"หนุกหนานตลอดวันแอบสร้างสรรค์สาระ(แน)"
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 

+ + ... วังสวนจิตรล้นเหลือ ... หลายหลาก ทดลอง ... + +

วันนี้จะขอกล่าวถึงที่มาส่วนหนึ่งของสินค้าในร้านโครงการหลวง
คงเห็นพวกผลไม้แห้ง น้ำผลไม้ นม เทียนหอม ยาดม ของกระจุกกระจิกกันแล้ว

แต่ทราบไหมคะว่ามาจากวังสวนจิตรค่ะ


สินค้าที่ป้าอุดหนุนเป็นหลัก ก็คือ... “นม” ค่ะ โดยเฉพาะนมน้องหมาที่แสนน่ารัก
เป็นเม็ดกลมๆหนาๆขนาดเหรียญสิบ

นม (สำหรับ) คน (กิน) ก็มี เป็นซองๆ ขายตามเซเว่น ที่ซองขาวๆ
มีอักษรสีเขียว นั่นคือนมอัดเม็ดจากวังสวนจิตรค่ะ คนกินได้
(แต่บางทีป้าแอบกินนมน้องหมาก็มี แหะ แหะ)

ยังมีนมแพะ (นมสด) อีกรสชาติหอมมัน เข้มข้น ซื้อมาทีนี่
แย่งกันแหลกทั้งคนทั้งหมา กำลังดื่มๆนังสีนวลเดินมานั่งแปะตรงหน้า
แล้วยกบาทาน้อยๆป่ายแก้มป้า เป็นทำนองว่า

“หยุดแหะแม่ กินมากก็อ้วน ให้หนูดีกว่า”

นมอัดเม็ดนี่ มาจากโครงการโคนมในวังสวนจิตรลดาค่ะ

และคุณรู้ไหมเอ่ย ว่าใน “บ้าน” ของพระเจ้าอยู่หัว มีอะไรบ้าง
ไปชมกันเถิดค่ะ แล้วจะไม่เชื่อสายตาว่าทำไมมีได้มากมายขนาดนี้...



พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต หรือที่เราเรียกติดปาก
กันว่า “วังสวนจิตร” ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
เป็นผืนดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่

ในบริเวณร่มรื่นด้วยแมกไม้ใหญ่น้อย มีคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน
ถ้าเดินผ่านจะเห็นว่า น้ำในคูรอบวังสวนจิตรจะใส มีปลาน้อยใหญ่
เช่นปลานิล และปลาช่อนลอยตัวอย่างสบายใจ เพราะมีทหาร
ถือปืนเฝ้า อิอิ
(ก็ป้าไปยืนจ้องปลาช่อนตัวขนาดแขนมาแล้ว แต่ร้องท้าทายยังไง
มันก็ไม่ยอมโดดออกมา)

แฮ่... เดี๋ยวว่าไม่มีสาระ
เอาประวัติวังสวนจิตรฯ มาอ่านสักหน่อยนะคะ


วังสวนจิตรฯสร้างขึ้น ในสมัยของรัชกาลที่ 5 ค่ะ
จัดเป็นอาณาบริเวณส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต

จนในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้เป็นบิดาแห่งวงการประพันธ์ พระราชอัธยาศัย
ของกษัตริย์นักประพันธ์จึงโปรดการประทับในที่เงียบสงัด
เช่นเดียวกับนักเขียนทั้งหลาย

พอปี 2456 จึงโปรดให้ใช้เงินพระคลังข้างที่สร้างพระตำหนัก
"จิตรลดารโหฐาน" นี้ขึ้น ณ บริเวณที่เรียกกันว่า “ทุ่งส้มป่อย”
(สงสัยจะมีต้นส้มป่อยเยอะ)
ชื่อของพระตำหนักนั้นมาจากชื่อพระตำหนักเดิมในวังปารุสกวัน
แต่มาเพิ่มสร้อยว่า “รโหฐาน” เข้าไปรวมเป็น “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน”

คำว่า “รโหฐาน” คือ “ที่เฉพาะส่วนตัว” เพราะพระราชประสงค์
ให้พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่เงียบสงัด ไว้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือต่างๆ
และเป็นสถานที่ประทับส่วนพระองค์ที่ไม่ใช่ท้องพระโรงที่ใช้
ในการพระราชพิธีอย่างพระบรมมหาราชวัง


แต่หลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสู่สวงสวรรค์แล้ว พระตำหนักนี้
ก็มิได้ถูกใช้ จนกระทั่งในปี 2497 หรือ 98 ในหลวงของเรา
ทรงมีพระราชดำริให้ซ่อมแซมต่อเติม และประทับมาตลอด
หลังแล้วเสร็จในปี 2500
(เห็นแววต้นแบบ "พ่อแห่งความพอเพียง" แต่แรก เพราะ
ทรงซ่อมแซมเพื่อใช้ แทนที่จะสร้างใหม่ )


วังสวนจิตรฯ เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา ไร่นาทดลอง โรงโคนม
โรงสีและสารพัดโรงงานที่หลากหลาย
มีรายการยาวเหยียดดดดดดดดด~ ม๊ากกกกกกก~ ค่ะ...
วันนี้จะเอามาให้ตาเหลือกกันแค่ “ครึ่งวัง” เท่านั้น
เกาะตามแผนที่กันไปเลย พ่อแม่พี่น้อง...





1.บ้านพลังงานแสงอาทิตย์
ในปี 2539 กรมการพลังงานทหาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย บ้าน
"พลังงานแสงอาทิตย์" พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทรงใช้ใน
การทดลองเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทน
ในอนาคตเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ราษฎรต่อไป
ปัจจุบัน ถ้าคุณไปในถิ่นทุรกันดาร จะเห็นแผงโซล่าร์เซลล์
ขนาดไม่โตนัก ตั้งอยู่ในเขตบ้านเรือนคน ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
นั่นเป็นเศษเสี้ยวจากโครงการนี้ค่ะ


2. ศูนย์คอมพิวเตอร์
จัดขึ้นเพื่อให้โครงการเข้ามาตรฐานสากล มีการทำบาร์โค๊ดให้สินค้า
จัดเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข่าวสารอีกด้วย
(เช่นข้อมูลเหล่านี้... ก็สูบมาจากเวบกาญจนาภิเษก
1 ในโครงการนี้เอง แหะ แหะ )


3. โรงโคนมสวนจิตรลดา
(ถ้ารถแล่นผ่าน ฝั่งสนามม้าจะเห็น “น้องโค” ค่ะ)
ก่อตั้ง เมื่อ 12 มกราคม 2505 เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยง
โคนม โดยสาธิตให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร รวมถึงเพื่อศึกษา
ค้นคว้าและทดลองเทคนิคการเลี้ยงโคนมแบบที่มีประสิทธิภาพ
จึงค่อยเผยแพร่ไปสู่เกษตรกร
ครั้งแรกได้มีผู้ถวายโคเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 1 ตัว ได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้โครงการส่วนพระองค์ฯ จัดการเลี้ยงโคร่วมกับ
เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และจำหน่ายนมสดที่รีดได้แก่สมาชิก
ของโรงโคนมสวนจิตรลดา ทั้งยังพระราชทานลูกวัวเพศผู้เป็นวัวพันธุ์
และแม่โคที่คัดออกแก่ผู้ที่สนใจไปหัดรีดนม
ปัจจุบันนี้โรงโคนมสวนจิตรลดานี้
เลี้ยงโคประมาณ 40 ตัว (ข้อมูลปี 48)


4. ศูนย์รวมนม (มีถังพักนม และโรงนม UHT)
ช่วงต้นปี 2546 เกิดภาวะนมสดล้นตลาดขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าอยู่หัว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงนม UHT แห่งนี้ขึ้นเพื่อรับซื้อน้ำนมดิบ
จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร
มาแปรรูปเป็นนมสดUHT และนั่นคือที่มาของโรงนม UHT จิตรลดา
เมื่อสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร
ผู้เลี้ยงโคนม จึงทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ
เพื่อแก้ไขปัญหานมสดล้นตลาด ซึ่งมักเกิดบ่อยๆ ที่สำคัญ โรงงาน
แห่งนี้จะผลิตนมสดพร้อมดื่มที่มีคุณภาพโดยไม่เน้นการผลิต
เพื่อการพาณิชย์และไม่แสวงหาผลกำไรจากการดำเนินงาน
เพื่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และผู้ที่อยู่ห่างไกล

อาจเคยกินกันมาบ้าง นมถุงแช่เย็นไงคะ
คราวหน้า มองหาตรา "สวนจิตรลดา" นะคะ


5. โรงเนยแข็ง
สร้างขึ้นในวโรกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อปี 2530
หลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเนยแข็ง เพื่อการค้นคว้า
ทดลองและส่งเสริมแนะนำเป็นอาชีพต่อไป โดยได้รับ
ความช่วยเหลือ ด้านเครื่องมือและการฝึกอบรมในการผลิตเนยแข็ง
จากประเทศเนเธอร์แลนด์
สมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานชื่อเนยแข็งว่า “เนยแข็งมหามงคล”
ป้าเคยกินค่ะ สไลด์เป็นแผ่นบางๆ เหมาะแก่การแปะบนขนมปังแผ่น
และมีกล้วยหอมประกบยิ่งนัก
(กล่องแบนๆ มีตราสีเหลือง โปรดมองหา)

ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์จากนมหลากหลายชนิด เช่น
เนยแข็งปรุงแต่ง นมปราศจากไขมัน นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เนยสด
โยเกิร์ต นมข้นหวาน และไอศกรีม


6. โรงนมผงสวนดุสิต (มีโรงนมผงเพิ่มแล้ว ในปัจจุบัน)
เกิดขึ้นเพราะ ปี 2512 เกิดภาวะนมสดล้นตลาด กลุ่มผู้เลี้ยงโคนม
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้ทรงช่วยเหลือ จึงได้ทรงจัดตั้งโรงงาน
"นมผง" ขึ้น เพื่อผลิตนมผงจากนมสดของเกษตรกรสมาชิก
ผู้เลี้ยงโคนม นมผงของที่นี่มีคุณภาพและราคาถูก
พระราชดำริในครั้งแรกเมื่อตั้งโรงนมผงแห่งนี้คือ เพื่อเป็นโรงงาน
ตัวอย่างให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้มาเห็นและศึกษาวิธีการ
ทำนมผง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ใช้เงินเป็นค่าก่อสร้างและค่าอุปกรณ์
เป็นเงินที่ต่ำมาก สามารถที่จะนำไปเป็นแบบอย่างได้ง่าย
(ถูก - ดี - พร้อม )


7. โรงนมเม็ด
ปี 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ปรับปรุง
การจัดทำนมอัดเม็ดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่เคยทดลอง
ผลิตครั้งแรกเมื่อปี 2512 แล้ว ซึ่งมีอุปสรรคทางเทคนิคทำให้ไม่
สามารถดำเนินการต่อไปได้ ปัจจุบันโรงนมอัดเม็ดแห่งนี้มีเครื่อง
ตอกเม็ดนม 4 เครื่อง เครื่องบรรจุลงถุง 2 เครื่อง สามารถผลิต
นมอัดเม็ดได้วันละ 7,000 – 12,000 ถุง ถุงหนึ่งบรรจุ 20 เม็ด
ปี 2532 เริ่มการผลิตนมเม็ดช็อกโกแลต
ปี 2539 เริ่มผลิตนมเม็ดรสกาแฟ เรื่อยมาจนถึงปี 2541 จึงปรับปรุงคุณภาพ
จนสามารถผลิตนมเม็ดสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้

ในปี 2544 มีการปรับปรุงและขยายพื้นที่โรงนมอัดเม็ด ทำให้มีพื้นที่
กว้างขึ้นเพื่อรับการขยายตัวของการผลิตต่างๆ สามารถรองรับ
การฝึกงานของนิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม
ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี
(ตอนเด็กๆ โรงเรียนมักพาไปดูที่นี่)


8. ตรวจสอบ – ควบคุม คุณภาพ
9. ธุรการ-การเงิน
10. ห้องเย็น (มีสองจุด อีกจุดคือหมายเลข 26)
เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช จากหน่วยปฏิบัติการเก็บรักษาพันธุ์พืช
และผลิตภัณฑ์ต่างๆ


11. ยุ้งข้าว
12. โรงสีข้าว
ตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 เนื่องจากในปีนั้นได้มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องสีข้าวแบบต่างๆ
ณ วันนี้โรงสีข้าวได้ใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก สีได้ครั้งละ 1 เกวียน
และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวแบบต่างๆ
รวมทั้งยุ้งฉางข้าวแบบสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดัดแปลงให้สามารถ
นำข้าวเปลือกเข้า และออกจากยุ้งไปสู่โรงสีโดยที่ไม่ต้องมีคนแบกขน




ที่เห็นนี่เป็นเครื่องสีข้าวที่ได้มาจากนายจ๋วย ห่วงดี เกษตรกร
จากจังหวัดระยอง เขาสร้างเครื่องสีข้าวขนาดเล็กขึ้น และนำมา
ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวฯ ในวันเสด็จพระราชดำเนินทางเปิดโรงสีข้าว
ตัวอย่างที่ สวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2515 (กว่า 30 ปี แล้วนะคะ
ที่ท่านทำเพื่อข้าว พืชปากท้องหลักคนไทย)

เครื่องสีข้าวนี้เป็นแบบลูกหินลูกเดียว ต้องทำการสี 2 เที่ยว ซึ่งเป็นการ
ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน พระเจ้าอยู่หัวฯ จึงให้สถาบันวิจัยเกษตร
วิศวกรรมปรับปรุง และพัฒนาต่อ จนปฏิบัติงานดีขึ้น โดยสามารถสีข้าว
เพียงเที่ยวเดียว และเพิ่มจำนวนขึ้น มีการติดตั้งตะแกรงคัดขนาด
ข้าวสาร พัฒนาจนใช้คนปฏิบัติงานเพียงคนเดียวได้ วัสดุที่ใช้สร้าง
หาซื้อได้ภายในประเทศ
(นี่แหละสุดยอด เงินทองไม่รั่วไหล)

ยังไม่พอค่ะ แนวพระราชดำริคือ ต้องซ่อมแซมและบำรุงรักษา
โดยตัวเกษตรกรเองได้ มีขนาดกะทัดรัด ไม่เปลืองเนื้อที่ในการติดตั้ง
นอกจากนั้นยังสามารถกะเทาะเปลือกถั่วเขียวได้ โดยก่อนการสี
ต้องนำถั่วเขียวไปแช่น้ำ 1 ชั่วโมง แล้ว ตากแดดให้แห้ง (สารพัดประโยชน์ ในการจัดการกับพืชไร่อื่นๆ)
เป็นสายพระเนตรที่รอบคอบ และกว้างไกลเหลือเกิน


13. พัสดุ
14. โรงบดแกลบ
ปี 2518 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงบดแกลบ
แล้วอัดให้เป็นเชื้อเพลิงแท่งและทดลองเผาแกลบอัดแท่งให้เป็นถ่าน
ได้ครั้งแรกเมื่อปี 2529 (สิบปีกว่าค่ะ แต่ก็ทรงบากบั่น)

นอกจากนี้ยังได้ผลิตแกลบบดผสมปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยคอกชนิดต่างๆ
จำหน่ายซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

ด้วยพระอัจฉริยภาพทรงค้นพบว่าแกลบที่อัดแล้วจะไม่สามารถ
รักษาเป็นแท่งอยู่ได้เมื่อถูกน้ำหรือฝนจะแปรสภาพเป็นแกลบบด
ดังเดิม แต่เมื่อนำแกลบที่อัดเป็นแท่งแล้วไปเผาเป็นถ่าน แม้โดนน้ำ
ก็ยังสามารถรักษาสภาพเดิมอยู่ได้ พอออกมารูปทรงสวย หักเป็นชิ้น
ก็ง่าย ก็นิยมใช้กัน เพราะควันน้อย ให้ความร้อนสูงอีกด้วย

ในโรงบดยังมี “เตาอัดแกลบ” ถ้าเรายังไม่ทราบว่า นอกจากแกลบแล้ว
เศษไม้จากอุตสาหกรรม เช่น ซังข้าวโพด กะลา เปลือกยาง
กับเปลือกทุเรียน ก็ทำได้ค่ะ... โดยวัสดุประกอบก็เป็นพวก ฟางข้าว
ผักตบชวาแห้ง แกลบ ฯลฯ เหล่านี้เป็นของ “หาได้ไม่ยาก” ทั้งสิ้น

ในหลวงยังทรงเอา “ถ่าน” ขนาดนี้ พสกนิกรจะไม่เอาเหรอคะ...



เครื่องบดแกลบ...


15. อนุรักษ์พันธุกรรมพืช
16. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (สองข้อนี้ อธิบายรวมกับข้อ 19 ค่ะ)

17. กรมวิชาการ
18. ปลูกพืชปราศจากดิน
เพื่อทดลองสำหรับแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่มีปัญหา และมีเนื้อที่จำกัด
เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

19. ธนาคารพันธุ์พืช (และมีธนาคารข้อมูลพันธุ์พืช)
เป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในสมเด็จพระเทพฯ
ในปี 2535 -36 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการนี้
เพื่อจัดสร้างธนาคารพืชพรรณ เป็นที่เก็บรวบรวมและรักษาพันธุกรรม
ของพืชทั้งในรูปของเมล็ดและเนื้อเยื่อ มีหน่วยงานปฏิบัติการ
เมล็ดพันธุ์พืช ห้องเย็นเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช หน่วยปฏิบัติการ
เก็บรักษาพันธุ์พืชโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หน่วยปฏิบัติการ
กักกันพืช และสุดท้าย คือหน่วยปฏิบัติการชีวโมเลกุลพืช เพื่อ
ศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชด้านชีวเคมี

ส่วนธนาคารข้อมูลพันธุกรรมพืช
เป็นงานต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์ฯ
ด้วยสมเด็จพระเทพ ทรงมีพระราชดำริว่า

“การทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืชโดยมีคอมพิวเตอร์นั้น ควรมีโปรแกรม
ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นสีได้ เพื่อความสะดวก
ในการอ้างอิงและค้นคว้าของผู้ที่สนใจ”


โครงการนี้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารข้อมูลพันธุกรรมพืช เพื่อเป็น
ฐานข้อมูลในการพัฒนาพันธุ์พืช โดยจัดทำข้อมูลด้านการเก็บรวบรวม
การประเมินพันธุกรรม การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ อีกทั้ง
ดำเนินการจัดทำข้อมูลพันธุกรรมพืช เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแก่เยาวชน
ให้เห็นความงดงาม น่าสนใจจนเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาอนุรักษ์
พืชพรรณต่อไป


20. โรงค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง
คงเคยดูโฆษณา “น้ำมันมะพร้าว” กันแล้วนะคะ เกิดที่นี่ค่ะ
เมื่อปี 2528 พระบาทพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง
ให้ทดลองนำเอาแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
ทรงคาดว่าในอนาคตอาจจะเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อย
ตกต่ำ การนำเอาอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน
ทดแทนจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

โรงงานแห่งนี้ได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบันนี้ โดยเมื่อปี 2538
กลุ่มบริษัท สุราทิพย์ ได้น้อมเกล้าฯถวายระบบผลิตแอลกอฮอล์ 95 %
พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงอาคารใหม่เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี
ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้ถึง 99.5 %

วัตถุดิบหลักในการหมักคือ กากน้ำตาล แอลกอฮอล์ที่ใช้ในการผลิต
เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ , ดีโซฮอล์ นอกจากนั้นโรงแอลกอฮอล์ยังได้
ผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เจลล้างมือ
สเปรย์ฉีดเท้า น้ำหอม โลชั่นกันยุง เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
หล่อเลี้ยงหน่วยงานอีกทางหนึ่ง
เจลล้างมือเป็นหลอดเล็กๆค่ะ สาวๆมีติดตัวกันหรือยังคะ
(โฆษณา สุดฤทธิ์ )


21. ศาลามหามงคล
22. วิจัยพัฒนา (ปัจจุบันมี 2 จุด)
23. สำนักงานขาย
24. โรงหล่อเทียนหลวง
ปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดสร้างโรงหล่อเทียนหลวงสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อใช้ผลิตเทียนหลวง
ที่ใช้ในการพระราชพิธีของสำนักพระราชวังแทนการฟั่นเทียนด้วยมือ
อย่างโบราณ เพื่อให้ได้เทียนที่มีคุณภาพที่ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ
ในราชสำนัก ตลอดจนฝึกหัดบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ
เพื่อลดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อ
อ่านแล้ว... ยิ่งเชื่อมั่น ในหลวงทรงประหยัดที่สุดในวังสวนจิตรจริงๆ


25. โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา (พาสเจอร์ไรซ์)
ปี 2527 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ผลิตน้ำส้มคั้น
และน้ำอ้อยพาสเจอไรซ์ ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้เครื่อง
พาสเจอไรซ์นมสดเดิม ซึ่งมีอายุการใช้งานเกือบ 10 ปี
(ในหลวงประหยัดจริงๆ)
เป็นโครงการแนะนำชาวไร่ส้ม และไร่อ้อย เพื่อแก้ไขปัญหา
ทางด้านการตลาดของส้มและอ้อย
นอกจากนี้แล้วโรงงานแห่งนี้ยังทำการผลิตน้ำกระเจี๊ยบพาสเจอไรซ์
ออกสู่ตลาดเป็นโครงการแนะนำ

27. โรงน้ำผลไม้กระป๋อง (ปัจจุบันมี 2 จุด)
ปี 2535 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างโรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง
เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบ และครบวงจรของการผลิตน้ำผลไม้ อันได้แก่
การผลิตน้ำผลไม้แบบเข้มข้น น้ำผลไม้แบบพาสเจอไรซ์ น้ำผลไม้
บรรจุกระป๋อง เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ
สามารถเข้ามาศึกษานำความรู้ใน การผลิตน้ำผลไม้แต่ละชนิด
ไปใช้ประโยชน์ต่อไป


28. โรงเพาะเห็ด
ปี 2531 มีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเพาะเห็ดชนิดต่างๆ ขึ้นด้วย
เศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อปลูกเห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดฟาง
เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เห็ดหลินจือ...
นอกจากนี้ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้นำเอาเศษวัสดุ
ที่เหลือใช้จากการเพาะเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยหมักอีกด้วย
(สองเด้ง สุดยอด)


29. โรงกระดาษสา
เริ่มในปี 2536 โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาเป็นดอกไม้
นานาชนิด และเป็นของชำร่วยที่สวยงาม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน ดัดแปลงผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา
ในรูปแบบเดียวกันเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
และความต้องการของท้องตลาด โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้จากกระดาษสา
แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จนครบวงจร เพื่ออนุรักษ์ศิลปะความเป็นไทย
จากผลิตภัณฑ์กระดาษสา

นอกจากนี้แล้วยังได้มีการนำปอสาไทยมาประยุกต์ผลิตเป็นกระดาษสา
แบบญี่ปุ่นด้วย โดยผ่านการต้มและฟอกขาว ใส่สารยูรามีนเพื่อให้
เยื่อกระดาษกระจายตัวและเพิ่มความเหนียวและความเงาให้กระดาษสา
ใช้ตะแกรงช้อนแบบญี่ปุ่นจะได้กระดาษสาแบบญี่ปุ่นที่มีความบางเรียบ
สีสันสดใส เหมาะกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องเขียนและงานบาติก

ในกลุ่มงานนี้ ยังประกอบด้วยกลุ่มงานหัตถศิลป์ที่น่าสนใจอีกเช่น...

งานบาติก - การทำบาติกของโครงการส่วนพระองค์ฯใช้กรรมวิธี
แบบโบราณ คือเขียนด้วยมือ

งานสกรีน - พิมพ์ลวดลายต่างๆ ลงบนกระดาษสา แล้วจึงใช้สีและยาง
ปาดพิมพ์ผ่านแผ่นผ้าที่ต้องการให้เกิดลวดลาย

งานเครื่องหอมและของชำร่วย - ปัจจุบันนี้มีงานทั้งหมด 7 ชนิด คือ
น้ำอบไทยสวนจิตรลดา น้ำปรุงสวนจิตรลดา ยาหม่องสวนจิตรลดา
ยาหม่องน้ำสวนจิตรลดา พิมเสนน้ำสวนจิตรลดา ยาดมส้มโอมือ
สวนจิตรลดา ออดิโคโลญ (แน่นอน มีขายที่โกลเด้นเพลสค่ะ)

งานเกล็ดปลา - นำเอาเกล็ดปลาน้ำจืด รวมถึงปลาน้ำเค็มชนิดต่างๆ
มาล้างให้สะอาด ปรับให้หอมและนุ่ม จึงย้อมสี ผึ่งแห้ง แล้วมาประดิษฐ์
เป็นกลีบดอกไม้ชนิดต่างๆ

งานบุหงา - นำเอากลีบดอกไม้ชนิดต่างๆ มาตากแห้ง อบและร่ำให้หอม
ด้วยน้ำปรุงและน้ำหอม แล้วจึงนำใบยางที่ตากแห้งแล้วมาประกบ
ทั้งสองข้างยึดให้ติดกันด้วยกาวลาเทกซ์ชนิดใสตัดแต่งให้เป็น
รูปบุหงา พัดโบก ผีเสื้อ หรือรูปดอกไม้ตามความต้องการ
(สนใจไว้ห้อยในรถ หรือแจกเพื่อนๆซักถุงมั้ยคะ )


30. เรือนเพาะชำ
31. สาหร่ายเกลียวทองและผลิตภัณฑ์
32. โรงอาหารปลา (สองโรงนี้ จะทำงานควบกัน)
เริ่มโครงการปี 2529 โดยได้รับการปรึกษาและแนะนำจากภาควิชา
จุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
รวมถึงสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ
หลังการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารปลาตามแนวพระราชดำริ
ทั้งแบบจมน้ำและแบบที่ลอยน้ำ จากการศึกษาพบว่า อาหารปลา
ที่มีสาหร่ายเกลียวทองผสม มีผลทำให้ปลาแฟนซีคราฟ
เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสีสันมากกว่าที่เลี้ยงจากอาหารปลา
ธรรมดา และการเจริญวัยในการสืบพันธุ์เร็วขึ้นด้วย

พอปี 2545 โรงอาหารปลาฯ ได้ก่อสร้างอ่างซีเมนต์ขึ้นอีก 6 อ่าง
และสร้างห้องปฏิบัติการแปรรูปผลิตภัณฑ์สาหร่ายเกลียวทองเพิ่มขึ้น
ได้แก่ ห้องเพาะเลี้ยงเชื้อสาหร่ายเกลียวทอง ห้องตู้อบความร้อน
ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบผสมสาหร่ายเกลียวทอง ห้องทอด
ข้าวเกรียบสาหร่ายเกลียวทอง ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์เยลลีผสม
สาหร่ายเกลียวทอง และห้องบรรจุแคปซูลสาหร่ายเกลียวทอง
(เยอะจัง)


33. อาคารเอนกประสงค์
34. โรงเพาะเห็ดหลินจือ และโรงทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเห็ดหลินจือ
ในปี 2538 กระแส “เห็ดหลินจือ” มาแรง โรงเพาะเห็ดจึงต้อง
ขยายการผลิต และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในต้นปี 2539
โรงงานได้พัฒนา ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือเป็นแคปซูลขึ้นเพื่อง่าย
ต่อการบริโภค

และในปี 2543 ได้เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชงพร้อมดื่มจากสมุนไพร
ชนิดต่างๆ เพื่อสะดวกในการบริโภค และในปีต่อมาคือปี 2544 ได้มีการ
พัฒนาเป็นแบบอัดเม็ดเพื่อสะดวกสำหรับการพกพา


35. โรงปุ๋ยหมัก
สร้างในปี 2528 เพื่อศึกษากระบวนการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุ
ที่เหลือใช้จากการเกษตร โดยการใช้น้ำกากส่า ซึ่งเป็นน้ำทิ้ง
จากโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งในกระบวนการย่อยสลาย
นอกจากนี้ ทางโรงงานยังศึกษาสายพันธุ์และกรรมวิธีการผลิต
จุลินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้
เป็นปุ๋ยหมัก
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปุ๋ยหมักชนิดต่างๆ ขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลาย
และความสะดวกให้แก่ผู้ต้องการใช้ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยอัดเม็ด

36. ปั๊มน้ำมัน (ยังมีปั๊ม แกสโซฮอลล์ ด้วย)


โอย.... ตาลาย.... ไหมคะพี่น้อง...


ยังมีอีกหลายจุด ที่ไม่เห็นในแผนที่ เช่นโรงกระถางผักตบชวา
บ่อปลานิล โรงน้ำดื่ม สำนักงานฝึกอบรมและงานประมวลผล
ถังเก็บแอลกอฮอล์ พิพิธภัณฑ์พืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ โรงผลไม้อบแห้ง
เทียนหอม หัตถกรรมดิน โรงน้ำผึ้ง นาข้าวทดลอง (สร้างตั้งแต่ปี 2504
ซึ่งข้าวจากที่นี่ส่วนหนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนา
หว่านข้าวในแปลงนาทดลองต่อท้าย จากพระราชพิธีจรดพระนังคัล
แรกนาขวัญ เป็นประจำทุกปีจวบจนปัจจุบันนี้)



ภาพทรงหว่านข้าว หลังจากนั้นก็ขับรถแทร็คเตอร์ โดยมี
สมเด็จพระบรมฯ (สวมพระมาลา) ประทับบนพระเพลา
ณ นาข้าวทดลอง วังสวนจิตรลดา


ยัง... ยังไม่พอค่ะ ภายในเขตพระราชฐานแห่งนี้ยังมี
"โรงเรียนจิตรลดา" อีกนะคะ

คัดมาแค่นี้ป้าก็แฮ่กแล้ว “ผู้ทำ” จะไม่เหน็ดเหนื่อยพระวรกายบ้างเลยฤๅ

ดังนั้น ไม่มีคำพูดใด ดีเท่ากับคำนี้...
“ทรงพระเจริญ”




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2549
10 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2549 2:56:33 น.
Counter : 9925 Pageviews.

 

และ... ยังไม่หมด หุหุ
ประเคนข้อมูลอัดพ่อแม่พี่น้อง ให้ตาแฉะกันไปเลย

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์
สวนจิตรลดา ต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าเยี่ยมชม
ถึงผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
(เนื่องจากสวนจิตรลดา เป็นเขตพระราชฐานอันเป็นที่ประทับ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร. 0-2281-1034 หรือ 0-2281-1034

อยากให้คุณครูทุกท่าน พาศิษย์ไปชมกันค่ะ


นอกจากสินค้า ที่มาจากในวังสวนจิตร จะมีที่ร้านดอยคำ
ยังมีที่ร้านของ "จิตรลดา" เองด้วย
หาซื้อได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้...

ร้านจิตรลดา สำนักงานกลาง
ศาลาจิตรพัสตร์ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
โทร. 0-2281-4558

สาขาต่างๆ รวม 11 แห่ง คือ

ร้านจิตรลดา 1
ชั้น 2 โอเรียนเต็ลเพลส
ตรอกชาร์เตอร์แบงก์ กรุงเทพมหานคร

ร้านจิตรลดา 2
ชั้นล่างของศาลาเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ในพระบรมมหาราชวัง
(เวลาไป จะมีน้ำผลไม้เย็นชื่นใจขายค่ะ)

ร้านจิตรลดา 3
หมู่บ้านไทย สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม

ร้านจิตรลดา 4
โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บิช รีสอร์ท เมืองพัทยา

ร้านจิตรลดา 5
ท่าอากาศยานเชียงใหม่

ร้านจิตรลดา 6
อาคารผู้โดยสารขาออก 1 และ 2 ท่าอากาศยานกรุงเทพ

ร้านจิตรลดา 7
ท่าอากาศยานภูเก็ต
และโรงแรมเพิร์ล จังหวัดภูเก็ต

ร้านจิตรลดา 8
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต

ร้านจิตรลดา 9
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

ร้านจิตรลดา 10
โรงแรมกรุงเทพแมริออท แอนด์ สปา

ร้านจิตรลดา 11
โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา


ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่นนะคะพี่น้อง
ในหลวงของเรา นอกจากพยายามทำสินค้าแล้ว "การตลาด"
ก็พยายามเหลือเกินค่ะ


ขอขอบพระคุณข้อมูลจากเวบกาญจนาภิเษก
และเวบผู้จัดการ

 

โดย: ป้าหนอน 21 มิถุนายน 2549 3:07:29 น.  

 




หวัดดีกั่บพ้ม

คิดถึงจังเลย...จ๊ะป้าจ๋า

ขอบคุณกั้บที่สรรหาสาระดี ๆ มาฝาก

งานนี้ทำให้นู๋รักท่านเยอะอยู่เยอะขึ้น ๆ อีก 555

ของจงทรงพระเจริญ



 

โดย: TopFee 21 มิถุนายน 2549 11:43:30 น.  

 

อ่านแล้วน้ำตาจะไหล

ในหลวงของเราท่านทรงเป็นต้นแบบกษัตริย์และผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริงๆ ค่ะ เมื่อทรงพระราชทานแนวพระราชดำริหรือโครงการต่างๆ แล้วท่านก็มิได้ดูดายหรือปล่อยผ่านไป แต่ยังทรงติดตามผลของการดำเนินงานต่างๆ แล้วยังทรงมองการณ์ไกล คาดเดาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและวางแนวทางในการแก้ไขไว้อีกด้วย นอกจากนั้นยังทรงเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ นำวัสดุเหลือใช้มาทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้อีก

 

โดย: เดอะ กั้ (เดอะ กั้ง ) 21 มิถุนายน 2549 14:42:53 น.  

 

วันนี้ได้ความรู้ดีดี ด้วย ขอบคุณค่ะป้าหนอน

 

โดย: zaesun 21 มิถุนายน 2549 16:05:55 น.  

 

* * * TopFee
วังกว้าง แต่พระทัยกว้างกว่ามาก ว่ามั้ย


* * * เดอะ กั้ง
เรียกว่าทรงรอบคอบ ไม่ทอดทิ้งเสียเปล่า
ไม่ว่าจะอะไรทั้งสิ้น เลยละค่ะ
และไม่ท้อถอยด้วย บางโครงการเป็น 10 ปี กว่าจะ
ประสบผลสำเร็จ แต่ท่านก็ไม่ท้อ


* * * zaesun
ยินดีที่ได้เผยแพร่พระเกียรติค่ะ

 

โดย: ป้าหนอน 21 มิถุนายน 2549 22:47:02 น.  

 

มาเยี่ยม blog ป้าหนอนครับ มาอ่านทีไรได้มีน้ำตาซึม

ไม่เข็ด พรุ่งนี้มาอ่านใหม่

 

โดย: ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย (ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย ) 22 มิถุนายน 2549 1:15:57 น.  

 

นั่งรถมาทำงาน ต้องผ่านวังสวนจิต เช้าเย็น
บางวันรถเมล์ติดตรงคอกวัว ก็นั่งชมบรรยากาศภายในวังเคล้ากลิ่นอึวัวนม

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

 

โดย: wanwitcha 22 มิถุนายน 2549 15:24:09 น.  

 

อ่านแล้วต้องอึ้ง พอรู้ข้อมูลมาบ้างคร่าวๆ แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้

ทรงพระเจริญ

 

โดย: สายลมโชยเอื่อย 23 มิถุนายน 2549 1:41:50 น.  

 

* * * ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย
นี่แค่ "ครึ่งวัง" นะคะ
ถ้าดูเต็มวัง สงสัยน้ำท่วมกรุงเทพแน่เลย...


* * * wanwitcha
ต้องหานมวัวมาชิมด้วย
จะได้พร้อม รูป รส "กลิ่น" อิอิ


* * * สายลมโชยเอื่อย
ครึ่งวัง... เท่านั้นนา...

 

โดย: ป้าหนอน 23 มิถุนายน 2549 23:45:07 น.  

 

อ่านแล้วจะร้องไห้จริงๆ

พ่อทำเพื่อเราแท้ๆ ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนกว่าทุกอย่างจะเป็นเช่นทุกวันนี้

ขอบคุณป้ามากๆ ค่ะ ที่เอาความรู้มากฝากกัน

 

โดย: เด็กทะเล (ลิปิการ์ ) 29 มิถุนายน 2549 8:21:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ป้าหนอน
Location :
อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวง Svalbard and Jan Mayen

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




๐ คนข้างโลก อยู่เงียบๆ อย่างเรียบร้อย
พูดไม่น้อย จึงเขียนมาก แก้ปากหมา
สนใจสิ่ง รอบตัว ทั่วโลกา
จักสรรหา มาสัมผัส วัดด้วยตน
ขอเก็บความ-คิดไว้ ในบันทึก
สนุกนึก ย้อนมาอ่าน กันอีกหน
ได้รำลึก ความคิด ในจิตตน
คงได้ยล ยิ้มบ้าง ในบางวัน...
Friends' blogs
[Add ป้าหนอน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.