะทำบางอย่างอันนี้แหละเรียกว่า “กรรม” เป็นกรรมใหม่ เจตนานั้นแหละเป็นกรรม”

“…เขาทำดีก็อยากได้รับผลของกรรมดี ก็บ่นว่า โอ้.. เราทำดีนี่ไม่มีใครเห็นเลยนะ เขาก็บ่นไป แต่ตอนทำชั่วเขาไม่ว่านะ ตอนทำชั่วไม่มีใครเห็นน่ะดีแล้ว ตอนทำดีน่ะบ่นทีเดียวหละ แหม.. ทำดีไม่มีคนเห็นเลย เขาว่าอย่างนี้ แต่ความจริงมันไม่แน่ ทำชั่วอาจจะมีคนเห็น หรือไม่มีคนเห็นก็ได้ ทำดีอาจจะมีคนเห็นหรือไม่มีคนเห็นก็ได้เหมือนกัน”

“บางคนไปยึดถือการกระทำว่าเป็นตัวเราก็มี พอคิดดีก็ว่าเราดี พอคิดไม่ดีก็ว่าเราเลว พอทำดีก็ว่าเราดี พอทำเลวก็ว่าเราเลว ยึดการกระทำเป็นตัวเราอีก คนอื่นพูดไม่ดี ก็ว่าไอ้หมอนี่มันเลว เอาคำพูดที่เกิดเป็นครั้ง ๆ เป็นตัวคนอื่นไป แท้ที่จริงแล้ว ความคิดอย่างนี้ ๆ มันเกิดขึ้น จึงเกิดเจตนาอย่างนี้ ๆ จึงเกิดการกระทำอย่างนี้ ๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่ไม่นอน ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดาทั้งหมด จะหาตัวตนในที่ใดที่หนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้”

“พระพุทธเจ้าแสดงสังขารทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย กรรมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต ตัวกรรมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนึ่ง พอเราเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย ก็จะได้เลิกคาดหวังอะไรกับคนอื่น ๆ จะได้หมดปัญหาเรื่องคนนั้นคนนี้ทำไม่ได้ดังใจ และเลิกทำตามความคาดหวังของคนอื่น จะได้มุ่งสู่หนทางเพื่อความพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าได้บอกเอาไว้”

ในหนังสือเล่มนี้ มีการกล่าวถึง “การแก้กรรม” ด้วย วิธีการในการแก้กรรมก็ยกมาจากพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ อ่านแล้วสรุปเป็นคาถา (ให้ตัวเองจำง่าย ๆ ) ว่า สํวรํ

“สํวรํ แปลว่า สำรวมระวัง คือให้มีสติสัมปชัญญะไว้ เดิมเคยทำผิด ก็อย่าไปทำผิดอีก เดิมเคยทำพลาดบ่อย ๆ ก็ให้มันพลาดน้อยลง ๆ จนไม่พลาดอีก เดิมเคยด่าคนอื่นเขา เห็นว่าการด่าคนอื่นนั้นมันไม่ดี ก็อย่าไปด่าอีก แล้วก็สำรวมระวัง ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ คอยป้องกันระวังไว้ นี้ถ้าทำแบบนี้ พระองค์จะรับรองให้ ถ้าทำแบบอื่นพระองค์ไม่รับรอง วิธีอื่นพระองค์ไม่ได้บอกไม่ได้สอน ฉะนั้น เราทั้งหลายถ้าอยากจะแก้กรรม ต้องแก้อย่างนี้”

จากคาถาที่ว่านี้ ถือเป็นพื้นฐานของการล้างกรรม เพราะ
“ถึงเราจะทำกรรมไม่ดีมาเยอะ เพียงแต่หยุดแล้วก็สำรวมระวัง มีสติ มีความรู้ตัว ในการทำ พูด คิด ไม่ทำผิดอีก นี้ก็เป็นการแก้ไขที่ถูกวิธีแล้ว เป็นความเจริญในอริยวินัย หากมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็ยิ่งห่างจากอบายไปเรื่อย ๆ กรรมที่เคยทำก็ให้ผลไม่ได้ และหากอริยมรรคเกิดขึ้นก็ปิดอบายไป เป็นผู้แน่นอนแล้ว”

ข้อนี้ผู้เขียน (ผู้บรรยาย) สรุปไว้ว่า
“ความจริงมันไม่มีตัวไม่มีตนที่จะไปล้างได้ มีแต่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้พ้นจากกรรมไป คือการประพฤติพรหมจรรย์นั่นแหละจะล้างกรรมได้”

“ตัวกรรมนั้นเป็นเจตนาที่ไม่มีตัวตน เกิดเพราะเหตุเกิดแล้วก็ดับแล้ว ผลมันจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกสิ่งมันย่อมเกิดเพราะมีเหตุ เมื่อไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิด เราจึงสามารถประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละเหตุของทุกข์ ละเหตุของกรรม ละเหตุที่จะทำให้เกิดผลของกรรม เมื่อหมดเหตุ มันก็หมดโอกาสที่จะเกิด ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีกรรมเกิดขึ้น ไม่มีผลของกรรมเกิดขึ้น อย่างนี้ก็ได้”

นอกจากการชำระล้างกรรมในบทสุดท้าย ยังมีเรื่อง “ความสิ้นกรรม” ซึ่งผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักอริยมรรคจนสามารถ “ละ” ตัณหาได้จะทำให้ “กรรมสิ้นไป ทุกข์ก็สิ้นไป”

อ่านถึงตรงนี้ อาจมีคนคิดว่า เอ๊อ, พูดง่ายนะ แต่ทำน่ะ ได้หรือเปล่า ข้อนี้ก็แล้วแต่ “กรรม” ของใครก็ของใครละนะ เพราะถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เส้นทางที่ชี้ชวนให้เดินผ่านไปสู่ความสิ้นกรรมนี้ก็ท้าทายโอกาสของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์จริง ๆ

อ่านหนังสือเล่มนี้จบรู้สึกขอบคุณผู้มอบให้อย่างยิ่ง ขออนุโมทนาน้องต๊ะที่ร่วมพิมพ์และร่วมเผยแพร่ไว้ตรงนี้ด้วยค่ะ

แต่เรื่องกรรมยังไม่ได้จบลงง่าย ๆ แค่คาถา “สํวรํ” เพราะเมื่อมีโอกาสอ่านหนังสือเรื่องกรรมแล้ว ก็ขออ่าน “เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม” ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นสิริมงคลให้ตัวเองในการแก้กรรมด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นการขยายความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกรรมทางพุทธศาสนาโดยละเอียด ตั้งแต่ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือรู้หลักกรรม หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ และเหตุปัจจัยในปฏิจสมุปบาทและกรรม

หนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์เล่มนี้มีเอกลักษณ์ความเป็นหนังสือของท่านเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ นั่นคือ ละเอียด กระจ่าง ครอบคลุม อ่านจบครบความในคราวเดียว พร้อมกับทิ้งท้ายที่มาที่ไปให้ผู้อยากค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม เป็นหนังสือธรรมะที่ให้หลักการศึกษาทางวิชาการไว้อย่างดี คนใจร้อนใจเร็วอาจจะติดขัดว่าท่านบรรยายโยงไปมาหลายต่อหลายเรื่อง แต่หากตามอ่านอย่างใจเย็นและใคร่ครวญแล้วจะพบหลักปฏิจสมุปบาทเป็นแกนอยู่ในนั้นเสมอ เช่นเดียวกับที่ท่านสอนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า

“ในทางพุทธศาสนา กรรมเก่านั้น ท่านก็ถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีผลมาถึงปัจจุบัน แต่ชาวพุทธไม่อับตันจบอยู่แค่กรรมเก่า”

“…กรรมเก่าหรือกรรมในอดีตนั้น ทำไปแล้วแก้ให้เป็นไม่ทำน่ะไม่ได้ แต่เรามีทางใช้ประโยชน์จากมันได้ คือในแง่ที่จะเป็นบทเรียนแก่ตนเอง รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุง และการที่จะรู้จักพิจารณาไตร่ตรอง มองเห็นเหตุผล ทำให้เป็นคนหนักแน่นในเหตุผล พร้อมทั้งทำให้เป็นคนรู้จักรับผิดชอบตนเอง ให้รู้จักพิจารณาว่าผลที่เกิดกับตนเองเกี่ยวข้องกับการกระทำของตัวเราอย่างไร ไม่มัวโทษผู้อื่นอยู่เรื่อย และไม่ใช่มัวรอรับแต่ผลของกรรมเก่า”

“ในทางที่ถูก จะต้องคำนึงให้ครบทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ เมื่อกรรมเก่าที่มีมาไม่ดี ก็ยิ่งทำให้จะต้องมีกำลังใจเพียรพยายามแก้ไขปรับปรุง เช่น ถ้าหากคนที่เขาเกิดมาร่ำรวยแล้วเขามีความเพียรพยายามเท่านี้ สามารถประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้ เราเกิดมาในตระกูลที่ขาดแคลน เราก็ยิ่งต้องมีความเพียรพยายามให้มากกว่าเขาอีกมากมาย เราจึงจะมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้ ต้องตั้งจิตอย่างนี้จึงจะถูกต้อง

ในส่วนที่เป็นกรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ชื่อว่ากรรมเก่า กรรมเก่าก็คือสภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันขณะนี้ สภาพชีวิตของเราก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอยู่ นี้คือกรรมเก่า เท่าที่เป็นมาก่อนหน้าเวลานี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ทำอะไรมา สั่งสมอะไรมาก็รวมอยู่ที่นี้

กรรมเก่ามีเท่าไรก็เรียกว่ามีทุนเท่านั้น จะทำงานอะไรก็ตามจะต้องมองดูทุนในตัวเองก่อน เมื่อรวมทุนรู้กำลังของตัวถูกต้องแล้ว ก็เริ่มงานต่อไปได้ ถ้าเรารู้ว่าทุนของเราน้อยแพ้เขา เราก็ต้องพิจารณาหาวิธีที่จะลงทุนให้ได้ผลดี บางคนทุนน้อยแต่มีวิธีการทำงานดี รู้จักลงทุนอย่างได้ผล กลับประสบความสำเร็จดีกว่าคนที่มีทุนมากก็มี”

ในส่วนของการปฏิบัติที่ถูกต้องในการทำกรรมนั้น พระพรหมคุณาภรณ์ท่านให้แนวทางไว้ว่า

“ถ้าชาวพุทธจะฉลาดรอบคอบในการทำกรรม ก็จะต้องทำให้ถูกทั้ง ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ ตัวกรรมนั้นต้องเป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว แล้วผลดีชั้นที่ ๑ ก็เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ได้รับผลดีที่เป็นความสุข มีความสุขเป็นวิบากเป็นต้น ตลอดจนผลดีที่ออกมาทางวิถีชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่นความนิยมนับถือต่าง ๆ เรียกว่ามีดีเข้ามาในตัวอยู่แล้ว แต่ในชั้นที่ ๒ เราจะให้การงานกิจการของเราได้ผลดีมากดีน้อย เราจะต้องพิจารณาเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบด้วย ต้องพิจารณา ๒ ชั้น ไม่ใช่คิดจะทำดีก็ทำดีดุ่ม ๆ ไป”

คติ อุปธิ กาล ปโยค คือสมบัติ ๔ ที่มาคู่กับวิบัติ ๔ มีคำอธิบายในหนังสือว่า

“สมบัติ คือองค์ประกอบที่ช่วยอำนวยเสริมกรรมดี มี ๔ อย่าง คือ
๑. คติ คือ ถิ่นที่ เทศะ ทางไป ทางดำเนินชีวิต
๒. อุปธิ คือ ร่างกาย
๓. กาล คือ กาลเวลา ยุคสมัย
๔. ปโยค คือ การประกอบ หรือการลงมือทำ
นี้เป็นความหมายตามศัพท์ ฝ่ายตรงข้ามคือ วิบัติ ก็มี ๔ เหมือนกัน คือถ้า คติ อุปธิ กาล ปโยค ดี ช่วยเสริม ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ ถ้าไม่ดี กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อด้อย หรือบกพร่อง ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ..”

ใครสนใจปฏิบัติกรรมโดยพิจารณาสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ นี้เพื่อเสริมกรรมของตนเองก็เชิญชวนให้อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือนะคะ อ่านอย่างใคร่ครวญแล้วอาจซาบซึ้งตามที่ท่านเตือนไว้ก็ได้ว่า การปฏิบัติที่ถูกต้อง “ไม่ใช่มัวท้อแท้หรือทรนงอยู่กับทุนเก่าหรือกรรมเก่า”

โดยส่วนตัวแล้ว ของแถมที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องของวิถีจิต/ภวังคจิต อันสืบเนื่องจากมโนกรรม ที่พุทธศาสนาถือว่าสำคัญที่สุดในการสร้างกรรม พระพรหมคุณาภรณ์เกริ่นอธิบายว่า “บางครั้งและในบางเรื่องบางอย่าง เราบอกไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวเราเองเป็นอย่างไร บางทีเราทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เราบอกไม่ถูกว่าทำไมเราจึงทำอย่างนั้น…”

ท่านสอนว่า “จิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่างและปรุงแต่งชีวิตเรา” และ “จิตส่วนใหญ่และขุมพลังแท้อยู่ที่จิตไร้สำนึก” “จิตทำงานตลอดเวลาและนำพาชีวิตไป” การที่ท่านพูดแทรกเรื่องจิตนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า

“หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมก็ทำงานสัมพันธ์กับจิตใจนี่เอง...จิตตนิยามกับกรรมนิยามต้องไปด้วยกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน…สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานี่เอง ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์สืบเนื่องโยงกันอยู่ให้เห็นได้ เป็นแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะเหตุปัจจัยนั้นออกมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเอง”

อ่านถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงความสงสัยของตัวเองเมื่อเริ่มเผชิญวิบากของผลกรรมครั้งล่าสุดทำให้อดยิ้มให้ตัวเองไม่ได้ เวลาที่ความคิดซึ่งติดตันจากความสงสัยบางสิ่งบางอย่างถูกคลี่คลาย (ด้วยคำอธิบาย, เหตุการณ์ ฯลฯ) จิตที่กระจ่างแจ่มใสมักเผยให้เห็นเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เคยมองเห็น ความเข้าใจเรื่องกรรมแบบนี้ มีส่วนช่วยแก้กรรมที่มีให้หมดจดขึ้น

ที่เหลือก็คือ..ใช้กรรมเก่าสร้างกรรมใหม่ ก็พระท่านสอนไว้แล้วนี่นา “ชาวพุทธไม่จบตันอับจนอยู่แค่กรรมเก่า”


หมายเหตุ:
ชื่อเรื่อง เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
ผู้เขียน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งแรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๗
สำนักพิมพ์ ส่องศยามจำกัด (ศูนย์ไทยธิเบต)
จำนวนหน้า ๑๑๒ หน้า ราคา ๑๒๐ บาท

ชื่อเรื่อง ความเข้าใจเรื่องกรรม
ผู้เขียน สุภีร์ ทุมทอง
พิมพ์ครั้งที่สอง มิถุนายน ๒๕๕๔
ออกแบบและพิมพ์โดย สาละ
จำนวนหน้า ๙๖ หน้า (หนังสือพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน)




Create Date : 25 กรกฎาคม 2554
Last Update : 25 กรกฎาคม 2554 8:58:10 น. 3 comments
Counter : 1964 Pageviews.

 
อนุโมทนาด้วยค่ะ ขอบคุณมากที่แนะนำหนังสือดี ๆ


โดย: ปอมปอมเกิร์ล IP: 67.169.157.131 วันที่: 25 กรกฎาคม 2554 เวลา:11:57:57 น.  

 
ตอนนี้แมลงก็กำลังอ่านเรื่องกรรมที่เขียนโดยวศิน อินทรสระอยู่ค่ะ (นามสกุลสะกดอย่างนี้หรือไม่ ไม่แน่ใจ) ลืมหนังสือที้ิงไว้ที่ปากเกร็ด ยังอ่านไม่จบเลยค่ะ แมลงว่าถ้าเข้าใจเรื่องกรรม ก็จะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองมากขึ้น ไม่ทำอะไรส่งเดช แต่ประเด็นคือ คำสอนมักถูกจัดให้เป็นคำสอนแล้ววางนิ่งๆอยู่บนหิ้ง ไม่เอามาพิจารณาจริงจังและใช้เป็นประโยชน์ในชีวิต ถ้าเรานำมาพิจารณาจริงๆ คำสอนในพุทธศาสนามีอยู่ในทุกลมหายใจและทุกนาทีของการใช้ชีวิตเลย พี่พีว่าไหม


โดย: แมลงจ่่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 27 กรกฎาคม 2554 เวลา:22:12:42 น.  

 
ขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำ และข้อสรุปในหนังสือทั้ง 2 เล่มค่ะ อ่านแล้วทำให้นึกถึงหลาย ๆ เรื่องในชีวิตที่ผ่านมา ทั้งที่ได้ทำกรรมไม่ดี เมื่อกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ก็คิดว่าทำไปได้อย่างไร ขณะนั้นคิดอะไรอยู่ บางเรื่องอยู่ ๆ ก็คิดถึงทั้งที่ได้ลืมเหตุการณ์นั้นไปแล้ว ส่วนเรื่องที่ได้ทำกรรมดี ไม่ค่อยได้คิดถึงเท่าไร เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรติดค้าง หนูขอสารภาพว่า เคยอ่านหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์แล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง มันง่วงก่อนทุกที่ (คงเป็นกรรมเก่า) เมื่อได้คำแนะนำจากพี่พีว่าต้องอ่านอย่างใจเย็นก็คงต้องพยายามต่อไปค่ะ


โดย: นก IP: 58.137.13.253 วันที่: 8 สิงหาคม 2554 เวลา:8:30:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
25 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.