"นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ" Byrd Weerapol
ตอนเรียนมัธยมที่ ส.ณ.(โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม บางกอกน้อย กทม.) วิชาที่เป็นหน้าตาของผมหน่อยคือภาษาไทยกับวาดเขียน วิชาอื่นๆ แย่มาก ผมชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน อ่านมันหมดทุกอย่าง วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ถ้ามีเวลาไปหาหนังสือมาอ่าน ผมจะนั่งเรือข้ามเจ้าพระยาไปท่าพระจันทร์แล้วเดินผ่านสนามหลวงไปแถวอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผมศูนย์รวมหนังสือทั้งเก่าและใหม่ในยุคนั้น ผมจะเดินเลือกหาหนังสือเก่าถูกๆ มาอ่านตามกำลังทรัพย์ที่มีอยู่อย่างเรื่องชวนหัว พล นิกร กิมหงวน เรื่องสั้น นิยายหนังสือแปล หนังสืองานศพก็เอามาอ่าน อ่านตามที่ซื้อหามาได้ไม่ว่าจะเป็นของนักเขียนคนไหนผมอ่านดะไปหมด ตอนนั้นผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ เลยที่เดียว วันไปโรงเรียนผมจะแอบไปหามุมเงียบอ่านหนังสือในห้องสมุดบ้าง ส่วนใหญ่จะอ่านนิราศสุนทรภู่นี่แหละครับ สามก๊กก็ชอบ ทุกวันนี้อยู่แคนาดาผมยังมีสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน และสามก๊กฉบับวนิพกของของยาขอบเก็บไว้อ่าน อ่านไปอ่านมานานๆ เข้าอาจารย์บรรณารักษ์ห้องสมุดเลยขอให้ผมทำงานให้ห้องสมุดซะเลย ซ่อมหนังสือบ้าง ช่วยจัดงานนิทรรศการบ้าง ผมเลยได้อ่านหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น แต่อะไรที่มันติดอยู่ในใจไม่เคยลืมคือบทกวีวรรคทอง ไม่ต้องท่องก็จำได้ไม่ว่าจะอ่านเจอหรือฟังมาจากใครก็ตาม สมองมันจะบันทึกเอาไว้ทันที อย่างบทกลอนวรรคนี้ " ดอกรักบานในหัวใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน " บทประพันธุ์ของ เฉลิมศักดิ์ (ศิลาพร) รงคผลิน ฟังครั้งแรกแล้วก็อยากหาอ่านดูเต็มๆ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ลองมาฟังบทเต็มๆ ดูนะครับว่าเป็นอย่างไร บทสุดท้ายของนิยายรัก ๏ จริงหรือนี่ ที่ว่ารัก เราจักร้าว นึกแล้วหนาว เหน็บนัก แก้วรักเอ๋ย รสสัมผัส อ่อนละมุน ที่คุ้นเคย ไยจึงเผย รสร้าง จืดจางกัน เราเคยร่วม ใจฝัน ว่าวันหนึ่ง เราจะถึง วันที่งาม เหมือนความฝัน ฟ้าสีทอง ดอกไม้บาน ธารพระจันทร์ และรักอัน คงค่า สถาพร ฉันเฝ้ารอ คอยวัน ที่ฝันไว้ รอด้วยรัก ด้วยใจ ไม่ถ่ายถอน แต่นี่สร้อย สายสวาท มาขาดตอน เธอกล้ารอน ลงด้วยมือ เธอหรือไร เมื่อเธอสิ้น เสน่หา มาสนอง รักที่ปอง มอดหมด ความสดใส แผลรักร้าย บ่อนทั่ว เนื้อหัวใจ จะต้องปวด ร้าวไป ถึงไหนกัน ดอกรักบาน ในหัวใจ ใครทั้งโลก แต่ดอกโศก บานใน หัวใจฉัน และอาจเป็น เช่นนี้ ชั่วชีวัน เมื่อรักอัน แจ่มกระจ่าง กลับร้างไกล นิยายรัก ยืดยาว ของเรานั้น คงไร้วัน สดชื่น ขึ้นบทใหม่ หมดความหมาย ที่จะรอ กันต่อไป เพราะเปลวไฟ รักดับ ลงกับตา ๚ เฉลิมศักดิ์ (ศิลาพร) รงคผลิน พ.ศ. 2511 อานิสงค์ของการอ่านหนังสือสมัยเด็ก ทำให้ผมรู้จักนักเขียนนักเลงกลอนมากมายหลายคน ครั้งหนึ่งอ่านไปเจอเรื่องของสองหนุ่มเจ้าของฉายา "สองกุมารสยาม" อดีตนักศึกษาจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งสองคนเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่เรียนมัธยมจนแก่เฒ่ามาด้วยกันถึงทุกวันนี้ ครับผมหมายถึง "ขรรค์ชัย บุนปาน" กับ "สุจิตต์ วงศ์เทศ" ซึ่งสมัยเป็นหนุ่มถือว่าเฟี้ยวฟ้าวมากในแวดวงวรรณกรรมโดยเฉพาะได้แต่งเรื่องสั้น "ชานหมากนอกกระโถน" สมัยเรียนมัธยมหนังสือพิมพ์ที่ผมซื้ออ่านมีฉบับเดียวคือ สยามรัฐ ผมติดบทความ "ซอยสวนพลู" ของหม่อมราชวงศ์คิกฤทธิ์ ปราโมทย์ อย่างหนักไม่อ่านไม่ได้ ผลที่ได้ตามมาคือได้อ่านข้อเขียนบทความจากนักเขียนนักวิจารณ์ระดับปรมาจารย์หลายท่าน รวมทั้งขรรค์ชัย บุนปาน กับ สุจิตต์ วงศ์เทศ ก่อนที่จะมาทำหนังสือพิมพ์มติชน ก็เขียนบทความประจำอยู่สยามรัฐเหมือนกัน ขอคุยอีกนิดว่าผมได้อ่านหนังสือพิพม์มติชนรายวันฉบับแรกปฐมฤกษ์ที่หน้ารามฯ จำได้ว่าลงจากรถเมล์ก็เห็นวางที่แผงหนังสือเลย โลโก้เป็นรูปกุมารสยามตามฉายา สุจิตต์ วงศ์เทศ มาสายโบราณคดีถนัดเขียนเรื่องศิลปวัฒนธรรม เขียนนิยายเรื่อง "ขุนเดช" โด่งดังมาก ส่วน ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนบทความและบทกวีแนวลุกทุ่งลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับและมีวรรณกรรมวรรคทองที่ผมชอบมากชื่อ "จากลูกชายกำนันถึงลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน" อ่านแล้วได้อารมณ์คนบ้านทุ่งตามแนวการเขียนของขรรค์ชัย บุนปาน ที่เป็นคนราชบุรี จากลูกชายกำนันถึงลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน
๏ เลือดฝาดเอ็ง เปล่งปลั่ง ก็ยังสาว ลองแก่คราว ขนาดยาย จะไหวหรือ? เสน่ห์ที่ มิได้ทำ จากน้ำมือ สามสี่มื้อ บอกตรงตรง ก็คงคลาย
ข้าหลงรัก ก็เพราะเล็ง เห็นเอ็งสวย ปราศสิ่งช่วย เสริมให้ ชวนใจหาย วันแรกสึก ออกมา ก็ตาลาย เอ็งกลับกลาย เกินจริต แผกผิดคน
เรียนตัดเสื้อ ในเมือง เป็นเรื่องชอบ ถูกระบอบ ขอบเขต ของเหตุผล เพราะคนเรา ไร้วิชา ย่อมพาจน ข้าไม่เถียง เอ็งด้น ถูกหนทาง
สามเดือนเหมือน สามปี ที่ข้าบวช หัวใจรวด ร้าวเลย ยินเอ่ยอ้าง ว่ารักชื่น สิจะชืด รสจืดจาง เกือบแหกกลาง พรรษา ออกมาดู
เมื่อเห็นตา เคยซื่อ กลับดื้อรั้น ยิ่งเชื่อมั่น แน่ใจ เอ็งหมายหลู่ น้ำตาแค้น ตกใน รินไหลพรู อุตส่าห์สู้ ห่วงหวงเท่าดวงใจ
สิ้นเอ็งแล้ว ข้าก็พร้อม จะยอมบ้า ฆ่าเอ็งก็ เหมือนฆ่า น้าผู้ใหญ่ ลูกกำนัน บุญน้อย ขอคล้อยไกล ข้าไม่ใช่ ลูกชาย นายอำเภอ ! ! ขรรค์ชัย บุนปาน
Create Date : 29 สิงหาคม 2561 |
Last Update : 15 สิงหาคม 2563 9:58:59 น. |
|
1 comments
|
Counter : 3998 Pageviews. |
|
 |
|