Doubt เพศสภาพ กับ ศาสนจักรยุค 60
Doubt คือหนังที่ใช้การแสดงขั้นเทพประทาน สื่อความซับซ้อนของตัวละครที่ต้องเผชิญกับวิกฤตในหน้าประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสถาบันศาสนจักรซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีชายเป็นใหญ่มากที่สุด และมีทัศนคติเหยียดเพศหญิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ บาทหลวงฟลินน์ (ฟิลิบ ซีมัวร์ ฮอฟแมน) เป็นตัวละครที่ที่เห็นว่าศาสนจักรจำเป็นต้องเปิดกว้างและต้อนรับผู้คนมากขึ้น เห็นได้จากการที่พยายามปรับให้การเทศนาสามารถโยงกับชีวิตสมัยใหม่ พยายามเลี่ยงการมองหลักศีลธรรมและศรัทธาแบบขาวกับดำ ถึงกับสร้างความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนผิวดำคนแรกของโรงเรียน (ซึ่งหนังมีการบอกเป็นนัยว่าเด็กคนนี้เป็นเกย์) คอยปกป้องเด็กคนนี้จากการที่เด็กคนนี้ถูกจับได้ว่าแอบดื่มไวน์แล้วต้องถูกปลดจากการเป็นเด็กผู้ช่วยพระทำพิธีในโบสถ์ ซึ่งถือว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการแสดงความเมตตาและการให้อภัยในสายตาของหลายๆคน แต่สำหรับแม่ชีอธิการเอลอยเซียส โบเวียร์ (เมอรีล สตรีพ) ผู้ยึดติดกับระเบียบปฏิบัติแนวอนุรักษ์นิยมกลับไม่เห็นด้วย บาทหลวงเองก็เป็นคนที่ต้องการกำหนดบทบาทพระในชุมชนและพยายามเชื่อมช่องว่างระหว่างโลกฆราวาสสมัยใหม่กับชุมชนที่ศรัทธานิกายโรมันคาทอลิก และยังสนับสนุนให้ทางโบสถ์เป็นตัวแทนของความรักมากกว่าจะเป็นตัวแทนของการควบคุมและเน้นระเบียบวินัย พฤติกรรมและการวางตัวของบาทหลวงฟลินน์สะท้อนว่าผู้ชายมีอำนาจก็สามารถแสดงความเมตตาและความเข้าใจคนอื่นและในขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้นำที่เก่งได้ด้วย จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายภาพสำเร็จรูปของผู้ชายทั่วไปซึ่งทำตัวตรงข้ามกับบาทหลวงฟลินน์ แม่ชีอธิการโบเวียร์ และแม่ชีคนอื่นมองว่าเป็นเรื่องแปลกที่บาทหลวงฟลินน์ชอบไว้เล็บยาว เพราะการไว้เล็บยาวเป็นพฤติกรรมของผู้หญิง และชอบเก็บดอกไม้ไว้ในพระคัมภีร์เหมือนผู้หญิง ซึ่งการมองว่าบาทหลวงมีพฤติกรรมที่ผู้หญิงทำกันนั้น สะท้อนทัศนคติเกลียดรักร่วมเพศ และมักจะถูกโยงเข้าว่าเป็นคนชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กโดยปริยาย การสร้างอุปนิสัยเฉพาะของบาทหลวงฟลินน์ที่ไม่เหมือนภาพสำเร็จรูปทั่วไปนี้ท้าทายความเชื่อตามขนบเรื่องเพศสภาพที่เราชอบด่วนสรุปว่า ผู้หญิงต้องทำอย่างนี้จึงเรียกว่าผู้หญิง ผู้ชายต้องทำอย่างนั้นจึงเรียกว่าผู้ชาย ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่ข้อสรุปและข้อกล่าวหาว่า บาทหลวงฟลินน์นี่คงจะแอบชำเราเด็กคนนั้น กระนั้นก็ตาม บาทหลวงฟลินน์ยังคงสนับสนุนให้แม่ชีคนอื่นๆดูแลเด็กๆในความดูแลของตนให้ดีเป็นพิเศษ ไม่ว่าใครจะครหาว่าอะไรก็ตาม แต่การที่บาทหลวงฟลินน์มีนิสัยไม่เป็นไปตามภาพสำเร็จรูปนั้น ไม่ได้หมายความว่าบาทหลวงฟลินน์จะสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยมซะทีเดียว อย่าลืมว่าบาทหลวงฟลินน์ต้องนั่งเก้าอี้ของแม่ชีในห้องทำงานของแม่ชีอธิการโบเวียร์ ตอนที่เชิญบาทหลวงมาพบเพื่อสอบปากคำ และบาทหลวงก็เป็นคนที่ตำหนิแม่ชีอธิการอย่างรุนแรงที่ข้ามลำดับชั้นของคณะสงฆ์เพื่อถามข้อมูลของบาทหลวงฟลินน์จากแม่ชีในเขตสงฆ์ที่บาทหลวงฟลินน์เคยอยู่มาก่อน แทนที่จะไปถามบาทหลวงที่รู้จักกับบาทหลวงฟลินน์ สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าในแง่เพศสภาพ ก็คือการที่ผู้หญิงใช้บทบาทของตัวในฐานะผู้หญิงในสถาบันศาสนจักรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่มีอำนาจ เป็นที่รู้กันว่า แม่ชีในโบสถ์คาทอลิกในยุค 60 จะชอบใช้วิธีการทำโทษนักเรียนต่อหน้าเพื่อร่วมชั้นเพื่อจะได้ควบคุมเด็กให้อยู่ในโอวาท แต่ Doubt กลับไม่ใส่ภาพสำเร็จรูปแบบที่ว่าโดยสร้างลักษณะตัวละครของแม่ชีที่แตกต่างกันไป แม่ชีอธิการ/เผด็จการ ให้คุณค่าของระเบียบและประเพณี และในขณะเดียวกันก็ท้าทายสถาบันศาสนาจักรในรูปลำดับชั้นคณะสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจฝ่ายชาย ด้วยการทำการสืบหาความจริงด้วยตัวเองว่าบาทหลวงนั้นใช้อำนาจ (ของเพศชาย) ที่ได้มาจากศาสนจักรในทางมิชอบหรือไม่ ที่สุดแล้วความรั้นของแม่ชีอธิการที่ว่านี้ก็กลายมาเป็นจุดอ่อน แต่ความรั้นนี้เป็นลักษณะที่ ถ้าว่าตามขนบแล้ว เป็นลักษณะที่ "พึงปรารถนา" ในตัวผู้ชายที่มีอำนาจ และตัวแม่ชีอธิการก็ไม่ได้คิดจะใช้อำนาจที่ตัวเองมีในทางมิชอบ คำถามสำคัญน่าจะอยู่ที่่ว่า "ถ้า" แม่ชีอธิการมีอำนาจ (ที่ได้มาจากศาสนจักร) มากกว่านี้ ความตั้งใจ (ชนิดไม่ยอมลดละ) ที่จะหาความจริง และมีความแน่ใจ (เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์) ว่าบาทหลวงผิดจริงนั้น จะน้อยกว่าที่เราเห็นในเรื่องรึเปล่า แม่ชีอธิการประกาศจุดยืนเอาไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีทางอื่นที่จะหาความจริงมาได้เพราะว่า "เธอเป็นผู้หญิง" และด้วยความเป็นผู้หญิงนี่ ทำให้จะไม่มีใครเชื่อคำพูดของเธอถ้าเธอนำเรื่องนี้ไปฟ้อง น่าสังเกตว่า ตลอดทั้งเรื่องเราไม่ได้เห็นแม่ชีอธิการพูดหรือกระทำการใดๆออกมาที่เป็นการบอกว่าเธอสงสัยในสิ่งที่เธอเชื่อ (ว่าบาทหลวงผิด) เพราะเธอรู้ว่าการบอกหรือแสดงออกมาแม้เพียงนิดเดียว ให้รู้ว่าเธอไม่มั่นใจว่าบาทหลวงผิดนั้นจะถูกนำมาใช้หักล้างข้อสงสัยของเธอ ทำให้คนอื่นไม่เชื่อในสิ่งที่เธอเชื่อ ตัวบาทหลวงเองก็ไม่ได้้ท้าทายบทบาทเพศสภาพของตัวเท่าไหร่ บาทหลวงทำให้คนอื่นรักใคร่ ในขณะที่แม่ชีอธิการเป็นคนที่ใครๆไม่ชอบเพราะเที่ยวไปติโน่นติงนี่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่แม่ชีก็ทำไปด้วยความจริงใจ เราไม่รู้แน่ชัดว่าบาทหลวงไปทำมิดีมิร้ายกับเด็กคนนั้นหรือเปล่า แต่เรารู้ชัดๆเลยว่า แม่ชีอธิการต้องฝ่าด่านอรหันต์เพื่อที่จะให้ใครมาสนใจเรื่องนี้ เพราะว่าใครๆก็ไม่ได้ชอบตัวแม่ชีอธิการแบบที่ใครๆชอบบาทหลวง นั่นก็เพราะว่า บทบาทเพศสภาพ (ในที่นี้คือ "กรณีแม่ชีแฉบาทหลวง") ไม่เอิ้อให้เป็นไปแบบนั้น ซึ่งบทบาทเพศสภาพที่ว่านี้ มากับบริบทสถาบันคาทอลิกในยุค 60 บาทหลวงฟลินน์ได้เทศนาไว้ครั้งนึงว่า "ความสงสัย" เป็นตัวเชื่อมมนุษย์ให้ผูกติดกับพระเจ้า ได้มากเท่าๆกับ "ศรัทธา" อันแน่วแน่มั่นคง และด้วยความเป็นผู้ชายทำให้บาทหลวงสามารถทำอะไรต่ออะไรที่สวนทางกับขนบได้ ในขณะที่ ด้วยความเป็นหญิง แม่ชีอธิการทำแบบนั้นไม่ได้ ผลลัพธ์คงจะไม่ออกมาอย่างที่เห็นในหนังถ้าอำนาจทางศาสนจักรและทางสังคมมาอยู่ที่ผู้หญิงมากขึ้นบ้าง ถึงตัวหนังจะว่าด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นใน ทศวรรษ 60 ประเด็นเพศสภาพ และอำนาจจากทางสถาบันยังคงเป็นประเด็นร่วมสมัย ผูกโยงกับบริบทปัจจุบันได้อย่างลงตัว
Create Date : 23 ตุลาคม 2552
4 comments
Last Update : 24 ตุลาคม 2552 2:08:36 น.
Counter : 1178 Pageviews.
โดย: McMurphy 24 ตุลาคม 2552 20:11:51 น.
โดย: ไลแลต.. 5 มกราคม 2553 20:14:46 น.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [? ]
ว่างจากงานเขียนที่ Movie and Music / Pattaya Press / Movieseer.com / Cinema in Review ก็รับงานบรรยายกลุ่มเล็กๆสอนวิชา Women and Cinema, Aspects of Cinematic Artistry, Between the Frames: How to Watch and Why, Literature and Cinema, LBGT Cinema, และ Literary Approaches to Film Criticism มีคำถามอะไรก็ M มาคุยกันได้ครับ *** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ ***
1 2 3
4 5 6 7 8 9 10
11 12 13 14 15 16 17
18 19 20 21 22 23 24
25 26 27 28 29 30 31
ชอบ การแสดงของป้าเมอรีล จากเรื่องนี้มาก