Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
6 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
บุคคลหลากหลายประเภท

เข้าสู่อังคุตรนิกายครับ ในส่วนอังคุตรนิกายนั้นแยกแยะธรรมะออกตามองค์ประกอบแห่งธรรม กล่าวคือธรรมอันมีข้อเดียวรวบรวมลงในเอกนิบาต ธรรมอันมีองค์ประกอบสองข้อก็อยู่ในทุกนิบาต ถ้ามีองค์ประกอบสามข้อก็รวมอยู่ในติกนิบาต ถัดจากนั้นก็เป็นจตุกกนิบาต ปัญจกนิบาต ฉักกนิบาต ฯลฯ วันนี้ก็เลือกเอาปุคคลวรรคในทุกนิบาตมาลงครับ เป็นเรื่องของบุคคลในโลกนี้ว่าประกอบไปด้วยธรรมโดยประการต่างๆครับ

พระสูตรในวันนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 12 อังคุตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*************************************
ปุคคลวรรคที่ ๑

สวิฏฐสูตร

[๔๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสวิฏฐะกับท่านพระมหาโกฏฐิตะ ได้พากันไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระสวิฏฐะว่า ดูกรอาวุโสสวิฏฐะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวก เป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ ดูกร ท่านผู้มีอายุ บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหนซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ท่านพระสวิฏฐะได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ กระผมชอบใจบุคคลผู้สัทธาวิมุตต ซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสัทธินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะว่า ดูกรอาวุโสโกฏฐิตะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหนซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ กระผมชอบใจบุคคลกายสักขีซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมาธินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้ถามท่านพระสารีบุตรบ้างว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหน ซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ท่านพระสารีบุตรได้ตอบว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธาวิมุตตบุคคล ๑ บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ ผมชอบใจบุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะซึ่งเป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปัญญินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระสวิฏฐะและท่านพระมหาโกฏฐิตะว่า ดูกรอาวุโส เราทั้งหมดด้วยกันต่างได้พยากรณ์ตามปฏิภาณของตน มาไปด้วยกันเถอะ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลข้อความนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เราอย่างไร เราจักทรงจำพระพุทธพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น ท่านพระสวิฏฐะกับท่านพระมหาโกฏฐิตะได้รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระสวิฏฐะ และท่านพระมหาโกฏฐิตะ ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลการเจรจาปราศรัยกับท่านพระสวิฏฐะและท่านมหาโกฏฐิตะทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสารีบุตร การที่จะพยากรณ์ในข้อนี้โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ บุคคลนี้เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายเลย เพราะข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ บุคคลผู้สัทธาวิมุตตนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ บุคคลผู้เป็นกายสักขี ผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ก็พึงเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ดูกรสารีบุตร การที่จะพยากรณ์ในข้อนี้โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ บุคคลนี้เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายเลย เพราะข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ บุคคลผู้สัทธาวิมุตตเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี และแม้บุคคลผู้กายสักขีก็พึงเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ดูกรสารีบุตร การที่จะพยากรณ์ในข้อนี้โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ บุคคลนี้เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่าไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายเลย ฯ
[กล่าวถึงบุคคลสามประเภทครับคือ
1.กายสักขีบุคคล - ผู้มีสมาธินทรีย์อันแก่กล้ายิ่งกว่าประมาณ
2.ทิฏฐิปัตตบุคคล - ผู้มีปัญญินทรีย์ยิ่งกว่าประมาณ
3.สัทธาวิมุตตบุคคล - ผู้มีสัทธินทรีย์ยิ่งกว่าประมาณ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่อาจบอกได้โดยง่ายว่าบุคคลสามประเภทนี้ ผู้ใดมีธรรมงามกว่า ประณีตกว่า เช่นว่าผู้มีสัทธินทรีย์แก่กล้าบางท่านอาจบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอเสขะได้ ขณะที่ผู้มีปัญญินทรีย์อาจบรรลุธรรมในระดับของพระเสขะ หรือในทางกลับกันผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้าอาจบรรลุธรรมเป็นพระอเสขะ ผู้มีสมาธินทรีย์แก่กล้าอาจป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี ฯลฯ]


จบสูตรที่ ๑

คิลานสูตร

[๔๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้เลย คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากอาพาธนั้นได้ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนั้น เพราะอาศัยคนไข้ผู้ที่ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงจะหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย นี้เราจึงอนุญาตคิลานภัต อนุญาตคิลานเภสัช อนุญาตคิลานุปัฏฐากไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย และก็เพราะอาศัยคนไข้เช่นนี้ ถึงคนไข้อื่นก็ควรได้รับการบำรุง ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลซึ่งเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคลผู้เปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนั้นเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรคได้เลย บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือจตุรมรรค บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค เมื่อไม่ได้ฟังย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนั้น เพราะอาศัยบุคคลผู้ที่ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือจตุรมรรค เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค เมื่อไม่ได้ฟังย่อมไม่หยั่งลง นี้แล เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย และก็เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรมแม้แก่บุคคลอื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลซึ่งเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสถึงบุคคลสามประเภทว่าเปรียบดังคนไข้สามประเภทคือ
1.คนไข้ที่แม้ไม่ทานยา ไม่มีคนดูแลก็หายไข้ได้
2.คนไข้ที่ทานยา มีคนดูแลจึงหาย ถ้าไม่ทานยา ไม่มีคนดูแลก็ไม่หาย
3.คนไข้ที่ทานยา มีคนดูแลก็ไม่หาย ไม่ทานยา ไม่มีคนดูแลก็ไม่หาย
ในทำนองเดียวกันบุคคลในโลกนี้มีสามประเภทคือ
1.ผู้ไม่รับฟังพระสัทธรรมก็สามารถหลุดพ้นได้
2.ผู้รับฟังพระสัทธรรมจึงหลุดพ้นได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระสัทธรรมก็ไม่หลุดพ้น
3.ผู้รับฟังพระสัทธรรมหริอไม่ก็ตามย่อมไม่หลุดพ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระองค์ตรัสสอนพระสัทธรรมแก่ทุกคนก็จริง แต่พระองค์มุ่งสอนบุคคลในข้อสองเป็นเหตุแห่งการประกาศพระศาสนา]


จบสูตรที่ ๒

สังขารสูตร

[๔๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียน ครั้นแล้วเขาย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาผู้อันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเหมือนพวกสัตว์นรกฉะนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งวจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ครั้นแล้วเขาย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะอันไม่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาผู้อันผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทวดาสุภกิณหะ ฉะนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ครั้นแล้วเขาย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลนั้น บุคคลนั้นผู้อันผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เจือปนด้วยสุขและทุกข์เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
[บุคคลสามประเภทในโลกคือ
1.บุคคลผู้ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารที่มีความเบียดเบียน ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน มีผัสสะที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน ย่อมเข้าถึงโลกที่มี
ความเบียดเบียน ถูกต้องผัสสะที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เช่นสัตว์ในนรก
2.บุคคลผู้ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน มีผัสสะที่เป็นไปด้วยความไม่เบียดเบียน ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ถูกต้องผัสสะที่เป็นไปด้วยความไม่เบียดเบียน เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เช่นเทวดาชั้นสุภกิณหะ
3.บุคคลผู้ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง มีผัสสะที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง ถูกต้องผัสสะที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง เช่นมนุษย์ เทวดาบางจำพวก]


จบสูตรที่ ๓

พหุการสูตร

[๔๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย

อีกประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย

อีกประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า บุคคลอื่นจากบุคคล ๓ จำพวกนี้ จะเป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลนี้ หามิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ทำการตอบแทน คือ ด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือไหว้ สามีจิกรรม การให้ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค แก่บุคคล ๓ จำพวกนี้ มิใช่ง่ายแล ฯ
[บุคคลชื่อว่ามีอุปการะมากแก่บุคคลอื่นมีสามประเภท คือ
1.บุคคลที่ผู้อื่นอาศัยแล้วนำไปสู่การถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
2.บุคคลที่ผู้อื่นอาศัยแล้วทำให้เห็นชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจจ์4
3.บุคคลที่ผู้อื่นอาศัยแล้วสามารถทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ทำให้หมดไปซึ่งกิเลสอาสวะ
บุคคลอื่นจากบุคคลสามประเภทนี้ จะเรียกว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลนี้มิได้]


จบสูตรที่ ๔

วชิรสูตร

[๔๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่า ๑ บุคคลที่มีจิตเหมือนฟ้าแลบ ๑ บุคคลที่มีจิตเหมือนเพชร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ แผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมมากกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่าบุคคลมีจิตเหมือนแผลเก่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลมีจิตเหมือนฟ้าแลบเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุรุษผู้มีจักษุเห็นรูปในขณะฟ้าแลบ ในเวลากลางคืนซึ่งมืดมิด ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีจิตเหมือนเพชรเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แก้วมณีหรือว่าหินชนิดใดที่เพชรจะทำลายไม่ได้ ไม่มีแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่าบุคคลมีจิตเหมือนเพชร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
[บุคคลมีสามประเภทคือ
1.บุคคลมีจิตเหมือนแผลเก่า คือเป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง ความโทมนัสให้ปรากฏ
2.บุคคลมีจิตเหมือนฟ้าแลบ เป็นผู้รู้ชัดในอริยสัจจ์4 เหมือนผู้เห็นรูปขณะฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด
3.บุคคลมีจิตเหมือนเพชร ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ ดังว่าไม่มีแก้วมณีหรือหินชนิดใดที่เพชรจะทำลายไม่ได้]


จบสูตรที่ ๕

เสวิสูตร

[๔๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ๑. บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๒. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๓. บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเช่นเดียวกับตน โดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการสนทนา ปรารภศีล จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยศีลด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนาปรารภสมาธิ จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยสมาธิด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนา ปรารภปัญญา จักมีแก่เราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยปัญญาด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จะต้องสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ จักต้องสักการะเคารพแล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอาการเช่นนี้ จักบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์สมาธิขันธ์บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควรสักการะเคารพ แล้วเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคผู้สุคตพระศาสดา ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อม
ในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้น
จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ดังนี้ ฯ
[บุคคลสามประเภทคือ
1.บุคคลเป็นผู้เลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากเพื่ออนุเคราะห์
2.บุคคลเป็นเช่นกับตนโดยศีล สมาธิ ปัญญา ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เพราะสนทนากันแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสำราญ
3.บุคคลผู้ยิ่งโดยศีล สมาธิ ปัญญา ควรสักการะเคารพ เพราะจักสงเคราะห์ศีล สมาธิ ปัญญาของผู้เข้าไปนั่งใกล้ให้บริบูรณ์]


จบสูตรที่ ๖

ชิคุจฉสูตร

[๔๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ๑. บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๒. บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๓. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ก็ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในคูถ ถึงแม้จะไม่กัดแต่ก็ทำให้เปื้อนได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน แม้บุคคลจะไม่ถึงทิฏฐานุคติ ของบุคคลเห็นปานนี้ก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่ไม่ดีของเขา ย่อมระบือไปว่า เป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงน่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมให้ความหมักหมมยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิๆ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ เมื่อถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธและความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้โกรธ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความพินาศให้เราบ้าง ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่ถึงทิฏฐานุคติของบุคคลเห็นปานนี้ก็ตาม ถึงกระนั้น ชื่อเสียงที่ดีงามของเขาก็จะระบือไปว่า เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตร มีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อน ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อม
ในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะ
ฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ
[บุคคลสามประเภทปรากฏในโลกคือ
1.บุคคลผู้น่าเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีการงานลึกลับ เพราะถึงแม้ไม่อาจยังให้เข้าใกล้คล้อยตาม แต่ทำให้เสียชื่อเสียงว่าคบคนชั่วเป็นมิตร
2.บุคคลผู้ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็ข้องใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง ความโทมนัสให้ปรากฏ ผู้เข้าไปนั่งใกล้จักถูกด่า ถูกบริภาษ ถูกทำให้พินาศ
3.บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ผู้เข้าไปคบย่อมได้รับชื่อเสียงที่ดีงามว่ามีคนดีเป็นเพื่อน]


จบสูตรที่ ๗

คูถภาณีสูตร

[๔๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลที่พูดถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ ๑ บุคคลที่พูดถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้ ๑ บุคคลที่พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้ง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้พูดถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในสภาก็ดี ไปในบริษัทก็ดี ไปในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างใด จงกล่าวอย่างนั้น เขาไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ ไม่เห็นกล่าวว่าเห็น หรือเห็นกล่าวว่าไม่เห็น แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลผู้พูดด้วยถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้พูดด้วยถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในสภาก็ดี ไปในบริษัทก็ดี ไปในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างใด จงกล่าวอย่างนั้น เขาเมื่อไม่รู้กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลพูดถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้งเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก จับหัวใจ เป็นวาจาชาวเมือง เป็นถ้อยคำที่ชนเป็นอันมากพอใจ ชอบใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลผู้พูดถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
[บุคคลผู้กล่าววาจามีสามประเภทคือ
1.บุคคลผู้พูดถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ ไปในสังคมใด ทั้งที่ไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้อยู่ก็กล่าวว่าไม่รู้ แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุของตนหรือของคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย
2.บุคคลที่พูดคำหอมเหมือนดอกไม้ ไปในสังคมใด เมื่อมีผู้ถามว่าท่านรู้อย่างใด จงกล่าวอย่างนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ ไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุของตนหรือของคนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย
3.บุคคลที่พูดถ้อยคำหวานเหมือนน้ำผึ้ง เป็นผู้ละคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก จับหัวใจ เป็นถ้อยคำที่ชนเป็นอันมากพอใจ ชอบใจ]


จบสูตรที่ ๘

อันธสูตร

[๔๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ คนตาบอด ๑ คนตาเดียว ๑ คนสองตา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลตาบอดเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุ ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ไม่มีนัยน์ตาเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าคนตาบอด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลตาเดียวเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น แต่ไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าคนตาเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลสองตาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ มีนัยน์ตาเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ทั้งมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวหรือประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าคนสองตา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
โภคทรัพย์เห็นปานดั่งนั้น ย่อมไม่มีแก่คนตาบอดเลย และ
คนตาบอดย่อมไม่ทำบุญอีกด้วย โทษเคราะห์ ย่อมมีแก่คน
ตาบอดเสียจักษุในโลกทั้งสอง ต่อมา เราได้กล่าวถึงคนตา
เดียวนี้ไว้อีกคนหนึ่ง คนตาเดียวนั้นเป็นผู้คลุกเคล้ากับธรรม
และอธรรม แสวงหาโภคทรัพย์โดยการคดโกง และการพูด
เท็จ อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ทั้งสองอย่าง ก็
มาณพผู้บริโภคกาม ย่อมเป็นคนฉลาดที่จะรวบรวมโภคทรัพย์
เขาผู้เป็นคนตาเดียว จากโลกนี้แล้วไปนรกย่อมเดือดร้อน
อนึ่ง คนสองตา เรากล่าวว่าเป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด คน
สองตานั้น ย่อมให้ทรัพย์ที่ตนได้มาด้วยความหมั่นเป็นทาน
แต่โภคะที่ตนหาได้โดยชอบธรรม เพราะเป็นผู้มีความดำริ
ประเสริฐสุด มีใจไม่สงสัย ย่อมเข้าถึงฐานะอันเจริญ ซึ่ง
บุคคลไปถึงแล้วไม่เศร้าโศก บุคคลควรเว้นคนตาบอด กับ
คนตาเดียวเสียให้ห่างไกล แต่ควรคบคนสองตา ซึ่งเป็น
บุคคลผู้ประเสริฐสุด ฯ

จบสูตรที่ ๙

อวกุชชิตาสูตร

[๔๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลมีปัญญาคว่ำ ๑ บุคคลมีปัญญาเช่นกับตัก ๑ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่มีปัญญาคว่ำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้ ถึงลุกจากอาสนะแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำ ถึงจะเอาน้ำรดลงที่หม้อนั้น ย่อมราดไป หาขังอยู่ไม่ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไว้ไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาคว่ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีปัญญา เหมือนตักเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้ ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนบนตักของบุรุษมีของเคี้ยวนานาชนิด คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา เกลื่อนกลาด เขาลุกจากอาสนะนั้น พึงทำเรี่ยราด เพราะเผลอสติ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้ ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นไว้ไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาเหมือนตัก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีปัญญากว้างขวางเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้ เปรียบเหมือนหม้อหงาย เอาน้ำเทใส่ไปในหม้อนั้น ย่อมขังอยู่หาไหลไปไม่ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้ ถึงลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญากว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
บุรุษมีปัญญาคว่ำ เป็นคนเขลา ไร้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
บุรุษเช่นนั้น แม้หากจะหมั่นไปในสำนักของภิกษุเสมอ ก็ไม่
อาจจะเล่าเรียนเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของกถาได้ เพราะ
เขาไม่มีปัญญา บุรุษมีปัญญาเหมือนตัก เรากล่าวว่าดีกว่าบุรุษ
ที่มีปัญญาคว่ำ บุรุษเช่นนั้นถึงแม้จะไปในสำนักของภิกษุ
เสมอ นั่งบนอาสนะนั้น เรียนเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
ของกถาได้ ครั้นลุกมาแล้ว กำหนดจดจำพยัญชนะไม่ได้
เพราะพยัญชนะที่เขาเรียนแล้วเลอะเลือนไป ส่วนบุรุษผู้มี
ปัญญากว้างขวาง เรากล่าวว่าดีกว่าบุรุษที่มีปัญญาเหมือนตัก
บุรุษเช่นนั้น แม้ไปในสำนักของภิกษุเสมอ นั่งบนอาสนะนั้น
เล่าเรียนเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของกถาได้ แล้วจำ
พยัญชนะไว้ เป็นคนมีความดำริประเสริฐสุด มีใจไม่สงสัย
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบปุคคลวรรคที่ ๓

*************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2549 14:45:24 น. 0 comments
Counter : 314 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.