ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี

หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์



เคยอ่านหนังสือเรื่อง “หยดน้ำแห่งจินตนาการ” ของนพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ แล้วชอบมาก ตั้งใจว่าถ้าเจอหนังสือของคุณหมออีกจะลองหามาอ่านดู แต่เมื่อเจอหนังสือเรื่อง “หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่” พร้อมคำต่อท้ายชื่อว่า Instant Happiness และคำโปรยหน้าปกว่า “พยาธิกำเนิด การแพทย์แนวใหม่ที่เน้นถึงสุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis) สร้างสุขโดยตัวท่านเอง” ทำให้ลังเลอยู่พอสมควรกว่าจะตัดสินใจซื้อติดมือกลับบ้าน เพราะแม้คำโปรยดูเป็นวิชาการเหมาะเป็นยานอนหลับก่อนเข้านอน แต่ก็นะ…หนังสือหนาตั้ง 500 กว่าหน้า หนักเกินกว่าจะถือแล้วนอนอ่านได้สบาย

โชคดีที่หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาท เพราะเปิดอ่านแล้วตาสว่างจนต้องเปลี่ยนสถานะจากหนังสือก่อนนอนเป็นหนังสืออ่านเล่นในวันว่าง แล้วก็ขยับสถานะเป็นหนังสืออ่านเอาจริงเอาจัง ด้วยเหตุที่ว่าอยู่ ๆ ก็เหมือนเจอเพื่อนที่คุยกันถูกคอ ด้วยภาษาง่าย ๆ ให้แนวทางคำตอบที่กำลังค้นหาอยู่ และไม่บังคับโน้มน้าวให้เชื่อ เพียงแค่ “เชิญชวน” ด้วยฐานข้อมูลความรู้จากผลการศึกษาและการทดลองปฏิบัติทั้งของคนเขียนและคนอ่านที่อยากทดลองหรือพิสูจน์ด้วยตนเอง

หนังสือเรื่อง”หัวใจใหม่ชีวิตใหม่” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2546 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพทั้งด้านองค์ความรู้ การรักษา และการดูแลเสริมสร้างสุขภาวะ เนื้อหานำเสนอมุมมองใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ”เจ้าตัว”ที่มี (และ/หรือที่ยังไม่มีและไม่อยากมี) ปัญหาสุขภาพ เจ้าตัวที่ว่านี้คือเจ้าของ คือคน ที่มีส่วนผสมทั้งกาย ใจ อารมณ์ ความคิดและจิตวิญญาณ คุณหมอเสนอมุมมองจากการรวบรวมแนวคิด ผลการศึกษาและการทดลองปฏิบัติจากหลายสาขาและจากหลายประเทศรวมทั้งโครงการของคุณหมอเองในประเทศไทย เนื้อหาโดยรวมช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้งส่วนที่มองเห็นและมองไม่เห็นของชีวิตและวงจรสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงความเครียดที่เป็นสมมติฐานหลักของปัญหาสุขภาพของคนส่วนใหญ่ที่อาจเคยมีประสบการณ์ แต่อาจจะไม่เคยรู้จักหรือเข้าใจได้อย่างแท้จริง

ส่วนสำคัญหนึ่งของความพยายามนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะผ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนสะท้อนได้จากคำกล่าวของ Sage Kimble ที่คุณหมอยกมาโปรยต้นเรื่องว่า “Stop looking for new tools, but dig down deep inside yourself”

แนวคิดว่าเรารักษาตัวเองได้ ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีได้นั้น มีการนำเสนอมาแล้วหลายกระแสหลายแง่มุม แต่ก็ยังไม่ใช่กระแสหลักในวงการแพทย์และสาธารณสุข และที่สำคัญไม่ใช่กระแสหลักที่คนทั่วไปซึ่งเป็นเจ้าของสุขภาพของตัวเองยึดถือและนำมาปฏิบัติ หนังสือเล่มนี้ย่อยรวมแง่มุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยใช้เงื่อนไขของการจัดการกับความเครียดเป็นตัวเดินเรื่อง ด้วยความเชื่ออย่างที่คนเขียนบอกไว้ว่า

“หากเราเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแท้จริงแล้ว เราสามารถเข้าใจและปรับใช้กับเรื่องราวอื่น ๆ ในชีวิตของเราได้ด้วย”

อ่านหนังสือแล้วเห็นความเชื่อมโยงของวงจรอัตโนมัติของการมีสุขภาพดีหรือการมีความเครียดที่ทำให้สุขภาพไม่ดี พร้อมวิธีง่าย ๆ ในการจัดการสุขภาวะของตนเอง เมื่อตามอ่านอย่างใส่ใจแล้วเข้าใจได้มากขึ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนไม่ใช่มีผลสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกหรือสุขภาวะของผู้หญิงผู้ชายวัยทองและเด็ก ๆ ที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเท่านั้น แต่มีผลถึงทุกคนทุกช่วงวัย อยู่ที่ว่าจะจับกระแสความเปลี่ยนแปลงของกลไกและสารเคมีในตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ความรู้เกี่ยวกับกลไกอัตโนมัติของระบบสุขภาพและปฏิกิริยาต่อกายใจเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เข้าใจตนเองและคนรอบข้างได้มากขึ้น

คุณหมอเขียนแนะนำเรื่องการสร้างสุขภาวะด้วยเทคนิคหนึ่งที่สำคัญคือให้ “ค้นคว้าด้วยตัวเองอย่างสนุกสนาน” เพราะ “เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของความสนุกในชีวิตมนุษย์ก็คือ ‘การเรียนรู้’” ข้อความทำนองนี้ก็เคยผ่านหูผ่านตามาแล้วเช่นกัน แต่ก็แค่ “ผ่าน” เพราะการจะรู้จักความสนุกของการเรียนรู้ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้วิธีที่จะเรียน ไม่เคยสัมผัสความรู้สึกของการรู้อะไรใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง เพราะถูกบอกมาตลอดเวลาว่า เรื่องความรู้ให้เชื่อครู เรื่องสุขภาพให้เชื่อหมอ เรื่องความยุติธรรมให้เชื่อศาล เรื่องการบริหารการทำงานให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

จะว่าไปเรื่องเหล่านี้ก็เหมือนเส้นผมบังภูเขาที่คนจำนวนมากคิดว่าการไม่สามารถเรียนรู้เกิดจากการ “ไร้ความสามารถ” ของตัวเองทางสติปัญญาหรือระดับการศึกษา/การทำงาน ทั้งที่เรื่องราวบางอย่างถูกทำให้ยุ่งยาก ซับซ้อนเพราะการครอบงำของแนวคิดหรือวิธีปฏิบัติของกระแสหลักที่เป็นอยู่ในสังคม.... เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ต้องเชื่อ ต้องคิด ต้องทำ ในสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกหรือประสบการณ์ของตนเอง แต่ยังไม่รู้ว่า จะหาทางออกจากสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร

คำเชิญชวนของคุณหมอให้เรียนรู้จากตนเองสอดแทรกอยู่ตลอดหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่วิธีคิด การทดลองปฏิบัติง่าย ๆ เช่นการนวดมือ ใบหู การฝึกการหายใจ โยคะ ชี่กง ตลอดจนถึงการพูดคุยสนทนา การปรับวิธีคิดและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากผลที่เจ้าตัวสัมผัสจากประสบการณ์ตรงได้ เนื้อหาและทัศนะของคุณหมอเหมือนช่วยกรุยทางให้คนอ่านก้าวออกจากกรอบความเชื่อบางอย่างได้อย่างอ่อนโยน เมื่อสัมผัสสาระตรงนี้ได้ การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็สนุกขึ้น และยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้

นี่อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเขียนหรือถ่ายทอดเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนและบางครั้งแหวกต้านไปจากกระแสหลักให้สามารถเข้าใจและติดตามความคิดได้ง่าย ๆ ซึ่งก็ดูเหมือนง่ายทั้งเรื่องราวและการเขียน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย..เพราะความง่ายและความงดงามของความง่ายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ (จริง ๆ นะ ไม่ได้ตั้งใจเล่นคำหรือภาษาพาไป)

โดยส่วนตัวแล้วเห็นความง่ายที่ว่านี้จากความเลื่อนไหลสอดรับกันขององค์ประกอบต่าง ๆ ในเนื้อหาของหนังสือ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิด ความเชื่อ การตั้งสมมุติฐาน การทดลอง การปฏิบัติ การสรุปบทเรียน ซึ่งในฐานะคนอ่านสามารถทดลองเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นตามประสบการณ์พื้นฐานของชีวิตได้อย่างง่าย ๆ ง่ายเพียงยกมือขึ้นจับใบหูตัวเองแล้วทดลองนวดดู ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อเนื้อตัวร่างกายของตัวเองเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเรียนรู้พื้นฐานจากหนังสือเล่มนี้เลยทีเดียว

คุณหมอวิธานเขียนเล่าไว้ในบทอำลาว่า หนังสือเล่มนี้

“เป็นหนังสือในฝันที่ผมอยากเขียนมาก เพราะผมสามารถนำหนังสือที่ผมชอบอ่านเกือบทั้งหมดในชีวิตของผม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนวสุขภาพของนพ.ดีน ออร์นิช, ดร.จอห์น คาบัด-ซินน์,ฯลฯ หนังสือแนววิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของรูเพิร์ต เชลเดรก, เดวิด โบห์ม ฯลฯ หนังสือแนวศาสนาของท่านติช นัท ฮันห์, องค์ทะไลลามะ ฯลฯ หนังสือแนวการศึกษามุมมองใหม่มอนเตสเซอรี่ของโจเซฟ ชิลตัน เพียซ ฯลฯ หนังสือแนวโยคะและชี่กงทั้งหลาย หนังสือแนวธุรกิจสมัยใหม่ของฟิลลิป แมคกรอว์, เจย์ อับราฮัม ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้มารวบรวมเรียงร้อยและถักทอให้เป็นเรื่องราวเดียวกันได้อย่างไม่ขัดเขินและดูดี คืออย่างน้อยก็ถูกใจคนเขียนอย่างผม ที่ผมเองก็รู้สึกเหลือเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและลงตัว ทำให้ผมรู้สึกได้ว่าผมภูมิใจและสนุกกับงานเขียนชิ้นนี้เป็นอย่างมาก”

คำบอกเล่าข้างต้นบวกกับเนื้อหาเรื่องราวและการนำเสนอตลอดทั้งเล่มที่ผ่านมา ชวนให้รู้สึกตามได้ว่า ผู้เขียนไม่ได้อวดตัวหรือชื่นชมยกย่องตัวเองเกินจริง แต่เหมือนคำบอกเล่าพูดคุยธรรมดา ตรงไปตรงมาและจริงใจ เป็นตัวอย่างของการมองเห็นผลงานและความรู้สึกของคนทำงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งอย่างจริงใจและเป็นกลางกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ความจริง ความตั้งใจ และความพยายามรวบรวมค้นคว้า ย่อย ทดลอง และเขียนขึ้นใหม่ให้เรื่องที่มีความเกี่ยวพันหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นจริงที่ถูกบดบังด้วยมายาคติหรือแนวปฏิบัติของคนในสังคมส่วนใหญ่ ถือเป็นพลังอย่างหนึ่งที่สามารถรับผ่านตัวหนังสือหลายร้อยหน้าเล่มนี้ได้ เหมือนอย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ตอนหนึ่งว่า

“ผมใส่ ‘พลัง’ เข้าไปในหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่แล้ว โดยหวังว่าตัวอักษรบางตัวจะสามารถทำให้พวกเราหรือใครบางคนรับพลังเหล่านี้ได้บ้าง พลังที่สามารถเยียวยาเพื่อสุขภาพที่ดีได้ด้วยตัวเองอย่างมีสุขภาพ”

ในฐานะคนอ่าน อยากบอกคุณหมอคนเขียนว่า พลังที่ได้รับผ่านหนังสือเล่มนี้มีมากกว่าความสามารถในการเยียวยาเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะพลังบางอย่างให้ความรู้สึกว่าได้สัมผัสกับกัลยาณมิตรผ่านกระบวนการ “สนทนาอย่างสุนทรีย์” ทางตัวหนังสือ และแน่นอนว่าการค้นคว้าด้วยตัวเอง ให้ผลลัพธ์ที่อาจแตกต่างจากแนวคิดหรือข้อสรุปจากหนังสือ และสิ่งเหล่านี้คือความงอกงามที่เกิดขึ้นผ่านสนามพลังของการสนทนาที่ได้จากการอ่าน… และคงคล้ายกับข้อความของ David Bohm ที่คุณหมอยกมาอ้างไว้ในบทการสนทนาอย่างสุนทรีย์ (Dialogue) ว่า

“If the opinion is right,
it does not need such a reaction.
And if it is wrong,
why should we defend it?”



หมายเหตุ
ชื่อเรื่อง: หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่
ผู้เขียน: นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์
คำนำโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์ศยาม
พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม 2553
หนา 544 หน้า ราคา 395 บาท




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2554
6 comments
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 9:12:02 น.
Counter : 3733 Pageviews.

 

แมลงว่าพี่พีเป็นนักเขียนแนะนำหนังสือในหนังสือพิพ์หรือนิตยสารได้สบายๆ..วันก่อนแมลงไปซื้อหนังสือ"อยู่กับมาร"มา เพราะมาอ่านจากพี่นี่แหละค่ะแต่เล่มนี้น่ะ อ่านไปนานแล้ว แต่ความที่คุณหมอเขาอ่านหนังสือเล่มเดียวกันกับเรา ก็เลยดูว่าคุณหมอเขาพูดทางกว้าง ไม่ย้อนกลับไปอ่านซ้ำไปซ้ำมาตามนิสัย ก็เลยลืมไปเลยว่าเคยอ่านและมีหนังสือเล่มนี้ ฮี่ๆแมลงมีหนังสือสองสามเล่มที่อธิบายแนวลึก อ่านแล้วอ่านอีก อ่านจนหนังสือหน้าตาดูไม่ด้ายย..แต่เล่มนี้ยังดูหล่อเหมือนบางเล่มที่ส่งไปให้พี่น่ะค่ะ (เล่มที่ขี้เหร่มากๆ ไม่กล้าให้ใคร กลัวเขาไม่กล้าจับ สกปรก คิกๆ)
หมายเหตุ..ถ้าไม่เห็นทรงผม นึกว่าน้องไผ่นาเนี่ยยย..

 

โดย: แมลงจ่่่่่อย (Bug in the garden ) 27 มิถุนายน 2554 19:01:59 น.  

 

สวัสดีค่ะพี่พี (ขอเรียกตามพี่แมลง) พี่เขียนหนังสือเก่งจัง หนูอธิบายไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร คือ คำพูดของพี่อ่านแล้วรู้สึกลื่นไหลดีจังค่ะ ไว้จะหามาด้วยด้วยคะ แวะมาทักทายก่อนกลับบ้าน แล้วจะเข้ามาคุยอีกนะคะ

 

โดย: นก IP: 203.151.15.245 28 มิถุนายน 2554 16:50:30 น.  

 

'วัสดีคุณแมลง
อยากอ่านหนังสือสองสามเล่มแนวลึกที่คุณแมลงเอ่ยถึงอ่ะ แนะนำหน่อยสิคะ หรือว่าจะ "ให้ยืม" อิ อิ ไม่กลัวความเยินหรือความสกปรกที่ว่า เพราะหนังสือแบบนั้นมัก 'มีของ'

ปกติเป็นคนอ่านหนังสือแบบถนอมค่ะ จบเล่มแล้วยังเนียนเรียบ แต่ก็มีหลายเล่มที่เยินเพราะพกติดตัวเวลาไปโน่นไปนี่ หลายเล่มก็ช้ำเพราะอ่านแล้วชอบเขียนคุยกับตัวเองหรือบางทีก็เขียนเถียงกับคนเขียน เหอะ ๆ บางเล่มเขียนมากไปหน่อยจนไม่กล้าให้ใครยืม

เป็นคนไม่ชอบคุยกับผู้คนค่ะ ชอบคุยกับหนังสือ บางอารมณ์ก็อยากเขียนถึง ไม่ใช่แนะนำให้ใครอ่านหรอกค่ะ เขียนถึงเพราะอยากเขียนถึง เพราะอารมณ์ หรือความคิดบางอย่างจากการอ่านเกิดขึ้น แล้วสักพักมันก็จากไป หลัง ๆ เลยอยากเขียนถึงเก็บไว้เป็นบันทึกให้ตัวเองอ่านย้อนหลัง และแบ่งปันเผื่อคนที่ไม่มีเวลาอื่น ๆ ที่อาจแวะเวียนมาเจอโดยบังเอิญ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ทุกเล่มที่ชอบหรอกค่ะ เป็นพวกน้ำขึ้นน้ำลงตามพระจันทร์

บางเล่มอยากเขียนถึงมากกกก ก็ใช่ว่าจะเขียนถึงได้โดยง่ายนะคะ เช่น "เนื่องในความงาม" ของท่านเขมานันทะ อ่านแล้วใจเต้นโลดสลับกับหยุดนิ่ง นิ่ง และนิ่ง....ช่วงนั้นอยากเขียนถึงมากเลย แต่ไม่มีจังหวะอำนวย พอจะเขียนอีกที สัมผัสบางอย่างจากหนังสือเล่มนั้นมันจางไปแล้ว จับไม่ติดน่ะ ก็เลยได้แค่คิด (จนกว่าจะมีเวลาไปอ่านอีกรอบ)

น้องนกคะ ยินดีที่เจอกันที่นี่อีก ความจริงพี่ฟังน้องคุยผ่านตัวหนังสือมานานแล้วนะ ขอบคุณสำหรับคำชมค่ะ เป็นวิตามินเล็ก ๆ ของคนเขียนหนังสือ

แล้วแวะมาคุยกันใหม่นะคะ

 

โดย: kangsadal 29 มิถุนายน 2554 8:24:02 น.  

 

ที่พี่เขียนถึง มันเหมือนกับเล่าให้ฟังว่าเมนูที่เราจะกินนี่มันมีเครื่องปรุง และรสชาติเป็นยังไงน่ะค่ะ อย่างน้อยมีคนลองมาก่อนแล้วบอกว่าสำหรับเขากินแล้วมันอร่อยอย่างไร ..แต่ก็อีกแหละ คนเรามีปุ่มรับรสไม่เหมือนกัน จริตไม่เหมือนกัน แมลงอ่านที่คุณหมอเขียนแบบกระจัดกระจาย จำไม่ค่อยได้ อย่างที่บอก คุณหมออ่านหนังสือเหมือนที่เราชอบอ่าน เวลาอ่านที่คุณหมอเขียนก็เลยอ่านได้เร็ว เพราะมันมีพื้นมาก่อน ..
การเลือกหนังสืออ่าน แมลงจะเอาคนเขียนเป็นหลัก ไม่ก็คนแปลค่ะ ถ้าชื่อนี้ล่ะก็ แม้ว่าจะไม่ลองอ่านชิม ก็ซื้อไว้ก่อน อย่างเช่น อาจารย์สุลักษณ์ หรืออาจารย์ฉัตรสุมาลย์ แต่ของหลวงพ่อไพศาล วิสาโล ..ไม่แน่ บางเล่มออกทางกว้าง บางเล่มออกทางลึก ..ส่วนเล่มที่แมลงอ่านจนหน้าตาดูไม่ได้ และพกติดตัวเสมอนั้น คิดว่าพี่พีน่าจะมีอยู่ในครอบครองด้วยกระมัง และแมลงว่าพี่พีรู้แหละ เนื้อหามันปรากฎอยู่ในคำพูดและการกระทำของแมลงอยู่ตลอดเวลา ..คำพูดของผู้เขียนมีส่วนในตัวเราอย่างมาก..
พี่พีจ๋า ขอคุยกับนกตรงนี้ด้วยนะคะ..นก..หนังสือเล่มนี้ พี่ช่วยยืนยันว่าน่าอ่าน เป็นหนังสือที่มีประโยชน์สำหรับผู้รักรถ และต้องการถนอมใช้รถ เพื่อเดินทางชีวิตอย่างรื่นรมย์ แต่ถ้าไม่ชอบตัวหนังสือเล็กๆ บางๆ และสำนวนนิ่งๆของคุณหมอ อาจหลับเป็นส่วนมาก ฮ่าๆ..แต่ก็ดีนา ..การนอนหลับเป็นการสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยิ่ง ฮี่ๆ

 

โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) 29 มิถุนายน 2554 15:32:30 น.  

 

ถึงนกค่ะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่สามนี้มีการปรับรูปเล่มใหม่ และหนังสือตัวโตมากค่ะ อ่านง่ายแม้คนแก่ เอ้อ แม้แต่คนสายตาไม่ค่อยดี (อย่างพี่) แหะ ๆ ส่วนจะหลับหรือไม่ไม่ยืนยัน เพราะอย่างที่คุณแมลงว่า มันขึ้นอยู่กับจริต ความพร้อม และการค้นหาอะไรบางอย่างในหนังสือและในตัวเอง

เดาว่าหนังสือที่คุณแมลงเอ่ยถึงน่าจะมีแล้วเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเคยอ่านเมื่อสมัยเด็กนานมาแล้ว แต่วัยนั้น ช่วงนั้น ความพร้อมในการเปิดรับอาจจะยังไม่มากพอ หรือประสบการณ์บางด้านยังไม่เอื้อ ก็เลยไม่เข้าใจ และยังไม่เคยย้อนกลับไปอ่านอีกในช่วงนี้ อาจเพราะเริ่มเข้าใจและรู้จักอะไรจากวิถีทางที่ต่างจากคุณแมลงนะคะ และพอถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็อยากอ่านตัวเองมากกว่า...(หรืออาจจะยังไม่ถึงจุดที่จะกลับไปทดสอบตัวเองกับหนังสือเล่มเดิม!?)

แล้วค่อยคุยกันใหม่นะคะ :)

 

โดย: พี่พี IP: 202.137.156.28 29 มิถุนายน 2554 20:01:58 น.  

 

ขอบคุณคุณพี่ทั้งสองค่ะ ถ้าได้อ่านเมื่อไรจะมารายงานค่ะ

 

โดย: นก IP: 58.137.13.253 1 กรกฎาคม 2554 8:08:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
25 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.