ครูปั๊กกาเป้า.... O_o
Group Blog
 
 
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
รัชกาลที่ ๑

<a href="//www.wherearepop.com/members/wherearepop/cha/hifias1021s.swf" target="_blank">//www.wherearepop.com/members/wherearepop/cha/hifias1021s.swf</a>




พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระนามเดิม ด้วงหรือทองด้วง เป็นโอรสของหลวงพินิจอักษรและนางหยก ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๙ เมื่อพระชนมายุ ๒๑ พรรษาเสด็จออกผนวชที่วัดทะลาย ครบ 1 พรรษา จึงลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ต่อมาได้อภิเษกกับสมเด็จพระอมรินทรบรมราชินี (เดิมชื่อนาค เป็นธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม) และได้เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี จนได้รับตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี

หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้ชาติบ้านเมืองและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีจึงเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี และเป็นกำลังสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรีทำศึกสงครามหลายครั้ง จนได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก เมืองจำปาศักดิ์ สีทันดร อัตปือ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระองค์ได้ปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์พระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพระชนมายุ ๔๗ พรรษา พระองค์ทรงพระอุตสาหะทะนุบำรุงบ้านเมืองในทุกๆด้าน และต่อสู้ข้าศึกจากภายนอกหลายต่อหลายครั้งเพื่อความร่มเย็นของราษฎรมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๓๕๒ ทรงพระประชวรพระโรคชราและเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ ๗๔ พรรษา เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๒๘ พรรษา

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๔ ให้ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า "สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช"

พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๑ ใช้รูปปทุมอุณาโลม (อุณาโลมอยู่กลางกลีบบัวกนก) รูปอุณาโลม หมายถึง พระเนตรที่ ๓ ของพระศิวะ (ผู้ทรงสร้าง) เพ่งเล็งไปถึงการทรงสร้างกรุงเทพมหานครและทรงตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์



พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๑ ใช้รูปปทุมอุณาโลม



ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทำการปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรีจนบ้านเมืองสงบ ประชาชนจึงกราบทูลเชิญพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๖ เมษายา พ.ศ.๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างเมืองใหม่ และโปรดเกล้าฯ ให้วางพระฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ นาฬิกา

เสาหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ สูงประมาณ ๑๐๘ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๒๙.๕ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๙.๕ นิ้ว ปลายเสาเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ บรรจุดวงชะตากรุงรัตนโกสินทร์

พิธียกเสาหลักเมืองเป็นประเพณีของชนชาติไทยแต่โบราณ ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อมีการสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ เพื่อเป็นมิ่งขวัญและศิริมงคลว่าบ้านเมืองนั้นมีรากฐานฝังไว้อย่างมั่นคง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ซ่อมแซมหลักเมืองใหม่และเปลี่ยนหลังคาศาลเป็นยอดปรางค์อย่างปัจจุบัน ครั้งนี้ทรงโปรดให้ทำพิธีลงดวงชะตาพระนครใหม่ในแผ่นทองคำหนัก ๑ บาท และบรรจุไว้ในเสา



วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป นิมนต์พระราชาคณะสวดพระปริตรพุทธมนต์ครบ ๓ วัน ครั้นได้มงคลฤกษ์จึงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด แห่โดยขบวนพยุหยาตราจากกรุงธนบุรีไปยังกรุงเทพฯ


ครั้นเมื่อเสด็จครองราชย์แล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ ด้วยทรงเห็นว่ามีชัยภูมิดี มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองธรรมชาติทั้งด้านตะวันตกและด้านใต้ สามารถป้องกันข้าศึกศัตรูได้ดีกว่า พระราชทานนามว่า "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีพุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนคำว่า บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์)

ทรงโปรดให้ขุดคูเมืองขึ้นอีกชั้นหนึ่งตั้งแต่บางลำภูไปออกเหนือวัดสามปลื้ม เรียกว่าคลองรอบกรุง และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมมหาราชวังในบริเวณที่อยู่ของชาวจีน โดยทรงขอร้องให้ชาวจีนย้ายไปอยู่ที่บริเวณวัดสามปลื้มของตำบลสำเพ็ง

พระบรมมหาราชวังนี้ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบในลักษณะของเกาะ มีขอบเขตอยู่ภายในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกกับคลองหลอดทางตะวันออก โปรดเกล้าฯให้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังครั้งกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกประกอบด้วยพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถานและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓๒ ไร่ สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้จัดพราะราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตามแบบแผ่นเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์แรกในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อขุดคลองรอบกรุงแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ลาวเมืองเวียงจันทร์ ๕,๐๐๐ คน แบ่งหน้าที่กันขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครและสร้างป้อมไว้เป็นระยะห่างกัน ๑๐ เส้นบ้างไม่ถึง ๑๐ เส้นบ้าง ป้อมรอบกำแพงชั้นนอกที่ยังคงเหลืออยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันมีเพียงป้อมพระสุเมร และป้อมมหากาฬเท่านั้น ส่วนตามหัวเมืองรอบพระนครก็โปรดให้สร้างป้อมรักษาหัวเมืองชายทะเลเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู





พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งองค์แรกที่สร้างในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑



พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิทำด้วยแก้วมรกตบริสุทธิ์ สีเขียวใส หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซนติเมตร สูง ๒๖ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทอง เป็นฝีมือช่างไทยพายัพ สร้างตามแบบพระพุทธรูปลังกา สมัยเมื่อสัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเป็นศาสนาประจำลานนาแล้ว ได้เคยตกไปอยู่ตามเมืองต่างๆหลายเมือง ได้แก่ ลังกา เชียงราย เชียงใหม่ และเวียงจันทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพบพระแก้วมรกตที่เมืองเวียงจันทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๒ จึงได้ทรงอัญเชิญมากรุงธนบุรีและเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว จึงทรงอัญเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างเครื่องทรงองค์พระแก้วมรกตเป็นพุทธบูชาในฤดูร้อนและฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวาย เพื่อให้ครบ ๓ ฤดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการเปลี่ยนเครื่องทรงแต่ละฤดู

วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ตั้งอยู่ตรงมุมตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต) ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ พระระเบียงรอบวัด หอมณเฑียรธรรม พระเจดีย์ทอง หอระฆัง ศาลาราย หอพระเทพบิดร และหอพระนาค



พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร ( พระแก้วมรกต )



พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ ด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชศรี ซึ่งถูกถอดยศในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะเพิ่มขึ้นเพื่อปกครองคณะเหนือ คณะใต้ และคณะอรัญวาสี โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนทางฝ่ายอาณาจักรทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ขึ้นรับพระอิสริยยศชั้นสูงในราชตระกูล อาทิ ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช (บุญมา) เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราช (วังหน้า) สถาปนาพระราชโอรสองค์ใหญ่พระนามเดิมว่าฉิม เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) สถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทองอิน ซึ่งเป็นพระยาสุริยอภัย เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองและขุนนางที่รับราชการร่วมกับพระองค์มานาน ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองตามระบบเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ แยกเป็นทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีสมุหกลาโหมเป็นผู้ปกครอง ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้ปกครอง และมีเสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร

หัวเมืองลาวมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงตั้งเจ้านันทเสนให้ไปปกครองเมืองเวียงจันทร์ มีฐานะเป็นประเทศราช และพระราชทานพระบางซึ่งอัญเชิญมาพร้อมกับพระแก้วมรกตในสมัยกรุงธนบุรีคืนให้ไปด้วย

หลังจากสร้างพระนครและพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเทวสถานและเสาชิงช้า เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๗ ให้มีพระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้าขึ้น เป็นการขอพรเทพเจ้าให้ประเทศมีความมั่นคง มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์นั้นเป็นโบสถ์ ๓ หลัง แต่ละหลังมีเทวรูปประจำใช้ประกอบพระราชพิธี คือ พระอิศวร พระพิฆเณศวร และพระนารายณ์



พระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)



พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้อาราธนาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่มาประชุมกันเพื่อชำระพระไตรปิฎก การสังคายนาครั้งแรกนี้กระทำกันที่วัดมหาธาตุฯ ใช้เวลา ๕ เดือน เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๒ โปรดให้ช่างคัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง เรียกว่า "ฉบับทองใหญ่" และโปรดให้เก็บไว้ในหอมณเฑียรธรรม ซึ่งอยู่กลางสระน้ำในบริเวณพระบรมมหาราชวัง หลังจากไฟไหม้หอมณเฑียรธรรม ทรงโปรดให้สร้างที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ โดยถมสระเดิมและสร้างเป็นพระมณฑป



พระมณฑป ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ฉบับทองใหญ่



ศิลปะการก่อสร้าง ลายผนัง และฐานปัทม์ ขององค์พระมณฑปเป็นไปด้วยความประณีตวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง เครื่องยอดเป็นไม้ประดับกระจก มีซุ้มประตูเข้าทั้ง ๔ ด้าน ที่ฐานปัทม์มีรูปปั้นยักษ์และเทพพนมประดับ ผนังด้านนอกมีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ นับได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของฝีมือช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้ฟื้นฟูวรรณคดีของชาติขึ้นเป็นจำนวนมาก พระองค์เองก็ทรงเป็นกวีที่มีพระปรีชาสามารถ พระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง (นิราศท่าดินแดง) และบทละครเรื่องอิเหนา

เนื่องจากทรงเห็นว่าพระราชกำหนดกฎหมายที่ใช้กันอยู่มีข้อความคลาดเคลื่อน ทำใหการตัดสินคดีต่างๆเป็นไปโดยไม่ยุติธรรม จึงทรงโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์และราชบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถประชุมกันชำระกฎหมายขึ้นใหม่ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง โดยรวบรวมจากกฎหมายที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและกฎหมายต่างๆที่ประกาศใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้ชำระเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๗ ใช้เวลา ๑๑ เดือน และให้อาลักษณ์จารึกไว้เป็น ๓ ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้ว ทุกฉบับเป็นสำคัญ แล้วให้เก็บไว้ที่ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง



นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นแม่กองในการชำระพระราชพงศาวดารของชาติไทย ซึ่งเคยชำระมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ทำไม่สำเร็จ พงศาวดารฉบับนี้ปัจจุบันเรียกกันว่าฉบับพันจันทนุมาศ

เจ้าพระยาโกษาธิบดีหรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นามเดิม หน เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรบดินทร์ฦาไชย (บุญมี) มารดาคือท่านผู้หญิงเจริญ ได้เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนกระทั่งได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีจตุสดมภ์กรมพระคลัง ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ท่านมีความสามารถทางการประพันธ์ทั้งด้านร้อยกรองและร้อยแก้ว ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สามก๊ก ราชาธิราช บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ร่ายยาวมหาชาติ กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี

วรรณคดีสโมสรสมัยรัชกาลที่ ๖ ยกย่องว่าสามก๊กเป็นยอดของความเรียงประเภทนิยาย

พุทธศักราช ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าทราบข่าวว่าไทยผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจึงยกทัพใหญ่มาตีประเทศไทยพร้อมกัน ๕ ทาง ทั้งทางบกและทางเรือ เรียกว่า "สงคราม ๙ ทัพ"

ศึกพระเจ้าปดุงครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ที่สุดในพงศาวดารไทยและพม่า เพราะพม่าได้ทุ่มเทกำลังเข้าโจมตีไทยหลายทางในคราวเดียวกัน ดังนั้น ยุทธวิธีในการรบของไทยจึงเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือได้รวบรวมกำลังออกไปรับศึกพม่าทางด้านที่สำคัญก่อน โดยเฉพาะกองทัพใหญ่ของพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ เสด็จยกทัพออกไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี กองทัพไทยได้ใช้กลยุทธหลอกล่อพม่า ปล้นชิงเสบียงอาหารของพม่า และในที่สุดก็ตีทัพพม่าแตกพ่ายไป

การรบที่ท่าดินแดง-สามสบ พ.ศ.๒๓๒๙ สืบเนื่องจากสงครามครั้งที่ ๑ ที่พม่าพ่ายแพ้แก่ไทย พระเจ้าปดุงคิดแก้วตัวจึงเกณฑ์กำลังไพร่พลยกมาตีไทยอีก โดยโปรดเกล้าฯให้พระมหาอุปราชาบุตรพระองค์ใหญ่เป็นแม่ทัพยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งค่ายที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทราบข่าวรบ จึงโปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาทเป็นแม่ทัพหน้ายกทัพไปก่อน พระองค์ทรงเป็นทัพหลวงยกตามขึ้นไป และเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้งที่ท่าดินแดงและสามสบแตกพ่ายหมดความพยายามที่จะยกทัพเข้ามาตีถึงกรุงเทพฯ

ในสงครามครั้งนี้ กองทัพเรือของพม่าได้ยกเข้ามาทางปักษ์ใต้เข้ามาตีเมืองตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่งแตกแล้ว จึงยกไปตีเมืองถลางแต่ปรากฎว่าพระยาถลางได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่พม่าจะไปถึง คุณหญิงจันซึ่งเป็นภรรยาพระยาถลางกับนางมุกน้องสาว ได้เกณฑ์ประชาชนออกสู้รบ ไม่ยอมให้พม่าเข้าเมืองไทย พม่าตั้งล้อมอยู่เป็นเวลานานกว่าเดือน เกิดขาดแคลนเสบียงอาหารจึงต้องถอยทัพกลับไป

เมื่อเสร็จสงคราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงยกย่อง และพราชทานนามว่า ท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร





อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร



กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท พระนามเดิมบุญมา ทรงเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๖ ได้เคยร่วมรบและรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ต่อมาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเชษฐาธิราชในการสงคราม ทรงเป็นแม่ทัพที่สามารถ และเสด็จไปในราชการสงครามได้ชัยชนะเกือบทุกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ พม่ายกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตก แต่พระองค์สามารถตีเอากลับคืนมาได้ และโปรดเกล้าฯให้เจ้าเมืองปักษ์ใต้เข้าเฝ้าทุกคน พระยาตานีไม่ยอมเข้าเฝ้า จึงโปรดให้ยกทัพไปปราบ หลังจากยึดเมืองปัตตานีได้แล้ว ทรงโปรดให้นำปืนใหญ่พญาตานี ซึ่งเป็นปืนใหญ่โบราณหล่อด้วยสำริด ลงเรือสำเภาขึ้นมาไว้ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม

หลังจากที่พม่าพ่ายแก่กองทัพไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙ เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของพม่าก็พากันกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าปดุงจึงโปรดให้ยกทัพใหญ่มาปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ พม่าแบ่งกองทัพมาจีเมืองฝางได้และยึดเป็นที่สะสมเสบียงอาหาร โดยคิดที่จะยึดเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นศูนย์กลางในการควบคุมหัวเมืองทางเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าเป็นภัยต่อประเทศชาติ จึงโปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปางแบ่งครอบครัวพลเมืองกลับขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่โดยตั้งเมืองที่ป่าซาง และแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่

พอถึงฤดีแล้งกองทัพพม่าก็ยกทัพเข้าตีลำปางและป่าซางพร้อมกัน ทรงโปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาทยกทัพไปช่วยตีพม่าที่ล้อมเมืองลำปางและป่าซางไว้ สามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป เมื่อเสร็จสงครามกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาทได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ



พระพุทธสิหิงค์ ที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่



พุทธศักราช ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงยกทัพหลวงไปตีพม่า เพื่อตอบแทนที่พม่ายกทัพมาตีไทยหลายครั้ง โดยคิดจะยึดเมืองทวายเป็นที่มั่น ปรากฎว่ากองทัพไทยไปตีทวายครั้งนั้นเลือกเดินทัพผ่านช่องเขาสูงทำให้เกิดความยากลำบาก เพราะเป็นที่สูงชันบางตอนมีหุบเหว เมื่อไปถึงทวายได้เข้าล้อมเมืองไว้ื แต่เกิดขาดแคลนเสบียงอาหารพระองค์จึงโปรดให้เลิกทัพกลับ ผลของการยกทัพไปถึงเมืองพม่าทำให้พม่าทราบถึงความเข้มแข็งของทัพไทย ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๓๓๔ เมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด จึงเข้ามาขอสวามิภักดิ์

การศึกสงครามกับพม่านี้ได้ยืดเยื้อมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงได้เลิกราไปเพราะพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ดังนั้นสมัยรัชการที่ ๑ จึงเป็นสมัยที่ไทยทำสงครามกับพม่ามากที่สุด และปรากฎว่าพม่าก็ได้ส่งฑูตมาขอเป็นไมตรีหลายครั้ง แต่ขณะเดียวกันพม่ากลับยกทัพเข้ามาโจมตีไทย ทำให้ไทยไม่ไว้วางใจพม่า การที่จะเป็นไมตรีกันจึงตกลงกันไม่ได้ในรัชกาลนี้

ในปี พ.ศ.๒๓๑๖ เกิดกบฎไกเซินขึ้นในญวนใต้ องเชียงสือเชื้อสายของสกุลเหงียนซึ่งเคยเป็นกษัตริย์ญวนสามารถรวบรวมกำลังตีเมืองไซ่ง่อนคืนได้ แต่ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ พวกกบฎยกกำลังเข้าตีเมืองไซ่ง่อนแตก องเชียงสือ พ่ายแพ้จึงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึง พ.ศ.๒๓๓๐ จึงได้หลบหนีจากพระนครไปกอบกู้บ้านเมืองคืนจากพวกญวน โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส และสามารถทำลายกองกำลังของพวกกบฎได้ จึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าเวียตนามยาลอง ได้ส่งราชฑูตเข้ามาถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณและเจริญพระราชไมตรี

เมื่อครั้งที่พวกกบฎไกเซินเข้าโจมตีไซ่ง่อน เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ องเชียงสือขอให้กองทัพเขมรไปช่วย พอไซ่ง่อนแตกองเชียงสือหนีเข้ากรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) จึงมีหนังสือมาขอให้พระยายมราช (แบน) ออกไปช่วยราชการที่เขมร และีคิดเอาเขมรมาขึ้นกับไทย ต่อมาเกิดจลาจลในเมืองเขมร พระยายมราชจึงพาครอบครัวของสมเด็จพระนารายณ์ราชาหนีมากรุงเทพฯ ขณะนั้นนักองเอง โอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชามีพระชนมายุ ๑๐ พรรษา เมื่อฟ้าทะละหะ (แทน) กับพระยาพระเขมรสามารถรวบรวมขุนนางผู้ใหญ่ได้ จึงมีใบบอกมาขอนักองเองไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชการที่ ๑ ทรงเห็นว่านักองเองยังเยาว์วัยอยู่ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ออกไปว่าราชการแทน พ.ศ.๒๓๓๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯให้นักองเองออกไปครองกรุงกัมพูชา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี และยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐให้เข้าพระยาอภัยภูเบศรบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

เมื่อเจ้านันทเสนได้ครองเวียงจันทน์แล้ว ปรากฎว่าไม่สามารถจัดการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อยได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้เรียกเจ้านันทเสนกลับมารับราชการในกรุงเทพฯ ทรงตั้งเจ้าอินทวงศ์ไปครองเวียงจันทน์แืืทนและทรงตั้งเจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราช พ.ศ.๒๓๔๗ เจ้าอินทวงศ์ถึงแก่พิราลัยจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าอนุวงศ์ครองเวียงจันทน์สืบมา

ราชรถเป็นเครื่องประดับราชอิสริยยศพระเจ้าแผ่นดินอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีเพียง ๒ คัน คือ พระมหาพิชัยราชรถ สร้างขึ้น เพื่อใช้อัญเชิญพระอัฐิและพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และเวชยันตราชรถ สร้างขึ้นสำหรับทรงพระศพพระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงศักดิ์สูง



(ซ้าย) พระมหาพิชัยราชรถ (ขวา) เวชยันตราชรถ



กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทประชวรพระโรคนิ่วเมื่อครั้งเสด็จยกทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ ครั้นเมื่อเสด็จยกทัพกลับลงมากรุงเทพฯ พระอาการประชวรทรุดหนักลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบว่าพระอนุชาประชวร จึงเสด็จไปประทับแรมพยาบาลถึง ๖ คืนจนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ.๒๓๔๖ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา

หลังจากกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาทสวรรคต ทรงโปรดพระราชทานอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราช

พ.ศ.๒๓๕๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดสุทัศน์เทพวราราม เพื่อให้เป็นพระวิหารกลางพระนครเพียงแห่งเดียว และโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ซึ่งเรียกว่าพระโต จากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ลงมาประดิษฐานไว้บนแท่นภายในพระวิหารนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามว่า "พระศรีสากยมุนี"



พระวิหารที่ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นภายในวัดสุทัศน์เทพวราราม



ครั้งถึง พ.ศ.๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระประชวรพระโรคชรา พระอาการทรุดหนักจึงทรงมอบราชสมบัติแก่พระมหาอุปราชา กรมพระราชวังบวรสถานมงคลและเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำปีมะเส็ง เวลา ๓ ยาม ๗ บาท


Create Date : 29 มกราคม 2551
Last Update : 29 มกราคม 2551 21:14:58 น. 1 comments
Counter : 5156 Pageviews.

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:05:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

@ ปั๊กกาเป้า @..อิอิ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




ติดต่อเจ้าของบ้านได้ที่นี่ ............ e - mail
New Comments
Friends' blogs
[Add @ ปั๊กกาเป้า @..อิอิ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.