ครูปั๊กกาเป้า.... O_o
Group Blog
 
 
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
30 มกราคม 2551
 
All Blogs
 

รัชกาลที่ ๓







พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแด่สมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๓๐ ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าทับ เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติ ได้รับพระสุพรรณบัฎเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เข้ารับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ และผู้ว่าความฎีกาทรงรับหน้าที่ต่างๆ ต่างพระเนตรพระกรรณแทนสมเด็จพระราชบิดา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคต มิได้ทรงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใด พระราชวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พร้อมใจกันทูนเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๗ ครองราชย์อยู่ได้ ๒๗ ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ รวมพระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา

พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิม "ทับ" ใช้รูปปราสาท (ทับ หมายถึง ที่อยู่ เรือน ปราสาท)



พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ ใช้รูป ปราสาท " ทับ" คือพระนามเดิมของท่าน



เมื่อพระราชวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อได้พระฤกษ์สรงน้ำปัญจมหานทีมุรธาภิเษกแล้ว เสด็จขึ้นยังที่ตั้งอัฎฐทิศรับน้ำกลศน้ำสังข์ ๘ ทิศ เสด็จมาพระที่นั่งภัทรบิฐ รับสุพรรณบัฎและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เจษฎาวุธ ออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ภายใต้มหาเศวตฉัตร ข้าราชการเข้าเฝ้า เจ้าพระยาที่สมุกนายก สมุหกลาโหมและเจ้าพระยาจตุสดมภ์ทั้ง ๔ กราบทูลถวายสรรพสิ่งทั้งปวงตามที่ในตำแหน่งราชการ

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชทานพระสุพรรณบัฎจารึกพระนาม ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย และพระบรมวงศานุวงศ์ ให้มีพระยศสูงขึ้น ทรงตั้งพระราชาคณะโดยพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นฤกษ์ก่อนทรงตั้งข้าราชการเต็มตามตำแหน่ง ตามพระราชประเพณี

พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษได้มาชวนไทยไปช่วยรบพม่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเห็นว่าไทยควรมีกองทัพไป เพื่อจะได้รู้เหตุการณ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาหมาโยธาคุมกองทัพหนึ่ง พระยาสุรเสนา พระยาพิพัฒโกษาทัพหนึ่ง ไปทางด่านเจดียร์สามองค์ ทัพเรือนั้นให้พระยาชุมพรยกไปทางระนองทัพหนึ่ง ทั้ง ๓ ทัพนี้ให้บอกข่าวไปว่าจะช่วยอังกฤษ อังกฤษจึงยินยอมให้กองทัพเข้าไปตั้งในเขตแดนที่ตีไว้ได้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ส่งทูตไปเมืองจีนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๘ แต่งให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์น เครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียมออกมาจิ้มก้องเชิญหองสมเด็จพระเจ้าเตากวาง ตามธรรมเนียมพระราชประเพณี

ลอร์ดแอมเฮอร์ส อุปราชอังกฤษแห่งอินเดีย ได้แต่งตั้งให้ร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ หรือที่คนไทยในสมัยก่อนเรียกว่า "กะปิตัน บาร์นี่" เข้ามาเป็นทูตเจรจาทำสัญญาการค้า เพื่อให้ฝ่ายไทยลดค่าธรรมเนียมภาษีอากรที่เก็บจากเรือสินค้าขาเข้าและเรือสินค้าขาออกให้แน่นอนและถือเป็นหลักปฎิบัติสืบไป คณะทูตอังกฤษได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัววันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๓๖๘ เฮนนี่ เบอร์นี่ได้กราบทูลถวายอักษรสาสน์ พร้อมกับได้น้อมเกล้าฯถวายเครื่องราชบรรณาการ

ทูตอังกฤษกับคณะเสนาบดีฝ่ายไทยได้เจรจากันด้วยดี ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ละเริ่มต้นทำ "สนธิสัญญาไมตรีและการค้า" ซึ่งเป็นสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับฝรั่งชาวยุโรป โดยทั้งสองฝ่ายไทยและอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๙ คณะทูตได้เข้าเฝ้าถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๙

มิชชันนารีอเมริกาเข้ามาสอนศาสนาคริสเตียนในเมืองไทย

พ.ศ.๒๓๖๗ เจ้าอนุวงศ์มาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พิจารณาเห็นว่ากองทัพไทยอ่อนแอ ต่อมามีข่าวลือไปถึงเวียงจันทร์ว่าไทยกับอังกฤษวิวาทกัน เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพลงมากรุงเทพฯ เมื่อยกมาถึงนครราชสีมาพระยานครราชสีมาและพระยาปลัดไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงจึงเข้ามายึดเมืองและกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองขึ้นไปเวียงจันทร์ เมื่อพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาทราบข่าว จึงแกล้งสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์ คุณหญิงโมภรรยาปลัดคิดอุบายให้พวกครัวที่ถูกกวาดต้อนแยกกันเป็นกลุ่มๆ ไปทันกันที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ได้ต่อสู้ฆ่าฟันชาวเวียงจันทร์ล้มตายมากมาย พวกลาวที่เหลือแตกหนีไปแจ้งเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพฯ กำลังยกมาจึงให้เลิกทัพกลับเมืองเวียงจันทร์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปณาคุณหญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี"


คุณหญิงโม ภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ได้สถาปนาเป็น "ท้าวสุรนารี"



สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพจากสระบุรีขึ้นไปและให้พระยาราชสุภาวดียกทัพไปทางอำเภอปักธงชัยแล้วครงไปสมทบกันที่นครราชสีมา กองทัพทั้ง ๒ สามารถตีทัพลาวแตกพ่ายไป ส่วนเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวหลบหนีไปพึ่งญวน เมื่อยึดเวียงจันทร์ได้แล้ว กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้สร้างเจดีย์ปราบเวียง และให้พระยาราชสุภาวดีกวาดครัวเวียงจันทร์ พร้อมทั้งอัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ และพระพุทธรูปศิลาเขียวมากรุงเทพฯด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาราชสภาวดีที่สมุหนายก

ใน พ.ศ.๒๓๗๐ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปทำลายเมืองเวียงจันทร์ พระยาพิชัยสงครามคุมพล ๓๐๐ ข้ามแม่น้ำโขงไปดูลาดเลาได้ความว่าเจ้าเมืองญวนให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุวงศ์ และเจ้าราชวงศ์กลับมา ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ยกพวกเข้าโจมตีทำร้ายทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นพวกเวียงจันทร์ตามมาไล่ฆ่าฟันถึงชายหาดหน้าเมืองพันพร้าว ก็ทราบว่าเกิดเหตุร้าย จึงขอกำลังเพิ่มเติมจากเมืองยโสธร

เจ้าอนุวงศ์ให้กำลังรี้พลข้ามตามมาและปะทะกับทัพไทยที่บ้านบกหวาน เจ้าอนุวงศ์สู้ไม่ได้จึงพาครอบครัวหนึไปพึ่งญวน ในที่สุดเจ้าอนุวงศ์กับครอบครัวก็ถูกจับส่งมากรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวเจ้าอนุวงศ์ใส่กรงเหล็กประจานไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ถึงแก่พิราสัย

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเคยเข้าไปทรงแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมคณะมหาเถระเป็นผู้สอบ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระปรีชาสามารถในการแปลพระปริยัติธรรมได้ถูกต้องเป็นที่ปรากฎแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และคณะมหาเถระ ทรงออกแปลอยู่ ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือเป็นยศศักดิ์

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเห็นว่าพระภิกษุมอญที่มาอยู่ในเมืองไทยปฎิบัติตนดี เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงทรงเชิญมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย และเมื่อพระองค์มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ พระภิกษุที่เลื่อมใสในพระธรรมวินัย ต่างขอย้ายมาอยู่ที่วัดบวรฯ และช่วยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎตั้งธรรมยุติกนิกาย

การสร้างพระสมุทรเจดีย์หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระเจดีย์กลางน้ำ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และเจ้าพระยาพระคลัง มาถมเกาะที่เมืองสมุทรปราการเพื่อใช้เป็นที่สร้างพระเจดีย์ และให้กรมหมื่นศักดิพลเสพย์คิดแบบเจดีย์ถวาย ทรงขนานนามว่า พระสมุทรเจดี แต่ยังมิได้สร้างพระองค์ก็เสด็จสวรรคต


พระสมุทรเจดีย์



เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองสร้าง เป็นเจดีย์รูปไม้สิบสองกับศาลา ๔ หลัง แล้วพระองค์เสด็จไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คนทั้งหลายก็พากันไปบูชาเป็นการนักขัตฤกษ์ประจำปีในเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ เสมอมา

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระสมุทรเจดีย์เปลี่ยนรูปทรงเป็นแบบเจดีย์เก่า ก่อฐานขยายออกมา และเสริมส่วนสูงขึ้นเป็น ๓๘ เมตร ทำกำแพงและศาลารายใหม่ทั้ง ๔ ทิศ สร้างวิหารขึ้น ๑ หลัง และหอระฆังรายรอบดังที่เป็นปัจจุบันนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดราชนัดดา พระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทรงพระราชดำริถึงพระเจดีย์ที่จะสร้างประจำวัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท เพราะทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างของแปลกๆที่มีคุณค่าทางพุทธศาสนาและทางศิลปะ โดยดัดแปลงรูปแบบจากโลหะปราสาทของอินเดียและลังกา โลหะปราสาทหลังนี้แตกต่างกับ ๒ หลังแรก คือมิได้มียอดหรือส่วนใดเป็นโลหะ ไม่มีอัญมณีอันมีค่าประดับอยู่ และมิได้ให้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ แต่ประสงค์ให้เป็น "ธรรมเจดีย์" จึงมียอดมณฑปในลักษณะของเจดีย์ ๓๗ ยอด และในขณะนี้เป็นโลหะปราสาทที่เหลืออยู่หลังเดียวในโลก


โลหะปราสาท ที่วัด ราชนัดดา ขณะนี้เหลืออยู่เพียงหลังเดียวในโลก



ประธานาธิบดีแจคสันแห่งสหรัฐอเมริกาได้ส่งนายเอดมันด์ รอเบิดส์ เป็นทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๗๕ ได้นำหนังสือของประธานาธิบดี ยื่นต่อเจ้าพระยาพระคลัง แล้วได้ประชุมกันที่บ้านเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อตกลงทำหนังสือสัญญา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม เป็นสนธิสัญญา ๒๐ ข้อ และต่อมาเอดมันด์ รอเบิดส์ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย นำของขึ้นทูลเกล้าถวายหลายอย่าง เช่น พระแสงฝักทอง ผ้าแพร และโคมระย้า เป็นต้น

เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ และในปี พ.ศ.๒๓๗๕ เกิดข้าวยากหมากแพง การเงินที่วใช้หมุนเวียนในประเทศหายไป ชาวจีนชื่อ หง หรือ พระยาศรีไชยบาดาล นายอากรสุรา กราบบังคลทูล ว่าเงินหายไปเพราะราษฎรนำไปฝัง ควรแก้ไขด้วยการออกหวย ก.ข.

ในปี พ.ศ.๒๓๗๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดอนุญาตให้ตั้งโรงหวย ก.ข. ขึ้น ๒ โรง คือของเจ๊กหง ๑ โรง ของพระยาศรีวิโรจน์ ๑ โรง ใช้ตัวอักษรไทย ๓๖ ตัวขึ้นกระดานแขวนไว้หน้าโรงหวย แทงครึ่งหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑ เฟื้อง ถ้าถูกจ่ายคืน ๓๐ เท่า ต่อมาเหลือของเจ๊กหงโรงเดียว ตัวอักษรที่ใช้แทงลดลงเหลือ ๓๔ ตัว และจะแทงเท่าไรก็ได้ ในการออกหวย ก.ข.ครั้งนี้ทำเงินรายได้เข้าแผ่นดินถึงปีละ ๒ หมื่นบาท การเล่นหวยมีมาตลอด ๔ รัชกาล มาเลิกการเล่นไปใน รัชกาลที่ ๖

หลังจากปรากฎกบฎเวียงจันทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมเพิ่มเติมที่สมุทรปราการ เช่น ป้อมปีกกา ป้อมตรีเพชร ป้อมเสือซ่อนเล็บ ป้อมวิเชียรโชฎก

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวันดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า "วัดโพธาราม" เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส" รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเปลี่ยนสร้อยนามของวันมาเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดโพธิ์"

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นการปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ที่สุด สร้างพระเจดีย์วิหาร พระพุทธไสยาสน์ ฯลฯ และจารึกวิชาการต่างๆลงในแผ่นศิลา ประดับไว้รอบพระอุโบสถ เช่น หมวดประวัติวัด หมวดตำรายา หมวดอนามัย หมวดประเพณี หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ และหมวดพุทธศาสนา นับเป็นพระอารามที่รวมสรรพตำราวิชาการหลายแขนง จนได้รับ สมญาว่าเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย "

ความรู้หมวดอนามัยหรือสมัยใหม่เรียกว่าโยคะ จะเห็นได้จากกลุ่มฤษีดัดตนซึ่งประดับไว้บนภูเขาทางด้านใต้ของพระอุโบสถ โครงฤาษีดัดตนอธิบายท่าดัดตนจารึกไว้ตามศาลารายรอบวัด


ฤาษีดัดตนที่มีอยู่ภายในวัดโพธิ์



ตุ๊กตาจีนที่ปากประตูกำแพงแก้ว เป็นตุ๊กตาหินตัวใหญ่ สูง ๘ ศอก แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนที่เข้ามาในสมัยนั้น

จารึกเกี่ยวกับสมุฎฐานของโรค เขียนเป็นรูปคนแสดงแผนการนวด รูปยักษ์แสดงไข้ทรพิษ ฯลฯ ประดับไว้บริเวณศาลารายที่ล้อมหมู่พระมหาเจดีย์

ความรู้หมวดวรรณคดีไทยจารึกไว้ที่เสาระเบียงพระอุโบสถ มีคำประพันธ์ร้อยกรองประเภทฉันท์ เพลงยาวกลบท โครงกลบท พร้อมทั้งอธิบายวิธีแต่งคำประพันธ์

ในวัดพระเชตุพนฯ มีพระพุทธรูปที่สวยงาม หลายสมัยประดิษฐานอยู่มาก เช่น พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน เป็นพระนอนองค์งามที่สุดและใหญ่เป็นที่สองในประเทศไทย พระพุทธปฎิมา พระพุทธชินสีห์ พระพุทธโลกนาถ พระพุทธปาลิกไลย์ พระพุทธชินราช พระพุทธมารวิชัย และพระพุทธรูปที่ระเบียงรอบพระอุโบสถจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาและปฎิมากรรม


พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน ที่งดงามที่สุด และใหญ่เป็นที่ ๒ ของประเทศ



ในเขตสังฆวาสวัดพระเชตุพนฯ มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ พระตำหนักวาสุกรีบ้านกวี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ภายในตำหนักเป็นห้องโถงใหญ่ ปัจจุบันเป็นที่ไว้พระรูป พระอัฐิและของใช้ส่วนพระองค์ของกรมสมเด็จฯ วันที่ ๑๑ ธันวาคมของทุกปีที่เรียกว่าวัน "บรมฯ" ทางวัดจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบนมัสการพระอัฐิ และมีการบำเพ็ญกุศลถวาย

สมเด็จพระมหาเถรสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ประสูติเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๓๓๓ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ตั้งแต่เป็นสามเณร จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงรับภาระในการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในด้านวิชาการความเป็นรัตนกวีของพระองค์ท่าน จะเห็นได้จากผลงานจารึกหมวดวรรณคดีในวัดพระเชตุพนฯ วรรณคดีร้อยกรองอันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น โคลงดั้นยอพระเกียรติ พระบาทสมเด้จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯสรรพสิทธิคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนปลาย) กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ลิลิตตะเลงพ่าย ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์ (เว้นกัณฑ์มหาพนและกัณฑ์มัทรี) พระปฐมสมโพธิกถา พระราชพงศาวดารกรุงเก่า คำโคลงฤดีดัดตนฯลฯ

พ.ศ.๒๓๗๖ พระเจ้ามินมาง ให้ขุดศพองต๋ากุนขึ้นมาโบยประจาน องภอเบโคยซึ่งภักดีต่อองต๋ากุนเห็นการประจานศพดังนั้นก็โกรธ จึงก่อการกบฎหวังจะปลดพระเจ้ามินมางออกจากราชสมบัติ พระเจ้ามินมางส่งองเตียนกุนเป็นแม่ทัพปราบกบฎ องภอเบโคยกลัวจะสู้ไม่ได้ จึงแต่งหนังสือให้ขุนนางถือมากรุงเทพฯ ขออ่อนน้อมและขอกองทัพไทยไปช่วยรบ แต่กองทัพไทยยังมิทันจะได้ยกไป พวกขุนนางญวนกลัวพระราชอำนาจของพระเจ้ามินมางจึงกลับใจไปเข้ากับพระองค์ และอาสาพระเจ้ามินมางรบองภอเบโคย องภอเบโคยจึงไม่สามารถทำการกบฎได้สำเร็จ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้รับหนังสือขององภอเบโคย จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) คุมทัพบกีกำลังพลประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน ยกไปทางเขมร โปรดฯให้นักองอิ่ม และนักองค์ด้วงไปด้วย ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุญนาค) เป็นแม่ทัพเรือ คุมพลประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ยกไปทางเมืองบันทายมาศไปบรรจบกับทัพเจ้าพระยาบดินทร์เดชาที่ไซ่ง่อน

ทัพเรือตีเมืองบันทายมาศและเมืองโชฎกได้ ทัพบกบุกเข้าแดนเขมร เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแบ่งกองทัพให้อยู่เกลี้ยกล่อมขุนนางเขมรที่พนมเปญ ที่เหลือมาสมทบกับทัพเรือที่เมืองโชฎกเพื่อยกไปไซ่ง่อน แต่เนื่องจากกองทัพญวนมีกำลังและความสามารถในการรบทางเรือมาก เจ้าพระยาทั้งสองจึงถอยทัพกลับมา

ไทยเตรียมทัพต่อสู้ญวนอีกครั้ง โดยตีพร้อมกันทั้ง ๒ ฟากทะเลสาบ เจ้าพระยาบดินทร์เดชายกทัพหลวงตามไปและใช้อุบายขู่ญวนให้ยอมแพ้ ไทยยึดพนมเปญได้

ใน พ.ศ.๒๓๘๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชดำริให้ถมคลองขุด (คลองวิญเต) แต่จะต้อ้งขับไล่กองทหารญวนที่รักษาปากคลองให้หมดก่อน โปรดฯให้จัดทัพเรือและทัพบกไปรบ แต่กองทัพเรือโจมตีป้อมญวนไม่สำเร็จ จึงถอยกลับมา ญวนจึงตีทัพบกแตก

พ.ศ.๒๓๘๘ ทัพเรือของญวนบุกเข้ามายิงค่ายไทยที่พนมเปญแตกยับเยิน แม่ทัพญวนให้เข้าเมืองโชฎกคุมกองทัพมาเมืองอุดงฦาชัย แต่ไทยรู้ตัวก่อน ญวนจึงไม่สามารถตีเมืองอุดงฦาชัยได้

สมครามระหว่างไทยกับญวน ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยืดเยื้อประมาณ ๑๔ ปี ก็ยังไม่มีฝ่ายใดชนะอย่างเด็ดขาด ในที่สุดสงครามยุติลงเนื่องจากญวนถูกฝรั่งเศสรุกราน จึงคิดสงบศึกกับไทย โดยหวังจะเตรียมกำลังไว้สู้รบกับฝรั่งเศสทางเดียว จึงเกลี้ยกล่อมให้นักองค์ด้วงยอมขึ้นแก่ ๒ ประเทศ ซึ่งไทยก็เห็นดีด้วย เนื่องจากนายทัพนายกองระอาในการสงคราม เสบียงอาหารไม่พอแจกจ่าย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการค้าสำเภากับต่างประเทศมาก โดยเฉพาะการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน พวกเจ้านายและข้าราชการมีสำเภาค้าเป็นของตนเอง ทำให้มีรายได้เข้าประเทศมาก พระองค์ทรงเห็นว่าเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้ได้ดีกว่าสำเภาจีน จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก และด้วยทรงเป็นห่วงว่าคนรุ่นหลังจะไม่รู้จักสำเภาจีน ในโอกาสที่ทรงปฎิสังขรณ์วัดคอกกระบือ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสำเภาจีนเป็นฐานรองรับพระเจดีย์ และขนานนามวัดใหม่ว่า วัดยานนาวา

วัดราชโอรสาราม เดิมชื่อ วัดจอมทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเริ่มปฎิสังขรณ์ตั้งแต่สมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขณะนั้นได้ทรงติดต่อกับชาวจีนและทรงนิยมศิลปแบบจีน จึงโปรดเกล้าฯให้ใช้ช่างฝีมือชาวจีน เสด็จมาประทับทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เมื่อปฎิสังขรณ์วัดเสร็จ จึงทูลเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"

พระอุโบสถหลังคาแบบจีน ลด ๒ ชั้นมุงกระเบื้องสีแบบไทย ประดับกระเบื้องเคลือบตามขอบหลังคา มีศาลารายพระปรางค์อยู่ตามมุม มีถะแบบจีนรายรอบอยู่ภายนอก

หน้าบันเป็นหน้าจั่วทรงวิลันดาก่าแต่แปลงเป็นจีน ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ตอนบนประดิษฐ์เป็นเครื่องบูชา มีดอกไม้ มังกร หงส์ ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์ประกอบด้วย ภาพภูเขา ต้นไม้ บ้านเรือน วัว ควาย

พระระเบียงล้อมวิหาร พระพุทธไสยาสน์ เจาะเป็นประตูกลม ตามแบบศิลปจีน มีบานประตูเป็นไม้ปิดเปิด

เก๋งริมน้ำ แสดงศิลปะในการมุงกระเบี้ยงหลังคาแบบจีน

ศาสนาจารย์ แอน บิช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี. หรือที่คนไทยรู้จักในนามของ "หมอบรัดเลย์" ได้เข้ามาเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ ในคณะอเมริกัน บอร์ด เพื่อการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ได้นำวิทยาการทั้งทางด้าน การศึกษา การแพทย์และการพิมพ์ เข้ามาเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย หมอบรัดเลย์ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖

ในการด้านแพทย์ หมอบรัดเลย์ได้นำเอาวิธีการรักษาโรคการผ่าตัด การป้องกันโรคด้วยวิธีทันสมัยเข้ามาแพร่หลาย เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค




 

Create Date : 30 มกราคม 2551
0 comments
Last Update : 17 กันยายน 2554 18:36:15 น.
Counter : 5494 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


@ ปั๊กกาเป้า @..อิอิ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




ติดต่อเจ้าของบ้านได้ที่นี่ ............ e - mail
New Comments
Friends' blogs
[Add @ ปั๊กกาเป้า @..อิอิ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.