Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
2 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
พระภิกษุผู้อยู่ป่า

ขอยกเอาพระสูตรว่าด้วยการรู้ถึงหน้าที่ของผู้อยู่ร่วมกันในสังคมมากล่าวครับ การรู้ถึงธรรมเนียมโดยไม่ต้องให้ผู้อื่นสอนนั้น ย่อมทำให้บุคคลดูสง่างามเพราะรู้ถึงกาลอันสมควร เวลาอันสมควร สถานที่อันสมควร วาจาอันสมควร กิริยาอันสมควร เป็นต้นครับ พระสูตรนี้บรรยายโดยท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคลลานะครับ

พระสูตรนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**************************************
๙. โคลิสสานิสูตร

ว่าด้วยอรัญญิกธุดงค์

[๒๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้น ภิกษุชื่อโคลิสสานิ เป็นผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ มีมารยาทหยาบคาย มานั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง.

[๒๐๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรปรารภโคลิสสานิภิกษุ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้นอันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย.
[ท่านพระภิกษุโคลิสสานิ ผู้สมาทานการธุดงค์ในป่าเป็นวัตร จึงไม่ทราบธรรมเนียมในสังคมเมื่อมาอยู่ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ท่านพระสารีบุตรปรารภถึงภิกษุนี้ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาอบรมว่า ภิกษุผู้สมาทานการธุดงค์ ถึงอย่างนั้นก็ต้องศึกษาถึงการเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเมื่อมีกิจต้องมาอยู่ท่ามกลางสงฆ์ มิฉะนั้นแล้วภิกษุผู้รู้ธรรมเนียมจักตำหนิได้ว่าอยู่ท่ามกลางสงฆ์เป็นเช่นนี้แล้ว หากเมื่ออยู่ในป่าโดยลำพังก็คงจะคาดได้ว่าเป็นเช่นไร ข้อที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าภิกษุผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรควรศึกษานั้นได้แก่]

[๒๐๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่งด้วยดีดังนี้ว่า เราจักไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ และจักไม่ห้ามอาสนะภิกษุผู้นวกะ. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปในสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่เป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่รู้จักธรรม แม้เพียงอภิสมาจาริกวัตร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตรจักไม่นั่งเบียดพระเถระ ไม่รังเกียจการนั่งกับพระผู้บวชใหม่ กล่าวคือมีความฉลาดในที่นั่ง]

[๒๐๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร เมื่อไปสู่สงฆ์ไม่ควรเข้าบ้านเช้านัก ไม่ควรกลับจนสายนัก]

[๒๐๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่าการเที่ยวไปในเวลาวิกาล อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์จึงไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร เมื่อไปสู่สงฆ์ไม่ควรเอาแต่เที่ยวไปในบ้านคฤหัสถ์ในเวลาก่อนและหลังภัต โดยเฉพาะยามวิกาลซึ่งแสดงว่าภิกษุนั้นเมื่ออยู่ป่าคงมักเที่ยวไปยามวิกาล]

[๒๐๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ความคะนองกาย คะนองวาจา อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร เมื่อไปสู่สงฆ์ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา]

[๒๐๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร เมื่อไปสู่สงฆ์ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ]

[๒๑๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร เมื่อไปสู่สงฆ์ควรเป็นผู้ว่าง่าย คบแต่กัลยาณมิตร]

[๒๑๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย]

[๒๑๒] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรรู้จักประมาณในโภชนะ]

[๒๑๓] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แต่ท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรหมั่นประกอบความเพียรเพื่อที่จะไม่ถึงความประมาท มิฉะนั้นก็เปล่าประโยชน์ที่จะสมาทานการธุดงค์ในป่า]

[๒๑๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ปรารภความเพียร. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้เกียจคร้าน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้เกียจคร้าน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้ปรารภความเพียร.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตรควรเป็นผู้ปรารภความเพียรในการปฎิบัติธรรม]

[๒๑๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์จึงควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตรควรมีสติตั้งมั่น ไม่มีสติฟั่นเฟือน]

[๒๑๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ไม่มีจิตตั้งมั่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรมีจิตตั้งมั่น ไม่เป็นผุ้มีจิตไม่ตั้งมั่น]

[๒๑๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มีปัญญา.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรฝึกฝนปัญญา ไม่เป็นผู้มีปัญญาทราม]

[๒๑๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอภิธรรมและในอภิวินัย กะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์มีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรทำความเพียรในพระอภิธรรม และวินัยสงฆ์]

[๒๑๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ. เพราะคนผู้ถามในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติมีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียรไว้ในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรฝึกฝนในอรูปฌาน เพื่อสามารถอธิบายผู้สงสัยได้]

[๒๒๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม. เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอุตตริมนุสสธรรมกะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์มีอยู่ ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรมแล้ว ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้บวชเพื่อประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันใด ไม่รู้จักประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันนั้นจะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์จึงควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม.
[ภิกษุผู้ธุดงค์เป็นวัตร ควรฝึกฝนเพื่อบรรลุคุณวิเศษต่างๆในพระศาสนา เพื่อให้สามารถอธิบายแก่ผู้สงสัยได้]

[๒๒๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า ดูกรท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์เท่านั้นหรือที่ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ หรือแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ?
[ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่าเฉพาะภิกษุผู้สมาทานการธุดงค์เท่านั้นหรือที่ต้องประพฤติธรรมเหล่านี้ ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านควรประพฤติธรรมนี้หรือไม่]

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรโมคคัลลานะ แม้ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ยังควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ จะกล่าวไปไยถึงภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า.
[ท่านพระสารีบุตรตอบว่า แม้ภิกษุผู้สมาทานธูดงค์ยังต้องประพฤติธรรมเช่นนี้ จะกล่าวไปไยถึงพระภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า]

จบ โคลิสสานิสูตร ที่ ๙.

**************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

วันจันทร์นี้เป็นหยุดครับ มาพบกันอีกในวันอังคารครับ


Create Date : 02 ธันวาคม 2548
Last Update : 2 ธันวาคม 2548 17:33:07 น. 0 comments
Counter : 434 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.