Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
16 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
ตั้งสติยามปฏิบัติธรรม

สำหรับผุ้ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นนั้น อาจเป็นเรื่องยากเย็นจริงๆ บางท่านได้ดำเนินมาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรม พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเพื่อความไม่ร้อนรนใจในการปฏิบัติธรรมไว้ครับ ความจริงแล้วที่ว่าตั้งสติยามปฏิบัติธรรมก็คือตั้งสติในการดำรงชีวิตนั่นแหละครับ

พระสูตรในวันนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*********************************************************
คิลานวรรคที่ ๓

คิลานสูตรที่ ๑

[๘๘] สาวัตถีนิทาน ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารโน้น มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏนามและโคตร เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความเอ็นดู เสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด พระเจ้าข้า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำว่าภิกษุใหม่ และว่าเป็นไข้ ทรงทราบชัดว่าเป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร เสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลยภิกษุ เธออย่าปูอาสนะไว้ที่เตียงเลย อาสนะที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า เธอพอทนได้หรือ เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดน้อยลง ไม่เจริญแก่กล้าหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แก่กล้ายิ่งนัก ไม่ลดน้อยไปเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ เธอไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความเดือดร้อนไรๆ หรือ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความรังเกียจ มีความเดือดร้อนไม่น้อยเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ เธอไม่ติเตียนตนเองโดยศีลบ้างหรือ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลยพระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีล เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรังเกียจ มีความเดือดร้อนเพราะเรื่องอะไรเล่า ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ถ้าว่าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเพื่อคลายจากราคะ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่แสดงแล้วเพื่อคลายจากราคะ ดูกรภิกษุ เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีความคลายจากราคะเป็นความมุ่งหมาย ฯ
[ภิกษุบางรุปอาจปฎิบัติธรรมเพื่อละราคะ บางรูปนั้นปฏิบัติเพื่อละอวิชชา บางรูปปฏิบัติเพื่อกำจัดอุปาทานในขันธ์ห้า บางรูปมุ่งเพื่อความดับแห่งอายตนะ6 ฯลฯ ครั้นเมื่อได้ฟังธรรมเรื่องศีลวิสุทธิจากพระพุทธองค์ก็ร้อนใจเพราะไม่รู้ทั่วในเรื่องนี้]

[๘๙] พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ

จบสูตรที่ ๑

คิลานสูตรที่ ๒

[๙๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในวิหารโน้น เป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏชื่อและโคตร เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จไปหาภิกษุนั้นเถิดพระเจ้าข้า ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำว่าภิกษุใหม่ เป็นไข้ทรงทราบชัดว่า เป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลย ภิกษุ เธออย่าปูอาสนะที่เตียงเลย อาสนะที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ เธอพอทนได้หรือ เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดน้อยลง ไม่เจริญแก่กล้าหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีลไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรังเกียจ มีความเดือดร้อนเพราะเรื่องอะไรเล่า ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมอันเราแสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีอนุปาทาปรินิพพานเป็นความมุ่งหมาย ฯ

[๙๑] พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีวิญญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฉะนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุนั้นหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๒

ราธสูตรที่ ๑

[๙๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ดูกรราธะ อะไรเล่าไม่เที่ยง จักษุแลไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในจักษุนั้นเสีย รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในเวทนานั้นเสีย ฯลฯ ใจไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในเวทนานั้นเสีย ดูกรราธะ สิ่งใดแลไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ฯ
[ธรรมที่เหมาะสมกับท่านพระราธะสำหรับความหลุดพ้นคือการกำหนดพระไตรลักษณ์ในอายตนะ6 ในพระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องอนิจจัง]

จบสูตรที่ ๓

ราธสูตรที่ ๒

[๙๓] ดูกรราธะ สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าเป็นทุกข์ จักษุแลเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในจักษุนั้นเสีย รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ฯลฯ ใจเป็นทุกข์ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ฯ

จบสูตรที่ ๔
[ต่อจากพระสูตรก่อนหน้านี้ ในพระสูตรนี้เป็นพระไตรลักษณ์ว่าด้วยอายตนะ6 เป็นทุกข์]

ราธสูตรที่ ๓

[๙๔] ดูกรราธะ สภาพใดแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในสภาพนั้นเสีย อะไรเล่าไม่ใช่ตัวตน จักษุแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในจักษุนั้นเสีย รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในสภาพนั้นเสีย ดูกรราธะ สภาพใดแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในสภาพนั้นเสีย ฯ
[อายตนะ6 เป็นอนัตตา เมื่ออายตนะคือจักษุกระทบกับรูปเกิดจักษุวิญญาณ ครบองค์สามนี้จึงเรียกว่าผัสสะ เมื่อมีผัสสะขึงเกิดเวทนาเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างไรก็ตามจักษุนี้เป็นอนัตตา รูปก็เป็นอนัตตา จักษุวิญญาณเป็นอนัตตา จักษุสัมผัสที่มีปัจจัยอันไม่เที่ยงก็ย่อมเป็นอนัตตา เวทนาที่เกิดจากจักษุสัมผัสก็เป็นอนัตตา กรณีของอายตนะอื่นๆเช่นกันครับ]

จบสูตรที่ ๕

อวิชชาสูตรที่ ๑

[๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาเกิดขึ้นนั้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้วย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยงจึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรูปทั้งหลาย ฯลฯ ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ฯ
[หากมุ่งทำวิชชาให้บังเกิดก็จงละอวิชชา กำหนดไตรลักษณ์ในอายตนะทั้งหลาย]

จบสูตรที่ ๖

อวิชชาสูตรที่ ๒

[๙๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือหนอแล ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่ ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เธอย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวงโดยประการอื่น คือเห็นจักษุโดยประการอื่น เห็นรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ฯ
[ในพระสูตรนี้แสดงการละอวิชชาโดยละอุปาทานในขันธ์ห้าก่อน เมื่อละอุปาทานได้ก็เห็นชัดแจ้งในอายตนะ6ว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน]

จบสูตรที่ ๗

ภิกขุสูตร

[๙๗] ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นในโลกนี้แล ย่อมถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่ออะไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ จึงพยากรณ์แก่ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้ว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พยากรณ์แล้วอย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง จะไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนละหรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา ก็เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ทุกข์ซึ่งพวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส จักษุแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้จักษุเป็นทุกข์นั้น รูป ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น ฯลฯ ใจก็เป็นทุกข์ ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้นๆ อาวุโส ข้อนี้นั้นแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แล ฯ
[ภิกษุเมื่อถูกชนนอกพระศาสนาถามถึงเหตุแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ควรตอบว่าเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ คืออายตนะ6เป็นทุกข์ อายตนะ6ทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะนี้ก็เป็นทุกข์ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนาก็ล้วนเป็นทุกข์]

จบสูตรที่ ๘

โลกสูตร

[๙๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า โลก พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโลก เพราะจะต้องแตกสลาย อะไรเล่าแตกสลาย ดูกรภิกษุ จักษุแลแตกสลาย รูปแตกสลาย จักษุวิญญาณแตกสลาย จักษุสัมผัสแตกสลาย สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แตกสลาย ฯลฯ ใจแตกสลาย ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัสแตกสลาย สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็แตกสลาย ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโลก เพราะจะต้องแตกสลาย ฉะนี้ ฯ
[โลก มาร สัตว์ เหล่านี้ล้วนเกิดจากความถือมั่นในอายตนะ6 แต่โลกนี้ย่อมแตกสลายเพราะความไม่เที่ยงแห่งอายตนะ มารย่อมเบียดเบียนบุคคลได้ตามใจเพราะยึดมั่นในอายตนะ6 สัตว์ บุคคลย่อมไม่หลุดพ้นไปเพราะยึดมั่นในอายตนะ6]

จบสูตรที่ ๙

ผัคคุณสูตร

[๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระผัคคุณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยจักษุใด จักษุนั้นมีอยู่หรือหนอ ฯลฯ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยใจใด ใจนั้นมีอยู่หรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

[๑๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรผัคคุณะ บุคคลเมื่อจะบัญญัติพึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยจักษุใด จักษุนั้นไม่มีเลย ฯลฯ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยใจใด ใจนั้นไม่มีเลย ฯ
[ไม่ว่าใจใดหรือบุคคลใดย่อมไม่อาจหยั่งรู้ทั่วหรือบัญญัติในพระพุทธองค์ได้เลย]

จบสูตรที่ ๑๐

จบคิลานวรรคที่ ๓

**********************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 16 มกราคม 2549
Last Update : 16 มกราคม 2549 13:48:22 น. 0 comments
Counter : 341 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.