Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2562
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
22 กุมภาพันธ์ 2562
 
All Blogs
 
คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2019)


การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกฤดูกาล 2019 มีความพิเศษกับคนไทยอย่างยิ่งเพราะเรามีนักขับไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี อเล็กซานเดอร์ อัลบอน นักขับลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เลือกใช้สัญชาติไทยลงแข่งขันตั้งแต่ซีรีส์เล็กๆ จนกระทั่งบัดนี้เขาได้เป็นนักขับของโตโร รอสโซ ทำให้ธงไทยได้โบกสะบัดในฟอร์มูล่าวันอีกครั้ง

ปฏิทินการแข่งขันปี 2019

การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกเป็นระบบเก็บคะแนนสะสม ซึ่งปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันในแต่ละปีหรือแต่ละฤดูกาลประกอบด้วยจำนวนสนามแข่งขันได้มากที่สุด 21 สนามตามประกาศในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับการลงนามร่วมกันในสัญญาการจัดการแข่งขันระหว่างสนามนั้นๆ กับผู้ถือลิขสิทธิ์ทางการค้าของการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวันบริหารงานโดยลิเบอร์ตี้มีเดีย ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์รายใหญ่ของอเมริกา สำหรับฤดูกาล 2019 มีสนามที่ต้องชิงชัยรวมทั้งสิ้น 21 สนาม ดังนี้

สนามที่ 1: 17 มี.ค. - เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
สนามที่ 2: 31 มี.ค. - ซาคีร์ บาห์เรน
สนามที่ 3: 14 เม.ย. - เซี่ยงไฮ้ จีน
สนามที่ 4: 28 เม.ย. - บาคู อาเซอร์ไบจัน
สนามที่ 5: 12 พ.ค. - บาร์เซโลน่า สเปน
สนามที่ 6: 26 พ.ค. - มอนติคาร์โล โมนาโก
สนามที่ 7: 9 มิ.ย. - มอนทรีออล แคนาดา
สนามที่ 8: 23 มิ.ย. - เลอ กาสแตลเลต์ ฝรั่งเศส
สนามที่ 9: 30 มิ.ย. - สปีลเบิร์ก ออสเตรีย
สนามที่ 10: 14 ก.ค. - ซิลเวอร์สโตน สหราชอาณาจักร
สนามที่ 11: 28 ก.ค. - ฮ็อคเคนไฮม์ เยอรมัน
สนามที่ 12: 4 ส.ค. - บูดาเปสต์ ฮังการี
สนามที่ 13: 1 ก.ย. - สปา-ฟรองคอร์ชองป์ เบลเยี่ยม
สนามที่ 14: 8 ก.ย.- มอนซ่า อิตาลี
สนามที่ 15: 22 ก.ย. - สิงคโปร์
สนามที่ 16: 29 ก.ย. - โซชิ รัสเซีย
สนามที่ 17: 13 ต.ค. - ซูซูกะ ญี่ปุ่น
สนามที่ 18: 27 ต.ค. - เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก
สนามที่ 19: 3 พ.ย. - ออสติน สหรัฐอเมริกา
สนามที่ 20: 17 พ.ย. - เซาเปาโล บราซิล
สนามที่ 21: 1 ธ.ค. - อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


ทีมและนักแข่ง

ในปีนี้มีจำนวนทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมนักขับ 20 คน เช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่มีการเปลี่ยนชื่อทีมอยู่ 2 ทีม คือ เรซซิ่งพ้อยต์ (เปลี่ยนจากฟอร์ซอินเดีย) และอัลฟ่าโรเมโอ (เปลี่ยนจากเซาเบอร์)

แชมป์โลกฟอร์มูล่าวันคนปัจจุบันคือ ลูอิส แฮมิลตัน ซึ่งเป็นแชมป์ 5 สมัย และเมอร์เซเดส ต้นสังกัดของเขาก็เป็นทีมแชมป์โลกปัจุุบันด้วย โดยนักขับแชมป์โลกที่ลงแข่งขันในฤดูกาลนี้มีทั้งหมด 3 คนด้วยกัน นอกจากแฮมิลตัน (แชมป์ปี 2008 2014 2015 2017 และ 2018) ก็ยังมีเซบาสเตียน เวทเทล (2010-2013) และคิมี่ ไรค์โคเน่น (2007)

รายชื่อทีมแข่ง นักแข่ง รวมถึงแชสซีส์และเครื่องยนต์ มีดังนี้

เมอร์เซเดส (Mercedes-AMG Petronas Motorsport)
แชสซีส์: W10
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 44 ลูอิส แฮมิลตัน (สหราชอาณาจักร) และ 77 วาลท์เทรี่ บอตทาส (ฟินแลนด์)

เฟอร์รารี่ (Scuderia Ferrari)
แชสซีส์: SF90
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 5 เซบาสเตียน เวทเทล (เยอรมัน) และ 16 ชาร์ล เลอแคลร์ (โมนาโก)

เร้ดบูล (Aston Martin Red Bull Racing)
แชสซีส์: RB15
เครื่องยนต์: ฮอนด้า
นักแข่ง: 33 แม็กซ์ เวอร์สตัปเพ่น (ฮอลแลนด์) และ 10 ปิแอร์ แกสลีย์ (ฝรั่งเศส)

เรโนลต์ (Renault F1 Team)
แชสซีส์: R.S. 19
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 3 แดเนียล ริกคาร์โด้ (ออสเตรเลีย) และ 27 นิโค ฮูลเคนเบิร์ก (เยอรมัน)

ฮาส (Rich Energy Haas F1 Team)
แชสซีส์: VF-19
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 8 โรแมง โกรส์ฌอง (ฝรั่งเศส) และ 20 เควิน แม็กนุสเซ่น (เดนมาร์ก)

แม็คลาเรน (McLaren F1 Team)
แชสซีส์: MCL34
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 55 คาร์ลอส ซายนซ์ (สเปน) และ 4 แลนโด้ นอร์ริส (สหราชอาณาจักร)

เรซซิ่งพ้อยต์ (SportPesa Racing Point F1 Team) *อดีตฟอร์ซอินเดีย
แชสซีส์: RP19
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 11 เซอร์จิโอ เปเรซ (เม็กซิโก) และ 18 แลนซ์ สโตรล (แคนาดา)

อัลฟ่าโรเมโอ (Alfa Romeo Racing) *อดีตเซาเบอร์
แชสซีส์: C38
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 7 คิมี่ ไรค์โคเน่น (ฟินแลนด์) และ 99 อันโตนิโอ โจวินาซซี่ (อิตาลี)

โตโร รอสโซ (Red Bull Toro Rosso Honda)
แชสซีส์: STR14
เครื่องยนต์: ฮอนด้า
นักแข่ง: 26 ดาเนียล คัฟยาต (รัสเซีย) และ 23 อเล็กซานเดอร์ อัลบอน (ไทย)

วิลเลียมส์ (ROKiT Williams Racing)
แชสซีส์: FW42
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 88 โรเบิร์ต คูบิซ่า (โปแลนด์) และ 63 จอร์จ รัสเซลล์ (สหราชอาณาจักร)

หมายเหตุ: ในวงเล็บคือชื่อเต็มของทีม

 
*********************************************************
 

กฎการแข่งขันเบื้องต้น


สุดสัปดาห์การแข่งขัน

ในแต่ละสุดสัปดาห์การแข่งขันประกอบด้วย

วันศุกร์ - เป็นรอบฝึกซ้อม (Free Practice) แบ่งเป็น 2 รอบ เช้าและบ่าย หรือบ่ายและค่ำสำหรับกรณีไนท์เรซ รอบละ 90 นาที (สำหรับรายการโมนาโก กรังด์ปรีซ์ รอบฝึกซ้อมวันแรกจะจัดในวันพฤหัสบดี เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของเมือง)

วันเสาร์ - ประกอบด้วยรอบฝึกซ้อมครั้งสุดท้าย ใช้เวลา 60 นาที และถัดมาจะเป็นรอบควอลิฟาย (Qualifying) หรือรอบแข่งขันจับเวลาเพื่อจัดอันดับสตาร์ทในวันแข่งขันจริงคือในวันอาทิตย์ ใช้เวลา 60 นาที ซึ่งรอบควอลิฟายจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงย่อย ได้แก่

Q1 ใช้เวลา 18 นาที ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุด 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 16-20)

Q2 ใช้เวลา 15 นาที สำหรับรถ 15 คัน เวลาจาก Q1 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่ ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุดอีก 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 11-15)

Q3 ใช้เวลา 12 นาที สำหรับรถ 10 คันสุดท้าย เวลาจาก Q2 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่และจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 1-10) ผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ออกตัวจากกริดสตาร์ทอันดับที่ 1 หรือที่เรียกว่าตำแหน่งโพล (Pole Position) ซึ่งเป็นตำแหน่งสตาร์ทที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ จำนวนการคัดรถออกจาก Q1 และ Q2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนรถที่เข้าแข่งขันในแต่ละฤดูกาล สำหรับปี 2019 มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมจำนวนรถ 20 คัน โดยรถทุกคันจะต้องทำเวลาให้อยู่ในเวลา 107% ของเวลาที่เร็วที่สุดใน Q1 เพื่อผ่านการควอลิฟายไปเข้าร่วมการแข่งขัน หากเวลาควอลิฟายไม่ถึง 107% ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการว่าจะอนุญาตให้รถคันนั้นๆ ลงแข่งขันหรือไม่

วันอาทิตย์ - เป็นวันแข่งขันหรือ Race Day โดยกำหนดให้ระยะทางรวมในการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 305 กม. (สำหรับสนามโมนาโกถือเป็นข้อยกเว้น ลดเหลือประมาณ 260 กม.) หรือใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นแต่การแข่งขันจะถูกคั่นด้วยธงแดงเพื่อหยุดการแข่งขันชั่วคราวอันเนื่องจากอุบัติเหตุหรือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย


คะแนนสะสม

ฟอร์มูล่าวันใช้ระบบสะสมคะแนนตลอดทั้งฤดูกาล ผู้ที่ได้คะแนนสะสมมากที่สุดทั้งประเภทนักขับและประเภททีมผู้สร้างจะได้แชมป์โลกประจำฤดูกาลไปครอง โดยการให้คะแนนนักขับจะจัดสรรให้กับผู้ที่เข้าเส้นชัย 10 อันดับแรกดังนี้

อันดับที่ 1 - 25 คะแนน
อันดับที่ 2 - 18 คะแนน
อันดับที่ 3 - 15 คะแนน
อันดับที่ 4 - 12 คะแนน
อันดับที่ 5 - 10 คะแนน
อันดับที่ 6 - 8 คะแนน
อันดับที่ 7 - 6 คะแนน
อันดับที่ 8 - 4 คะแนน
อันดับที่ 9 - 2 คะแนน
อันดับที่ 10 - 1 คะแนน

สำหรับคะแนนทีมผู้สร้างจะเป็นการนำคะแนนของนักขับในทีมทั้ง 2 คนที่ได้รับจากแต่ละสนามมารวมกัน

*อัพเดทปี 2019

นับตั้งแต่ฤดูกาลนี้เป็นต้นไป นักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุด (fastest lap) ในการแข่งขันและจบการแข่งขันใน 10 อันดับแรกจะได้รับคะแนนโบนัส 1 คะแนน ซึ่งทีมต้นสังกัดของนักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดนั้นจะได้คะแนนพิเศษ 1 คะแนนด้วย


การใช้ยาง

ยางที่รถฟอร์มูล่าวันใช้แข่งขันในปัจจุบันมาจากผู้ผลิตรายเดียวคือปิเรลลี่ (Pirelli) ของอิตาลี ประเภทของยางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยางสำหรับแทร็คแห้ง (slick) และยางสำหรับแทร็คเปียก ซึ่งแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ดังนี้

ยางสำหรับแทร็คแห้ง

ในปี 2019 ปิเรลลี่ปรับเปลี่ยนการเรียกชื่อและแถบสีด้านข้างของยาง โดยลดจำนวนเหลือใช้เพียงแค่ 3 เนื้อ 3 สีในการแข่งขันแต่ละสนาม ได้แก่ ฮาร์ด (สีขาว - เนื้อแข็งที่สุด) มีเดียม (สีเหลือง - เนื้อปานกลาง) และซอฟต์ (สีแดง - เนื้อนิ่มที่สุด) มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมจดจำการใช้ยางให้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง เนื้อยางของปีนี้มีทั้งหมด 5 เนื้อด้วยกัน มีชื่อเรียกเป็น C1-C5 ซึ่งปิเรลลี่จะบอกให้ทีมและสื่อทราบล่วงหน้าว่าแต่ละสนามที่เลือก 3 เนื้อเพื่อมาทำเป็น 3 สีนั้นเป็นเนื้อไหนบ้าง มีคำอธิบายของยางแต่ละเนื้อดังนี้

C1 - เป็นยางเนื้อแข็งที่สุดของปี 2019 ถ้าเทียบแล้วเนื้อจะนิ่มกว่ายางฮาร์ดของปีก่อน ออกแบบมาสำหรับสนามที่ยางต้องรองรับพลังงานสูงสุด อย่างสนามโค้งความเร็วสูง แทร็คที่ขรุขระ หรือแทร็คที่อุณหภูมิสูง ยางเนื้อนี้ใช้เวลาในการวอร์มนานกว่าเนื้ออื่น แต่ทนกว่าและมีอัตราการสึกหรอต่ำ

C2 - เทียบได้กับยางมีเดียมของปีที่แล้ว นับเป็นยางอเนกประสงค์ที่เนื้อออกจะแข็งสักหน่อย เหมาะกับสนามที่ใช้ความเร็วสูง มีอุณหภูมิสูง รองรับพลังงานสูง เป็นยางที่นำมาใช้ได้อย่างหลากหลาย สามารถปรับใช้ได้กับสภาพสนามต่างๆ

C3 - เท่ากับยางซอฟต์ของปีที่แล้ว คงความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความคงทนได้ดี โดยเน้นในเรื่องประสิทธิภาพ เป็นยางที่ปรับใช้ได้หลากหลายมาก จะใช้เป็นยางนิ่มที่สุดสำหรับสนามที่ยางต้องรับบทหนัก หรือเป็นยางแข็งที่สุดสำหรับสนามที่เป็นมิตรกับยางหรืออย่างสตรีทเซอร์กิตก็ได้

C4 - มีความใกล้เคียงกับยางอัลตร้าซอฟต์ของปี 2018 ที่สุด ทำงานได้ดีในสนามที่มีโค้งแคบหรือหักไปมา สามารถวอร์มได้อย่างรวดเร็วและถึงจุดสูงสุดของการทำงานได้ดีมาก แต่อายุการใช้งานค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ได้มีการปรับปรุงเรื่องความสม่ำเสมอในการใช้งาน ดังนั้นยางเนื้อนิ่มกว่าจะใช้ได้อเนกประสงค์ยิ่งขึ้น

C5 - เป็นยางเนื้อนิ่มที่สุดในปีนี้และเป็นรุ่นต่อมาของยางไฮเปอร์ซอฟต์ของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยางที่ทำความเร็วได้ดีที่สุดเท่าที่ปิเรลลี่เคยผลิตมา ยางชนิดนี้เหมาะกับทุกสนามที่ต้องการการเกาะถนนในระดับสูง แต่ต้องแลกการได้ความเร็วพิเศษและการยึดเกาะไปกับอายุการใช้งานที่สั้นกว่ายางชนิดอื่นในรุ่นปัจจุบัน หากรีดประสิทธิภาพยางนี้ออกมาได้สูงสุดก็จะเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์การแข่งขัน
 
 
ยางสำหรับแทร็คแห้งในปี 2019 ทั้ง 5 เนื้อ
 
 
ยางที่ใช้ในสุดสัปดาห์การแข่งขัน
 

ยางสำหรับแทร็คเปียก

ยางอินเตอร์มีเดียต - แถบสีเขียว สำหรับแทร็คกึ่งเปียกกึ่งแห้ง
ยางฟูลเว็ต - แถบสีฟ้า สำหรับแทร็คที่เปียกมาก มีน้ำขัง

สำหรับกฎการใช้ยางมีรายละเอียดดังนี้

- ปิเรลลี่ โดยการปรึกษาร่วมกับเอฟไอเอ จะประกาศเนื้อยางสำหรับการแข่งขันในแต่ละสนามที่จะระบุเป็นฮาร์ด มีเดียม และซอฟต์ ให้ทีมแข่งและสื่อรับทราบล่วงหน้า

- นักขับแต่ละคนจะได้รับยางสำหรับแทร็คแห้งจำนวน 13 ชุด ยางอินเตอร์มีเดียต 4 ชุด และยางฟูลเว็ต 3 ชุด สำหรับใช้ตลอดสุดสัปดาห์การแข่งขัน ได้แก่ ช่วงฝึกซ้อม รอบควอลิฟาย และการแข่งขัน

- ปิเรลลี่จะระบุชนิดยางบังคับในการแข่งขันสำหรับให้รถแต่ละคันต้องเก็บไว้ใช้วันแข่งขันจำนวน 2 ชุด (สูงสุด 2 ชนิด โดยถ้าสนามใดกำหนดยางบังคับให้ 2 ชนิด ยางบังคับคือชนิดละ 1 ชุด) และยางเนื้อนิ่มที่สุดในสัปดาห์นั้นอีก 1 ชุดไว้ใช้เฉพาะรอบควอลิฟาย ช่วง Q3 เท่านั้น หากรถคันใดไม่ได้ผ่านเข้า Q3 ก็สามารถเก็บยางชนิดนิ่มที่สุดนั้นไปใช้วันแข่งได้

- แต่ละทีมสามารถเลือกชนิดของยางสำหรับอีก 10 ชุดที่เหลือของนักขับแต่ละคนได้เองจากยาง 3 ชนิดที่ระบุให้ใช้ในสุดสัปดาห์การแข่งขัน โดยทีมสามารถเลือกยางให้เหมาะกับนักขับแต่ละคนได้ ทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องเลือกจำนวนยางเหมือนกัน

- ทีมจะต้องเลือกยางที่จะใช้ภายในวันที่ปิเรลลี่กำหนด โดยเลือกล่วงหน้า 8 สัปดาห์สำหรับการแข่งขันในทวีปยุโรป และ 14 สัปดาห์สำหรับสนามนอกทวีป ซึ่งปิเรลลี่จะแจ้งการเลือกยางไปยังเอฟไอเอ และจากนั้นจะแจ้งกลับมายังปิเรลลี่ถึงจำนวนยางที่ต้องผลิต การเลือกยางของแต่ละทีมจะถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่ง 2 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันจะมีการเปิดเผย หากทีมใดเลือกยางช้ากว่ากำหนด เอฟไอเอโดยร่วมปรึกษากับปิเรลลี่จะเป็นผู้เลือกยางให้แทน

- เมื่อมีการเลือกยางสำหรับรถแต่ละคันแล้ว เอฟไอเอจะติดบาร์โค้ดให้กับยางแบบสุ่ม

- ยางชนิดต่างๆ จะได้รับการแยกชนิดด้วยแถบสีด้านข้างอย่างชัดเจนตามคำอธิบายข้างต้น

- ทีมต้องส่งคืนยางทางอิเล็กทรอนิกตามกำหนดที่ระบุ แต่พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกชนิดของยางที่จะส่งคืนได้ตามกำหนดเวลาช่วงต่างๆ ได้แก่
1 ชุดหลัง 40 นาทีแรกของการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
1 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
2 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 2 (FP2)
2 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 3 (FP3)
*เว้นแต่ทั้ง FP1 และ FP2 ได้รับการประกาศให้เป็นช่วงแทร็คเปียกหรือถูกยกเลิก นักขับแต่ละคนอาจเก็บยางไว้ได้ 1 ชุด แต่ต้องส่งคืนก่อนเริ่มรอบควอลิฟาย

- ห้ามทีมส่งคืนยางบังคับ 2 ชุดที่ปิเรลลี่เลือกให้ไว้และยางนั้นต้องพร้อมใช้ในการแข่งขัน

- หากไม่ได้ใช้ยางอินเตอร์มีเดียตหรือฟูลเว็ทในการแข่งขัน นักขับทุกคนต้องใช้ยางสำหรับแทร็คแห้งอย่างน้อย 2 ชนิดระหว่างการแข่งขัน และต้องเป็น 1 ใน 2 ชุดที่ปิเรลลี่กำหนดไว้ ซึ่งแล้วแต่ทีมว่าจะเลือกเป็นชุดไหน

- ห้ามส่งคืนยางบังคับ 1 ชุดที่ให้ใช้ในรอบควอลิฟายก่อนถึงช่วง Q3 นักขับที่สามารถผ่านเข้ารอบควอลิฟาย Q3 ต้องส่งคืนยางชุดดังกล่าวภายใน 3 ชั่งโมงครึ่งหลังสิ้นสุด Q3 และต้องสตาร์ทการแข่งขันด้วยยางที่ตนทำเวลาเร็วที่สุดใน Q2 ส่วนนักขับที่ไม่ได้ผ่านเข้า Q3 สามารถเก็บยางที่ให้ใช้เฉพาะ Q3 นั้นไปใช้ในการแข่งขันได้
 
- หลังจบรอบควอลิฟาย เมื่อยางได้รับการส่งคืนครบถ้วนแล้วปิเรลลี่จะเปิดเผยข้อมูลว่านักขับแต่ละคนเหลือยางชนิดใดบ้างในวันแข่งขัน


สัญญาณธงในสนามที่สำคัญ

ธงตราหมากรุก - จบการแข่งขันหรือหมดเวลาในรอบควอลิฟาย สำหรับปี 2019 ในการโบกธงตราหมากรุกเพื่อแสดงถึงจบการแข่งขัน (แข่งขันครบจำนวนรอบที่กำหนด) ยังคงเป็นไปตามปกติ แต่จะเพิ่มสัญญาณจบการแข่งขันอย่างเป็นทางการโดยเป็นแผงไฟตราหมากรุกแสดงที่เส้นชัยด้วย

ธงเหลืองเดี่ยว - มีอันตรายอยู่ข้างหน้า ให้เตรียมลดความเร็ว
ธงเหลืองคู่ - มีอุบัติเหตุอยู่ข้างหน้า ให้ลดความเร็วลงทันที
*ห้ามแซงภายใต้ธงเหลืองใดๆ โดยเด็ดขาด

ธงเขียว - แทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นักแข่งใช้ความเร็วในการแข่งขันตามปกติได้

ธงแดง - หยุดช่วง ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันหรือควอลิฟาย มักใช้กรณีที่มีอุบัติเหตุรุนแรง แทร็คมีเศษชิ้นส่วนกระจัดกระจายไปทั่ว หรือสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันเนื่องจากสภาพอากาศ

ธงเหลืองสลับแดง - ระวังแทร็คลื่นข้างหน้า มักเกิดจากมีน้ำมันหรือน้ำบนผิวแทร็ค

ธงดำจุดกลมสีส้มตรงกลางพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นมีปัญหาทางเทคนิคและให้กลับเข้าพิตโดยเร็วที่สุด

ธงดำพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นต้องกลับเข้าพิตโดยทันทีเนื่องจากถูกตัดออกจากการแข่งขัน (disqualified)

ธงครึ่งขาวครึ่งดำพร้อมหมายเลขนักขับ - นักขับรถคันนั้นขับขี่โดยไม่สมควร ถือเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายก่อนจะถึงธงดำ

ธงขาว - ให้ระวังพาหนะเคลื่อนที่ช้าที่อยู่ในแทร็ค

ธงฟ้า - บอกให้รถช้าที่กำลังจะถูกน็อกรอบรู้ว่ามีรถที่เร็วกว่าและอยู่คนละรอบตามมา ต้องเปิดทางให้ ถ้าผ่านธงฟ้า 3 จุดติดต่อกันแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ


เซฟตี้คาร์

เซฟตี้คาร์จะออกมาเมื่อกรรมการฝ่ายควบคุมการแข่งขันเห็นว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ในจุดที่เสี่ยง และการกู้รถต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนกับจุดเดิม เซฟตี้คาร์ออกมาวิ่งนำการแข่งขันโดยอยู่ข้างหน้ารถผู้นำ เป็นการควบคุมความเร็วของรถบนแทร็คให้เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ขณะที่วิ่งตามหลังเซฟตี้คาร์ ห้ามไม่ให้มีการแซงกัน หากมีรถช้าที่วิ่งคนละรอบ (รถถูกน็อกรอบ) แทรกอยู่ กรรมการจะให้สัญญาณรถช้านั้นแซงเซฟตี้คาร์ขึ้นมาเพื่อวนกลับไปอยู่ในตำแหน่งจริงของตน ซึ่งนักขับอาจเข้าพิตไปเปลี่ยนยางได้ตามสัญญาณที่กรรมการแจ้งว่าพิตเลนเปิด

หากสถานการณ์ในแทร็คกลับมาเป็นปกติได้แล้ว เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลน โดยจะให้สัญญาณแก่ผู้นำด้วยการดับไฟสีเหลืองบนรถในรอบสุดท้ายที่วิ่ง เมื่อเซฟตี้คาร์กลับเข้าไปในพิตเลนแล้ว รถจะกลับมาแข่งขันด้วยความเร็วเต็มที่และแซงกันได้ตามปกติก็ต่อเมื่อวิ่งผ่านเส้นชัย (finishing line) ไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้นำการแข่งขันมีสิทธิ์กำหนดจังหวะวิ่งผ่านเส้นชัย ถ้าผู้นำยังไม่ข้ามเส้น แม้เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลนแล้วก็ยังแซงกันไม่ได้

ในกรณีที่การกู้รถที่เกิดอุบัติเหตุทำไม่สำเร็จภายในรอบการแข่งขันที่เหลือ เซฟตี้คาร์จะวิ่งอยู่จนจบการแข่งขัน แต่ก่อนถึงเส้นชัยเซฟตี้คาร์จะวิ่งกลับเข้าพิตเลนไปก่อนเพื่อปล่อยให้รถผ่านเส้นชัยตามปกติ

ปัจจุบันมีการนำระบบเสมือนมีเซฟตี้คาร์ในสนาม (Virtual Safety Car - VSC) มาใช้โดยมีสถานะเทียบเท่ากับการโบกธงเหลืองคู่ แต่อาจไม่จำเป็นถึงขั้นใช้เซฟตี้คาร์ เมื่อกรรมการตัดสินใจให้ใช้ระบบ VSC จะมีป้ายไฟสัญญาณขึ้นแจ้งนักขับด้านข้างสนาม นักขับต้องลดความเร็วลงแต่ไม่ช้าเกินกว่าที่กำหนด และเมื่อสถานการณ์ในแทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ป้ายไฟสัญญาณจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว

นอกจากนั้น กระบวนการเริ่มการแข่งขันอีกครั้งหลังเซฟตี้คาร์กลับเข้าพิตไปแล้ว (Restart) เดิมนั้นเป็นแบบโรลลิ่งสตาร์ทอย่างที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ แต่ปัจจุบันเมื่อหมดช่วงเซฟตี้แล้วจะให้เป็นแบบตั้งกริดสตาร์ทกันใหม่ ไฟสัญญาณจะขึ้นเป็นตัวอักษร SS ไปทั่วสนาม พร้อมข้อความ STANDING START จากระบบส่วนกลาง และไฟสีส้มของเซฟตี้คาร์ก็จะดับลงเพื่อเป็นสัญญาณให้นักขับทราบว่าการแข่งขันจะกลับสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม แบบโรลลิ่งสตาร์ทยังคงมีอยู่ หากสถานการณ์ไม่เหมาะกับการรีสตาร์ทแบบตั้งกริด โดยสัญญาณและข้อความของโรลลิ่งสตาร์ทคือ RS หรือ ROLLING START


 
*********************************************************
 

กฎด้านเทคนิคเบื้องต้นที่ควรทราบ


เครื่องยนต์

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เครื่องยนต์ฟอร์มูล่าวันใช้ขนาด 1.6 ลิตร V6 เทอร์โบ จำกัดความเร็วรอบเครื่องไม่เกิน 15000 rpm นอกจากกำลังของเครื่องยนต์แล้ว ยังจะได้แรงม้าจากการใช้ระบบ ERS (Energy Recovery System) ซึ่งเป็นระบบที่เปลี่ยนพลังงานกลและพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

หน่วยเครื่องยนต์ (Power Unit) ของรถฟอร์มูล่าวันประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 6 ส่วน ได้แก่

1. เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน (Internal Combustion Engine: ICE)
2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานจลน์ (Motor Generator Unit - Kinetic: MGU-K)
3. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานความร้อน (Motor Generator Unit - Heat: MGU-H)
4. ระบบสะสมพลังงาน (Energy Store: ES) หรือแบตเตอรี่
5. เทอร์โบชาร์จเจอร์ (Turbo Charger: TC)
6. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Control Electronics: CE) หรือ CPU
 
 


กฎการใช้หน่วยเครื่องยนต์ของปี 2019 ยังคงเดิมจากปีที่แล้ว ซึ่งระบุไว้ดังต่อไปนี้

- การใช้หน่วยเครื่องยนต์ (power unit) ตามโควต้าปีนี้นักขับต้องใช้เครื่องยนต์ (ICE) เทอร์โบ (TC) และ MGU-H คนละ 3 ตัว / MGU-K แบตเตอรี่ (ES) และ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (CE) คนละ 2 ตัว หากเกินจากนี้จะต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทในสนามที่ใช้ส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์เกินโควต้า

> นักขับใช้ส่วนประกอบใดเกินโควต้าเป็นครั้งแรก นักขับผู้นั้นจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทลง 10 อันดับจากที่ทำได้ในรอบควอลิฟาย และหากใช้ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกินโควต้าเป็นครั้งแรกตามมา นักขับผู้นั้นจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทส่วนประกอบละ 5 อันดับ โดยกระบวนการลงโทษจะเป็นไปเช่นนี้อีกเมื่อเริ่มใช้ส่วนประกอบใดๆ เกินโควต้าอีกเป็นครั้งที่ 2 3 4 ฯลฯ

- ถ้านักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ท 15 อันดับขึ้นไป จะต้องสตาร์ทจากอันดับสุดท้าย และหากมีนักขับต้องรับโทษแบบเดียวกันนี้มากกว่า 1 คนในรายการหนึ่งๆ ผู้ที่รับโทษเปลี่ยนส่วนประกอบเครื่องยนต์มากที่สุดจะต้องเป็นผู้ออกตัวจากกริดสุดท้าย

- ห้ามไม่ให้นักขับยอมรับโทษจำนวนมากในสนามเดียวโดยจงใจ เพื่อสะสมส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์ที่เกินโควต้าไปใช้ในสนามอื่นๆ หากมีการเปลี่ยนส่วนประกอบใดๆ ของหน่วยเครื่องยนต์มากกว่า 1 ตัวในสุดสัปดาห์การแข่งขัน จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะส่วนประกอบตัวล่าสุดเท่านั้นในสนามถัดไปโดยไม่ต้องรับโทษอีก

- มีการเข้มงวดกับการเผาไหม้ของน้ำมันเครื่อง โดยอนุญาตให้เผาไหม้ที่อัตรา 0.6 ลิตร/100 กม.

- ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องยนต์ในฟอร์มูล่าวันมี 4 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เฟอร์รารี่ เรโนลต์ และฮอนด้า


เกียร์บ็อกซ์/ชุดเกียร์

ในฤดูกาลนี้ นักขับแต่ละคนต้องใช้เกียร์บ็อกซ์ 1 ตัวสำหรับ 6 สนามติดต่อกัน หากมีการเปลี่ยนเกียร์บ็อกซ์ก่อนกำหนด นักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทลง 5 อันดับ เว้นแต่ถ้าไม่จบการแข่งขันด้วยเหตุที่นักขับไม่สามารถควบคุมได้ก็สามารถใช้เกียร์บ็อกซ์ตัวใหม่ได้ในสนามถัดไปโดยไม่ต้องรับโทษ


ตัวถัง/แชสซีส์

ปี 2019 มีการเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้รถตามติดกันใกล้ยิ่งขึ้น แซงง่ายขึ้น การแข่งขันจะได้สนุกยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้

- ปีกหน้า ปีกหน้าใหม่จะกว้างขึ้น สูงขึ้น และลดความซับซ้อนในการออกแบบ เพื่อให้รถคันหลังไล่คันหน้าได้ติดมากขึ้น มีผลช่วยให้การแซงง่ายขึ้น โดยปีกหน้าของรถปีนี้กว้างเพิ่มขึ้น 200 มม. รวมเป็น 2000 มม. เต็มความกว้่างของตัวรถ สูงขึ้น 20 มม. และยื่นไปข้างหน้าอีก 25 มม. ส่วนประกอบของปีกก็จะน้อยลงด้วย โดยช่วงปีหลังๆ ปีกหน้ารถฟอร์มูล่าวันซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากต้องการเพิ่มการไหลของอากาศไปยังล้อหน้า แต่สำหรับปีนี้ เมื่อปีกหน้าลดความซับซ้อน ปีกหน้าเกือบทั้งชิ้นนั้นจะทำให้เกิดดาวน์ฟอร์ซโดยตรง และความสูงที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มกำลังให้ปีกหน้า นักขับจะไม่รู้สึกว่าอยู่ๆ หน้ารถไม่เกาะแทร็คเมื่อเข้าใกล้รถคันหน้าอย่างที่ผ่านมา

- แผ่นขนาบข้างปีกหน้าหลายๆ ชิ้นอย่างที่เห็นในรถปี 2018 จะไม่มีอีกต่อไป ปีนี้อนุญาตให้มีแผ่นขนาบข้างปีกหน้า 2 ชิ้นสำหรับแต่ละข้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลของอากาศเข้าสู่ใต้ตัวรถ ทำให้รถไม่อ่อนไหวง่ายกับร่องอากาศรบกวนที่รถคันหน้าแหวกไว้ ซึ่งเป็นปัญหาที่นักขับพบบ่อยในช่วงหลัง

- บาร์จบอร์ด (Barge Board) ที่อยู่เชิงรถทั้งสองข้าง สำหรับปี 2019 จะมีขนาดเล็กลงและปรับเปลี่ยนตำแหน่งติดตั้ง เพื่อลดผลด้านแอโรไดนามิกส์จากส่วนนี้ โดยให้ลดความสูงลง 150 มม. และเลื่อนไปข้างหน้า 100 มม. เพื่อรองรับการไหลของอากาศจากปีกหน้า ทำให้อากาศที่ผ่านออกไปทางส่วนหลังของรถคันหน้าก่อปัญหาให้นักขับคันที่ตามมาน้อยลง เป็นผลให้รถคันหลังตามติดคันหน้าได้มากขึ้น

- ปีกหลังสเป็กปี 2019 สูงขึ้น กว้างขึ้น ลดความซับซ้อน ซึ่งจุดประสงค์ของการปรับเปลี่ยนก็เช่นเดียวกับปีกหน้าคือเพื่อให้รถตามกันได้ใกล้มากขึ้น โดยความสูงของปีกหลังเพิ่มขึ้น 20 มม. กว้างขึ้น 100 มม. การที่ปีกหลังใหญ่ขึ้นช่วยให้เกิดช่องอากาศใหญ่ขึ้น ทำให้รถคันหลังใช้ลมดูด (slipstream) จากท้ายคันหน้าได้ดีขึ้น และช่องเล็กๆ ตามปีกจะถูกจำกัดมากขึ้นด้วย ในส่วนของ DRS (Drag Reduction System - ปีกหลังเปิดได้เพื่อช่วยการแซงบนทางตรง) ให้บานเปิดสูงขึ้น 20 มม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ DRS ได้ราว 25% นอกจากนั้น ปลายปีกหลังทั้ง 2 ข้างต้องติดตั้งไฟ LED เพื่อช่วยเรื่องทัศนวิสัยในวันที่สภาพอากาศไม่อำนวย โดยต้องเปิดไฟไว้ตลอดเวลาที่ใช้ยางอินเตอร์มีเดียตและฟูลเว็ต

- เบรกดักต์ (Brake Duct) ที่ล้อหน้าของรถปี 2019 เป็นอีกส่วนที่ถูกจำกัดการออกแบบไม่ให้ซับซ้อน เพื่อลดผลด้านแอโรไดนามิกส์ เดิมชิ้นส่วนนี้มีหน้าที่ผลักลมเย็นเข้าสู่ระบบเบรกเพื่อป้องกันเบรกเกิดความร้อนขึ้นสูง แต่ในทางปฏิบัติช่วงหลังมานี้ การออกแบบซับซ้อนขึ้นเพราะวิศวกรคอยมองหาช่องทางใช้ประโยชน์จากลมที่เข้ามาเพื่อประโยช์ทางแอโรไดนามิกส์ เมื่อออกแบบอย่างง่ายหมายถึงจะมีพื้นผิวให้นักอากาศพลศาสตร์เล่นน้อยลง ส่งผลน้อยลงต่อการลดดาวน์ฟอร์ซ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้รถคันหลังตามติดคันหน้าได้มากขึ้น

- สำหรับปี 2019 นักขับรูปร่างสูงใหญ่จะไม่เสียเปรียบอีกต่อไป เดิมทีในการกำหนดน้ำหนักขั้นต่ำของรถจะรวมน้ำหนักคนขับด้วย แต่ต่อไปนี้จะคิดแยกกัน ตามกฎปีนี้กำหนดให้น้ำหนักขั้นต่ำของรถอยู่ที่ 740 กก. โดยไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง (จากเดิม 733 กก.) ส่วนนักขับต้องหนักไม่น้อยกว่า 80 กก. หากนักขับคนใดมีน้ำหนักน้อยกว่านั้นต้องมีการถ่วงน้ำหนัก (ballast) บริเวณที่นั่งนักขับให้ถึงเกณฑ์ ห้ามถ่วงน้ำหนักที่จุดอื่นของรถเพื่อช่วยเรื่องบาลานซ์
 
- ขยายกำหนดของน้ำหนักน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมให้สูงสุดได้ 105 กก. เป็น 110 กก. เพื่อให้นักขับสามารถขับได้เต็มที่ตลอดการแข่งขัน

- ให้รับรองการตรวจสภาพรถด้วยตนเอง จากเดิมทีมแข่งต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถก่อนเริ่มสุดสัปดาห์การแข่งขัน แต่ต่อไปนี้ให้ทีมรับผิดชอบตนเองในการแสดงว่ารถของตนเป็นไปตามกฎกติกาทุกประการ และพร้อมรับการตรวจจากกรรมการทุกเมื่อที่มีการสุ่มเรียก

- มีการปรับเปลี่ยนการติดตั้งกระจกข้างเล็กน้อยตามการเปลี่ยนแปลงของปีกหลังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทัศนวิสัยการมองหลังได้อย่่างเพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย

- ปรับเปลี่ยนการติดตั้งกล้องติดรถ เพื่อพัฒนามุมมองการรับชมทางโทรทัศน์


*กฎด้านเทคนิคของตัวรถดูเพิ่มเติมได้จากคลิปด้านล่างนี้
 
 



การปรับปรุงด้านความปลอดภัย

- ถุงมือนักขับจะบังคับใช้แบบไบโอเมตริกที่พัฒนาขึ้นโดยแผนกความปลอดภัยของเอฟไอเอ จะมีการเย็บเซ็นเซอร์ไว้ในเนื้อผ้า ซึ่งช่วยในการวัดชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังนักขับประสบอุบัติเหตุ ข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากกับทางทีมแพทย์สนามและจะถูกส่งกลับมาเพื่อประเมินสถานการณ์ในการช่วยชีวิตต่อไป

 


สำหรับหมวกกันน็อกของปีนี้นักขับต้องใช้รุ่นใหม่ล่าสุดตามมาตรฐาน FIA 8860-2018 ซึ่งเป็นหมวกกันน็อกที่นอกจากแข็งแรงเป็นพิเศษแล้ว ยังพัฒนาการป้องกันศีรษะจากวัตถุที่ลอยมาปะทะและเพิ่มการซับแรงกระแทก หน้ากาก (visor) ต้องลดความสูงลงมา 10 มม. เพื่อลดความเสี่ยงจากเศษชิ้นส่วนที่อาจลอยมา นอกจากนั้น วัสดุที่นำมาทำเป็นเปลือกนอกของหมวกก็ได้รับการพัฒนาให้ทนต่อการแตกและการเจาะทะลุมากยิ่งขึ้น

 



อากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics)

งานด้านแอโรไดนามิกส์ของรถฟอร์มูล่าวันมี 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ แรงกด (downforce) และแรงลาก (drag) ดาวน์ฟอร์ซจะกดยางลงบนพื้นถนนและช่วยให้เข้าโค้งได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะลดแรงลาก ซึ่งเป็นเหมือนกำแพงต้านอากาศขณะรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทั้งนี้ ดาวน์ฟอร์ซจะช่วยเพิ่มความเร็วให้รถระหว่างวิ่งบนทางตรงอีกด้วย (อ่านเรื่องดาวน์ฟอร์ซเพิ่มเติมได้ที่นี่ / อ่านเรื่องแรงลากเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ทุกตารางนิ้วบนรถฟอร์มูล่าวันมีผลกับแอโรไดนามิกส์โดยรวมของรถและการทำให้แอโรไดนามิกส์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของทีม

 
*********************************************************


ประวัติฟอร์มูล่าวันโดยสังเขป

การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1950 โดยเกิดจากการรวบรวมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการใหญ่ (Grand Prix) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในทวีปยุโรประหว่างยุคทศวรรษที่ 1920 และ 1930 เข้าไว้ด้วยกัน การแข่งขันฟอร์มูล่าวันกรังด์ปรีซ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1950 ซึ่งฟอร์มูล่าวันจะแข่งขันครั้งที่ 1000 ตรงกับรายการไชนีส กรังด์ปรีซ์ ปี 2019 ในเดือนเมษายนนี้

แชมป์โลกคนแรกของฟอร์มูล่าวันคือ จูเซปเป้ ฟาริน่า ส่วนทีมแชมป์โลกทีมแรกได้แก่ทีมแวนวอลล์ (ตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมมอบให้ในปี 1958 เป็นปีแรก) สำหรับนักขับที่ครองแชมป์โลกจำนวนมากที่สุดคือ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ซึ่งคว้าแชมป์โลกทั้งสิ้น 7 สมัย ในปี 1994-1995 และ 2000-2004 เขายังถือสถิติเป็นผู้ชนะการแข่งขันมากที่สุดจำนวน 91 สนาม โดยเฟอร์รารี่เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วยจำนวนแชมป์โลก 16 สมัย

ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมีรายการที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดอยู่ 3 รายการ (Triple Crown) ได้แก่ อินเดียนาโปลิส 500 เลอมังส์ 24 ชั่วโมง และโมนาโก กรังด์ปรีซ์ ซึ่งรายการหลังจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1929 และอยู่ในปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันมาตลอดนับตั้งแต่ปี 1950












*ข้อมูลจาก formula1.com / bbc.com / wikipedia.org / fia.com
ภาพจาก formula1.com / pirelli.com



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 5 มีนาคม 2563 16:23:53 น. 1 comments
Counter : 13702 Pageviews.

 
*อัพเดทระบบการให้คะแนน

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2019 เป็นต้นไป นักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุด (fastest lap) ในการแข่งขันและจบการแข่งขันใน 10 อันดับแรกจะได้รับคะแนนโบนัส 1 คะแนน ซึ่งทีมต้นสังกัดของนักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดนั้นจะได้คะแนนพิเศษ 1 คะแนนด้วย


โดย: finishline วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:22:47:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.